คอลเล็กชั่น แผ่นเสียงเพลงไทยหายาก
เรื่อง : ปฤษณ กัญจา
ภาพ : ไวยวุฒิ เรืองพุ่ม
ผมโชคดีที่มีพี่ๆ เมตตาชวนให้ไปฟังเครื่องเสียงวินเทจหลายๆ แนวอยู่บ่อยๆ ซึ่งการได้ไปฟังชุดเครื่องเสียงวินเทจแต่ละซิสเต็ม แต่ละแบบ ก็ได้ช่วยเปิดหูเปิดตาให้เข้าใจอะไรมากขึ้น บางทีสิ่งที่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังของจริงก็กลับไม่เป็นอย่างที่เคยคิดไว้ นี่จึงเป็นเรื่องที่นักเล่นเครื่องเสียงที่มีประสบการณ์มักให้คำแนะนำเสมอๆ ว่า… ให้ไปลองฟังของจริง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ หรือตัดสินใจว่าจะเล่นแนวไหน อย่างไร
Vantage Vintage ฉบับนี้ ผมจะพาไปเยี่ยมชมซิสเต็มเครื่องเสียงที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งครับ เจ้าของคือ… พี่ทีป – คุณประทีป ประทีปทัศนกานต์ ที่นอกจากจะมีชุดเครื่องเสียงที่เสียงดีมากๆ แล้ว ยังเก็บสะสมแผ่นเสียงเพลงไทยหายากไว้จำนวนมาก ซึ่งแต่ละแผ่นก็นับว่าอยู่ในระดับ rare item ทั้งนั้นครับ
อย่างไรก็ตาม ก็อย่างที่ผู้มีประสบการณ์ได้แนะนำไว้ครับ การเล่นเครื่องเสียงจะมีความสุขก็ต่อเมื่อเรารู้จักตัวเอง รู้ความต้องการของตัวเอง รู้ว่าจริงๆ แล้ว อะไรคือสิ่งที่เราชอบ อะไรที่ไม่ชอบ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่คนอื่นชอบ แล้วเราจะต้องชอบด้วยเสมอไป การที่มีโอกาสได้ฟังมากๆ คิดมากๆ ก็ยังเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการเลือกชุดเครื่องเสียงที่เป็นตัวเราเองจริงๆ ครับ
ห้องฟังขนาดเท่าไหร่ครับ
คุณประทีป: ห้องยาว 6.70 เมตร กว้าง 3.70 เมตร
ก่อนหน้าที่จะมาเล่นวินเทจแบบนี้ ใช้เครื่องเสียงแบบไหนครับ
คุณประทีป: ก็พวกแบรนด์เนมต่างๆ
ผ่านออดิโอไฟล์มาแล้ว
คุณประทีป: ใช่ พวก McIntosh พวกอะไร เคยเล่นมาหมด
เครื่องหลอดใช่ไหมครับ
คุณประทีป: ก็ทั้งโซลิดสเตจ ทั้งหลอดครับ
ตอนที่เล่นแรกๆ ฟังเพลงแนวไหนก่อนครับ
คุณประทีป: แรกๆ ก็พวกออดิโอไฟล์
แล้วจุดเปลี่ยนอะไรครับ ที่ทำให้หันมาเริ่มสะสมแผ่นเสียงเพลงไทย หรือว่ามาเล่นเครื่องเสียงวินเทจ
คุณประทีป: ไม่รู้สิ (หัวเราะ) วินเทจเนี่ย รู้สึกจะตั้งแต่รู้จักกับพี่แปะ
กี่ปีแล้วครับ
คุณประทีป: ประมาณ 3 – 4 ปีได้
แสดงว่า 3 – 4 ปีก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้เล่นวินเทจ
คุณประทีป: ไม่ใช่ ยังๆ ยังเล่นตามยุคอยู่ พวกออดิโอไฟล์
เริ่มสะสมแผ่นเสียงมากี่ปีแล้วครับ
คุณประทีป: ประมาณนั้น 3 – 4 ปี คุณกบเอาแผ่นเสียงเก่ามาให้ฟัง ก็เลยชอบ เออ! ทำไมแผ่นรุ่นเก่า เสียงมันดี ทั้งเพลงไทย เพลงฝรั่ง เสียงดีหมดเลย ถ้าเป็นแผ่นรุ่นเก่าๆ พวกโมโน พวกแจ๊ส เสียงดีมาก
จุดที่ทำให้เริ่มสะสมแผ่นเสียง ก็คือหลังจากที่คุณกบเอาแผ่นพวกนั้นมาให้ฟัง
คุณประทีป: ใช่ๆ
ทำไมถึงเลือกสะสมแผ่นเสียงเพลงไทยครับ
คุณประทีป: คุณกิตติวัฒน์ บุญส่ง (คุณกบ) เขามาเล่นทีหลังผม แต่เขาลึกไง ก็กว้านหาซื้อแผ่นมา แล้วเขาจะมาฟังที่ห้องผม เราก็ได้ฟังด้วย พวกชรินทร์ พวกสุเทพ เมื่อก่อนผมไม่ฟังเลยนะ (หัวเราะ) พอมาฟังแล้ว เออ! ทำไมมันเพราะ มันดีจังเลย ก็ค่อยๆ ซื้อตามเขา สะสมตามมาเรื่อยๆ จนมันเยอะ เยอะมาก
ช่วงตอนที่เริ่มซื้อ แผ่นเริ่มแพงหรือยังครับ
คุณประทีป: ตอนนั้นยังไม่แพงเท่าไหร่ครับ 3 – 4 ปีที่แล้ว เพิ่งมาแพงเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แผ่นมันเริ่มเหลือน้อยแล้ว สภาพก็แย่ลง
ตลาดแผ่นเสียงเพลงไทยเก่า ไปซื้อจากแหล่งไหนครับ
คุณประทีป: โดยมากจะเป็น Thaigramophone แล้วก็บนพันธุ์ทิพย์ แต่ก่อนเขาเรียกบางลำพูงามวงศ์งาม
ตอนนั้นแผ่นพวกนี้ก็มีขายอยู่
คุณประทีป: ยังมี ราคาก็ไม่แพงเท่าไหร่ แผ่นหัวๆ ก็ยังไม่ถึงขนาดนี้ ยังจับได้ มาตอนหลังนี่ โอ้โห เป็นหลักหมื่น หลายๆ หมื่น
แผ่นที่แพงที่สุดที่มีอยู่ตอนนี้
คุณประทีป: ท. ทหารอดทน ของคาราบาว
ทำไมถึงชอบครับ
คุณประทีป: ผมจะคอเพื่อชีวิต อันดับ 1 คือ คาราวาน รองมาก็พวกลูกกรุงเก่าๆ แล้วก็เป็นแจ๊ส แจ๊สเก่าๆ อะไรพวกนี้ หวานๆ
ตอนที่คุณกบเอาแผ่นเสียงมาฟัง ก็ยังไม่ใช่เป็นซิสเต็มแบบตอนนี้ใช่ไหมครับ
คุณประทีป: ยังครับยัง
ตอนนั้นใช้ลำโพงอะไรครับ
คุณประทีป: จำไม่ได้แล้ว หลายปีแล้ว เป็น Bookshelf ครับ อยู่ในห้องเล็กๆ 3 เมตร คูณ 3 เมตรกว่า ยังไม่ได้ขยายห้อง มันก็พอสมควรกับห้อง เทิร์นฯ ตอนนั้นใช้ Rega RP3 แอมป์ 211 ของคุณศักดิ์ KTT
แล้วขยับมาเป็นของพี่แปะ (สาธร รุ่งจิรธนานนท์)
คุณประทีป: มันค่อยๆ มาทีละชิ้น มีโอกาสได้เจอพี่แปะ พี่ออด (นิเวสน์ คูตานนท์) พาไปเจอพี่แปะ ก็ไปฟังชุดของพี่แปะ อู้หู ทำไมเสียงมันเป็นธรรมชาติ เสียงเป็นอะนาล็อกมาก ก็เลยเริ่มขอพี่แปะมาตัวแรก ตัวนี้ก็คือ 40 วัตต์ที่ได้มา และก็ตามมา ตอนนี้เป็นไตรแอมป์ไปแล้ว เปลี่ยนลำโพงเป็นฮอร์น แต่เป็นฮอร์นเล็ก ก่อน Altec แล้วก็มา Altec 14 แล้วจาก 14 ก็โดดมา YL ก่อน แล้วก็มาเป็น Western 22A เหล็ก (Replica)
ปรี-เพาเวอร์ ของพี่แปะทั้งหมดเลย
คุณประทีป: พี่แปะทำให้หมดเลย
ลำโพงฮอร์น 3 ทางใช่ไหมครับ
คุณประทีป: มันก็เริ่มจากไบแอมป์ก่อน แล้วก็มาไตรแอมป์ จริงๆ มันจะเริ่มจาก 40 วัตต์ ตัวเล็กก่อนทั้งชุดเลย
ตอน 40 วัตต์ขับทั้งชุด ต่างกับตอนนี้เยอะไหมครับ
คุณประทีป: ต่างๆ เสียงต่างกันเยอะ คือมันจะปรับแต่งอะไรไม่ได้ แล้วเบสไม่ค่อยมี เพราะว่ากำลังน้อย แล้วก็มาเป็นไบแอมป์ ก็มาแยกขับเบสฮอร์นกับตัวเสียงกลาง
ตอนนี้แยกอิสระแล้ว
คุณประทีป: แยกอิสระเลย มาจบที่นี่ สมบูรณ์ที่สุดแล้ว
ครอสโอเวอร์ฯ เป็น 3 ทางแล้วใช่ไหมครับ
คุณประทีป: มันขับโดยตรงนะ ตัวครอสโอเวอร์ฯ จะรับเฉพาะตัวมิดโลว์อย่างเดียว ทวีตเตอร์จะขับตรงเลย ไม่ผ่านครอสโอเวอร์ฯ มันจะมี C ข้างในกล่องไม้
ถ้าอย่างนี้ก็เล่นยากเหมือนกัน
คุณประทีป: ก็ต้องใช้ความสามารถ แต่เราสามารถจะปรับย่านเสียงได้ทุกย่าน บางแผ่นบันทึกมาย่านสูงน้อยไป เราก็สามารถเพิ่มรายละเอียดได้
เราไปเพิ่มตรงไหนครับ
คุณประทีป: ก็เร่งวอลลุ่มไงครับ
พี่แปะทำให้แอมป์มีวอลลุ่มเพื่อปรับให้เกนบาลานซ์กัน
คุณประทีป: ใช่ๆ ตัวมันมีวอลลุ่ม แล้วก็ต้องใช้ความสามารถของหูเป็นหลักเพื่อจะปรับให้มันสมดุลกัน
ทำไมตรงมิดโลว์ต้องผ่านครอสโอเวอร์ ในกรณีนี้
คุณประทีป: มันเป็นครอสโอเวอร์เก่า เมื่อก่อนทุกอย่างไปผ่านครอสโอเวอร์หมด คือเล่นไบแอมป์ใช่ไหม ตัวหนึ่งก็ ขับทั้งทวีตเตอร์ ทั้งอะไร มันจะไปผ่านครอสโอเวอร์ตัวนั้น ทั้งมิดโลว์ ทั้งมิดไฮ ทั้งทวีตเตอร์ อยู่ที่ครอสโอเวอร์หมด น้อยชุดที่จะเล่นไตรแอมป์ ทุกคนจะกลัวไตรแอมป์ เพราะว่ามันต้องใช้หู ความสามารถของหูปรับให้กลืนกัน แต่ละคนฟัง เล่นเครื่องเสียงไปนานๆ ผมก็ว่าน่าจะทำได้แทบทุกคน แรกๆ ก็จะขลุกขลักหน่อย แรกๆ ผมก็ยังไม่ค่อยกลืนเท่าไหร่ ปรับไอ้นู่นโด่ง ไอ้นี่โด่ง ก็ได้พี่แปะ พี่แปะเขาสอน
เทิร์นฯ มี 2 ตัวใช่ไหมครับ
คุณประทีป: จริงๆ มันมี 3 ตัว อาร์มยังอยู่นู่นเลย อาร์ม Neat ไว้เล่นพวกแผ่นเก่าๆ แผ่นโคลัมเบียอินเดียพวกนั้น เทิร์นฯ Lenco ตัวนี้จะไว้เล่นแผ่นครั่ง
ใส่หัวเข็มของอะไรครับ
คุณประทีป: RPX สปีด 78 มันขึ้นอยู่ที่รอบนะ คือหัว RPX จะเป็นหัวเดี่ยว เป็นปลายเดี่ยว ให้เสียงที่ดีกว่าปลายสลับ ส่วนปลายนี่ เราสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นปลาย 1 mil หรือ 3 mil ถ้าเป็นแผ่นครั่งใหม่หน่อย เราก็ใส่ 1 mil ถ้าแผ่นครั่งเก่าหน่อย ร่องมันเริ่มกว้างก็ใส่ 3 mil
เล่นซีดีด้วยไหมครับ
คุณประทีป: เล่นซีดีด้วย ซีดีก็เยอะอยู่ข้างหลัง
แผ่นเสียงที่ราคาต่างกันที่มันแพงๆ เพราะว่า…
คุณประทีป: แผ่นมีน้อย หายาก
เกี่ยวกับเรื่องบันทึกเสียงไหม
คุณประทีป: ผมว่าบันทึกเสียงก็งั้นๆ นะ แต่ทีนี้อยู่ที่แฟนใครแฟนมัน บางคนแฟนเพื่อชีวิตอย่างนี้ ก็คาราวาน คาราบาว ปู พงษ์สิทธิ์ อะไรพวกนี้ จะกระจายกันไป
เราเก็บในเพราะชอบศิลปินมากกว่า
คุณประทีป: ในแง่ของตัวศิลปินแนวเพื่อชีวิต
พวกเครื่องเสียงถือว่าเป็นประเด็นรองไป
คุณประทีป: ใช่ๆ ถ้าเป็นเรื่องคุณภาพเสียง จริงๆ แล้ว ถ้าจะเทียบกับออดิโอไฟล์ มันเทียบไม่ติด คุณค่าขึ้นอยู่กับผลงานของศิลปินในยุคนั้น คือความหมายของเพลง อย่างเพลงเพื่อชีวิต ความหมายมันก็จะลึกซึ้ง กินใจ สะท้อนสังคมอะไรพวกนี้ ถ้าใครเคยผ่านยุค 14 ตุลา 16 ตุลา ก็จะซาบซึ้งกับเรื่องราวพวกนี้
แผ่นเสียงเพลงลูกกรุงที่เล่นกัน ดูตรงไหนครับ
คุณประทีป: ลูกกรุงนี่ ถ้าพูดถึงการบันทึกเสียง ผมว่าดีกว่าเพื่อชีวิต โดยมากจะดีกว่า ส่วนใหญ่เป็นแผ่นโมโน รุ่นเก่าๆ ผมว่าการกัดแผ่น เขามีฝีมือในการกัดแผ่นมากกว่ารุ่นหลังๆ การบันทึกเสียงก็ดีกว่า และอีกอย่าง มันก็มีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์
การเก็บแผ่นเสียงลูกกรุงต่างกับเพื่อชีวิตในแง่ไหนครับ ต้องดูสังกัด หรือมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปล่าครับ
คุณประทีป: โดยมากดูที่ความไพเราะของเพลง ของเนื้อเพลงใช่ไหม คนรุ่นเก่าจะแต่ง เลือกคำได้ภาษาได้สวยงามมาก
ถ้าเพลงลูกกรุง ชอบศิลปินคนไหนครับ แล้วแผ่นก็หายาก
คุณประทีป: ที่ชื่นชอบมากๆ ก็มีสุเทพกับชรินทร์
แผ่นเสียงของคุณสุเทพกับคุณชรินทร์ ปั๊มที่ไหนครับ
คุณประทีป: มีทั้งปั๊มต่างประเทศและก็ปั๊มในไทย แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าจริงๆ เป็นปั๊มที่เขาเรียกแผ่นลาเบล Columbia India ที่ปั๊มมาจากอินเดีย เป็นบริษัทโคลัมเบียในอินเดีย ส่วนโคลัมเบียในญี่ปุ่น เขาเรียก Nippon Columbia เขาเรียกลาเบลแดง บางคนก็เรียก NC แดง จะใช้ชื่อย่อว่า NC หมายถึง Nippon Columbia มันก็ให้เสียงต่างกัน อย่าง Columbia เสียงกลางจะหนา หนานุ่ม ถ้า Nippon Columbia เสียงจะดร็อปลงมานิดหนึ่ง แต่รายละเอียดดี
แล้วปั๊มที่ไหนแพงกว่ากันครับ
คุณประทีป: พอๆ กัน ถ้าสวยๆ ก็ขึ้นหลักหมื่น
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นแผ่นเสียงลูกกรุง ก็ดูศิลปิน และดูสังกัดว่า Nippon Columbia กับ Columbia ที่อินเดีย ดู 2 จุดนี้เป็นหลัก
คุณประทีป: ใช่ๆ นี่พูดถึงความเก่านะ แล้วก็รองมาก็จะเป็นค่ายคาเธ่ย์ โดยมากเป็นแผ่นญี่ปุ่นกับแผ่นไทย
คือค่ายคาเธย์ แต่ว่าส่งไปปั๊มญี่ปุ่น
คุณประทีป: ใช่ๆ ถ้าค่ายโคลัมเบียเป็นค่ายของกมลสุโกศล
แล้วมีค่ายอะไรอีกครับ ยุคนั้น
คุณประทีป: ก็มีกมลสุโกศลกับคาเธย์เป็นส่วนใหญ่ เป็นสองค่ายที่รับผลิตแผ่นเสียงให้ศิลปินในยุคนั้น ไม่ว่าสุนทราภรณ์ หรืออะไรต่ออะไร แต่สุนทราภรณ์ไม่ใช้ลาเบลของกมลสุโกศล เขามีลาเบลของเขาเอง เป็นตราเทวดากำลังเล่นพิณ ถ้าจำไม่ผิดนะ สุนทราภรณ์ คนเขาจะเล่นอันนี้
ยุคนั้นแสดงว่าความเป็นอิสระของศิลปิน ไม่ได้มีค่าย แต่พอมาอัดแผ่นเสียง ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ผลิต หรือว่าลิขสิทธิ์ของใครครับ
คุณประทีป: โดยมากลิขสิทธิ์จะเป็นของค่าย ของบริษัทที่ผลิตให้
ถ้าคาเธย์ออกให้ก็เป็นของคาเธย์
คุณประทีป: ถ้ากมลฯ ผลิต ลิขสิทธิ์ก็เป็นของกมลฯ
นักร้องเหมือนมารับจ้างร้อง
คุณประทีป: ประมาณนั้น คุณสุเทพเคยเล่าให้ฟังว่าได้ค่าจ้างร้องเพลงแค่ 20 บาท ในสมัยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ซึ่งถูกมากนะ
แต่ 60 ปีที่แล้ว ค่าเงินมันก็แพง แต่ก็ยังถือว่าถูกอยู่ดี
คุณประทีป: แล้วไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ค่ายอย่างคาเธย์กับกมลฯ ก็เป็นเหมือนนายทุนออกค่าผลิตให้ออกมาขาย
คุณประทีป: ใช่ครับ
ก็มี 2 ค่ายหลักๆ ณ ตอนนั้น แล้วอย่างพวกแผ่นเสียงตรามงกุฎ ตราดอกบัว ล่ะครับ
คุณประทีป: มงกุฎก็คือคาเธย์นั่นแหละ ตราดอกบัว เดี๋ยวนี้คือบริษัทบูรพา ถ้าผมจำไม่ผิด แต่แรกๆ ไม่รู้ว่าใช้ชื่อบริษัทอะไร จำไม่ได้แล้ว ต้องดูที่ปก อันนั้นโดยมากเป็นลูกทุ่ง ดอกบัวผลิตให้สุรพล สมบัติเจริญ
เก็บลูกทุ่งด้วยไหมครับ
คุณประทีป: มีเยอะเลย คือก็เล่นทุกแนวนะ
ฝั่งลูกทุ่งมีค่ายหลักๆ อะไรบ้างครับ
คุณประทีป: เยอะนะ ดอกบัวนี่ถือว่าเป็นรุ่นเก่า เพราะรุ่นดอกบัวจะต่อจากแผ่นครั่ง แล้วก็ 3 โฆษก 3 โฆษกนี่จะเป็นของ สายันต์ สัญญา เป็นส่วนใหญ่ แล้วตอนหลังก็มีเอื้ออารี มีอะไรเยอะมาก
ค่ายกมลฯ กับคาเธย์ ไม่ปั๊มลูกทุ่ง
คุณประทีป: มีบ้างครับ ถ้าลูกทุ่งยุคแรกๆ ก็มีคาเธย์เยอะ แล้วกมลฯ ก็มีบ้างนิดหน่อย อย่างแผ่นสุรพลออกกับกมลฯ ก็มี
ปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ ฝีมือพี่แปะ เทิร์นฯ Denon ติด 2 โทนอาร์ม เทิร์นฯ Lenco ติดหัวเข็ม GE RPX โฟโนสเตจออกแบบและจัดทำโดยพี่แปะเช่นกัน นี่ก็ฝีมือพี่แปะ
สมัยก่อนแผ่นที่ส่งไปปั๊มเมืองนอก นั่นคือยุคนั้นยังไม่มีโรงงานปั๊มในบ้านเรา บ้านเรามีโรงงานประมาณช่วงไหนครับ
คุณประทีป: ใช่ๆ ก็ประมาณ 50 กว่าปีนะ ที่เริ่มมีเครื่องจักรที่จะปั๊ม แต่เขาก็ยังให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาจากอินเดีย ของกมลฯ เขาใช้ชื่อว่าโคลัมเบียเหมือนกัน แต่ไม่มีเมดอินอินเดีย เป็นลาเบลสีเขียว แล้วปั๊มว่าโคลัมเบีย ในวงการจะรู้ว่าเป็นโคลัมเบียไทย โดยบริษัท กมลสุโกศล แล้วตอนหลังกมลฯ ก็ทำของเขาเอง ใช้ลาเบลเป็นรูป K เขาจะเรียกกันว่า K เขียว
ก็คือรู้ว่าเป็นกมลแล้ว
คุณประทีป: เป็นชื่อย่อไง ตัว K ก็มาจากกมลฯ แล้วก็จะมาเป็นลาเบลสีส้ม หลายๆ สี ทีนี้เป็นตราครุฑ
ตอนยุคนั้น บ้านเรามีโรงงานปั๊มแผ่นกี่โรงครับ
คุณประทีป: ยุคเก่าๆ ผมว่าน่าจะเป็นกมลฯ เริ่มเป็นโรงงานแรก แล้วคาเธย์ก็ตามมา แต่จริงถ้านับจริงๆ แล้ว อันนี้พูดถึงไวนิลนะ ถ้านับไปถึงแผ่นครั่งแล้ว น่าจะเป็นตรากระต่าย ในยุคนั้นนะ ที่ว่าปั๊มแผ่นครั่งออกมา กมลฯ ตอนแรกเขาก็ไม่ปั๊มนะ เพราะแผ่นครั่งของกมลฯ โดยมากมาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่
แผ่นที่หยุดสะสมมาหยุดปีไหนครับ หมายถึงปีที่หลังจากนั้น เราไม่ถือเป็นของหายากแล้ว
คุณประทีป: ก็มารุ่นหลังๆ ผมก็บอกไม่ถูกนะ มันต้องดูลาเบล ดูการผลิตว่าเป็นชุดไหน ถ้าจะให้บอกตรงๆ มันก็บอกยากเหมือนกัน
ถือว่าเพลงลูกกรุงเหล่านี้ สะสมได้ทั้งนั้นใช่ไหมครับ
คุณประทีป: ถ้าเป็นลูกกรุง ถ้าหลุดจากคาเธย์ไปแล้ว ในวงการก็ไม่ค่อยเล่นแล้ว
ยุคของค่ายเเมโทรก็ไม่เล่นแล้ว
คุณประทีป: ไม่ค่อยเล่นแล้ว
ก็คือหยุดที่คาเธย์กับกมลฯ
คุณประทีป: สำหรับคนที่เล่นลึกนะ ถ้าคนเล่นรุ่นใหม่ๆ ก็จะเก็บพวกหลังๆ ไว้
แล้วเพลงเพื่อชีวิต เก็บอัลบั้มไหนครับ อย่างวงคาราวานมีแผ่นเสียงเยอะไหมครับ
คุณประทีป: อู้หู เยอะ
แต่ก็ไม่ได้ทุกแผ่นจะราคาสูงใช่ไหมครับ
คุณประทีป: ใช่ๆ คาราวานก็มีไม่กี่แผ่น ที่ราคาแพงก็อัลบั้ม “ถนนมิตรภาพ” หายาก ราคาแพงที่สุด แล้วก็ “คนกับควาย” นอกนั้นก็ไม่ค่อยเท่าไหร่
ทำไมหลังๆ ถึงไม่ขลังเท่า 2 อัลบั้มนี้ครับ
คุณประทีป: จริงๆ มันมีอีก 2-3 อัลบั้มนะ ที่ยังเป็นอะคูสติกส์อยู่ พอหลุดจากอะคูสติกส์เป็นไฟฟ้า มันก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ แผ่นอาจจะมีเยอะนะ พอแผ่นมีเยอะปั๊บ คนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ที่ว่าแผ่นเแพง แผ่นมันมีน้อย มันหายาก แผ่นคนกับควาย ในยุคนั้นที่ยังมีกฎหมายคอมมิวนิสต์อยู่ โดยมากจะถูกทิ้ง เหมือน ท.ทหารอดทน
มันคือหลุดมาใช่ไหมครับ
คุณประทีป: สมัยนั้นใครเปิดเพลงคนกับควาย นี่ติดคุกนะ ตำรวจจับติดคุก ถือว่าตั้งข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ได้
วงคาราบาวมีกี่อัลบั้มที่สะสมกันครับ
คุณประทีป: คาราบาว มี 5 ชุดแรก ที่เขาเรียกว่าเป็นเบญจภาคีของคาราบาว พอหลุดจากนั้นมาก็ราคาก็ไม่เท่าไหร่ที่เล่นก็มี… แป๊ะขายขวด, ลุงขี้เมา, ท.ทหารอดทน แล้วมา เมด อิน ไทยแลนด์ มั้ง เมดอินฯ ดังสุด เมดอินสวยๆ ถ้าเป็นแผ่นตัด ลาเบลแดง ขอบตัด จะอยู่ที่ประมาณสองหมื่นกว่า แพงๆ แล้วก็มาเป็นขอบมน ขอบมนลาเบลแดงก็ อยู่ประมาณสองหมื่น แล้วแต่ความสวยนะ นี่พูดถึงราคา ดูที่สภาพด้วย ความสวย คือถึงจะเป็นขอบตัด แต่ถ้าเป็น VG บวก มันก็ถูกลงไป และปกด้วย คือการเล่นแผ่นเนี่ย คือหนึ่ง ความสวยของมันต้องดูปกด้วย แผ่นด้วย เหมือนเรื่องพวกนี้เป็นสากลทั่วโลก
ฝากเป็นคำแนะนำสำหรับคนที่สนใจที่จะสะสมแผ่น แรกๆ นี่ควรจะดูอะไรครับ ดูความชอบของตัวเอง หรือว่าดูตลาด ดูอะไรครับ จะมีวิธีการคิดยังไง
คุณประทีป: การสะสมแผ่นเสียง ถ้าใช้คำว่าสะสมนี้นะ โดยมากจะเล่นกันลึก เล่นกันลึกไปเรื่อย ทั้งความสวย ทั้งปก ทั้งอะไรต่ออะไร เพลงอะไรก็ได้ที่คุณชอบ ที่คุณอยากฟังน่ะ ก็ซื้อมาฟังเลย
คือสะสมปุ๊บ มันจะมีเรื่องมูลค่าเข้ามายุ่งด้วย
คุณประทีป: ใช่ พอสะสมปั๊บ มันเหมือนคนเล่นของเก่า มันก็จะลึกลงไป และก็ต้องการความสวย เพราะของพวกนี้มันมีมูลค่าในตัวมันอยู่
แต่ถ้าซื้อมาฟังก็ไม่ซีเรียส ชอบอะไรก็ซื้อมาฟัง
คุณประทีป: ใช่ แผ่นรีฯ รุ่นใหม่อะไรก็ซื้อมาฟังได้
ทีนี้ซิสเต็มกับแผ่น มันน่าจะต้องแมตช์กัน
คุณประทีป: แมตช์กัน เล่นแผ่นรุ่นเก่า คุณก็ต้องพยายามใช้เครื่องเสียงที่ให้เสียงแบบรุ่นเก่า
ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องวินเทจ แต่ว่าเป็นเครื่องที่สร้างมา แล้วก็เสียงออกมาเป็นแบบนั้น คืออาจใช้อุปกรณ์สมัยใหม่อะไรก็ได้ใช่ไหมครับ แต่ว่าเสียงมันต้องเป็นแบบยุคนั้น
คุณประทีป: คงยาก ถ้าใช้อุปกรณ์แบบสมัยใหม่
มันจะไม่ให้คาแรกเตอร์แบบนั้นใช่ไหม
คุณประทีป: ใช่ แต่เครื่องเสียงของพี่แปะจะแปลกอยู่อย่าง คือสามารถเล่นได้ทุกแนว คุณจะเล่นเพลงเก่า ใหม่ เฮฟวี่ ได้หมด
ถ้าไม่ใช่เครื่องเสียงของพี่แปะ
คุณประทีป: ถ้าไม่ใช่เครื่องของพี่แปะ พวกวินเทจแท้ๆ จะเล่นได้เฉพาะเพลงรุ่นเก่า เจอเพลงรุ่นใหม่ มันจะไปไม่เป็น ถ้าเป็นพวกเครื่องรุ่นใหม่ไปเจอรุ่นเก่าๆ ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน ไม่สามารถให้เสียงแบบวินเทจได้ โดยมากสังเกตว่า ถ้าคนเล่นเครื่องเสียงจะมี 2 ชุด อยากฟังรุ่นเก่าก็เปลี่ยนแอมป์หลอดเข้าไป บางคนก็ชอบแนวของฟิลลิปส์ บางคนชอบแนวของ Mac ก็ว่ากันไป แต่นี่เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว มันเล่นได้แนวเดียว พอจะฟังเพื่อชีวิต เอารุ่นใหม่มาหน่อย คาราบาวใส่ มันก็ไปไม่เป็นและ แต่ของพี่แปะนี่ คุณจะฟังอะไรก็ได้ แจ๊ส ออดิโอไฟล์ ได้หมด
ซึ่งลำโพงฮอร์นแบบนี้ตอบสนองได้หลากหลาย
คุณประทีป: ผมว่า มันขึ้นอยู่ที่แอมป์ ลำโพงไม่ได้เป็นอุปสรรคนะครับ ไม่รู้นะ มันเหมือนรสชาติอาหาร ชอบใครชอบมัน บางคนชอบแบบละเอียดเยอะ แล้วก็คมเปรี๊ยะมาก ชัดมาก ซึ่งฮอร์นมันคงให้ไม่ได้ แต่ถ้าแบบว่าเสียงที่เป็นธรรมชาติ ฟังสบายหู ผมว่าฮอร์นให้ได้. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 261
No Comments