ธรรมนูญ ประทีปจินดา

“การฟังเพลงจะเพราะหรือไม่เพราะก็อยู่ที่ตัวเราเอง ชุดเล็กๆ ก็ฟังเพราะได้เหมือนกัน อยากบอกว่า ไม่จำเป็นต้องชุดใหญ่มากๆ แบบนี้ถึงฟังเพราะได้ ไม่จำเป็นต้องทะเยอทะยาน อยู่ที่ความพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง เข้าใจในเนื้อหามัน จะเปิดเพลงอะไร มันก็เพลงเดียวกัน ผมใช้ปรัชญานี้ตลอด – Song Remains the Same” ครับ 

ประโยคข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ที่ทำให้ AUDIOPHILE ต้องหวนกลับมาที่ Seven Heaven ห้องฟังที่ตั้งอยู่บน Seven Places Services Apartment นี้อีกครั้ง หลังจากการมาเยือนครั้งแรก เมื่อราวสองปีที่แล้ว Seven Heaven เป็นห้องฟังที่ ถูกกล่าวขวัญมากถึงความโดดเด่นในรูปแบบการจัดวาง อันบ่งบอกถึงตัวตนของเจ้าของห้อง คือ คุณวัชระ จงสุวัฒน์ ผู้บริหารสูงสุดแห่ง A Seven Corporation Co.,Ltd ซึ่งได้เปิดห้องฟัง Seven Heaven ให้ทีมงานนิตยสาร ออดิโอไฟล์ได้เยี่ยมชมอีกครั้ง 

เมื่อได้เห็นรูปเปิดคอลัมน์ คุณผู้อ่านที่ได้ ติดตาม WE ARE AN AUDIOPHILE มาตลอด ย่อมทราบดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต้องบอกว่า เครื่องเสียงแต่ละตัวที่ได้เอ่ยถึงนั้น มิใช่เพียงระดับ “ยานแม่” แค่บางตัวเท่านั้น แต่บังเอิญรวมอยู่ในที่เดียวกัน ฉะนั้น Seven Heaven จึงเปรียบเสมือนฐานทัพกัน เลยทีเดียว คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น รับรองต้องไม่ธรรมดาแน่นอน แต่ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ ขอย้อนกลับเข้ามาสู่ปฐมบทของการเล่นเครื่องเสียง ของคุณวัชระเสียก่อน 

ย้อนอดีต 

ผมฟังเครื่องเสียงมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้าน ชอบเล่นเครื่องเสียงจาก PX ในฐานทัพอุบลฯ ผม เล่นมาหมด ตั้งแต่แผ่นเสียงทั้ง Long Play และ Single พอดีว่าพี่ชายอยู่อเมริกา คิดว่าเขาคงเหงา และรักน้องๆ ก็ซื้อส่งมา เดือนสองเดือนก็ส่งมากล่องหนึ่ง เขียนจดหมายเล่าเรื่องราวส่งมา อย่างเช่นไปดูคอนเสิร์ต ของวง Blood Rock ทราบใช่ไหมครับ ผมเองไม่รู้จักเลย เขาพูดถึงวงร็อกอีกหลายวง รู้บ้าง ไม่รู้เยอะกว่า แล้วก็มีฟิล์มสไลด์ที่เขาถ่ายส่งมาให้ดูด้วย ตอนนี้ยังอยู่เลย เราถึงได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของวงการเพลงและดนตรีในอเมริกาค่อนข้างไว ทั้งๆ ที่สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำไปเรามีแผ่นใหม่ๆ ฟังอยู่เสมอๆ นอกจากแผ่นเสียงแล้ว เทิร์นก็เล่น Denon, เทป Open Reel ก็เคยเล่นของ Teac หรือเทป 8 แทร็กที่เล่นในรถยนต์รวมถึงคาสเซ็ตต์เทปด้วย พวกเครื่องเสียงก็มีตั้งแต่ Sansui, Kenwood หรูสุดก็ McIntosh ลำโพงก็เป็น JBL ตลอด เพราะฟังเพลงร็อกมันส์ครับ

ตอนอยู่บ้านที่อุบลฯ ผมเล่นแผ่นเสียง แต่พอเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ก็ถึงยุคที่เล่นเทปคาสเซ็ตต์ เพราะเอาแผ่นเสียงมาไม่ได้มากนัก เนื่องจากเป็นของที่บ้าน ต้องอัดเทปมาฟัง ตั้งแต่ C30, C45, C60, C90, C120 ซึ่งไม่ค่อยดีนัก เพราะยืดง่าย ส่วนเทิร์นแบบชุดตู้พร้อมวิทยุและลำโพงเป็นของกรุนดิกส์ เยอรมัน ที่ใส่แผ่นซ้อนกันได้สามแผ่น ปล่อยให้แผ่นหล่นลงมา โดยไม่ได้สนใจว่าจะเป็นขนแมว มีซื้อแผ่นที่นี่บ้างไปซื้อแถววังบูรพา ร้านไทยจีน อย่างวง Iron Buttlefly กับเพลง ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ เบสเดินมันมาก ฟังคนเดียวไม่สนุก ต้องฟังกับเพื่อน เอากลับไปอุบลฯ กับนักดนตรี เพื่อนพี่ชายอยู่วงดนตรี Heavy Mountain เคยดูเขาเล่นด้วยเหรอ ในกรุงเทพฯ นี่นะ ที่โน่นผมเข้าบาร์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปล่าหรอกไม่ได้ดื่มอะไรกับเขาหรอก ไปดูดนตรีเขาก็จะไล่ออกมาเพราะเรายังเด็กเขาจะมี Setlist ของเขา ผมอยู่กับเพลงร็อกมาตั้งแต่เล็ก ตอนอายุประมาณ 11 – 12 ปี หนัง Woodstock มา ก็ต้องเสียเงินไปดูที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นที่กรุงเทพฯ น่าจะฉายที่โรงหนังอินทรา อีกเรื่องก็ The Beatles: Let It Be ที่เขาไปเล่นดนตรีบนดาดฟ้าตึกในลอนดอน แต่พอถึงยุคเทป ก็พบว่าแผ่นเสียงมีข้อจำกัดที่มักมีเสียงรบกวนจากรอยขีดข่วน แล้วยังไม่ทันไรก็ต้องกลับหน้าที่สอง พอเป็นเทปคาสเซ็ตต์ เราสามารถเปิดต่อเนื่องได้ทั้งแผ่นโดยใช้เทป C90 หรือ C120 ไปเลย พอมีปลายเทปเหลือก็จะอัดเพลงอื่นแทรกลงไปเป็นอินโทรหรือเพลงปิดบ้าง มีอัดเทปจีบสาวด้วย จีบไปจีบมาก็ยังมีเพื่อนยืมไปจีบสาวคนอื่น มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ยืมไปแล้วไม่คืนก็มี สมัยนี้ดีไม่ต้องใช้แล้ว ทำเพลย์ลิสต์บน Tidal ส่งไปให้แทน เทปมันดีตรงที่ฟังต่อเนื่องได้ ทำเพลย์ลิสต์ของตัวเองได้ แต่ข้อด้อยคือ ฟังข้ามแทร็กไม่ได้ หรือยาก ฟังซ้ำต้องกรอกลับ อย่างเทปรีลก็เคยบันทึกจากไวนิล สิบแผ่นรวดก็เคยทำเทปคาสเซ็ตต์ก็มีของ Nagamichi Dragon ซึ่งดีมาก สามารถล็อกแทร็กได้ ก็ถือเป็นเครื่องไฮเอ็นด์ในตอนนั้น

เมื่อไปอยู่อเมริกา ช่วงต้นยุค ’80s ตอนนั้น CD Player เพิ่งออก โอ้โห! มันลดข้อจำกัดหมดเลย ผมซื้อเพลเยอร์ตัวแรกของ NEC มันข้ามแทร็ก ฟังซ้ำหรือฟังต่อเนื่องวนเป็นลูปก็ได้ แผ่นก็เล็กมันเป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก เรื่องคุณภาพเสียงไม่ต้องพูดถึงนะ เพราะว่าความต่างอาจไม่มาก เพราะเครื่องเสียงที่เล่นไม่ได้ให้คุณภาพดีอะไรนัก ตอนที่เราไปใหม่ๆ ก็ยังซื้อแผ่นเสียงอยู่ เพราะซื้อเทิร์นตัวเล็กๆ เล่น ซื้อแผ่นที่ TowerRecord แผ่นละไม่กี่เหรียญ แต่ต่อมาก็เลิกดูเลย ซื้อแต่ซีดีเท่านั้น เพลงก็เริ่มมาสนใจแจ๊สกับคลาสสิก หัวเข็ม Shure ก็ 40-50$ถือว่าแพง แต่ก็ถูกมากเมื่อเทียบกับสมัยนี้

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คิดจะเล่นไวนิล เดินไปร้านไฮเอ็นด์ที่นิวยอร์ก ขอนั่งฟัง เขาก็เปิดให้ฟัง เพราะมาก แต่หูดีได้ยินเสียงป็อปคอร์น และเสียง Scratch ทนไม่ได้ เพราะเราชินกับความเงียบของซีดีไปแล้ว เลยตัดสินใจว่าอย่าดีกว่า เล่นซีดีดีกว่า จนกระทั่งทุกวันนี้มาเป็น SACD ไปอีก ซึ่งก็ได้ความละเอียดของเสียงดีกว่าซีดีธรรมดา จนกลายมาเป็นดิจิทัลไฟล์ที่เริ่มจาก MP3 จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นไฟล์ไฮเรส 24/192, 24/352.8 หรือ DSD128/256 ซึ่งพัฒนามาไกลมาก ถึงขนาดสตรีมมิ่งในแบบ CD Standard หรือ 24/96 กันแล้ว ซึ่งก็เป็นทิศทางของสื่อบันเทิงด้านเสียง ซึ่ง DigitalAudio กลายเป็น Main Stream แทนแผ่นเสียงซึ่งไม่มีวันหวนกลับไปยืนตรงนั้นเช่นในยุค ’70s อีกแล้ว

Back to BLACK

ท้ายสุดที่กลับมาเล่นไวนิลนี่ก็เพราะทนไม่ไหว ตรงที่พื้นฐานเรามาจากไวนิล ยังชอบมันอยู่ มีความทรงจำที่ดีกับมัน ถึงตอนนี้เราเล่นเครื่องเสียงมาไกลแล้ว เราเล่นตัวท็อปๆ มันก็ให้ผลต่างกับเมื่อก่อนเยอะ ก็ต้องเริ่มเก็บสะสมใหม่อีกครั้ง ไม่อยากเล่นแผ่นเก่า ทั้งๆ ที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำไป ที่ต้องซื้อใหม่ก็เพราะถือว่าเป็นส่วนกลาง จริงอยู่ที่ไม่มีใครเล่นหรอก แต่เรารู้สึกไม่ดีที่จะไปเอาของส่วนกลางมา ก็เลยไม่ทำแบบนั้น อีกอย่างผมไม่ค่อยชอบแผ่นเก่า ซองมันเป็นกระดาษ เมื่อมันเจอความชื้นจะมีกลิ่นอับ

โชคดีที่อุตสาหกรรมการผลิตแผ่นเริ่มกลับมาผลิตให้เราเลือกซื้อหาได้ รีมาสเตอร์ออกมาเยอะเหมือนกัน แผ่นสมัยใหม่เขาทำออกมาได้ดี เนื้อไวนิลมันดี มีคอลเล็กชั่นที่ขาดหายไปทำออกมาเป็นบ็อกซ์เซ็ต อย่าง Deep Purple: Made in Japan มีครบทั้งสามโชว์เลย เขาก็นำ Material มาเพิ่มมูลค่าได้ด้วย ที่น่าสนใจอย่างของ Metallica เป็นสปีด 45 RPM ทั้งหมดเลย ให้เสียงดีมาก ก็ทราบดีว่าจำนวนแผ่นจะเพิ่มขึ้น เพลงจะจบหน้าเร็วขึ้นเมื่อร่องกว้าง (ใหญ่?) ขึ้น ยิ่งเมื่อเล่นกับเทิร์นสมัยใหม่ โทนอาร์ม หัวเข็มไฮเอ็นด์ สมัยนี้ที่พัฒนาจากเดิมมาก ได้รายละเอียดของชิ้นดนตรีดีมากกว่าเดิมเยอะ

ที่ว่า 1st Press หรือแผ่นหายาก ก็ดีในแง่สะสม ผมซื้อแผ่นมาฟัง ไม่ใช่เพื่อสะสม ของรักของหวง ไม่ซื้อซ้ำด้วย ไม่มีประเด็นสำคัญ ยังไงก็ดีกว่าแน่นอน เพราะเครื่องเล่นของเราสมัยนี้ไปไกลว่ายุคที่เราเล่นในอดีตมากมายนัก 

การเล่น TechDAS Air Force One ถือว่าเป็นการกลับมาเล่นเทิร์นเทเบิ้ล ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

แผ่นของวงร็อกวงโปรดอย่าง Led Zeppelin,Metallica, Deep Purple, Pink Floyd หรือ KingCrimson ซึ่งแผ่นบ็อกซ์เซ็ตยังทำออกมาไม่มาก ถูกซื้อเก็บเข้าเรื่อยๆ พวกแผ่นเสียงออดิโอไฟล์ผมก็มี จริงๆ แล้วที่เล่นแผ่นเสียงก็เพราะความทรงจำที่ได้จากมันหรอกครับ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว อย่างที่ทราบดีว่า ผมใช้ลำโพง Aida เล่นแบบ Tri-amplifiers ก็น่าจะโอเคอยู่ แต่ปรากฎว่าเหมือนยังไม่สุด เดิมก็ไปโทษที่สาย เลยเปลี่ยนไปทั้งชุด แต่ก็ไม่น่าจะใช่คำตอบ ต่อมาพบว่าปัญหาจริงๆ เกิดจากปรีหลอดที่ไม่แม็ตช์กับการต่อแบบ Tri-amps ต่างหาก คือปรี Audio Research Ref 40 มีแค่ 2 main outputs + 1 record out ซึ่งพบว่าเป็นการเชื่อมต่อออกมาเฉยๆ ไม่เหมาะสมกับ Tri-ampsเพราะทำให้อิมพีแดนซ์เปลี่ยนไป ก็มีสองแนวทางคือ เล่นเพียงชุดเดียว ผมเลยลองปลดเหลือชุดเดียว ซึ่งกลับได้ผลดีกว่า หรืออีกทางคือเล่น Tri-amps เหมือนเดิม แต่หาปรีตัวใหม่ที่ต่อแบบTri-amps ได้ ผมจะเล่าให้ฟังว่า เรื่องมันเป็นแบบนี้

ความต้องการเบื้องต้นเพียงต้องการเปลี่ยนปรีแอมป์เท่านั้นแต่ไหนๆ จะทดลองแล้วก็เลยหาเพาเวอร์แอมป์ตัวอื่นมาลองด้วย โดยแบ่งการทดลองเป็นสามวิธี โดยการต่อพ่วงกับ dCS Vivaldi (The Set of Four) และสายลำโพง Nordost Odin กับลำโพงSonus Faber Aida ซึ่งมีลูกขุนหลายท่านเป็นสักขีพยานร่วมฟังด้วย

Set A: Pass Labs Xs-300 + Audio Research 40 Anniversary Pre Amplifier พบว่า Xs-300 ให้เสียงดี เสียงหวาน และน่าฟังหลอดกับพลังขับไปได้ดีครับ บางท่านแนะนำว่าเหมาะกับ Sonus Faber Aida ที่เป็นลำโพงของยุโรปอยู่แล้วแต่ก็มีบางท่านบอกว่า เสียงยังติดลำโพง อาจจะเป็นปัญหาที่ห้อง หรือการเซ็ตอัพ

Set B: Boulder 2160 Power Amplifier + Boulder 2110 Pre Amplifier เดิมทีขอแค่ปรีแอมป์แต่เขาส่งมาทั้งคู่ คือทั้งเพาเวอร์ด้วย Big soundstageให้เสียงสะอาด ต่อเนื่อง และพลังหนักแน่น ฟังแล้วสนุกกับเพลงโดยเฉพาะแนวหนักๆ แบบ Metalอาจจะเป็นเพราะปรีแอมป์ โซลิดสเตท Boulder 2110 บวกกับพลัง 600 Wpc Class A (มากกว่า Pass Labs Xs-300เท่าตัว) ถ้าเล่นจนหน้าปัดแสดงเลยขีดตรงกลางไปทางขวา อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว บางครั้งเมื่อเล่นเพลงดังๆ พลังอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้เสียง bass ขับออกมายังไม่ชัดเจน ถ้าเป็น 3050 MonoPower Amplifier (pair) 1500 Wpc ก็คงจะดีขึ้น บางท่านแย้งว่า Boulder ชุดนี้น่าจะเหมาะกับลำโพงของอเมริกา เช่น Wilson Audio รุ่นใหญ่ครับบางท่านบอกว่า เสียงไว อาจจะไม่เหมะกับสายลำโพง Nordost Odin หรืออาจจะต้องหาสายลำโพงให้เหมาะสมกับ Boulder ชุดนี้ราคามากกว่าสองเท่าแต่อย่าหวังคุณภาพเสียงเป็นสองเท่าถ้าไม่มีปัญหาเรื่องราคาก็เลือก Boulder ไปเลย ทราบว่าบางท่านเคยเล่นเพาเวอร์แอมป์ Boulder แล้วบอกว่าไม่คุ้มราคาที่จะชื้อ บางท่านบอกว่าพอได้ เมื่ออัพเกรดจาก 2160 ไป 3050ก็ค่อนข้างพอใจ และแฮปปี้ครับ บางท่านก็แนะนำว่า หากมีการปรับอะคูสติกส์ของห้องบ้างก็จะช่วยได้อีกมาก ภาพรวมจัดได้ว่าเป็นชุดที่มีเพอร์ฟอร์มานซ์เป็นที่น่าพอใจทีเดียว ซึ่งข้อนี้ต้องปักหมุดไว้

Set C: Boulder 2110 Pre Amplifier + Pass Labs A200.5 จำนวน 3 ชุด เพื่อต่อเล่นแบบ Tri-amplifiers

โดยทั่วไปพอใจและได้เสียงดีมากกว่าที่คิด Boulder 2110 Pre Amplifier มี 3 Balanced Outputs แยกอิสระจากกันทำหน้าที่ปล่อยสัญญาณให้กับ Tri-amp ไปที่Pass Labs A200.5 จำนวน 3 คู่ได้ดีมากครับ แตกต่างจาก Audio Research 40 Anniversary Pre Amplifier + Pass Labs A200.5 จำนวน 3 ชุด อย่างสิ้นเชิง โดยเจ้าปรีแอมป์ Boulder 2110 ตัวนี้ทาง Boulder ยืนยันว่าแยกแผงวงจรอิสระดังนั้นจึงสามารถเล่นกับ 3050 Monoblock Power Amplifier ได้สามคู่ ซึ่งถ้ายังใช้ลำโพงคู่เก่าก็ต้องเป็นแบบนั้น ดีนะที่ตัดสินใจเปลี่ยนลำโพงไปด้วย เพราะ Alexandria XLF ต้องการแอมป์โมโนบล็อกคู่เดียว

สรุปประเด็นปัญหา: ปัญหาน่าจะมาจาก Audio Research Ref 40 ถึงแม้ว่ามี 3 Balanced Outputs (Outputimpedance: 600 ohms for balanced) แต่ก็มีแค่ two Main และ one Tape ถ้าดูจากการต่อสัญญาณมาจากต้นทาง หรือจากภาคขยายของหลอด AR มีจุดเรี่มต้นที่เดียวกัน แต่มาแยกออกเป็น two Main และ แยกออกไปที่ Tape Monitor อีกครั้ง ดูแล้วน่าจะเป็นการแชร์อิมพีแดนซ์กัน ARC Ref 40ก็เป็น pre amplifier ที่ดีตัวหนึ่ง แต่ไม่น่าจะเหมาะสมกับการเล่น Tri-amplifiers เลย เสียงอาจจะดัง แต่คุณภาพคงไม่ใช่เลย เสียงเกิดการเบียดกัน ไม่สามารถออกมาได้เต็มที่ โดยเฉพาะ ambience และ deep bass หายไป เหมือนกับโดนบีบเป็นคอขวดที่มีพลังขับออกมา แต่แค่เสียงดังเท่านั้น

จริงอยู่ที่เพาเวอร์แอมป์ Pass Labs A200.5 ทั้งสามคู่ก็ทำหน้าที่ขับพลังออกมาได้ดีกับ Boulder 2110 Pre Amplifier เป็นที่น่าพอใจมากๆ เมื่อได้มีโอกาสฟังทางเลือกทั้ง Xs-300 และ 2110+2160 รวมทั้งได้เห็นโดยรวมสวยงาม การออกแบบ การใช้วัสดุที่มีความแตกต่างกันมากๆ คิดว่าน่าจะถึงจุดที่มีการเปลียนแปลงอีกครั้ง คราวนี้ถือเป็นโอกาสเพื่อก้าวข้ามไปยังเจ้าแอมป์รุ่นเรือธงไปเลย คือ 3050 Power Amplifier ซึ่งคงมีความมแตกต่างไปอีกขั้น เนื่องจากใจมันชอบดีไซน์ของ Boulder 3050 Class A Power Amp ที่มีกำลังขับ 1500W อยู่นานแล้ว สำหรับ Boulder 3050 Monoblock Power Amp คู่นี้เป็นคู่ที่ Series No. 059, 060 หรือคู่ที่ 30 โดยมีลายเซ็นของ Jeff Nelson: Boulder Audio President กำกับมาตรงท้ายเครื่องด้วย

White Alexandria XLF

เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนปรีกับเพาเวอร์แอมป์ไปแล้ว มาคิดดูว่าจะเล่นกับลำโพงเดิมจะดีเหรอ จะแม็ตช์กันหรือเปล่า ก็เลยเกิดขั้นตอนที่สามคือ หาลำโพงแม็ตช์กับแอมป์ ทำยังไงดี มานึกดูว่ามีอะไรอยู่บ้าง มาสนใจ Alexandria XLF นี้แหละ ความจริงเคยไปฟังที่ฮ่องกงมาแล้ว เหมาะกับเพลงร็อกหนักๆ ที่เราฟังอยู่แล้ว อีกชุดที่สนใจก็เป็น MBL 101 X-Treame นั่นก็ออกมาดี ความจริงชอบทั้งสองชุด แต่ Alexandria XLF เหมาะกับห้องเรามากกว่า อีกอย่างก่อนตัดสินใจได้ไปฟัง Alexia ที่บ้านคุณทรงพล เพื่อนก๊วน ซึ่งดีมาก ทำให้มั่นใจว่าถูกทางแล้ว

การแชร์อิมพีแดนซ์กัน  ไม่น่าจะเหมาะสมกับ
การเล่น Tri-amplifiers เสียงอาจจะดัง แต่คุณภาพคงไม่ใช่เลย

ที่ต้องเป็นสีขาวมุก (Blanco Fugi) เพราะทางโรงงานบอกเลือกสีได้ เขาส่งตัวอย่างสีมาให้เลือก ก็เลือกง่ายๆ ตรงที่รถผมใช้สีอะไรก็เลือกสีนั้น ซึ่งก็คือสีขาวมุก ประมาณสัปดาห์เดียวเท่านั้น เขาค่อนข้าง Professional มาก ส่งตัวอย่างสีกลับมาให้ปรู๊ฟอีกครั้ง เมื่อเรายืนยันไป จากนั้นใช้เวลาประมาณสามเดือน ลำโพงก็มาถึง ความจริงลำโพงมาตั้งนานแล้ว แต่ต้องรอสาย เรื่องสายนี่ คุณวิศัลย์พูดถูกที่ว่า คนที่จะซื้อลำโพงดีๆ ควรต้องใช้สายดีๆ เดิมเราใช้ Vahalla ก็เอา Odin มาลองก็ดีขึ้นจริงๆ ก็ตัดสินใจซื้อ เลยต้องรอสายนิดหนึ่ง ส่วน dCS Vivaldi เราใช้อยู่แล้ว สั่งมาพร้อมขา Stillpoints รวมทั้งชั้นวาง ซึ่งวางปรีแอมป์ และ dCS ก็ของ Stillpoints เหมือนกัน

Air Force One

เมื่อทางสายดิจิทัลเล่นไปจนสุดถึง dCS Vivaldi (The Set of Four) แล้วต้องกลับมาที่ไวนิลที่ยังไงก็ต้องเล่นล่ะ ผมซื้อแผ่นที่ชอบเก็บไว้มาเรื่อยๆ ร่วมสองปีกว่ามาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ฟังเพราะยังไม่มีเทิร์นซะที จนน้องๆ แซวว่า ซื้อแผ่นมา แต่ก็ไปฟังดิจิทัลอยู่นั่นแหละ

ความจริงชอบดีไซน์ทางเทิร์นเทเบิลเยอรมันนะ เทิร์นของญี่ปุ่นก็ยังดูว่าเป็นของญี่ปุ่น ยังไม่คิดว่ามันดีมาก เพราะเราไปเทียบกับเทิร์น Denon Direct Drive ที่เราเคยเล่นเท่านั้น อย่างที่บอกว่า เรายังมีความเป็นสถาปนิกที่มองรูปลักษณ์การออกแบบด้วย เชื่อว่าเมคคานิกส์เยอรมันนั้นน่าจะสุดยอด แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อก็ถามความเห็นคุณวิศัลย์อีกนั่นแหละ เขาพูดอยู่ไม่กี่คำว่า “มันมีเทิร์นยี่ห้อหนึ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของนักเล่นคือ ดันแพลตเตอร์ให้ลอย แล้วดูดแผ่นให้สนิทกับแพลตเตอร์” ซึ่งก็ไม่ค่อยเข้าใจคำพูดของเขาหรอก ถ้าไปพบคุณเบนซ์ที่ขอนแก่น จะได้ความรู้เยอะ เราก็เดินทางไปพบคุณเบนซ์ จริงๆ แล้วไปวันนั้นไม่ใช่รู้แค่ Air Force One อย่างเดียว แต่ได้เรื่องของ Micro Seiki มาเต็มๆ เพราะคุณเบนซ์รู้ลึกมาก เขาเป็นคนสนุก น่ารัก และ Nice มาก มีประสบการณ์เล่นเทิร์น MicroSeiki ทะลุปรุโปร่ง บอกทริก จุดอ่อนจุดแข็งอย่างละเอียด เรียกว่าเขาอัจฉริยะมากเลย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาร์ม หัวเข็ม ละเอียดยิบด้วย ได้ความรู้มากจากเขา ต้องให้เครดิตไว้ด้วยอย่างมาก

ก่อนเดินทางกลับ เราไปนั่งทานข้าวต้มแล้วดูบอลไทยแข่งไปด้วย พบคุณอู๊ด เจ้าของร้านข้าวต้ม พูดสั้นๆ ว่า “ดัน แล้ว ดูด” ตัวเดียวจบ แหม! คำนี้พาเอาจินตนาการเตลิดไปไกลเลย เล่นเอากว่าจะกลับถึงบ้านร่วมตีสี่กันเลยทีเดียว ได้ความมั่นใจมากขึ้นอีกทำให้ตัดสินใจสั่งซื้อ Air Force One มาโดยเลือกอ็อปชั่นสูงสุด Upgrade TitaniumUpper Platter ส่วนขาตั้งกับเบ้ารับ Air Force One ก็เลยซื้อ HRS มา

อาร์มเขาแนะนำให้ใช้ Garham ความจริงก็ปรึกษาพี่แปะแล้ว เขาก็เห็นว่าดี หัวเข็มให้เลือกอยู่สองอัน คือ AirTight กับ My Sonic ชอบเสียง My Sonic แต่ก็เลือก AirTight มาก่อน ตอนนี้อาร์มอีกอาร์มมาถึงแล้ว แต่ยังไม่ได้ติดตั้งคือ Ikeda IT-407CR1 12” Long Tonearm เป็นอาร์ม high mass ของ Mr. Isamu Ikeda ผู้ออกแบบ Fidility Research FR 66 “King of High Mass Tonearm” พร้อมหัวเข็มIkeda KAI Reference MC Cartridge เป็นหัว low compliance ด้วย เวลาที่อาร์ม high mass เคลื่อนที่ไปบนแผ่นเสียง จะมีแรงสั่นในแนวดิ่ง ถ้าอาร์มมีน้ำหนักมากจะมีแรงสั่นมาก จึงต้องใช้หัวเข็ม low compliance เพื่อที่จะหยุดอาร์มได้เร็ว นี่ก็ได้ความรู้จากคุณ M บอลล์เหมือนกัน ส่วนโฟโนสเตจเป็นของ Boulder 2008 Phono Pre Amplifier ซึ่งสั่งไปนานแล้วตอนนี้ยังมาไม่ถึง ตอนนี้ใช้ VTL ไปก่อน

Power Supply

เมื่อต้องกลับทิศทางการตั้งลำโพง ทำให้เทอร์มินัลบล็อกของระบบไฟของเดิมที่จ่ายให้กับเพาเวอร์แอมป์ จำเป็นต้องปลดออก เหลือเพียงส่วนที่ใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งหมดที่จ่ายให้กับ “ยานแม่” ทุกตัวต้องผ่านตู้นี้ โดยใช้อุปกรณ์ของ Shunyata ทั้งสาย Shunyata Hydra DPC ความยาว 6 เมตร และ Shunyata Sigma HC C19 ความยาว 1 เมตร และ Shunyata Hydra Triton Shunyata Typhon w/AHC ด้วย ส่วนไฟที่จ่ายไฟให้กับ Boulder 3050 Mono Power Amp ต้องใช้ไฟถึง 6000 Watts จำเป็นต้องต่อสายตรงจากเทอร์มินัลบล็อกตัวเดิม ลากสายอ้อมไปยังด้านตรงกันข้ามของห้องด้วยสาย Acrolink Stressfree Cable 7N-P4030II 99.99999% Cu ยาวเส้นละ 14 เมตร แล้วเข้าหัว C Form ของ Walther 32A แล้วจึงมาเชื่อมต่อกับสายไฟNordost ODIN Silver over 99.99999 OFC ยาว 1.25 เมตร ซึ่งเข้าหัว C Form เหมือนกันต่อเข้าแอมป์แต่ละข้างก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้ Odin ยาวทั้งเส้น

Listening room… the Perfect sense@Seven Place

เมื่อได้ “ยานแม่” ครบแล้ว จะให้เข้าประจำการห้องเดิมก็กระไรอยู่ ไหนๆ ก็ทำถึงขนาดนี้แล้ว คิดว่าน่าจะต้องปรับอะคูสติกส์ห้องฟังใหม่ทั้งหมดด้วย พอจะปรับห้องก็ถือโอกาสเอาของออกหมด แล้วให้ทาง Mason Acoustics มาดู เขาก็ให้คำแนะนำดี ว่าห้องมีจุดอ่อนตรงไหน เพราะห้องเดิมมีลักษณะโค้งเป็นทรงกลม มีกระจกรอบข้าง รวมถึงฝ้าเพดานเป็นกระจกเอียงลาดทำมุมด้วย ก็เลยแนะนำให้กลับทิศวางเครื่องจากเดิม 180 องศา ซึ่งจะได้มุมมองของห้องฟังโปร่งโล่งขึ้น เนื่องจากความลาดชันของเพดานเอียงกดลงจากด้านหลังห้องมาหน้าห้อง คล้ายลักษณะโรงละคร พร้อมทั้งบุวัสดุประเภท Absorption ด้านข้าง ลบความโค้งออกไป ให้มีส่วนตรงบานออกคล้ายพัด แล้วบุ Absorption หนาสี่นิ้วส่วนของด้านหลังห้อง ซึ่งเป็นส่วนที่เดิมไม่แข็งแรง รวมถึงส่วนโค้งด้านบนด้วย แล้วเรามา Fine Tune ด้วยแผงอะคูสติกส์อีกนิดหน่อยซึ่งที่เห็นอยู่นี่ยังไม่ใช่ของจริง กำลังสั่งทำอยู่ครับ

สำคัญสุดอีกอย่างที่ต้องไฮไลต์ คือ เขาคอมเมนต์ว่าแอร์เดิมเสียงดังมาก และเป็นอุปสรรคใหญ่ของห้องฟัง คือต้องเงียบ หรือสงัดได้ยิ่งดี ต้องแก้โดยแนะนำให้ใส่ Silencerตรงปลายท่อแอร์ ก็เลยถือโอกาสเปลี่ยนแอร์ใหม่ เพิ่ม Capacity ความเย็นให้ด้วย เพราะของเดิมความเย็นไม่พออยู่แล้ว ย้ายหัวจ่ายให้สูงขึ้น ช่วยให้เย็นทั่วห้องด้วย ใช้เวลาทำห้องประมาณสองเดือน ระหว่างนั้นก็ฟังเพลงจากชุดเก่าที่จับมารวมกับห้องโฮมเธียเตอร์ไงครับ 

ผมใช้ปรัชญานี้ตลอด  ‘Song Remains  the Same’ 

เราแก้ปัญหาของห้องไปได้เกือบหมด ผลที่ได้ มิติเสียงดีขึ้นมาก เพราะสัดส่วนห้องมันถูกปรับแก้ เสียงมีโฟกัสมากขึ้น เนื่องจากฝ้าเพดานกดลงมา ตรงจุดที่นั่งฟัง วิวที่เห็นไปด้านนอกก็ดีขึ้น ไม่ต้องนั่งมองกำแพง จริงๆ แล้วลงทุนกับห้องไม่เยอะเลย เมื่อเทียบกับลงทุนกับเครื่องเสียง คิดว่าคุ้มมาก เพราะได้ความสงัด เสียงดนตรีมีตัวตนมากขึ้นเยอะ 

Work Life Balance… Relaxing time 

ด้วยธุรกิจที่รัดตัว ความที่ต้องเดินทางบ่อยๆ ก็ใช้ iPhone นี่ล่ะฟังเพลงระหว่างเดินทาง ใช้หูฟัง In-ear ของ Shure ตัวท็อปตัวหนึ่ง ก็มีความสุขได้ ยังไม่มีโอกาสได้ฟัง Tidal เล่น สักทีจริงๆ แล้วเมื่อมีเวลาต้องเข้าห้องฟังอยู่ เสมอนี่เพิ่งกลับจากยุโรป ตื่นมาแต่เช้าก็ฟังไป สามสี่ชั่วโมงเหมือนกัน เพราะไม่ได้ออกไปไหน เราพักที่นี่ 

the New Journey 

สัปดาห์หน้าเราก็จะไปญี่ปุ่นกัน ไปหาของ เตรียมไว้สำหรับชุดใหม่สไตล์วินเทจ ซึ่งเตรียมที่ไว้เป็นห้องข้างบน เป็นลำโพงฮอร์น Western Electric 16A ซึ่งสั่งซื้อพาร์ตบางส่วนเตรียมไว้แล้ว ตอนนี้ห้องฟังกำลังออกแบบอยู่ อยากให้จบเป็นห้องๆ ไป ไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน คิดว่าปีหน้าคงจะเสร็จ 

Community 

จากที่เราเล่นเครื่องเสียงอยู่คนเดียว เมื่อได้ พบปะกับออดิโอไฟล์ นึกไม่ถึงว่ายังมีอีกหลายคน ที่เล่นกันอยู่แล้ว มีการจับกลุ่มกัน มีโอกาสพบ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายๆ คน ได้รับมิตรภาพที่ดี ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน หลายคนก็มีมุมมอง ที่ดีๆ เราก็รับฟังเขา ถือเป็นเรื่องที่ดีทีเดียว 

ฝากสำหรับผู้ที่มีศักยภาพ 

ส่วนใหญ่ เขาไม่สนใจจะเล่นเครื่องเสียงหรอก ไปเล่นนาฬิกา รถยนต์ ไม่ดีกว่าเหรอ เขาบอกไม่มี เวลามานั่งฟังเครื่องเสียงสองสามชั่วโมงหรอก ก็สงสัยว่าเขามองนาฬิกาได้เป็นชั่วโมงเหมือนกัน เอาเวลาไปตีกอล์ฟก็ได้ นั่นเพราะว่าความชอบ แต่ละคนมีฮ็อบบี้ไม่เหมือนกัน เพราะอาจไม่เคย ได้สัมผัสรสชาติเสียงดนตรีมาตั้งแต่เล็ก พื้นฐานต้องถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ยากมากที่โตแล้ว จะมาชอบ อย่างเช่นอายุสามสี่สิบ มีตังค์แล้ว จะมาชอบเครื่องเสียง แทบเป็นไปไม่ได้เลย 

ความจริงเพลงไม่ได้ฟังเพื่อสนุกอย่างเดียว มีเรื่องการเมือง ศาสนา ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สงคราม ครบหมด ลองฟัง Roger Waters: Ça Ira “There is Hope” ดูสิ ยังกะโอเปร่า เหมือน the Wall Part 2 เชียว มีเอฟเฟ็กต์ที่น่าสนใจมาก มันถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้เห็นยิ่งกว่า ดูหนังเสียอีก หรือ Wish You Were Here เพลง บรรยายถึงเพื่อนที่อยู่ในสงครามอย่างเหงาๆ เป็น เรื่องเศร้าที่เขาใช้ดนตรีเป็นสื่อ ถ้าคนเข้าใจได้ 

จริงอยู่ การเล่นเครื่องเสียงดีๆ ก็สามารถถ่ายทอดได้ละเอียดขึ้น แต่ถ้าถามผมนะ นาฬิกาทุกเรือนก็เดินตรงเหมือนกันหมด ต่างกันที่วัสดุที่เอามาทำต่างหาก จะเป็นพลาสติก เหล็ก ทอง ทองคำขาว จะเป็น Casio Omega Rolex หรือ Patek Philippe ก็เดินตรงเหมือนกัน ก็แล้วแต่ที่เขาจะชอบ ที่ไม่ตรงคือตัวเรา ที่ไม่ตรงไม่ใช่นาฬิกา 

ฉะนั้น การฟังเพลงจะเพราะหรือไม่เพราะ ก็อยู่ที่ตัวเราเอง ชุดเล็กๆ ก็ฟังเพราะเหมือนกันได้ อยากจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นชุด ใหญ่มากๆ แบบนี้ถึงฟังเพราะได้ ไม่จำเป็นต้องทะเยอทะยาน อยู่ที่ความพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง เข้าใจในเนื้อหามัน จะเปิดเพลงอะไรมันก็เพลงเดียวกัน ผมใช้ปรัชญานี้ตลอด “Song Remains the Same” ครับ 

..ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเล่นเครื่องเสียงชุดเล็ก หรือว่าเครื่องเสียงชุดใหญ่ ล้วนต่างพบกับปัญหาไม่มากก็น้อย ทว่าเมื่อพบปัญหาแล้ว สามารถหาหนทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง เช่นที่ คุณวัชระ จงสุวัฒน์ ได้ก้าวข้ามผ่าน จึงนับว่าเป็นการใช้องค์ความรู้ที่ค้นคว้าผนวกกับคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ มาใช้งานอย่างได้ผล ในท้ายที่สุด ย่อมนำพาซึ่งความพึงพอใจมาสู่ผู้ฟัง 

และที่คุณผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวที่มีคุณค่า เช่นนี้ก็เพราะ… “WE ARE AN AUDIOPHILE”. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 224