รีวิว JVC DLA-Z1 LASER & NATIVE 4K HDR PROJECTOR
ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์
ถ้าพูดถึงโปรเจกเตอร์ที่ใช้ในบ้าน JVC ถือว่าเป็นระดับหัวแถว และมีแฟนคลับที่ชื่นชอบในคุณภาพของภาพจากโปรเจกเตอร์ JVC อยู่มากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องของ CONTRAST และความดำจนมีบางคนถึงกับตั้งฉายาว่า JVC นี่เป็น OLED ในโลกโปรเจกเตอร์เลยที่เดียว ซึ่งที่ผ่านมา JVC ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นภาพแบบ 4K HDR อยู่หลายรุ่น แต่ยังเป็นความ ละเอียด 4K แบบ E-SHIFT ทำให้มีหลายท่านต่างเฝ้ารอว่า เมื่อไหร่ JVC จะออกรุ่นที่มีความละเอียดแบบ NATIVE 4K มาเสียที และในที่สุดทาง JVC ก็ได้ปล่อยผลิตภัณฑ์รุ่นเรือธงที่เป็นภาพระบบ 4K HDR แท้ๆ แบบ NATIVE นอกจากนั้น ยังเป็นรุ่นที่มีแหล่งกำเนิดแสงเป็น LASER ด้วย ได้ยินแบบนี้ หลายท่านคงสนใจแล้วว่า โปรเจกเตอร์รุ่นนี้มีอะไรที่เป็น จุดเด่น จุดที่น่าสนใจบ้าง เพราะระดับโปรเจกเตอร์รุ่นสูงสุดของ JVC คงไม่ธรรมดาแน่ ตามมาครับ เดี๋ยวผมจะ REVIEW โปรเจกเตอร์ตัวนี้ให้แบบละเอียดเลย
อย่างแรกที่ต้องพูดถึงก็คือ เรื่องของรูปร่างและขนาด โปรเจกเตอร์ตัวนี้ ทาง JVC ได้เอาประสบการณ์ในการออกแบบโปรเจกเตอร์อย่างยาวนานมา สร้างโปรเจกเตอร์รุ่นนี้ โดยออกแบบใหม่ทั้งหมด ขนาดของเครื่องจะใหญ่กว่า รุ่นอื่นๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากเหตุผลในเรื่องระบายความร้อนของเครื่อง laser และเลนส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ก็ไม่ใหญ่ถึงกับว่าจะหาที่จัดวางในห้อง Home Theater ปกติได้ยาก อย่างในห้องของผมเองก็สามารถวางไว้ด้านหลัง ตำแหน่งนั่งฟังได้สบายๆ ขนาดตัวถังของเครื่องกว้าง x สูง x ลึก อยู่ที่ 50 x 23.5 x 72 เซ็นติเมตร แต่ตัวเครื่องจะหนักหน่อย น้ำหนักอยู่ที่ 37.5 กิโลกรัม ซึ่งหาที่วางไว้น่าจะเหมาะสมกว่าจะแขวนไว้บนเพดาน ผิวของเครื่องรุ่นนี้ ทาง JVC ออกแบบมาอย่างดี โดยพื้นผิวของเครื่องเป็นสีดำด้าน และไม่เรียบ ทำให้เมื่อสัมผัสถูกนิ้วมือเวลาติดตั้งจะไม่ทิ้งรอยคราบนิ้วมือไว้ คิดว่าตรงนี้ JVC คงได้ประสบการณ์จากรุ่นก่อนที่เวลาติดตั้งเสร็จต้องมานั่งเช็ดคราบ รอยนิ้วมือต่างๆ ที่ติดบนเครื่อง หลังยกขึ้นยกลงขยับไปมาตอนติดตั้งนั่นเอง
จุดเด่นของโปรเจกเตอร์ตัวนี้ก็คือ แหล่งกำเนิดแสงที่เป็น BLU-Escent laser เทคโนโลยี ใช้ laser diodes สีฟ้าที่สามารถให้ความสว่างของภาพ ถึง 3,000 lumens ความสว่างที่สูงระดับนี้จึงให้ภาพที่สวยงามบนจอที่มี ขนาดใหญ่ได้ ยิ่งถ้าเอาไปดูภาพแบบ 4K HDR (High Dynamic Range) ในห้อง Home Theater นี้ด้วยแล้ว ถือว่าเหมาะมาก ระบบกำเนิดภาพ laser แบบนี้เห็นว่ามีอายุการใช้งานถึง 20,000 ชั่วโมง… ใช่ครับ อ่านไม่ผิด สองหมื่น ชั่วโมงกันเลย คิดดู ถ้าดูหนังวันละสามชั่วโมงทุกวัน เราก็สามารถใช้งานไปได้ ถึง 20 ปี ถือว่านานมาก
แหล่งกำเนิดภาพที่ใช้เป็น D-ILA แบบ 3 ชิพ ที่พัฒนาใหม่ ให้มีขนาดเล็ก และมีระยะห่าง แต่ละ pixel น้อยลง น้อยจน ทำให้สามารถใส่ความละเอียด ระดับ 4K 4096×2160 pixels หรือมากกว่าแปดล้านพิกเซล ลงในชิพขนาด 0.69 นิ้วได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชิพแบบ native 4K ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก การมีพิกเซลที่ ชิดกันมากๆ ร่วมกับการจัดวางอย่างดีนี้ ก็ส่งผลให้ลดการฟุ้งกระจายของแสง เพิ่ม contrast ของภาพ ทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด smooth มองไม่ เห็นช่องระหว่างพิกเซล แม้จะเอาไปฉายบนจอที่มีขนาดใหญ่ สำหรับเลนส์ ที่ใช้ในการฉายภาพ 4K นี้ JVC ใช้เลนส์แก้วคุณภาพสูงที่ใช้สำหรับภาพ 4K โดยเฉพาะ ใช้ชิ้นเลนส์ทั้งหมด 18 ชิ้น หน้าเลนส์มีขนาดกว้างถึง 100mm เมื่อเทียบกับเลนส์ที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้ลดการบิดเบี้ยวของภาพบริเวณขอบ มีแสงสว่างและความชัดทั่วเท่ากันทั้งจอ การปรับ lens shift ทั้งแนวดิ่ง และแนวราบทำได้มากกว่าเดิม ถ้าใครมีความรู้เรื่องถ่ายภาพก็คงทราบว่า คุณภาพของภาพจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับเลนส์ของกล้องที่ใช้เป็นสำคัญ เวลาที่ซื้อ เลนส์ถ่ายภาพ สิ่งที่เราซื้อก็คือชิ้นแก้วที่ใช้ทำเลนส์ ตัวเลนส์จะแพงไม่แพงก็ อยู่ตรงนี้ ก็เช่นเดียวกับโปรเจกเตอร์ ภาพที่ออกมาจะดีหรือไม่ เลนส์นับว่ามี ส่วนสำคัญมาก ซึ่งบางคนอาจจะมองข้ามความสำคัญของส่วนนี้ไป พอพูดถึง ความคมชัดก็มุ่งไปสนใจแต่ resolution ของ pixels เพียงอย่างเดียว ส่วนใน เรื่องการควบคุม lens shift, Zoom และโฟกัส ก็ใช้ระบบมอเตอร์ควบคุมเพื่อ ให้ปรับเลนส์ในขั้นตอนการติดตั้งได้สะดวก แต่ที่ต่างจากตัวอื่นๆ ของ JVC คือ ไม่มีการปิดหน้าเลนส์อัตโนมัติเมื่อปิดเครื่อง แต่จะใช้ฝาครอบเหมือนฝาครอบ เลนส์กล้องถ่ายรูป ถอดเข้าถอดออกด้วยมือแทน
ด้านหลังของเครื่องมี HDMI port รุ่น 2.0B อยู่ 2 ช่องต่อ สามารถรองรับ ต้นทางที่เป็นแหล่ง 4K ในระบบ 4K/60p/4:4:4, 4K/60p/4:2:2/36-bit และ 4K/24p/4:4:4/36bit ที่ bandwidth 18 Gbps ได้ นอกจากนั้นก็ยังรองรับ การเข้ารหัส HDCP รุ่น 2.2 ที่มาจากแหล่งต่างๆ เช่น video streaming หรือ UHD Blu-ray disc ทำให้สามารถเชื่อมต่อโปรเจกเตอร์กับอุปกรณ์ 4K อื่นๆ ได้ นอกจากนั้นก็มีช่องต่อ RS-232 เพื่อใช้ในการต่อกับคอมพิวเตอร์ และ Up Firmware ส่วนช่องต่อ RJ45 ใช้ในการเชื่อมต่อกับ network เพื่อใช้ใน การปรับตั้งค่าที่ละเอียดกว่าการปรับจากเมนูบนหน้าจอผ่าน remote รวมถึง ยังสามารถต่อคอมพิวเตอร์กับ meter วัดภาพ Spyder5 หรือ i1 Pro2 เพื่อทำการ auto calibration ปรับค่า Grayscale, Gamma, Color, Color Temperature ได้อีกด้วย
เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานที่เด่นๆ ของตัวโปรเจกเตอร์ JVC DLA-Z1 แล้ว คราวนี้มาดูผลการทดสอบกันบ้าง โดยอุปกรณ์ร่วมที่ผมใช้ในการทดสอบ มีดังนี้ เครื่องเล่นต้นทางที่ใช้เป็น Oppo UDP-203 ทดสอบทั้งต่อตรงไปยัง โปรเจกเตอร์ และต่อผ่าน Video Processor Lumagen รุ่น RadiancePro Series จอภาพที่ใช้เป็น Stewart FireHawk อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดและ calibration ก็มี Meter วัดภาพ Klein K10-A ใช้ pattern generator ของ Murideo Six-G โปรแกรมในการวัดภาพใช้สามโปรแกรม คือ… Chromapure Professional, Spetracal Calman Video Pro, LightSpace HTP แต่ก่อน ที่จะรายงานผลการทดสอบ ผมต้องบอกก่อนว่า พอผมทราบว่าจะได้ทดสอบ เครื่องโปรเจกเตอร์เลเซอร์แบบ 4K HDR สิ่งที่ผมตั้งข้อสงสัยก่อนที่จะได้เห็น เครื่องจริงๆ เลยก็คือ เนื่องจากเป็นเครื่องแบบเลเซอร์ที่ให้แสงสว่างมาก แล้วความดำของภาพจะยังทำได้ดีเหมือนรุ่นอื่นๆ ของ JVC หรือไม่ เนื่องจากเครื่องโปรเจกเตอร์ที่ผมเคยเห็นมา ถ้าสว่างมากๆ ความดำมักทำได้ไม่ดี ต่อมาก็คือเรื่องของความร้อน เนื่องจากแหล่งกำเนิดแสงเป็นเลเซอร์จะทำให้เครื่องร้อนมากกว่าปกติไหม แล้วการระบายความร้อนที่ใช้แบบพัดลมของรุ่นนี้ จะทำให้เสียงดังหรือเปล่า ระยะเวลาการเปิดปิดเครื่องต้องนานด้วยไหม และอย่างสุดท้าย ภาพแบบ HDR ที่มีมาในเครื่องนี้เป็นแค่ของแถมมา หรือเปล่า เพราะเครื่องโปรเจกเตอร์บางเครื่อง ภาพ HDR ที่มานั้น เรียกได้ ว่าแทบจะดูไม่ได้ สีสันสดเกินจริงไปมาก contrast ของภาพไม่เนียน รอยต่อ ของการไล่สีดำไปขาวเป็นปื้นๆ ไม่เรียบ คราวนี้ลองมาดูว่า โปรเจกเตอร์ตัวนี้ จะเป็นแบบนี้หรือเปล่า
เมื่อได้เครื่องมา ผมก็ยกไว้บนตู้ที่มีความสูงเลยหัวขึ้นมานิดหน่อย ทำให้ โปรเจกเตอร์วางอยู่เกือบๆ กลางจอพอดี ทำการปรับ Zoom, Shift, Focus เพื่อให้ภาพออกมาพอดีกับจอภาพ ซึ่งก็ทำได้ง่าย เพราะสามารถนั่งตรง เก้าอี้แล้วกดรีโมตปรับได้เลย เสร็จแล้วก็ทำการปรับ Pixel Adjust เพื่อให้ pixel ของสีแดง เขียว น้ำเงินตรงกัน วิธีก็เหมือนกันการปรับใน JVC รุ่นอื่นๆ ทำการเลือก Screen Adjust เพื่อให้เลือกชนิดของจอภาพให้เข้ากับ โปรเจกเตอร์ โดยสามารถเลือกค่าตัวเลขจากในคู่มือว่าจอภาพของเราใช้ยี่ห้อ อะไร รุ่นไหน แล้วใส่ค่าลงในเมนู Screen Adjust ได้เลย การเลือก Picture Mode ในระบบของห้องผมเอง เมื่อวัดแล้วพบว่า ถ้าเป็นภาพแบบ Full HD ค่าที่ใกล้เคียงมาตรฐานมากที่สุดคือ Natural หรือ THX แต่ถ้าใครจะเอาเป็น ค่าเริ่มต้นสำหรับการปรับต่อไป ผมแนะนำเป็น Natural หรือตั้งค่าเองเป็น User1-User6, Color Profile เป็น BT.709 เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นภาพแบบ 4K HDR เมื่อมีสัญญาณ HDR เข้าไป ตัวเครื่องโปรเจกเตอร์จะ switch ไปที่ picture mode เป็น HDR โดยอัตโนมัติ ส่วน color profile ก็จะเป็น HDR ด้วย ซึ่งตัว default นี้ เท่าที่วัดดูถือว่ามีความสว่างและค่าทางสีใกล้เคียง กับมาตรฐาน แต่ถ้าใครต้องการให้สีออกมาใกล้มาตรฐานมากขึ้นก็สามารถ เลือก color profile เป็น BT.2020 แต่ว่าความสว่างของภาพก็จะลดลง อย่างที่ผมวัดนั้น ถ้าเลือก color profile เป็น HDR ความสว่างของภาพจะ อยู่ที่ 125nits แต่ถ้าเปลี่ยน color profile เป็น BT.2020 ที่มีค่าสีใกล้เคียง มาตรฐานมากขึ้น ความสว่างจะลดลงเหลืออยู่ที่ 80nits เลย อันนี้ต้องลองเลือก และปรับเอาเองได้เลย
หลังจากนั้นก็ได้เวลา Calibration โดยตัวโปรเจกเตอร์ JVC นั้น สามารถ ปรับค่าเบื้องต้น เช่น Brightness, Contrast, Color, Tint ได้จากเมนูบนหน้าจอ แล้วกดรีโมตได้เลย color temp ก็สามารถปรับในส่วน 2point white balance ในส่วนมืดและส่วนสว่าง ค่า Gamma สามารถปรับได้คร่าวๆ เป็น ค่า Picture Tone, Dark Level, Bright Level ซึ่งผมได้ลองปรับค่าต่างๆ เหล่านี้ แล้ววัดค่าดู พบว่าโปรเจกเตอร์เครื่องนี้มีการตั้งค่าในตัวเครื่องค่อนข้าง ตรงกับค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งมีความเป็น linearity ทำให้การปรับค่า เพียงเล็กน้อยก็ได้ค่าที่ใกล้เคียงมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับสีใน CMS การปรับค่า Gamma แต่ถ้าใครชอบปรับแบบละเอียดมากกว่านี้ก็สามารถ ทำได้ โดยผ่านโปรแกรม Projector Calibration Softwar ของ JVC แต่มี ข้อแนะนำนิดหนึ่งว่า การปรับบนโปรแกรมตัวนี้ เวลาปรับค่าจะค่อนข้าง sensitive หน่อย บางทีปรับนิดเดียวค่าไปไกลเลย และอย่าลืม backup ค่าเริ่มต้น ไว้ด้วย ปกติโปรแกรมจะ default ไปเก็บไว้ใน folder Doctuments เป็นไฟล์ นามสกุล .cbd ยังไงลองเข้าไปตรวจสอบอีกทีว่า เครื่องได้ backup เรียบร้อย แล้ว เพราะถ้าปรับภาพออกมาเละจะได้ไป load ตัวตั้งต้นได้เลย การที่จะ ไปปรับกราฟ กับค่าต่างๆ ให้กลับเป็นเหมือนเดิมใหม่นั้น ทำได้ค่อนข้างยาก
จากการวัดค่าพบว่า โปรเจกเตอร์ JVC DLA Z-1 ในสภาพสิ่งแวดล้อม ห้องของ ผมสามารถให้ความสว่างสูงสุดถึงได้ถึง 145nits หรือประมาณ 42fL เรียกได้ว่าสมศักดิ์ศรีเลเซอร์โปรเจกเตอร์ ความกว้างของเฉดสีที่ทำได้ตั้งต้น ถ้าเป็น DCI P3 สามารถครอบคลุมสีได้ทั้งหมด 100% และ 80% สำหรับ BT.2020 และเมื่อทำการ calibrated ภาพแล้ว วัดค่าดูความกว้างของ DCI P3 จะเป็น 95% ส่วน BT.2020 เป็น 75% ก็นับได้ว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับ โปรเจกเตอร์ในท้องตลาดโดยทั่วไป
หลังจากได้ทำการปรับในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทำการปรับภาพแบบ ที่ advance มากขึ้น ก็คือการปรับแบบ 3D LUTS การปรับแบบนี้ถือได้ว่า เป็น gold standard ของการปรับภาพ reference monitor จอภาพที่เป็น professional เหล่านี้จะมี 3D LUTS ฝังอยู่ในเครื่องอยู่แล้ว แต่ในเครื่องที่ใช้ ในบ้านก็ต้องใช้เครื่องมือพวก external video processor มาช่วย เรื่องการ ปรับ 3D LUTS ถ้ามีคนสนใจ เดี๋ยวถ้ามีโอกาสผมจะมาเล่าให้ฟังแบบละเอียด อีกที ซึ่งหลังจากผมได้ปรับภาพแบบ 3D LUTS ทั้งภาพแบบ Full HD และ 4K HDR แล้ว ก็พบว่าสีสันของภาพมีความแม่นยำถูกต้องมากขึ้น สีมีความอิ่มตัว และสวยงาม การไล่ระดับ grayscale ดี ทำให้มิติของภาพดีขึ้น ส่งผลถึงความลึกของภาพ แต่สำหรับภาพแบบ HDR นั้น การทำ 3D LUTS ก็ต้องแลกกับความสว่างของโปรเจกเตอร์ที่ลดลงไปบ้าง อันนี้ก็ต้องเลือกเอาว่าต้องการให้ ความสำคัญตรงจุดไหนมากกว่า แต่จากที่ผมได้ทดสอบดูแล้ว พบว่า ถ้าเป็น content HDR จริงๆ การที่ภาพมีสีไม่ตรงบ้างเล็กน้อย แต่ให้แสงสว่างของภาพ มากกว่า จะมีความสวยงามของภาพมากกว่าภาพที่มีสีสันถูกต้องกับมาตรฐาน เป๊ะ แต่ความสว่างของภาพไม่ดี แต่ในที่สุดแบบไหนจะดีกว่าก็ต้องตัดสินใจ แต่ละครั้งแต่ละตอนไป เพราะยังมีปัจจัยที่มีผลเกี่ยวกับความสวยงามของ ภาพอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึงในสถานการณ์เฉพาะนั้นๆ ด้วย
และตอนนี้ผมได้คำตอบที่คาใจกับโปรเจกเตอร์เลเซอร์ 4K HDR แล้วว่า สิ่งที่เคยตั้งข้อสงสัยนั้นไม่เป็นความจริงสำหรับโปรเจกเตอร์ตัวนี้ ตั้งแต่ ความดำของภาพที่คิดว่ายังไงภาพสว่างขนาดนี้คงไม่สามารถให้ความดำความลึกของภาพเหมือนกับ JVC รุ่นก่อนๆ ที่ทำมาดีมาก แต่ Z1 กลับยังคง ให้ความดำลึกไม่แพ้รุ่นอื่นๆ ของ JVC ขณะที่ให้ความสว่างของภาพมากถึง 3000Lumen ในเรื่องความร้อนของเครื่องที่จะต้องใช้พัดลมแรงๆ จนทำให้มีเสียงดัง ต้องบอกว่าโปรเจกเตอร์ตัวนี้เงียบมาก เงียบกว่ารุ่นในอดีตของ JVC ที่บางทำให้ต้องเลือกความสว่างของภาพแบบ low ถ้าเลือก high เสียงพัดลม จะดังน่ารำคาญมาก ซึ่งพอไปดูใน spec ของเครื่องจริงๆ Z1 ตัวนี้มีความดัง ของเครื่องแค่ 25dB เท่านั้น และที่สร้างความประหลาดใจอีกอย่างก็คือ เวลาปิดเครื่องใช้เวลา cool down แค่สิบกว่าวินาที เร็วมากเมื่อเทียบกับ โปรเจกเตอร์ตัวอื่น บางตัวที่ผมเคยเห็นมาต้องใช้เวลาหลายนาทีเลยสำหรับ การรอให้ cool down จนพัดลมในเครื่องปิด และสำหรับข้อสงสัยข้อสุดท้าย ของผมก็ได้รับคำตอบแล้วว่า ภาพแบบ 4K HDR ของโปรเจกเตอร์รุ่นนี้ไม่ใช่ ของแถมครับ แต่มันคือจุดเด่นเลยของโปรเจกเตอร์ JVC DLA-Z1 ตัวนี้
เสียงพัดลมก็ไม่ได้ดังมาก
เพื่อรองรับความสว่างที่ต่างกันของหนัง 4K HDR แต่ละเรื่อง
หลังจากปรับภาพเสร็จ ผมก็ได้ทดสอบภาพจริง ทั้งจากแผ่นทดสอบ แผ่นภาพยนตร์เรื่องต่างๆ สำหรับภาพต้นฉบับที่เป็น 1080p หรือต่ำกว่า เมื่อมาฉายแล้ว Upscale มาเป็น 4K ภาพที่ออกมามีความรู้สึกว่าชัดกว่า การดูแบบ 1080p ส่วนเรื่องสีและความสว่างของภาพแบบ Full HD SDR นั้นถือได้ว่าทำได้สบาย เนื่องจากตัวโปรเจกเตอร์เองมีความกว้างของเฉดสี และความสว่างเกินมาตรฐานของภาพแบบนี้อยู่แล้ว ทำให้มี headroom เหลือๆ สำหรับการแสดงภาพแบบนี้ และท่าที่ผมดูมาก็ไม่พบมี artifacts ใดๆ ที่แสดงถึงความผิดปกติของภาพ เช่นเดียวกับภาพแบบ 4K HDR ภาพที่ออกมา หลังจาก calibrate แล้ว รวมกับได้ข้อดีของเลนส์ 4K แท้ คุณภาพดี ทำให้ ทั้งความคม มิติภาพ ความสว่าง และความมีพลังของภาพที่เพิ่มมากขึ้นกว่า ภาพแบบ SDR การไล่ Grayscale ที่ถูกต้อง ทำให้ภาพมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงการไล่ skin tone ทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่างทำได้สมจริง มีรายละเอียด tone mapping ที่มาในเครื่องมีความเหมาะสม ส่งผลให้ specular highlight ในภาพไม่เกิดความผิดเพี้ยนเกิดเป็นความสว่างเจิดจรัส สวยงามดีมาก แต่ปัญหาที่พบอย่างหนึ่งของหนังแบบ 4K HDR ในปัจจุบันก็คือ แต่ละแผ่นอัดความสว่างมาไม่เท่ากัน ถ้าสังเกตดูบางแผ่นพอเอามาเล่นแล้ว ภาพสว่างจ้ามาก ขาวโพลนไปหมด ในขณะที่อีกแผ่นใช้โหมดการเล่นเดียวกัน ปรับค่าต่างๆ เท่ากัน ภาพออกมามืดๆ ทึมๆ ดังนั้นในตอนนี้ ผมเลยใช้วิธีการ ตั้งค่า preset EOTF หรือ Gammaไว้สามแบบ เอาไว้รับมือกับความแตกต่าง ของความมืดความสว่างที่แตกต่างกันในแต่ละแผ่นเหล่านี้ ซึ่งวิธีการนี้ผมได้ใช้ โปรแกรม LightSpace ในการใส่ค่าตัวคูณเข้าไปในกราฟ EOTF ST.2084 ให้ มีความสว่างของภาพต่างกัน ตั้งแต่ X2 X3 X6 โดยภาพยังคงรักษา Curve เป็นไปตามมาตรฐาน PQ หรือ ST.2084 อยู่ คราวนี้เวลาดูหนังซักเรื่องหนึ่ง ก็ค่อยเลือกเอากราฟตัวคูณที่เหมาะสมกับความสว่างของภาพนั้นๆ ได้ อย่างที่ เคยบอกไว้ว่า มาตรฐาน 4K HDR10 ในตอนนี้ยังคงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้น ในตอนนี้เราคงต้องใช้วิธีแบบนี้ไปก่อน รอจนกว่ามาตรฐานของ HDR มีความแน่นอนมากกว่านี้ ค่อยว่ากันอีกที
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการทดสอบโปรเจกเตอร์ JVC DLA-Z1 รุ่นที่เป็นเรือธง ของ JVC ซึ่งนับว่าสร้างความตื่นเต้น และน่าประทับใจมากสำหรับภาพที่ ออกมาของโปรเจกเตอร์ตัวนี้ ต้องบอกว่า คุณภาพของโปรเจกเตอร์ตัวนี้ สมกับเป็นรุ่นเรือธงของทาง JVC เลยจริงๆ โดยเฉพาะภาพแบบ HDR นั้น ภาพออกมาสวยกว่าภาพแบบ Full HD อย่างมาก ทำให้ดูแล้วไม่อยากกลับไป ดูภาพ Full HD SDR แบบเดิมเลย ผมนี่ถึงกับหันไปมองดูกองแผ่น Full HD ที่ซื้อมาไว้จนเต็มตู้ บางเรื่องก็ยังไม่ได้แกะดูเลย แล้วคิดว่าจะทำยังไงกับกองนี้ดี เพราะตอนนี้อยากดูหนังเหล่านี้ในรูปแบบ 4K มากกว่า ยังไงถ้าใครเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา โปรเจกเตอร์ตัวนี้ถือได้ว่าเป็นตัวเลือกของโปรเจกเตอร์แบบ Laser 4K HDR ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งที่มีอยู่ในท้องตลาด หรือถ้าใครยังไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ก็ต้องลองหาประสบการณ์การดูภาพจากโปรเจกเตอร์ตัวนี้ สักครั้งหนึ่ง แล้วคุณจะรู้ว่าภาพ HDR ที่ดีนั้นต้องมีลักษณะเป็นยังไง ท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณทาง DECO 2000 ที่ได้ส่งโปรเจกเตอร์ตัวนี้มาให้ผมได้สัมผัส กับประสบการณ์พลังของภาพ 4K HDR ที่สุดยอดในครั้งนี้ด้วยครับ .VDP
ราคา 899,000 บาท
จัดจำหน่ายโดย Deco2000
โทร. 0-2256-9700
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 259
No Comments