SOULNOTE: E2 Phono Stage
ปีนี้จัดว่าเป็นปีที่ผมได้ทดสอบโฟโนสเตจมากที่สุดที่เคยรีวิวมา โฟโนสเตจเป็นอุปกรณ์ที่รีวิวได้ค่อนข้างยาก ต้องมีการแม็ตข์กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงและหัวเข็มหลายๆ แบบ เพื่อค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของเครื่อง ให้ตรงกับที่ผู้ผลิตได้ออกแบบมา คือจะเรียนว่า โฟโนสเตจบางตัวตอนแรกฟังอาจจะยังไม่ค่อยโอเค อาจจะมาจากการที่เรายังแม็ตขิ่งยังไม่ดีพอก็เป็นได้ จึงไม่ควรรีบตัดสินใจฟันธงไปว่า ตัวนี้ดีหรือไม่ดี ส่วนตัวผมคิดว่า โฟโนสเตจระดับราคา mid-end (ประมาณห้าหมื่นบาทขึ้นไป) ต่างก็มีดีอยู่ในตัว ยิ่งถ้าระดับ Hi-end คือแสนบาทกลางๆ ขึ้นไป นั่นเสียงดีแน่นอน ขึ้นอยู่กับแนวเสียงว่าไปกันกับขุดเราได้หรือไม่ และ features ต่างๆ ที่มีมาให้
งานรีวิวท้ายปีโควิดนี้ ผมได้มีโอกาสรีวิวโฟโนสเตจระดับสูงตัวหนึ่งที่เพิ่งนำเข้ามาจำหน่ายบ้านเรา คือ SOULNOTE ของประเทศญี่ปุ่น เป็นเครื่องที่มีฟังก์ขั่นการใข้งานที่หลากหลาย และน่าสนใจมากๆ จึงติดต่อขอผู้นำเข้า (บริษัท Audio Revolution) เพื่อทำการรีวิวอย่างละเอียด
Soulnote เป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของบริษัท CSR (Corporate Social Responsibility) ประเทศญี่ปุ่น (ก่อตั้งปี 2004) บริษัทมีผลิตภัณฑ์หลายด้าน โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทาง CSR มีการร่วมมือกันกับทางบริษัท Marantz และ Denon มีการแขร์ R&D ร่วมกัน และในปี 2006 ทาง CSR ได้ออกสินค้าในกลุ่ม Hi-end Audio ของตัวเองออกมา ในนามของ Soulnote โดยบริษัทมี concept คือ เน้นที่คุณภาพของสินค้า และความพึงพอใจของลูกค้า และต้องเป็นสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลก (สินค้าหลายตัวของแบรนด์นี้ติดรางวัล Hi-Fi Grand Prix Awards ของนิตยสาร Stereo Sound japan) ตัว Soulnote จะเน้นผู้บริโภคในญี่ปุ่นเป็นหลัก ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน (กระทั่ง user manual ยังไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้ download อ่าน) โชคดีที่ทาง Audio Revolution ได้ติดต่อเป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายให้นักเล่นบ้านเราได้ลองเล่นกัน
ซีรี่ส์ปัจจุบันของ Soulnote ตอนนี้เป็น series 2 คือ A2 Amp, D2 – D/A Converter และ E2 Phono pre amp นอกจากนี้ยังเพิ่งออกปรีรุ่นใหม่ P3 และ S3 – SACD Player ที่ใหญ่โตอลังการมากจนน่าตกใจ (ใหญ่กว่า Power amp หลายๆ ยี่ห้อ) สำหรับ E2 Phono stage นั้น มีการเปลี่ยนแปลงจาก E1 มากพอสมควร มี features เด่นๆ ดังต่อไปนี้…
– Solid state MM | MC phono stage, fully balanced circuit design
– รองรับ 4 phono inputs โดยเป็น MM & MC unbalanced 2 inputs, Dedicated balanced MC input 1 ช่อง และ Optical cartridge input 1 ช่อง
– MM gain 42, 52 dB | MC gain 62, 72 dB
– รองรับหัวเข็ม DS Audio Optical cartridge ถือเป็นเจ้าแรกที่ทำ phono stage ออกมารองรับหัว Optical
– Mono EQ curve รองรับการเล่นแผ่นเสียงโมโนได้ทุกยุค สามารถปรับ EQ curve ได้ทุกย่านความถี่ รองรับ EQ โมโนได้ 144 รูปแบบ
– Balanced input และ output connection
เห็นได้ว่า E2 มีคุณสมบัติที่น่าสนใจหลายอย่างที่ phono stage ระดับบนของแบรนด์อื่นไม่มี เช่น Mono EQ curve ที่มีให้ปรับอย่างละเอียดครอบคลุมแผ่นทุกค่ายทุกยุค และโดยการเล่นหัว optical ได้ ทำให้มันเป็น phono stage ที่ “ตัวเดียวจบ” เล่นแผ่นได้ทุกยุค เล่นหัวเข็มได้ทุกอย่างในท้องตลาด
ทีนี้เรามาลองดูรายละเอียดของเครื่องกัน (หลายอย่างไม่ได้มีบอกไว้ใน manual ซึ่งมีแต่ version ภาษาญี่ปุ่น แถมยังใส่ password ไว้อีก ไม่สามารถแปลงเป็น docx ได้ง่ายๆ)
E2 เป็นโฟโนที่งานเนี้ยบสวยมาก มีไม้ประกบข้างแบบเครื่อง Hi-end ของญี่ปุ่น มีน้ำหนักมาก 20 กิโลกรัม ยกเข้าชั้นวางต้องระวังปวดหลัง และตัวเครื่องมีความสูงมากพอควร ชั้นวางที่ผมเตรียมไว้ใส่ไม่ลง ต้องจัดวางเครื่องต่างๆ ใหม่
เริ่มจากด้านหน้าเครื่องทางขวา… ปุ่ม Input selector ให้เลือกระหว่าง Dedicated balanced, Unbalanced 1, 2 และ Optical ช่อง Dedicated balanced บังคับให้เล่นแต่หัว MC เท่านั้น (จะเลือก MM load capacitance ไม่ได้) ส่วน Unbalanced 1, 2 เลือกใข้งานหัว MM และ MC ได้ พอโยกมาที่ Optical ไฟสถานะจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แผงวงจรของหัวเข็มปกติจะดับ (จะมีไฟแดงๆ บนบอร์ดทางด้านในทางขวา) ถ้าจะใช้งาน Optical input ต้องเปิดสวิตข์ทางด้านหลังด้วย
การเลือก MM | MC ตัวเครื่องไม่มีปุ่มให้เลือก MM กับ MC นะครับ เวลาจะใช้งาน MC ก็ต้องกดให้ปุ่ม MM ข้างล่างมันเด้งขึ้นทั้งสองปุ่มก่อน แล้วเลือก MC impedance load ทางปุ่มหมุนใหญ่ด้านบน ถ้าเล่นหัว MM ก็กดปุ่ม capacitance load เล็กๆ ด้านล่าง ตัวเครื่องจะรับรู้ว่า เราเลือกเล่น MM mode และปรับเกนในเครื่องเป็น MM 52dB เครื่องสามารถเลือกได้ระหว่าง 100, 200 และ 300 pF (ถ้ากดสองปุ่มพร้อมกันคือการเลือกค่าที่ 350 pF) ผมแนะนำให้เลือกที่ค่าต่ำสุดก่อนคือ 200 Pf ถ้า tonal balance ออกสว่างเกินไป ค่อยลอง load capacitance ที่เพิ่มขึ้น ส่วน MC impedance loading เลือกได้หกค่า ตั้งแต่ 100 ohm ลงมา
สองปุ่มล่างซ้ายคือ Degauss สำหรับล้างสนามแม่เหล็กในระบบ คู่มือระบุสามารถใข้ปุ่มนี้แทนปุ่ม Mute กรณียก วางหัวเข็มได้ อีกปุ่มหนึงคือ เลือก gain low ก็จะลด gain ไปอีก 10dB ดังนั้น ภาค MM จึงเลือกได้ระหว่าง 42, 52 dB และ MC เลือกได้ 62, 72 dB
ฝั่งด้านหน้าเครื่องทางซ้ายเป็นปุ่มเลือกปรับ EQ curve โดยจะปรับได้เมื่อเรากดปุ่ม old EQ ด้านล่าง ซึ่งสามารถปรับได้ทั้งย่านเสียงทุ้ม (low limit) ย่านกลาง (turnover) และย่านเสียงสูง (roll-off) ไฟสถานะของความถี่ต่างๆ เป็นสีแดง และจะเป็นสีเขียวเมื่อค่าเท่ากับ Standard RIAA คือ 50, 500, 2.12 kHz ค่าอื่นๆ นอกเหนือจากนี้จะเป็นสีแดง ปุ่มด้านล่างที่เหลือก็จะเป็นปุ่ม Mono (ถ้าเราเล่นแผ่น mono ด้วยหัว mono ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มนี้) และปุ่ม inverse phase สำหรับแผ่นเสียงในบางแผ่นยุคเก่าๆ ที่บางทีบันทึกมากลับเฟส ถ้าเราฟังเฟสปกติแล้วเสียงมันแปลกๆ ให้ลอง inverse phase ดูครับ
ด้านหลังเครื่องฝั่งซ้ายเป็น input ต่างๆ ด้านบนที่เป็น dedicated balanced input สามารถต่อได้ทั้งแบบ XLR และ RCA และรับได้แต่ MC เท่านั้น ส่วนอีกสองช่องข้างล่างก็ได้ทั้ง MM, MC พอผมเห็นขั้วต่อแบบนี้ ผมมีอาการสงสัยทันทีว่า ถ้าฟังหัว MC ช่อง dedicated กับช่องข้างล่าง เสียงจะแตกต่างกันไหม อันนี้น่าสนใจ แล้วถ้าเป็นสายโฟโนที่เป็น XLR แท้ๆ จะให้คุณภาพเสียงดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ด้านหลังฝั่งขวา เป็น output ที่มีทั้ง RCA และ Balanced ตอนรีวิวผมลองต่อสัญญาณออกพร้อมกันทั้งสองแบบ (คือขั้ว RCA out ไปปรีแอมป์ ส่วนขั้ว XLR out ไปตัว Tascam DV RA1000HD เพื่อริปสัญญาณเสียงเป็นดิจิทัล) ผลปรากฏว่า เครื่องไม่ยอมครับ จะมีอาการเสียงแตกพร่า ดังนั้นต้องเลือกเอาสัญญาณเสียงออกช่องใดช่องหนึ่งเท่านั้น
ส่วนด้านล่างจะเป็น Optical input สำหรับการเล่นหัวเข็ม DS Audio ต้องมีสติเสมอนะครับ ว่าอย่าต่อหัวเข็มปกติเข้าช่องนี้ อาจจะทำให้หัวเข็มแสนรักของท่านพังได้ เพราะขั้วนี้จะปล่อยไฟออกไปหาหัวเข็มเพื่อให้ optical light ทำงาน (มีสวิตช์เปิด-ปิด) ในขณะที่ใช้งาน Optical input พวกฟังก์ชั่น old EQ curve นั้น จะไม่ทำงาน แต่ปุ่มเลือก gain low / normal ยังทำงานอยู่ เท่าที่ผมทดสอบให้เลือกเป็น low gain จะได้ความแรงสัญญาณพอดีที่จะส่งไปปรีแอมป์ ถ้าเลือก normal gain เสียงจะดังเกินไปมาก ฟังแล้วจะเครียดไม่ผ่อนคลาย
ตัวเครื่องมีน้ำหนักค่อนข้างมาก 20 กิโลกรัม มีขา 3 ขา ทางผู้ผลิตให้เดือยแหลมเป็น spike มาใส่แทนขารองเครื่องของเดิม และมีทำ option เป็น Audio Board (SSB-1) ออกแบบให้มีจุดรับ spike ที่พอดีกัน ขายแยกต่างหาก
ตัว E2 ออกแบบฝาปิดด้านบนแบบไม่มีน้อตยึดฝา ซึ่งเขาเชื่อว่าทำให้เสียงแย่ลง จึงไม่ใช้น้อตยึดเลยสักตัว และนักเล่นต่างประเทศมี comment กันว่า เปิดฝาเล่นเสียงดีกว่า ตลอดการทดสอบนี้ ผมปิดฝาเล่นตลอด ไม่ได้เปิดฝาเล่น
วงจรด้านในด้านหน้าตรงกลางมีหม้อแปลงขนาดใหญ่มากหนึ่งลูก จะเห็นไฟ LED สุกสว่างอยู่ด้านในเครื่องราวกับเครื่องหลอดเลยทีเดียว แผงวงจรแยกซ้ายขวาออกจากกันคนละแผงชัดเจน วางอยู่ด้านขวาของตัวเครื่อง พอเวลาเราเลือก selector มาที่ Optical ไฟแผงวงจรซ้ายขวาทางด้านขวาจะตัดการทำงาน (ไฟบนวงจรดับ) คาดว่าวงจร Optical คงอยู่ที่แผงตรงกลางด้านหลังเครื่อง
จะเห็นได้ว่า E2 นี้มี function และ features ที่หลากหลายมาก ครอบคลุมทั้งแผ่นเสียงและหัวเข็มทุกยุค ตั้งแต่ยุคแผ่นครั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้น ผมจึงวางแผนการทดสอบเป็นส่วนๆ ดังต่อไปนี้…
– ทดสอบภาค MM, MC หัวเข็มปกติ ช่องต่อ Unbalanced
– ทดสอบภาค Dedicated MC input ทั้งการต่อแบบ XLR และต่อแบบ RCA ว่าเสียงแตกต่างจากข้อแรกอย่างไร
– ทดสอบ Mono EQ Curve
– สุดท้ายคือ ทดสอบภาค Optical DS Audio cartridge
อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ
– Shure V15 Type3 cartridge (MM)
– EMT TSD15 / EMT929 Tonearm / EMT 930 Turntable
– Phase Tech P3G Low Output MC cartridge
– Audio Technica AT33 Mono, Denon DL102 cartridge
– DS Audio E1 Optical cartridge
– Dr. Feickert Analogue Firebird Turntable / Denon 308 Tonearm
– DIN to XLR phono cable by AVbestbuy.com และ Soundaries Audio
เพลงตัวอย่างที่ใช้ทดสอบทั้งหมดได้จัดแบ่งเป็น folder ตามการรีวิว เล่นผ่าน E2 และริปเป็นไฟล์ 24 bit/44.1kHz เก็บไว้ที่ google drive ของผมที่ https://rb.gy/lxxmdv นอกจากนี้เพลงที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ ได้ทำเป็น playlist ไว้บน soundcloud กรุณาเข้าไปฟังได้ที่ https://soundcloud.com/emt930/sets/soulnote-e2-phono-stage
Part 1. Normal MM, MC input (input 1, 2)
เครื่องที่ผมได้รับจากบริษัท Audio Revolution เป็นเครื่องใหม่เอี่ยมยังไม่เคยใช้งานมาก่อน เมื่อ unpacked ออกมาก็ต้องทำการ burn in อยู่หลายวัน ก่อนที่จะฟังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ช่วงเบิร์นผมลองฟังภาค MM กับหัวเข็ม Shure V15 Type 3 (บนแท่น Feickert Firebird) เนื้อเสียงของภาค MM มีมวลอิ่มดีมาก การปรับ capacitance loading มีผลต่อ tonal balance ค่อนข้างมาก พบว่าสมดุลเสียงมีความพอดีทั้งทุ้มกลางแหลม เมื่อผมปรับที่ 200 pF (ใช้สาย Din-RCA phono ของ Oyaide) ตรงนี้แล้วแต่ชุดของท่านว่าสมควรปรับ load capacitance ที่เท่าไหร่ เพราะสายสัญญาณ phonoต่างๆ ที่ใช้มีผลต่อค่า capacitance แตกต่างกันในแต่ละเส้น แต่ละชุด
เมื่อพ้น burn ก็ได้เริ่มฟังอย่างจริงจังกับภาค MC ด้วย EMT ทั้งชุด ตั้งค่า MC gain ที่ low (62dB) และ load impedance ที่ 100 ohm ลองกับแผ่นเสียงญี่ปุ่น Harumi Kaneko ชุด My Little Dream (Philips 28PJ-7) ที่เลือกแผ่นนี้เพราะเป็นอัลบั้ม standard big band jazz ที่คิดว่าไม่ถูกบล็อกโดย soundcloud หรือ facebook เป็นแน่ https://soundcloud.com/emt930/dream-a-little-dream-of-me แผ่นนี้ถึงแม้ว่าเป็น digital recording ก็ตาม แต่ก็บันทึกเสียงมาได้อย่างพิถีพิถัน เสียงจาก E2 มีความเป็น audiophile คือเสียงแม่นยำ เสียงเบสที่กระชับไม่บวมเบลอ อิมเมจต่างๆ นิ่ง ที่สำคัญคือ เสียงกลาง (คือเสียงร้องของ Harumi) มีมวลคล้ายเสียงหลอด และอีกสิ่งหนึ่งที่โฟโนระดับสูงๆ ให้ได้มากกว่าโฟโนระดับกลางๆ คือ ไดนามิกเร้นจ์ที่กว้างและฉับพลันกว่า แผ่นต่อมาที่ลองคือ แผ่นของ Chantal Chamberland ชุด Serendipity Street (Evosound EVLP004) ผมแนะนำแผ่นเสียงของเธอคนนี้ ภายใต้สังกัด Evo Sound
ผมซื้อแผ่นของเธอมาสี่อัลบั้มแล้ว ทุกแผ่นบันทึกเสียงมาได้อย่างดีเยี่ยม (ถึงแม้ว่าจะเป็น digital recording ก็ตาม) ผมเลือกแทร็กที่สอง Time After Time ตัว E2 ให้รูปวงเวทีเสียงที่ดี มีความลึกมิติของเสียง เสียงร้องของ Chantal ที่เข้มข้น อิ่มใหญ่ดีมาก เบสเดินเป็น background ลงได้ลึก ลึกมากเท่าที่ลำโพงของท่านจะให้ได้ กับแผ่นเสียงของค่ายผู้จัดงาน HKAV Show ได้ออกแผ่นเสียงพิเศษครบรอบ 15 ปี ผมเลือกแทร็กของนักร้องนาม Sissel Kyrkjebo เพลง Shenandonah ซึ่งตัดมาจากอัลบั้มเต็มชุดนี้
เป็นบันทึกการแสดงสดของ Sissel ที่ให้บรรยากาศโอบล้อมได้ดี ให้สังเกตการโหนเสียงของ Sissel จากเบาไปดัง จากย่านเสียงกลางไปเสียงสูงที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว แยกชั้นกับเสียง string orchestra ที่คลออยู่ด้านหลังเวทีเสียง ผมชอบความแม่นยำของเวทีเสียงและชิ้นดนตรีที่ E2 แจกแจงให้ได้ยินตรงหน้า ทุกองค์ประกอบเสียงจัดระเบียบอย่างดี ที่ชอบมากอีกอย่างคือ เสียงไม่ลีบบาง เสียงกลางมีมวลกำลังดี (ทั้งเพลง Time After Time และ Shenandonah ต้อง load ฟังจากใน Google Drive ลิงก์ที่ให้ไปนะครับ)
Part 2. MC Dedicated input
ช่อง input หนึ่งของ E2 เป็นช่อง Dedicated MC input คือมีคอนเซ็ปต์เหมือนกับปรีโฟโน Accuphase C-47 คือจะมีช่อง input หนึ่งที่เป็น Fully balanced มีการแยก ground ออกจากสัญญาณซีกบวกและซีกลบกันอย่างเด็ดขาด ดังนั้น ช่องนี้จึงทำไว้รองรับการเล่นหัวเข็ม MC เท่านั้น เนื่องจากว่า หัว MM บางยี่ห้อนั้นอาจจะฝาก ground ของ body หัวเข็มมากับสัญญาณซีกลบของ pin (ส่วนใหญ่ฝากมากับสัญญาณลบ แชนเนลขวา ตรงกับ pin สีเขียว) ดังนั้น เมื่อมี ground มารวมกับสัญญาณซีกลบ ก็จะทำให้สัญญาณไม่เป็น Fully balanced แต่ตัว E2 มันแปลกกว่า C-47 คือ ช่อง Dedicated MC input นี้ รับสายสัญญาณโฟโนแบบ RCA ด้วย เลยทำให้มีข้อสงสัยว่า 1) การต่อ MC RCA input เข้าช่อง Dedicated กับช่องปกติ เสียงจะต่างกันไหม และ 2) การต่อแบบใช้สายสัญญาณแบบ Din to XLR แท้ๆ เสียงจะดีกว่าการต่อ Din to RCA ในการฟัง input ปกติมากน้อยแค่ไหน
Setup ในครั้งนี้ ผมเลือกใช้หัวเข็ม MC Low Output ของ Phase Tech P3 (0.27 mV) ต่อกับอาร์ม Denon 308 บนแท่น Dr. Feickert Firebird ตั้งค่า E2 ที่ MC Low Gain 62dB (ผมลองต่อ MC Normal gain ที่ 72dB แล้วเกนโดยรวมสูงกว่าการฟัง line level input เล็กน้อย เลยถอยมาที่ค่า 62dB แทน) และ impedance ที่ 40ohm ส่วนสายสัญญาณ phono ก็ได้รบกวนทางคุณแมพ Soundaries Audio และทางคุณพจน์ avbestbuy.com ให้ทำสายขึ้นมาเพื่อการทดสอบครั้งนี้
เริ่มต้นผมใช้สาย Din to RCA ของ Oyaide แล้วต่อกับ setting ข้างบน เสียบสลับกันไปมาระหว่าง input ปกติ กับ Dedicated RCA input
เท่าที่เสียบแล้วลองฟังสลับกันไปมาหลายรอบ พบว่า… ไม่มีความแตกต่างของเสียงระหว่างการใช้ input ทั้งสองช่องนี้ ทั้งความดัง ลักษณะเสียง และอื่นๆ คราวนี้เลยเปลี่ยนไปเทียบช่องบนสุด XLR input เทียบกับ input 1 MC
ทีนี้เป็นเรื่องทันทีเลยละครับ เสียงที่ได้จากการเล่นระบบ balanced แท้ๆ ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางโฟโนสเตจนี่ มันให้ความแตกต่างจาก unbalanced input มากพอควร เนื้อเสียงที่เงียบสงัดมากขึ้น ความโปร่ง ความมีมิติในทางลึกของเวทีเสียง รายละเอียดเสียงต่างๆ ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผมพอดีได้แผ่นเสียงชุด Cyanist ของ Atom ชนกันต์ ค่ายแกรมมี่มาพอดี เลยได้แกะฟัง และนำมาทดสอบ เพลง “อย่าบอก” https://soundcloud.com/emt930/dont-tell ฟังแล้วเสียงมันแตกต่างกันมากเทียบกับซีดีชุดนี้ แผ่นเสียงให้ความอิ่มของเนื้อเสียง ambient บรรยากาศมาเต็ม ช่อง balanced ช่วยให้เวทีเสียงมีความ transparent และมิติแนวลึกดียิ่งขึ้น background noise เงียบสนิท (โดยเฉพาะในแผ่นเสียงใหม่ที่ใช้ virgin vinyl) รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แสดงออกมาได้หมดกับเพลงนี้ มันแสดงให้เห็นถึงเพลงที่บันทึกมาดี ใช้ master ตัวแท้ๆ และกระบวนการตัดแผ่นเสียงดีๆ แล้ว ควรจะได้เสียงเป็นอย่างไร ไม่ว่ามันจะเป็น analog หรือ digital recording ก็ตาม ถ้าเจ้าของงานตั้งใจทำจริงย่อมได้เสียงที่ดีจริงๆ ออกมาบนแผ่นเสียง
ลองมาฟังแผ่นที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าแผ่นอื่นที่ผ่านมา อย่างเช่น เพลงคลาสสิกของค่าย Mercury Living Presence ชุด Rapsodie Espagnole แผ่น re-issue โดยค่าย Classic
Record เมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีก่อน แผ่นนี้ใช้ 3 tracks master มา mix ใหม่ โดย recording engineer คนดั้งเดิมคือ Wilma Cozart Fine คุณภาพเสียงนั้นเรียกว่ายอดเยี่ยม ผมเลือกช่วงกลางๆ ของเพลง Rapsodie Espagnole จนถึงตอนจบของเพลง เพลงมีความซับซ้อนมาก และ colorful, dynamic explosive อย่างคาดไม่ถึง และที่สำคัญคือ เพลงนี้เพราะมากๆ E2 สามารถจัดการกับความซับซ้อนของบทเพลงได้อย่างสบายๆ ฟังเพลินมาก
เชิญลองไปรับฟังได้ที่ soundcloud.com/emt930/rapsodie-espagnole นะครับ เมื่อฟังเพลงนี้ผ่าน E2 แล้วจะทราบว่า ศักยภาพของแผ่นเสียงเพลงคลาสสิกชุดนี้ไม่แพ้ digital source อื่นๆ เลย ช่อง MC balanced input ช่วยให้การแยกแยะรายละเอียดของหมวดหมู่เครื่องดนตรีต่างๆ แบบ uncompressed dynamic range เสียงเปิดมากๆ เหมือนกับการฟัง reel tape เลยทีเดียว ท่านที่จะเล่น E2 (หรือ Accuphase C-47 ที่มีช่อง MC balanced input เช่นเดียวกัน) ควรอย่างยิ่งที่จะลงทุนกับสาย phono ที่เป็น XLR แท้ๆ มันช่วย upgrade คุณภาพเสียงขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่งอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
Part 3. Mono input
Soulnote E2 ใส่ฟังก์ชั่นการเล่นแผ่น Mono ยุคก่อน RIAA มาแบบจัดเต็ม สามารถปรับค่า EQ curve ได้ตลอดย่านความถี่ ทั้งความถี่ต่ำ (Low Limit) เสียงกลาง (Turnover) และเสียงสูง (Roll-off) โดยไฟตัวเลขที่ตรงกับค่า RIAA ไฟจะเป็นสีเขียว นอกนั้นเป็นสีแดง ได้แก่ค่าที่ 50, 500 และ 2.12kHz
เรามาทบทวนเรื่อง EQ curve ในการทำแผ่นเสียงกันสักเล็กน้อย
เพื่อให้การตัดแผ่นเสียงเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น ผู้ผลิตจะทำการใส่ EQ ไว้ โดยในขณะบันทึกจะกดความดังย่านเสียงทุ้มลง และเพิ่ม dB ย่านเสียงแหลม (โดยมีจุดบรรจบที่ 1kHz) และเมื่อเล่นกลับก็ใช้วงจร EQ ที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาที่ flat response ดังภาพแรก จุดที่เป็นความถี่ที่เป็นจุดอ้างอิงคือค่าต่ำสุดที่ 50Hz ย่านเสียงกลาง 500Hz และย่านเสียงสูง 21.21kHz ย่านเสียงกลางยึดที่ 500Hz กับ 2121.5Hz เพราะที่ความถี่ที่เกินจากนี้ ความแตกต่างของความดัง dB ระหว่างที่บันทึกมากับที่ต้องเล่นกลับเกินกว่า 3dB ที่เป็นความดังที่หูคนจับได้ง่าย ดังนั้น วงจรจะเริ่มชดเชยตั้งแต่ 500Hz และ 2121Hz แต่แผ่นเสียงที่บันทึกมาก่อนยุค RIAA จะมีจุดตัดความถี่นับจาก 1kHz กับการเปลี่ยนแปลงระดับเสียงเกินกว่า 3dB ที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างจากคู่มือของ E2 ที่ใช้ในการปรับค่า Mono EQ เป็นแบบนี้ครับ
การทดสอบ Mono ผมใช้หัวเข็มหลายตัว เช่น EMT OFS25 บนแท่น EMT930, Audio Technical AT33 Mono และ Denon DL102 พบว่า… น้ำเสียงของ Denon 102 มีความน่าฟังมากที่สุด เนื่องจากหัว 102 เป็นหัวแบบ true mono คือมี coil ข้างขวาข้างเดียว ดังนั้นเพื่อให้เสียงออกลำโพงทั้งสองข้างจึงต้องปรับตัวสาย lead wire ให้เป็น 1 ออก 2 ดังภาพ
จากนั้นก็ขุดบรรดาแผ่นเสียง Mono ทั้งหลายออกมาลองฟัง
ผมทดลองฟังแผ่นโมโนต่างๆ ระหว่างการใช้ RIAA กับการปรับให้ถูกต้องตามที่ค่ายบันทึกมา พบว่าถ้าเราใช้ EQ ที่ถูกต้องแล้ว tonal balance จะน่าฟังกว่ามาก ผมลองแผ่นสังกัด Kapp Records แผ่นของ Jane Morgan ที่ทางค่ายแนะนำให้ตั้งค่าที่ 50, 630 Hz, 1.59kHz พบว่า สุ้มเสียงน่าฟัง เสียงร้องเป็นตัวเป็นตนดีมากๆ กับแผ่น Decca แผ่นสิบนิ้วของ Campoli ด้วย Decca curve (100, 500, 3.18) ลองฟังได้ที่ soundcloud.com/emt930/zigeunerweisen ไดนามิกและความเป็นตัวตนของเสียงไวโอลินดีกว่าการเล่นด้วยหัว stereo กับ RIAA curve ปกติมาก เวลาฟังที่ RIAA curve สมดุลเสียงจะออกไปทางสว่างและจ้ามากเกินไปสักหน่อย เมื่อปรับ EQ curve ให้ตรงยุคตรงค่ายแล้ว tonal balance สมดุลดีกว่ามาก
คำแนะนำอย่างหนึ่งสำหรับท่านที่เล่น Old EQ ใน E2 นั้น คือว่า 1) ควรใช้หัว Mono จะดีกว่าการเอาหัว Stereo มาเล่น เพราะการใช้หัว Stereo นั้น มันจะรับสัญญาณแรงสั่นสะเทือนของร่องแผ่นเสียงทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง ซึ่งแผ่นโมโนจะมีสัญญาณบันทึกมาแต่ในแนวระนาบเท่านั้น ในแนวดิ่งมีแต่ noise ดังนั้นใช้หัวเข็ม Stereo มาเล่นแผ่นโมโนจะเกิดเสียงรบกวนมากกว่าการใช้หัวโมโนแท้ๆ เล่น 2) ถ้าใช้หัว Mono แล้ว ไม่จำเป็นต้องกดปุ่ม Mono บน E2 อีกนะครับ เพราะการกดปุ่มโมโนนี้จะเป็นการรวมสัญญาณซ้ายขวาเข้าด้วยกัน แล้วแปลงให้เป็น Mono เสียงที่ออกมาจะแย่กว่าการไม่กด ผมเข้าใจว่าเขาให้มาในกรณีที่เราใช้หัว Stereo เล่นแผ่น Mono แต่ผมลองแล้วเสียงก็ยังสู้เล่นหัว Mono เลือก EQ ให้ตรงยุคไม่ได้อยู่ดี
Part 4. Optical Cartridge input
มาถึงฟังก์ชั่นสุดท้าย การเล่นหัวเข็มแบบ Optical ตัวหัวเข็มแบบ Optical นี้ รายละเอียดอยากให้ลองกลับไปอ่านรีวิว DS Audio ที่ผมเคยรีวิวไว้ทั้งสองหัว คือ รุ่น 002 และรุ่น E1 นะครับ กล่าวโดยสรุปคือ มันเป็นการเปลี่ยนการรับแรงสั่นสะเทือนจาก stylus -> ก้านเข็ม แล้วแทนที่จะแปลงเป็นแรงดันไฟฟ้าด้วยระบบ magnetic-coil เป็น LED -> screen -> photo cell แทน โดยเชื่อว่าจะแสงจะตอบสนองความไวของแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าระบบ coil magnetic ที่มีมวลมากกว่า (มากกว่าแสงแน่นอน)
ตัว E2 นี้จะรองรับแต่การเล่นหัว Optical ของ DS Audio เท่านั้น หัวรุ่นเก่าๆ อย่างของ Toshiba นั้นไม่รองรับครับ สิ่งที่ต้องทราบเวลาจะเล่นหัว Optical บน E2 นั้นคือ ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าอย่าต่อผิด อย่าต่อเอาหัวเข็ม MC ปกติเข้าช่องนี้เป็นอันขาด เพราะหัวเข็มแสนแพงของท่านอาจเสียหายได้ เนื่องจากระบบของหัว Optical จะมีการปล่อยกระแสไฟจาก phono stage ย้อนกลับเข้าไปหัวเข็มเพื่อสร้างแหล่งกำเนิดแสดงให้หลอดไฟ LED แต่หัวเข็มปกตินั้นอาจทำให้ coil ของหัวเข็มเสียหายได้ ดังนั้น เมื่อจะเล่นหัว Optical ทาง Soulnote จึงทำฟังก์ชั่นเพิ่มคือ นอกจากบิด selector ด้านหน้ามาที่ Optical แล้ว ยังต้องเปิดสวิตช์แหล่งกำเนิดแสงด้านหลังเครื่องด้วย ผมแนะนำว่า ปุ่มด้านหลังเครื่องนี่ ไม่ควรเปิด On ตลอดเวลานะครับ ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงาน อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการเตือนตัวเราเองว่าให้ก้มมองดูด้านหลังเครื่องด้วยว่าได้ต่อสายโทนอาร์มถูกต้องกับช่องนั้นๆ หรือเปล่า
สมมุติฐานที่ผมตั้งไว้ในใจก็คือ เมื่อใช้หัว DS Audio ระดับ entry level อย่างรุ่น E2 (เราสามารถขอซื้อแยกได้ระหว่างหัวเข็มอย่างเดียว ราคา 50,000 บาท หรือหัวเข็ม + phono stage ของเขา ราคาประมาณ 1 แสนบาท จากทางบริษัท IAV ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ DS Audio) กับภาคโฟโนในตัว Soulnote จะมีความแตกต่างจากโฟโนของ DS เองมากน้อยแค่ไหน ผมเลยทำการขอยืมหัวเข็มรุ่น E1 มาทดสอบร่วมกับ E2 phono stage ให้หายคาใจ
ผมเลือกเพลงสองเพลงจากสองแผ่นนี้คือ เพลง “Love Song” จากแผ่นสังกัด STS ชุด November Songs (soundcloud.com/emt930/love-song-soulnote) และเพลง “ลาวดวงเดือน” จากแผ่นของ อ. นรอรรถ จันทร์กล่ำ – สยามดุริยางค์เครื่องสาย (soundcloud.com/emt930/fsg6g3w2taq0) เนื่องจากสองเพลงนี้ใช้ในการรีวิวหัวเข็ม DS Audio E1 และสามารถฟังเทียบกันได้ทันทีบน soundcloud.com/emt930 ของผม (ลอง scroll down หาๆ ดูนะครับ) แนวเสียงของ phono stage ทั้งสองตัวมีความใกล้เคียงกันมาก สปีดเสียง เวทีเสียงทำได้ไม่ต่างกัน ส่วน tonal balance ในเพลง Love Song ผมว่าโฟโนสเตจของ DS เองนั้น โทนเสียงจะออกสว่างกว่านิดหนึ่ง แต่พอฟังเทียบกับเพลงลาวดวงเดือน แทบจะไม่แตกต่างกันเลยในทุกด้าน ฟังแผ่นอื่นๆ นั้นก็ให้เสียงที่กลมกล่อม ลื่น มีความอิ่มของเนื้อเสียงดีเทียบเท่ากับหัว MC ชั้นดี ส่วน background noise ผมยังชอบช่องต่อแบบ balanced XLR มากที่สุด
Summary
Soulnote E2 เป็น flagship phono stage ของค่าย Soulnote ที่ทำออกมารองรับการใช้งานหัวเข็มทุกหัวที่มีในท้องตลาด รองรับแผ่นเสียงทุกยุคทุกสมัยที่ผลิตออกมา การผลิตออกแบบมีความพิถีพิถันและ Hi-end ทุกกระเบียดนิ้ว เนื้อเสียงกระชับ เสียงกลางดีเยี่ยมมีมวลกำลังดี ท่านที่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลายตัว หรือหลายอาร์ม ก็เหมาะสม ท่านที่เล่นหัวเข็มธรรมดาอยู่แล้ว อยากลองหัวเข็มแบบ Optical ก็สามารถเล่นได้เลย ในงบประมาณที่ประหยัดลงไปครึ่งหนึ่ง (ซื้อแต่หัว ไม่จำเป็นต้องซื้อภาคโฟโน Optical) เป็น phono stage ที่น่าสนใจที่สุดแห่งปี 2020 ในบ้านเราทีเดียวครับ. ADP
ราคา 230,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Audio Revolution จำกัด
โทร. 081-626-9072
No Comments