TechDAS Air Force V
นักเขียน : นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์
Stella inc. เป็นบริษัทแม่ของ TechDAS แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับ hi end ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ด้วยการเปิดตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ air bearing อันโด่งดังรุ่น Air Force One อันที่จริง TechDAS ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพราะผู้ออกแบบเครื่องทุกรุ่นของ TechDAS คือ
“Hideaki Nishikawa” ผู้ออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Micro Seiki อันโด่งดังช่วงทศวรรษ 80 นั่นเอง ในยุคที่เขาเป็นตัวแทนนำเข้าเครื่องเสียงกลุ่ม analog สำหรับบริษัท Stella นั้น เขาพบว่ามันยังไม่ได้เสียงที่ดีพอสำหรับเขา เขาจึงปัดฝุ่นโครงการเก่าที่เขาเคยออกแบบ Micro Seiki SX8000 อันโด่งดังสมัยก่อน มาสร้างเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวใหม่ และก็ออกมาเป็น Air Force one ที่เราเห็น คำว่า “DAS” ใน TechDAS นั้น ย่อมาจาก “Digital Analog Supremacy” โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ร่วมกับกระบวนการผลิตที่แม่นยำเที่ยงตรง เพื่อให้ได้เครื่องเล่นแผ่นเสียงในอุดมคติ
หลังจากที่ Air Force One ได้เปิดตัวเมื่อปี 2012 ทาง TechDAS ก็ทยอยออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงตามมาอีกหลายรุ่นตามภาพ และมี premium version ที่หลักๆ จะเป็นการ upgrade main platter เป็น gun metal copper อย่างเช่นในรุ่น AF III ตัว premium จะเป็น gun metal copper น้ำหนัก 29 กิโลกรัม หนักกว่ารุ่นธรรมดาที่เป็นอะลูมินัมสามเท่า ไล่เรียงเบอร์รุ่นมาเรื่อยๆ และสังเกตได้ว่าจะข้ามรุ่น “สี่” ไป คิดว่าคงจะมีเสียงพ้องกับความหมายที่ไม่ค่อยเป็นมงคลนัก เลยข้ามมาเป็นรุ่นน้องเล็กล่าสุดคือรุ่น Air Force V (ขออนุญาตใช้ตัวย่อเป็น AF5 แทนนะครับ) จริงๆ รุ่นล่าสุดคือรุ่น Air Force Zero ที่เป็นรุ่นใหญ่สุดที่เปิดตัวเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมานี่เอง แต่คงจะเกินเอื้อมที่จะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีของ TechDAS
ทาง Deco2000 ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ TechDAS ได้แจ้งว่า ขณะนี้ได้นำเข้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาครบทุกรุ่นแล้ว (ยกเว้นรุ่น Zero) ผมจึงมีความสนใจมากที่จะขอรีวิวเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อนี้ โดยเลือกรุ่นน้องเล็กสุดที่มีความกะทัดรัด และคิดว่านักเล่นทั่วไปน่าจะพอหามาเล่นหากันได้ จึงเป็นที่มาของรีวิวฉบับนี้
AF 3 vs. AF 5
ถ้าเราดูขนาดรูปร่างของ AF5 แล้ว จะเห็นว่าส่วนแท่นหลักนั้นมีรูปร่างหน้าตาและขนาดใกล้เคียงกับ AF3 มากทีเดียว มีฟังก์ชันเหมือนๆกันคือ มี air bearing platter และระบบดูดแผ่น vacuum hold down เหมือนกัน มีตัวถังแทบจะเหมือนกันหรือเท่าๆ กัน แต่ราคานั้นถูกกว่าเกือบเท่าตัว นี่เลยเป็นสาเหตุที่ AF5 เป็นตัวที่น่ารีวิวมาก
สิ่งที่แตกต่างกัน คือ…
1. การแยก motor ไว้ด้านนอกและเรื่องของ pitch control ที่มีเพิ่มมาใน AF3 (ซึ่งผมมองว่ามันไม่จำเป็นและไม่ได้ใช้งานจริงหรอกครับ)
2. น้ำหนักของ platter ซึ่งแน่นอนว่า AF3 มีน้ำหนักมากกว่า (6.7 vs. 9 kg platter) เพราะใน AF5 เมื่อเอาตัวมอเตอร์ไปซ่อนไว้ใต้ platter แล้ว ก็ต้องมีเนื้อที่เว้นให้มีส่วนของแกนมอเตอร์และ pulley ไว้ด้วย ยิ่งถ้าเป็นรุ่น AF3 Premium ซึ่งมีน้ำหนัก platter ถึง 29 กิโลกรัม ทำให้การออกแบบ chassis ต้องมีความแข็งแรงมากกว่า AF3 ปกติขึ้นมาก และน้ำหนักรวมของ AF3 Premium นั้นหนักถึง 55 กิโลกรัมเลยทีเดียว (AF3 ปกติ จะหนัก 34 กิโลกรัม)
3. น้ำหนักของ chassis ตรงนี้ต้องอธิบายไม่งั้นคนที่ซื้อ AF3 ไปก่อนจะข้องใจว่า รุ่น 3 กับ 5 นี่ ใช้ chassis เดียวกันใช่หรือไม่หน้าตามันก็คล้ายๆ กันมากตามภาพด้านล่าง
Air Force 3 Air Force 5
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือน้ำหนักน้ำหนักส่วนของ chassis ในรุ่น AF3 หนัก 21 กิโลกรัม ขณะที่น้องเล็ก AF5 หนักเพียง 11 กิโลกรัม ถ้ามันใช้ chassis เดียวกันหรือแชร์วัสดุร่วมกัน มันควรหนักพอๆ กัน เผลอๆ รุ่น 5 ควรหนักกว่าเสียอีก เพราะมีนำหนักมอเตอร์พ่วงมาด้วย แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ รุ่น 3 กับ 5 เป็นคนละดีไซน์ และสายการผลิตกันเลย ตัวถังของรุ่น 3 เป็นอะลูมิเนียมหล่อทั้งชิ้น ขณะที่รุ่น 5 เป็นอะลูมิเนียม และ durarumin เป็นชิ้นๆ ประกอบกัน ดังนั้น ความแข็งแรงและมูลค่าการผลิตจึงแตกต่างกันชัดเจน ท่านที่ซื้อรุ่น AF3 ไปก่อนหน้านี้คงหายข้องใจได้นะครับ
เก่งเล็ก TechDAS Air Force V : setup
เอาละครับ หลังจากเคลียร์เรื่องคาใจระหว่างรุ่น 3 กับ 5 ไปได้แล้ว เราก็เริ่มมา setup ตัว AF5 กัน เครื่องเล่นแผ่นเสียงจะสนุกที่สุดก็ตอน setup นี่แหละครับ ตัวเครื่องจะประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ คือ ตัว main unit ที่เราวางแผ่นเล่นกัน และตัว power supply unit ทำหน้าที่จ่ายไฟ เป็นปั๊มลมดัน platter และเป็น vacuum ดูดแผ่นเสียงให้แนบติดกับ platter
Power supply ตัวนี้ ขาตั้งเป็นลูกยางแบบพิเศษที่ผมไม่เคยเจอในเครื่องไหนมาก่อน คือมีความยืดหยุ่นสูง ให้ตัวได้ในแนวระนาบด้วย คงเป็นการออกแบบเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนและลดเสียงรบกวน เครื่องทำงานเงียบมาก แทบไม่ได้ยินเสียงปั๊มลมเลย ส่วนของ air filter กับพวก dryer คงถูกซ่อนอยู่ข้างในทั้งหมด
ตัวแท่น เรา setup กันตั้งแต่ล่างขึ้นบนเช่นเดียวกับแท่นอื่นทั่วไป ขาของแท่นมีสี่จุดสามารถหมุนปรับระดับได้
ฐานล่างสุดเป็นแผ่นกระจก ตัวลมที่ดัน platter จะกระจายตัวเป็นแผ่นฟิล์มอยู่เหนือแผ่นกระจกนี้ เพื่อให้การกระจายของลมราบเรียบที่สุด ดังนั้นจึงมีประเด็นสำคัญในจุดนี้อยู่สองอย่างคือ 1) ก่อนวางชิ้นส่วนต่อไป แผ่นกระจกนี้ควรจะต้องสะอาดไม่มีฝุ่นผงหรือน้ำมันใดๆ ที่ขัดขวางการกระจายตัวของลม 2) ต้องบอกลูกหลานหรือคนทำความสะอาดบ้านว่า เมื่อเครื่องไม่ได้เปิด ปั๊มลมไม่ทำงาน ตัว platter จะนั่งทับแผ่นกระจกนี้ ดังนั้น ห้ามไปฝืนหมุน platter เพราะจะทำให้แผ่นกระจกนี้เสียหายได้
ตรงตำแหน่ง 10 นาฬิกาของ glass plate จะเห็นจุดยึดมอเตอร์สามจุด เป็นลูกยางและมีความยืดหยุ่นให้ตัวได้เพื่อลดแรงสั่นสะเทือน และมีสกรูสองตัวสำหรับล็อกมอเตอร์เวลาเคลื่อนย้าย (ต้องไขออก เมื่อจะเล่น)
ตรงกลาง เราจะเห็นช่องเล็กๆ ตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกา เป็นช่องลมออกสำหรับดัน platter ส่วนของบ่าตรงกลาง spindle จะเป็นช่องต่อขึ้นไปยังเหนือท่อ sub platter เพื่อำหน้าที่ดูดแผ่น vacuum hold down และจะเห็น optical sensor ที่ทำงานเป็นระบบ servo control คุมรอบการหมุนของ platter ให้แม่นยำที่สุด
ชิ้นต่อไปก็เป็น main sub platter ที่จะวางทับบน glass plate มีรูอยู่สามจุด สำหรับให้เราใส่เดือยเป็น guide เวลาวาง main platter ลงสวมทับอีกที ตัวสายพานมอเตอร์ก็จะคล้องที่ sub platter ชิ้นนี้ และจะมองไม่เห็นสายพานจากภายนอก เมื่อเราวาง main platter ลงไป
หลังจากวาง main platter ลงไป ก็มีขั้นตอนใส่ center screw อะไรอีกเล็กน้อย และต่อสายภาคจ่ายไฟ เปิดเครื่องและทดสอบรอบการหมุน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเซ็ตตัวแท่น
เมื่อเราเปิด on ที่ตัว power supply ที่หน้าจอของเครื่องหลักจะเป็นการ standby อยู่ ปั๊มลมที่จะดัน platter ยังไม่ทำงาน ต้องกดปุ่มทางซ้ายสุดเพื่อ on อีกที ตอนนี้ platter จะลอยและไร้แรงเสียดทาน จากนั้นเราก็เลือกสปีดที่ต้องการใช้งาน ตัววัดรอบมีความแม่นยำทศนิยมสองตำแหน่ง เมื่อได้รอบเป๊ะแล้ว เครื่องจะล็อกความเร็วที่สปีดที่เราเลือก
สำหรับการ setup อาร์มกับตัวแท่นนั้น AF5 มีเสาสำหรับติดตั้งอาร์มบอร์ดได้ถึงสี่จุดสี่อาร์มเลยทีเดียว ตัวอาร์มบอร์ดก็ทำจากอะลูมินั่มกลึงทั้งชิ้น และมีแหวน washer ไนลอนมาให้เพื่อไม่ให้ตัวถังเครื่องเป็นรอย เมื่อเราติดตั้งอาร์มแล้วหมุนไปมาจนได้ระยะ pivot spindle ที่ต้องการสำหรับอาร์มเราแล้ว ก็ทำการล็อกสกรูหกเหลี่ยมที่ยึดกับเสาอาร์ม ถ้าเราใช้อาร์มรุ่นไหนสามารถแจ้งทางบริษัทให้ทำมาให้ได้ หรือว่าจะใช้ของเดิมที่เคยใช้กับ Micro Seiki พวก RX1500, 5000, 8000 ก็ใช้กันได้เลยครับ กระบวนการเซ็ตแท่นตั้งแต่แกะกล่องจนพร้อมติดตั้งอาร์มใช้เวลาประมาณ 30 นาที
Sound Test
ในวันแรกที่คุณกฤตย์ Deco 2000 กับผมช่วยกันเซ็ตนั้น เราเตรียมอาร์มบอร์ดมาสำหรับ SME3009 และ FR64 แต่บังเอิญว่าอาร์ม SME ของผมนั้นไม่สมบูรณ์ เลยยังเล่นไม่ได้ ส่วนอาร์มบอร์ด FR64 ผมมีอาร์ม FR64s อยู่ แต่ว่าไม่มีแหวนล็อกฐานอาร์มด้านล่าง เลยยังเล่นไม่ได้อีก ในภาพก็เอาอาร์ม Jelco 750L (12 นิ้ว) มาวางเล่นๆ ดูก่อน เซ็ตระยะ pivot spindle ไม่ได้กับ FR64 arm board เนื่องจากเป็นบอร์ดสำหรับอาร์มสิบนิ้ว สั้นไป หมุนอาร์มเหยียดจนสุดก็ระยะไม่พอ เลยต้องรออาร์มบอร์ดและแหวนล็อกฐานอาร์ม FR มาใหม่ เมื่อได้อาร์มบอร์ดใหม่ก็จัดการจับคู่ FR64s กับอาร์มบอร์ด FR64 และ Jelco 750L กับ FR66 arm board (โชคดีที่แกนอาร์มลงช่องได้พอดี และจุดยึดสกรูฐานอาร์มก็พอดีกัน)
• หัวเข็ม EMT TSD15N และ Benz Micro SL Wood สำหรับอาร์มJelco 750L
• Step-up transformer Western Electric 618B และ Soundaries Audio 618B
• Keen Audio Tube Interstage Phono ของอาจารย์แปะ สาทร เมืองนนท์
แผ่นที่ใช้ทดสอบมีดังต่อไปนี้ และสามารถฟัง+download ได้ที่
soundcloud.com/emt930/sets/techdas-airforce-v ครับ
1. Balluchon: Michiko Ogawa (Ulta Art UA-1003) – C jam blues
2. Sara K & Chris Jones Live in Concert (Stockfisch SFR 357.8030.1) – Stop Those Bells
3.Kornet Har Sin Vila (Proprius PROP7853)
4. Vivaldi Lute Concerto (Hangaroton SLPX 11978)
5. Tsuyoshi Yamamoto Trio – What A Wonderful World (Venus Records: VHJD-85)
6. Carmen Suite (Bizet/Shchedrin) EMI ASD2448
7. Ayako Hosokawa – A Whisper of Love (Impex Record 6063)
ตลอดเวลาของการทดสอบ ผมแนะนำว่า เราควรจะใช้ระบบดูดแผ่น vacuum hold down ในการเล่นกับ AF5 นี้ เนื่องจากเสียงที่ได้จะดีกว่าเวลาที่ไม่ใช้มากพอควร การที่แผ่นเสียงแนบสนิทกับ platter จะทำให้เสียงนิ่ง เนื้อเสียงเข้มข้น และ image ที่ชัดเจน แผ่นที่บิดตัวก็จะถูกตรึงให้เรียบกริ๊บ แผ่นที่งอมากขึ้นอาจจะต้องเอานิ้วกดให้แนบกับขอบยางของ vacuum แต่ถ้าบิดมากเป็นลูกคลื่นนี่ ดูดแผ่นยังไงก็คงจะไม่ไหวละครับ
Check list ครับ ว่าเราจะจับประเด็นอะไรกันบ้าง ในการทดสอบเครื่องเล่นแผ่นเสียง
• noise, rumble มีเสียงรบกวนใดๆ ในระบบขับเคลื่อนหรือไม่ ไม่ว่าจะมาจากมอเตอร์, bearing, สายพาน หรือการ resonance ของชิ้นส่วนต่างๆ
• wow & flutter อันนี้เป็นเรื่องของการหมุนของ platter โดยตรง สปีดที่ไม่นิ่ง ขึ้นๆ ลงๆ แม้ในระดับเล็กน้อย เราจะฟังไม่ค่อยออก แต่ถ้าได้ฟังแบบ AB test เทียบกันสองเครื่อง เราจะฟังออกทันทีว่า เครื่องไหนให้ rhythm time pace ได้ดีกว่ากัน
• bass response อันนี้เป็นเรื่องของ platter ที่จะมีผลเป็นตัวหลัก ไม่ว่าน้ำหนัก หรือวัสดุที่ใช้ทำมีผลต่อเสียงเบสมาก ปัจจจุบันแท่นระดับ hi-end เราจะเห็นว่าแทบไม่มีใครใช้ acrylic เป็นวัสดุทำplatter แล้ว จะหนีไปใช้โลหะหนักๆ อย่างเช่น aluminum หรือวัสดุสังเคราะห์ที่มีเนื้อใกล้เคียงกับไวนิลแทน (POM – Polyoxymethelene)
• Image, soundstage, ambient อันนี้มันเกี่ยวพันกันกับการเซ็ตอาร์มและหัวเข็ม แต่แท่นที่ดีจะสามารถให้เรารู้สึกได้ถึงบรรยากาศ รอบๆ เครื่อง
ถ้าผมจะบอกว่า AF5 ผ่าน check list ทุกข้อข้างบนนั้น คุณผู้อ่านอาจจะว่าผมอวยเกินไป อยากชวนไปลองฟังเพลงที่ผม upload ไว้บน soundcloud นะครับ (จริงๆ จะฟังได้คุณภาพที่สุดคือ ท่านสมัครสมาชิก soundcloud ฟรี แล้ว download ไฟล์ wav 16/44.1 มาฟัง เสียงจะดีกว่าฟังผ่าน streaming ของ soundcloud)
เริ่มที่เพลง What A Wonderful World ของ Tsuyoshi Yamamoto เสียงคันชักสี double bass ในตอนต้นเพลง มันให้ความรู้สึกของบอดี้ตัวเบส รายละเอียดเสียงก๊อกๆ แก๊กๆ ของนิ้วที่เคาะกดไปบน fingerboard เสียงการสั่นของสายเบสที่ยังมี ambient ลากยาวไป จนถึงช่วงที่เสียงเปียโนขึ้น มันให้ความรู้สึกที่เรียกว่า effortless คือเสียงเปิด ไม่มีอาการ compress (จริงๆ แผ่นนี้เขาบันทึกเสียงออกมาค่อนข้าง “แน่นๆ” คือ gain ค่อนข้างแรงไปสักนิดนะครับ) การเกลี่ยช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีทำได้ดี ตรงนี้ผมคิดว่านี่เป็นจุดแข็งของแท่น AF5 เลยนะครับ คือมันให้เนื้อเสียงที่เปิด เบสดีมาก และที่สำคัญคือ ช่องไฟของชิ้นดนตรีต่างๆ จัดระเบียบได้ดีไม่มีทับซ้อน เครื่องดนตรี หรือนักร้อง ต่างคนต่างมี “บรรยากาศ” หุ้มรอบๆ ตัว ซึ่งสิ่งนี้หาได้ยากในเครื่องเล่นแผ่นเสียงในท้องตลาดทั่วไป ลองเปิดฟังเพลงจากแผ่นของ Ayako Hosokawa เพลง I Wish You Love แทร็กนี้ ผมว่า AF5 ถ่ายทอดได้ดีที่สุดเท่าที่ผมฟังแผ่นนี้มาหลายสิบเที่ยว rhythm time pace ambient มีมาครบในแทร็กนี้ “airy” ของชิ้นดนตรีและเสียงร้องเป็นอย่างไร อยากให้ฟังเพลงนี้นะครับ
ตัวแท่น EMT 930 ก็ให้ ambient และ airy แบบนี้ได้ แต่ว่า image ของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นๆ ยังให้ไม่ได้ดีเท่า AF5 ให้ท่านลองสังเกตนะครับ เพลงนี้ให้ฟังช่วงที่ flute ทำการ solo และ improvise นั้น (เริ่มตอนเวลาที่ 2:48) ให้ลองฟังไลน์เครื่องดนตรีชิ้นอื่น เช่น เปียโน เบส กลอง ว่าเขาเล่นหรือเดินโน้ตอย่างไร ตรงนี้ AF5 มันถ่ายทอดทุกไลน์ของชิ้นดนตรีได้ชัดเจนไม่มีซ้อนทับกัน น่าประทับใจมาก
แทร็ก Carmen ที่บรรเลงโดยวง string & percussion orchestra ของรัสเซีย เป็นแทร็กที่โชว์ transient, soundstage, image ได้ดีมาก แนวเพลงต่างๆ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของ AF5 เพลงคลาสสิกอย่าง Vivaldi Lute Concerto จากแผ่นเสียงค่ายฮังการี ที่ติดลิสต์ของ The Absolute Sound ความโอ่อ่าของวง string orchestra ถูกถ่ายทอดมาเหมือนกับวงทั้งวงเล่นอยู่ตรงหน้า ตัว Lute (เสียงคล้ายๆ กับกีตาร์คลาสสิก) ที่ปกติให้เสียงได้จุ๋มจิ๋ม และมีโอกาสที่จะถูก “กลบ” ไปกับเสียงเครื่องสายที่เล่นดังกว่า แต่ AF5 ก็สามารถจัดระเบียบ ขอบเขตของเครื่องดนตรี solo กับวงได้เป็นอย่างดี
ผมเลือกเพลง C Jam Blues โดยฝีมือนักเปียโนสาว Michiko Ogawa เป็นแผ่นทดสอบที่ฟังบ่อยมาก เพราะเป็นเพลงที่ถ่ายทอด timing และ pace ของดนตรีได้ดี ฟังแล้วกระดิกเท้าเขย่าหัวตามได้ทุกทีไป เมื่อเล่นผ่าน AF5 แล้ว มันให้อารมณ์ความไหลลื่นของดนตรีแจ๊สได้ดี ฟังสนุก เวลาฟังแผ่นนี้กับแท่นอื่นในบ้าน มันยังมีออกอาการ “มั่ว” ของชิ้นดนตรี ซ้อนทับกันไปมาอยู่บ้าง แต่เมื่อฟังกับ AF5 แล้ว กลับฟังได้สนุกน่าติดตาม และยังมีอีกหลายแผ่นที่ได้ทดสอบกับ AF5 นี้ ตลอดเดือนกว่าที่ได้เล่น เสียดายหลายเพลงไม่สามารถ upload ให้แบ่งกันฟังได้ เนื่องจากติดลิขสิทธิ์ค่ายเพลง ทุกแผ่นให้แนวเสียงไปในทางเดียวกันคือ เสียงใหญ่ เวทีเสียงกว้าง เนื้อเสียงและเบสดีมาก ช่องไฟและชิ้นดนตรีแม่นยำและ noise floor ต่ำมาก เรียกว่าไม่ได้ยินเสียงรบกวนใดๆ จากระบบขับเคลื่อนและปั๊มลม
Finale
AF5 ไม่ใช่แท่นที่จะถ่ายทอดแต่ความเป็น audiophile แบบ pin point ชัดเป๊ะเป็นเม็ดๆ และก็ไม่ได้แนวเนื้อๆ หนาๆ ฟิล์มนัวร์แบบแนวเครื่องเล่นแผ่นเสียงวินเทจ แต่มันถ่ายทอด “ดนตรีจริง” ที่บันทึกมาจากต้นทางมาอยู่ตรงหน้าเรา ยิ่งแผ่นที่บันทึกเสียงมาดี และเล่นได้ดี เมื่อฟังกับ AF5 ก็จะยิ่ง “เหมือนจริง” และฟินมากขึ้นไปเท่านั้น ทั้งหมดนี้มาจากการออกแบบ ความรู้ทางวิศวกรรม และความเข้าใจในดนตรี ของ Hideaki Nishikawa ผู้ออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์นี้ ข้อจำกัดของตัวนี้คือ “ใจ” ครับ อยู่ที่ใจเราจะกล้าลงทุนเล่นกับมันหรือเปล่า มันไม่ใช่เทิร์นฯ ที่ซื้อมาแล้วเล่นได้เลย เพราะมันมาแต่แท่น เราจะต้องตัดสินใจเลือกหาอาร์ม (และหัวเข็มที่แม็ตชิ่งกันกับอาร์ม) มาเล่นกับมัน และจะต้องสั่งทำอาร์มบอร์ดจากบริษัท เรื่องการติดตั้ง การเซ็ตอัพนั้น ผมไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะทีมงานของ Deco 2000 นั้น ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี สำหรับผม ถ้ามีปัจจัยถึง ผมลุยแน่นอนครับ TechDAS Air Force V. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 275
No Comments