Audiophile Ethernet (LAN) Cable
What is going on… Here?
ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กระพริบ
“ก็เพราะ Ultra-Fi เป็นคนพิเศษ”
“ขอชัดๆ ขอไขข้อข้องใจที่อาจโฟกัสผิดประเด็น”
“บ้าไปแล้ว… มีคนช็อก ที่ ‘เพิ่ง’ รู้ เน้นว่า เพิ่งรู้ว่า สาย LAN audio grade ก็มีด้วยเหรอ”
“Audiophile Ethernet (LAN) Cable” และ LAN cable ทั่วไป หลักการและเหตุผล ที่มา… เหมือน และต่างกันอย่างไร? มา… ตามมา
Ethernet และ Internet อะไรคือความแตกต่าง?
“Ethernet” คือ การส่งข้อมูลในเน็ตเวิร์กภายในองค์กร หรือในบ้านที่เรียกว่า Home Network ส่วนคำว่า “Internet” เป็นการสื่อสารส่งผ่านข้อมูลออกหรือเข้าจากภายนอกองค์กร หรือ บ้าน แต่คนส่วนใหญ่เหมาเรียกรวมๆ ว่า Internet
ว่าด้วยหน้าที่ของสาย Ethernet (LAN) cable
Ethernet คือ การสื่อสารส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นข้อมูลดิจิทัล ด้วย Computer Networking Technologies ในองค์กรหรือในบ้าน ผ่านระบบสาย เรียกว่า Local Area Networks (LAN) โดยเครือข่าย Ethernet เข้ามามีบทบาทบนโลก IT ในช่วงกลางยุคทศวรรษ 80
ปูมหลัง
ช่วงปลายยุคทศวรรษ 80 สมัยนั้น ผม/เรา FAC (Facilities) ฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิต กำลังเปิดที่ทำการสำนักงานและโรงงาน Semi-conductor เพื่อผลิต, ประกอบ, ทดสอบ (Assembly & Test) ผลิตภัณฑ์ Micro Electronics IC (Integrated Circuit) แห่งใหม่ของ AMD บริษัทผู้ผลิตชิพ (Chip Maker) สัญชาติอเมริกัน ชื่อเต็มๆ คือ Advance Micro Devices (Thailand) Co., Ltd. โรงงาน Micro Electronics ระดับ World class ที่ทันสมัยที่สุด มูลค่าหมื่นล้าน บนถนนแจ้งวัฒนะแห่งนี้
โดยที่ผม/เรา Facilities (Plant Support) เป็นวิศวกรในกลุ่มพนักงาน 15 คนแรก มีหน้าที่ start up โรงงานเพื่อจ่าย Utilities, วางระบบ Production Line, ติดตั้งเครื่องจักรผลิต และ operated plant รวมถึงห้อง clean room ที่ควบคุมทั้งอุณหภูมิ ความชื้น เม็ดฝุ่นเป็น PPM และ ESD (Electrostatic Discharge) ซึ่งระบบgrounding ต้องดี การควบคุมเข้มข้นมาก ในที่สุดผมก็สิงสถิตอยู่ที่นั่นนานจนเกษียณนั่นแหละ
ต้องขอบคุณ เพื่อน วอ (คุณวรพจน์) ผู้จัดการฝ่าย IT (Information Technology) รับผิดชอบวางระบบเน็ตเวิร์กทั้งหมดในส่วนสำนักงานจนถึงพื้นที่การผลิตของโรงงานในขณะนั้น ที่ทำให้ผมรู้จักสาย LAN และระบบเชื่อมต่อ IT เป็นครั้งแรก ต่อมาก็ขยายเป็น Data Center
ยุคนั้น LAN cable ยังเป็นประเภท UTP (Unshielded Twisted-Pair) เป็นสายที่ไม่มีแม้กระทั่งชีลด์ใดๆ เลยด้วยซ้ำ เพราะ “เชื่อว่า ดิจิทัลไม่กลัวการรบกวน” จาก EMI (Electro Magnetic Interference) ลากได้ยาวไม่เกิน 100 เมตร โดยที่แผนก IT จ้างผู้รับเหมาเข้ามาลากสาย ซึ่งเริ่มเยอะขึ้น สังเกตุว่า Tech ของเรา เมื่อเปิดฝ้าขึ้นไปดู เห็นเริ่มก่ายกันนัวไปหมด จะสร้างปัญหาในอนาคตแน่ๆ โรงงานหมื่นล้าน “คุณจะทำแบบนี้ไม่ด้ายยย” ถ้าไม่ตัดสินใจทำอะไร ก็จะเห็นมั่วอย่างที่เราเห็นสายสื่อสารมั่วนัวเป็นรังนกตามท้องถนนในกทม. ไง ไม่ใช่สายไฟหรอกนะที่นัว… นะลุง Bill Gates
เพื่อจัดระเบียบ ก็เพราะเรา (Facilities) เป็นเจ้าของพื้นที่ และเราชำนาญงานติดตั้งมากกว่า ตกลงผมต้องส่งทีมงานเข้า take over การเดินสายทั้งหมดเพื่อช่วย IT ขยายโครงข่าย จัดระเบียบ วาง wire way อิสระ ไม่ทับซ้อนกับ Utilities ส่วนอื่น ส่วนทีม IT ก็ทำหน้าที่ของเขาไป ติดตั้ง Hub ลากสายย่อยจาก Data Center สู่ Hub ไปยังจุดใช้งานเต็ม production floor และส่วน office ไป โดยใช้ AMP LAN Cable เป็นมาตรฐาน ซึ่งที่พูดมาทั้งหมดก็เป็นสาย LAN ทั้งน้านนน… เราทำงานร่วมกันใกล้ชิดมาก เชื่อเถอะ เพราะก็หัวอกเดียวกันนั่นแหละ
ปัจจุบัน Ethernet มีทั้ง fiber optic และ LAN cable ผสมกัน บนพื้นที่ทุกตารางฟุตของโรงงานถูกปูพรมด้วยระบบเน็ตเวิร์กทั้งหมด ในส่วนของ Data Center และสำนักงานมีทั้งLAN/WLAN กินเนื้อที่เป็นแสนตารางฟุต ในโรงงานหมื่นล้านแห่งนี้ต้องใช้สาย LAN ยาวรวมกันเป็นสิบๆ กิโลเมตรทีเดียว อ้อๆ ใช้ IT (Information Technology) ก็เพื่อส่งผ่านข้อมูลทางบัญชีและการเงิน และรวมถึง Programing และ Automation สำหรับเครื่องจักรผลิต มูลค่าตัวหนึ่งเป็น 10 ถึง 100 ล้าน ไม่ได้มีแค่ตัวสองตัว แต่มีหลายร้อยตัว ใช้งาน Voice & Data ด้วย เราใช้ CISCO IP Phone มาตั้งเป็นชาติแล้ว พอคุ้นหูกับศัพท์แสงของ IT อย่างเช่น Server, Sun Micro System, Oracle, SAP .ในการทำงานติดต่อกับบริษัทแม่ รวมถึงบริษัทในเครือด้วย เราสามารถทำงานแบบ Work From Home ได้ตั้ง 20 ปีมาแล้ว จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นที่ต้องเจอวิกฤติ COVID-19 ก็ทำงาน WFH หลังเกษียณอยู่แล้วนี่นา จะออกไปเสี่ยงทำไม
and THEN
เวลาผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ โลกการสื่อสารด้วยเน็ตเวิร์กทั้งด้วยสายและไร้สาย จากโลกธุรกิจสู่ Personal ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ IT ได้เพียงปลายนิ้วได้ตั้งนานมาแล้ว จนวันนี้ เรามี Smart Devices ทำงานได้ทุกที่ไปจนถึงพวกกลุ่ม Gaming และ Home Entertainment ที่ใหญ่โตมโหฬาร ล้วนเกิดจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยี IT ทั้งสิ้น
ไฮไฟเกิดขึ้นในโลกมามากกว่าครึ่งศตวรรษ เครื่องเสียงถึงแม้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Home Entertainment ยิ่งสายสตรีมกลุ่ม Hi-End ที่เรียกว่า Ultra -Fi ถือว่าจิ๋วมาก อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาก็เริ่มโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในความเป็นจริงแล้ว นาทีนี้คำว่า Streaming แทรกอยู่ในทุกอณูของชีวิตผู้คน เป็นแหล่งบันเทิงที่ไม่รู้จบทั้งดูหนัง ฟังเพลง รวมถึง Gaming ไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ยังไงก็คงหนีไม่พ้นที่ “สายLAN” ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ แม้เป็นสังคมไร้สายในยุค 5G ก็ตาม
โครงสร้างและมาตรฐานของสายLAN (Structure and Standard)
ใน “ระยะแรก… เน้นว่าระยะแรก” สายLAN เป็น UTP (UnShielded Twisted Pair) สายที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนอะไรมากนัก
เข้าหัว RJ45 แค่นี้ก็เรียกสาย LAN แล้ว อย่างที่รู้กันว่า พวกเขาเชื่อว่าดิจิทัลไม่กลัวการรบกวน หารู้ไม่ว่าอาจไม่ส่งผลกับระบบของ IT ก็จริง แต่ก็รบกวนชาวบ้านได้ และคงเพิ่งรู้ว่าตัวเองก็ถูกรบกวนสร้างปัญหาได้เหมือนกัน และยิ่งมีปัญหามากขึ้น เมื่อ Internet Speed สูงขึ้น ต่อมามีการพัฒนาโครงสร้างสาย โดยให้มี Shield ขึ้น กำหนดมาตรฐานของสายตาม IEEE Standard แบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้…
U/UTP – Unshielded cable, unshielded twisted pairs
F/UTP – Foil shielded cable, unshielded twisted pairs
U/FTP – Unshielded cable, foil shielded twisted pairs
S/FTP – braided shielded cable, foil shielded twisted pairs
มาตรฐานเพื่อรองรับ Speed และ Bandwidth เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของเน็ตเวิร์กเป็น CAT (Categories) CAT1, CAT5, CAT6, CAT7 และ CAT8 เช่น 10BASE-T, 100BASE-TX, 1000BASE-T ซึ่งก็ยังเป็นสาย Twisted Pair 8P8C modular connectors บนหัว RJ45 เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ทำงานที่ Transmission Speed ที่ 10 Mbit/s, 100 Mbit/s, 1 Gbit/s, 10 Gbit/s และ 40 Gbit/s รวมถึง bandwidth ตั้งแต่ 100MHz, 250MHz, 500MHz, 600MHz จนถึง 2000MHz ตามลำดับ
KPI: IT vs Audiophiles Expectations
IT กับ FAC ทำงานคล้ายกัน มีหน้าที่สนับสนุนการผลิตที่ทำงาน 24/7/365 วัน ไม่มีวันหยุด มีตัววัด(KPI) ไม่ต่างกัน คือ Availability: Up Time/Down Time แน่นอนว่าการวางระบบก็ต้องมี Redundant ที่มั่นคงแข็งแรง ระบบจะล่มง่ายๆ ไม่ได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่คอขาดบาดตายทีเดียว
ที่ใกล้ตัวเราหน่อยก็อาจมี Operation Performance Index เช่น Internet Speed, PING, Latency และ Jitter ในระบบที่ IT ยอมรับได้มีหน่วยเป็น Milli-second ซึ่ง Jitter เป็นคำที่ฟังคุ้นๆ ในแวดวงเครื่องเสียงนะ แน่นอนว่า ออดิโอไฟล์คาดหวังสูงกว่านี้ อ้อ! ไม่สิ ต้องต่ำน่ะ มี Noise/Jitter ต่ำกว่านี้มากๆ ขีดเส้นใต้ไว้… ค่อยขยี้ Jitter ในแง่มุมของ Digital Audio อีกที
LAN Cable และ Audio Devices
“วิธีการเชื่อมต่อด้วย LAN cable เหมือนกัน แต่จุดมุ่งหมายและเป้าหมายย่อมไม่เท่ากันแน่นอน”
การรุกคืบของ Network Audio กินรวบโลกของไฮไฟไปแล้ว หนีไม่พ้นต้องใช้สาย Ethernet (LAN) cable ในการเชื่อมต่อด้วยเช่นกัน เป็นการนำเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของ IT มาใช้ในร่วมกับวงการเครื่องเสียง เพื่อทำงานร่วมกับ Music Server / Multi-room / Home Automation เริ่มเป็นที่แพร่หลายเติบโตขึ้นเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง ทุกวันนี้เครื่องเสียงรุ่นใหม่ล้วนมีช่องเสียบ RJ45 (LAN connector) ทั้งสิ้น ช่วยไม่ได้ที่เหมือนเครื่องเสียงไปยืมระบบเชื่อมต่อ Network ของ IT มาใช้ก็เท่านั้นเอง แต่ก็ “ไม่ได้หมายความว่า เครื่องเสียง Network Audio ก็คือคอมพิวเตอร์ที่ฟังเพลงได้ตัวหนึ่งในเน็ตเวิร์ก ดังเช่นที่คนทั่วไปเข้าใจกันในระยะแรก” หรอกนะ ไม่เพียงเช่นนั้นแน่นอน
ในระยะแรกเชื่อว่า “Ethernet นั้น เป็นAsynchronous” นั่นคือเหตุผลว่า… ทำไม Streamer ส่วนใหญ่เลือกที่เล่นเพลงบน Network เพราะให้เสียงดีกว่าเล่นด้วย HDD (Hard Disk Drive) ตรงๆ ซึ่งเอาเข้าจริงอาจเกิดปัญหาสารพัดจาก Noise และ Jitter ได้ …ก็เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ยังมีช่องว่างให้ปรับปรุงได้อีก
Audiophiles Expectations
ออดิโอไฟล์ คือ กลุ่มนักเล่นเครื่องเสียงระดับบน ผู้ต้องการความเป็นที่สุด มิเพียงสุดจากตัวเครื่องเล่นเอง แต่ได้ส่องจนพบว่ายังมี Weakest Link ในการเชื่อมต่อที่เกี่ยวข้องใน Hi-Fi chain ที่จะสามารถรีดเค้นเพอร์ฟอร์มานซ์โดยรวมขึ้นไปได้อีก
หลังการกำเนิดของ Digital Stream Player ระดับ Hi-End แพร่หลายขึ้น ก็เริ่มได้ยินคำว่า Audiophile Ethernet cable ซึ่งมาหลังสาย HDMI ไล่ๆ กับ USB cable ที่มาก่อนหน้านี้ ระยะแรกบางคนไม่รู้สึกว่าเป็นไปได้ เอาเข้าจริงก็พบว่า มันอัพคุณภาพได้จริงๆ ทั้งเสียงและภาพ
บ้านหลังใหม่ของผมที่อยู่มาเกือบ 20 ปีนี้แล้ว คุณดิษฐพันธ์ อดีต Microsoft ยังมาช่วยติดตั้ง Home Network ให้ ในห้อง Home Studio ของผมในบ้านหลังใหม่นี้ก็ใช้ AudioQuest Audiophile Ethernet cable เต็มระบบทั้งห้องมา 10 ปี นานมาแล้วเช่นกัน ใช้ทั้งห้องก็หลายเส้น มูลค่ารวมกันเป็นแสนมั้ง เฉพาะ AudioQuest Diamond ก็ 3 เส้นแล้วนะ
ช่วงนั้น ขำน้ำหมาก เอ๊ย! น้ำตาเล็ดว่า วันหนึ่งเราอาจต้องถึงขั้นรีวิวหัว Connector RJ45 เทพล่ะมั้ง ตกลงก็เกือบเจอเข้าจริงๆ รีวิวสาย LAN ไปก็เยอะ Audiophile Network Switch ก็เริ่มแยะ อย่าเพิ่งสำลัก Americano ตาบัค เสียล่ะ
เป้าหมายสูงสุดของเครื่องเสียงสายสตรีม (Network Audio’s Ultimate Goal)
Audio Devices
เครื่องเล่นทำหน้าที่แปลงสัญญานไฟล์เพลงดิจิทัล ซึ่งเดินทางผ่านสาย LAN มาถึงตัวเครื่อง จัดการ Render แล้วผ่าน DAC แปลงเป็นสัญญาณอะนาล็อก แล้วจึงส่งผ่านไปยังแอมป์และลำโพง
ดังนั้น ความต้องการของเครื่องเสียงก็ต้องแม่นยำเที่ยงตรง (Precision) สุดๆ ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องจัดการกับการรบกวนใดๆ ในระดับ Ultra-low ทั้ง Noise และ Jitter อันส่งผลถึงการเหลื่อมเวลาของ Data ด้วย ที่จะประสานกับ Clock (Timing) ในเครื่องเสียงเพื่อใช้อ้างอิงในการทำงาน ที่ในอดีตเราอาจได้ยินความคลาดเคลื่อนของเวลาในระดับต่ำมากเป็น Pico-second ทว่า พ.ศ. นี้ เราคุยกันในระดับ >>*Femto-second ไปแล้ว
Key Performance index – ยิ่งต่ำยิ่งดี
แม้ใน พ.ศ. นี้ ในกลุ่ม IT และ Gaming ยอมรับความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเน็ตเวิร์กในหน่วยของ “วินาที” ระดับ “Millisecond” คือ 10-3 (ของวินาที)
คิดตามนิดนะ ถ้าต่ำกว่านี้ก็เรียก Microsecond คือ 10-6, Picosecond คือ 10-12, *Femtosecond คือ 10-15 คือต่ำกว่า Pico พันเท่ากันเลยทีเดียว ซึ่งพวกเราเริ่มคุ้นชิน เห็นมั้ยว่าต่างกันลิบลับ
Background Noise มีหน่วยเป็น –dB เช่น ต่ำกว่า -100dB เป็นต้น คือยิ่งต่ำมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ซึ่งจะส่งผลต่อ Dynamic ได้ยินค่อยดัง ยิ่งBackground Noise ต่ำเท่าไหร่ รายละเอียดเล็กๆ ก็ได้ยินชัด ดนตรีมีตัวตนเป็น 3D ด้วย ส่วน Jitter / Timing / Phase มีผลต่อความไพเราะของเสียงดนตรี ซึ่งก็ล้วนพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ทั้งสิ้น
ความเหมือนที่แตกต่าง “Song Never Be the SAME”
ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น กำลังจะบอกว่า แม้ว่าขึ้นชื่อว่าใช้สาย LAN เหมือนกัน ทางเทคนิคอาจดูเหมือนกัน ถึงแม้ตัววัดใช้นิยามเดียวกันก็ตาม คือ Latency, Jitter ทั้งหมดเกิดจาก Lost ความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน Latency อันเกิดจากการรบกวนในระบบเครือข่ายสาย ซึ่งก็คือ Noise และ Jitter เกิดเป็น Timing jitter ในหน่วยวัดMillisecond เมื่อเทียบกับ Picosecond จนถึง Femtosecond ซึ่งเห็นมั้ยว่า “ต่างกันลิบลับหลายปีแสง” กันเลยทีเดียว แม้ความคลาดเคลื่อนเท่านี้ก็จริง “IT อาจไม่แคร์ แต่เราแคร์และซีเรียสมาก ถึงมากที่สุด” แฮะ ไม่สามารถนำมาพูดเป็นเรื่องเดียวกันได้เลย ก็ไม่ควรจับแพะมาชนกับแกะ
ในเชิงศิลปะนั้น เสียงดนตรีที่ออกจากเครื่องเสียงชั้นดีนั้นก็หาใช่เพียง “(sample rate, codec, server, apps, network หรือ softwares)” ยังต้องมี Details,Timbre > 3D Sound > Image > Sound Stage > Dynamic Headroom > Musical & Emotion คือความซาบซึ้ง ลุ่มลึก สุนทรีในเสียงดนตรี ข้อหลังนี้เป็นข้อบ่งชี้ทางศิลปะดนตรีที่ไม่อาจวัดได้ด้วยเครื่องมือใดๆ แต่ฟังได้จากชุดเครื่องเสียงที่สามารถให้ความแตกต่างได้ ข้อสำคัญ… Skill ในการฟังของคนฟังต้องถึงด้วย
การส่งข้อมูลผ่านข้อมูลเสียงดิจิทัล (Digital Transmission)
เมื่อสัญญาณเสียงถูก Encode แบบดิจิทัลเป็นบิต 0 และ 1 ส่งผ่านทางสายด้วยวิธีอะนาล็อก จริงๆ แล้วที่ว่าสัญญาณดิจิทัลก็คือ อะนาล็อกแบบ Square Wave ส่งผ่านสายนั่นเอง
สายมีทั้ง Resistance, Capacitance และบางทีก็ Inductance ซึ่งแน่นอนว่า Square wave นั้น บางทีก็ไม่สมบูรณ์ ยอดคลื่นไม่เหลี่ยมเป๊ะ ถ้าลองบิดเบี้ยวไปแล้ว ยากที่จะกลับมาเหมือนต้นฉบับ สัญญาณลูกต่อไปมาทับก็จะเป็นเงาทับซ้อน เพราะการเหลื่อมของเวลา (Timing jitter) ได้อีก ซีเรียสมาก
What happen? แล้วมันเกิดปัญหาได้อย่างไร?
ในเมื่อสาย LAN มีเส้นลวดตีเกลียวอยู่ 8 เส้น / 4 คู่เท่านั้นเอง สัญญาณส่งผ่าน Conductor (ลวดตัวนำ)ในแต่ละคู่สายแบบอะนาล็อก Square Wave ซึ่งในเชิงฟิสิกส์แล้ว มันคือ Capacitance (C), Resistance (R) และ Inductance (L)
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า No Perfect Conductor “ตัวนำที่สมบูรณ์แบบ” นั้น ไม่มีอยู่จริงหรอกนะ เพราะ Cable ทุกเส้นล้วนกลายเป็นสายอากาศที่ส่งคลื่นออกไปได้หมด อธิบายสั้นๆ ก็คือ สาย LAN ทุกเส้นล้วนพร้อมที่จะรับสัญญานรบกวน (Noise) จาก EMI ทั้งสิ้น ไม่ต่างจากสายทั่วไป
ปัญหาที่จะพบ ประกอบด้วย Keywords เหล่านี้คือ… “Jitter: Lost data, Inaccurate data, Mis-timed data” ข้อหลังมีผลต่อคุณภาพเสียงมากที่สุด
เปรียบเทียบระหว่าง File download | Copy vs Streaming Music/Video
Copy file หรือส่งผ่านข้อมูลทางธุรกิจ ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยกับการส่งผ่านข้อมูลระบบเน็ตเวิร์ก การส่งผ่านข้อมูลไปยังอีกจุดหนึ่ง ในกรณีที่ข้อมูลครั้งแรกไม่ครบจะมีกระบวนการสอบทวนเพื่อให้ส่งข้อมูลซ้ำจนครบ ถือว่าเป็นการ Perfect Copy ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใดในทางธุรกิจ ส่วนในวงการ Digital Audio บางทีจะพบว่า บางครั้งไฟล์ Download เสียงดีมากกว่าสตรีมมิ่งแบบ Realtime เสียอีก แต่ก็ไม่เสมอไปหรอก ถ้าเก็บไฟล์ไม่ดีพอ หรือเล่นด้วยคอมพิวเตอร์เจอแน่ๆ
Streaming | Playing Music/Movie เป็นสตรีมแบบ Realtime แปลว่าไม่สามารถกู้คืนข้อมูลที่สูญหายหรือผิดเพี้ยนไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าความแตกต่างของคุณภาพเสียงหรือภาพจะชัดเจนมาก ทางที่ดีก็ควรจัดการกับปัญหาเสียก่อน โดยจัดการกับ Noise และ Jitter เสียตั้งแต่ต้น ข้อนี้คือ Gap ที่ต้องปิดให้ได้ แต่ไม่ง่าย ยิ่งซิสเต็มใหญ่ก็ยิ่งฟังได้ชัด เคยเจอบ้างมั้ยว่า บางครั้ง Netflix ภาพไม่คมชัด เพราะสัญญาน Internet ไม่เสถียร ยิ่งต่อแบบไร้สาย WLAN(WiFi ) จะเจอง่ายมาก ตรงนี้คือเหตุผลอีกข้อ
ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกับสาย USB ถ้าไม่เชื่อก็ลองเอาสายพรินเตอร์มาฟังเพลงสิ… ฟังได้มั้ย นาทีนี้ทำไมสาย USB ไฮเอ็นด์มีเพียบล่ะครับ
What’s the Audiophile Cable Maker Did?
Technology behind the Hi-End LAN cable
นาทีนี้คงไม่ปฎิเสธความ “ปัง” ของ Streaming service ที่แซงหน้า Digital download แบบไม่เห็นฝุ่น เป็นการส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลผ่านการเชื่อมต่อ TCP/IP โดยที่บิตต่อบิตถูกตรวจสอบข้อผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า บิตควรเหมือนกันทั้งสองด้าน เห็นได้ชัดว่า EMI/RFI สามารถผ่านฉนวนบนเส้นทางของสายเคเบิล ส่งผลต่อคุณลักษณะของเสียงที่แตกต่างกันในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทั้งสองด้าน
ข้อแตกต่างจากการถ่ายโอนไฟล์ผ่าน FTP (File Transfer Protocol) หรือการดาวน์โหลดแอพ ซึ่งอาจต้องใช้ Timing เป็นตัวแปร การสตรีมมิ่งเพลงต้องมี Clock อันเที่ยงตรงแม่นยำในทุกช่วงเวลา
การสตรีมส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับ UDP/IP Protocol ที่ข้อมูลแต่ละบิตไม่ได้รับการตรวจสอบข้อผิดพลาดหรือส่งซ้ำแต่อย่างใด ทว่า Audio Stream ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบิต แต่เป็น Timing จังหวะของการออกและการมาถึงของบิตเหล่านั้น เนื่องจากการเชื่อมต่อทางกายภาพของตัวส่ง/ตัวรับต่างหาก
เพื่อป้องกันสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่โดยรอบของสายเคเบิลที่เรียกว่า Eddy Current Effect นอกจากนี้ฉนวนเพื่อความบริสุทธิ์และการโฟกัสที่น่าอัศจรรย์ การออกแบบสายเคเบิลนั้น Jitter / RFI /EMI สามารถอยู่ใน Chain ของสายเคเบิลได้ตลอดเวลา การ Buffer ทำให้บิตกลับมารวมกันบนจุดปลาย Ethernet ก็มีบทบาทที่สำคัญกว่าเช่นกัน ดังนั้น การป้องกันจาก Source / DAC โครงสร้างทางวิศวกรรมโดยรวมของสายเคเบิลย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียงของเครื่องเสียงที่ต่อพ่วงกับสายเคเบิลโดยตรง สามารถทำได้โดยการปรับปรุงความเที่ยงตรงของรูปคลื่น ลดความแปรปรวนของความต้านทานที่สายเคเบิล รวมถึงตัวเชื่อมต่อ ตัดปัญหาของความเหลื่อมจากเวลาของ Data ตัดลดเสียงรบกวน Noise จากภายนอก จะถูกจัดการด้วยการลง Ground ทาง Shield ของสายนั่นเอง …นี่คือคำอธิบาย
Wire and Cable
ทวนความเข้าใจนิดหนึ่ง “Wire” คือ ลวดที่นำมาถัก ตีเกลียวเป็นโครงสร้างสาย กลายเป็น Cable
เส้นและสายต้องใช้เทคโนโลยีของโลหะศาสตร์ (Metallurgy) ที่ถูกทำเป็นลวดตัวนำ (Conductor) ซึ่งแน่นอนว่าค่าย Hi-End นั้นก็ต้องผ่านเชฟฝีมือดี .เอ๊ย! ผู้ผลิตสายที่ช่ำชองจากค่ายที่ทำสายเพื่อเครื่องเสียงโดยเฉพาะ หาใช่ผู้ผลิตสายทั่วไปแล้วจะทำได้ดี ก็เนื่องจากเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
จริงอยู่ที่โครงสร้างสาย LAN อาจมี Geometry ไม่ซับซ้อนนัก เพียงสาย 4 คู่ แต่โลหะที่ทำเส้นลวด (Wire) ที่นำมาตีเกลียวเป็น Cable ไหนจะ Shield และ Insulator รวมถึงทำ Connector รวมถึงเทคนิคการเข้าหัวก็อาจต่างกันไปกับหน้าคอนแท็คจะเป็นวัสดุพิเศษถึงขั้นป้องกัน ESD (Electrostatic Discharge) ที่อาจ Zap ทำความเสียหายได้เสมอ แต่ที่แน่ๆ คือ เน้นคุณสมบัติตัวนำ (Conductor) และที่ระบบ Grounding และ Shield รวมถึงฉนวน (Insulator) ที่ใช้นั้นต้องเน้นเช่นกัน เพราะย่อมส่งผลอย่างมากต่อผลรวม อันเป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ไร้ซึ่ง “วูดูศาสตร์” แน่นอน ที่แน่ๆ ต้องถูกปลุกเสกโดยผู้ที่เข้าใจเรื่องเสียงอย่างดีด้วย ก็เพื่อออดิโอไฟล์เช่นเรานี่แหละ …อ้าว! ไหนว่าไม่ “วูดู” ไง
ไวน์มีขวดละร้อยยันหลักแสน องุ่นก็พันธุ์เดียวกันแท้ๆ ไม่ต่างอะไรกับ “ผัดไทย” มีส่วนผสมที่ไม่ลับ (Ingredients) ไม่กี่อย่าง แต่ทำไมจึงมีคนทำออกมาอร่อยไม่เหมือนกัน คนนั้นทำได้อร่อยกว่า บางคนทำสุนัขไม่รับทาน สายก็เหมือนกัน ว่ามั้ย “เคเบิล” มันมี Wires, Insulator, Connector ก็แค่นั้น แต่ทำไมจึงต่างกัน มีเคล็ดลับแน่ๆ
LAN cable ระดับ Audio grade นั้น มิเพียงต้องการ Speed และ Bandwidth เท่านั้น ผ่านกระบวนการออกแบบ วิจัย พัฒนา ด้วยวิทยาศาสตร์ทางโลหะศาสตร์ และวิเคราะห์วิจัย มากกว่าการลองผิดลองถูกที่อาจเป็นเรื่องฟลุค ซึ่งกว่าจะออกมาได้ ผ่านการจูนมาอย่างดี ใช้เวลาค้นคว้าทดลอง Mix & Match ทดสอบมาอย่างเข้มข้น ผ่านลูกขุนมาไม่รู้เท่าไหร่ กว่าจะปะแบรนด์ออกขายได้ เรื่องแบบนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จะมโนกันไม่ได้หรอก ปัจจุบันมีเป็นร้อยแบรนด์ ราคาต่อเมตรหลักพันยันหลักแสนกันเลยทีเดียว
จะ “ช็อก” ทำไมที่ “เพิ่ง” รู้ว่า สาย Audio grade ก็มีด้วยหรา ในเมื่อเขาทำกันมาเป็นทศวรรษแล้ว
มิ “ช็อก” สลบอีกรอบเหรอ เมื่อเจอ Audiophile Network Switch มีด้วยหรา จะช็อกก็ช็อกไปเถอะ
ว่าแต่ว่า คุณชายสายสตรีมที่ยังไม่เคยสัมผัสควรจะตกใจว่า “ไปอยู่ที่ไหนมา” มากกว่าเนอะ
อ้อๆ ไม่จำเป็นต้องลากสายชั้นดีทั่วบ้านหรอกนะ ใช้สาย LAN CAT6a ขอให้มีแบรนด์นิดหนึ่งจากตลาดออนไลน์เดินไปก่อน แล้วใช้สาย Audio grade เดินใกล้ตัว Player, NAS, Router หรือ Network Switch ดีๆ อีกตัวก็พอ ถ้ามีเส้นเดียวก็เส้นที่เข้าเครื่องเล่นนั่นแหละครับ
What is going on here?
ถึงตรงนี้ ลองได้เป็นนักเล่นจริงจัง ใช้เพลงโปรดเป็นไกด์ เงี่ยหูฟังความแตกต่างของอุปกรณ์ สายไฟ สายลำโพง สายสัญญาณ ปลั๊กราง ชั้นวาง ตัวรองประเภท Isolator สารพัด กระทั่งฟิวส์ภายในเครื่อง แม้กระทั่ง Connector หรือหัวต่อสาย ยิ่ง Audiophile Ethernet (LAN) cable ใช้ร่วมกับ Network Switch จะส่งผลดีที่สุดให้ความแตกต่างของสาย LAN ชัด ยังไงก็ฟังออก ชุดอ้างอิงใหญ่มากเท่าไหร่ Gap ก็ยิ่งห่าง ฟังความแตกต่างง่าย ไม่ต้องเพ่ง
ในอดีตร้านเครื่องเสียงอาจไม่ชอบขายเครื่องเล่นประเภท Digital Audio เพราะเข้าใจว่า เมื่อซื้อแล้วจะจบอยู่ตรงนั้น ไม่มีอะไรให้ไปต่อเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับร้าน นาทีนี้คงพูดไม่ได้แล้ว เครื่องเสียงแนวนี้มีให้เล่นมากมาย ในทางกลับกัน ถ้าพิสูจน์ให้ลูกค้าทราบได้ว่า สาย Audiophile Ethernet (LAN) cable ส่งผลต่อคุณภาพเสียงให้ดีขึ้น ลูกค้าจะกล้าลงทุนอัพเกรดเอง โดยไม่จำเป็นต้องปั่นเพื่อปิดการขาย แถมยังมีอุปกรณ์ต่อเชื่อมอื่น เช่น Network Switch, PSU หรือ Master Clock อีก ตลาดยังเปิดกว้าง สามารถเพิ่มยอดขายให้กับร้านได้ด้วย
เอางี้มะ แนะวิธีง่ายๆ หาจอ Smart TV มาตั้งไว้ในร้านสักจอ แล้วเปิด Netflix ทิ้งไว้ให้ดู เสียบสาย LAN ให้ทดลองใช้เทียบแต่ละเส้น เปรียบเทียบความแตกต่างของภาพ ไม่จำเป็นต้อง “Blind Test” หรอก มองด้วยตานี่แหละ จะง่ายกว่าฟังด้วยหู ไม่ต้องใช้ Skill แต่อย่างใด ไม่ต้องเพ่งก็เห็นความแตกต่าง ซึ่งถ้า เอ๊ะ! ก็แปลว่าตาไม่เสีย แต่อาจเสียเงิน 555 เพราะจะห่างกันไกล ไร้เมฆหมอก หาใช่แค่ “เส้นยาแดงผ่าแปด” แน่นวล หรือถ้าไม่ชัด อย่างเก่งก็ไปตัดแว่นใหม่ เท่านั้นเอง คิคิ
ไม่อยากเสียเวลาอธิบายให้คนนอกวงการฯฟังนักหรอก เชื่อว่าคุณชายสายสตรีมส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า ทำไมต้องมีสาย Audiophile Ethernet (LAN) Cable และไม่ผิดที่จะล้ำนี่นะ ที่อาจเจอ Jitter ที่เข้ามารบกวนทำให้ไขว้เขวไปบ้าง แทนที่จะเสียเวลาต้องอธิบาย ลองศึกษาข้อมูลให้ดีนิดหนึ่ง จะได้ไม่ “ช็อก”
ทางที่ดีร้านค้าควรหาเวลาจัดกิจกรรมสนุกๆ เทียบว่า สายรุ่นต่างๆ แบรนด์นั้นแบรนด์นี้เสียเลย แวะไปหา “ความรู้ ลับหู” ว่าให้แนวเสียงถูกจริตหรือไม่แค่ไหน ท้าทายกว่า เชื่อเถอะ ล้ำกว่าเป็น 10 ปีแล้วนะ
ก่อนจบขอแถมนิด
“อัลฟ่า โรมิโอ รถอิตาเลี่ยนที่มีเสน่ห์ ที่คนขับไม่มีใคร(กล้า)บ่นสักคน แต่ให้ตายสิ คนด่าไม่เคยได้สัมผัส”
ไฮเอ็นด์ วงการที่ต้อง “ตัดสินด้วยหู” สาย Audiophile Ethernet (LAN) cable ก็เหมือนกับสายเส้นอื่น
ถ้าจะอัพ ซิสเต็มแม็ตชิ่งสำคัญมาก สาย LAN ไฮเอ็นด์กับซิสเต็มใด ก็ควรสมน้ำสมเนื้อกันด้วย
“อันเป็นเหตุ สังเกตุได้” รับรู้ถึง “อาการพึงประสงค์” “ถอดออกหรือไม่” ต่างหาก
ไม่มีใครบังคับให้รูดปรืืด รูดปรื๊ด ยกเว้นลูกสาวแม่ยายที่จะหืออือไม่ได้ จริงมะ
“ชอบ ถูกจริต” ฟังความแตกต่างได้ แต่ยังไม่อยากจ่ายก็ไม่มีปัญหา
เอ่อ! “ยาแก้คัน” แพงหน่อยนะ …จบ สวัสดี. ADP
Audiophiles don’t use their equipment listen your music.
Audiophiles use your music to listen to their equipment.
“Alan Parsons”
No Comments