MR.ENNO VANDERMEER Roon Labs เจาะลึกเรื่อง Roon และทิศทางของ Computer Audio กับ Enno Vandermeer
นักเขียน : คีตะกวี พันธุ์เพ็ง
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน งาน BAV HI-END SHOW 2017 ก็ผ่านไปเรียบร้อย กับประสบการณ์ฟังชุดเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์แบบจัดเต็ม งานนี้นับว่าเป็นงานเครื่องเสียงครั้งแรกในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ที่มีการเชิญ Mr. Stirling Trayle นักเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียงระดับพระกาฬที่เซ็ตซิสเต็ม Wilson WAMM ไปทั่วโลก กับชุด Ultra Hi-End แบบจัดเต็มทุกอย่าง ผมหวังว่าผู้ที่ได้ไปชมงานจะได้รับสาระและความบันเทิงอย่างเต็มที่ ทั้งในรูปแบบ analog และ digital นะครับ
ก่อนที่ผมจะเดินทางไปช่วยอำนวยความสะดวกให้ Mr. Stirling Trayle ช่วงที่กำลังติดตั้งซิสเต็มก่อนวันงานนั้น ผมได้มีโอกาสนัดคุยกับ Mr. Enno Vandermeer เจ้าของผลิตภัณฑ์ Sooloos ที่ตอนนี้รวมกับ Meridian ไปแล้ว และ Roon ที่เป็น Software platform ที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนี้ เราพูดคุยกันอยู่นานจนเย็นในหลายๆ หัวข้อ เกี่ยวกับ computer audio อยู่เกือบ 2 ชั่วโมงได้ ผมจะขอสรุปเนื้อหาเฉพาะช่วงที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านดังต่อไปนี้นะครับ
Roon 1.3 ที่กำลังคลอดออกมาจะมีอัพเดตอะไรน่าสนใจบ้างไหมครับ
Update นี้มี features ใหม่ๆ อยู่เยอะเลย บางส่วนก็เน้นไปทางเรื่องเสียงอย่างระบบ DSP บางส่วนก็พัฒนาให้ตอบโจทย์ทาง social มากขึ้น เช่น ระบบ share เพลง และก็มีพัฒนาด้านระบบจัดการและแก้ไขข้อมูลเพลงให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนจะแก้ไขได้บางส่วนใน Roon แต่ตอนนี้คุณสามารถแก้ไขข้อมูลเพลงทั้งหมดใน Roon ได้ เช่น ข้อมูล Composer ที่เขียนเพิ่มไปในเพลงหนึ่ง ระบบก็จะเพิ่มข้อมูลนี้ให้ทั้ง album เอง ซึ่งสะดวกขึ้นมาก
นอกจากนี้ เราก็ได้พัฒนาระบบให้สนับสนุนระบบ streaming ได้ดีขึ้นกับอุปกรณ์อย่าง Sonos ซึ่งลูกค้าบางคนมีชุดฟังเพลงระดับไฮเอ็นด์ในห้องหนึ่ง แล้วก็มีชุดเล็กๆ อย่าง Sonos ในอีกห้องหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ Roon ก็สามารถใช้ร่วมกับ Sonos ได้แล้ว ในส่วนของ multi-room เราได้เพิ่มความสามารถใหม่ๆ เข้าไปเยอะเหมือนกัน
ในส่วนของความสามารถใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามานั้น คุณสามารถสำรองฐานข้อมูลไว้ใน Dropbox และ NAS ซึ่งเมื่อก่อนฐานข้อมูลจะอยู่ในเครื่องเดียว แต่ตอนนี้คุณสามารถตั้งให้ระบบสำรองฐานข้อมูลอัตโนมัติได้แล้ว
พูดถึงเรื่องฐานข้อมูล คุณมีแผนในอนาคตที่จะทำระบบ cloud สำหรับ online database ด้วยหรือไม่ ทุกเครื่องจะสามารถใช้ online database จากที่ไหนก็ได้
นั่น! เป็นแผนที่เราตั้งใจจะทำในวันหนึ่ง (เหมือนจะถูกใจคำถามนี้) แต่ตอนนี้เรายังไม่พร้อมที่จะพัฒนาระบบนี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง ในตอนนี้ เรามีฐานข้อมูลภายในเพื่อสองเหตุผลหลัก หนึ่ง… คือ เรื่องประสิทธิภาพ และ สอง… คือ เรื่อง multi-room ใน Roon Core จะส่งเพลงจากฐานข้อมูลหลักไปยัง endpoint ในจุดต่างๆ ในเครือข่ายภายในสำหรับตอนนี้
ในอนาคต เราจะหาหนทางให้ Roon จากมือถือสามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลในบ้านตอนที่ออกไปข้างนอกได้ คุณสามารถ stream เพลง hi-res จากที่บ้านผ่าน internet มาฟังข้างนอกได้ เช่น ในรถ แต่ยังไม่ใช่ในตอนนี้ ผมหวังว่าจะเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในภายในปีนี้
นอกจากนี้ เรื่อง DSP จะมี features ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องเสียงมากมาย เช่น ระบบ Equalizer, Upsampling และก็ระบบ Crossfeed สำหรับ Headphone บางคนอาจจะไม่ได้ใช้ features เหล่านี้เลย แต่บางคนก็ต้องการ features เหล่านี้ (อย่างน้อยๆ ก็มีผมเองที่ต้องการ Crossfeed สำหรับหูฟัง) ซึ่งเราก็ได้เพิ่ม features เหล่านี้ให้ตามความต้องการของลูกค้า
ทาง Roon เองมีแผนจะพัฒนาสินค้าสำหรับผู้ใช้ทั่วไปกับ PC Audio อย่างไรบ้างครับ
จากที่ทางเราสำรวจมานั้น ผู้ใช้ computer audiophile ส่วนมากรู้สึกไม่สะดวกที่จะใช้ PC ในการฟังเพลง ในตลาดผู้ใช้ทั่วไปที่กว้างขึ้นไม่อยากยุ่งกับ PC เท่าไรนัก ในเบื้องต้นเราจะร่วมมือกับทางผู้พัฒนา server และผลิต boot image สำหรับเครื่อง Intel NUC ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปสามารถนำไปติดตั้งระบบ Server ด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น และผู้พัฒนาที่เป็นพันธมิตรสามารถติดตั้งระบบของ Linux หรือ RoonServer ได้ด้วยเช่นกัน
ถ้าผู้ใช้ทั่วไปสามารถทำเครื่อง Server เองได้ พวกเขาน่าจะสะดวกกับการใช้ PC อยู่แล้วรึเปล่า
บางคนก็สะดวกแหละนะ แต่บางคนก็ไม่หรอก กลุ่มผู้ใช้ DIY ส่วนมากสามารถ setup ระบบในส่วนลึกๆ ได้ในระดับหนึ่ง แต่บางคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ผมคิดว่าคนส่วนมากเลือกที่จะซื้อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปใช้มากกว่า ซึ่งพวกเขาไม่จำเป็นต้องไปยุ่งในส่วนการจัดการแต่อย่างใดนอกจากฟังเพลง แต่เราก็พบลูกค้าหลากหลายรูปแบบ บางกลุ่มที่ต้องการทำ server ด้วยตัวเอง เราก็ยินดีที่จะ support ในส่วนนั้น ส่วนคนที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ซื้อเป็น server หรือ player พร้อมใช้ไปเลย ก็เป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งไป
ฟังดูเหมือนตลาดต้องการสินค้าที่ใช้งานได้ง่าย มีคนสามารถดูแลระบบให้ได้แบบนั้นสินะครับ
ตรงนี้ผมเห็นด้วยนะ นั่นเป็นสิ่งที่คนส่วนมากต้องการ ผมคิดว่าผู้ใช้ที่มีความรู้พอที่จะจัดการระบบ computer เองได้นั้นมีไม่เยอะหรอก ลูกค้าส่วนมากต้องการสินค้าที่มีบริการและการดูแลที่ดี
ดูเหมือนคนกลางที่จะติดตั้งและดูแลระบบ Roon ให้กับลูกค้าในแต่ละประเทศเป็นสิ่งจำเป็นในการผลักดันให้ตลาดเติบโตขึ้นไปรึเปล่าครับ ใช่อย่างแน่นอนที่สุด เราได้ร่วมมือกับหลายบริษัท แต่พวกเขาทำแต่สินค้าระดับ hi-end server ขึ้นไปเพียงอย่างเดียวจนถึงตอนนี้ ผมคิดว่ายังมีตลาดอื่นๆ ที่ต้องการสินค้าเราอยู่ และคงจะดีถ้าสามารถป้อนสินค้าที่ราคาไม่สูงมากสักประมาณพันกว่าเหรียญได้ จะเป็นราคาที่เหมาะสมแก่ลูกค้าส่วนมากในตอนนี้
นอกจากนี้ ในกลุ่มลูกค้าที่เราได้สัมผัสมานั้น บางคนก็เป็นนักเล่นที่ใช้เครื่องเสียงระดับ audiophile หมดเลย แต่บางคนก็มีงบที่จำกัดอยู่ไม่กี่พันเหรียญ แต่ชอบฟังเพลง เราก็อยากจะทำสินค้าให้กับคนกลุ่มนั้นเหมือนกัน
ถ้าลูกค้าสามารถซื้อโปรแกรมราคา 500 เหรียญได้ เขาน่าจะมีกำลังซื้อเครื่องที่แพงกว่านั้นอยู่แล้วรึเปล่าครับ
มันก็จริงนะ เรื่องราคาสินค้าเป็นประเด็นที่ผมพูดอยู่เสมอ และก็มีคนถามถึงประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ บางคนก็บอกว่า โปรแกรมราคา 500 เหรียญนั้น แพงมากเกินไป และเหตุผลที่ผมบอกพวกเขาได้ก็คือ ราคานี้คือบริการตลอดชีพ พวกเขาจะได้ update ฟรี ได้ฐานข้อมูลเพลงและบริการตลอดการใช้งาน ถ้าหากเป็นสินค้าเครื่องเสียงกลุ่ม hardware จะมีใครให้ lifetime warranty บ้าง ไม่มีหรอก
ในเรื่องของความคุ้มค่านั้น ถ้ามองเรื่องราคา แน่นอนว่าเป็นราคาที่สูง แต่ผมพูดได้อย่างมั่นใจเลยว่าก็เป็นราคาที่คุ้มค่าเช่นกัน และมีลูกค้าของเราหลายคนเห็นด้วยในประเด็นนี้ เรื่องนี้อาจฟังดูตลกหน่อย แต่บางครั้งเราก็เจอกับลูกค้าที่บ่นว่า โปรแกรม Roon แพงเกินไป แต่เขาสามารถซื้อสายไฟหลายพันเหรียญได้ ซึ่งสำหรับผมถือว่าแพงมาก ประเด็นน่าจะอยู่ที่ลูกค้าให้มูลค่ากับตัวสินค้ามากน้อยแค่ไหนมากกว่า
ผมเองก็เพิ่งเจอเรื่องคล้ายๆ กับตัวอย่างนี้เหมือนกันครับ เกี่ยวกับเรื่อง power supply บางคนบอกว่า power supply หลักหมื่นนั้นแพงมาก แต่กลับซื้อสายไฟหลักแสนได้
ฮาๆๆ ใช่เลยล่ะ เป็นปัญหาที่คล้ายกันจริงๆ ในการพัฒนาสินค้า software ขายเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่เหมือนกันในตอนนี้ เพราะ iPhone ทำให้ลูกค้าคิดว่า software นั้นฟรีหมด app ก็ฟรี ทุกอย่างฟรีหมด ลูกค้าบางคนก็ถามเราเหมือนกันว่า iTunes มีให้ใช้ฟรีอยู่แล้ว ทำไมผมควรจะเสียเงินซื้อของคุณมาใช้ด้วย ซึ่ง iTunes ที่ว่าฟรีนั้น คุณซื้อ notebook ราคา 4 พันเหรียญ หรือมือถือราคาพันเหรียญเพื่อจะใช้ iTunes ฟรี นั่นคือนโยบายของ Apple ที่จะขายสินค้าที่มาพร้อมกับ iTunes นั่นคือ feature ของสินค้าเขา
เราผลิต software product เราก็ต้องเก็บค่าบริการของ software เรา ซึ่งลูกค้าบางคนก็เข้าใจเรา เช่น กลุ่มที่ใช้ Adobe Creative Suite หรือ Microsoft Office 365 ซึ่งตอนนี้เขาก็จ่ายค่าบริการแบบเป็นรายเดือนแทน จึงเข้าใจเรื่องโครงสร้างราคาของเราดี จึงรู้สึกสบายใจที่จะใช้บริการ subscription ต่อไป
แต่ช่วงนี้เราก็เห็นผู้ใช้ Roon upgrade ไป license ตลอดชีพกันมากขึ้น ตอนแรกพวกเขาก็ซื้อ license 1 ปี แต่พอใช้ไปสักพักก็ตัดสินใจที่จะอัพเกรดไป license ตลอดชีพแทน เราก็จะแปลงเวลาที่เหลือใน subscription เป็น credit ในส่วนต่างสำหรับ upgrade ไป lifetime license ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นลูกค้าทดลองใช้สินค้าจนพอใจที่จะเลือกใช้งาน Roon ต่อไปตลอดในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเรา
ช่วงนี้ ผมก็กับ Mr. Enno ก็คุยกันเรื่องบริการของ Roon ในไทย ที่มีบริษัท Deco 2000 เป็นตัวแทนจำหน่ายและดูแล Roon อยู่ ถ้าลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์ Roon ก็สามารถมาซื้อผ่านตัวแทนในไทยได้ ที่ร้านจะมีทีมช่างที่ช่วยดำเนินการติดตั้งและดูแลระบบ digital audio ให้ถึงที่ให้ Roon สามารถใช้งานร่วมกับกับสินค้าที่ซื้อไปใช้ในบ้านได้
หากลูกค้าต้องการเครื่องสำเร็จรูปที่มีระบบ Roon อยู่แล้ว ทางร้านก็มีเครื่องสำเร็จรูปที่ติดตั้ง Roon ไว้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าถึงบ้าน ทีมงานจะช่วยดูแลระบบการติดตั้งให้ลูกค้าสามารถใช้ Roon ได้ด้วยความราบรื่นหรือถ้าลูกค้ามีข้อเสนอแนะ หรือต้องการอะไรเพิ่มเติม ทางร้านก็จะแจ้งผู้พัฒนาให้ปรับปรุงสินค้าตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าถึง Roon ได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องยุ่งกับ PC เลย
การซื้อสินค้าพร้อมบริการที่ดูแลการใช้งานหลังการขายจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะนอกจากคุณภาพของสินค้าและการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งแล้ว ยังมีความสามารถอื่นๆ ในระบบที่เขาจะช่วยดูแลให้เราในเรื่องอื่นๆ ที่เราทำเองไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น บางบ้านที่ไม่มีสัญญาณ Wireless Router เพราะภรรยาแพ้สัญญาณ WiFi จะมีใครบ้างที่สามารถทำให้ใช้งาน Roon กับมือถือได้ ในเงื่อนไขนี้ ถ้าไม่มีผู้ชำนาญการมาช่วยดูแลให้ ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว
คุณคิดยังไงกับกรณีผู้ประกอบ computer audio ในประเทศต่างๆ
จากที่เราพบเจอมา ส่วนมากผู้นำเข้าหรือผู้ติดตั้งจะไม่นำเข้าสินค้าเข้ามาประกอบเองนะ เพราะมันดูไม่คุ้มเลยที่จะนำเข้าสินค้าเข้ามาเยอะๆ ไว้ประกอบให้ลูกค้า ในตลาดส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเองมากกว่าที่สั่งซื้อของมาประกอบเองตามความต้องการของเขา เช่น fanless case เป็นต้น
แล้วคุณคิดยังไงกับราคาขายต่อครับ เพราะคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
จริงเหรอครับ โอ้ ช่างเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันนะ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเคยทำ hardware product กับทีมชื่อ Sooloos ปัญหาที่เราเจอคือ ในตลาดเครื่องเสียงมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก อย่างมากก็มี DAC chip ตัวใหม่ออกมาบ้างทุก 2 – 3 ปี แต่พวก parts หลักๆ ของเครื่องเสียงก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แต่กับ computer product นั้น มี hardware ที่เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 5 ปี โปรแกรมมีความต้องการมากขึ้นตามเวลา และมีความเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ดังนั้น การขาย hardware product มือสองจึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูง ผมรู้ว่ายังมีคนที่ต้องการ Sooloos มือสองอยู่ แต่ผมคิดว่า platform มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก และไวมาก ดังนั้น software ต้องสามารถปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ด้วย ตรงนี้จะทำได้ยาก ไม่เหมือนกับ amplifier ที่อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ชัดเจนนักในช่วง 10 – 20 ปีนี้
เพราะแบบนี้รึเปล่าครับ ที่ทำให้สินค้า digital audio ร่วงลงเร็วมากจนคนไม่กล้าลงทุนรุ่นใหญ่ๆ
มันเป็นความเสี่ยงที่เป็นเรื่องจริง เวลาคนซื้อของที่มูลค่าสูง เขาก็อยากได้อะไรที่ดูมีมูลค่าอยู่ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับผมเองเหมือนกัน เวลาที่ผมซื้อเครื่องเสียงราคาสูง ผมก็อยากได้อะไรที่ดูมีมูลค่า ไม่ใช่เพราะผมตั้งใจจะขายในเวลาต่อมานะ แต่ผมก็อยากได้อะไรที่ใช้งานได้ดีไปยาวๆ สำหรับผมจะซื้อของที่ชอบแล้วก็จบนะ แต่บางตลาดก็หินอยู่เหมือนกัน
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ว่าจะแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง ใน forum เราเองก็เจอปัญหาบ่นเรื่องราคาสินค้าแพงไปอยู่เหมือนกัน และมีผู้ใช้คนหนึ่งถามว่า คุณเคยดื่มกาแฟ Starbucks ไหม ถ้าคุณดื่มกาแฟแก้วละอาทิตย์จะเปลืองกว่าซื้อ Roon อีก กับบางเรื่องบางทีคนเราก็ใช้เงินแบบไม่มีเหตุผลเท่าไหร่นักหรอก อาจจะเป็นเรื่องกาแฟบ้าง เครื่องเสียงบ้าง เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวงการ
แล้วมีแผนจะทำรุ่นที่ลูกค้าสามารถซื้อได้มากขึ้นบ้างไหมครับ อาจจะทำรุ่นที่ไม่มี function อะไรมากก็ได้
จริงๆ ก็เคยคิดอยู่เหมือนกันนะ เวลาที่เจอปัญหากับลูกค้าที่มีความต้องการต่างกันไป เรายังไม่มีแผนจะทำในตอนนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงอยู่ ถ้าเราทำ product 2 รุ่น 2 ราคา น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ประเด็นที่เรายังคิดกันอยู่ก็คือ features ไหนที่จะยังอยู่ในรุ่นเล็ก ซึ่ง features สำหรับ audiophile อย่าง DSP และ MQA ควรอยู่ในรุ่นใหญ่ ในตอนนี้เราก็เริ่มทำรุ่นพิเศษสำหรับ partners บางกลุ่มบ้างแล้ว
พูดถึง MQA ใน Roon 1.3 ยังไม่มี MQA ออกมาเลยนี่ครับ
เราตัดสินใจว่าจะคลอดรุ่นที่สนับสนุน MQA หลังจากรุ่น 1.3 แทนอีกสักพัก เราได้ขอให้ MQA team ได้ช่วยทำอะไรสักอย่างให้เราเพิ่มเติม เพราะเรามีระบบ multi-room ด้วย ซึ่งในบางห้องที่ใช้สินค้า Roon Ready แต่ไม่ support MQA จะจัดการอย่างไร ผมพอเข้าใจว่า หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม Roon ที่ใกล้ชิดกับ Meridian มากกว่า ทำไมถึงไม่คลอด MQA ออกมาไวๆ เหมือน Tidal กับ Audirvana แต่เพราะความซับซ้อนของระบบ เราจึงใช้เวลามากกว่า
นอกจากเรื่อง multi-room แล้ว อย่างตอนนี้เรามี feature DSP เพิ่มเข้ามาใน Roon update 1.3 ตรงนี้จะทำยังไงกับไฟล์ MQA ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาอยู่พอสมควร แต่ถ้าคุณเล่น Tidal ผ่าน Roon กับเครื่องที่สนับสนุน MQA ได้ตรงๆ ระบบ Roon ก็จะส่ง MQA แบบ passthrough ไปที่ DAC ให้ decode ตรงๆ ได้ ลูกค้า Roon สามารถเล่นไฟล์ MQA ผ่าน Tidal ตรงๆ ได้อยู่ แต่ระบบ software decoding ยังพัฒนาอยู่ในตอนนี้
ตอนนี้ส่วนที่เรากำลังพัฒนาอยู่คือ จะทำยังไงให้ Roon รองรับกับเครื่องที่มีระบบ MQA ทั้งตลาดได้โดยไม่มีปัญหา เพราะระบบ MQA จะมี decoding อยู่ 2 layer คือ ส่วน software กับ hardware ซึ่งบางเครื่องก็มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากที่เราเคยเจอ เราจึงเลือกที่จะทำให้ Roon เล่น MQA ได้เสถียรหมดก่อน แล้วค่อยปล่อย update ออกมา (ตรงนี้ผมเห็นด้วยนะครับ เพราะผมเคยเห็น Audirvana เล่น MQA แล้วมีปัญหากับ DAC บางตัว)
ตอนนี้ผู้คนคาดเดากันอยู่ว่า MQA ทำงานอย่างไร เพราะไม่มีข้อมูลอธิบาย MQA อย่างเป็นรูปธรรมออกมา
(ถอนหายใจ…) เรื่องนี้ผมก็พูดยากอยู่เหมือนกันนะ เพราะไม่แน่ใจว่ามีเรื่องใดที่พอจะเปิดเผยได้บ้าง แต่ผมมั่นใจว่า เขาเคยปล่อย technical paper ออกมาให้อ่านเหมือนกันนะ น่าจะ AES paper แต่ผมคิดว่าเนื้อหาน่าจะเฉพาะทางเกินกว่าที่คนทั่วไปจะทำความเข้าใจได้ สำหรับผมเป็นตลาดที่มีความท้าทายสูงมากเลยล่ะที่จะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ ที่ผ่านมาในวงการพยายามอธิบายลูกค้าเฉพาะ sampling rate กับ bit-depth ซึ่ง MQA ใช้มาตรฐานที่แตกต่างไปจากเดิม เราตั้งมาตรฐานที่ดีที่สุดไว้ และพยายามที่จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมคิดว่าเป็นสารที่คนทั่วไปน่าจะเข้าใจได้ ก็ยังมีคนถามอยู่ว่า MQA จะรองรับ sampling rate 384kHz ไหม
เพราะเขากลัวว่าลูกค้าจะเข้าใจคุณสมบัติของ MQA ผิดพลาดหรือเปล่าถึงเลือกที่จะเงียบไว้
ผมคิดว่า เขาไม่ค่อยห่วงเรื่องที่คนจะเข้าใจ MQA ผิดเท่าไหร่นะ เขาต้องการที่จะให้การสื่อสารนั้นเรียบง่ายที่สุด ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะคนที่จะเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีจริงๆ นั้นมีน้อยคนที่จะเข้าใจ ถ้าหากคุณไปขอให้ลูกค้าอธิบายว่า ระบบ Ladder DAC ทำงานอย่างไร คุณคงไม่ได้คำตอบที่ดีเท่าไรนักจากลูกค้า
ผมชอบไอเดียของสารที่เรียบง่าย และชอบลูกค้าที่ตัดสินใจจากการฟังมากกว่าอ้างอิงจากข้อมูลทางเทคนิค แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในตอนนี้ เพราะร้านเครื่องเสียงลดลงไปมาก เมื่อสมัยผมยังเด็ก ผมจะเดินไปร้านไหนก็ได้ในสหรัฐฯ เพื่อฟังชุดเครื่องเสียงสเตริโอ แต่ตอนนี้กลับไม่มีอีกต่อไปแล้ว แล้วลูกค้าจะแยกความแตกต่างได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ยิ่งคนทุกวันนี้ฟังเพลงจากมือถือเป็นหลัก คุณจะสาธิตให้เขาฟังได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามมาก
เรื่องที่ผมคุยกับ Mr. Enno จริงๆ ยังเขียนไม่ถึงครึ่งที่เราคุยกันเลยครับ แต่ผมก็พยายามเลือกในส่วนเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่สุดมาแล้ว ในยุคสมัยที่เราเข้าถึง content ได้ง่ายขึ้น ความละเมียดละไมในการใส่ใจรายละเอียดต่างๆ อาจถูกลดทอนทอนลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่ผมเชื่อว่ายังมีคนที่ใส่ใจกับคุณค่า และพร้อมจะสนับสนุนผลงานที่ตั้งใจทำอยู่ ผมถือคติว่า การเชื่อในสิ่งที่ฟังยังคงใช้ได้ในทุกยุคสมัย แม้แต่ในยุคที่เราฟังเพลงจาก Cloud ก็ตามครับ. ADP
No Comments