นักเขียน : ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์ :

เรื่องของเสียงความถี่ต่ำเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในงานมัลติแชนเนล ทั้งดูหนังหรือฟังเพลง เพราะถ้าเสียงเบสผิดปกติ ไม่ว่าจะ Boomy หรือ เบสบางส่วนขาดหายไป ก็ส่งผลต่ออรรถรสอย่างมาก มิหนำซ้ำการจะซื้อ ซับวูฟเฟอร์รุ่นแพงๆ แล้วเอามาวางในห้องเพื่อให้เสียงความถี่ต่ำที่ลึกๆ ออก มาดีเองเลยโดยอัตโนมัตินั้นเป็นไปได้ยาก การทำให้เสียงความถี่ต่ำที่มีคุณภาพ ว่าไปก็คงเหมือนกับการซื้อบ้านแหละครับ ส่วนที่สำคัญก็คือ ทำเล ทำเล… และ ก็ทำเล ถึงตัวบ้านมั่นคงแข็งแรง วัสดุใช้ของดี ตกแต่งดี หรูขนาดไหน แต่บ้านดัน ไปอยู่ในสถานที่อับ ไม่มีทางเข้าทางออก ก็ถือว่าเป็นบ้านที่ไม่ดี ลำโพงแชนเนล Main อื่นๆ อาจไม่ซีเรียสในเรื่องตำแหน่งเท่าไหร่ และก็มีมาตรฐานให้อยู่แล้วว่า ให้วางในช่วงประมาณตำแหน่งไหนได้บ้าง ถึงจะให้เสียงดี แต่สำหรับซับวูฟเฟอร์ ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทีเดียว

ในบทความฉบับนี้จะพูดถึงพื้นฐานเรื่องความถี่ต่ำและ ซับวูฟเฟอร์ รวมถึง Tips เทคนิคต่างๆ ในการจัดวางซับวูฟเฟอร์ให้ เหมาะสมในห้องของเรา แต่คงไม่ลงไปลึกมากนัก เพราะเรื่องเหล่านี้ ผมเคยพูดอย่างละเอียดและเจาะลงไปในแนวลึกในบทความเล่มเก่าๆ มาหลายฉบับแล้ว ใครสนใจสามารถหาซื้อนิตยสารAUDIOPHILE/ VIDEOPHILE ฉบับย้อนหลัง หรือหาอ่านได้ใน Facebook Fan Page ของ Home Theater Pro Thailand, เว็บไซต์ของ thaidvd. net, htg2.net โดยจะมีเนื้อหาเล่มเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนไว้ในนิตยสาร AUDIOPHILE/VIDEOPHILE ตั้งแต่ฉบับแรก เมื่อร่วมสามปีก่อน

1 มาเริ่มจากพื้นฐานของตำแหน่งนั่งฟังกันก่อน ตำแหน่งนั่ง ฟังหลัก หรือ Money Seat ที่ฝรั่งเรียกกัน มันไม่ควรอยู่ตรง กึ่งกลางห้อง เพราะเมื่อเราดูจากรูป Room mode ของห้อง ทั้งมองจากด้านหน้า และมองจากด้านข้าง จะเห็นว่าเป็นตำแหน่ง ที่เป็น Peak และ Dip ของ Mode ต่างๆ มันทำให้การตอบสนอง ต่อความถี่ต่ำไม่สม่ำเสมอ บางความถี่ถูกเสริมให้ดังขึ้น บางความถี่ ถูกหักล้างให้เบาลงกว่าความถี่อื่นๆ แต่ถ้าสังเกตดีๆ เมื่อมองจาก มุมมองด้านข้างของห้องจะเห็นได้ว่ามีอยู่สองตำแหน่งที่เหมาะสม ตำแหน่งแรก คือประมาณ 3/5 ของความยาวของห้อง ส่วน ตำแหน่งที่สองจะอยู่หลังต่อ 3/4 ของความยาวของห้องเล็กน้อย สองตำแหน่งนี้จึงเป็นตำแหน่งยอดนิยม ถ้าเราต้องการทำที่นั่งฟังสองแถว แต่ถ้าเราต้องการแถวเดียวก็เลือก ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งก็ได้ เช่นเดียวกับซับวูฟเฟอร์ ตำแหน่งกลางห้องเลยก็คงไม่เหมาะสมนัก เหตุผล สำคัญไม่ได้เป็นเรื่องของ Mode แต่คงนึกภาพออก นะครับ ว่าคงไม่มีใครเอาลำโพงตัวใหญ่ๆ ดำๆ วาง ไว้โดดเด่นเป็นสง่าตรงกลางห้องเลย

2 เมื่อตำแหน่งนั่งติดผนังด้านใดด้านหนึ่งจะ ทำให้หูได้รับความดัน (Pressure) ของ เสียงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความถี่ต่ำด้วย แต่อาจจะเป็นความถี่ที่ไม่ราบเรียบเท่าไหร่

3 ในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ไม่ได้มีด้านกว้าง ยาว สูง ขนาดที่เท่ากัน หรือหารกันลงตัว มักทำให้เสียงความถี่ต่ำลงตัวได้ง่ายกว่า ห้องที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือมีด้านต่างๆ หารกันลงตัว เช่น 3 x 6 x 3, 4 x 8 x 4 แต่ไม่ต้องตกใจครับ ถ้าห้องของเรามีขนาดเป็นแบบที่ว่า มีหลายเทคนิค ที่จะช่วยให้ได้เสียงเบสที่มีคุณภาพได้ เช่น การใช้ เรื่องของซับวูฟเฟอร์หลายตัว, ตำแหน่งการวาง ซับวูฟเฟอร์ รวมถึงการใช้ Equalizer เพื่อปรับแต่งเสียง

4 เมื่อคุณเลื่อนซับวูฟเฟอร์ เข้าใกล้ผนัง มากขึ้น เสียงเบสที่ได้ยินก็จะมากขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มพลังงานของความถี่ต่ำจากผนังที่อยู่ติดกับซับวูฟเฟอร์ (Boundary gain)

5 ความถี่ต่ำจะมีพลังงานมากที่สุด ถ้าเลื่อน ซับวูฟเฟอร์ไปอยู่ที่มุมห้อง แต่ก็อาจจะ ทำให้ความสม่ำเสมอของความถี่ต่ำเสียไป (Flattest response)

6 การปรับตำแหน่งโซฟา หรือเก้าอี้นั่งฟัง ให้ห่างจากผนัง และ/ หรือ ตำแหน่ง ของซับวูฟเฟอร์ให้ห่างจากมุมห้อง ส่วน มากแล้วจะช่วยให้การตอบสนองต่อความถี่ที่ลึกๆ (Deep bass) มีความราบเรียบมากขึ้น รวมถึงส่งผล ต่อตำแหน่งนั่งฟังหลายๆ ตำแหน่งพร้อมกันภายใน ห้อง Home Theater ด้วย (Wide Sweet Spot)

7 ถ้าซีเรียสกับการ Set up เพื่อให้ได้ เสียงเบสดีที่สุด แนะนำให้ลงทุนเพิ่มกับ การใช้ซับวูฟเฟอร์แบบสองตัวเหมือนๆ กัน หรือมากกว่าสองตัว เพราะซับวูฟเฟอร์มากกว่าสองตัว ในห้องจะทำให้เสียงความถี่ต่ำที่ได้มีพลังมากขึ้น ความถี่ต่ำมีการตอบสนองที่ราบเรียบมากขึ้นกว่า การใช้ซับวูฟเฟอร์แค่เพียงตัวเดียว เนื่องจากมีทาง เลือกในการจัดการกับ Room mode ได้มากขึ้น

8 และถ้าต้องใช้ซับวูฟเฟอร์หลายๆ ตัว แนะนำให้ใช้ซับวูฟเฟอร์ที่เหมือนกัน (Identical) จะทำให้คุณสมบัติทางด้าน อะคูสติกส์ของมันเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความชันการลดลงของความถี่ที่ถูกตัด (Roll off), การตอบสนองในความถี่ต่างๆ, Level ที่ออกมาจาก ซับวูฟเฟอร์ ฯลฯ ทำให้ซับวูฟเฟอร์เหล่านี้ทำงาน ประสานกันได้ดีกว่าการใช้ซับวูฟเฟอร์แตกต่างกัน ที่บางทีการทำงานของตัวหนึ่งอาจจะไปขัดขวาง การทำงานของซับวูฟเฟอร์อีกตัวหนึ่งได้

9 ถ้าคุณสนใจเรื่องของความราบเรียบของ การตอบสนองต่อเสียงเบสในความถี่ต่างๆ มากกว่าปริมาณเสียงเบสที่ออกมา อย่านั่ง ชิดผนังด้านหลังหรือด้านข้างของห้อง พยายามนั่ง ให้ห่างจากผนัง โดยถ้าให้ดีให้ห่างออกมามากกว่า 1/4 ของความยาวของห้อง ถ้าเป็นไปได้

ที่รวบรวมมาเหล่านี้เป็นพื้นฐานของ ซับวูฟเฟอร์และความถี่ต่ำที่ผมเคยพูดถึงอย่าง ละเอียดในบทความเก่าๆ และเห็นว่าน่าสนใจ จึงนำมารวบรวมให้ได้อ่านกันอีกครั้งแบบย่อ

พูดถึงเรื่องการ Set up ฉบับนี้เลยจะพาไปดูผม Tuning ห้อง Home Theater ของพี่ๆ เพื่อนๆ ใน กลุ่มเดียวกันสักสองห้อง ห้องแรกเป็นห้องที่ใช้เพื่อ ดูหนังฟังเพลงด้วยกันทั้งสองอย่าง รูปร่างเป็นห้อง สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดของห้องอยู่ที่ 4.25 x 6.00 x 2.75 เมตร ลำโพงหลักและเซอร์ราวด์เป็น M&K S300 ทั้งชุด, Ceiling Channel ใช้ M&K Architec­tural In-Wall, ส่วนซับวูฟเฟอร์มีสองตัว ตัวหนึ่งเป็น M&K X12 และอีกตัว JL F113 Fathom ซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวถูกควบคุมโดย DSP ของ miniDSP2 x 4, ปรีโปรเซสเซอร์เป็น Anthem AVM60 ซึ่งสัญญาณ จาก 5 แชนเนลหลักจะนำไปขยายโดยเพาเวอร์แอมป์ ของ Plinius Odeon ส่วนแชนเนลที่เหลือได้แก่ Surround Back และ Ceiling Channel จะใช้ เพาเวอร์แอมป์ของ Anthem P5 และ P2, ต้นทาง เป็นเครื่องเล่นบลูเรย์ Pioneer LX-88 ด้านภาพ จากเครื่องเล่นสัญญาณภาพก็จะส่งผ่าน Scaler Lumagen 2020 เพื่อปรับแต่งภาพและสี แล้วส่งไป ยังเครื่องฉายโปรเจ็กเตอร์ JVC RS67 อีกที

ความจริงห้องนี้ได้รับการ Calibration โดย เพื่อนๆ กันมาหลายครั้ง แต่ก็ได้มีการปรับปรุงอุปกรณ์ เปลี่ยนแปลงตำแหน่งลำโพงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ซับวูฟเฟอร์ มาคราวนี้ก็ได้เปลี่ยนไปใช้เป็น ซับวูฟเฟอร์ 2 ตัว วางหน้าหลังทแยงมุมกัน

เมื่อผมมาถึงห้องก็ทำการฟัง และปิดในส่วนของ EQ ต่างๆ ก่อน เพื่อฟังว่าจริงๆ แล้ว เสียงที่ยังไม่ได้มี การปรับเป็นยังไง ในที่นี้จะเล่าเน้นไปที่เสียงเบสก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญสำหรับห้อง Home Theater จะ ได้เข้ากับเนื้อหาที่พูดถึงในฉบับนี้ด้วย แต่ในส่วนอื่นๆ ก็ทำการ Calibrate ไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ว่าจะ เป็นการปรับ Level, เช็ค Polarity ลำโพงทุกตัว, ใส่ Delay และ EQ ลำโพงแชนเนลต่างๆ ฯลฯ

พูดถึงเสียงความถี่ต่ำที่ได้ยินตอนแรกก่อนปรับ ก็มีเสียงบูมอยู่ในช่วงความถี่ต่ำประมาณ 30Hz ส่วน พอหลังจากความถี่ 50 เป็นต้นไป ก็หายไปเลย และ ยังให้ความรู้สึกว่าซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวยังทำงาน ประสานกันได้ไม่ดี อาจจะเนื่องมาจากซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวเป็นคนละแบบ คนละบริษัทกัน เมื่อฟังเสร็จ พอทราบปัญหาเบื้องต้นก็ย้ายซับวูฟเฟอร์ไปยังตำแหน่งต่างๆ เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในห้องนี้ โดยการวัดและก็ย้าย และก็วัด และก็ย้าย… อย่างที่ผมเขียนไว้ด้านบนแหละครับ ว่าสิ่งสำคัญของซับวูฟเฟอร์ที่อยู่ในห้อง Home Theater ก็คือ ตำแหน่ง ตำแหน่ง…. และก็ตำแหน่ง เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วก็ทำวัด Level ตรงหน้าซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวให้มีความแรงของเสียงเบสเท่ากัน

ถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมไม่วัดตรงตำแหน่งนั่งฟังหลักให้ซับวูฟเฟอร์มีระดับเสียงที่เท่ากัน วัดอย่างนี้ซับวูฟเฟอร์ตัวใกล้กว่าก็จะเสียงดังกว่าสิ? อันนี้ต้องอ้างไปถึงคำแนะนำของ Dr. Floyd Toole เจ้าพ่อด้านอะคูสติกส์ในห้องขนาดเล็ก (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Sound Reproduction) ที่เคยแนะนำไว้ว่า ในห้องขนาดเล็ก เมื่อเราใช้ซับวูฟเฟอร์หลายตัว สิ่งที่เราต้องการได้จากการใช้ซับวูฟเฟอร์หลายๆ ตัวก็คือ ให้พลังงานเสียงของแต่ละตัวทำงานประสานกันอย่างสมดุลเพื่อช่วยกันลด Standing wave หรือ Room mode ที่อยู่ภายในห้อง ทำให้เสียงเบสที่ได้มีความสม่ำเสมอ ดังนั้น พลังงาน หรือ Level ของเสียงที่ปล่อยออกจากซับวูฟเฟอร์แต่ละตัวควรต้องเท่ากันเพื่อให้ได้เกิดผลลัพธ์ได้ดีที่สุด แต่ถ้าเราไปลดความแรงของซับวูฟเฟอร์ เพราะกลัวว่าเสียงซับวูฟเฟอร์ที่อยู่ใกล้จะดังกว่าอีกตัวที่อยู่ไกล มันก็จะทำให้ประสิทธิภาพของซับวูฟเฟอร์ตัวหนึ่งลดลงไป ส่วนเรื่องเสียงที่คิดว่าตัวที่อยู่ใกล้จะดังกว่า และฟ้องตำแหน่งนั้น อย่าลืมว่า ถ้าเราตัดความถี่ Crossover ให้ต่ำกว่า 120Hz เสียงความถี่ที่ต่ำกว่าก็เป็นลักษณะ Omni directional หรือฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง ย่อมไม่สามารถบอกตำแหน่งที่มาของเสียง หรือฟ้องตำแหน่งได้ (นอกจากมีความผิดพลาดในเรื่อง Low pass filter ของการปรับ หรือของอุปกรณ์ต่างๆ)

และเนื่องจากซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญมากอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจาก Level และการ EQ แล้ว ก็คือเรื่องของ Delay time หรือ Phase ของเสียงที่มาไม่พร้อมกันของซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัว เพราะถึงแม้วางห่างในระยะเท่ากัน แต่จากที่ซับวูฟเฟอร์เป็นคนละแบบกัน ระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ภายในตัวลำโพงก็ไม่เหมือนกัน Latency ก็ไม่แน่ว่าจะเท่ากัน ดังนั้นต้องมีการ Align ซับวูฟเฟอร์เพื่อให้ซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวทำงานให้เสียงที่ออกมามี Phase และเวลาที่มาถึงตำแหน่งนั่งฟังเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุด

หลักการอย่างแรกเลยที่จะใส่ Delay เพื่อให้ Phase และ Time ของเสียงมีการ Align กันก็คือ เสียงจากลำโพงตัวไหนมาถึงก่อน เนื่องจากในความเป็นจริง เราสามารถ Delay ลำโพงตัวที่เสียงมาถึงก่อนให้เสียงมาถึงพร้อมกับลำโพงอีกตัวได้ แต่เราไม่สามารถ Delay ให้ลำโพงตัวที่เสียงมาถึงทีหลังให้มาพร้อมกับเสียงตัวที่มาถึงก่อนได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดตรงนี้ คือต้องรู้ว่าจะ Delay ลำโพงตัวไหน บางคนอาจคิดว่าจะไปยากอะไร ลำโพงตัวที่อยู่ใกล้กว่าเสียงก็มาถึงก่อนอยู่แล้ว… เดี๋ยวก่อน… อย่าลืมว่า ลำโพงที่กำลัง Tuning อยู่นี้เป็นคนละแบบกัน Latency ไม่รู้จะเท่ากันหรือเปล่า หรือข้างในฟิลเตอร์ที่ใส่เข้าไปในวงจร Low pass filter, High pass filter หรือ EQ ทำให้เกิด Phase shift ไปเท่าไหร่

อย่างที่บอกไว้ ถ้าเป็นลำโพงรุ่นเดียวกัน เหมือนกัน ก็อาจจะอาศัยการดูคร่าวๆ ได้ แต่ถ้าเจอแบบนี้ เพื่อความแน่นอนต้องวัดเอาครับ โดยผมใช้โปรแกรม Smaart เพื่อวัด Delay time และ Phase ของเสียง วิธีการดูว่าลำโพงตัวไหนเสียงมาถึงก่อนก็คือ การดูกราฟของ Phase ใน Transfer function เทียบกันเลย ถ้า Phase track ของลำโพงตัวไหนชันกว่า ก็แสดงว่าเสียงของลำโพงตัวนั้นมาถึงก่อน เราก็ใส่ Delay ให้กับลำโพงตัวนั้น ก็ค่อยๆ ใส่ Delay เข้าไปใน DSP ซึ่งในห้องนี้ใช้ DSP ของ miniDSP2x4 เป็นตัวคุมซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัว ใส่ค่า Delay time จนกระทั่งกราฟ Phase ของลำโพงทั้งสองมีความสัมพันธ์กันแบบ Parallel ส่วนการ Align ระหว่างซับวูฟเฟอร์ กับลำโพงหลักตรงบริเวณ Crossover point ก็ปรับ Delay จนกระทั่งลำโพงซับวูฟเฟอร์และลำโพงหลักมีความสัมพันธ์แบบ Serial ต่อกัน อย่างที่ผมเคยอธิบายไว้อย่างละเอียดในเรื่อง Understanding Phase เมื่อปีที่แล้วครับ และเมื่อปรับทุกอย่างตามขั้นตอนของ THX และ HAA แล้วลองฟังเสียง ก็ทำให้เสียงความถี่ต่ำมีความชัดมากขึ้น Impact คมแน่น ไม่เกิดอาการ Boomy เหมือนก่อนที่จะปรับ

เจ้าของห้องเน้นทั้งดูหนัง และฟังเพลง การ Tuning ห้องลักษณะนี้ ผมก็ต้อง คำนึงถึงตำแหน่งของลำโพง หลักซ้าย-ขวาที่ใช้เป็น ลำโพงฟังเพลงด้วย

เช่นเดียวกับห้องของเพื่อนอีกท่านหนึ่งที่ผม ไป Calibrate ให้ ห้องนี้เป็นเหมือนห้องฟังที่พบได้ มากในบ้านเรา ก็คือ เป็นห้องที่ใช้ดูหนังและฟังเพลง ในห้องเดียวกัน ใช้ลำโพงหน้าคู่เดียวกัน ร่วมกันทั้ง ดูหนังฟังเพลง อุปกรณ์ภายในห้องประกอบด้วย… ลำโพงหลักซ้ายขวา Wilson Sophia 3, ลำโพง เซ็นเตอร์เป็น Wilson Watch 3 เช่นเดียวกัน ส่วน ลำโพงเซอร์ราวด์และเซอร์ราวด์แบ็กเป็น Aerial SR3, ซับวูฟเฟอร์ใช้ของ JL รุ่น F113 Fathom 2 ตัว, โดยใช้ DSP ของ QSC DSP-30 เป็นตัวควบคุม ซับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัว, ปรีโปรเซสเซอร์เป็น Marantz AV8001 ส่งสัญญาณไปขยายที่เพาเวอร์แอปม์ Anthem P2 & P5, เครื่องเล่นต้นทางเป็น Oppo 105D, ส่วนระบบภาพ เครื่องโปรเจ็กเตอร์เป็น JVC DLA-RS57 ฉายลงไปบนจอ Stewart Firehawk G4

ทางด้านระบบ 2 แชนเนล เจ้าของห้องก็ ชื่นชอบการฟังเพลงไม่แพ้ดูหนังเช่นกัน คร่าวๆ ระบบ ก็จะเป็นเพาเวอร์แอมป์ Audio Research REF 210 Monoblock, ปรีแอมป์ Audio Research LS27, เครื่องเล่นแผ่นเสียง VPI Scoutmaster 2, ผ่าน ปรีโฟโน Audio Research PH-3, เครื่องเล่นดิจิทัล เป็น Weiss Man301, ระบบไฟ ProPower 1050 นี่ยังไม่ได้รวมสายเทพๆ อีกมากมาย จากอุปกรณ์ คงเห็นได้ว่า เจ้าของห้องเน้นทั้งดูหนังและฟังเพลง การ Tuning ห้องลักษณะนี้ ผมก็ต้องคำนึงถึง ตำแหน่งของลำโพงหลักซ้าย-ขวาที่ใช้เป็นลำโพงฟัง เพลงด้วย จึงพยายามยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งลำโพงหน้า ให้น้อยที่สุด ถ้าไม่จำเป็น รวมทั้งตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ ในห้องแบบนี้ ส่วนมากจะย้ายตำแหน่งได้น้อย เนื่องจากติดที่อุปกรณ์มีจำนวนมาก และอาจมีผลต่อ เสียง 2 แชนเนลด้วย ถ้าวางตำแหน่งไม่ดี บางทีก็ต้อง ประนีประนอมเลือกเอาตำแหน่งที่ไม่ทำให้สูญเสีย เสียงมากเกินไปทั้ง 2 แชนเนล และมัลติแชนเนล ดังนั้น อุปกรณ์พวก DSP เพื่อปรับแต่งซับวูฟเฟอร์ก็คงมี ความจำเป็นมากขึ้นในห้องลักษณะนี้ โดยในห้องนี้ก็ ใช้ QSC DSP-30 เพื่อควบคุม Delay time, EQ และ Filter ต่างๆ ให้ซับวูฟเฟอร์ทำงานประสานกันเอง รวมทั้งทำงานประสานร่วมกับลำโพงหลักได้ดีขึ้น

สำหรับห้องนี้ ผมเคยได้มาปรับครั้งหนึ่งแล้ว ต่อ มาเมื่อเจ้าของห้องได้เปลี่ยนลำโพงหลักและอุปกรณ์ บางตัวใหม่ เลยได้เข้ามาปรับอีกครั้ง สำหรับตำแหน่ง ลำโพงได้ใช้ตำแหน่งเดิมที่ปรับครั้งที่แล้วเป็นหลัก เปลี่ยนแปลงเฉพาะในส่วนของลำโพงใหม่ที่เพิ่ม เข้ามา และ DSP เมื่อทำการ Tuning ตามขั้นตอน เหมือนปกติ ก็ทำการปรับ Delay ของซับวูฟเฟอร์ ให้ ทั้ง Phase และ Time มัน Align กัน ดังที่ได้กล่าวไว้

ขอเสริมตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะเคยมีคนสงสัย ในเรื่องความสัมพันธ์ของ Phase และ Level ตรง จุด Crossover point ว่า… สมมติเราฟังๆ ไปแล้ว เรารู้สึกว่าความถี่ต่ำน้อย เราก็เลยปรับ Level ของ ซับวูฟเฟอร์ขึ้น เราต้องปรับ Delay ของซับวูฟเฟอร์ กับลำโพงหลักใหม่หรือเปล่า เพราะความสัมพันธ์ของ Phase ระหว่างซับวูฟเฟอร์กับลำโพงหลักเปลี่ยนไป ซึ่งในเรื่องนี้ Jamie Anderson เจ้าของโปรแกรม Smaart ได้ตอบไว้ในคลาสเรียน (เนื่องจากมี Sound Engineer สงสัยกันหลายคน) ตอนผมไปเทรนที่ สิงคโปร์ไว้ว่า ถ้าเราสามารถทำให้ความสัมพันธ์ของ ซับวูฟเฟอร์กับลำโพงหลักมีการ In phase และ In time แล้ว เมื่อเราปรับ Level ซับวูฟเฟอร์(ไม่มากเกินไป)ก็จะ ทำให้ยังมีการ In phase กันอยู่ แต่ถ้าเส้นกราฟ Phase ของ ซับฯ กับลำโพงหลักไม่ Align กัน แต่เท่ากันตรงเฉพาะจุด Cross­over เท่านั้น เมื่อเรามีการปรับ Level ของซับวูฟเฟอร์แค่เพียง นิดเดียว Phase มันก็ไม่ Align กันละ แบบนี้เขาเรียกว่า มัน In phase กัน แต่มัน ไม่ In time เสียงก็จะเสียไป เมื่อเราปรับ Level ของซับวูฟเฟอร์ ดังนั้น การให้ความสัมพันธ์ของ Phase กับ Time ในเรื่องอะคูสติกส์ของเสียงจึง เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ได้รับเสียงที่ดี มีความ เพี้ยนจากต้นฉบับน้อยที่สุด ซึ่งโดยส่วนตัวของ ผมเองก็จะให้ความสำคัญของ Phase trace มากกว่า RTA หรือ FFT

ห้องนี้ เมื่อปรับเสร็จแล้ว เสียงที่ได้ยินมี ความแตกต่างจากก่อนปรับอย่างเห็นได้ชัด เพราะ ก่อนที่จะปรับ ฟังๆ ดูเสียงความถี่ต่ำมีแต่ช่วงลึกๆ ช่วงกลางๆ หายไปเลย เวลาดูหนังความรู้สึกก็เหมือน ดูหนังแอ็กชั่นใน Jazz Club มากกว่า 555 เพราะ มีแต่ความถี่ที่ต่ำมากๆ ความถี่ที่ทำให้เกิด Impact หรือการสะดุ้ง ความตื่นเต้นค่อนข้างน้อย แต่เมื่อ ปรับแล้ว ความถี่ต่ำมากันครบ ทั้งที่ลึกมากๆ และ ในช่วงต้นที่เป็น Impact ของเสียง เสียงเบสที่ได้จึงมี พลัง เร็ว แน่น ลึก และไม่เพี้ยน ตาม Ideal ของเสียง ความถี่ต่ำที่ดีในห้อง Home Theater เลย เพื่อนๆ ที่ ไปร่วมสังเกตการณ์ในวันนั้นต่างก็รู้สึกได้เช่นเดียวกัน

ก็ต้องขอขอบคุณทั้ง พี่วิ และคุณปอ ที่ให้ผม และเพื่อนๆ ได้เข้าไปเยี่ยมชม Tuning system ที่สุดยอดในครั้งนี้ด้วย ยังไงขอมอบป้าย THX Plaque ที่เป็นลิขสิทธิ์แท้แทนคำขอบคุณ และ เป็นสัญลักษณ์ว่าเคยมีช่างจาก THX มาปรับใน ห้องนี้แล้วด้วย โอกาสหน้าหวังว่าคงมีโอกาสได้ เข้าไปเยี่ยมเยือน พูดคุย ดูหนังฟังเพลงกันอีกนะ ครับ. VDP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 241