EMOTIVA RMC-1 State-of-the-Art Surround Sound Processor
Emotiva: RMC-1 Sixteen Channel Dolby Atmos & DTS:X Cinema Processor ที่ผ่านการวิจัยและออกแบบมาแรมปีจากทาง Emotiva เพื่อเป็น Surround Sound Processor ในระดับ State-of-the-Art
ถ้าพูดถึง Surround Sound Processor หรือที่เรียกย่อๆ กันว่า Pre-Pro นั้น ในระดับมากกว่า 16 Channels ขึ้นไปในท้องตลาด ตอนนี้ก็มีตัวเลือกไม่มากนัก Emotiva: RMC-1 ก็เป็นหนึ่งในนั้น และถือได้ว่าเป็นตัวFlagship ของทาง Emotiva ซึ่งหลังจากผมได้รับเครื่องมาทดสอบพบว่า เครื่องนี้มีจุดน่าสนใจอยู่หลายอย่างที่จะเอามาเล่าให้ฟัง ใครสนใจติดตามอ่านกันได้เลยครับ
แกะกล่องที่แพ็คแน่นหนาเป็นกล่องสองชั้นออกมา อุปกรณ์ที่อยู่ภายในนอกจากตัวเครื่องก็มีไมโครโฟนที่ดูแข็งแรงมีมาตรฐานเพื่อใช้ในการเซ็ตเสียงพร้อมขาตั้ง, สายอากาศ FM, สาย Trigger, เสาอากาศ AM, สายไฟ และ USB Memory Stick
ส่วนกล่องแยกอีกกล่องเป็นกล่องที่บรรจุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการAuto-calibration แบบ DIRAC LIVE ภายในกล่องมีอะแดปเตอร์ที่มีหัวแบบต่างๆ ให้เลือก, กล่อง Ethernet Switch ที่เป็นสีขาว, Emotiva Dirac Network Interface กล่องสีดำ
สิ่งแรกที่ขอพูดถึงและไม่เหมือนที่เคยเห็นมาก็คือ รีโมตที่มีขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะน้ำหนักมาก แค่ดูก็รู้ว่ามีความแข็งแรงทนทานขนาดไหน การออกแบบปุ่มต่างๆ ก็ดูสะดวก เข้าใจง่าย ทำให้ปรับค่าควบคุมการทำงานของเครื่องได้เกือบทั้งหมด ที่ผมชอบมากก็คือ ปุ่มที่สามารถแยกปรับความดังของลำโพงแยกแต่ละแชนเนลได้เลย ในขณะดูหนังไม่ว่าจะเป็น Center, Subwoofer, Surround Height เพราะในบางสถานการณ์เช่น ตอนกลางคืนที่ต้องลดเสียง Subwoofer ลง แต่เพิ่มเสียงลำโพง Center ขึ้น เนื่องจากว่าเสียงไปรบกวนห้องอื่น หรือบางทีฟังคอนเสิร์ตมีอารมณ์อยากได้เบสหนักๆ แบบตื้ด ตื้ด… ก็สามารถกดปรับได้ที่รีโมตเลย และเมื่อออกจากการดูหนังแล้ว ค่าต่างๆ ที่ได้กดเปลี่ยนไปก็จะหายไป กลับไปเป็นค่าตั้งต้นเหมือนเดิม ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ความสมดุลของเสียงที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอน Calibrate เสียไป เสียแต่ว่าตัวรีโมตไม่ได้มีแสงช่วยดูในที่มืด ถ้าดูหนังในห้องที่แสงน้อย การกดปุ่มต่างๆ ก็ทำได้ยาก
รูปร่างหน้าตาของเครื่องภายนอกบางคนก็ชอบ บางคนก็บอกดูแข็งไป แต่สำหรับผมคิดว่าก็เรียบง่ายดูแข็งแรง โดยเป็นแผ่นโลหะขนาดใหญ่สี Metalic มีปุ่มปรับ Volume ใหญ่ๆ อยู่ตรงกลางอันเดียว สามารถหมุนปรับระดับความดัง หรือกดเลื่อนเป็นเหมือนลูกศรเพื่อเลือกเมนูก็ได้ ด้านบนมีจอ OLED แสดงผลขนาดใหญ่ ข้อมูลบนจอสามารถตั้งได้ตามความต้องการ ด้านล่างมีแค่ปุ่ม Standby กับช่องต่อหูฟัง ช่อง USB input และช่อง Analog Input เพื่อเสียบสายสัญญาณ Stereo line level ได้
ด้านหลังเครื่องมีช่องต่อต่างๆ มากมาย แบ่งเป็นส่วนๆ แต่อธิบายหมดคงไม่ไหว เอาเฉพาะที่สำคัญได้แก่… 8 ช่อง HDMI Inputs, 2 Outputs ทั้งหมดเป็น HDMI 2.0/HDCP 2.2 สำหรับ Output นั้น รองรับ ARC และ CEC ทั้งสองช่อง, Digital Audio Input มีแบบ Optical 4 ช่อง / Coaxial 4 ช่อง, Digital Audio Output เลือกได้ว่าจะให้เป็น Optical หรือ Coaxial, มีช่อง Digital Audio Input แบบ AES/EBU หนึ่งช่อง สำหรับต่อสัญญาณเสียงแบบ Digital โดยตรงเข้าเครื่องได้, สำหรับ Analog Audio Input มีทั้งที่เป็นแบบ Balanced 3 คู่ และ Unbalanced 1 คู่, มี Zone 2 Pre-amp Output แบบ RCA 1 คู่, USB Type B Digital Audio Input ที่รองรับ Sampling rates 384kHz / Word-lengths 32 bit, ช่อง Trigger แบบ 12 Volt ให้มาถึง 4 ช่อง, IR Output/Input แบบ 3.5mm อย่างละช่อง ที่เจ๋งอีกอย่างก็คือ เครื่องสามารถรองรับระบบเสียงแบบ DSD ได้ด้วย โดยการ Decoding Native DSD จะใช้กับช่องต่อแบบ HDMI ส่วนแบบ PCM จะผ่านช่องต่อ USB Input
สำหรับช่องต่อ XLR Output ด้านหลังแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็น Main-channel 13 ช่อง สำหรับลำโพงFront Left/Right, Center, Left/Right Surround, Left/Right Back Surround, Left/Right Front Height, Left/Right Rear Height และคู่สุดท้ายเป็น Left/Right Front Wide Channels อีกกลุ่ม 3 ช่องจะเป็น XLR เขียนไว้ว่า R Sub/Height, Center Sub, L Sub/Height ที่สามารถตั้งให้สัญญาณความถี่ต่ำออกได้ทั้งสามช่องหรือตั้งให้ช่อง R Sub/Height, L Sub/Height เป็นสัญญาณข้อมูลของลำโพง Left/Right Center Height ในระบบ Dolby Atmos ใช้ลำโพง Ceiling จำนวน 6 ตัว แล้วให้สัญญาณความถี่ต่ำออกเฉพาะที่ Center Sub ก็ได้ และถ้าตั้งให้ความถี่ต่ำออกทั้งสามช่องก็ยังสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้ออกเฉพาะ LFE หรือให้สัญญาณความถี่ต่ำที่รวบรวมมาจากลำโพงอื่นต่ำกว่า Crossover ที่ตั้งไว้ (Bass Management) ให้ออกช่องไหนบ้างก็ได้ เผื่อไว้สำหรับปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละซิสเต็มที่ต่างกัน
นอกจากนี้ Emotiva ก็ยังมีการจัดการความถี่ต่ำที่เรียกว่า Enhanced Bass เอาไว้สำหรับใครที่ต้องการให้เสียงความถี่ต่ำในระบบเยอะมากขึ้น โดยถ้าตั้งไว้เป็น disabled ความถี่ต่ำจาก LFE และจาก Bass Management ของลำโพงที่ตั้งเป็น Small ก็จะส่งไปยัง Subwoofer ตามปกติ แต่ถ้าตั้งเป็น enabled ความถี่ต่ำจากลำโพงMain ที่ตั้งเป็น Large จะแชร์ส่งไปที่ Subwoofer ส่วนความถี่ที่ต่ำกว่า 80Hz ของ LFE ก็จะถูกแชร์ส่งไปยังลำโพงที่ถูกตั้งเป็น Large ทั้งหมดด้วย (ยกเว้นลำโพง Center) อย่างไรก็ตาม Enhanced Bass ก็ไม่แนะนำให้ใช้ในการฟังเพลง แต่ก็คงต้องลองดูในแต่ละซิสเต็มด้วย เนื่องจากความแตกต่างของลำโพง หรือของอุปกรณ์ในชุดต่างๆ ไม่เหมือนกัน
Emotiva RMC-1 ณ ขณะนี้รองรับระบบเสียง Dolby Atmos ที่ 9.1.6 Channel และ DTS:X ที่ 7.1.4 Channel
ส่วนในอนาคต ทาง Emotiva ได้ทำ Expansion Module ไว้สามช่องเพื่อเพิ่มในส่วนของ Hardware ที่อาจจะมีการ Upgrade ทั้งทางด้านภาพและด้านเสียงขึ้นมา ซึ่งทาง Emotiva ยังแจ้งไว้ว่า ช่องเหล่านี้ยังสามารถขยายช่องสัญญาณลำโพงเพิ่มขึ้นไปได้อีกถึง 28 แชนเนล
สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องของ chipset ที่ RMC-1 เลือกใช้ของดีคุณภาพระดับ Audiophile เพื่อให้เสียงที่ออกมาสมบูรณ์ที่สุดทั้งการดูหนังแบบ Multi-channel และฟังเพลง Stereo Music โดยในส่วนของการแปลงสัญญาณ Digital เป็น Analog จะใช้ชิพ AKM4490 ที่ปกติชิพตัวนี้จะพบในเครื่องเล่นระดับ Hi-End อยู่หลายตัว การถอดรหัสก็ใช้ชิปตัวเก่งของ Analog Devices รุ่น ADSP-SC573 SHARC DSP ส่วนชิพประมวลเสียงจะใช้ของ Texas Instruments ตัว AM1808 Sitara ARM9 ซึ่งชิพเหล่านี้ถูกยอมรับกันว่าให้เสียงที่สมบูรณ์แบบในระดับ Hi-End เนื้อเสียงดี ให้เสียงที่มีรายละเอียด มี Dynamic เสียงที่ดี
ได้เวลานำเครื่องมาวางที่ชั้นวางเพื่อทดสอบแล้ว สังเกตดูด้านหน้าเครื่องแบ่งจอออกเป็นสองส่วน คั่นตรงกลางด้วยปุ่ม Volume ขนาดใหญ่ โดยฝั่งซ้ายบอกสถานะรายละเอียด source, สัญญาณขาเข้า-ขาออก, สัญญาณภาพ ส่วนด้านขวาบอกระดับ Volume ด้วยการออกแบบที่ดีทำให้การเซ็ตค่าต่างๆ สามารถทำโดยไม่ต้องต่อภาพออกจอ หรือใช้รีโมตเลย เพียงแค่ใช้ปุ่ม Volume กับดูจากเมนูหน้าเครื่อง เพราะว่าปุ่ม Volume เป็นลักษณะแบบ joystick ที่สามารถหมุนได้ กดเลือก และดันขึ้นลงซ้ายขวาเพื่อเลือกฟังก์ชันต่างๆในเมนูได้
อุปกรณ์บางส่วนที่ผมร่วมใช้ในการทดสอบในครั้งนี้ สำหรับชุดลำโพงเป็น Meyer Sound ระบบ 7.1.4 แชนเนล ประกอบด้วย… ลำโพงหน้า Acheron Designer, ลำโพง Surround HMS10 และ Subwoofer X-400C จำนวน 4 ตัว
เปิดเครื่องขึ้นมาก็ทำ Factory reset และ Update Firmware ก่อน เพื่อให้เครื่องมีความพร้อมในการทดสอบมากที่สุด สำหรับการ Update Firmware ก็ไม่ยาก โดยใช้ USB stick ที่ format เป็น FAT32 ไปดาวน์โหลดไฟล์ที่เว็บไซต์ของ Emotiva เสร็จแล้วก็นำ USB stick มาเสียบที่ช่อง USB ด้านหน้าก็ได้ เลือก Setup-Advance-FW update แต่ถ้าเครื่องมองไม่เห็น USB ก็ให้ถอดและเสียบอีกที ทั้งหมดใช้เวลาประมาณสิบนาทีเศษๆ ก็เสร็จ
การใช้งานครั้งแรกอาจจะงงหน่อย เนื่องจากว่าเมนูมีแต่ตัวหนังสือ ไม่มีรูปภาพประกอบ สำหรับหน้าจอที่ตัวเครื่องก็ขึ้นเหมือนกับหน้าจอภาพ แต่เมื่อใช้ไปซักพัก ผมก็เริ่มคุ้นเคยและรู้สึกสะดวกดีที่บางทีไม่จำเป็นต้องไปเปิดหน้าจอภาพแสดงเมนูเพื่อ setup เพราะสามารถ setup จากหน้าจอที่เครื่องได้เลย
สำหรับการตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Speaker Configuration, Bass Management, Level, Distance, EQ และอื่นๆ ก็ใช้หลักการเหมือนกับเครื่องทั่วไป ไม่ได้ยุ่งยากอะไร
ที่เจ๋งอีกอย่างก็คือ ในส่วนของ Parametric EQ ที่สามารถปรับได้ละเอียดถึง 11 band ต่อแชนเนล
เท่าที่ลองเล่นดู การปรับ EQ ในแต่ละแชนเนลมีการแยกอิสระกันดี ไม่มีการกวนกันของการปรับในแต่ละแบนด์ของแต่ละแชนเนล ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการใช้ชิพประมวลผลที่แยกอิสระต่อกันในแต่ละแชนเนล จึงทำให้เสียงที่ออกมามีโฟกัสชัด รายละเอียดเสียงแต่ละแชนเนลดี ส่งผลให้เสียงในส่วนของ Object Base มีความโดดเด่นมาก
เมื่อตั้งค่าต่างๆ เรียบร้อยจึงเริ่มทำ Manual Calibration ตามแนวทางของ THX, HAA
จากการปรับแบบ Manual ร่วมกับการใช้ EQ เพียงเล็กน้อย ก็ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมาก โดยเฉพาะความถี่ต่ำ
เสร็จจากการปรับ Manual Calibration แล้ว ก็มาทำการปรับโดยใช้Automatic Room Correction ที่มาพร้อมกับเครื่องก็คือ Dirac Live ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปรับเสียงในห้องแบบอัตโนมัติที่มีความทันสมัย และสะดวกมากที่สุดแบบหนึ่งของโลก โดยเป็นการปรับทั้งในส่วนของ Time Domain และ Frequency Domain สำหรับตัว Dirac Live ที่ใส่อยู่ในเครื่อง RMC-1 เป็นแบบ Full version สามารถปรับค่าตั้งแต่ความถี่ 20Hz – 20,000Hz ได้เลย
การเชื่อมต่อ Dirac Interface Kit ที่ให้มาสามารถต่อได้หลายวิธี โดยศึกษาได้จากเว็บไซต์ของทาง Emotivaเอง ซึ่งมีทั้งเป็นแบบเอกสารหรือวิดีโอบน YouTube วิธีที่ผมใช้ต่อทดสอบเป็นการเชื่อต่อสาย LAN จากModem ที่บ้านเข้าที่ Ethernet Switch (กล่องสีขาว) จาก Ethernet Switch ก็ต่อสาย LAN ไปยังเครื่อง RMC-1 และ Emotiva Dirac Network Interface (กล่องสีเทา)
สำหรับไมโครโฟนก็ต่อตรงเข้าไปยังช่อง USB ของ Notebook ที่เชื่อมต่อ Network ในวง LAN เดียวกัน
เปิดโปรแกรม Dirac Live ใน Notebook ถ้าเชื่อมต่อทุกอย่างถูกต้อง เครื่องก็จะหาเจออุปกรณ์ต่างๆ เองโดยอัตโนมัติ เสร็จแล้วก็ทำการดาวน์โหลด Calibration file ของไมค์ที่ใช้ในการวัดเพื่อให้ผลออกมามีความเที่ยงตรงที่สุด
การทำ Dirac Live คงไม่ได้พูดถึงมาก เพราะเคยพูดมาบ้างในบทความก่อน ขั้นตอนต่างๆ ก็เหมือนปกติที่ผู้ใช้งานสามารถอ่านตามคำแนะนำที่ให้มาบนหน้าโปรแกรมในแต่ละขั้นตอนได้
เมื่อทำ Dirac Live เสร็จสิ้น ข้อมูลก็ถูกเก็บอยู่ในเครื่อง สำหรับ Emotiva RMC-1 สามารถตั้งลำโพงไว้เป็นPreset ได้ 2 Preset ซึ่งในแต่ละ Preset สามารถเก็บค่า Equalization ไว้ได้ 4 ค่า เป็น Dirac 3 ค่า และ User 1ค่า ก็สามารถเลือกใช้กันได้อย่างสะดวก หรืออย่างใครมีลำโพงหลายแบบต้องการเก็บค่าการ Setup ในรูปแบบเสียงที่ต่างกันก็ทำได้ เช่น เก็บแบบ Dolby Atmosไว้ Preset หนึ่ง และ DTS-X ไว้อีก Preset หนึ่ง
ที่ผมชอบมากคือมี Surround Mode แบบ Direct สามารถ bypass ค่าการ Setup ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Dirac Live, Manual Parametric EQ presets และอื่นๆ (ยกเว้น Bass Management ที่ยังจะคงอยู่) โดยสัญญาณที่ถูกdecode จะถูกส่งตรงไปยัง Processor แบบไม่มีการแต่งแต้มใดๆ เสียงที่ออกมาจึงเป็นเสียงที่เที่ยงตรงที่สุด ซึ่ง mode นี้มีประโยชน์มากสำหรับใครที่ใช้ซิสเต็มใหญ่ ใช้ external DSP ต่างหาก และต้องการการปรับแต่งที่ตัว external DSP อย่างเดียว จะไม่ทำให้เกิดการซ้ำซ้อนกันของ filter ที่อยู่ในเครื่องและอยู่ใน DSP ซึ่งเท่าที่ผมทดสอบดูจากหลาย Contents และภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง เสียงแบบ Direct mode มีน้ำหนักเสียง น้ำเสียง ความแม่นยำ และ Dynamic ของเสียง ที่น่าฟังกว่าการใช้การปรับด้วย Dirac Live แล้วมาใช้DSP ซ้อนอีกทีหนึ่ง
เมื่อปรับทุกอย่างเรียบร้อยก็มาฟังเสียงจริงจากตัว Emotiva RMC-1 ว่าเสียงออกมาเป็นยังไงกันบ้าง โดยสิ่งแรกที่ผมขอฟังเลยคือ เสียงจากไฟล์ทดสอบ Amaze ของ Dolby Atmos ที่คุ้นเคย เมื่อได้ฟัง สิ่งที่จับได้เลยก็คือ รายละเอียดเสียง Surround มีความชัดเจน และ Dynamic ดี ระบุตำแหน่งได้แน่นอน อย่างเช่น เสียงนกในฉากที่บินรอบตัว เสียง Object Base ของ Immersive Sound เด่นมาก สามารถจับได้ถึงตำแหน่ง รายละเอียด ความแน่นของการกระพือปีกของนกเป็นอย่างดี เมื่อถึงฉากเมฆฝนที่มีเสียงฟ้าร้องก็รับรู้ได้ถึงความถี่ต่ำที่ลงลึก แผ่กระจายให้ความรู้สึกเหมือนมีเสียงฟ้าร้องจริงๆ อยู่ในห้อง
ยังไม่พอใจ ขอลองเรื่อง Object Base อีกซักคลิปเพื่อความแน่ใจ เลยลองคลิป Leaf จากแผ่นทดสอบ Dolby Atmos เช่นเดียวกัน คราวนี้ชัดเลยครับ เสียงใบไม้ที่หลุดออกจากกิ่งไม้แล้ววิ่งวนรอบตัว มีความแจ่มชัดมาก ความต่อเนื่องของเสียงที่วิ่งผ่านลำโพงแต่ละตัวทำได้แนบเนียนไม่มีช่องโหว่ อย่างในบางช่วงแม้ไม่ได้เห็นตัวใบไม้ แต่ก็รับรู้ถึงตำแหน่งที่วิ่งอยู่ด้านหลังแบบไร้รอยต่อ แล้วเสียงก็อ้อมออกมาทางด้านขวามาสู่จอทางด้านหน้าอย่างต่อเนื่อง
ทดสอบเสียงเบส ความหนักแน่น ความกระชับ ต้องหนังเรื่องนี้เลย John Wick 3 เสียงปืนที่ออกมามีความหนัก มีความคม ชัด ตำแหน่งแม่น สมกับที่ทาง Emotiva ใช้ชิพตัวดัง ตัวเก่ง แยกแต่ละแชนเนล เสียงจึงมีความ isolate ในแต่ละแชนเนล ไม่มีการกวนกัน และเมื่อมีการเคลื่อนตัวของเสียง เช่น คนยิงปืนแล้ววิ่งผ่านไป เสียงปืนก็ยังดังต่อเนื่องเคลื่อนไปตามตำแหน่งคนยิง ไม่วูบหายไป
มาลองดูจากภาพยนตร์เรื่อง Aladdin (2019) กันบ้าง ฉากที่อยู่ในถ้ำ เสียงของยักษ์ Genie (Will Smith) มีความยิ่งใหญ่ ร่วมกับมีเสียงก้องหน่อยๆ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในถ้ำจริง พอถึงฉากที่ระเบิดในถ้ำ วัตถุที่แตกออกมากระจายก็มีเสียงวัตถุเป็นชิ้นที่ชัดเจนพุ่งกระจายออกไป ฉากที่เป็นเสียงร้องเพลงของ Naomi Scott ในเพลง Speechless เสียงเครื่องดนตรีต่างๆ มีความเด่นชัดให้รายละเอียดสมจริง น้ำเสียงของเสียงร้องมีน้ำหนักน่าฟัง และถ้าสังเกตดีๆ เพลงนี้ตรงท่อนฮุคมีความถี่ต่ำแทรกอยู่ด้วย ซึ่ง Emotiva RMC-1 ก็แสดงเสียงความถี่ต่ำลึกตรงนี้ออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ฟังเน้นที่เสียงร้องชัดๆ จาก Lady Gaga ในเพลง “Always Remember Us This Way” ที่ประกอบภาพยนตร์ A Star Is Born เสียงจากเพลงเรื่องนี้ผมมักใช้ทดสอบน้ำเสียงของเสียงร้องนำอยู่เสมอ ซึ่ง Emotiva RMC-1ทำออกมาได้ดีเยี่ยม ให้รายละเอียดเสียงออกมาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเอื้อนเสียงที่มีเสียงลมหายใจเข้าออก การผ่อนเสียงหนักเสียงเบา เสียงร้องที่โดดเด่นกว่าเสียงดนตรีที่เล่นคลอตาม นอกจากนั้น Ambient sound โดยรอบ เช่น เสียงปรบมือ เสียงคนดูตะโกนก็แทรกเข้ามาเป็นระยะให้ความรู้สึกเหมือนเราอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตจริงๆ ด้วย
ต้องบอกว่า Surround Sound Processors ของ Emotiva RMC-1 รุ่นนี้เป็น Pre-processor ที่เด่นในเรื่องเสียงImmersive Sound มีการถอดรหัสที่ดีเยี่ยมจากชิพคุณภาพสูง เสียงมีความโอบล้อมให้บรรยากาศของเสียงสมจริง น้ำเสียงออกมาน่าฟังโดดเด่น ความถี่ต่ำทำได้หนักแน่นแบบมีรายละเอียดมีทิศทาง Dynamic สูง สามารถรองรับระบบเสียงทั้ง Dolby Atmos และ DTS-X ได้ถึง 16 แชนเนล ทั้งยังมี Expansion Slot สามารถUpgrade อุปกรณ์ Hardware เพิ่มเติมทีหลังได้ ทำให้เครื่องทันสมัยอยู่เสมอ ร่วมกับให้ Dirac Live เครื่องมือAutomatic Room Correction ระดับโลกแบบ Full Version มาด้วย มีการออกแบบมาให้เหมาะสมทั้งคนชอบดูหนังและคนรักเสียงเพลง กับราคาค่าตัว 220,000 บาท สินค้าระดับ Made in USA ถือว่าคุ้มค่าสุด ใครกำลังมองหา Pre-processor ราคาไม่แพงมาก แต่ประสิทธิภาพสูง ขอแนะนำ Emotiva RMC-1 ตัวนี้เลยครับ ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัท INVENTIVE AV ที่ได้ส่ง Pre-processor คุณภาพสูงมาให้ทดสอบในครั้งนี้ด้วยครับ. VDP
ราคา 220,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Inventive AV จำกัด (IAV)
โทร. 0-2238-4078-9
No Comments