PIONEER UDP-LX800
เครื่องที่ผมได้รับมาเป็นเครื่องนำเข้าอย่างถูกต้องจาก บริษัท เพาเวอร์บาย ภายนอกกล่องก็จะมีสัญลักษณ์ มอก. เพื่อเป็นการรับรองว่าผ่านการตรวจสอบจาก สมอ. อย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งใบรับประกันจากบริษัท เปิดกล่องขึ้นมาก็มีอุปกรณ์มาตรฐานมาในกล่องคือ รีโมตคอนโทรล, สายไฟเอซี, ถ่านไฟฉาย และคู่มือที่เป็นแบบแผ่น Disc เมื่อแกะตัวเครื่อง
ยกออกมาก็สัมผัสได้ถึงความแข็งแรง ความหนักแน่นของเครื่อง เนื้องานโดยรอบเครื่องเรียกได้ว่าเป็นงานดีมีรายละเอียด น็อตแต่ละตัวก็ดูออกว่าใช้โลหะดี มีการประกอบจุดเชื่อมต่ออย่างประณีต อ่านในสเปกพบว่าน้ำหนักของเครื่องอยู่ที่ 13.8 กิโลกรัม ที่มีน้ำหนักมากกว่าเครื่องเล่น 4K โดยทั่วไป นอกจากด้านในที่อัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ตัวโครงสร้างของเครื่องก็ใช้โครงยึดเหล็ก (Chassis) หนา 1.6 มม. สองชั้น เสริมด้วยแผ่นเหล็กหนา 3 มม. การออกแบบโครงสร้างแบบนี้ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของเครื่องต่ำ เพิ่มความแข็งแรง ป้องกันการสั่นจากภายนอกเข้าไปสู่ภายในเครื่อง ทำให้การอ่านแผ่นมีประสิทธิภาพและมีความเสถียรมากขึ้น ตัวเครื่องภายนอกจะไม่เห็นช่องระบายอากาศหรือช่องพัดลมแต่อย่างไร การออกแบบแบบนี้ทำให้ลดเสียงรบกวน และเพิ่มเสถียรภาพของโครงสร้างเวลาเล่นแผ่น ด้านในของเครื่องได้แบ่งส่วนโดยใช้คานเหล็กแยกเอาไว้ชัดเจนเป็นสามส่วนคือ ส่วนของ Power Supply, ส่วนของตัว Drive ที่เล่น รวมถึง Digital Processing และส่วนที่สามเป็น Analogue Audio การแบ่งแบบนี้ทำให้กำจัดการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า กระแสแม่เหล็ก ที่จะเข้าไปกวนกัน ในส่วนของ Power Supply เองก็ได้แยกเป็นสองตัวคือ Power Transformer สำหรับวงจร Analog โดยเฉพาะ และ Power Supply สำหรับตัว Drive และ Digital Blocks อีกตัวหนึ่งต่างหาก โดยถ้าเมื่อไหร่ใช้การต่อแบบ HDMI ตัว Power Transformer ก็จะปิดวงจร Analog Audio ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้คลื่นรบกวนต่างๆ ลดลง (Signal to Noise Ratio) คุณภาพของเสียงและคุณภาพของภาพที่ออกมาจึงดีและสะอาดมากขึ้น
ช่องต่อด้านหลังมีช่อง Analog Audio Out ที่เป็นแบบ Balance และ RCA อยู่ 2 Channels, ช่อง HDMI Out ที่รองรับการส่งสัญญาณที่ความเร็ว 18Gbps มีสองช่อง สามารถแยกสัญญาณภาพกับเสียงออกจากกันได้ นอกจากนั้นก็มีช่องต่อมาตรฐานเหมือนเครื่อง 4K ทั่วไป คือ ช่อง RS-232C, ช่อง Network ที่ใช้ต่อสาย LAN, ช่อง USB, Coaxial, Optical และช่องต่อสายไฟ AC In ส่วนช่องต่อที่น่าสนใจอีกช่องหนึ่งคือ ช่องต่อ Zero Signal ช่องนี้ทาง Pioneer ได้อธิบายว่าเป็นช่องที่ใช้ต่อเข้ากับช่อง RCA Audio หรือ Video Input ที่ว่างช่องไหนก็ได้ของเครื่อง AV Receiver หรือ Pre-Processor เพื่อช่วยในเรื่องของกราวด์ของระบบไฟฟ้าในเครื่องทั้งสองที่ต่อกัน ทำให้การส่งสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเครื่องทั้งสองดีขึ้น ซึ่งเท่าที่ผมลองดูในระบบเครื่องเสียงชุดของผมเองก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน อาจจะเพราะเครื่องได้ต่อผ่านเครื่องกรองไฟทั้งสองเครื่อง แต่เห็นใน Forum ต่างประเทศบางที่ก็บอกว่าทำให้เสียงดีขึ้น ยังไงใครใช้รุ่นนี้อยู่ลองดูก็ได้ครับ ไม่เสียหายอะไร ผมว่ามันคงขึ้นอยู่กับระบบไฟในแต่ละชุดมากกว่า ว่าจะมีผลมากน้อยขนาดไหน เครื่องเล่น Pioneer UDP-LX800 ตัวนี้ นอกจากรองรับแผ่น Blu-ray, 4K, 3D, DVD, DVD-Audio, CD, SACD แล้ว ก็ยังรองรับไฟล์แบบ MP3, WMA, ALAC, AIFF, WAV, FLAC สำหรับไฟล์ MQA นั้น เห็นว่าต้องรอ Firmware มา Update อีกที เช่นเดียวกับระบบภาพ HDR10+ ส่วนไฟล์ MKV เท่าที่ผมลองดูนี่ เล่นได้แค่บางไฟล์เท่านั้น
ในส่วนของรีโมตคอนโทรลก็ดูธรรมดาเหมือนเครื่องเล่น Pioneer ทั่วไป แอบไม่ชอบนิดหนึ่งก็คือมีปุ่ม Stop อยู่ใต้ปุ่ม Play/Pause แถมมีขนาดใหญ่เท่าปุ่ม Play/Pause ด้วย ทำให้กดผิดกดถูกได้ง่าย บางทีอยากจะ Pause ก็ไปกดเป็นปุ่ม Stop แทน แต่เห็นธรรมดาอย่างนี้ ปุ่มรีโมตนี้ได้ซ่อนความสามารถพิเศษไว้หลายอย่าง เช่น การกดปุ่ม Subtitle ค้างไว้ซักสองสามวินาที แล้วไปกดปุ่มทิศทางขึ้นลง ก็ทำให้สามารถเลื่อนตำแหน่ง Subtitle ของหนังขึ้นลงได้ ปุ่ม AUDIO P ก็จะเป็นการเลือกรูปแบบของเสียงที่แปลงจาก Digital เป็น Analog หรือ DAC (Digital Analog Converter) ว่าต้องการให้ Filter ทำงานแบบไหน ระหว่าง Sharp ที่ให้เสียงเร็วและหนัก, Short เสียง Smooth ตอนเริ่มเสียง หรือแบบ Slow ที่ให้เสียงแบบนุ่มนวล นอกจากนี้ยังสามารถตั้ง Audio Delay เป็น milli-second เพื่อเป็นการ Sync สัญญาณเสียงกับภาพที่ปรากฏบนจอให้ตรงกัน อีกปุ่มที่อยู่ติดกันคือ VIDEO P เป็นค่าตั้งไว้สำหรับจอแสดงภาพแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น LCD TV, OLED TV, Projector หรือ Referenced (ค่าที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยน) นอกจากนี้ก็ยังสามารถตั้งค่า Brightness, Contrast, Hue, Chroma Level, Sharpness, DNR เพื่อลด Noise, HDR-SDR Adj เพื่อเปลี่ยนความสว่างสูงสุดเวลาแปลงภาพจาก HDR เป็น SDR ได้อีกด้วย อีกปุ่มก็คือปุ่ม DISPLAY เมื่อเวลากดค้างไว้สักสองสามวินาที เครื่องก็จะแสดงรายละเอียดของข้อมูลแผ่น 4K ที่กำลังเล่นอยู่อย่างละเอียด ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้ใช้ได้ทราบว่า แผ่นที่กำลังเล่นอยู่บันทึกมาในความสว่างขนาดไหน จะพอคาดคะเนได้ว่าต้องปรับ Tone Mapping หรือความสว่างของเครื่องโปรเจกเตอร์หรือทีวีไว้ที่เท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ โดยเมื่อกดเสร็จ หน้าจอแรกก็จะบอกถึงรายละเอียดของแผ่นนี้ว่า บันทึกมาแบบไหนบ้าง ซึ่งได้แก่ Resolution = รายละเอียดของภาพว่า หนังบันทึกมาที่ความละเอียดเท่าไหร่, Frame Rate = ความถี่ของจำนวน Frame ต่อวินาที, HDR Format = แผ่นนี้บันทึกมารูปแบบ HDR แบบไหน, Color Space = ความกว้างของเฉดสีระดับไหน, Deep Color = รายละเอียดของการไล่สีว่าละเอียดขนาดไหน ถ้าเป็นภาพธรรดาแบบ SDR ส่วนมากก็จะเป็น 8bit/ HDR10 ก็จะเป็น10bit / แต่ถ้าเป็น Dolby Vision ก็จะเป็น 12bit, Video Format = การเข้ารหัสของวิดีโอ, Video/Audio Bitrate = อัตราความเร็วการส่งข้อมูลของภาพและเสียง, Audio Format = รูปแบบของเสียง, Audio Channel = จำนวนแชนเนลของเสียง
เมื่อกดลูกศรทิศทางลงก็จะเป็นข้อมูลของหน้าที่สองที่จะบอกถึงว่าเครื่องเล่นได้ส่งข้อมูลออกไปสู่จอภาพเป็นแบบไหน Resolution = เครื่องเล่นส่งรายละเอียดภาพออกไปจริงๆ ที่เท่าไหร่, Frame Rate = ความถี่ของภาพ, HDR Format = รูปแบบ HDR, Color Space = ความกว้างของเฉดสี/ Color Subsampling (4:4:4, 4:2:2 ฯลฯ อย่างที่เคยอธิบายไว้แล้ว สามารถหาอ่านได้จากบทความเดิมๆ ได้ครับ), Deep Color = รายละเอียดการไล่สี, Aspect Ratio = อัตราส่วนภาพ และ Audio Format = รูปแบบเสียง
และเมื่อกดลูกศรลงอีกครั้งก็จะเป็นหน้าสุดท้ายที่บอกข้อมูลสำคัญของ HDR ทำให้เรามีแนวทางการปรับ Tone Mapping หรือความสว่างของภาพ ได้แก่ Mastering Display = บอกว่าแผ่นนี้ตอนทำ Master ใน Post Production นั้นใช้จุดสีขาว/แดง/เขียว/น้ำเงิน ที่ตำแหน่งใน Diagram CIE xy ที่เท่าไหร่ เพื่อประโยชน์ในการ Calibrate ภาพ (โดยปกติก็จะใช้จุดสีขาวอยู่ที่ D65 หรือ x = 0.313/y0.329), Max./Min Light Level = บอกว่าใน Post Production ใช้จอที่ให้ความสว่างเท่าไหร่ในการทำ Mastering, Max. Content Light Level (Max CLL) = ค่าความสว่างสูงสุดในหน่วย nits ของแต่ละ Pixel, Max. Frame-Average Light Level (Max FALL) = เป็นค่าความสว่างสูงสุดในหน่วย nits เฉลี่ยทุก Pixel ของแต่ละ Frame, Electro-Optical Transfer Function = ใน Post Production ใช้ Gamma กราฟแบบไหนในการแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นระดับความสว่าง
ได้เวลาทดสอบกับแผ่นจริงกันแล้ว เริ่มจากการกดปุ่ม Eject เปิดแผ่นขึ้นมา ก็จะพบกับการเปิด-ปิดถาดที่มีความนุ่มนวล ไม่กระโชกเสียงดัง ความเร็วในการเล่นแผ่นที่หลายคนยังติดภาพการเล่นแผ่นที่ช้าของเครื่องเล่นบลูเรย์ Pioneer ในรุ่นก่อนๆ นั้นดีขึ้นมาก เท่าที่ผมได้ลองทดสอบกับแผ่น 4K และ Blu-ray ธรรมดา เทียบกับเครื่องเล่น Oppo UDP203 เครื่องเล่นที่ได้ชื่อว่าเล่นแผ่นได้เร็วมาก ผลที่ได้ตั้งแต่จับเวลากดปุ่ม Eject จนถึงภาพเมนูปรากฏขึ้นบนจอ เป็นวินาที ระหว่าง Pioneer LX800 : Oppo UDP203 ได้ดังนี้ครับ… แผ่นภาพยนตร์ 4K Billy Lynn’s long halftime walk 50:33, Car3 39:26, Incredibles2 40:26 และคอนเสิร์ต Carole King (Blu-ray) 35:21 ซึ่งจากเวลาจะเห็นว่า ถึงแม้ต่างจากแชมป์เล่นแผ่นเร็วอย่าง Oppo แต่ก็ถือว่าไม่มากเกินไปจนรอไม่ได้เหมือนเครื่องรุ่นก่อน
มาถึงคุณภาพของภาพที่ออกมากันบ้าง เท่าที่ได้ลองจากหลายๆ Source พบว่าพอเปิดภาพขึ้นมาดูแบบปกติ ไม่ได้เพ่งจับผิด ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภาพที่ได้จากเครื่องเล่น 4K ตัวนี้ให้สีสันสว่างสดใส (Brilliant Bright) มีความเนียนของสีดูเป็นธรรมชาติ ที่เด่นคือความคมชัดของภาพที่ให้ความคมชัด แม้กระทั่งในส่วนที่มืดของภาพ (IRE ต่ำๆ) การไล่เฉดสีทำได้ดี สีเนื้อมีความสมจริงเหมือนธรรมชาติ การเคลื่อนไหวของภาพมีความ Smooth ไม่พบการกระตุก ส่วนเรื่องเสียงต้องบอกว่า จุดเด่นของเครื่องเล่น Pioneer UDP-LX800 นี้ คือเรื่องของเสียง เสียงที่ออกมาจากเครื่องเล่นนี้ให้เนื้อเสียงของเสียงร้อง เสียงพูด ได้ดีสมจริง เสียงแหลมเช่น เสียงพูด เสียง sibilant sound ไม่มีความคมกัดหู ความหนักเบาของเสียงให้ความเสมือนจริงเป็นธรรมชาติ รายละเอียดเสียงดีมาก ไม่ใช่ดีเฉพาะ Channels หน้านะครับ เสียง Surround เสียง Immersive ยังให้รายละเอียดได้ดีเลย สังเกตุเวลามีเสียงตบมือหลังเพลงนี้จบ เสียงมีน้ำหนักและ Focus ที่ชัดเจนมาก
สรุป… เรียกได้ว่าเครื่องเล่น Universal Disc Player Pioneer UDP-LX800 ตัวนี้เป็นเครื่องเล่นที่อยู่ในระดับ Reference สำหรับการเล่นภาพและเสียงแบบ 4K HDR & Immersive Sound ได้เลย และในขณะนี้ยังยากที่จะหาเครื่องเล่นแผ่น 4K HDR ในท้องตลาดมาเทียบเคียงคุณภาพของภาพและเสียงที่ออกมาจากเครื่องนี้ สำหรับใครที่ไม่มีปัญหาเรื่อง
งบประมาณ ผมขอแนะนำเลยครับ. VDP
Pachanee
สนใจpioneer udp lx800