ชานนท์

The perfect balance of compact size and impressive performance!?

หากประเมินประสิทธิภาพต่อขนาด ผมยกให้ KC62 Ultra Compact Subwoofer ของ KEF มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าปัจจัยสำคัญไม่ใช่ “ขนาดที่เล็กที่สุด”  KC92 คือ คำตอบ! อะไรคือสิ่งยืนยันในข้อสรุปนี้ มาหาคำตอบไปพร้อมกันครับ

ดูจากชื่อก็พอเดาได้ว่า KC92 มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับ KC62 ที่ผมเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ ถ้าดูจากรูปลักษณ์มีจุดที่คล้ายคลึงกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดต่างสำคัญ คือ เรื่องของ “ขนาด”

KC62 vs KC92 ความเหมือนที่แตกต่าง

ขอย้อนกลับไปที่ KC62 สักนิด ในรุ่นนั้นคือความพยายามขั้นสุดของ KEF ที่ต้องการออกแบบลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กให้เสียงดีที่สุด (เท่าที่จะเป็นไปได้) เพื่อทลายขีดจำกัดจากกฎ Hofmann’s Iron Law ที่กล่าวว่า “การออกแบบลำโพงเล็กให้เสียงดีนั้นยาก (ด้วยว่ามีข้อจำกัดเยอะกว่าลำโพงใหญ่)” ซึ่งมันก็ยากกว่าจริงๆ นั่นแหละ (ย้ำว่า – ถ้าต้องการออกแบบลำโพงเล็กให้เสียงดีเหมือนกับลำโพงใหญ่)

ขึ้นชื่อว่าเป็นกฎ แถมยังเป็น “กฎเหล็ก” เสียด้วย จะก้าวข้ามข้อจำกัดการออกแบบลำโพงเล็กให้เสียงดี โดยเฉพาะเมื่อเป็นลำโพงย่านต่ำอย่างซับวูฟเฟอร์นั้น ยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ KEF ก็ท้าทายระบบ! ดังนั้น เทคโนโลยีการออกแบบตู้ลำโพง, ตัวขับเสียง, ภาคขยาย ฯลฯ ระดับแอดวานซ์ขั้นสุดจึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อ KC62

ส่วน KC92 ก็อิงแนวทางเดียวกัน แต่เป็นในแบบที่ไม่ต้องคำนึงถึง “ขนาด” มากเท่ากับ KC62 ว่าแต่ความต่างในประเด็นนี้จะทำให้ “เสียงดี” ต่างกันหรือเปล่า ?

นอกจากขนาดที่ต่างกันชัดเจน จะเห็นว่าการออกแบบเชิงลึก KC92 ดูไม่แอดวานซ์ซับซ้อนเท่ากับ KC62 ไม่ว่าจะเป็นวัสดุตู้ลำโพง (MDF vs Aluminum), โครงสร้างตัวขับเสียง (Force cancelling vs Uni-core Force cancelling) และ ปัจจัยเสริม อย่าง Smart Distortion Control Technology (SDCT) วงจรตรวจจับและควบคุมการขยับตัวของวูฟเฟอร์แบบไฮบริด (Analog motion sensing + Digital Signal Processing) เพื่อลดทอนความเพี้ยนเชิงฮาร์โมนิก (ซึ่ง KC92 ไม่มี) แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของ KC92 ด้อยกว่า ในทางตรงกันข้าม ผลลัพธ์บางด้านทำได้เหนือกว่า KC62 ตรงนี้เดี๋ยวค่อยไปว่ากันต่อ แต่มาดู “จุดเหมือน-จุดต่าง” ของคู่นี้แบบชัดๆ กันก่อน

Uni-core เป็นการออกแบบวูฟเฟอร์คู่ขนาด 6.5 นิ้ว ให้อยู่ภายใต้โครงสร้างหนึ่งเดียว โดยคัสตอมตำแหน่งแม่เหล็กและวอยซ์คอยล์ใหม่ในแบบ “แกนร่วม” วัตถุประสงค์เพื่อทอนขนาดโครงสร้างวูฟเฟอร์ โดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก จึงติดตั้งกับตู้ลำโพงขนาดเล็ก (มาก) ของ KC62 ได้ แต่สำหรับ KC92 ขนาดตู้ลำโพงไม่ได้ถูกจำกัดขนาดนั้น เมื่อไม่ต้องคำนึงถึงตรงนี้มาก KEF จึงเลือกใช้วูฟเฟอร์ 9 นิ้ว จำนวน 2 ชุด แยกอิสระ แต่ยังคงนำมาติดตั้งขนาบด้านข้างตู้ลำโพงแบบหันหลังชนกัน แล้วจูนให้ทำงานสอดประสานหักล้างแรงสั่นสะเทือนส่วนเกินตามแบบ Force cancelling เหมือนเดิม

ทั้งนี้วูฟเฟอร์คู่ขนาด 9 นิ้ว ที่ KEF นำมาใช้กับ KC92 ไม่ได้ถูกลดทอนเรื่องของคุณภาพแต่อย่างใด ยังใช้วัสดุ Aluminium/Paper Cone พร้อมขอบเซอราวด์แบบจับจีบที่เรียกว่า P-Flex เหมือนกัน จึงทนทานต่อการผิดรูป เมื่อวูฟเฟอร์ต้องขยับตัวอย่างรุนแรงได้ดีไม่ต่างกัน แต่ถึงกระนั้น “ขนาดที่ใหญ่กว่า” นับเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ส่งผลไปถึงการถ่ายทอดเสียง

เมื่อพื้นผิวที่ใช้ผลักดันมวลอากาศเพื่อกำเนิดคลื่นเสียงความถี่ต่ำมีมากกว่า บวกกับโครงสร้างแม่เหล็กและวอยซ์คอยล์ขนาดใหญ่กว่า ช่วงชักก็ลึกกว่า วูฟเฟอร์คู่ขนาด 9 นิ้วของ KC92 จึงทำงานสอดรับกับภาวะที่ต้องเปิดเสียงดังมากได้เต็มที่กว่า เสริมด้วยปริมาตรตู้ลำโพงที่ใหญ่กว่า ความไว (Sensitivity) สูงกว่า ถึงแม้ติดตั้งใช้งานภาคขยายกำลังขับเท่ากัน (2 x 500W RMS Class-D) ก็ย่อมให้เสียงได้ดังกว่า ซึ่ง KEF ยืนยันว่า KC92 สามารถทำระดับความดังเสียงสูงสุด (Max SPL) ได้ถึง 110dB สูงกว่า KC62 ที่ 105dB!

ช่องรับสัญญาณ การควบคุมปรับจูนเสียง และฟีเจอร์เสริมอื่นๆ

KC92 ถอดแบบเรื่องความหลากหลายของช่องเชื่อมต่อเหมือนกับ KC62 ทั้ง Low-level RCA (Stereo/LFE) ทั้ง Input และ Output, High-level Speaker Input (via Euroblock) ไปจนถึงการรับสัญญาณ “แบบไร้สาย” ผ่านอุปกรณ์เสริม KW1 ที่ช่อง Expansion Port (EXP)

การปรับจูนเสียง สามารถกำหนด Crossover (Low-pass 40Hz – 140Hz), Volume (Gain) ชดเชยระดับเสียง และ Phase (0°/180°)

มีข้อสังเกตสำหรับการกำหนด Low-pass Crossover ของ KC92 กรณีที่ต้องการ Bypass Internal Crossover จะต้องหมุน Crossover Knob ทวนเข็มนาฬิกาจนสุด ซึ่งต่างจากความเคยชิน (หากเป็นซับวูฟเฟอร์โดยทั่วไป ตำแหน่ง LFE หรือ Crossover Bypass จะหมุนตามเข็มนาฬิกาจนสุด)

ไฟสถานะ จัดวางในตำแหน่งที่สังเกตได้ยาก โดยติดตั้งด้านหลังเหนือตำแหน่งจุดเชื่อมต่อสายไฟเอซี แต่มีข้อดีตรงที่แสงไม่กวนตา เมื่อใช้งานในห้องมืด ทั้งนี้เมื่ออยู่ในสถานะ Standby แสงเป็นสีแดง และเมื่อซับวูฟเฟอร์เปิดทำงาน แสงไฟจะเปลี่ยนเป็นสีขาว

คุณสมบัติหนึ่งที่เพิ่มมาให้กับ KC92 (KC62 ไม่มี) คือ Power Mode เพิ่มทางเลือกเปิด-ปิดการทำงานของซับวูฟเฟอร์แบบอัตโนมัติผ่าน 12V Trigger นอกเหนือจาก Auto Wake-up ผ่านการตรวจจับสัญญาณเสียงที่ส่งเข้ามา

พร้อมกันนี้ยังรองรับ Stacking Subwoofer วางซ้อนได้สูงสุด 3 ตู้ต่อแถว โดยเป็นอ็อปชั่นเสริม (ต้องซื้อขายึด KSK95 เพิ่มต่างหาก) แนวทางนี้ตอบโจทย์ หากว่าต้องการเติมเต็มเสียงความถี่ต่ำให้ครอบคลุมซิสเต็มขนาดใหญ่มาก ซึ่งลำพัง KC92 ชุดเดียวอาจไม่พอ

ผลการใช้งาน

ลำโพงที่ผมมีใช้อ้างอิงทดสอบร่วมกับ KC92 อาจไม่หลากหลายครอบคลุมลำโพงทั้งหมดที่มีในท้องตลาด แต่ศักยภาพของ KC92 ที่สามารถให้เบสลึกต่อเนื่องไปถึงย่านเสียงกลางต่ำ (ราว 200Hz เมื่อ Bypass Internal Crossover) น่าจะใช้ยืนยันการจับคู่ใช้งานร่วมกับลำโพงหลักที่มีขนาดเล็กย่านเสียงเบสจำกัดมากได้ลงตัวหลากหลายไม่แพ้ KC62 แต่ KC92 จะเหนือกว่า เมื่อใช้งานร่วมกับลำโพงขนาดใหญ่

ซึ่งจากที่ผมลองจับคู่กับลำโพงวางขาตั้งที่มีวูฟเฟอร์ขนาด 4 นิ้ว ไปจนถึงลำโพงตั้งพื้นที่ใช้วูฟเฟอร์ 8 นิ้ว ยืนยันว่า การเสริมย่านต่ำด้วย KC92 ให้ความต่อเนื่องกลมกลืนได้ดี ประเด็นนี้ส่งผลกับทั้งคุณภาพเสียงเมื่อฟังเพลง หรือแม้แต่รับชมภาพยนตร์ และไม่ว่าจะใช้การปรับจูนเสียงผ่านแผงควบคุมด้านหลัง KC92 เพียงลำพัง หรือใช้อุปกรณ์ที่มีระบบ Bass Management ก็ปรับจูนรอยต่อเสียงย่านต่ำของลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ให้กลมกลืนเข้ากันได้ แต่อย่างหลังทำได้สะดวกครอบคลุมกว่า เพราะมีตัวเลือกการปรับจูนเสียงที่ละเอียด หลากหลาย และตรงจุดกว่า

ถึงแม้สเปคแจ้งความสามารถถ่ายทอดย่านเสียงต่ำลึกมาเท่ากันที่ 11Hz (In-room Frequency Response @ -3dB) ทว่าการใช้งานจริงพบว่า KC92 ให้มวลเสียงย่านต่ำลึก (<40Hz) ได้หนาแน่นกว่า KC62 แบบที่สัมผัสรับรู้ได้ไม่ยาก หนึ่งในคอนเทนต์ที่ใช้อ้างอิงในจุดนี้ได้ดี คือ Dune (Dolby Atmos) แม้ว่าหลายๆ ฉากให้แรงปะทะของเบสต้นที่ดุดันและกระชับฉับไวไม่ต่างกันนัก แต่แรงกระเพื่อมจากเสียงเอฟเฟ็กต์ย่านเบสลึก KC92 มีความเด่นชัดกว่า ความต่างจะชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปิดระดับเสียงดังขึ้น

แล้วจะเลือก KC62 หรือ KC92 ดี?

KEF ให้คำจำกัดความ KC92 ว่า “The perfect balance of compact size and impressive performance” หรือลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่บาลานซ์ระหว่าง “ขนาดลำโพง” กับการถ่ายทอด “คุณภาพเสียง” ได้ลงตัวเป็นที่สุด ซึ่งผลการใช้งานจริงก็เป็นไปตามนั้น หากเอาคุณภาพเสียงเป็นที่ตั้ง ผมคงเลือก KC92 แบบไม่มีข้อกังขา ทว่ามันยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อการพิจารณานำมาใช้งาน ผมขอสรุปดังนี้ครับ

เลือก KC92 หากว่า… คำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ตอบโจทย์การใช้งานอัพเกรดเสียงย่านต่ำให้กับซิสเต็มลำโพงหลากหลาย ทั้งดูหนังและฟังเพลง ไม่ว่าเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ แต่ต้องมีพื้นที่ตั้งวางลำโพงซับวูฟเฟอร์อย่างเหมาะสม จริงอยู่ว่าขนาด KC92 ไม่ได้ใหญ่โตเทอะทะ แต่จะดึงศักยภาพออกมาได้สุด เอาไปวางในซอกแคบๆ ระหว่างหลืบเฟอร์นิเจอร์คงไม่เหมาะ แต่ถ้าทำได้ พร้อมกับปรับจูนเสียงได้อย่างลงตัวกลมกลืน นี่นับเป็นหนึ่งในลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีศักยภาพโดดเด่นครอบคลุมแบบไม่มีข้อกังขา คุณภาพเสียง ให้เบสลงได้ลึก มีความกระชับฉับไว เปิดได้ดัง พร้อมๆ กับระดับความเพี้ยนเสียงที่ต่ำ ภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยงาม กับขนาดที่ไม่ใหญ่โตเกินไป

เลือก KC62 หากว่า… ต้องการซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กกะทัดรัด ใช้พื้นที่ตั้งวางน้อย รูปลักษณ์สวยสะดุดตาด้วยวัสดุอะลูมิเนียมที่แข็งแรงทนทานกับทุกสภาพอากาศ ผิวสัมผัสด้าน ไม่เป็นรอยนิ้วมือ เลือกได้ 3 สี กลมกลืนเข้ากับลำโพงยุคใหม่หลายๆ รุ่นของ KEF คุณภาพเสียงบางด้าน เช่น การเติมเต็มระดับเสียงและเบสลึก โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับซิสเต็มลำโพงขนาดใหญ่ต้องเปิดเสียงดัง จะย่อหย่อนกว่า KC92 ทว่าในแง่การถ่ายทอดเสียงต่ำที่เที่ยงตรง ทั้งการรับฟังในระดับเสียงปกติไม่ดังมาก หรือแม้แต่ที่ระดับความดังสูงสุด ก็ยังคุมความเพี้ยนเสียง (THD) ตลอดย่าน ให้อยู่ในระดับต่ำได้อย่างน่าทึ่ง เหมาะมากสำหรับการอัพเกรดย่านเสียงให้กับชุดฟังเพลง ขณะเดียวกันก็เติมเต็มเสียงความถี่ต่ำลึกให้กับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ขนาดเล็กร่วมกับลำโพงแซทเทลไลต์ย่านเสียงต่ำจำกัด ไปจนถึงลำโพงวางหิ้งขนาดกลาง และลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็ก ได้อย่างมีคุณภาพ

ก่อนจบรีวิว ผมขอทิ้งท้ายไว้สักนิด… แนวทางการออกแบบ KC62 และ KC92 ของ KEF บอกอะไรที่เป็นประโยชน์กับเราบ้าง? มันเป็นสิ่งยืนยันอย่างดีว่า กฎเรื่องของ “ขนาดลำโพง” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบ ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า ลำโพงใหญ่ต้องเสียงดีกว่าลำโพงเล็กเสมอไป สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ แนวทางการแก้ปัญหาจากข้อจำกัดที่เกิดระหว่างการออกแบบลำโพงนั้น (ไม่ว่าลำโพงเล็กหรือใหญ่) ผู้ผลิตทำได้จริงไหม? จะอ้างเทคนิคให้ล้ำไว้ก่อนนั้นไม่ยาก แต่ทำแล้วสามารถตอบโจทย์ความต้องการจริงได้ดีมากน้อยเพียงใด? สิ่งเหล่านี้จะใช้ยืนยันสร้างความมั่นใจเรื่องของคุณภาพเสียงในขั้นต้นว่าจะดีจริงหรือไม่ ควรค่าแก่การไปลองฟังเสียงไหม? ซึ่ง KEF ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ยืนยันในข้อพิสูจน์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนจะเลือกมาใช้งานหรือไม่ ก็สุดแท้แต่การพิจารณาตามปัจจัยที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลครับ. VDP

ราคา 89,900 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation Co., Ltd.
โทร. 02-692-5216