ชานนท์

Slim Speakers, Serious Sound!!

เทคโนโลยีการออกแบบลำโพงก้าวล้ำขึ้นทุกวัน เราจึงเห็นลำโพงรูปทรงสวยงามแปลกตามากมาย แต่แน่นอนว่ายังคงไม่ละทิ้งหน้าที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดน้ำเสียงได้ดี ซึ่งความสามารถในการออกแบบลำโพงเสียงดีนั้น ผู้ผลิตลำโพงสัญชาติอังกฤษที่มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี อย่าง KEF ขึ้นชื่ออยู่แล้ว และที่ดูจะทำได้ดีไม่แพ้กัน คือ แนวทางการออกแบบลำโพงที่ทลายขีดจำกัดเดิมๆ จนค้นพบรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น “ลำโพงแบนบาง” ที่จะมาแนะนำกันในครั้งนี้ครับ

ลำโพงแบนบางไม่ใช่สิ่งใหม่ ที่ผ่านมามีเทคโนโลยี Thin-film Loudspeaker ที่ทำลำโพงให้บางเสมอกรอบรูปก็มีมาแล้ว ทว่าลำโพงที่ใช้เทคโนโลยีตัวขับเสียงปกติ คือ ทวีตเตอร์ ร่วมกับ วูฟเฟอร์ คงไม่มีใครทำได้บางเท่ากับชุดลำโพง T Series ของ KEF ซึ่งตัวตู้มีความหนาเพียง 3.5 ซม. เท่านั้น! ถือว่าบางมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานลำโพงที่ใช้ตัวขับเสียงลักษณะนี้

ข้อดีจากการที่ KEF วิจัยและพัฒนาลำโพงให้แบนบาง โดยใช้พื้นฐานตัวขับเสียงปกติ (ทวีตเตอร์ + วูฟเฟอร์) คือ ความสามารถในการเติมเต็มย่านเสียงได้น่าฟังใกล้เคียงกับลำโพงไฮไฟที่เราคุ้นเคยกันดี (และ KEF ก็เชี่ยวชาญ)

ส่วนประเด็นที่ว่า.. จะทำลำโพงให้บางไปทำไม? ก็เพื่อเป็น “ทางเลือก” สำหรับใครที่อยากได้ลำโพงไปติดตั้งเข้าชุดกับ “ทีวีจอแบน” เพื่อความสวยงามเรียบร้อย แถมยังประหยัดเนื้อที่ ให้ความกลมกลืนเข้ากับห้องนั่งเล่นในบ้านหรือในคอนโดยุคนี้ได้อย่างลงตัวนั่นเองครับ

KEF T Series ประกอบไปด้วยลำโพงหลักแบบ Satellite โดยใช้งานเป็น Front หรือ Surround Speakers 2 รุ่น ได้แก่ T301 และ T101, ใช้งานเป็น Center Speaker 2 รุ่น ได้แก่ T301C และ T101C, สุดท้าย ขาดไม่ได้ คือ Active Subwoofer รุ่น T2

สำหรับรุ่นที่ทำการทดสอบต่อไปนี้เป็นการจัดเซ็ตรวมลำโพง เรียกว่าชุด “T205” ประกอบไปด้วย T301 (Front), T301C (Center), T101 (Surround) และ T2 Subwoofer ครับ

การออกแบบ

จะเห็นว่า พื้นฐาน T Series ของ KEF ก็เป็นดังเช่นชุดลำโพงเล็กแบบ Satellite + Subwoofer แต่ต่างตรงที่ถูกออกแบบให้ “แบนบาง” เป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่บางแค่เฉพาะลำโพงหลัก แต่รวมถึงลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว ตัวตู้ก็บางด้วย นอกจากรูปลักษณ์เข้าชุดกันแล้ว เสียงก็ได้รับการปรับจูนให้มีความกลมกลืนเข้ากันเป็นอย่างดีด้วย… ว่าแต่ “บาง” แล้วจะยัง “ดี” อยู่หรือเปล่า? คำตอบอยู่ที่วิธีการที่ KEF “ทำลำโพงให้บาง” ได้อย่างไรครับ

ส่วนประกอบสำคัญของลำโพงที่ต้องใช้เนื้อที่ติดตั้งภายในตู้ลำโพงมากสุดคงไม่พ้น “วูฟเฟอร์” ด้วยลักษณะกลไกทำงานที่ต้องอาศัยโครงสร้างแม่เหล็กเพื่อสร้างแรงสปริงตัวในการขยับกรวยลำโพงไปข้างหน้าและถอยหลัง จึงจำเป็นต้องมีระยะลึกที่มาก KEF เลยทำการออกแบบโครงสร้างในจุดนี้ใหม่แบบเฉพาะกิจเพื่อลดขนาดความลึกของโครงสร้างแม่เหล็ก และวอยซ์คอยล์ให้บางลง ตำแหน่ง Spider ก็ถูกย้ายขึ้นมาอยู่ใกล้กับระนาบ Diaphragm ที่ปรับลักษณะเป็นแผ่นแบนเรียบ ไม่ได้เป็นทรงกรวยลึกแบบวูฟเฟอร์ทั่วไป

แน่นอนว่า Diaphragm ที่ถูกปรับให้เป็นแผ่นแบนเรียบเพื่อประหยัดเนื้อที่นี้จะสูญเสียความแกร่งจากเดิมที่เคยเป็นโครงสร้างแบบกรวยไปบ้าง KEF จึงต้องทำการเสริมโครงสร้างชดเชยความแข็งแรงซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง โดยออกแบบเสริมโครงคาด หรือ Stiffening Ribs เข้าไปที่ด้านหลังแผ่นเรียบ ซึ่งถ้าดูจากในภาพจะเห็นโครงสร้างสีขาวประกบซ้อนอยู่หลัง Diaphragm อันเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า Twin Layered Radiating Diaphragm นั่นเอง

อีกจุดที่เสริมความสมบูรณ์ให้ T Series Woofer ทำหน้าที่ได้มั่นคงขึ้น คือ โครงสร้างขอบเซอร์ราวด์แบบจับจีบ เรียกว่า Z-Flex ซึ่งน่าจะคุ้นเคยกันดีแล้ว เพราะเห็นได้บ่อยจากลำโพง KEF ตัวเจ๋งๆ ก่อนหน้านี้  

หลังปรับโครงสร้างวูฟเฟอร์ให้บางลงแล้ว ระยะชักลึก (Excursion range) ของ T Series Woofer จะอยู่ที่ 5 มม. ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับลำโพงเล็กแบบ Satellite การตอบสนองเสียงความถี่ต่ำลงได้ราวๆ 100 Hz ส่วนที่ต่ำกว่านั้น ลำโพงซับวูฟเฟอร์ T2 จะเข้ามารับหน้าที่แทน ด้านการถ่ายทอดระดับเสียงสูงสุด (Max SPL) ทำได้ดังถึง 110dB สำหรับรุ่น T301/T301C และ 107dB ในรุ่น T101/T101C น่าทึ่งเลยทีเดียวสำหรับไซส์ประมาณนี้

ตัวขับเสียงอีกชนิดที่ถูกนำมาใช้งานกับ T Series ซึ่งมีความสำคัญกับคุณภาพเสียงไม่น้อยกว่ากัน คือ Tangerine Waveguide Vented Tweeter อันเป็นตัวขับเสียงที่ KEF ใช้กับลำโพงระดับท็อปหลายๆ รุ่นก่อนหน้านี้ แต่ได้รับการปรับจูนให้เหมาะกับ T Series ที่มีพื้นที่ติดตั้งจำกัด

ขนาดทวีตเตอร์ที่ 25 มม. แม้เป็นขนาดปกติสำหรับลำโพงทั่วไป แต่กับมาตรฐานลำโพง Satellite ที่มักเลือกใช้ทวีตเตอร์ขนาดเล็กเพียง 19 มม. บวกกับเทคนิคล้ำๆ อย่าง Tangerine Waveguide ช่วยคุมมุมกระจายเสียง และการเจาะรูที่ด้านหลังเพื่อจูนเสียงลดทอนเรโซแนนซ์ แบบเดียวกับลำโพงระดับ High-End เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า KEF ให้ความสำคัญกับลำโพงแบนบางซีรี่ส์นี้มากแค่ไหน

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลกับคุณภาพเสียง คือ “ตัวตู้” ด้วยขนาดที่ต้องเล็กบาง จึงต้องเอาใจใส่กับตู้ลำโพงเป็นพิเศษ เพราะผนังตู้จะเกิดความเครียดจากแรงดันอากาศภายในที่สูง การควบคุมสลายการสั่นกระพือก็จะทำได้ยากด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ เช่น การจะคาดโครงทุกจุด หรือ เสริมผนังตู้ให้หนาขึ้นทุกด้านคงเป็นไปไม่ได้

ทาง KEF จึงอาศัยโครงสร้างของตัวขับเสียงนี่แหละ ทั้งวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ ที่ประกอบขึ้นรูปจากโครงโลหะแน่นหนาทำหน้าที่ค้ำยันเสริมความแข็งแรงให้กับตู้ลำโพงไปเลย เมื่อผสานกับวัสดุที่สามารถแดมป์สลายแรงสั่นสะเทือนตามจุดต่างๆ ก็จะช่วยให้ความเพี้ยนเสียงที่เกิดจากตู้ลำโพงลดต่ำลงได้

ตำแหน่งติดตั้งขั้วลำโพง จัดวางให้เข้าสายจากด้านล่าง (หรือด้านข้างสำหรับลำโพงเซ็นเตอร์) พร้อมโครงสร้างแบบขันล็อค จึงใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่า Binding Post แต่รูปแบบนี้จะรับสายลำโพงได้เฉพาะแบบเปลือยตัวนำ หรือที่เข้าหัวบานาน่าเท่านั้น ขนาดสายลำโพงที่น่าจะเหมาะ ประมาณ 1.5 – 2.5 sq.mm. กำลังดี เก็บซ่อนให้เรียบร้อยง่ายครับ

มาดูในส่วนของลำโพงซับวูฟเฟอร์ T2 กันบ้าง อาจไม่ได้ใช้เทคนิคลึกล้ำแหวกแนวแบบลำโพง Satellite แต่เมื่อเทียบกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ติดตั้งไดรเวอร์ขนาด 10 นิ้ว แบบตู้ปิดโดยทั่วไป ต้องบอกว่า T2 มีขนาดกะทัดรัด ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ตัวตู้บางกว่าชัดเจน ความลึกเพียง 17.7 ซม. เท่านั้น ข้อดีคือ หาที่ตั้งวางภายในห้องรับแขกได้สะดวกดี ตั้งตรงไหนก็ไม่รู้สึกเกะกะ อีกทั้งรูปลักษณ์ก็ดูทันสมัยกลมกลืนสอดรับกับลำโพงอื่นๆ ในชุด T Series เป็นอย่างดี

T2 ติดตั้งภาคขยาย Class-D กำลังขับ 250 วัตต์ ใช้ในห้องรับแขกทั่วไปได้สบาย แผงควบคุมและจุดเสียบต่อสายอยู่ที่ด้านล่าง รองรับการปรับจูนพื้นฐาน เช่นเดียวกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั่วไป แต่ที่ต่างคือ รุ่นนี้ไม่มีโวลุ่มสำหรับปรับชดเชยระดับเสียง รวมถึงการกำหนดจุดตัดความถี่เสียงต่ำ (Variable Low–pass Crossover) เนื่องจาก T2 ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับระบบโฮมเธียเตอร์ยุคใหม่ ซึ่ง AV Receiver/Processor มีฟีเจอร์ Bass Management ใช้ตั้งค่าเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้ครอบคลุม

การติดตั้ง และ ผลการทดสอบ

ลำโพง Satellite จาก KEF T Series ออกแบบมาให้ติดตั้งยึดแขวนผนังได้ลงตัวเป็นที่สุด ทุกกรุ่นให้ขาแขวนที่เมื่อติดตั้งแล้วหลังลำโพงแทบแนบสนิทไปกับผนังเลย แต่ขณะเดียวกันก็ให้ขาตั้งสำหรับวางโต๊ะหรือบนชั้นมาด้วยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการติดตั้งใช้งาน

ซึ่งในรุ่น T301 และ T101 ที่ทำหน้าที่เป็น Front/Surround Speakers นั้น ขาตั้งโต๊ะสามารถปรับมุมเงยหน้าลำโพงได้เล็กน้อยเพื่อชดเชยกับความสูงที่ตั้งวางได้

ลำโพงเซ็นเตอร์ T301C และ T101C ขาตั้งโต๊ะออกแบบให้มีลักษณะเหมือนขาตั้งกรอบรูป ปรับองศาเงยหน้าลำโพงได้เล็กน้อยเช่นกัน ดูเก๋ไปอีกแบบ

ขณะเดียวกันก็มี “ขาตั้งพื้น” ให้ใช้งานด้วย แต่เป็นอุปกรณ์เสริม ต้องซื้อเพิ่มนะครับ

ข้อดีของขาตั้งพื้นที่ผมชอบ คือ ขั้วลำโพงจะบิลท์อินมากับขาตั้งเลย อยู่ใกล้กับฐานด้านล่างจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บซ่อนสายที่จะโยงขึ้นไปที่ลำโพง ขณะเดียวกันด้วยรูปแบบขั้วลำโพงแบบ Binding Post จึงรับสายลำโพงขนาดตัวนำใหญ่ ๆ ได้มั่นคงขึ้น และยังใช้งานกับหัวแบบหางปลาได้ด้วย

นอกจากนี้ KEF ยังติดตั้งวงจรชดเชยย่านเสียงให้เหมาะกับการวางตำแหน่งลำโพงแบบ Free Stand คือ มีระยะห่างจากผนังและพื้น หากอ้างอิงที่ตำแหน่งเดียวกัน ใช้ขาตั้งพื้น เสียงจะอิ่มกว่าครับ

การปรับเซ็ตเสียง แม้ KEF ออกแบบจูนลำโพงในชุดให้เสียงแม็ตชิ่งเข้ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ติดตั้ง-เสียบสาย-เปิดเสียง แล้วจบกัน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมของเราๆ ท่านๆ นั้น ไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรละเลยขั้นตอนปรับเซ็ตลำโพงเพื่อการถ่ายทอดเสียงที่เหมาะสมกับสภาพติดตั้งหน้างานจริงครับ

หัวใจสำคัญ คือ การปรับจูนให้เสียงของ Satellite กลมกลืนเข้ากับ Subwoofer ซึ่งซิสเต็มนี้อิงตามศักยภาพของลำโพงหลักแบบ Satellite แนะนำให้ตั้งสัก 100 – 150 Hz ไม่ควรตัดความถี่ต่ำกว่านี้ครับ (สำหรับ T301 อาจตัดความถี่ต่ำลงถึง 80Hz ได้ในบางกรณี) หากใครใช้งาน AV Receiver/Processor รุ่นใหม่ๆ จะสะดวกหน่อย เพราะใช้ระบบ Auto Speaker Calibration ช่วยตั้งค่าลำโพงเบื้องต้น อย่างบาลานซ์ระดับเสียง หน่วงเวลาจากระยะห่าง และกำหนดจุดตัดความถี่เสียงต่ำใช้อ้างอิงในการปรับละเอียดต่อได้ หากต้องการ มีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ T2 ให้ได้เสียงที่ลงตัวถูกใจ คือ การปรับเซ็ตฟังก์ชั่น Bass Boost ซึ่ง KEF ติดตั้งมาให้ใช้ชดเชยย่านเสียงต่ำลึกจากตำแหน่งตั้งวางลำโพงซับวูฟเฟอร์ ตามปกติให้ตั้งไว้ที่ +6dB ก่อน แล้วทดลองฟังเสียง จากนั้นทดลองปรับลด (+0 dB อาจจะเหมาะกับมุมห้อง) หรือเพิ่ม (+12 dB) ดูว่า แบบไหนให้เสียงความถี่ต่ำลงตัวกับตำแหน่งภายในห้องมากที่สุดครับ ซึ่งคงไม่ใช่แค่ปริมาณที่ชอบ แต่ควรเป็นเบสลึกสัมพันธ์ไปถึงเบสต้นที่ยังคงต่อเนื่องกลมกลืนเข้ากับลำโพงอื่นๆ ในระบบด้วย

เมื่อทุกอย่างลงตัว เชื่อว่าจะได้เสียงที่ถูกใจ ศักยภาพของลำโพงบางแบนชุดนี้ให้เสียงได้ใหญ่ครอบคลุมเต็มพื้นที่ทดสอบ การรับชมภาพภาพยนตร์และเล่นเกม ให้เสียงความถี่ต่ำได้เต็มอิ่ม ไม่ได้แบนบางเหมือนรูปลักษณ์ บรรยากาศเสียงรอบทิศทางช่วยเพิ่มอรรถรสได้มาก ลำโพงเซ็นเตอร์ให้เสียงสนทนาที่ชัดเจน

ด้านการฟังเพลงพบว่า น้ำเสียงละม้ายคล้ายลำโพงไฮไฟของ KEF อยู่หลายส่วน กล่าวได้ว่าเป็นชุด Sat + SUB ที่ให้เสียงได้ไพเราะ ย่านเสียงครอบคลุมฟังเพลงได้หลากหลายแนว แต่เน้นย้ำอีกทีว่าต้องปรับเซ็ตให้ลำโพง Sat และ SUB เสียงกลมกลืนเข้ากันดีก่อนนะครับ

KEF T Series จึงไม่ใช่ลำโพงที่เน้นแค่ความสวยงาม แต่ยังคงจริงจังกับคุณภาพเสียงด้วย ใครที่กำลังมองหาลำโพงเก๋ๆ ไปใช้งานในห้องรับแขกคู่กับทีวีจอแบน ติดตั้งแล้วดูสวยงามลงตัว ประหยัดเนื้อที่ แต่ยังให้น้ำเสียงที่ดี ลองหาโอกาสไปทดลองฟังเสียงดูได้ครับ. VDP

ราคาโปรโมชั่นเฉพาะเดือนนี้กุมภาพันธ์
เมื่อซื้อ T Series ทั้งเซ็ตจากราคา 125,500 บาท เหลือเพียง 79,700 บาท
เมื่อซื้อ T101 (25,900 บาท) ,T301 (35,900 บาท) และ T301C (17,900 บาท) พร้อมกัน
แถม T2 Sub (มูลค่า 31,900 บาท) + T Floor stand (มูลค่า 13,900 บาท)

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation Co., Ltd.
โทร. 02-692-5216
www.vgadz.com/kef

สอบถามเพิ่มเติมที่ตัวแทนจำหน่าย
ร้าน HD HiFi Rama IX
โทร. 063-236-6193 (คุณแมน)
Line ID: novara2561
โทร. 081-918-0901 (คุณต้อง)
Line ID: 0819180901