TELLURIUM Q SILVER DIAMOND
นักเขียน : วิศัลย์ เอกธรรมกุล :
ลาทีปีระกา ยินดีต้อนรับ ปีจอ 2018 ครับ
ปีไก่ที่ผ่านมา ผมรู้สึกจะเป็นไก่อมโรคนิดหน่อย ขันไม่ค่อยดัง ก็หวังว่าปีนี้ปีจอแล้วคงจะได้ยินเสียงเห่าได้หอนกันดังๆ สักทีครับ เงียบเหลือเกิ้นปีไก่ ช่วงชีวิตมีขึ้นมีลงตามวาระ จังหวะ โอกาส ความเหมาะสมที่คิดว่าถูกต้องมั่นคงแล้วนั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามวาระแลวิถีที่ผมอ้างถึงนั่นเอง
ใน Ultimate Reference ของ WJ รับปี 2018 มีรายการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ได้แก่… การเปลี่ยนลำโพง จากลำโพงตั้งพื้นมาเป็นลำโพงวางขาตั้ง ซึ่งจะเอามาแม็ตช์กับซับวูฟเฟอร์เล่นกันแบบ 2.1 ให้เป็นเรื่องเป็นราวสักที ผมหวนกลับมาเล่นเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขับระดับกลาง คุณภาพระดับดาวค้างฟ้า HOVLAND RADIA (125W @8Ohm, 200W @4Ohm) มาเป็นแอมป์หลักเพื่อขับลำโพงวางขาตั้ง MANGER ZERO BOX 109 lle LE (กำลังขับแนะนำที่ไม่เกิน 200W @4Ohm) ตั้งบนขาตั้ง TAOC HST + ซับวูฟเฟอร์ B&W DB1 นี่ก็ทางหนึ่ง ส่วนการขยับขยายอีกทางหนึ่งก็กำลังมองๆ ลำโพงตั้งพื้นตัวใหม่ที่มาพร้อมกับเพาเวอร์แอมป์ในตัว หรือแม้แต่กิ๊กเก่า PASS LABS ก็หวนมาสะกิดผมตะหงิดๆ อยู่ลึกๆ เฮ้อ! คนเราก็แบบนี้
กลับมาที่ “ของ” ที่ WJ จะทดสอบในฉบับนี้ นั่นก็คือ สายลำโพงและสายสัญญาณแบรนด์ TELLURIUM Q ของอังกฤษในตระกูล Silver Diamond นั่นเอง หลังจากที่ผมได้ทดลองฟังสายระดับท็อปๆ เปรียบเทียบ ประเมินงบประมาณและคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ ที่สุดแล้ว ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ท่านจะได้รับรู้ประสบการณ์ที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟัง ขอบอกว่า เฉพาะสายลำโพง Silver Diamond นั้น ผมต้องใช้เวลาพิสูจน์คุณค่าของมันมากกว่า 6 เดือนเชียวครับ ก็ถือเป็นความโชคดีของผมที่เจ้าของสินค้าอดทนรอ และเชื่อมั่นว่า เขาจะไม่ได้เอากลับแน่ 555 เข้าทำนองโดนเรียกค่าไถ่รึเปล่า
TELLURIUM Q: SILVER DIAMOND
บริษัท Tellurium Q นี้ ออกแบบและผลิตสายที่อังกฤษล้วนๆ ถือกำเนิดในยุทธจักรมาเพียงแค่สองสามปีก็กวาดรางวัล Most wanted ทางฝั่งยุโรปหลายสถาบันซะแล้ว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ที่เขาออกแบบก็คือ ความคิดที่ว่า ตัวนำสัญญาณทุกชนิดมีลักษณะที่เป็น Filter ด้วยกันทั้งนั้น ผลก็คือ ความคลาดเคลื่อนทางเฟสทำให้การส่งผ่านสัญญาณผิดไปจากต้นฉบับ การออกแบบของเขาแบ่งเป็นแนวคิดหลักๆ 2 ทาง ทางแรก… คือ การกำหนดส่วนผสมของวัสดุของตัวนำ(ปรุงแต่งส่วนผสมของวัสดุที่ประกอบขึ้นมาเป็นสาย) ทั้งเนื้อวัสดุ ความหนา การเคลือบผิวเพื่อการป้องกันออกซิเดชั่น ตั้งแต่สาย หางปลา หรือปลั๊ก ทางที่สอง… คือ การออกแบบโครงสร้างการถักหรือการจัดเรียงของสาย เมื่อผนวกแนวคิดทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ผลก็คือสามารถกำหนดสายที่มีคุณสมบัติ “การกรองและส่งมอบ” ในแนวทางที่ผู้ออกแบบสามารถควบคุมในเรื่อง
ของเฟสให้เป็นไปตามความต้องการได้ ที่ WJ กล่าวเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่า ผลิตภัณฑ์ของ Tellurium Q ถูกแบ่งออกเป็นสามอนุกรมหลักให้เข้าใจง่ายๆ คือ… สีน้ำเงิน (Blue), สีดำ(Black) และ สีเงิน (Silver) ส่วนอนุกรมย่อยก็มีเพิ่มอีกสองสามรุ่นย่อย เช่น Black, Ultra Black และ Diamond Black เป็นต้น โดยผู้ผลิตให้เหตุผลว่า สายทั้งสามชนิดนี้ให้โทนเสียงที่แตกต่างกันเพื่อให้ลูกค้าที่มีซิสเต็มต่างกันได้เลือกใช้ปรับแต่งตามใจชอบ รวมไปถึงงบประมาณด้วย แต่ก็ได้ให้แนวเสียงว่า “สายน้ำเงิน” ให้เสียงที่มีความอุ่น ฟังง่าย ให้รูปวงที่ถอยร่น และผ่อนปรนกว่า ซึ่งเป็นการชดเชยเครื่องเสียงระดับ Entry level ที่มักออกแนวออกอาการสีสันจะแจ้ง ลีลาโฉ่งฉ่างโชว์พาวอลังการไปบ้าง ส่วน “สายสีดำ” ก็ใช้กับเครื่องเสียงที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาอีกระดับ โดยจะให้รายละเอียดสูงและความต่อเนื่อง ความเป็นธรรมชาติและไม่มีความกระด้างให้ระคายเคือง มิติแม่นยำส่วน “สายสีเงิน” เคลมว่า ปลดเปลื้องความเป็น Filter และไร้ภาวะการอัดอั้นตีบตันใดๆ โดยสิ้นเชิง ความใส ไดนามิกส์ ความเป็นธรรรมชาติและรายละเอียดสูงสุดตามต้นกำเนิดโดยปราศจากความเครียดหรือหยาบกระด้าง ซึ่งแน่นอนว่าใช้กับซิสเต็มระดับสูง
ผู้ผลิตยังแนะนำอีกด้วยว่า การผสมอนุกรมสายข้ามรุ่นควรอยู่ในย่านรุ่นที่ติดกัน หรืออย่าข้ามรุ่น ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ต้องการให้สายรุ่นใหญ่ถูกคุณภาพสายรุ่นเล็กกว่าดรอปประสิทธิภาพมากเกินไป เวลาผมศึกษาข้อมูลของเขา ผมพบว่าน่าสนใจดี เขาบอกว่า การชุบด้าน ชุบเงา วัสดุที่ชุบ ความหนาที่ชุบ ส่วนผสมของวัสดุสำหรับการบัดกรี ส่วนผสมของวัสดุหางปลาหรือขั้วต่อ เขาทดลองฟังอย่างพิถีพิถัน แล้วก็มีการระบุสเป็กอย่างละเอียด เขาลองใช้เงินบริสุทธิ์ที่จัดว่ามีคุณสมบัติความเป็นตัวนำที่ดีที่สุดมาเป็นตัวนำสัญญาณ ซึ่งผลการรับฟังก็ออกมาห่วยที่สุดเหมือนกัน แน่นอนว่าไม่มีการเปิดเผยถึงบันทึกตำราผีบอกว่าด้วยส่วนผสมและเครื่องปรุงทางโลหะวิทยา ส่วนเรื่องสเป็กสายทางเทคนิคก็ไม่ได้มีการระบุด้วย เพราะเขาบอกว่ามันผ่านจุดนั้นมามากแล้ว คุณควรต้องฟังให้เป็น ฟังให้ออก แยกแยะให้ได้ แล้วคุณจะเข้าใจเองว่าจะใช้สายจูนเสียงที่ต้องการให้ออกมาเป็นอย่างไร ผมว่า อบรมดีลเลอร์แบบนี้ ลูกค้ากี่รายก็เสร็จหมดอ่ะสิ อุบ๊ะ แบบนี้ก็ต้องลองละสินะ
เซ็ตอัพ
สายลำโพง Tellurium Q Silver Diamond นั้น ถูกนำมาประจำการแทนที่สาย JPS Aluminata มาพักใหญ่ๆ แล้ว หากท่านติดตามบทความของผมก็น่าจะพอทราบกัน ว่าน่าจะเกินสี่เดือนนะครับ ผ่านชุดใหญ่ๆ มาหลายชุดแล้ว เมื่อผมคุ้นเคยกับสายลำโพงแล้ว ก็ถึงคราวเปลี่ยนเอาสายสัญญาณบาลานซ์ความยาว 7.00 เมตร เข้าประจำการแทน Nordost Tyr2 โดยเชื่อมต่อระหว่างปรีแอมป์ Audiovalve Conductor กับ Hovland Radia สายสัญญาณต้นทางจากซอร์สมายังปรียังคงใช้สายบาลานซ์ของ Nordost Tyr2 ความยาว 2 เมตรเช่นเดิมครับ ใช้เวลารันอินราวสามสัปดาห์ (นับรวมผ่าน Constellation + Magico Q3 อีกหนึ่งสัปดาห์) งานนี้ผมรีเซ็ตระบบด้วยการนำเอาสายไฟที่มีอยู่ Hovland Mainline + Cardas Golden Reference มาเข้าชุด ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจมาก (ทั้งที่มีโปรแกรมอัพเกรดไปใช้สายไฟสัญชาติซามูไรในอนาคตอันใกล้นี้ อะแฮ่ม) สายทุกเส้นจากปรีไปเพาเวอร์แอมป์ และบริเวณลำโพงกับแอมป์ วางลอยจากพื้นด้วยไม้ก้อนของ Ayre + Cardas เอ่อ ไม่ใช่ WJ จะต้องแม็ตชิ่งถึงขนาดไม้ก้อนรองสายนะครับ ตามความเหมาะสมดีกว่า อย่าให้ถึงกับต้องให้ WJ ใส่สน็อกเกิ้ลกับหน้ากากออกซิเจนระหว่างการรีวิว ด้วยเกรงว่าลมหายใจเราจะไปพ้อง(เรโซเนท) กับคลื่นอากาศที่ปั๊มออกมาจากลำโพงเลยนะครับ
สิ่งที่ซีเรียสอีกจุดที่ผมอยากจะฝากเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับนักเล่น ก็คือคุณภาพของแท่นวางหรือชั้นวางแอมป์นี่ สำคัญมากครับ ส่วนใครที่ใช้ลำโพงวางขาตั้ง คุณภาพของขาตั้งลำโพงนี่ตัวดีเลย ผมให้เครดิตขาตั้งลำโพงถึง 20% เลยนะ คือ ลำโพงคุณให้เสียง 100% ใช้ขาห่วยก็เหลือ 80% ใช้ขาดีก็ขึ้นไป 120% อะไรแบบนั้นนะ ผมได้ทาง Deco 2000 เป็นผู้สนับสนุนขาตั้งลำโพง TAOC รุ่น HST มาติดปีกให้กับเจ้าลำโพง Manger Zero Box 109 lle LE ซึ่ง WJ ก็ขอใช้พื้นที่นี้ขอบคุณด้วยครับ มาดูกันว่า ปรี Audiovalve Conducttor + สาย Tellurium Q Silver Diamond + Hovland Radia + Manger Zero Box 109 lle LE + TAOC HST ผลการฟังจะเป็นอย่างไร
OVERTURE
ลักษณะเสียงที่ผมจัดให้เป็นจุดเด่นที่สุดของสายลำโพงและสายสัญญาณ Tellurium Q ในตระกูล Silver Diamond คือ ความสมดุลและไร้ตัวตนครับท่าน สมดุลในที่นี้ คือ ไม่ขาด ไม่เกิน พอดี ลงตัว สวยงาม สิ่งนี้ทำให้ผมคิดถึงสาย Cardas Neutral Reference ที่ผมเคยใช้ ซึ่งมีคุณภาพดีมาก มีความเป็นกลางสมชื่อทีเดียว หากแต่มันคล้ายๆ กับเป็นการอัพสเกลของ Cardas Neutral Reference ให้ยอดเยี่ยมขึ้นไปอีกหลายเท่า ความเป็นธรรมชาติที่ว่า มากับการปลดเปลื้องความเป็น “ตัวตน” ของสายสัญญาณทั่วไป ให้ไดนามิกส์คอนทราสต์ที่กว้างขวางไร้ขอบเขต หรือปลอดความรู้สึกถึงการปิดกั้นหรือฉุดรั้ง มันถ่างสเกลความละเอียด หรือ Resolution ของ Timbre อย่างชัดเจน กระจ่างแจ้ง และแยกแยะความอ่อนแก่ หนักเบา ของ Timbre ออกมาชนิดที่ชวนให้ลืมหายใจในบางขณะเลยทีเดียว! ความเข้มข้น ต่อเนื่องลื่นไหล มีลีลา เด็ดขาด แม่นยำหรือจะมีการเอื้อนเอ่ย เป็นไปอย่างที่นักร้องและนักดนตรีต้องการนำเสนอกันเลย ผมรู้สึกว่าซิสเต็มที่เคยใช้ฟังอยู่คล้ายกับถูกปลุกวิญญาณขึ้นมากระปรี้กระเปร่าร่าเริง เปรียบได้กับอาการของหนุ่มใหญ่ได้กลิ่น “สาวใหม่/ปลามัน” ยังไงยังงั้น มันไม่ใช่เป็นพลังแบบคึกคะนองอัดฉีดนะ แต่เป็นลักษณะของพลังแห่งอิสรภาพที่พร้อมจะปลดปล่อยตามลำนำของดนตรีซะมากกว่า (คือมันเป็นไดนามิกส์ของซิสเต็มที่เก๋ามากๆ) ฟังดนตรีแล้วรู้สึกชื่นอกชื่นใจเป็นพิเศษ
ในแง่ Resolution นี่ TQ นำเสนอแบบจาระไนละเอียดยิบ เนียนละเอียด มีพลังแฝงแต่ไม่โฉ่งฉ่าง ความโดดเด่นของสายชุดนี้อีกจุดที่ต้องพูดถึงคือ มันให้ความเงียบและสะอาดมาก สะอาดในระดับที่เห็นรายละเอียดแฝงในระดับหัวโน้ตซะด้วยนะ ที่ซุกซ่อนอยู่ก็ยังแพลมออกมาให้เห็นได้มากกว่าเดิม ยิ่งตอกย้ำหลักการออกแบบ ว่าด้วยการขจัดความคลาดเคลื่อนของเฟสที่ทำให้เกิดเงาเสียงที่รบกวนกัน ที่ทำให้เกิดอาการขุ่นมัวหรือน้ำหนักที่ขาดความเฉียบขาด โดยเฉพาะเรื่องของจังหวะในการนำเสนอ Tellurium Q Silver Diamond ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับท่านเชื่อมต่อซอร์สตรงไปที่ปรี เพาเวอร์ ลำโพง โดยไม่มีตัวอะไรมา “ลดทอน” สัญญาณ ผมว่านี่น่าจะสื่อตัวตนของมันได้ชัดเจนที่สุด มันคือ “สายเชื่อมต่อที่ให้เสียงราวกับไม่ได้ใช้สายเชื่อมต่อ” ผมลองฟัง The Four Seasons (TM-SACD8003.2) ไวโอลิน Stradivarius 1731 ในมือของ Elmar Oliveira ให้ความอิ่ม มีน้ำหนัก เสียงกังวานของไม้ที่ให้ความอุ่น แฝงมีรังสีเปล่งประกาย พลิ้วสลวยคล่องแคล่ว และทรงพลัง (ไดนามิกส์) เมื่อดื่มด่ำจนได้ที่ ผมพบว่า จังหวะการเล่นระหว่างไวโอลินที่วางพาดลงบนคอของนักดนตรีที่ถูกยึดโยงด้วยแขนที่จับขอไวโอลินและน้ำหนักนิ้วที่กดลงบนสายในขณะที่การประคองและเชื่อมต่อการกำเนิดเสียงด้วยแขนอีกข้างที่กำลังสีคันชักอยู่ มันให้อารมณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวราวไวโอลินกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเขาไปแล้ว ทั้งจังหวะหนักเบา ไทมิ่งแม่นยำเหล่านี้ไม่น่าเชื่อว่า จุดเด่นในเรื่องสัมพันธภาพของของเฟสสมดุลจากสายสัญญาณและสายลำโพงในอนุกรมนี้ มันทำให้ผม “เข้าใกล้” ราวกับมองเห็นภาพของตัวเองอยู่ในบรรยากาศการแสดงสดเบื้องหน้า Elmar Oliveira อย่างไงยังงั้น
ปลายแหลมของลำโพง Manger มีการโรลออฟที่เร็วกว่า Magico Q3 อย่างชัดเจน การทอดตัวของอากาศ หรือ Airy มีสาระให้ติดตามได้ เนื่องจากความได้เปรียบของลำโพงวางขาตั้ง แต่ก็ไม่อาจติดตามหรือรู้สึกจับได้ว่า ความตลบอบอวลของมวลอากาศนั้นค่อยๆ จางหายไปเมื่อไหร่ชัดเจนนัก อันนี้ WJ คงต้องปรับหูหน่อย เพราะฟังแต่พวกเบริลเลียมหรือโดมเพชรมานานหลายปีจนติดหู ก็จัดว่าความเป็นกลางของสาย Tellurium Q Silver Diamond นั้น อยู่ในขั้นเอาเป็นเอาตายกันเลยทีเดียว ในเรื่องโฟกัสของต้นเสียงตลอดย่านการทำงานในทุกย่านความถี่นั้น มันมีความเป็นตัวตนและไร้เงาเหลื่อม ทำให้ fundemental frequency ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นแยกแยะชัดเจนมาก อยู่ในโฟกัส ส่วนการคลายตัวไปสู่ฮาร์โมนิกส์ในลำดับถัดๆ ไปนั้น เปรียบเทียบได้กับฉากของภาพถ่ายที่จะค่อยๆ จางละลายไป โดยไม่ขึ้นโบเก้ ทำให้การเซ็ตอัพลำโพงและห้องฟังสนุกท้าทายขึ้นมาทันที (LP, The Wall, Columbia BL36185)
RCA COSO 5005, Casino Royale, German Press สะท้อนความโดดเด่นของ Tellurium Q Silver Diamond ในแง่ของสมดุลได้ชัดเจน ภาวะการประสานของเครื่องดนตรีหลากชิ้นในแบบของบิ๊กบราสแบนด์ เครื่องเคาะ เครื่องสาย รู้สึกสอดประสานและหนักแน่นในจังหวะเป็นพิเศษ ไม่ปรากฏการลุกล้ำหรือสาดซัดให้รู้สึกว่าเร่งเร้าแต่อย่างใดเลย ผลก็คือ ขยับวอลลุ่มดังขึ้นไปอีก ยิ่งฟังยิ่งฟิน เจ้าหล่อน Dusty Springfield ก็แสดง “มารยา” ในการร้องออกมาซะน่าหยิกจนผมอมยิ้ม คนเป่าแซ็กก็ใช่ย่อย ฟังแล้วรู้สึกถึงฝีมือการผ่อนลมที่จับจังหวะรอยต่อไม่เจอเลย (หมายถึงลมหายใจในการเป่าแต่ละเฮือก ลุ้นว่าลมหายใจจะขาดซะให้ได้) เรโซลูชั่นจาก Tellurium Q Silver Diamond จัดอยู่ในเกณฑ์หลุดพ้นพันธนาการทางสายไปแล้วครับ ให้ความรื่นรมย์ต่อการฟังเพลงมาก
ส่งท้าย
ว่ากันตามธรรมเนียมของ WJ เจ้าลำโพง Manger Zero Box 109 lle LE นั้น ผมนำมาใช้เป็นการส่วนตัว จึงไม่อยากกล่าวถึงคุณภาพเสียงอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะมันเป็นลำโพงคู่สุดท้ายที่เลิกผลิตไปแล้ว รวมทั้งผู้ก่อตั้ง/ผู้ออกแบบ/ผู้ประกอบไดรเวอร์ดาวกระจายของดั้งเดิมก็หมดวาระลาไปเฝ้าพระเจ้าซะแล้ว ทิ้งไว้แต่ลายเซ็นให้ดูต่างหน้าที่หลังลำโพง ส่วนเจ้าแอมป์ Hovland Radia ก็เลิกไปแล้วเช่นกัน แต่หนักกว่า เพราะแบรนด์นี้ถึงกับปิดโรงงานไปเลย อย่างไรก็ดี ผมขอสรุปความส่งท้ายกับเจ้าสายลำโพงและสายสัญญาณ Tellurium Q Silver Diamond ดังนี้…
มีคำกล่าวว่า การอัพเกรดบรรดาสายเชื่อมต่อทั้งหลายทั้งปวงนั้น สายไฟฟ้าเป็นการอัพเกรดที่เห็นผลได้มากที่สุด อันนี้ ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยกล่าว และวันนี้ก็ยังคงยืนยันเช่นนั้น แต่สำหรับสาย Tellurium Q Silver Diamond ที่เป็นอนุกรมสูงสุดของค่าย (ไม่นับตระกูล Statement) ผมคงจะต้องกล่าวเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วยว่า นี่เป็นการอัพเกรดที่เห็นผลพอๆ กับการอัพเกรดสายไฟครับท่าน ทีนี้ก็ต้องพิจารณาว่า การอัพเกรด ด้วยสายสัญญาณและสายลำโพงในอนุกรมสูงสุดที่ให้ผลเทียบเท่ากับ การอัพเกรดสายไฟนั้น มันคุ้มค่าเพียงไร สำหรับผมแล้ว นี่เป็นสาย สัญญาณและสายลำโพงที่ให้ความแตกต่างและโดดเด่นมากพอที่ทำให้ ผมไม่อาจปฏิเสธการอัพเกรดที่สำคัญในครั้งนี้ไปได้ แม้ว่าได้ใช้เวลาพิสูจน์ คุณค่า และขจัดความลังเลมากกว่าคนอื่นหรือกรณีอื่นๆ ก็ตาม มันปลุก ไฟบางอย่างในตัวที่ทำให้ผมต้องลุกมาปัดกวาดจัดแจงชำระสะสางและ กระตือรือล้นเพื่อการฟังเพลงในมิติที่น่าค้นหาต่อไป (คึกคักและรื่นรมย์)
ถ้าคุณแน่ใจว่า ซิสเต็มในระบบให้ความสมดุลและเป็นกลาง(ดี) มากพอ คุณต้องการการปลดปล่อยสัญญาณต้นกำเนิดชนิดไร้ตัวตนของ สายนำสัญญาณหรือสายลำโพง และต้องการฟังเสียงจริงๆ ในซิสเต็ม ของคุณ ขอให้ท่านพิจารณาทดลองฟัง Tellurium Q Silver Diamond เป็นตัวเลือกในลำดับ Top 3 ในการอัพเกรดสายด้วยครับ อ้อ! นั่นยัง หมายความรวมไปถึงราคาสายแบรนด์อื่นๆ ที่ขายแพงกว่ากัน 3 เท่า ด้วยนะครับ แนะนำเป็นอย่างยิ่ง. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 252
No Comments