กาลครั้งหนึ่งใน…ฮอลลีวู้ด
นักเขียน : มรกต ประทีปจินดา / มโนธรรม เทียมเทียบรัต :
โลกนี้ ชีวิตนี้มักมีสองด้านให้เลือกเสมอ (ไม่ ก. ก็ ข., ไม่ซ้าย ก็ขวา, ถ้าไม่เลือก 372 ก็ยังมี 471… อ้าววว! คนละเรื่องกัน)เหมือนอย่าง เควินติน ทาแรนติโน ซึ่งมีความตั้งใจว่าจะเอาเรื่องของ Roman Polanski มาทำหนัง แต่เหตุการณ์สำคัญที่มีส่วนพลิกผันชีวิตมีอยู่ด้วยกันสองเรื่องหลักๆ ระหว่าง…
1. กรณีที่มีสาวกของ Charles Manson (เรียกตัวเองว่ากลุ่ม ‘the family’) บุกเข้าบ้านพักในฮอลลีวู้ดก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ซึ่งหนึ่งในนั้นมี Sharon Tate พร้อมทารกในครรภ์ ก็…
2. กรณีที่ Polanski ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศเด็กสาวอายุสิบสามปีรายหนึ่ง
เธออยู่ไหนเมื่อปี 1969
แต่สุดท้ายทารันติโตก็ตัดสินใจเลือกกรณีแรกมาท?าเป็นหนัง Once Upon a Time in Hollywood (2019, US) ถามว่า… ทำไมเควนตินถึงไม่เลือกข้อ ข. ซึ่งทั้งสองเคสอาจมองได้ว่า แท้จริงแล้ว Polanski คือผู้ถูกกระทำในทั้งสองเหตุการณ์ (แม้ว่าเรื่องที่สอง ฝ่ายชายตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา จนทeให้ Polanski เข้าอเมริกาไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันยังพ่วงพาคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมรับผลกระทบ โดยเฉพาะฝ่ายผู้เสียหาย) ขณะที่กรณีของ Sharon Tate สามารถเอามาเล่าในอีกแบบก็ได้ ผลก็อย่างที่ออกมาอย่างที่เห็น… แต่ว่าาาาาา
เรื่องใน Once Upon a Time in Hollywood แทบจะเดินอยู่บนจักรวาลคขู่ นาน ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเหตุการณ์สมมติ ซึ่งมีส่วนตอกย้ำความเป็นตำนานของความเป็นฮอลลีวู้ดได้ในตัว องค์ประกอบหลายอย่างถูกทำขึ้นมาใหม่อย่างดาวที่กำลังจะร่วงอย่าง Rick Dalton (เลโอนาร์โด ดิคาร์พริโอ) และ Cliff Booth (แบรด พิตต์) สตันท์แมนคู่ใจผู้มากับผลงานสมมติอีกสารพัด เมื่อนำมาวางทาบเข้าไว้ด้วยกันกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง (ซีรีส์ในตำนาน, ชื่อคนที่ถูกอ้างถึง) ดูมีความน่าเชื่อถือ แม้กับคนรุ่นที่เกิดทันและบอกได้ว่าไหนจริง ไหนแต่ง ยังพลอยเชื่อตามเรื่องเล่าของเควนตินเป็นตุเป็นตะ
เพราะแม้แต่ตัวหนัง ‘กาลครั้งหนึ่งในฮอลลีวู้ด’ เอง ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบแบบ ‘สองขา’ – ทวิลักษณ์ (duality) ระหว่างเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งสมมติ และด้วยลักษณะที่แต่ละอย่างต้องมี ‘สอง’ ควบคู่เข้าไว้ด้วยกันนี้ จึงมีให้เห็นเกือบตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหัวใจหลักของเรื่องอย่างบทนำ Rick Dalton ที่มักต้องมี Cliff Booth เป็นสตันท์ดับเบิ้ลเสมอ ขนาดรายการทีวีที่เอามาใช้เปิดตัว Rick/Cliff ช่วงต้นๆ ยังมีการเอามาเล่นค่าของความเป็น double (“เครื่องรับโทรทัศน์ของท่านมิได้ขัดข้อง ถ้าท่านเห็นภาพคนหน้าเหมือนกันถึงสอง”) โดยเควนตินนำลักษณะของการ ‘เข้าคู่’ มาใช้เป็นเส้นขนาน สำหรับแบ่งเรื่องราวในส่วนของ Rick กับ Sharon Tate ว่าอยู่ในบ้านสองหลังที่มีรั้วแนบชิดติดกัน
แม้ในแง่มุมในส่วนที่เป็น fact… ‘ลักษณะสองขา’, law of duality ก็ยังถูกใช้เป็นวัตถุดิบประกอบการวางโจทย์และโครงสร้าง ยังมีให้
พบเห็นได้ แม้ในเรื่องราวของตัว Sharon Tate เองที่คบพร้อมกันทีเดียวทั้ง Polanski กับ Jay Sebringช่างผมดาราที่คบหากันตั้งแต่อยู่อังกฤษ จนถึงกับประกาศหมั้น แต่แล้ว Sharon กลับเลือกเข้าพิธีแต่งงานกับ Polanski ขณะที่อีกข้างยังคบหากับ Jay ต่อ เมื่อมีการย้ายตาม Polanski เข้ามาอยู่ในฮอลลีวู้ด Jay ยังตาม Sharon เข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และเรื่องราวซุบซิบใต้เตียงดาราที่ว่ามาทั้งหมดก็ผ่านปากคำบอกเล่าของ SteveMcQueen ผู้ซึ่งคว้าบทนำแซงหน้า Rick Daltonในภาพยนตร์ The Great Escape (1963, John Sturges) คนดูถึงได้มีโอกาสเห็นความแตกต่างว่า หนัง ‘แหกค่ายมฤตยู’ จะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้า Rick ได้บทนำขึ้นมาจริงๆ
เควนตินเล่าเรื่องของทางฝั่งโลกสมมติ (ของ Rick+ Cliff, stunt double) ให้มีความคู่ขนานไปกับเรื่องราวทางฝั่งของ Sharon (ที่คบซ้อน ทั้ง Polanski กับ Jay สลับกัน) คือ นอกจากรั้วบ้านแล้ว แทบมองไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องกัน.. ‘สะพาน’ ที่จะเข้ามามีส่วนเชื่อมต่อ
โลกทั้งสองข้างให้เข้ามาบรรจบกัน คือบรรดาสาวก ‘เดอะ แฟมิลี’ และ Charles Manson ในหนังบทดูจะน้อยเมื่อเทียบกับสมาชิกเด็กสาว Pussycat (มาร์กาเร็ท ควอลลีย์) ที่เข้ามาติดพัน Cliff เหมือนมีเป้าหมายแอบแฝงจนทำให้คนดู พอเข้าใจได้คร่าวๆ ถึงวิธีดึงคนให้เข้ามาร่วมเป็นสาวกลัทธิ Charles Manson เขาใช้วิธียังงี้นั่นเอง
เรื่องราวในพาร์ตของ Charles Manson ที่จริงยังมีมากกว่าที่เห็นในฉบับฉายโรงซึ่งมีให้ดูในส่วนของ deleted scenes ที่เป็นการเพิ่ม ปูมหลังของนาย Manson ต่อไปอีกว่า มีความฝันอยากเป็นศิลปินเดี่ยว (ลองนึกภาพ ‘Charles Manson in Concert’?) ที่กำลังออกหาคนมาเป็นเอเยนต์ + ผจก. ในส่วนที่ถูกตัดทิ้งเป็นช่วงที่ Manson กำลังเคาะประตูบ้านตามหาคอนเนกชันที่ชื่อ Terry อะไรนั่นไปเรื่อย ถึงได้รู้ว่าคอนเนกชันคนนี้ขายบ้านไปแล้ว และบ้านหลังที่ว่าถูกซื้อต่อโดย Roman Polanski
เรื่องในส่วนของ Charlie Manson ทั้งที่เกิดขึ้นจริงในตอนปลายยุค ’60 ตลอดจนการจัดวางในตัวหนัง Once Upon a Time in Hollywood เองก็เหอะ ความรู้สึกที่มีต่อซีรีส์ Charlie’s Angels อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นอยู่ไม่ไกลจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญและคดีฆาตกรรมหมู่เพียงไม่กี่ปี (ตัวซีรีส์พรีเมียร์เมื่อปี 1976) นอกจากชื่อ ‘เจ้าสำนัก’ จะไปพ้องกันเองแล้ว Charlie (ทั้ง Manson และเจ้าของสำนักงานนักสืบ) เอง ก็มีสาวงามคอยรับใช้ แต่สำหรับข้างของ Manson (ผู้บริหาร ‘แฟมิลี’).. angel ที่ว่าคงมิใช่เป็นแค่ ‘สาวงาม’ ธรรมดา ทว่ายังมีภาพของการเป็น ‘เทวทูต’ (โดยมีชื่อเรียกคำเต็มๆ ว่า ‘Hell’s angels’) ซ่อนเร้นอยู่ในตัวน้องนาง คือหลักๆ ทำหน้าที่เหมือนตัวแทนขายตรง คอยหา (คนมาเป็น) สมาชิกจน Cliff เกือบจะตกเป็นเหยื่อไปอีกคน รูปแบบการอยู่ร่วมที่ดูมีความเป็นอิสระไร้กฎเกณฑ์ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับสังคมทุนนิยมแบบฮอลลีวู้ด ทว่ากลับดูเหมือนถูกสะกดให้ตกอยู่ใต้จารีตบางอย่างจนแทบจะเป็นลัทธิเกิดใหม่ไปแล้ว ในทางกลับกันของตัวความเคลื่อนไหว (โดยกลุ่ม Manson ประกอบกับอาการช็อกที่มีต่อคดีฆาตกรรม Sharon Tate) เองยังมีส่วนชี้ทางสว่างให้กับตัวฮอลลีวูดเอง โดยเฉพาะการเปิดพรมแดนใหม่ให้ กับหนังแนว horror ที่นิยมการใช้ฆาตกรต่อเนื่องเป็นตัวชูโรง ที่สำคัญ ด้วยความงามอันโดดเด่นของตัว Sharon เองยังนำไปสู่การสร้างตัวละครประเภท ‘สาวงามคนสุดท้าย’ ที่มักมีชีวิตรอดเสมอ ซึ่งเป็นการสร้างแฟนตาซีโดยตัวกลไกของฮอลลีวู้ดที่แทบไม่ค่อยมีให้เห็นในยุคก่อนหน้า
จุดเด่น (ที่บางคนอยากเรียกซะใหม่ว่าเป็น ‘จุดด่าง’) ของปี 1969 ในสหรัฐฯ น่าจะเป็นเรื่องจุดเริ่มต้นของลักษณะ counter culture ซึ่งจะเข้ามาท้าทายค่านิยมและขนบดั้งเดิม ซึ่งในเวลาเดียวกันก็สร้างความหลากหลาย เป็นต้นว่าลัทธิ Charles Manson และวัฒนธรรมฮิปปี้ก็มาช่วงนี้, การแสดงออกทางเพศและความรุนแรงบนจอ จนถึงขั้นมีการออกมาตรการจัดเรตที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1968 กระแสตื่นเอเชียอาจยังไม่ออกรูปชัด ทว่าเริ่มก่อตัวก็ในช่วงนี้ ขณะที่คาวบอยพันธุ์ทางทำในยุโรปแต่ไปถ่ายกันที่อิตาลี สเปน (Spaghetti western) ก็ล่วงหน้ามาได้ซักระยะแล้ว ไหนจะยาเสพติด หนังต้องห้าม ซึ่งมีส่วนลดทอนวัฒนธรรม สุนทรียะ และรสนิยมชั้นสูงแบบยุโรปให้ถดถอยด้อยค่า
เพราะฉะนั้นคนอย่าง Rick-Cliff-Sharon จึงได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจนเหมือนตกอยู่ภายใต้วงล้อมวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาท้าทายขนบแบบเดิมๆ Rick ต้องยอมทำในสิ่งที่ขัดกับตัวตนอย่างเดินทางไปเล่นหนังคาวบอยสปาเกตตี้ จนค้นพบทีหลังว่า กูมาถูกทางแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นการต่อยอดให้กับอาชีพตัวเอง โดยไม่ต้องลดตัวลงมาเป็นดาวร้ายในซีรีส์ของดาราคนอื่นยังได้กลับมาเล่นบทนำในหนังคาวบอยซึ่งเป็นการตอกย้ำตำนานในยุคที่กำลังรุ่ง ได้เล่นหนัง genre ที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิต เหมือนได้เล่นแนวเจมส์บอนด์ที่มิใช่ 007 อย่าง Operazione Dy-a-mite แถมได้เมียอิตาเลียน Francesca Capucci กลับมาฮอลลีวูด
คงเห็นได้ว่าบนโครงสร้างสามเหลี่ยม Rick-Cliff-Sharon ล้วนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการของ Charles Manson ถ้าไม่ทางตรง
ก็ทางอ้อม… เป็นความซวยของ Sharon ที่บังเอิญบ้านที่เข้าไปอยู่ เคยเป็นของเอเยนต์ที่ Manson หวังจะใช้เป็นคอนเนกชัน, Pussycat ทอดสะพานหวังต้อน Cliff เข้าสำนัก ข้างฝ่าย Rick ก็เคยไปถ่ายหนัง-ซีรีส์ในไร่ Spahn Movie Ranch ร่วมกับ Cliff ถึงได้รู้จักมักคุ้นกับเฒ่า George Spahn (บรูซ เดิร์น) เท่ากับว่า ที่ Cliff ยอมพา Pussycat ติดรถมาส่ง ก็หวังจะเข้ามาเยี่ยมทักทายสหายเก่าเจ้าของบ้าน แท้จริงแล้วบ้านทั้งหลังถูกยึดครอง โดยกลุ่มแฟมิลีของ Manson เป็นที่เรียบร้อยซึ่งในเวลาขณะนั้นเจ้าสำนัก Charles ไม่อยู่เพราะมัวแต่ไปเคาะประตูหาบ้าน Terry (คนที่ถูกอ้างว่าเป็น) ซี้เก่า จนกระทั่งตกอยู่ในสายตา Cliff ที่กำลังปีนหลังคาขึ้นไปซ่อมเสาอากาศ และที่ Cliff ต้องปีนขึ้นเล่าเต๊งตามคำไหว้วานของ Rick ก็เกิดขึ้นหลังดราม่าหลังกองถ่ายสตูดิโอฟ็อกซ์ เมื่อ Cliff เหวี่ยงตัวแสดงหัวแก้วหัวแหวนของค่าย, Bruce Lee (ไมเคิล เมห์) ไปอัดโดนรถคุณนายเมียผู้กำกับ
การจัดวางตัวละคร Bruce Lee ใส่เข้ามาในหนังย่อมมิใช่เรื่องขอไปที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทของ Bruce Lee ถูกใช้เป็น ‘ตัวกลาง’ เพื่อสร้างรอยต่อย้อนกลับไปหา Sharon อีกทอด ผลที่ได้จึงกลายเป็นการสร้างสายใยระหว่าง Cliff – Sharon โดยทางอ้อม สมมติซีนว้ากเพ้ยเกิดขึ้นในช่วงเรียลไทม์ เนื้อเรื่องในส่วนของ Sharon ในฮอลลีวู้ดเรียกได้ว่าขึ้นสู่จุดพีคทั้งในด้านของความสุขควบคู่ไปกับความรุ่งเรือง เมื่อหนังเรื่องล่าสุดที่แสดงคู่กับ Dean Martin ออกฉาย (The Wrecking Crew) ชื่อเธอขึ้นก่อนเหมือนเป็นบทนำ ทั้งๆ ที่ตัวหนังเป็นภาคหนึ่งในเฟรนไชส์นักสืบ Matt Helm พอ Sharon อยากเข้าไปเช็คเรตติ้งในโรง เมื่อถึงซีนที่ (ตัวละครของ) เธอพะบู๊กับบทของ Nancy Kwan นักแสดงเอเชีย ซึ่งคนดูชอบเมื่อ Sharon เอาชนะด้วยเพลงกังฟูที่ผ่านการเทรนโดย Bruce Lee ซึ่งเป็นเรื่องขื่นที่สุดท้าย เพลงมวยจีนได้ย้อนรอยกลับมาเข้าเนื้อคนสอนซะเอง เมื่อถึงคราวต้อง ‘ประลองยุทธ์’ นอกจอกับคนขาวกันหลังโรงถ่าย Cliff Booth
ทาแรนติโน (เกือบ) ถูกโจมตีว่าเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ คล้ายจะมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมแต่ว่าาา ช้าก่อนครับ!!! ประวัติศาสตร์ก็ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ต่อไป เพียงแต่ว่ายังเล่าไม่หมดเพราะไหนๆ ทาแรนติโนได้สร้างตัวละครสมมติอย่าง Rick Dalton (ซึ่งเบื้องหลังยังมี Cliff Booth เป็นเงาสตันท์ ดับเบิ้ลซ้อนเพิ่มเข้ามาอีกคน) แต่ทาแรนติโนมีวิธีรักษาประวัติศาสตร์ด้วยการใช้
วิธีกำจัด ‘สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง’ เข้ามาช่วย โดยเริ่มจากคู่หู-ดูโอ้ ที่ตกลงว่าทันที่ที่เครื่องร่อน ลงสนามบิน LAX ทั้งคู่จะแยกจากกัน เป็นการจากกันด้วยดี โดยไม่ต้องมีดราม่าหรือปัญหาการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงเพราะสารรูปของ Rick ที่พอเดินทางกลับจากอิตาลีไม่อยู่ในสภาพเหมือนเดิมอีกต่อไป คือทั้งอ้วนฉุ แถมทรงผมเปลี่ยนไม่เหมือนเก่า ขณะที่ Cliff ยังรักษาหุ่นประเภทฟิตแอนด์เฟิร์มเพื่ออาชีพ เมื่อคนสองคนมิอาจแทนที่กันและกันได้อีกต่อไป ก็สมควรแก่การร้างลา
Rick ไม่พอใจรูปร่างที่เปลี่ยนไปๆ เพราะแม้แต่โฆษณาบุหรี่ยี่ห้อ Red Apple (ที่หนังเอามาใส่ช่วงเอนด์เครดิต) Rick ฉุนแบ็กดร็อปที่เป็นหน้าของเขาในบทบาทตัวละคร Jake Cahill จากซีรีส์สร้างตำนาน Bounty Law ซึ่ง Rick ในรูปคางออกสองชั้น เพราะแค่นี้ยังถึงขั้นถีบหน้าตัวเองได้ลงคอนับประสาอะไรกับวันที่น้ำหนักเกิน ซึ่งก็พอดีเป็นวันเดียวกับที่สาวกแฟมิลีของ Manson รับคำสั่งให้มา “kill everyone in Terry’s old house” ทว่าถูกขัดจังหวะโดย Rick จนสาวกทั้งสี่ตัดสินใจบุกเข้าบ้าน Rick Dalton แทน
ซีเควนซ์ถล่มบ้าน Dalton ดูเหมือนว่าจะถูกนำมาใช้เบี่ยงเบนความสนใจเมื่ออยู่บนจอหนัง Once Upon a Time in Hollywood ขณะเดียวกันทั้งสี่มิได้เข้าบ้านผิดอย่างที่คนดูรุ่นแรกๆ คาดการณ์ไว้ในใจ สี่สาวก (นำโดย Tex แสดงโดย ทิโมธี โอลลีแฟนท์) กลายเป็นผู้ถูกกระทำโดยที่ ‘บ้านข้างๆ’ (ที่มีด้วยกันอยู่สี่ชีวิต ประกอบด้วย Sharon, Jay, Abigail, Woychek) ยังคงสนุกกับปาร์ตี้รื่นเริงตามประสา แต่…..(**ตรงนี้มีสปอยเลอร์ล่ะ**)
เรื่องราวที่ดูเหมือนว่าจะจบ โดยกล้องยกมุมขึ้นสูงระดับ bird-eye’s-view มีการซ้อนตัวหนังสือชื่อเรื่องด้วยฟอนต์คล้ายหนังสือนิทาน เหมือนจบลงด้วยดี เมื่อ Sharon ชวนเพื่อนบ้าน Rick Dalton เข้ามาดื่มด้วยกันในบ้าน โดยที่ประตูยังเปิดอ้าาาา คาาา ไว้ ขณะที่ทางฝ่ายของ Manson ยังมีสาวกคนอื่นอีกเพียบ โดยที่ Rick เองยังอยู่ในนั้นทั้งคน ถ้าจะสมมติว่า… (หยึ๋ยยยยยยไม่อยากคิด). มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์
กาลครั้งหนึ่งใน…ฮอลลีวู้ด
Once Upon a Time in Hollywood หนังตลกร้ายของเควนติน ทาแรนติโน ที่นำเรื่องราวของวงการฮอลลีวู้ดมาเล่า แถมยังเปลี่ยนแปลงเรื่องจริงจากฆาตกรรมสุดโหด ดาราสาวชารอนเทต และคนอื่นๆ อีกสี่คนขณะที่เธอตั้งครรภ์ 8 เดือนที่บ้านของโรมัน โปลันสกี ฝีมือของชาร์ล แมนสัน กลุ่ม “แมนสันแฟมิลี” เหตุการณ์ดำเนินเรื่องราวที่เกิดขึ้นในลอสแอนเจลิส เมื่อปี 1969 ผ่านตัวละคร ริค ดาลตัน (รับบทโดย Leonardo Di Caprio) นักแสดงซีรีส์โทรทัศน์คาวบอยตะวันตกที่กำลังหมดยุคดิ้นรนพยายามกลับมามีชื่อเสียงอาศัยอยู่ในบ้านติดกับผู้กำกับดังแห่งยุคนั้น โรมัน โปลันสกี กับเมียดาราสาวสวย ชารอน เทต (รับบทโดย Margot Robbie) คลิฟฟ์ บูธ หนุ่มเสื้อฮาวาย (รับบทโดย Brad Pitt) สตันท์แมนคู่ใจที่ติดสอยห้อยตามกันมาตลอดเป็นเหมือนเพื่อนซี้ ในหนังมีมุกกัดเจ็บๆ โดยเฉพาะฉากไอ้หนุ่มซินตึ้ง บรูซ ลี (Mike Moh) โดนไอ้หนุ่มเสื้อฮาวาย Brad Pitt อัด แชนนอน ลี ลูกสาวของ บรูซ ลี ไม่พอใจเควนติน ทาแรนติโน ที่ทำกับพ่อเธอเหมือนเป็นตัวตลก เสียชื่อศิษย์เอก ปรมาจารย์ ยิปมัน ได้ไปร้องกับทางกองเซ็นเซอร์จีน ฉากที่มีพ่อของเธอตัวละครในเรื่องกลับถูกตีความออกมาล้อเลียน เป็นพวกชอบอวดเก่งหาเรื่องหลงตัวเอง เควนติน ทาแรนติโน บอกเหตุผลว่าไม่แปลก ทำไมในหนัง บรูซ ลี ถึงแพ้คลิฟฟ์ บูธ ไม่ใช่แพ้ Brad Pitt เพราะเป็นสตันท์แมนที่เคยเป็นทหารเก่าอยู่หน่วยรบพิเศษ กรีนเบเรต์ ผ่านสงครามมาก่อน สายโหดแถมยังถูกกล่าวหาว่าฆ่าเมียตัวเองอีกด้วย
คุณมโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ รีวิวร่ายยาวให้อ่านแล้วในส่วนของภาพยนตร์ มาว่ากันในเรื่องของระบบภาพ Sony Pictures Home Entertainment ออกบลูเรย์และ 4K Ultra HD เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Resolution: Native 4K 2160p สัดส่วนของภาพ Aspect ratio:2.40:1 ซีนเปิดเรื่องฉากเล่าถึงตัวละคร ริค ดาลตัน (Leonardo DiCaprio) ถ่ายด้วยฟิล์มขาว-ดำ 8 มม. 16 มม. ได้ฟิลลิ่งดูหนังย้อนยุคได้ดี คุณภาพของภาพหนังโทนสีออกสไตล์วินเทจเหมือนหนังยุคนั้น Once Upon a Time in Hollywood คว้ารางวัลลูกโลกทองคำ ปี 2020 มาครอง ด้วยรางวัลใหญ่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทตลกหรือเพลงส่วนสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดราม่าตกเป็นของเรื่อง 1917 ผลงานของผู้กำกับ Sam Mendes (Skyfall, Spectre, American Beauty ฯลฯ) เรื่องราวเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อทหารอังกฤษ 2 คน ได้รับมอบหมายให้ร่วมปฏิบัติการที่แทบไม่มีทางทำสำเร็จได้โดยถ่ายทำแบบ Long Take ตลอดทั้งเรื่องเรียกว่าเต็งรางวัลออสการ์ภาพยนต์ยอดเยี่ยมปีนี้เช่นกัน (ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับยังไม่ประกาศผลรางวัลออสการ์) สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ไอ้หนุ่มเสื้อฮาวาย Brad Pitt คว้าไปและยังเต็งหามบนเวทีออสการ์ ดูทรงแล้วไม่น่าพลาดเดินสายกวาดรางวัลเกือบแทบทุกสถาบันอยู่สายไม่แข็งเหมือนสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ต้องขับเคี่ยวกันสนุก ริค ดาลตัน Leonardo DiCaprio เจอสายแข็ง Joaquin Phoenix จากเรื่อง Joker หรือ Adam Driver จากเรื่อง Marriage Story ก็ไม่ธรรมดา เพราะ มี Scarlett Johansson เข้าชิงจากเรื่องเดียวกันปีนี้เธอเข้าชิงทั้งรางวัล 2 สาขา คือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และนักแสดงสบทบหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง Jojo Rabbit ในอดีตนั้นเคยมีทั้งนักแสดงชายและหญิงอีก 11 คนที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ 2 สาขา ภายในปีเดียวกัน Fay Bainter ออสการ์ปี 1939 กลายเป็นนักแสดง หญิงคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 2 สาขา นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม – White Banners และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – Jezebel มาดูรายชื่อทั้งหมดกันว่ามีใครบ้าง
1939: Fay Bainter
1942: Teresa Wright
1945: Barry Fitzgerald
1983: Jessica Lange
1989: Sigourney Weaver
1993: Al Pacino
1994: Holly Hunter
1994: Emma Thompson
2003: Julianne Moore
2004: Jamie Foxx
2008: Cate Blanchett
2020: Scarlett Johansson
ระบบเสียง DTS-HD Master Audio 7.1 (48kHz, 16-bit) ทั้ง 4K Ultra HD/ Blu-ray เหมาะกับตัวหนังไม่ได้โชว์ระบบเสียงอะไรมากนักกับหนังตลกดราม่าแบบนี้ ดูหนังของเควนตินทาแรนติโน มาแทบทุกเรื่อง เน้นบทสนทนาของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเรื่องก่อน The Hateful Eight พูดมากแต่มันส์ตอนจบ ส?าหรับ Once Upon a Time in Hollywood ผมชอบแฮะ.มรกต ประทีปจินดา
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 276
No Comments