Viborg VP1501 สายไฟ Audio Grade
สินค้ายี่ห้อ Viborg เป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะในหมู่ของนักเล่นเครื่องเสียงประเภทฉลาดซื้อประหยัดทรัพย์ Viborg ผลิตในประเทศจีน ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับสายไฟยี่ห้อแพงๆ ทั้งหลาย แต่ขายในราคาที่มนุษย์ธรรมดาจับต้องได้ อย่างสายไฟรุ่น VP1501 ที่ผมได้รับมาทดสอบนี้ ราคาหมื่นนิดๆ แต่พอเหลือบไปมองสเปกแล้ว ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลย
สายเส้นนี้ยาว 2 เมตร (รวมหัว+ท้ายแล้ว) ตัวนำเป็นทองแดง OFC ความบริสุทธิ์ระดับ 4N หรือ 99.9999 โครงสร้างประกอบด้วยสายขนาดต่างๆ กัน 16 เส้นตีเกลียวเข้าด้วยกัน (Helix Super-LITZ) หัว+ท้าย รุ่น VM 502 R (โรเดียม) และ VF 502 R (โรเดียม) มีฉนวนทองแดงและเทฟล่อนขนาดหน้าตัด 16 มม. หรือ 9 AWG. ถือว่าใหญ่พอที่จะเสียบเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ได้ และที่สำคัญ คือ สายเส้นนี้ผ่านกระบวนการไครโอเจนิคมาแล้วครับ
ที่มาของการทดสอบ คือ วันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จาก ท่าน ดร. ช้างฯ ผู้กว้างขวางในการวางเครื่องเสียงบอกว่า “พี่ๆ ช่วยเอาสาย Viborg ไปลองเล่นดูที ถ้ามันดีก็รีวิวให้ด้วย” ผมตกลงอย่างงงๆ เพราะตอนนั้นเคยได้ยินแต่ชื่อของ Viborg ไม่เคยเห็นตัวจริงเลยด้วยซ้ำไป แต่ด้วยความที่ชอบเล่นชอบลองเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าของไทย/เทศ ถ้ามันดีจริงก็เป็นหน้าที่ๆ จะต้องบอกต่อๆ กันไป ยิ่งเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพงจัดด้วยแล้ว หูยยย เข้าทางอย่างแรง!!!
อ้อ.. ทางผู้นำเข้าบอกว่า จากการที่ได้ไปชมงานเครื่องเสียง Munich High End ที่เยอรมนีมาหลายปี ทำให้มั่นใจได้ว่า สินค้าของ Viborg มีคุณภาพดีจริงๆ เพราะไปร่วมโชว์ในงานเป็นประจำ ที่สำคัญ ราคามีแต่จะขึ้นทุกปี
ผมทำการ Burn-in สายไฟ Viborg: VP 1501 ด้วยการเสียบเข้ากับ DAC ยี่ห้อ Bryston รุ่น BDA II ซึ่งมีไฟ LED ติดอยู่ เวลาอยู่ใน Standby Mode นานราว 50 ชั่วโมง ก่อนที่จะย้ายไปเสียบอินทิเกรตแอมป์ CEC 3300 R.E.D. (Tweak โดยคุณเจมส์ C-3) อีก 50 ชั่วโมง จนไม่พบความเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกแล้ว จึงฟังการทดสอบจริงจัง โดยที่ตอนหลังๆ มีสายสัญญาณ Viborg VA 303 (ตัวนำเป็น Solid Sliver) มาแจมด้วย
โดยปกติ ผมใช้สายสัญญาณของ EDL รุ่น A1 เป็นหลัก ซึ่งมันเป็นสายที่กำลังภายในดีมาก แต่บุคลิกเสียงแตกต่างจากสายเงิน เพราะมันมีตัวนำเป็น OCC Copper ซึ่งผมชอบตรงที่เสียงแหลมฉาดฉาน มีความฉ่าใกล้เคียงความเป็นธรรมชาติ ส่วนสายเงินจะเกลี้ยงเกลา มีความกังวาน ปลายหางเสียงแหลมฟังสบายๆ
สายไฟ VP 1501 มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม หัวปลั๊กและท้ายปลั๊กเป็นอะลูมิเนียมหนาแกะลาย ช่วยกันสัญญาณรบกวนได้ และช่วยให้แบ็คกราวด์สงัด ขาปลั๊กเป็นทองแดงชุบโรเดียม ตรงกลางสายมีกระเปาะลายคาร์บอนสีเงินเป็นมันวาว สามารถรูดเปลี่ยนตำแหน่งไปมาตามสายได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแต่ละที่ ล้วนแต่ส่งผลให้เสียงเปลี่ยนไปได้ ส่วน Sleeve หรือปลอกนอกของสายหุ้มด้วยวัสดุ Nylon + ผ้าคอตตอนถักผสมกัน ช่วยในเรื่องการ Damping แรงสั่นสะเทือนและกันคลื่นรบกวนได้บ้างบางส่วน
ด้านรูปร่างหน้าตาของสาย VP1501 ผมว่ามันดูดีเกินราคาค่าตัว ใช้แล้วไม่ต้องกลัวน้อยหน้าสายไฟอื่นๆ แน่นอนครับ ผมจงใจเลือกรุ่นที่หัวปลั๊กเป็นโรเดียมมาทดสอบ เพราะจากประสบการณ์แล้วการเคลือบโรเดียมที่ถูกวิธีและใช้โรเดียมจริงไม่ใช่แค่น้ำยาโรเดียมมาชุบจะให้เสียงที่ดีมาก โดยเฉพาะในย่านเสียงแหลม ตลอดย่าน ไม่ใช่มีแค่บางจุดเท่านั้น โดยที่แรงปะทะของเสียงต่ำไม่ด้อยไปกว่าพวกโลหะชุบทอง ข้อพึงพิจารณาของพวกชุบโรเดียมอยู่ที่เสียงกลาง เพราะมันมีบุคลิกเฉพาะตัวอยู่ กล่าวคือ เน้นความชัดเจน โฟกัสแม่นยำไม่ขยายสเกล ดังนั้น ถ้าคุณต้องการความหนานุ่ม อวบอิ่ม หวานฉ่ำ อะไรแบบนั้น แนะนำให้เล่นหัวปลั๊กชุบทองจะตรงกับควาชอบมากกว่า แต่หากต้องการความชัดเจน ฉาดฉาน ตรงไปตรงมา ก็ต้องโรเดียมแหละครับ และถ้าจะเจาะลึกลงไปอีก ควรจะไม่มีนิเกิลเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย เพราะเป็นตัวแปรที่ทำให้คุณภาพเสียงแย่ลง
กลับมาที่สายไฟ Viborg VP1501 หลังจากที่พ้นระยะ Burn-in เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาที่ฟังทดสอบจริงจัง ผมกำหนดหัวข้อทดสอบ หรือ Criteria ในการฟังสายไฟไว้ 5 ข้อ คือ… 1.พละกำลัง แรงปะทะ 2. ไดนามิกเรนจ์ 3. ดุลน้ำเสียง 4. รูปเวทีเสียงและอิมเมจ 5. ความฉับพลัน
อันที่จริงมีคุณสมบัติของสายไฟที่ดีอีกหลายข้อ เช่น คอนทราสต์, รายละเอียด, การตอกย้ำหัวโน้ต ฯลฯ แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นปลีกย่อยในการทดสอบ และมันขึ้นอยู่กับรสนิยมทางหูของแต่ละท่านด้วย ดังนั้น ผมจึงเอาแต่เฉพาะคุณสมบัติหลักๆ ที่สายไฟ AC Power ดีๆ พึงจะมีมาเป็นเงื่อนไขในการทดสอบ โดยได้กำหนดคะแนนไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเมาหมัดเวลาที่ฟังเพลงหลายๆ อัลบั้ม กลับไปกลับมาหลายๆ ครั้ง
สำหรับชุดเครื่องเสียงที่ใช้ทดสอบสายไฟ AC Viborg VP1501 ประกอบด้วย.. Transport: Esoteric P70, DAC: Bryston BDA II, อินทิเกรตแอมป์ CEC 3300 R.E.D., ลำโพง Focal Utopia Diablo, สายไฟ VP1501 เสียบเข้าที่ CEC 3300 R.E.D สายเคเบิลเส้นอื่นๆ เป็นของ EDL, ปลั๊กผนัง ATL รุ่นเคลือบทองคำ และรุ่นเคลือบโรเดียม
ผลการทดสอบมีดังต่อไปนี้ครับ
- พละกำลังและแรงปะทะ Viborg VP1501 เป็นสายไฟที่มีความโดดเด่นด้านพละกำลัง เสียบไปแล้วเหมือนได้วิตามินบำรุงเครื่องเสียงให้เข้มแข็ง กระฉับกระเฉง แรงปะทะหนักมาก จังหวะแรกที่กระทบ ลูกตามที่เป็นหางเสียงเก็บตัวเร็ว
- ไดนามิกเรนจ์ สวิงได้ค่อนข้างกว้างครับ ที่จริงสายไฟ AC นำความถี่ที่ 50 หรือ 60 Hz เท่านั้น แต่สิ่งที่มันทำงานคือ ช่วยให้เครื่องเสียงทำงานได้เต็มที่ มีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้อย่างเพียงพอ และถูกจังหวะ จึงมีผลกับคุณสมบัติหลายๆ ประการของเสียงด้วย คุณสามารถสังเกตุง่ายๆ เลยว่า ไดนามิกดีหรือไม่ดี ด้วยการเปิดเสียงให้ดังกว่าปกติเสียหน่อย หากรู้สึกว่าหนวกหูมาก เสียงตื้อๆ ฟังแล้วอึดอัด นั่นแสดงว่าไดนามิกไม่ดีแล้วครับ ส่วนสายไฟที่ช่วยเรื่องไดนามิกจะมีผลตรงกันข้าม
- ดุลน้ำเสียงหรือความทัดเทียม สมดุลกันทุกย่านความถี่เสียงหลักๆ ได้แก่ สูง -กลาง -ต่ำ สาย VP1501 ทำได้ดีครับ ไม่เน้นที่ย่านความถี่ใดเป็นพิเศษ เสียงแหลมจัดว่ามีมวลพอดีๆ ปะปนด้วยเกรนเล็กน้อย ซึ่งถ้าทวีตเตอร์ไม่ไวจริงๆ อาจจะฟังไม่ออกครับ เสียงกลางชัดเจน โฟกัสเป๊ะๆ อยู่คนละฟากกับพวกสายอิ่มหวานบานเบอะ
- รูปเวทีเสียงและอิมเมจ สายเส้นนี้ให้เวทีเสียงในลักษณะของแอ่งกระทะตื้น ฟังออกได้ถึงปริมณฑลของเสียง มีกว้าง ลึก หน้าหลัง สูงต่ำ เพียงแต่ยังไม่สำแดงความเป็นสามมิติออกมาได้เหมือนกับสายราคาหลักแสนเท่านั้น อิมเมจขึ้นรูปชัด สเกลถูกต้อง ไม่ใหญ่โตมโหฬารจนเกินจริงกระจายตัวกันอยู่ตามจุดต่างๆ ในเวทีเสียง
- ความฉับพลันหรือทรานเชี้ยนส์ ตรงนี้เป็นข้อที่สาย VP1501 ยังทำคะแนนได้ไม่เท่ากับสายไฟระดับเทพทั้งหลาย สังเกตได้จากเสียงเครื่องเคาะหรือเพอร์คัสชั่นที่ยังนุ่ม ขาดความสดดิบไปหน่อย
จากที่ผมได้อรรถาธิบายมาข้างต้น คงทำให้ทราบถึงแนวเสียงของสายไฟ AC Viborg VP1501
ได้ หากถามว่าสายเส้นนี้เหมาะจะเสียบกับอะไร ผมคงแนะนำว่าเสียบได้ตั้งแต่เพาเวอร์แอมป์ลงมาเลยครับ ขอเพียงให้เครื่องตัวนั้นมีแนวเสียงที่เนียนนุ่มหน่อย น่าจะไปกันได้ดีครับ
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสายไฟ AC คือ ความปลอดภัยไร้อาการ Spark ซึ่งสาย Viborg เสียบได้แน่นมั่นคง ไว้ใจได้ สายมีขนาดหน้าตัดใหญ่ ไม่มีความร้อนสะสมเกิดขึ้นเวลากระแสไฟฟ้าไหลผ่าน หายห่วงได้ครับ กระซิบดังๆ ว่า นักเล่นเครื่องเสียงประเภท DIY ชอบซื้อสายไฟ Viborg ชนิดตัดแบ่งขายไปเข้าหัวกันเอง ได้ยินว่าได้ผลดี เป็นที่น่าประทับใจกันทั่วหน้าเลยครับ. ADP
รุ่นมาตรฐาน 8,500 บาท
รุ่น Cryo ราคา 11,800 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Alpha Audio
Line app id: robyrd
โทร. 065 449 2655
No Comments