ANTHEM MCA 225 & MCA 325 Designed to match, engineered for power.
ชานนท์ จุทัยรัศม์ :
ฉบับที่แล้วกล่าวถึง MCA 525 ซึ่งเป็น Power Amplifier หรือภาคขยายรุ่นใหญ่สุดของตระกูล MCA จาก Anthem โดยติดตั้ง โมดูลภาคขยายจำนวน 5 แชนเนล แต่หากมีงบประมาณจำกัด การเลือก MCA 225 หรือ MCA 325 ติดตั้งโมดูลภาคขยาย จำนวน 2 แชนเนล และ 3 แชนเนล ไปอัพเกรดศักยภาพของ AV Receiver ก็เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า เนื่องจากใช้งบประมาณต่ำกว่า
เพาเวอร์แอมป์ในซีรี่ส์ MCA ทั้ง 3 รุ่น อิงพื้นฐานการออกแบบเดียวกัน ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกไปจนถึงวงจรต่างๆ ที่อยู่ภายใน ทั้งนี้เพื่อให้การใช้งานร่วมกันเป็นไปอย่างกลมกลืน
MCA 225, MCA 325 vs MCA 525
ภาคขยายของทั้ง 3 รุ่น สามารถจ่ายกำลังขับได้เท่ากันที่ 225/400/600 วัตต์ ที่ 8/4/2 โอห์ม ส่วนที่แตกต่างกันคือจำนวนแชนเนล โดย MCA 225 ติดตั้งโมดูลภาคขยายจำนวน 2 แชนเนล และ MCA 325 ติดตั้งโมดูลภาคขยายจำนวน 3 แชนเนล เคล็ดลับที่ส่งให้ MCA Series Power Amp สามารถจ่ายกำลังขับต่อเนื่องได้สูง ส่วนหนึ่งเพราะใช้ High-current Bipolar Output Transistor ถึง 8 ชุดต่อหนึ่งแชนเนล
เมื่อมีโมดูลภาคขยายจำนวนน้อยกว่า ภาคจ่ายไฟก็ไม่จำเป็นต้องรับภาระมาก การใช้ Toroidal Transformer ขนาดใหญ่จำนวน 1 ชุด ก็เพียงพอสำหรับ MCA 225 และ MCA325
ถึงแม้ Toroidal Transformer ที่ Anthem เลือกใช้เป็นแบบ Low-flux การแพร่กระจายของสนามแม่เหล็กต่ำแต่การติดตั้งเพียง ชุดเดียวก็ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมสัญญาณรบกวนภายใน นอกจากนี้การจัดวางโมดูลภาคขยายแต่ละแชนเนลให้มีระยะห่างกันมากขึ้นใน รุ่น MCA 225 และ MCA 325 ลดการรบกวนระหว่างวงจรได้ดียิ่งขึ้นไปอีก เมื่อผนวกกับการไฟน์จูนจัดการกับทางเดินสัญญาณและคอนเนกเตอร์ เชื่อมต่อตามแบบฉบับ MCA Series ช่วยลดทอนอิมพิแดนซ์ลง เสถียรภาพ มั่นคงขึ้น เพื่อผลลัพธ์การถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้โดยสมบูรณ์
MCA 225 และ MCA 325 ยังคงติดตั้งระบบตรวจสอบการทำงานของวงจรภาคขยายที่เรียกว่า Advanced Load Monitoring หรือ ALM เพื่อตรวจจับความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ กระแส และแรงดันไฟฟ้า ป้องกันความเสียหายแก่วงจร ภาคขยายและลำโพง อีกทั้งยังเป็นการจำกัดระบบป้องกันภายในวงจร รูปแบบเดิมๆ (ฟิวส์) ที่อาจลดทอนคุณภาพเสียงออกไปได้ การบำรุงรักษาก็ทำได้ง่ายกว่าในระยะยาว
แนวทางการใช้งาน Anthem MCA Series Power Amplifier
การเสริมเพาเวอร์แอมป์ให้กับลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่มีในระบบครบ ทุกแชนเนลย่อมให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมตามอุดมคติ แต่แน่นอนว่าต้องใช้ งบประมาณสูงตามไปด้วย การซอยรุ่นย่อยตามจำนวนภาคขยายของ MCA Series Power Amp จึงเข้ามามีบทบาทเพื่อเป็นทางเลือกให้ อัพเกรดตามงบประมาณที่หลากหลายยิ่งขึ้น
1.การอัพเกรดเพิ่ม MCA 225 จำนวน 1 ชุด ทดแทนภาคขยายของ AVR เป็นทางเลือกที่ประหยัดที่สุด เหมาะกับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์แบบ “ไฮบริด” กล่าวคือ ใช้ซิสเต็มเดียวกันเพื่อรับชมภาพยนตร์เป็นหลัก แต่ต้องการเสริมศักยภาพด้านการฟังเพลง 2.0/2.1 แชนเนล ให้ยอดเยี่ยม ลงตัวมากยิ่งขึ้นนั่นเอง โดยให้ MCA 225 รับหน้าที่ขับลำโพงคู่หน้า ในระบบโฮมเธียเตอร์ หรือจะแยกลำโพงอีกคู่หนึ่งเชื่อมต่อกับ MCA 225 สำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน
2.กรณีเน้นไปที่การอัพเกรดคุณภาพเสียงสำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ เริ่มต้นด้วยการเพิ่ม MCA 325 ทำหน้าที่ขับลำโพง 3 แชนเนลหน้า (FL, C, FR) ก็เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจาก 3 แชนเนลนี้มีความสำคัญมากที่สุด ดุลเสียงควรกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกันตามศักยภาพของลำโพง และภาคขยายที่เท่าเทียมกัน
3.หากมีงบประมาณมากขึ้น การเลือกใช้ MCA 525 ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเพื่อระบบเสียงรอบทิศทาง 5.1 แชนเนลคุณภาพสูง ซึ่งโดยศักยภาพของ MCA 525 นั้น เหมือนนำ MCA 225 และ MCA 325 มารวมไว้อยู่ในตัวถังเดียว
4.ปัจจุบันการจะได้รับประสบการณ์อันยอดเยี่ยมจากระบบเสียง (Immersive Audio อาทิ Dolby Atmos และ DTS:X) ที่เหนือกว่า มาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางยุคก่อน ควรเริ่มต้นกับลำโพงในระบบไม่น้อยกว่า 5.1.2 แชนเนล ซึ่งจุดนี้ MCA 525 + MCA 225 (รวม 7 แชนเนล) ตอบโจทย์ได้ แต่จะดียิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มแชนเนลลำโพงในระบบเป็น 5.1.4 โดยใช้งานร่วมกับ MCA 525 + MCA 225 + MCA 225 (รวม 9 แชนเนล) หรือ 7.1.4 โดยใช้งานร่วมกับ MCA 525 + MCA 325 + MCA 325 (รวม 11 แชนเนล)
5.หากเป็นไปได้ การนำ MCA Series Power Amp ไปใช้งานร่วมกับ AVM 60 Pre Processor ของทาง Anthem จะดึงศักยภาพออกมาได้ โดดเด่นสมบูรณ์แบบกว่าการนำไปใช้งานทดแทนภาคขยายของ AVR
6.กรณีที่นำ MCA Series Power Amp ไปเสริมการใช้งานทดแทน ภาคขยาย “บางแชนเนล” ของ AVR อาจพบว่าเกนขยาย (Gain) แตกต่างกัน ในจุดนี้ต้องทำการตรวจสอบแก้ไข Speaker Level อีกครั้ง เพื่อบาลานซ์ระดับเสียงของลำโพงในระบบให้มีความกลมกลืน หรือหาก เป็นไปได้ทำ ARC (Anthem Room Correction) ซ้ำก็จะดีมาก
7. กรณีที่นำ MCA Series Power Amp ไปเสริมการใช้งานทดแทนภาคขยาย “ทั้งหมด” ของ AVR หรือนำไปใช้งานร่วมกับ AVM 60 Pre Processor จะไม่มีปัญหาเรื่องเกน (Gain) เนื่องจาก MCA Series ทุกรุ่น แม็ตชิ่งสเป็กเหล่านี้มาเท่ากัน รวมถึงดุลเสียงก็เหมือนกันด้วย ง่ายต่อการสร้างความกลมกลืน
ควรเลือก MCA 225, MCA 325 หรือ MCA 525 ดี? แนวทางข้างต้นน่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้โดยศักยภาพของเพาเวอร์แอมป์ทั้ง 3 รุ่น “เท่าเทียมกัน” ควรดูจากความต้องการ (จำนวนแชนเนล ลำโพงในระบบ) และงบประมาณที่มีเพียงเท่านี้ก็จะสามารถตอบโจทย์ ด้านคุณภาพเสียงให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นครับ. VDP
Anthem MCA 325 ราคา 95,000 บาท
Anthem MCA 225 ราคา 78,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โซนิค วิชั่น จำกัด
โทร. 0-2681-7500
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 274
No Comments