VITUS AUDIO SIGNATURE LINE STAGE SL-102 STEREO AMPLIFIER SS-102
นักเขียน : วิศัลย์ เอกธรรมกุล :
ยินดีต้อนรับสู่ WJWJ 102 ครับ
ก่อนอื่น ผมคงต้องกล่าวแสดงความยินดีเรื่องภารกิจกอบกู้ชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ที่สำเร็จลงได้อย่างน่าชื่นชม และได้รับการยกย่องให้เป็นวาระแห่งการแสดงออกถึงความรักของมนุษยชาติ ชนิดที่ฟุตบอลโลก 2018 ยังไม่ลุ้นขนาดนี้เลย แน่นอน… ภารกิจครั้งนี้มีการสูญเสียของวีรบรุษ นิคเนมจ่าแซม (ฮูย่า ล่าสุด รับพระราชทานเลื่อนชั้นยศเป็น นาวาตรี ครับ) ซึ่งผมขอใช้พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ สดุดีท่าน จากความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ในระดับสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะกระทำได้ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เลย ขอจงสู่สุคติภพครับ
เรื่องต่อมาก็เป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกัน แต่เป็นวงการเล็กๆ ใกล้ตัว นั่นคือ Starpics Resurrection หรือการฟื้นคืนชีพของนิตยสารสตาร์พิค ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทีมงานผู้จัดทำนิตยสารรายเดือนเล่มนี้เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่สาระบันเทิงต่อไปนานๆ ครับ จะเรียกว่าเป็นไอดอลของสิ่งพิมพ์ก็น่าจะได้นะ
WJWJ 102 ฉบับนี้ ผมได้ทำการรีวิว ปรี/เพาเวอร์แอมป์สเตริโอจากค่าย Vitus Audio ที่ใช้ร่วมกับลำโพง Focal Scala Utopia Evo โดยเฉพาะลำโพงแกะกล่องตัวนี้ น่าจะเป็นควันหลงตามมาจาก WJ101 ที่ได้ทดสอบร่วมกับแอมป์โมโนบล็อก Chord กันไปแล้ว เชื่อหรือไม่ว่า เจ้าปรี/เพาเวอร์แอมป์จากค่าย Vitus Audio นี่ ผมเฝ้าติดตามมาเป็นระยะเวลาถึงสองปี กว่าที่จะสบโอกาสได้นำมาทดสอบในครั้งนี้ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมลูกค้าหยิบยืม Vitus Audio ไปฟังก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสยกเครื่องกลับโชว์รูม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็เชิญเสพอักษรได้ต่อจากนี้
Vitus Audio: Signature Line Stage SL-102 + Stero Amplifier SS-102
เจ้าของคือ นาย Hans Ole Vitus เพิ่งจะทำแอมป์ Vitus ตัวแรกออกวางตลาดเมื่อปี 2003 นี่เอง แล้วก็กวาด รางวัลไปทั่วโลก แอมป์ที่ว่าใช้เวลาพัฒนากัน 8 ปี กว่าจะ ได้วางจำหน่าย หลังจากตั้งบริษัทเมื่อปี 1995 อันว่า Vitus Audio นั้น เป็นเจ้าแรกๆ หรือรถไฟขบวนแรกๆ ของวงการ ที่ประกาศตัวว่าเป็น Ultra-Hi End ซึ่งจัดว่ากล้าหาญ ชาญชัยจริงๆ
นอกเหนือไปจากราคาที่อยู่ในทำเนียบไม่ธรรมดาแล้ว ยังบ่งบอกถึงต้นกำเนิดว่า เครื่องเสียงจากประเทศ เดนมาร์ก ซึ่งจัดว่าอยู่ในทวีปยุโรปก็ผลิตเครื่องเสียงใน ระดับ Ultimate Hi End โดยไม่ยี่หระกับฝั่งอเมริกันเลย ยังงี้สิ เขาเรียก Trade War อย่างสมบูรณ์แบบ1
Vitus Audio แบ่งไลน์ของเครื่องเสียงออกมาหลาย ไลน์ ว่ากันตั้งแต่ Reference, Signature, Masterpieces และ Design Studio เรียงลำดับจากรุ่นเริ่มต้นไปยังรุ่น สูงสุด ในตอนนี้เราอยู่กับรุ่น Signature ครับ (ยังขนาด นี้)
เนื่องจากรายละเอียดทางเทคนิคนั้น WJ ไม่ได้มีข้อมูล ในเชิงลึกมากนัก พอจะสรุปฟีเจอร์การออกแบบของ Vitus Audio ที่เด่นๆ เท่าที่พอจะหามาได้เล่าให้ฟังกันคร่าวๆ อาทิ หม้อแปลงที่ใช้เป็นแบบ U-I Core แทนการใช้ หม้อแปลงแบบทอรอยดัล โดยอ้างถึงข้อได้เปรียบว่ามีการ แผ่คลื่นรบกวนที่ต่ำกว่า การสูญเสียพลังงานน้อยกว่า จ่ายกระแสได้นิ่งกว่า การออกแบบปรีแอมป์ SL102 ก็น่า สนใจครับ การรับสัญญาณอินพุตไม่ว่าจะเป็นบาลานซ์หรือ
อั นบาลานซ์ ก็ ตาม จะถู กแปลงเป็ นสั ญญาณบาลานซ์ ก่ อน เข้าสู่ภาคการทำงานของการขยายเกนและขยายกำลัง ทั้งปรีและเพาเวอร์แอมป์ใช้วงจรแบบฟูลลี่บาลานซ์จาก สัญญาณขาเข้าไปจรดสัญญาณขาออกแบบไม่ต้องสงสัย เลย ดังนั้น จะเป็นการคุ้มเงินที่สุด ถ้าคุณเชื่อมต่อสาย สัญญาณแบบบาลานซ์ เมื่อใช้เครื่องเสียง Vitus Audio
สำหรับการขยาย/ลดเกน (วอลลุ่ม) ใช้ตัวต้านทาน คุณภาพสูงและรีเลย์สวิตช์จำนวน 21 ตัวต่อข้าง จุดเด่นใน การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร ทำให้อิมพีแดนซ์ของวงจร มีค่าคงที่ แม้ว่าเกนขยายจะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ -99 ถึง +18dB ความละเอียดการปรับเกนอยู่ที่ 1dB สำหรับ อิมพิแดนซ์คงที่ของการทำงานของวงจรเพิ่ม/ลดเกนนี่ สำคัญมาก เพราะจะทำให้สัดส่วนของวงและดนตรีมี สัมพันธภาพที่แปรไปตามระดับความดังค่อยอย่างถูกต้อง ซึ่งปรีแอมป์แบบอะนาล็อกเกนทั่วไปยากนักที่จะให้ได้ ในระหว่างการทดสอบไม่มีรีโมตมาให้ก็อาศัยมือกดเอา เลยเป็นที่มาว่า ผมอยากจะได้ลูกบิดแทนนั่นเอง ตัวถังเป็น อะลูมิเนียมแน่นหนา น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 24 กิโลกรัม จัดว่าหนักครับ สำหรับปรีแอมป์ที่บริโภคไฟฟ้า 40 Watt อินพุตที่ให้มาทั้งบาลานซ์และอันบาลานซ์ก็ออกไปทาง เหลือเฟือครับ จัดมาให้ถึง 5 ชุดด้วยกัน (XLR 3, SE 2), เอาต์พุต 4 ชุด (XLR 2, SE 2)
อีกสิ่งที่ดูเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของค่าย คือ ตัวถัง อันดูเรียบหรูไปทางเนี้ยบ รูปร่างเหมือนกันหมดทุกรุ่น มี ปุ่มบนหน้าปัดข้างละสามปุ่ม มีแผ่นกระจกอยู่ตรงกลาง บอดี้หรือแชสซีสเป็นอะลูมิเนียมเกรดสูง ชื่อรุ่นไม่ต้อง สกรีนให้เห็น ผมว่าควรจะมีดีไซน์หลากหลายกว่านี้ไหมครับ
สำหรับแอมป์ SS-102 เป็นสเตริโอแอมป์ รองรับอินพุตบาลานซ์และอันบาลานซ์ กำลังขับระบุไว้ 50W Class A, 100W Class A/B สามารถกดเลือก Class ที่หน้าปัดเครื่อง แล้วจะมีไฟเรืองแสงสีส้มบอกสถานะ ตัวถังอะลูมินั่มบึกบึน ฮีตซิงก์ระบายความร้อนแบ่งเป็นสี่ส่วน ข้างละสองส่วน เป็นการทำงานของวงจรบาลานซ์แท้ๆ คือมีอุปกรณ์มากกว่าอีกหนึ่งเท่าตัว ตรงกลางเครื่องเจาะช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ มองเห็นหม้อแปลงที่มีขนาดความสูง “ยัน” ขึ้นมาถึงฝาหลังกันเลย น้ำหนักตัวเครื่องราว 100 กิโลกรัม ด้านหลังมีทำที่จับได้สะดวก แต่ด้วยการออกแบบตัวถังที่เป็นอัตลักษณ์ประจำค่าย ในที่นี้ในแง่ของประโยชน์ใช้สอยจึงทำได้ไม่ดีนัก เพราะน้ำหนักจากหม้อแปลงที่เป็นน้ำหนักที่หนักที่สุดของเครื่องก็ดันมาตกที่หน้าเครื่องตรงที่ไม่มีที่จับซะด้วย วิธีแก้คือ อย่ายกเองครับ ใช้บริการผู้จัดส่ง และจัดหาที่วางที่มีระยะห่างกับผนังที่เหมาะสมกับการเดินสายและการระบายอากาศที่พอเพียง เพราะวางแล้ววางเลย (ส่วนใหญ่ไม่ได้ยกกลับ) เกือบลืม กรณีที่คุณใช้ DAC ที่มีดิจิทัลวอลลุ่มในตัว เจ้า SS-102 สามารถรองรับเอาต์พุตที่ว่าโดยไม่ต้องใช้ Preamp ก็ได้นะครับ มีปุ่มเลือกอินพุตที่ด้านซ้ายของหน้าปัด และมีปุ่ม Mute ด้วย
SET UP
นอกเหนือไปจากฟรอนต์เอ็นด์อะนาล็อกและดิจิทัล สายอินเตอร์คอนเน็กต์และสายไฟ (รายการตามซิสเต็มอ้างอิง) ก็เห็นจะมีแต่ลำโพง Focal Focal Scala Utopia Evo เท่านั้นครับ ที่เป็นตัว ”ยืม” ตัวหลักในการทดสอบครั้งนี้ ปรีแอมป์วางบนชั้นวาง TAOC ส่วนเพาเวอร์แอมป์วางลงบนแท่นวาง Symposium ซึ่งต้องบอกว่า พอดีกับขาวางเครื่อง ส่วนตัวถังมีล้นออกไปเล็กน้อย ในการใช้งาน ผมมีนอยด์ Vitus Audio อยู่สองสามเรื่อง เช่น ตัวอักษรที่สกรีนลงหน้าปัดนี่มันมองไม่ค่อยจะเห็น ต้องใช้ไฟฉายส่องเอาพอให้เห็นเงาสะท้อน นี่ต้องปรับปรุงกันหน่อย ชื่อรุ่นว่าอะไรก็ไม่บอก ต้องส่องเอาที่หลังเครื่อง ยิ่งปรีแอมป์นี่ไม่บอกอะไรเลย
ในส่วนของปรีแอมป์ ผมชอบลูกบิดเลือกอินพุตกับวอลลุ่มแบบหมุนมากกว่ากดปุ่ม คือ เขาคงจะออกแบบหน้าตาให้มันกลืนกับเพาเวอร์แอมป์นะครับ การใช้งานทั่วไปของแอมป์ที่น่าสนใจก็คือ ปุ่มเลือกการทำงานของเครื่องให้ทำงานที่คลาส A หรือ A/B กันแบบ on the fly ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าคลาส A ล่ะก็ ร้อนครับ เห็นทาง Vitus Audio บอกว่าสามารถอัพเกรดจากรุ่น 102 เป็น 103 ได้ แปลว่าออกแบบภายในเป็นโมดูลปลั๊กอิน ดังนั้น การที่ไม่บอกชื่อรุ่นก็อาจจะเป็นข้อดีแก่เจ้าของเครื่องก็ได้ รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าเครื่องที่ได้รับการอัพเกรดอยู่เสมอ ในระหว่างการใช้งานอันมาราธอนที่โหมดคลาส A ทำให้ค่าไฟฟ้าที่บ้านเพิ่มขึ้นมาอีกเดือนละ 30% ครับ ร้อนเอาเรื่องเลย
OVERTURE
การทดสอบ ผมใช้ Meridian 818 Reference เล่นไฟล์ไฮเรสและซีดีริปเป็นหลัก เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อแบบบาลานซ์โดยสมบูรณ์แบบ มี Oracle Delphi VI แซมนิดหน่อยเพื่อเช็คความสวยความหล่อของ Vocalist สักหน่อย และผมถือว่า การทดสอบนี้เป็นการทดสอบปรี/เพาเวอร์แอมป์ของ Vitus Audio ไปพร้อมกันด้วย ส่วนการเปรียบเปรยเทียบเคียงกับเครื่องอื่นจะคอยแทรกให้พอให้เห็นภาพเท่าที่จำเป็นครับ
ขอเริ่มจากไฮเรส ไฟล์ Take Five ยอดนิยม นำเสนอโดย Dave Brubeck ไฮเรสนี่มันเจ๋งจริงแฮะ ความคมเป็นประกายที่ไม่ปรากฏความบาดหูของไฮแฮทมีทั้งอิมแพ็คและการทอดตัวที่เป็นละอองจางหายบ่งบอกอาณาเขตได้ดีเยี่ยม เสียงเครื่องเป่าให้รายละเอียดถึงการ “กระเพื่อม” ของกระพุ้งแก้มของผู้เป่าค่อยๆ ลำเลียงเสียงลมออกมาเป็นห้วงๆ แทบจะเห็นการกดกระเดื่องบังคับลมเลยทีเดียว เสียงเครื่องเป่าสะอาดและมีมวลที่สมส่วน เป่าได้หวานมาก เสียงเปียโนและเบสที่เล่นโน้ตตัวเดียวกัน แต่แยกแยะชั้นความลึกและความชัดเจนได้เด็ดขาด ให้โน้ตที่กระจ่าง เน้นจังหวะไม่มีความคลุมเครือ แม้เครื่องดนตรีทั้งสองชิ้นที่ว่าจะเป็นการเล่นทำนองซ้ำๆ ทั้งเพลง แต่ผมกลับรู้สึกได้ว่ามันมีชีวิตชีวามากมาย และน่าสนใจกว่าที่เคยฟังมา ทั้งการเกร็งของนิ้วที่จรดลงไปอย่างมีพลังและแม่น การบังคับแป้นเหยียบที่ควบคุมความสั้นยาวของหางเสียง สุดจริงครับ เวทีใสมากจนได้ความรู้สึกแบบการฟังดนตรีสดๆ อยู่ในห้อง (ที่ระดับความดัง -30dB ฟังไม่เครียดเลยครับ) การให้จังหวะกลองไม่ได้ให้ความใหญ่โตเกินเลยจากขนาดกลองจริงๆ ของสแนร์ ลีลาการหวดหน้ากลองรู้สึกถึงน้ำหนักที่มีความเน้น หนักเบาแตกต่างไปชัดเจนมาก เบสให้การควบคุมที่ดี ให้รายละเอียดของโน้ตที่ความถี่ต่ำชัดเจน กระชับ สะอาด และทิ้งตัวได้ลึกพอประมาณ ไม่ออกแนวบ้าพลัง ออกไป ทางเรโซลูชั่นและคุณภาพมากกว่า
ต่อที่ Beautiful Life ครับ ช่วงอินโทรมีการดีดนิ้วนี่ แหมมันชัดขนาดที่เห็นนิ้วเบียดสีกันเลย เสียงร้อง ให้วิญญาณมนุษย์ตัวอุ่นๆ เต็มเปี่ยม หวาน มีการสั่นของ เส้นเสียงเส้นลมที่เป็นกำเนิดของการเปล่งเสียง แหบเสน่ห์ คือเสียงจริงเป็นยังไง ผมมิบังอาจทราบได้ รู้แต่ว่าที่กำลัง ฟังอยู่นี่ เหมือนคนจนขนลุกขนพองอ่ะ เรื่องการบันทึกด้วย ไมโครโฟนหรือความกังวานในห้องอัด ลืมไปแล้วครับ เพราะเหมือนเจ้าหล่อนมาร้องอยู่ข้างหน้านี่ ความก้อง กังวานก็อยู่ในห้องฟังผมนี่แหละ เสียงกีตาร์โปร่งนี่รู้สึกได้ เลยถึงความแม่นในสเกล ความกังวานของเนื้อไม้ที่ผม คาดเดา (ใช้จินตนาการ) ว่าเป็นกีตาร์โปร่งของ Ovation
ด้วยความใสของซิสเต็มทำให้ความสามารถบ่งบอก การเกิดขึ้นใกล้ไกล น้ำหนักจากอิมแพ็ค เสียงสนทนาที่ แพนไปมา ในอัลบั้ม Florida Grand Opera แทร็ก Tenor Aria Flamingo Dancer มีความชัดเจนจนปรากฏ จินตภาพราวกับการนั่งฟังโอเปร่าในฮอลล์จริง ความฉับพลัน ของประทัดที่ทำให้สะดุ้งทุกครั้ง บ่งบอกพลังแฝงอัน เหลือเฟือในการขับดันอากาศให้กระเพื่อมผ่านลำโพง เสียงการกระแทกเท้าเข้าจังหวะที่ให้สัมผัสการกระทบของ ส้นเท้าลงบนฟลอร์ของเวที เสียงร้องของโซปราโน่หญิงที่“ได้สัมผัสอาการที่บ่งชี้” ถึงการวิ่งไปร้องไปชัดเจนจากการ แกว่งของเสียงร้อง (น่าจะการกระเพื่อมของหน้าอก หน้าใจที่มีผลกับลมหายใจระหว่างการเปล่งเสียงร้องใน ขณะที่หล่อนกำลังวิ่ง) นี่อะไรทำให้กระผมเข้าถึงราย ละเอียดระดับนี้เชียว นี่มันบ้าชัดๆ นั่นปะไร ขนลุกอีกแล้ว
ขอจบกับ Tom Russel The Man from God Knows Where, Patrick Russel พลังของเสียงกลาง ได้แก่ กีตาร์และนักร้องชาย มันชัดเจนเด็ดขาดสุด ๆ การ ร้องเพลงด้วยภาษาอังกฤษรู้สึกว่าฟังวลีได้ชัด และเข้าใจ ความหมายได้มากกว่า คล้ายกับ เออ เปรียบเทียบว่า แบบนี้นะ คุณฟังเสียงฝรั่งพูดเฉยๆ กับคุณฟังฝรั่งพูดต่อ หน้าคุณ พูดแบบเดียวกั้นเป๊ะ คุณจะเข้าใจความหมาย ประโยคที่นอกเหนือจากจะเข้าใจจากภาษาพูดแล้ว คุณยัง อ่านหรือเข้าใจได้มากกว่าจากสีหน้าและแววตาเขาด้วย เสียงร้องทั้งมีพลัง เกลี้ยงเกลา ตรงไปตรงมา ทำให้รู้สึกว่า นักร้องมีความเป็นคาวบอยที่มีความจริงใจดีจัง ยิ่งตอนขยี้ สายกีตาร์นี่ เห็นสายเหล็กสั่นติ้วๆ เลย ฟังแล้วได้อารมณ์ จริงๆ เลยครับท่าน
สรุป
ตลอดเวลากว่า 2 เดือนในการทดสอบ ผมพบว่า ซิสเต็มปรี/เพาเวอร์ของ Vitus Audio: SL102+SS102 นี่ มีความเป็นตัวตนที่ชัดเจนในการนำเสนอมาก คือ ฟังแล้ว ติดหูง่าย และพาลจะทำให้หูเสียเอาจริงๆ ทั้งนี้ผมขอให้ พิจารณาลำโพงที่ใช้ทดสอบกันด้วยนะครับ2 นี่เป็นซิสเต็มปรี/เพาเวอร์ที่ให้เสียงที่มีรายละเอียดสูงมาก เป็นซิสเต็มที่ให้ความใสสะอาดจนน่าตกใจ จนถึงขนาดที่ในระหว่างการรับฟัง เรารู้สึกซึมซาบได้ถึง “ห้วงเวลา” หรือ “บรรยากาศ” อบอวลแวดล้อมเสียงดนตรีจากนักดนตรีที่ลึกซึ้งมากกว่า ทำให้จังหวะจะโคนมันดูเน้น มีลีลาชั้นเชิงจนคล้ายกับจะดึงจังหวะให้ช้าลงไป แต่มันก็ไม่ช้าหรือเฉื่อยนะ เพียงแต่ว่ารายละเอียดในการนำเสนอที่มากมายทำให้ประสาทส่วนสัมผัสมันคล้ายกับเกิดอาการดื่มด่ำหรือ Immerse ในรายละเอียดเสียง รวมทั้งบรรยากาศรอบๆ คล้ายๆ กับสโลว์โมชั่นยังไง อารมณ์แบบอยากหยุดเวลายังไงยังงั้น มันให้ไดนามิกส์คอนทราสต์เข้าใกล้ระดับอุดมคติ ให้เสียงในโทนอิ่ม กลมกล่อมกำลังดี เต็มตัวและมีความอุ่นในที ซึ่งเป็นการเน้นคุณภาพการนำเสนอ โดยเฉพาะมิดเร้นจ์ที่เที่ยงตรงและน่าหลงใหลเป็นพิเศษ ในการทำงานในโหมดคลาส A (2x50W) เราจะรู้สึกถึงสภาวะความอุดมสมบูรณ์ร่ำรวยฮาร์โมนิกส์ ความชัด เข้มข้น สด รายละเอียดพรั่งพรูแบบไม่ใช่การขับดันนะครับ ในการทำงานในโหมดคลาส A/B (2x100W) ความจริงจังความสดในระดับเนื้อหนังมังสาขนลุกขนพองที่ว่าจะผ่อนปรนลงไปบ้าง แลกมากับการให้รูปวงที่โอ่โถงกว่า ลึกกว่า เหมาะกับคลาสสิกวงใหญ่ อันนี้แล้วแต่ประเภทเพลงที่ฟัง ชอบฟังแบบรายละเอียดคลุกวงใน เครื่องดนตรีน้อยชิ้น โดยเฉพาะแจ๊ส เสียงร้องชัดเจนเป็นตัวจับต้องได้ก็ไปที่ Class A เลยครับ นอกจากนี้ สิ่งที่น่ายกย่องสำหรับปรีของ Vitus SL102 ก็คือ แม้จะเทียบเคียงกับปรีที่ผมใช้คือ Audiovalve Conductor ที่ใช้แหล่งจ่ายพลังงานจากแบตเตอร์รี่ ปรี SL102 ให้แบ็กกราวด์เงียบเชียบโดยที่ไม่เป็นรองเลย ซึ่งขอบอกว่าไม่ธรรมดากับภาคจ่ายไฟอันแข็งแกร่งของปรีตัวนี้3 (S/N ratio ของปรีตัวนี้อยู่ที่ 110dB) ต่อไปนี้คือข้อแนะนำ…
1. จุดแข็งหนึ่งที่ผมชอบของ SS-102 คือ การเลือกไบอัสวงจรคลาส A หรือ A/B แบบ on the fly นอกจากจะยืดหยุ่นกับสไตล์ของเพลงที่ฟังแล้ว ยังแม็ตชิ่งกับลำโพงง่ายขึ้นด้วย สำหรับปรี Vitus Audio SL102 นั้น นอกจากให้ความเงียบสงัดดุจป่าช้าแล้ว มันทำหน้าที่เป็น “หน้าต่าง” โดยสมบูรณ์ โดยไม่มีคาแร็กเตอร์แสดงตัวตนออกมามันคือการปลดปล่อยพลังและรายละเอียดจากต้นทางแบบไม่ตกหล่น สัดส่วนของวงทำได้สมดุลดีมาก ขอยกประโยชน์ทั้งหลายให้กับการออกแบบวงจรขยายเกนที่มีอิมพีแดนซ์คงที่ตลอดแบนด์ และคุณภาพของอุปกรณ์ที่คัดสรรขั้นเทพ
2. กับลำโพงไดนามิกส์ที่มีทวีตเตอร์โดมโลหะตอบสนองความถี่สูงระดับอัลตราโซนิค ตัวตู้ลำโพงแกร่งแบบวัสดุสังเคราะห์ หรือโลหะ มิดไดรเวอร์และเบสไดรเวอร์ที่ใช้โคนเป็นวัสดุที่มีความแกร่งเป็นพิเศษ และมอเตอร์กำลังสูง (แน่นอนที่พูดมาน่ะ ลำโพงของแพง) เมื่อผนวกกับ Vitus Audio SL102+SS102 ดูจะไปได้ดีมาก กล่าวคือ นอกเหนือไปจากไดนามิกส์และรายละเอียด(เรโซลูชั่น) ที่ขับลำโพงออกมาได้อย่างสบายๆ แล้ว มันยังช่วยเพิ่มเติมอรรถรสในเรื่อง “ลีลา” และ “เนื้อหนังมังสา” ที่ทั้งเย้ายวน อิ่มเอิบอวบอั๋น ฮาร์โมนิกส์ที่น่าฟัด เอ๊ย… น่าฟังจนคุณลืมหายใจหายคอกันเลยทีเดียว
3. เสียงร้องมีเสน่ห์ชวนฟังเช่นเดียวกับกับปรี/เพาเวอร์แอมป์ของ Dan D’Agostino โทนจะต่างกัน โดยป๋า Dan จะเปรียบได้อย่างสาวพลอย ส่วน Vitus Audio ไปทางสาวแอฟ สวยทั้งคู่อยู่ที่คนชอบต่างคนต่างสไตล์ ว่าแต่ว่า เขาอยู่รุ่นราวอายุคราวเดียวกันรึเปล่ามิอาจทราบได้ เอ๊! เปรียบเทียบชัดไปรึเปล่า
4. ไม่รู้สึกว่ากำลังขับที่ระบุไว้จะเป็นอุปสรรคการเล่นกับลำโพงใหญ่ครับ ผมคิดว่า กำลังขับที่แท้จริงน่าจะเกิน 5 เท่าจากที่ระบุไว้ด้วยซ้ำไป เมื่อพิจารณาจากหม้อแปลงและน้ำหนักเครื่องกว่า 100 กิโลกรัม (มันกินไฟได้ถึง 1400 วัตต์) กับลำโพงที่ลงตัวกับห้อง 40/50 ตร.ม. ก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใดกับ Vitus Audio SL102+SS102
5. ถ้าราคาไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคุณ นี่เป็นซิสเต็ม ปรี/เพาเวอร์แอมป์หนึ่งในช็อตลิสต์ของวงการที่ดีที่สุดที่คุณควรจะต้องไปฟังเป็นอันขาด ก่อนที่จะควักเงินในกระเป๋าระดับ 7 หลัก (นาทีนี้จัดว่าควรค่าแก่การเสียตังค์,,,,) แนะนำเป็นอย่างยิ่ง. ADP
นิตยสารAudiophile Videophile ฉบับที่ 258
No Comments