แนวทางการเลือกซื้อ KEF: Kube MIE Subwoofers ซับวูฟเฟอร์ล่าสุด 4 รุ่น เติมเต็มย่านเสียงต่ำ ครอบคลุมการใช้งาน กับทั้งชุดดูหนังและฟังเพลง ไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ !?


Kube คือหนึ่งในซีรีส์ลำโพงซับวูฟเฟอร์ระดับคุ้มค่าของ KEF ปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาเป็น “Kube MIE” สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ ประสิทธิภาพที่ผ่านการอัพเกรดให้ตอบโจทย์การใช้งานร่วมกับชุดดูหนังและฟังเพลงได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น… คุณสมบัติดังกล่าวจะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้จากรีวิวนี้ครับ!
หัวใจสำคัญของ Kube Subwoofer คือ DSP (Digital Signal Processing) วงจรประมวลผลขั้นสูงที่ KEF พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ควบคุมการถ่ายทอดเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้สอดรับกับความซับซ้อนของสัญญาณเสียงและระดับโวลุ่ม ประกอบกับเทคโนโลยี Intelligent Bass Extension (iBX) ช่วยปรับจูนเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองความถี่โดยเฉพาะย่านเบสลึกได้อย่างเต็มที่ อีกด้านหนึ่งก็ช่วยจำกัดลดทอนความเพี้ยนให้ต่ำที่สุดเท่าที่ความสามารถของลำโพงซับวูฟเฟอร์จะถ่ายทอดออกมาได้ โดยอิงจากความสามารถของวูฟเฟอร์สัมพันธ์กับขนาดตู้ลำโพงและภาคขยาย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น
นอกจากนี้ ลูกเล่นเสริมอย่าง Room Position EQ แบบสำเร็จรูปสามารถใช้แก้ปัญหาเบสบวมอันเกิดจากตำแหน่งตั้งวางที่ไม่เอื้ออำนวยภายในห้อง โอกาสที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF จะถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำได้อย่างเที่ยงตรง และกลมกลืนเข้ากับซิสเต็มดูหนังและฟังเพลงจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น
สำหรับ Kube MIE เป็นการพัฒนาต่อยอดคุณสมบัติเด่นข้างต้นของ Kube Series โดยเพิ่มเติมความสามารถที่เอื้อต่อการใช้งานได้สะดวกขึ้น พร้อมๆ กับการเพิ่มเติมรุ่นใหญ่อย่าง “Kube 15 MIE” เข้ามาอีกหนึ่งรุ่นเพื่อเติมเต็มศักยภาพครอบคลุมการใช้งานร่วมกับซิสเต็มดูหนังและฟังเพลง “ขนาดใหญ่” ได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม!
เท่ากับว่าปัจจุบัน Kube MIE มีทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่ Kube 8 MIE, Kube 10 MIE, Kube 12 MIE และล่าสุด Kube 15 MIE โดยติดตั้งวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว, 10 นิ้ว, 12 นิ้ว และ 15 นิ้ว ตามลำดับ…

Kube MIE vs Kube b
รูปลักษณ์ Kube MIE หากเทียบกับเจนฯ ก่อน (Kube b) มองเผินๆ อาจไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนนัก เพราะอิงรูปแบบเดิมทั้งมิติตัวตู้แบบทรงลูกบาศก์ (Cube) กับวัสดุปิดผิวด้านบนสีดำเงาวับเหมือนกับผิวเปียโนตัดด้วยโลโก้ KEF สีขาว ในขณะที่ด้านข้างหุ้มผ้าสีดำคลุมตู้ลำโพงโดยรอบทั้ง 4 ด้าน


ความต่างสังเกตได้จากด้านหลัง อันเป็นผลจากการปรับปรุงวงจรภาคขยายผนวกกับระบบ DSP ใหม่ ถึงแม้กำลังขับเท่าเดิม (300W Class-D) แต่เลย์เอาต์สวิตช์ควบคุม, ตำแหน่งช่องต่อรับสัญญาณต่างๆ ถูกจับกลุ่มจัดวางให้มีระยะที่เอื้อต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ต่างจากของเดิมที่วางกระจุกตัวมากเกินไปหน่อย ในส่วนของ Volume & Crossover Knob ก็ทำการปาดมุมให้สังเกตระดับได้ง่าย แลดูสวยขึ้นด้วย

นอกจากนี้ Kube MIE ยังเพิ่มทางเลือกให้สามารถเปิด/ปิด ลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบอัตโนมัติผ่าน 12v Trigger ได้ (อุปกรณ์ต้นทางต้องรองรับ 12v Trigger ด้วย) จากเดิมที่มีเฉพาะ Auto wake up คือ ใช้เซ็นเซอร์จับสัญญาณเสียงที่เข้ามาทาง Low-level หรือ Hi-level Input เพียงอย่างเดียว
เท่ากับว่า Kube MIE สามารถเลือก Power On Mode ได้ถึง 3 แบบ คือ Always on, Auto wake up และ 12v Trigger
Kube MIE ย้ายตำแหน่งไฟ LED บอกสถานะไปไว้เหนือ Power Switch ที่อยู่มุมซ้ายล่างของแผงควบคุม โดยแสงไฟสีส้ม หมายถึงสถานะ Standby และจะเปลี่ยนเป็นแสงสีขาว เมื่อซับวูฟเฟอร์เปิดทำงาน

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องมีคู่มือการใช้งาน, สายไฟเอซีท้ายเลข 8 (C7) และ Euroblock Connector สำหรับเข้าสายลำโพงเพื่อนำสัญญาณเสียงจากไฮไฟแอมปลิฟายเออร์มาเข้าที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ผ่านอินพุตแบบ High-level ขณะเดียวกันก็มีอินพุตแบบ Low-level สำหรับรับสัญญาณเสียงจากไฮไฟปรีแอมปลิฟายเออร์ หรือเอวีรีซีฟเวอร์ มาเข้าที่ช่อง Stereo/LFE RCA ของซับวูฟเฟอร์ (สายลำโพง และสายสัญญาณ RCA ที่ใช้เชื่อมต่อต้องจัดหาเอง)
Kube MIE สามารถรับสัญญาณเสียงแบบไร้สายได้อีกทางหนึ่ง ทว่าจำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์เสริม KW1 Wireless Subwoofer Kit เพิ่มเติม
3 Room Position EQ
Kube MIE สามารถปรับชดเชยเสียงเพื่อลดทอนปัญหาเบสบวมจากตำแหน่งตั้งวางภายในห้องที่ไม่เหมาะสมได้ 3 ระดับ ถึงแม้ว่าจำนวนสเต็ปการลดทอนย่านเสียงความถี่ต่ำไม่มากเท่ากับซับวูฟเฟอร์รุ่นสูงของ KEF อย่าง KC62 หรือ KC92 แต่ก็เพียงพอสำหรับใช้ลดทอนปัญหาได้
โดยหลักการ ระบบจะ Cut-off การตอบสนองเสียงย่านความถี่ต่ำลึก โดยลดทอนลงสเต็ปละประมาณ 3dB ที่ 30Hz (In-room = 0dB, Wall/Cabinet = -3dB, Corner = -6dB) ในบางกรณีหากตั้งวางซับวูฟเฟอร์ที่มุมห้องหรือในซอกชั้น แล้วพบปัญหาเบสบวมอื้ออึงก็ให้ลองปรับชดเชย Room Position EQ ดูครับ แต่ต้องมั่นใจว่าปัญหาเกิดจากตำแหน่งตั้งวางจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการปรับโวลุ่มของซับวูฟเฟอร์ไว้สูงเกินไป หรือปรับจุดตัดความถี่เสียง (Crossover) ไม่ลงตัวนะครับ
แนวทางการใเลือก Kube MIE มาใช้งานกับชุดลำโพงดูหนัง และ/หรือ ฟังเพลง
จุดที่ต้องคำนึงก่อนนำ Kube MIE ไปใช้งาน ประเด็นสำคัญ นอกจากขนาดตู้ลำโพงซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงพื้นที่ตั้งวางภายในห้อง และประสิทธิภาพการถ่ายทอดระดับเสียง (Max SPL) และปริมาณเบสลึกที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีเรื่องของการตอบสนองความถี่ช่วงเบสต้นไปจนถึงย่านกลางต่ำ อันเป็นตัวตัดสินว่า ลำโพงหลักแบบไหนที่เหมาะ หรือไม่เหมาะจะนำมาใช้งานด้วย
Kube MIE ทั้ง 4 รุ่น ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ จะให้ความต่อเนื่องของเสียงช่วงเบสต้นไปจนถึงย่านกลางต่ำได้ถึงราว ๆ 140Hz ซึ่งถือเป็นย่านปกติที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ส่วนใหญ่ให้ได้ เพราะหน้าที่หลักมีไว้เติมเต็มเสียงความถี่ต่ำให้กับ ลำโพงวางหิ้ง ลำโพงวางขาตั้ง หรือลำโพงตั้งพื้นโดยทั่วไป
อย่างไรก็ดี หากจะต้องนำไปใช้งานกับลำโพงไซส์พิเศษที่มีขนาดเล็กมากๆ เช่น ลำโพงแซทเทลไลท์ขนาดจิ๋วที่ใช้วูฟเฟอร์เล็กกว่า 4 นิ้ว หรือลำโพงสไตล์แบนบางอย่าง KEF T Series ที่ต้องการลำโพงซับวูฟเฟอร์เพื่อทำหน้าที่เสริมเสียงย่านกลางต่ำลงไปถึงเบสต้น เพิ่มเติมจากย่านเสียงต่ำลึก แบบนี้อาจไม่เหมาะกับ Kube MIE ซึ่งสำหรับกรณีนี้ ผมแนะนำจับคู่กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF รุ่น T2 (up to 250Hz) หรือ KC62 (up to 200Hz) จะให้เสียงที่มีความต่อเนื่องสอดรับเข้ากันกับลำโพงขนาดเล็กมากๆ ได้ลงตัวกว่าครับ

Kube 15 MIE
เมื่อทราบข้อแม้แล้ว ด้วยจำนวนรุ่นที่มีถึง 4 รุ่น 4 ขนาด จะเลือก Kube MIE ไปใช้งานอย่างไรดี? ผมให้แนวทางไว้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้ครับ

Kube 15 MIE – นับเป็นพระเอกของซีรี่ส์นี้อย่างแท้จริง เป้าหมายที่เติมรุ่นนี้เข้ามาเพื่อขยายขีดความสามารถให้ใช้งานลำโพงซับวูฟเฟอร์ร่วมกับชุดลำโพงไฮไฟและระบบโฮมเธียเตอร์ขนาดใหญ่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษ หากเทียบกับรุ่นน้องทั้ง 3 รุ่น จุดเด่น คือ ความสามารถถ่ายทอดระดับเสียง (Max SPL) ได้สูงถึง 116dB ซึ่งในสภาวการณ์ที่ต้องเปิดใช้งานที่ระดับความดังสูง การคุมระดับความเพี้ยนเสียงก็นับว่าทำได้ดีเช่นกัน ในขณะที่เบสลงได้ลึกพร้อมปริมาณจุใจมากที่สุดในบรรดา Kube MIE ทั้งหมด อันเป็นอานิสงส์จากข้อได้เปรียบของขนาดวูฟเฟอร์กับตู้ลำโพงขนาดใหญ่ ผ่านประสบการณ์ออกแบบและปรับจูนเสียงโดย KEF
แต่แน่นอนว่า “ขนาด” ก็เป็นจุดที่ต้องคำนึงถึง ห้องเล็กพื้นที่จำกัด หรือมีข้าวของเฟอร์นิเจอร์อยู่ภายในห้องเยอะ การจะหาที่ตั้งวางเหมาะๆ ดูจะไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ Kube 15 MIE นับเป็นหนึ่งในลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีศักยภาพโดดเด่นเหมาะกับซิสเต็มลำโพงไฮไฟและโฮมเธียเตอร์ขนาดกลางถึงใหญ่ ในขณะที่ระดับราคาเอื้อมถึงได้ไม่ยากครับ
Kube 12 MIE – ถือเป็นตัวเลือกที่ลงตัวสำหรับใครที่งบไม่ถึง Kube 15 MIE ซึ่งด้วยระดับราคาที่ต่ำกว่า แต่ในแง่ประสิทธิภาพถือว่าย่อหย่อนกว่ากันไม่มากนัก ทั้งในแง่การตอบสนองย่านเบสลึกไปจนถึงการถ่ายทอดระดับเสียงเติมเต็มพื้นที่ห้องขนาดค่อนข้างใหญ่ได้เป็นอย่างดี การจับคู่กับลำโพงหลัก หากจะใช้งานร่วมกับลำโพงเล็กอย่าง LSX Series ก็น่าจะทำได้ แต่ด้วยขนาดที่ต่างกันเกินไปจะดูขัดตามากกว่า หากอิงความเหมาะสมทั้งรูปลักษณ์และศักยภาพ ผมว่ารุ่นนี้ใช้เติมเต็มย่านเสียงต่ำลึกให้กับ Q Concerto Meta ก็เหมาะสม หรือจะเป็นลำโพงตั้งพื้นอย่าง Q7 Meta หรือ Q11 Meta รวมถึง LS60W (หากงบไม่ถึง KC92) ได้คุ้มค่าลงตัวเป็นที่สุด
ขนาดตู้ลำโพง Kube 12 MIE ดูเล็กกว่า Kube 15 MIE อยู่พอสมควร อันจะส่งผลกับความสะดวกเวลาหาที่ตั้งวางในห้องตามบ้านทั่วไปอยู่บ้างเหมือนกัน หากคำนึงถึงจุดนี้ด้วยก็นับว่ารุ่นนี้ตอบโจทย์ครับ

Kube 10 MIE – ในความเห็นผม ถือเป็นรุ่นที่บาลานซ์ประสิทธิภาพกับขนาดได้โดดเด่นที่สุด ด้วยขนาดตู้ลำโพงที่ยังไม่ถึงกับใหญ่มาก แต่จูนเบสลึกได้อย่างพอเหมาะ พร้อมๆ กับปริมาณที่ให้ความอิ่มแน่นจากระดับเสียงที่เติมเต็มพื้นที่ห้องรับแขกตามบ้านทั่วไปได้อย่างลงตัว การจับคู่กับลำโพงหลักก็ทำได้หลากหลาย จะใช้งานร่วมกับลำโพงเล็กอย่าง LSX Series ก็ไม่รู้สึกว่าความต่างของขนาดจะดูแปลกแยกจากกัน ส่วนเรื่องเสียงไม่ต้องห่วง เพราะอยู่ในวิสัยที่สามารถเซ็ตให้ลงตัวเข้ากันได้ดี
อย่างไรก็ดี Kube 10 MIE ดูเหมาะเจาะลงตัวเมื่อจับคู่กับลำโพงวางหิ้งอย่าง LS50/LS50W, Q1/Q3 Meta หรือลำโพงวางขาตั้งขนาดกลางอย่าง Q Concerto Meta ไปจนถึงลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็กอย่าง Q7 Meta ก็ได้ นับเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดพอเหมาะ หาที่ตั้งวางได้ไม่ลำบาก แต่ให้เสียงและรูปลักษณ์ที่ลงตัวเข้ากับลำโพงหลากหลายภายในห้องขนาดตามบ้านทั่วไปได้ไม่ยาก

Kube 8 MIE – แม้เป็นน้องเล็กสุด แต่จัดเต็มกับประสิทธิภาพวงจรภาคขยาย โดยให้มาไม่ต่างจากรุ่นพี่ที่กำลังขับ 300 วัตต์ นับว่าเกินพอต่อการผลักดันเสียงความถี่ต่ำผ่านวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว ให้เต็มประสิทธิภาพ เสียงที่ได้ใหญ่เกินตัว อย่างไรก็ดีด้วยขนาดของวูฟเฟอร์และตู้ลำโพงที่เล็กกว่า การถ่ายทอดย่านเบสลึกสุดใจ บวกกับการเค้นระดับเสียงในสภาวะที่ต้องเปิดดังมากยังเป็นรองรุ่นพี่อยู่บ้าง จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ห้องร่วมกับลำโพงหลักที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก
กลับกันขนาดที่เล็กกะทัดรัดของ Kube 8 MIE ถือเป็นจุดเด่นที่ชัดเจนที่สุด เพราะเอื้อให้จัดวางในตำแหน่งต่างๆ ภายในห้องได้สะดวกง่ายดาย แม้แต่พื้นที่เล็กๆ อย่างใต้โต๊ะทำงาน-เล่นเกม ก็จัดวางได้สบาย มองดูสวยลงตัว ไม่รู้สึกเทอะทะเกะกะสายตา หากต้องการสร้างสรรค์พื้นที่ความบันเทิงเล็กๆ ร่วมกับชุดลำโพงตั้งโต๊ะรูปทรงกะทัดรัดอย่าง KEF LSX Series หรือชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์เล็กๆ อย่าง Q1+Q4+Q6 Meta ในห้องนั่งเล่นพื้นที่จำกัด ลำโพงซับวูฟเฟอร์อย่าง Kube 8 MIE เหมาะสมยิ่งกว่ารุ่นใด

เทียบขนาด Kube 8 MIE กับ Kube 10 MIE
ทิ้งท้ายไว้เช่นเคยว่า ซับวูฟเฟอร์เสียงจะดี ศักยภาพของลำโพงเองนั้นสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เสียงที่มีความกลมกลืนเข้ากันกับระบบที่ใช้งาน ข้อมูลการเลือกซื้อนี้เป็นเพียงคำแนะนำประกอบการตัดสินใจเบื้องต้น ทั้งนี้ลำโพงซับวูฟเฟอร์นับเป็นอุปกรณ์ที่อ่อนไหวกับปัจจัยแวดล้อมค่อนข้างมาก ทั้งสภาพห้อง (Room Mode) ไปจนถึงกระบวนการเซ็ตอัพ จึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ก่อนการใช้งานกันด้วยนะครับ. VDP
ราคาจำหน่าย
KUBE 15 MIE ราคา 59,900 บาท
KUBE 12 MIE ราคา 39,900 บาท
KUBE 10 MIE ราคา 34,900 บาท
KUBE 8 MIE ราคา 29,900 บาท
ติดต่อสอบถาม ทดลองฟังเสียง และสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย KEF
https://www.vgadz.com/kef-dealer/
Facebook page: KefAudioThailand
Line OA: @kefthailand
No Comments