บทสัมภาษณ์ MR. PAUL HUANG WW Marketing & Sales Director ENIGMA coustics
วิศัลย์ เอกธรรมกุล
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณวัฒนา ประเสริฐณะสังข์ ผู้บริหารของ Tombo Audio ได้สิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายลำโพง Enigma ลำโพงสัญชาติเอเชียที่บุกไปกวาดรางวัลจากยุโรปและอเมริกามานับไม่ถ้วน ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จึงเป็นโอกาสดีที่ผมได้แลกเปลี่ยนทัศนะหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับลำโพง ENIGMA M1 กับ Mr. Paul Huang; WW Marketing and Sales Director, ENIGMA coustics เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่ WJ จะมีโอกาสได้ทดสอบตัวเป็นๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี
Audiophile: สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับสู่ประเทศไทย
Mr. Paul Huang: สวัสดีเช่นกัน ผมติดตามงานเขียนของคุณด้วย ผมชอบมากครับ
Audiophile: เหรอครับ ไม่ทราบมาก่อนว่าคุณอ่านภาษาไทยได้
Mr. Paul Huang: Google translate กับรูปถ่ายบรรยายภาพก็ไปได้แล้วครับ
Audiophile: ยินดีครับ ผมอยากทราบความเป็นมาของ ENIGMA หน่อยครับ เท่าที่ทราบ เป็นลำโพงที่เน้น Super tweeter มากเป็นพิเศษ
Mr. Paul Huang: Super tweeter ของเราคือ Sopranino super tweeter เปิดตัวราวปี 2014 ที่งาน มิวนิค ไฮเอ็นด์ โชว์ สิ่งที่พิเศษคือ มันเป็น super tweeter แบบ Electrostatic ที่มีพื้นที่ของโดมมากกว่าทวีตเตอร์มาตรฐานขนาด 1” ราวๆ 30 เท่า ข้อได้เปรียบของทวีตเตอร์แบบนี้คือ ความเฉื่อยในการทำงานแทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับการทำงานของทวีตเตอร์ไดนามิกส์ทั่วไป ท่านคงจะทราบว่า Electrostatic ให้เสียงกลาง/สูงที่น่าหลงใหลได้ขนาดไหน
Audiophile: ผมคิดว่า นอกเหนือไปจากความเฉื่อยและความเพี้ยนต่ำของ Electrostatic แล้ว ข้อที่ได้เปรียบคือ มันยังมีคุณสมบัติการกระจายเสียงไปด้านหลังด้วย (ไบโพล่าร์) ซึ่งในลำโพงไดนามิกส์รุ่นใหญ่ๆ จะติดตั้งทวีตเตอร์ด้านหลังตู้เพื่อเป็นการเพิ่มบรรยากาศของฮาร์มอนิกส์ในการฟังด้วยหลักการเดียวกัน
Mr. Paul Huang: ถูกต้องครับ ที่จริงแล้ว เราอยากจะเรียก Sopranino ว่า ARD (Ambient Restoration Device) มากกว่า Super tweeter
Audiophile: ช่วยขยายความหน่อยครับ
Mr. Paul Huang: คุณคงจะทราบว่า แม้แต่เสียงจากความถี่ต่ำในความถี่กำเนิด หรือ Fundamental Frequency จะเกิดความถี่ในลำดับถัดไป หรือที่เรียกว่า Harmonics Frequency ที่จะเกิดขึ้นเป็นอัตราคูณสองเสมอ จนกระทั่งพลังงานในรูปแบบของคลื่นเสียงหรือคลื่นความถี่ที่อัดอากาศเจือจางหายไป ความถี่ Harmonic นี่เองที่ทำให้เรารับรู้ถึงความสมจริงของเสียงที่เราได้ยิน ซึ่งนอกจากจะมีเสียงหลักแล้วก็จะมีบรรยากาศของเสียงนั้นๆ ในรูปของ Harmonic ตามมาด้วยเป็นธรรมชาติ Sopranino สามารถทำงานร่วมกับลำโพง M1 โดยรับความถี่ที่ต่อเนื่องจากไดรเวอร์ Midrange ตั้งแต่ความถี่ 10kHz จนถึง 50kHz แบบไร้รอยต่อ ส่วน Midrange ทำงานที่ความถี่ต่ำลงไปที่ระดับ 1,000Hz (1k) ดังนั้น ถ้ามิดเรนจ์เราทำงานตั้งแต่ 1kHz ฮาร์มอนิกส์ระดับถัดไปคือ 2, 4, 8, 16, 32 kHz ขึ้นไปแล้ว Sopranino สามารถมาเติมเต็มความถี่ฮาร์มอนิกส์ในช่วงที่ทวีตเตอร์เริ่มจะมีขีดจำกัดตั้งแต่ 10kHz จนพลังงานสลายไปได้ ก็เท่ากับว่าเสียงกลางหรือเสียงร้อง ก็จะสมบูรณ์และสมจริงมากที่สุดครับ เราจึงเรียกมันว่า Ambient Restoration Device นั่นเอง Audiophile: ข้อจำกัดแต่เดิมของไดรเวอร์ Electrostatic คือ การที่ต้องป้อนไฟเลี้ยง และยากที่จะกลืนกับเบสไดรเวอร์ที่เป็นไดนามิก ไหนจะปัญหาเรื่องฝุ่นที่สามารถทำให้แผ่นฟิล์มเสียหายได้ เรื่องเสียงดีคงไม่มีใครสงสัยอยู่แล้ว
Mr. Paul Huang: Sopranino ใช้ไฟกระแสสลับจากสายลำโพง (หรือสัญญาณไฟฟ้าจากแอมป์ที่ส่งผ่านสายลำโพง) ในการไบอัสให้แผง Electrostatic ทำงาน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายใดๆ เลยครับ ใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า Breakthrough เทคโนโลยีในการออกแบบและผลิต มันสามารถปรับความถี่และเกนได้ด้วย (ในย่านที่กำหนด) เพื่อให้เหมาะกับสภาพการเซ็ตอัพและลำโพงที่ใช้ร่วม คุณสามารถขยับมันบนตู้ลำโพงก็ยังได้ เราใช้สายจั๊มเปอร์ของ Cardas ต่อจากขั้วลำโพงด้านหลังขึ้นไปที่ Sopranino เท่านั้นเองก็ใช้งานได้แล้ว มันต้องง่ายครับ
Audiophile: สงสัยว่าเทคโนโลยีซูเปอร์อินดัคทีฟคอนดักเตอร์ของคุณนี่มันสุดยอดมาก
Mr. Paul Huang: ใช่ครับ ผู้ออกแบบ Wei Chang อยู่ในอุตสาหกรรมออกแบบชิพประมวลผลและอัลกอริธึ่มให้กับเครื่องเสียงและผู้ผลิต CPU มากมาย เลยเอาโนว์ฮาวนี้มาทำลำโพง เพราะเขาเป็นคนชอบฟังเพลงมาก
Audiophile: ทำไมต้องแยกไดรเวอร์ออกมาแแล้วทำแท่นเป็นกระจก/housing
Mr.Paul Huang: กระจกที่ว่าเป็นคริสตัลจากเยอรมนีที่ทำได้ยากและราคาสูงครับ เราคิดว่า Sopranino สามารถใช้กับลำโพงทุกรุ่น (มากกว่า 90%) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย จากความยืดหยุ่นในการเซ็ตอัพ ทั้งการจัดวางและเกนที่ปรับตั้งได้จากยูนิตของมัน ในขณะเดียวกัน เราต้องการความหรูหราทรงคุณค่าเพื่อบ่งบอกความพิเศษของมัน การที่เราใช้คริสตัลจากเยอรมนี เนื่องจากมันไม่มีผลกระทบกับเสียง และก็ให้ความสวยงามอย่างที่เราอยากจะให้เป็น ลำโพงที่โชว์ในงานนี้เป็นลำโพงส่วนตัวของผมเอง และเป็น Sopranino คู่สุดท้ายที่ใช้คริสตัลมาทำ housing รุ่นต่อไปจะเป็นอะลูมินั่มเกรดสูงมาแทน เนื่องจากการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ดีกว่ามาก และก็ไม่กระทบกับเสียงด้วยครับ
Audiophile: ว้าว เห็นแล้ว อยากจะถอยสักคู่
Mr. Paul Huang: สำหรับลำโพงคู่นี้ คุณเอาไปฟังได้นานเท่าที่คุณอยากจะฟังเลยครับ เพราะเป็นของส่วนตัวของผมเอง
Audiophile: ขอบคุณมากครับ แล้วลำโพง M1 มีความพิเศษตรงไหนครับ
Mr. Paul Huang: เราออกแบบและสั่งทำไดรเวอร์และตู้ด้วยสเปกของเราเองครับ คุณจะไม่พบไดรเวอร์ของเราไปคล้ายกับ OEM ที่ไหนๆ เลย ไดรเวอร์เบสของเราขนาด 7” กรวย Polypropylene ใช้แม่เหล็กขนาด 6.5” แม็ตช์แพร์ทุกคู่ ไดรเวอร์ทวีตเตอร์โดมผ้าไหมของเราขนาด 1.3” ตัดความถี่ต่ำที่สโลปออร์เดอร์ที่สอง ไฮพาสที่ออเดอร์ที่สาม ให้ความต่อเนื่องที่ดีมาก ตัวตู้เราใช้วัสดุสามชนิด ได้แก่… อะลูมินั่ม, กระจกเทปเปอร์ และไม้อัด เพื่อความแข็งแรงและแดมป์ ช่วยจูนเสียงและทำให้ลำโพงมีความหรูหราสวยงาม เรามีขาตั้งลำโพงที่เข้าเซ็ตมาใช้งานด้วย เพราะคงไม่มีใครทำขาตั้งที่จะสวยงามเข้าชุดกับลำโพงของเรา มันดูไฮคลาสมากครับ
Audiophile: วันนี้เสียงแตกต่างจากการฟังที่โชว์รูมมาก เบสและเสียงกลางให้ไดนามิกและบาลานซ์ดีมาก ซาวด์สเตจก็ดูจะโปร่งและโอ่โถงเช่นกัน ผมคงจะใช้เวลาในการเซ็ตอัพในห้องฟังพอสมควรทีเดียว
Mr. Paul Huang: ใช่ครับ นั่นเป็นอิทธิพลจากการเติมเต็มของเฟสและฮาร์มอนิกส์ที่ขาดหายไปของไดนามิกไดรเวอร์ด้วย Sopranino
Audiophile: มีอะไรที่อยากจะฝากไปถึงท่านผู้อ่านครับ
Mr. Paul Huang: เรายินดีมากที่สินค้าของ Enigma จะได้มีโอกาสได้เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักให้กับนักเล่นเครื่องเสียงชาวไทย ผมค่อนข้างประหลาดใจที่นักเล่นเครื่องเสียงชาวไทยจริงจังกับการเล่นเครื่องเสียงมากกว่าที่ผมคิด ผมเชื่อว่า Enigma M system น่าจะเป็นตัวเลือกตัวแรกๆ ของนักเล่นชาวไทย เมื่อคุณได้ลองฟังและเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผมคิดว่า มันง่ายต่อการเข้าถึง ทั้งคุณภาพเสียง คุณภาพสินค้าที่งดงามประณีต และราคาที่สมเหตุผล
Audiophile: ขอบคุณเช่นกันครับ สงสัย Sopranino คู่นี้คงจะได้ไปอยู่บ้านผมแล้วล่ะ สวัสดีครับ
Mr. Paul Huang: ยินดีครับ แล้วพบกันใหม่ ขอบคุณและสวัสดีครับ
เป็นไงบ้างครับ กับลำโพงจากเอเชียที่มีการออกแบบที่โดดเด่นและคุณภาพเสียงที่ทางฝรั่งจากค่ายมะกันถึงกับยกย่องว่า ให้เพอร์ฟอร์มานซ์พอๆ กับลำโพง M ที่ผมเคยใช้ แต่จ่ายในราคาไม่ถึงครึ่ง!!! รอติดตามกันครับ กับ WJ ในบททดสอบ ENIGMA Mythology M1 system จนกว่าจะถึงวันนั้น สวัสดีครับ. ADP
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 266
No Comments