10” Active Subwoofer REL S/510 Extreme Performance, Compact Package!
นักเขียน : ชานนท์ จุทัยรัศม์
ความสามารถของหูมนุษย์นั้นน่าทึ่ง เราสามารถรับรู้ย่านเสียงได้กว้างตั้งแต่ย่านตํ่าไปจนถึงย่านความถี่สูง การจะหาลำ โพงที่สามารถตอบสนองย่านความถี่ได้ครอบคลุมตามอุดมคตินั้นจึงมิใช่เรื่องง่ายทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่า คือ การหาลำโพงซับวูฟเฟอร์ดีๆ เข้ามาเสริม “ย่านตํ่า” ให้กับลำโพงหลักที่มีใช้งานทั่วไป และผู้ผลิตลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ทำแบบนี้ได้อย่างลงตัว หนึ่งในนั้นคงไม่พ้น REL…
REL ยึดมั่นในการออกแบบและผลิตลำโพงซับวูฟเฟอร์โดยเฉพาะมาอย่างต่อเนื่องปัจจุบันมีรุ่นให้เลือกมากมายหลายระดับราคา S Serie ถือเป็นลำดับที่ 2 เป็นรองเพียงแค่ Reference Series ซึ่งเป็นซีรีส์เรือธงเท่านั้น ในแง่ประสิทธิภาพจึงมั่นใจได้ว่าอัดแน่นเต็มเปี่ยมตามสไตล์รุ่นระดับท็อป ทั้งนี้นอกจากรุ่น S/510 แล้ว ยังมี S/812 ที่มีขนาดใหญ่กว่า เปิดตัวมาพร้อมกัน
S/510 นับเป็นการอัพเกรดลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ REL ให้มีศักยภาพยอดเยี่ยมใกล้เคียงอุดมคติยิ่งขึ้น โดยทำการปรับปรุงเพิ่มเติมจากรุ่นก่อน คือ S/3 SHO ซึ่งนอกจากเสียงดีขึ้นแล้ว “รูปลักษณ์ภายนอก” ยังดูสวยงามลงตัวมากยิ่งขึ้นด้วย
ขนาดตัวตู้ S/510 ไม่ถือว่าเล็ก เมื่อเทียบกับมาตรฐานลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั่วไปในท้องตลาดที่ติดตั้งตัวขับเสียงขนาด 10 นิ้ เหตุผลเนื่องจากขนาดตัวตู้ S/510 จะต้องรองรับ “Passive Radiator” ขนาดใหญ่ถึง 12 นิ้ว โดยติดตั้งไว้ที่ส่วนล่างของตัวตู้ลำโพง อย่างไรก็ดีมิติตัวตู้โดยรอบที่ราวๆ 40 ซม. ต้องถือว่ายังคงความกะทัดรัดอยู่ การจัดวางไม่ได้กินพื้นที่มากแต่อย่างใด
จุดหนึ่งที่ผมชอบมากสำหรับดีไซน์ S Serie รุ่นล่าสุดนี้ คือ การออกแบบติดตั้ง “มือจับโลหะ” ไว้ที่ด้านข้างของตัวตู้ทั้ง 2 ฝั่ง ช่วยให้การย้ายตำแหน่งหรือแม้แต่ยกขึ้นซ้อนกันเพื่อเสริมการทำงานแบบ Stack สำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่หนักถึง 31.7 กก. นี้ ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น วัสดุโลหะเงาวับตัดกับตัวตู้สีดำ (หรือสีขาว) ผิวเคลือบมันแบบ Hi-glossร่วมกับฐานรองรับส่วนล่างตัวตู้ที่โค้งสอดรับกัน เสริมด้วยแผ่นโลหะโลโก้ที่ด้านบนบ่งบอกความเป็น REL ดูสะดุดตาหรูหราลงตัวดีมาก
การปรับปรุงศักยภาพของรุ่นใหม่ เริ่มที่ภาคขยาย NextGen3 Class D เพิ่มกำลังขับเป็น 500 วัตต์ (จากเดิม 400 วัตต์) พร้อมปรับจูน ตัวขับเสียง ContinuousCast Alloy Cone น้ำหนักเบา โดยเพิ่มชั้นฟิล์ม Pure Carbon Fibre ที่ด้านหลัง เพิ่มความแกร่งให้สอดรับก?าลังขับของภาคขยายที่สูงขึ้ง อีกทั้งยังเป็นการป้องกันเสียงภายในตู้ล?าโพงเล็ดลอดออกมากวนเสียงหลักได้ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายคือวงจรกรองความถี่ที่ส่งเสริมให้การถ่ายทอดเสียงย่านต่ำสมบูรณ์แบบ ความถี่ต่ำที่ได้จึงมีทั้งแรงปะทะหนักแน่น ตอบสนองฉับไว พร้อมกับเสียงที่สะอาดเที่ยงตรงขึ้นไปอีกขั้น
REL Subwoofer ทุกรุ่นเมื่อนำไปใช้งานในระบบโฮมเธียเตอร์ สามารถเชื่อมต่อสัญญาณแบบ 1/LFE (Low-level) และHigh Level (Speakon) พร้อมๆ กันได้ เหตุผลเพื่อให้สามารถนำลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาส่งเสริมถ่ายทอดเสียงจากช่องสัญญาณ LFE (.1)และเสริมย่านตํ่า (Sub-bass) สำหรับMain Channel พร้อมๆ กัน (ตามภาพเป็นตัวอย่างการเชื่อมต่อ REL Subwoofer 1 ตัว โดยเสริมย่านตํ่าให้กับลำโพงคู่หน้า) หลักการนี้จะส่งผลดียิ่งขึ้นเมื่อใช้งานแบบ Multi-subwoofer หรือเมื่อเสริม REL Subwoofer เข้ามาในระบบมากกว่า 1 ตัว ขึ้นไป และจะดีที่สุดหากเพิ่มจำนวน REL Subwoofer ได้เท่ากับจำนวนแชนเนล ลำโพงหลักทั้งหมดที่ใช้งานในระบบโฮมเธียเตอร์ เทคนิคที่วงการเครื่องเสียงบ้านเรารู้จักกันในชื่อ 3D Subwoofer
จุดที่ทำให้ REL Subwoofer สามารถทำหน้าที่ .1/LFE และ Sub-bass Subwoofer พร้อมๆ กันได้ (ในขณะที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั่วไปทำไม่ได้) คือ การออกแบบวงจรเชื่อมต่อสัญญาณและมีระบบปรับจูนให้ทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่างได้ เพื่อผลลัพธ์คือ ศักยภาพการตอบสนองย่านตํ่าที่ดีขึ้น โดยยังคงผสานความกลมกลืนไม่ให้เสียงแปลกแยกจากกัน
สายสัญญาณแบบ Neutrik Speakon ที่ให้มาพร้อมกับ S/510 สำหรับเชื่อมต่อรับสัญญาณ High-level จากภาคขยายของลำโพงหลักไปยังลำโพงซับวูฟเฟอร์ ความยาวสาย 10 ม. ช่วยให้การติดตั้งจัดวางตำแหน่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ REL Coupler แผ่นโลหะสำหรับยึดลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้าด้วยกันเมื่อวางซ้อนแบบ Stack
REL AirShip Wireless System อุปกรณ์เสริมสำหรับอัพเกรด S/510 ให้สามารถเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบไร้สาย ซึ่ง REL เคลมว่า หลักการ Zero compression จะให้คุณภาพเสียงดีเทียบเท่ากับการใช้สายสัญญาณเชื่อมต่อ และจะช่วยให้การติดตั้งจัดวางตำแหน่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ทำได้สะดวกและยืดหยุ่นมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องพะวงกับความยาวของสายสัญญาณ อีกทั้งยังช่วยให้ห้องดูเรียบร้อยไม่รกรุงรังเพราะสาย
ผลการทดสอบ
แนวทางการใช้งานลำโพงซับวูฟเฟอร์ตามแบบฉบับของ REL ซับซ้อนแลดูยุ่งยากอยู่สักหน่อย เนื่องจากต้องไฟน์จูนถึง 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ การส่งเสริมย่านต่ำ (Sub-bass) ให้กับลำโพงหลักซึ่งจำเป็นต้องทราบการตอบสนองความถี่ของลำโพงหลักภายในห้องที่แน่นอน (สำหรับเคสนี้ คือ ลำโพง Front L/R) จึงจะสามารถกำหนดจุดตัดความถี่ ระดับเสียง และกำหนดชดเชยเฟสของลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้อย่างเที่ยงตรง
ขั้นตอนที่สอง คือ การไฟน์จูนใช้งานลำโพงซับวูฟเฟอร์เพื่อตอบสนองเสียงเอฟเฟกต์ย่านต่ำโดยเฉพาะจากช่องสัญญาณ 1/LFE Channel นั่นเอง เบื้องต้นอาจอ้างอิงร่วมกับระบบช่วยเหลือ Auto Speaker Calibration ของ AVR/Processor ในปัจจุบันได้
แน่นอนว่าหากดำเนินการอย่างถูกต้อง ผลลัพธ์ตามแบบฉบับของ REL ย่อมจะดีกว่าแนวทางของซับวูฟเฟอร์ปกติ และอานิสงส์ที่ชัดเจนมากที่สุดจะได้จากการฟังเพลงแบบ 2.1 จากความกลมกลืนของย่านต่ำ จากลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ผสานจนเป็นเนื้อเดียวกับการตอบสนองความถี่ของลำโพงหลัก การถ่ายทอดย่านเสียงจะใกล้เคียงลำโพง Full-band ตามอุดมคติ ขยายขีดความสามารถในการถ่ายทอดโน้ตเสียงของเครื่องดนตรีได้หลากหลายและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น สามารถตอบรับกับแนวเพลงได้หลากหลาย ตั้งแต่พ็อพ แจ๊ส ร็อก ไปจนถึงคลาสสิก
และแน่นอนว่าการเสริมศักยภาพเมื่อรับชมภาพยนตร์ก็ไม่ผิดหวังจุดที่สัมผัสได้ว่าอัพเกรดขึ้นเมื่อเปลี่ยนจาก Serie HT รุ่นระดับราคาคุ้มค่าอย่าง HT1003 ที่เน้นใช้งานกับระบบโฮมเธียเตอร์เป็นหลัก คือ แรงผลักดันย่านต่ำลึกจาก S/510 สามารถสัมผัสจับต้องได้ชัดเจนกว่าในขณะที่เบสต้นกระชับ ฉับไว และคมชัดยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากพละกำลังของภาคขยาย ศักยภาพตัวขับเสียงที่สูงขึ้น และวงจรฟิลเตอร์ที่ลงตัวจึงได้เสียงย่านต่ำ ที่มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ทดสอบกับภาพยนตร์ที่เรียกว่าโหดหินสำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ในปี 2020 คือ Godzilla: King of the Monsters ในฟอร์แม็ต 4K Ultra HD Blu-ray พร้อมระบบเสียง Dolby Atmos (TrueHD) เรียกว่า ถ้าซับวูฟเฟอร์ไม่แน่จริงมีแป้กกันได้ง่ายๆ ซึ่งกับ S/510 แม้ฉากที่เสียงความถี่ต่ำลึกลากยาวต่อเนื่องก็ไม่ส่งผลระแคะระคายใดๆ ยังคงให้แรงปะทะหนักแน่น ดุดัน เสียงคมชัดไม่คลุมเครือ สามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่อลังการของสัตว์ประหลาดยักษ์ได้อย่างน่าประทับใจในห้องทดสอบขนาด 20 ตร.ม.
อีกหนึ่งลำโพงซับวูฟเฟอร์คุณภาพ โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์ วัสดุ งานประกอบเนี้ยบ พร้อมๆ กับลูกเล่นการใช้งานที่ครบเครื่อง กับความสามารถที่ซื้อ 1 เหมือนได้ 2 ไม่ว่าจะเสริมเอฟเฟกต์ย่านความถี่ต่ำลึก (.1/LFE) ในระบบเสียงมัลติแชนเนลโฮมเธียเตอร์ หรือการนำไปใช้งาน เติมเต็มย่านต่ำ (Sub-bass) ให้กับลำโพงหลัก เป็นการตอบสนองย่านเสียงที่สมบูรณ์แบบ ครอบคลุมทั้งการรับชมภาพยนตร์และฟังเพลงหลากหลายแนวไปพร้อมๆ กัน. VDP
No Comments