TechDAS Air Force V Premium
เครื่องเล่นแผ่นเสียง TechDAS คงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในบ้านเราแล้วว่าเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงไฮเอ็นด์จากญี่ปุ่นที่ปัจจุบันนำเข้าอย่างเป็นทางการครบทุกรุ่นโดย บริษัท Deco2000 จำกัด
คราวที่แล้วผมได้รีวิวรุ่น Air Force V อย่างละเอียดใน Audiophile Equipment Reviews https://www.audiophile-videophile.com/audiophile-review/techdas-air-force-v/ จำได้ว่าน่าจะเดือนกันยายน 2020 คราวนี้พอดีทาง คุณกฤตย์ ฮ้อเผ่าพันธุ์ Product Specialist จาก Deco2000 แจ้งมาว่ามีรุ่นใหม่ คือ รุ่น V Premium เข้ามา ผมเลยแสดงความจำนงอยากจะขอรีวิว
ซึ่งคราวนี้ ผมรีวิวเพื่อนำเสนอใน electronic journal ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความสั้นความยาวของบทความ แถม dynamic กว่า ตรงที่สามารถกด hyperlink เพื่อเข้าไปฟังไฟล์เพลงที่เตรียมไว้ให้คุณผู้อ่านได้ฟัง คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าสิ่งพิมพ์เดิมนะครับ
สำหรับเรื่องประวัติความเป็นมาของแบรนด์นี้ ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดอะไรแล้วนะครับ สามารถหาอ่านได้จากรีวิว Air Force V เวอร์ชั่นธรรมดาตามลิงก์ข้างบน ผมเขียนไว้ค่อนข้างละเอียดทีเดียว รีวิวนี้เหมือนเป็นภาคต่อจากเวอร์ชั่นเดิม มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรที่เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบ้างในเวอร์ชั่น Premium นี้
โครงสร้าง
ตอนแรกผมคิดว่า รุ่น Premium นั้น น่าจะ up ตัว platter ให้เป็น gun metal แบบรุ่น III Premium แต่สุดท้ายของจริงออกมาไม่ใช่อย่างที่คิด ถ้าดูเผินๆ แล้วแทบไม่เห็นความแตกต่างของทั้งสองรุ่นนี้ แต่เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นสิ่งที่แตกต่างในตัวแท่นเครื่อง
ทางซ้ายคือรุ่น V ธรรมดา ส่วนทางขวาคือรุ่น Premium แต่น้ำหนักของทั้งสองรุ่นนี้ต่างกันถึง 8 กก. (18 vs. 26 กก.) โดยส่วนที่ต่างกันคือ ตัว chassis ที่ตัวธรรมดาหนัก 11 กก. ขณะที่รุ่น Premium 19 กก. ถ้ามองภาพข้างบนจะเห็นได้ว่า โครงสร้างของ Premium เป็น solid aluminum แบบไม่มีรอยต่อ ขณะที่รุ่น V ธรรมดาเป็นแบบ component โดยนำชิ้นส่วนของ aluminum และ Duralumin มาประกอบกัน ทำให้เครื่องมีความหนักความนิ่งมากกว่ารุ่นเดิม นอกจากนี้ ส่วนอื่นๆ ที่ต่างกันก็พวกปุ่มกดต่างๆ ที่เป็น chrome สวยขึ้น และตัว center spindle ที่เป็นแบบโลหะทรง conical และเหมือนให้ตัวเด้งขึ้นลงได้ต่างจากตัวธรรมดาที่เป็นแกนเดือยปกติ
การ set up ต่างๆ ของรุ่น Premium เหมือนกับรุ่นปกติครับ ตัวเครื่องมีสองส่วนหลักๆ คือ ตัว 1. supply unit ที่ทำหน้าที่จ่ายไฟเข้าระบบปั๊มลมเพื่อยก platter ให้ลอยขึ้นจากฐาน plate กระจก และมีระบบดูด vacuum hold down สำหรับดูดแผ่นให้แนบกับ platter และ 2. Main unit ที่เป็นตัวเครื่องเล่นและจุดติดตั้งอาร์ม
เรามาชมภาพ set up กันแบบไวๆ นะครับ หรือชมจากคลิปนี้ที่ผมทำไว้ https://www.youtube.com/watch?v=x9IfqHKgx04
ระบบการทำงานขับเคลื่อนแป้นหมุนเป็นแบบ belt drive ที่ซ่อนตัวมอเตอร์ไว้ภายใน chassis ตำแหน่งมอเตอร์คือตรงประมาณ 10 นาฬิกาของ sub-platter unit แขวนลอยบนยางสามจุดตรงฐาน plate กระจก ตอนติดตั้งต้องทำความสะอาดอย่างดีใม่ให้มีฝุ่นก่อนวาง sub-platter เพื่อให้การกระจายลมเป็นไปอย่างเรียบ และเป็น thin film ระบบการทำงานของมอเตอร์มีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็นในเครื่องยี่ห้ออื่น โดยเป็นแบบ microprocessor control คุมรอบด้วย sensor ตรงตำแหน่งประมาณ 1 นาฬิกา ใต้ plate กระจก
กระบวนการติดตั้งทุกอย่างเหมือนกับตัว V ธรรมดาทุกอย่าง ใช้เวลาในการติดตั้งในส่วนของแท่นประมาณครึ่งชั่วโมงก็เรียบร้อย และอีกครึ่งชั่วโมงสำหรับการเซ็ตอาร์มแต่ละตัว (ตัวเครื่องสามารถติดอาร์มได้สูงสุดถึงสี่อาร์ม) สำหรับอาร์มที่ใช้ก็เป็นตัวเดิมในตำแหน่งเดิมที่ใช้ทดสอบรุ่น V ธรรมดา คือ… ใช้อาร์ม Fidelity Research: FR64s ติดตั้งหัวเข็ม PhaseTech P3 Alexandrite ที่เป็น low mc output และอีกอาร์มหนึ่งติดตั้ง Jelco 750L อาร์มยาว 12 นิ้ว กับหัวเข็ม EMT TSD15-n ผมเลือกเพลงเดียวกันสองเพลงในสอง arm setting นี้ เพื่อการเปรียบเทียบ และได้ริปออกมาเป็นไฟล์ด้วย A to D converter ตัวเดิม ปรับ gain ให้เท่ากันเป๊ะๆ เพื่อสามารถฟังเทียบกันได้ทันทีระหว่างความแตกต่างของสองแท่นนี้ โดยปัจจัยอื่นเหมือนเดิมหมด เสียงจะต่างกันอย่างไร?
Operation
ผมเซ็ตตำแหน่งอาร์มทุกอย่างเหมือนกับตอนที่เซ็ตเมื่อทดสอบตัว Air Force V ธรรมดา ใช้หัวเข็มมวลหนักอย่าง PhaseTech P3 กับอาร์ม FR64s และหัวเข็มมวลเบาก้านเข็มอ่อน (high compliance) อย่าง EMT TSD15-n และ Benz Micro Glider ในการทดสอบช่วงหลังๆ กับอาร์ม Jelco 750L ตัวเครื่องเมื่อเปิดสวิตช์ main ac ที่ supply แล้ว จะขึ้น standby mode และลมที่เป่ายก platter จะเริ่มทำงาน เมื่อกด start เลือกสปีดที่เล่นจะใช้เวลาไม่กี่อึดใจที่ระบบคุมรอบ lock ความเร็วให้คงที่ (lock) และเมื่อกดปุ่ม stop ค้างไว้สักสามวินาที ตัวเครื่องจะเข้าสู่ standby mode และถ้าไม่สั่งการอะไรเครื่องสักพัก เครื่องจะเข้าสู่ idle mode ตัดระบบการเป่าลมยก platter เพื่อถนอมอายุการใช้งาน
แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบมีดังต่อไปนี้
- Ayako Hosokawa: A whisper of love (IMP6023) Track: I wish you love
- Sara K & Chris Jones Live in Concert (Stockfisch SFR357.8030.1) Track: Stop those bells
- Concerto for Harp and Orchestra: Mai Takematsu (MJ Records MJLP1001)
- Fly me to the moon (Lloyd Marcus) Audiophile Choice Vol. 1
- Yello One Second: La Habanera (Mercury 830956-1)
- She’s Leaving: McCoy Tyner (I got no kick against) Modern Jazz GRP
- Sempre Libera – Violetta (Anna Netrebko & Rolando Villazon) Deutsche Grammaphone 00289 477 6167
- Light Blue: Stanley Turrentine – That’s where it’s at Blue Note (Tone Poet 84096)
สองแผ่นแรก ผมเลือกแทร็กเดิมที่เคยใช้ทดสอบตัว V ธรรมดา คือเพลง I wish you love และ Stop those bells เพื่อการเปรียบเทียบชัดๆ ว่า ต่างกันอย่างไร?
Fidelity Search: FR64s + V Premium
เริ่มแรก ผมฟังอาร์ม FR64s ตัวเดียวก่อน เนื่องจากอาร์มบอร์ดอีกชิ้นหนึ่งยังมาไม่ถึง เนื่องจากอาร์ม FR นี้เป็นรุ่นมวลหนัก effective arm mass สูง (ถ้าจะเล่นรุ่นมวลเบาต้องรุ่น 64fx) จึงเหมาะกับหัวเข็มที่ค่อนข้างหนักและมีก้านเข็มที่ค่อนข้างแข็ง (low compliance) อย่าง PhaseTech P3 (compliance = 7.3)
ผมเริ่มต้นด้วยแผ่น Audiophile Choice Vol. 1 เสียงนักร้องชาย Lloyd Marcus กับเพลงอมตะ Fly Me to The Moon (https://soundcloud.com/emt930/fly-me-to-the-moon-1) แผ่นเสียงชุดนี้เป็นสังกัดเล็กๆ ชื่อค่าย Premium Records มีผู้นำเข้ามาจำนวนน้อยอาจจะหายากสักนิด แต่บันทึกเสียงได้ดีมาก สิ่งที่ได้รับรู้เมื่อเล่นแผ่นนี้บนแท่น V Premium คือ… ช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีที่แยกกันได้ดีกว่าแท่นอื่นๆ ขอบเขตชิ้นดนตรีเสียงร้องที่ชัดเจน นอกจากแยกองค์ประกอบเสียงต่างๆแล้ว ยังรับรู้ได้ถึง ambient รอบๆ ชิ้นดนตรีได้อีกด้วย ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นจากสองส่วนคือ air bearing ที่ทำให้ background noise จากระบบแท่นน้อยมากแทบไม่มี และอีกส่วนหนึ่งคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแผ่นเสียงกับตัว platter จากระบบ vacuum hold down ดังนั้น นี่จึงเป็นคำตอบของการเลือกองค์ประกอบของ V Premium คือ 1. การปราศจากเสียงรบกวนของระบบ bearing ด้วยการทำงานของ air bearing 2. การแนบสนิทของแผ่นเสียงกับตัว platter ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่อง wow and flutter ของปลายเข็ม ขณะที่วิ่งไปในร่องแผ่นเสียง 3. วัสดุที่ใช้ทำ platter ที่มีมวลหนัก (solid aluminum 7 กิโลกรัม) มีความนิ่ง มีการ damp เสียง (พื้นผิวของ platter มีลักษณะคล้ายยางสังเคราะห์) ผลที่ตามมาคือ ไม่มีแรงสั่นสะเทือนแปลกปลอมอื่นใดที่จะปะปนเข้ามากับการที่ปลายเข็มสั่นสะเทือนไปในร่องแผ่นเสียง และทำให้เรารับรู้ได้จากการฟังดังที่กล่าวมาในตอนต้น กับแผ่นเสียงที่หายากอีกแผ่นหนึ่งเป็นแผ่นทดสอบแผ่นคู่ของนิตยสารของชาว DIY ญี่ปุ่น MJ Audio Technology (ภาษาญี่ปุ่นล้วนนะครับ ข้อมูลสมัคร http://www10.big.or.jp/~dh/faq/mj/) ชุดนี้แผ่นหนึ่งเป็นแผ่นทดสอบ เช่น ไล่ความถี่ต่างๆ อีกแผ่นหนึ่งเป็นเพลง ผมเลือกเอาเพลงคุ้นหูนักเล่นเครื่องเสียงบ้านเรา (เพลงเดียวกันนี้ แต่คนละวงเล่นอยู่ในแผ่นซีดีทดสอบ Burmester Vol.2 ปกสีขาว) คือเพลง Harp Concerto in B flat major ของ Handel ศิลปินเล่น Harp คือ Mai Takematsu น้ำเสียงของ V Premium ให้ความโอ่อ่าของเสียง และ 3D dimension ของวง string orchestra ได้เสียงที่เต็มห้อง รายละเอียดของเสียงต่างๆ มากมาย การเน้นหนักเบาของการดีดสาย Harp ชัดเจน และที่สำคัญคือ… harmonic จากการสั่นของสาย Harp ที่ได้ยินชัดเจน อันนี้เป็นผลดีมาจากตัวแท่นที่เรียกได้ว่า rumble free ไม่มีสิ่งแปลกปลอมขึ้นมารบกวนการอ่านข้อมูลของ stylus เลย
Jelco 750L + V Premium
ลองมาฟังฝั่งอาร์ม Jelco 750L กันมั่ง ช่วงแรกผมใข้หัวเข็มสองตัวทดสอบ คือ EMT TSD15-n (เลิกจำหน่ายรุ่นนี้แล้ว) คือเป็นการเอาเปลือกของ TSD15 ออก เหลือแต่ตัวเปลือยๆ เพื่อให้เล่นกับอาร์มอื่นได้ง่ายๆ เลือกเพลงสนุกๆ ของวง Yello ชุด One Second ให้ฟังเพลง La Habanera ตอนต้นเพลงมีเสียงรถยนต์วิ่งจากซ้ายไปขวาสมจริงใช้ได้เลย เสียง Percussion ต่างๆ กระจายเต็มสนามเสียงหน้าลำโพง เสียงของ Boris Blake อิ่มใหญ่ V Premium ให้มิติเสียงซ้ายขวาและทางลึก เยี่ยมมาก
หยิบอีกแผ่นหนึ่ง แผ่นสังกัด GRP เล่นเพลงของ Beatles เสียงวง Trio ของ McCoy Tyner เพลง She’s Leaving ผมใช้ทดสอบเวลาต้องการฟังความต่อเนื่องลื่นไหลของวง ถ้าซิสเต็มดีจะได้รับรู้ถึงการเล่นปฏิสัมพันธ์ของนักดนตรีในวงได้ เช่น การไล่โน้ตล้อกันระหว่างเปียโน กับลำโพง V Premium ให้ความไหลลื่นของวง การเล่นที่เน้นหนักเบาในแต่ละช่วงได้อย่างดี ชอบที่สุดคือ… ความอ้อยสร้อยตอนท้ายสุดของเพลง และเสียงสายเปียโนคีย์ต่ำที่บันทึกมาได้ดี รายละเอียดเล็กๆ ช่วงเสียงเบาๆ (low level detail) นี้ต้องอาศัยซิสเต็มที่มี background noise ต่ำมากๆ และให้รายละเอียดที่ดีจึงจะได้ยิน
จากนั้น ผมก็ทดสอบกับหัวเข็มตัวใหม่แกะกล่องคือ Benz Micro Glider รุ่น low output version 0.4 mV ซึ่งซื้อมาทดแทนหัวเข็มรุ่น SL Wood ที่หมดสภาพแปดปีกว่าแล้ว สำหรับหัวรุ่นนี้เป็นหัวที่น้ำหนักเบาและก้านเข็มอ่อนตัวจึงเหมาะที่จะเล่นกับอาร์ม Jelco มากกว่า FR
เมื่อหัวเข็มพ้นเบิร์นแล้วก็ทดลองฟังและบันทึกแผ่นเสียง Blue Note ที่ค่าย Tone Poet นำมารีมาสเตอร์แผ่นของ Stanley Turrentine ชุด That’s Where It’s At เพลง Light Blue
พอได้หัวเข็มใหม่ๆ ปลายเข็มคมๆ ปลายเสียงแหลมของมือกลองที่ตีบนฉาบเป็นประกายดีมากเลย การบันทึกเสียงก็เป็นเอกลักษณ์ของ Rudy van Gelder คือฉีกเวทีเสียงซ้ายขวาอย่างชัดเจน เสียงแซ็กของ Stanley ฉีกออกไปทางซ้าย และมี ambient สะท้อนมาทาง channel ขวาให้รับรู้ได้ยินได้
V Premium รองรับการทำงานของอาร์มและหัวเข็มได้อย่างแม่นยำและเชื่อใจได้ ช่วยให้ Glider ถ่ายทอดการบันทึกจากร่องแผ่นเสียงทุกเม็ดไม่ตกหล่น
สุดท้ายก็ลองแนวเพลงอื่นที่โหดๆ หน่อย คือแผ่น La Traviata ที่เป็นการดวลกันระหว่างยอดนักร้องโอเปร่าฝ่ายหญิง คือ Anna Netrebko และ Rolando Villanzon กับ Aria ท่อนดัง Sempe Libera ใครไม่เคยฟังโอเปร่า ผมแนะนำให้เริ่มจากการดูภาพพร้อมเสียงในแหล่งอย่าง youtube ก่อน พร้อมกับหาอ่านเนื้อเรื่องไปด้วย แล้วจะค่อยๆ ซึมซับจนมีภูมิต้านทานพอที่จะนั่งฟังเพลงอย่างเดียวโดยไม่มีภาพเคลื่อนไหวได้
น่าทึ่งกับพลังเสียงของ Rolando ที่ร้องในช่วงแรก (เวลาในคลิปเสียงของผมที่ 1:59) อันนั้นเขาร้องมาจากข้างหลังเวทีเลย แล้วตอนท้ายเพลงค่อยมาร้องประจันหน้ากันกับฝ่ายหญิง ส่วนน้ำเสียงของ Anna ก็สุดยอดมาก ไดนามิกของการโหนเสียงจากเบาไปดังนี่ น่าตื่นตะลึง (บางช่วงเสียงที่บันทึกมาเกือบจะ clip เลย) Anna ต้องแสดงด้วย ร้องไปด้วย (ร้องสดไม่มีไมค์ช่วย) และต้อง sync กับวงออร์เคสตร้าที่เล่นอยู่ด้านล่างอีก มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แผ่นนี้แน่นอนว่าเป็น digital recording แต่ว่าตัดแผ่นเสียงได้เสียงดีทีเดียว บางช่วงของคลิปเสียงท่านอาจจะได้ยินเหมือนเสียง rumble แต่ไม่ใช่นะครับ เป็นเสียงฝีเท้าเดินของนักแสดง (Anna) บนเวทีแสดง (เช่น ช่วง 0:40 หรือ 2:57 ของคลิปผม)
สิ่งที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นสูงๆ ราคาแรงๆ สามารถให้ได้ในเพลงพวกนี้คือ ฐานเสียงต่ำของวงออร์เคสตร้า และการสนับสนุนการทำงานของหัวเข็ม (กับ phono stage) ให้ได้ไดนามิกเสียงที่กว้างกว่าอยากให้ฟังด้วยการ download ไฟล์ที่ผมใส่ไว้ไน google drive นะครับ จะใกล้เคียงความเป็นจริงและเสียงดีกว่าการฟัง streaming จาก google drive ผ่าน app บน platform ต่างๆ เช่น มือถือ หรือ iPadกรุณา download ได้ที่ t.ly/CUpV หรือสแกน QR code ข้างล่างนี้
V vs. V Premium
ผมคิดว่าท่านต้องมีคำถามแน่นอนว่าระหว่าง V รุ่นธรรมดา (ซึ่ง discontinued ไปแล้ว) กับรุ่น V Premium ที่มาแทนที่ เสียงต่างกันมากน้อยแค่ไหน ผมเลยจัดการ setting ทุกอย่างในการเล่นและบันทึกสองเพลงจากแผ่นข้างบนนี้ให้ท่านฟัง จัดการปรับระดับความดังต่างๆ ให้เท่ากันเป๊ะๆ ให้ฟังเปรียบเทียบกันบน soundcloud โดยแต่ละเพลงจะเล่นสองรอบ ท่อนแรกมาจากแท่น V ธรรมดา ส่วนเพลงเดียวกันช่วงหลังมาจาก V Premium ในทั้งสองเพลงสังเกตได้ว่าท่อนหลังที่เป็น Premium เสียงมีความผ่อนคลายกว่า เสียงเปิดกว่าท่อนแรก ถ้าไม่ฟังเทียบกัน เสียงจาก V ธรรมดาก็ดีมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกันจะจะก็ได้ยินความแตกต่างที่สังเกตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัว V ธรรมดาก็ได้ยุติการผลิตไปแล้ว และราคาตัว V Premium ก็สูงกว่า V discontinue ประมาณ 7 หมื่นบาท ท่านอาจจะคิดว่าเพิ่มเยอะ แต่ผมว่าไม่เลย เมื่อเทียบชิ้นงานตัว chassis ทั้งก้อน และยิ่งเมื่อเทียบกับราคา arm board adaptor สีดำๆ ที่ถ้าจะสั่งของใหม่เพิ่ม นั่นชิ้นละ 38,000 บาทเลยนะครับ ดังนั้น ผมว่าจ่ายเพิ่มเจ็ดหมื่น แล้วได้ solid block chassis ถือว่าไม่แพง
เชิญทดลองฟังคลิปเสียง vinyl rip file จากทั้งสองแท่น ดังต่อไปนี้ครับ แนะนำว่า download เป็น wav file มาฟังจะดีที่สุด
เพลงแรก I wish you love ของ Ayako
เพลงที่ 2 stop those bells ของ Sara K.
สำหรับ playlist ที่ลงใน soundcloud (ที่ soundcloud อนุญาตให้ลง ไม่ติดลิขสิทธิ์เพลง) อยู่นี่ครับ
Air Force V Premium vs. Air Force III
ทีนี้ก็มีให้สงสัยอีกว่า V Premium นี่ ราคามันจะไปแตะใกล้ๆ Air Force III ไหม คนอาจคิดว่างั้นเพิ่มอีกหน่อยไปเล่น Air Force III เลยดีไหม คำตอบก็คือว่า Air Force III ธรรมดาก็ discontinued แล้วเหมือนกัน มีแต่รุ่น Air Force III Premium ที่เป็น gun metal platter ซึ่งราคาแพงกว่า V Premium เท่าตัวเลยทีเดียว (520,000 vs. 1,120,000 บาท) ดังนั้น ถ้าอยากสัมผัสแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับโลกไฮเอ็นด์จากญี่ปุ่น ตัว V Premium เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นน้องเล็กจาก TechDAS จึงยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดครับ ลองสัมผัสและรับฟังได้ที่ทาง Deco2000 เมื่อหลังภาวะ Covid-19 คลี่คลายแล้วนะครับ. ADP
ราคา 520,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท เดโค 2000 จำกัด
โทร. 089-870-8987
No Comments