ธรรมนูญ

‘Return the missing Soul Of the Music’

SOtM™ รุ่น sMS 200 Ultra Neo เป็นเครื่องเสียงประเภท Renderer/Network Player (Transport) ถึงแม้ชื่อทางการบอกว่าเป็น Network Player แต่จริงๆ ก็ทำหน้าที่ฟรอนต์เอนด์ในลักษณะ Network Transport ซึ่งต้องใช้ USB DAC ทำงานร่วมกัน

ในการใช้งานทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเล่นด้วยตัวเอง หรือต่อใช้งานกับ Music Server ภายนอก ผ่านทางสาย LAN เพียงเส้นเดียว

sMS 200 Ultra Neo จะทำหน้าที่ Renderer ข้อมูล / Decode ข้อมูล / Unfold ข้อมูล จากนั้นก็ส่งข้อมูลต่อไปยัง DAC จากนั้น DAC ก็แปลงสัญญาณข้อมูลจากดิจิทัลเป็นอะนาล็อก แล้วส่งต่อไปที่ภาคขยาย ภาคขยายก็ไปขับลำโพง ถ่ายทอดเป็นเสียงดนตรีที่เราได้ยิน

เมื่อนำ sMS 200 Ultra Neo ไปเชื่อมต่อกับ Music Server ตัวอื่น จะถูกเรียกว่า Network Bridge ซึ่งจะทำให้ภาคแหล่งโปรแกรมดิจิทัลในซิสเต็มของคุณ มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นอีกมาก

ภาพรวมของ sMS 200 Ultra Neo

sMS 200 Ultra Neo อยู่ในกลุ่ม Advance II เจเนอเรชั่นที่ 3 เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดของ sMS 200 Renderer/Network Player (Transport) อันโด่งดัง

SOtMTM ออกแบบ sMS 200 Ultra Neo เอง บรรจุมันสมองด้วย processor board ทำงานบน Linux ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานด้าน audio เท่านั้น ต่างจาก processor board ทั่วไปของ Notebook โดยสิ้นเชิง นอกจากนั้นยังติดตั้ง sCLK-EX2425 board อันโด่งดังของ SOtM™ ที่ใช้อยู่ในเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ของ SOtM™  รวมถึงมีการนำไปใช้ในเครื่องเสียงค่ายดังๆ อีกมากมาย 

วงจรเป็นระบบ Fanless ไร้การรบกวนจากพัดลม นิ่ง และสงัด เน้นอุปกรณ์ audio grade แบบ Ultra low noise regulator และ Active noise canceller ติดตั้งบนตัวถังอะลูมินัมที่ทำหน้าที่เป็น heatsink/EMF shield ไป ในตัว เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุด ข้อสำคัญใช้งานง่ายและเสถียรด้วย

Check in

sMS 200 Ultra Neo ด้านหน้าเครื่องมี Indicator เป็น LED สีเขียวตองอ่อน แถบยาวเส้นเดียว เหมือนกับเพื่อนๆ ในซีรี่ส์เดียวกัน ไร้ซึ่งจอ display ใดๆ ถึงมีก็ไม่จำเป็นอยู่ดี

ตัวเครื่องมีเพียงขั้วต่อ USB และ RJ45 (LAN cable connector) และอีกช่องคือ SD card slot สำหรับ Eunhasu OS เท่านั้น เว้นแต่เป็นรุ่นที่มี Clock input (Option) ที่มีขั้วต่อ BNC มาด้วย

sMS 200 Ultra Neo มีขนาดกะทัดรัดเพียง 4.8 x 10.6 x 22.7 ซม. (WxDxH) เครื่องเล่นแนว Network  Audio ส่วนใหญ่ ถ้ามีจอ display ก็แค่ความสวยงามเท่านั้น สิ้นเปลืองไปเปล่าๆ สั่งการทำงานโดยอาศัยเว็บเบราว์เซอร์ สำหรับการนำเข้าสู่ navigator เพื่อการควบคุม เลือก สั่งการ สำหรับเชื่อมต่อกับ Eunhasu app  Music Player อ่านว่า “อุนาสสุ” แปลว่า “ทางช้างเผือก” หรือ จักรวาลแห่งดนตรีที่รวบ Music Server รวมถึงแหล่งดนตรีทั้งหลายแหล่มาอยู่ในหน้าเดียวนั่นเอง สามารถเปลี่ยนภาพ background ได้ เชื่อมต่อกับ Media Player ทันสมัยในยุคสตรีมครองโลก เช่น Roon, MPD, DLNA, SqueezeLite, HQPlayer NAA Shairport, LibreSpot, Minim server และ BubbleUPnP server รวมถึงอื่นๆ และรวมถึงการตั้งค่า ซึ่งอาจอยู่บนคอมพิวเตอร์แบบใช้สายหรือไร้สาย รวมถึง Smart Devices ไร้สายของคุณ

Mission

sMS 200 Ultra Neo ถูกระบุว่า ถ้าต้องการ “ประสิทธิภาพสูงสุด” จะไม่ใช่การสตรีมไฟล์ที่ต้องการเล่นโดยตรงจาก Media Server แม้ว่าจะทำได้ก็ตาม แต่จะดีกว่าถ้าทำหน้าที่ในฐานะ Player เป็นเสมือน Interface หรือ Network Bridge ทำงานประสานระหว่างฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ อยู่เบื้องหลังไฟล์ที่จัดเก็บใน Server ซึ่งเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB 2.0 หนึ่งในสองพอร์ต หรืออยู่เบื้องหลังไฟล์สตรีมมิ่งจาก Music Server หรือบน NAS ดังที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงบน Cloud Services ด้วย ผ่านพอร์ต Gigabit Ethernet ของโมดูล sCLK-EX2425 ภายใน ซึ่งเป็นโมดูล ‘พิเศษ’ อันเป็นหัวใจของเครื่อง “ข้อมูลดิจิทัลที่สตรีมเข้ามาจะถูก Re-clock ล้วจัดการ Render เสียใหม่ ก่อนที่จะส่งออกผ่านออกไปทางไปยัง USB DAC” ที่คุณใช้งานอยู่

SOtM™ sMS 200 Ultra Neo ตัวที่ส่งมาเป็นรุ่นที่มี Clock input option (Input frequency: 10MHz
Isolated clock input  50Ω SMB connector) เพื่อให้ใช้ร่วมกับ SOtM™ sCLK-OCX10 (10MHz Master clock) เพื่อติดปีกเสริมความเที่ยงตรงแม่นยำให้เหนือขึ้นไปอีก ซึ่งมีรึที่จะพลาดลิ้มลองมัน

Support

SOtM™ sMS 200 Ultra Neo รองรับไฟล์ได้สูงสุดถึง PCM 32-bit/768kHz, DSD512 ทั้ง Native DSD และ DoP รวมถึงจาก Cloud Service ด้วย โดยจัดการ Render ไฟล์เพลงจากต้นทาง ไม่ว่าจะ Music Server รวมถึงทั้งไฟล์จาก USB Storage ของตัวเอง หรือจาก NAS รวมถึง Streaming Service (TIDAL,QOBUZ) รวมถึง AirPlay และ Spotify Connect เป็นต้น

Connectivities

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด แนะนำว่าควรใช้งานโดยต่อคั่นระหว่าง Network Switch ระหว่างด้านหน้าของ USB DAC ตัวโปรดของเราเท่านั้น….

ด้านหลังเครื่องเรียบง่าย มีขั้วต่อ RJ45 Gigabit Ethernet Port เพื่อติดต่อกับวงโฮมเน็ตเวิร์กภายนอก ผมเสริมทัพด้วย SOtM™ sNH-10G ซึ่งเป็น GIGA Switch (มีรายละเอียด) เพื่อติดต่อกับโลกภายนอก หรือเชื่อมต่อกับ NAS และ Roon Core  โดยที่ Roon แนะนำว่า ถ้าต้องการให้เสียงดีที่สุด ควรต่อผ่าน Network คือส่งสัญญาณผ่าน Roon Advance Audio Transport หรือ RAAT ในที่นี้ก็คือ sMS 200 Ultra Neo นั่นเอง ส่วน USB 2.0 มี 3 ช่อง USB ช่องหนึ่งมีความสำคัญมาก เพราะใช้ต่อกับ USB DAC ในที่นี้ต่อพ่วงกับ Weiss Medea+ DSD เจ้าถิ่น

สำหรับช่อง Analog Output ต่อไปยังอินทิเกรตแอมป์ Vitus RI100 ขับไปลำโพง XAV Audio รุ่น Ella-Louis ที่กำลังเข้ามาใทดสอบพอดี ส่วน USB อีก 2 ช่อง เผื่อไว้ให้เสียบ USB Storage เพื่อจัดการให้มันทำตัวเป็น Mini Music Server นั่นเอง

บริษัท Livingsound ส่งอุปกรณ์เสริมสมรรถนะมาให้ด้วย เช่น ภาคจ่ายไฟภายนอก แม้ในกล่องมีอะแด็ปเตอร์ให้มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่คงเก็บไว้เฉยๆ ผมใช้อ็อปชั่นที่เป็นภาคจ่ายไฟภายนอกของ SOtM™ รุ่น sPS 500 (มีรายละเอียด) จ่ายไฟ 9V DC ได้เนียน สงัด และใช้สาย Silver Y cable เชื่อมต่อเพื่อจ่ายไฟให้ทั้ง SOtM™ sNH-10G และ SOtM™ sMS 200 Ultra Neo เริดไปเลย แถมประหยัดได้อีก

SOtM™ sMS 200 Ultra Neo ตัวที่ทดสอบนี้มีขั้วต่อ BNC Clock Input ที่สามารถต่อ Clock จากภายนอกได้ ผมขอให้ทาง Livingsound จัดส่งมาให้ลองทันที ภาคจ่ายไฟของ sMS200 Ultra Neo ใช้ไฟ 9V DC ที่เป็นรุ่นมาตรฐาน ส่วนของ SOtMTM sCLK-OCX10 (มีรายละเอียด) ใช้ไฟ 12v DC เลยมีภาคจ่ายไฟ sPS 500 ทำงานอิสระ 2 ชุด อย่างที่เห็น

SOtM™ sPS 500 Power Supply Unit

อยู่ในกลุ่ม Advance II ภาคจ่ายไฟคือหัวใจสำหรับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ถ้าสามารถอัพเกรดได้ให้เล่นตรงนี้ก่อน วงจรเป็น Switching ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ขจัด Noise ที่มากับไป AC สามารถเลือก DC Output ด้วย Trimmer ตั้งได้หลายค่า คือ 7Vdc, 9Vdc, 12Vdc, 19Vdc ที่ 50 w ทำมาเพื่อใช้กับ sMS 200 Ultra Neo และ sCLK-OCX10 (Master Clock Generator ) โดยเฉพาะ และมีสาย Y cable เป็น option ที่สามารถจ่ายไฟ 1:2 ได้ด้วย ในที่นี้ผมใช้ไฟ 9V จ่ายให้กับ sMS200 Ultra Neo และ sNH-10G ด้วยครับ

SOtM™ sCLK-OCX10 Master Clock Generator

Master Clock คือหัวใจของทุกสิ่งในบ่วงโซ่ที่มีความสำคัญที่สุดของ Digital Audio Devices ยิ่งเราใช้ Clock ที่มีความเที่ยงตรงสูงเท่าใด ก็ยิ่งได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปอีก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการลงทุนที่สูงขึ้นด้วย ในปัจจุบัน 10MHz clock  คือเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ของที่ติดมากับอุปกรณ์เครื่องเสียงทั่วไป แต่จะทำแยกเป็น Stand alone ใช้เชื่อมต่อให้กับอุปกรณ์ที่รับมันได้เท่านั้น จะทำให้อุปกรณ์นั้นๆ เปล่งศักยภาพก้าวข้ามให้คุณภาพเสียงดีขึ้น ประมาณว่ากระโดดไปขั้นสูงสุดเลยทีเดียว 

sCLK-OCX10 ติดตั้งช่องเสียบ Output แบบ 50Ω BNC connector จำนวน 4 ช่อง หรือจะเลือก option  75Ω BNC ก็ได้ ในที่นี้ผมใช้สาย BNC เสียบกับ 50Ω BNC connector เข้ากับ sMS 200 Ultra Neo เป็นการติดปีกให้กับมันไงครับ ตัวที่ส่งมาเป็นไฟ 12v DC จึงต้องแยกภาคจ่ายไฟคนละตัว

SOtM™ sNH-10G Audiophile Network Switch/Hub

ในนาทีนี้ที่สายสตรีมกำลังสนุกกับการสตรีม ฉะนั้น Audiophile Network Switch จึงเป็นของที่ต้องมี จะพลาดได้อย่างไร ก็เลยจัด sNH-10G ด้วยช่องเสียบ 8 LAN ports และ 2 SFP ports อุปกรณ์ Audio grade  ขจัด Noise ในวงเน็ตเวิร์กเมื่อต่อผ่านได้หมดจด ที่พิเศษก็คือ ติดตั้งมาพร้อม sCLK-EX ที่จะจัดการ Re-clock ให้หมดจด ตัวสีเงินเป็นรุ่นมาตรฐานที่ผมใช้ติดตั้งอยู่แล้ว ส่วนสีดำเป็นรุ่นที่มีช่อง 10MHz Master Clock input  มาด้วย ก็จะทำให้ติดปีกขึ้นไปอีก พ่วงด้วยสาย 50 Ohm ยิ่งถ้าได้ใช้กับ LAN cable CAT7 ทั้งระบบ ก็ยิ่งจะให้รายละเอียดเสียงดีขึ้น มีเวทีเสียงกว้าง ให้ไดนามิกส์ดีขึ้น จะขาดได้อย่างไร

Set Up

การเซ็ตอัพจะทำเป็น 2 ลักษณะ คือ…

1. ต่อแบบบ้านๆ คือแทนที่จะต่อคอมพิวเตอร์แบบ CAS (Computer As Source) ไปเข้า DAC ตรงๆ ก็จับ sMS 200 Ultra Neo คั่นระหว่าง MAC ที่ลากสาย LAN มายัง GIGA Switch ผ่าน sMS 200 Ultra Neo แล้วจึงต่อสาย USB มายัง DAC ใช้เพียงอะแด็ปเตอร์มาตรฐานที่มาในกล่อง

2. ใส่อุปกรณ์เสริมครบสูตร เช่น SPU แยกอิสระ กับ Master Clock เรียกว่าสุดๆ ไปเลย

เมื่อต่อพ่วงเรียบร้อย ถึงเวลาเปิดใช้งานแล้ว สิ่งแรกเลยต้องเข้าไปที่เว็บเบราว์เซอร์ วิธีการเข้าถึงก็คีย์ http://eunhasu.local หรือ เช็ค IP ของ Eunhasu ในวงเน็ตเวิร์กของคุณ ก็เช่น 192.168.1.xx ก็จะเข้าถึงหน้าเว็บของ Eunhasu app Music Player ได้โดยง่าย ซึ่งจะเห็น icon รายล้อมอยู่เพียบ เลือกตรงรูปฟันเฟือง System Set Up -> Configure System Setting …เพื่อตรวจสอบ และตั้งค่าสั่งการ

ถ้าจะเล่นผ่าน Music Server ตัวใดตัวหนึ่งที่ทำงานบนเน็ตเวิร์กเดียวกัน อย่างเช่น แนะนำให้ใช้…

– Roon Endpoint  ถือว่าสะดวกและคุ้มค่าที่สุด สำหรับ DAC ใช้ Weiss Medea+ DSD โดยต้องไปเลือกให้เล่น DSD แบบ DoP นะ

– UPnP/DLNA ถ้าไม่ใช้ Roon อย่างน้อยก็น่าจะเป็นแอพที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว คือ Audirvana+ ซึ่งเป็น DLNA server เหมือนกัน ที่ให้เสียงดีพอคุ้มค่าเงิน

ถ้าจะเล่นตรงๆ ให้ใช้แอพที่เป็น Open Source อย่าง Esoteric Control app หรือ M Connect, 8 Player Pro เอามาลองเล่นดูนิดหน่อยก็พอขำๆ ได้ ส่วน Shairport (AirPlay) รวมถึง LibreSpot (Spotify Connect) เล่นนิดหน่อย ถ้าจะไปไฮเอ็นด์ก็คงฟังขำๆ เนอะ

….ย้ำ “การที่จะเลือกให้ sMS 200 Ultra Neo ต่อเชื่อมกับฟังก์ชั่นที่ต้องการเล่น ก็เพียงใช้  Smart Devices หรือคอมฯ เข้าไปบน Web Browser http://eunhasu.local เปิดการทำงานให้อยู่ในสถานะ ACTIVE เสียก่อน” โดยเลือกได้ครั้งละฟังก์ชั่นเท่านั้นนะ อย่าลืมว่าฟังก์ชั่นอาจให้คุณภาพเสียงต่างกัน จากนั้นไม่ว่าจะเล่นอะไร ข้อมูลดิจิทัลจะถูกส่งผ่่านเข้ามายัง  sMS 200 Ultra Neo เพื่อจัดการ Jitter/Noise ใน Digital Domain ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก แล้วจึง Re-clock ข้อมูลดิจิทัลที่สตรีมเข้ามา จากนั้นจัดการ Render ใหม่ แล้วค่อยส่งไปยัง DAC ก็จะได้เสียงดีขึ้นอย่างมาก ต่างจากที่เล่นตรงๆ จาก Computer โดยสิ้นเชิง

Showtime

เมื่อองค์ประกอบสมบูรณ์ครบถ้วนในห้องฟัง Home Studio ที่บัดนี้ได้ติดตั้งขีปนาวุธเต็มพิกัด มีขั้นตอนคือลองเปรียบเทียบกันระหว่างเล่นตรงๆจาก MAC จากทั้ง Roon Core หรือ Audirvana+ตรงๆไปยัง DAC เทียบไม่ได้เลยกับต่อคั่นด้วย sMS-200 ultra NeO ที่ทำงานได้ไหลลื่น เสียงดีขึ้นอย่างไม่ต้องเพ่ง  ซึ่งเมื่อเล่นกับ ROON จะแสดง Signal Path ในฐานะ ROON Advance Audio Transport, หรือ RAAT  ที่ทำงานได้ไร้ที่ติ ไหลลื่นไม่มีสะดุด เสียงดีที่สุด ดีกว่าที่เคยฟัง ROON จากคอมพ์ต่อด้วยUSB ไปยังDAC ซึ่งบอกตรงๆว่าไม่เคยชอบเสียงมันเลย แต่ตอนนี้เสียงเปลี่ยนไป๋ ถือว่าเพอร์เฟคสุดล่ะ

อัลบั้มเพลงหลากหลายแนว ทั้ง Vocal, Jazz, Big Band, Orchestra ทั้งจากคลังแสงส่วนตัว ส่วนใหญ่เป็นไฟล์ Hi-Res และ TIDAL เสียงที่ได้ยินละเอียดระยิบระยับ ไหลลื่นไร้รอยต่อ เผยให้ได้ยินรายละเอียดเสียงที่ถูกบดบังได้หมดจดจริง ช่วงแรกที่ยังไม่ใส่ชุดแต่งก็ถือว่าดีมากแล้ว จากนั้นก็เปิด Master Clock ฟังได้ชัดว่ารายละเอียดพรั่งพรูในระดับ Micro details กันเลยทีเดียว เรียกว่าได้ยินเพลงแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง ฟังเพลงได้หลากหลาย ฟังเพลงได้เพลินมาก และแน่ๆ ก็คือ Progressive Rock ..Metal ซึ่งส่วนตัวชอบเป็นพิเศษ อัลบั้มที่บันทึกไม่ดีก็พอฟังได้ ส่วนที่บันทึกมาดี ยิ่งดีขึ้นไปใหญ่ ฟังเสียงดัง ยิ่งถ้าเสียงถูกหู ยิ่งเปิดฟังดัง ไม่รกหู ขอบอกว่า ผมเปิดดังอย่างสุดตรีนกันเลยทีเดียว

เมื่อบทบาทของมันคือ จัดการ Jitter/Noise ใน Digital Domain ได้บรรลุหน้าที่แล้ว จึง Re-clock >> Render/Player ยิ่งฟังในสภาพแวดล้อมที่คุมได้หมด อย่างในห้องฟัง Home Studio ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนรวมถึงสุดยอดลำโพงมอนิเตอร์สัญชาติไทยที่สามารถถ่ายทอดได้แม่นยำเช่นนี้ ไม่ว่าจะฟังอัลบั้มใด ยิ่งอัลบั้มที่บันทึกมาดีๆ จะพบว่าได้ซาวด์สเตจกว้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เสียงโอบล้อมทะลุผนัง เหมือนห้องกว้างกว่าที่เห็นกันเลยทีเดียว รายละเอียดเด่นชัดขึ้นอย่างมากมาย ดนตรีออร์เคสต้ามีความซับซ้อนเพียงใดก็ไม่มั่ว ตำแหน่งชิ้นดนตรีมีเลเยอร์เป็นชั้นๆ วงกว้างโอบล้อม ตื้นลึก สูงต่ำ มาครบ เพอร์คัสชั่นหัวโน้ตแม่นเป๊ะ หนังกลองตึง เบสกระชับ สปีดฉับไว ชิ้นดนตรีมีช่องว่าง มีเลเยอร์ ระบุตำแหน่งของชิ้นดนตรีได้ ผลดังกล่าวเกิดจากการจัดการกับ Background noise ได้ต่ำมากนั่นเอง ทำให้ความละเอียดเล็กๆ ที่ไม่เคยได้ยินก็ได้ยินมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาพร้อมกับความคมชัดจะแจ้งบริสุทธิ์ไร้ที่ติ มหัศจรรย์ยิ่ง กับเสียงไม่เคยได้ยินก็ได้ยิน อย่างเช่นอัลบั้มยอดฮิตของผม Amuse to Death ของลุง Roger Waters เอฟเฟ็กต์รายล้อมรอบตัวอย่างกับ 5.1 เลย ทั้งๆ ที่ฟังจากลำโพงคู่เดียว เล่นเอาหลอนกันเลยทีเดียว… ไม่ใช่มโน

ผลจากห้องฟังที่ดูเหมือนเล็กและแคบก็จริง แต่ถ้าเราทรีตได้ดีพอ มีความสงัด เหลือที่ว่างเพื่อเปิดช่องทางธรรมชาติใต้พื้น และผนังล้มด้านข้าง ปลดปล่อยพลังงานออกไปบ้าง ไม่ดูดซับมากเกินความจำเป็น อาจส่งผลดีเกินคาด ให้เสียงสดแบบ LIVE เน้นว่าสดแบบดนตรีเล่นสดๆ มาเล่นตรงหน้า ประมาณว่าแทบเหมือนฟังอยู่ในสตูดิโอ หรือหน้าเวทีคอนเสิร์ตกันเลยทีเดียว

เอาล่ะไม่ขอบรรยายอัลบั้มมากมายว่าเปิดอัลบั้มอะไรบ้าง ดูภาพปลากรอบดีกว่าเนอะ

การลงทุนกับ sMS 200 Ultra Neo อาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายไฟเอซีเพื่อการเชื่อมต่อจากผนังไปยังชุดเครื่องเสียงของคุณด้วยซ้ำ ใช่แล้ว… ทุกคนใช้สายไฟไม่รู้กี่เส้นไปยังแหล่งจ่ายไฟ ถือเป็นเงินมิใช่น้อย ซึ่งมีผลต่อลักษณะเสียงของมัน ใช่หรือเปล่า… ทำนองเดียวกัน สาย Clock หรือ LAN ก็ต้องมีความสำคัญเช่นกัน อย่าลืมลงทุนกับมันด้วย ซึ่งของ SOtM ก็มีนะ

TIPs

แม้ว่า Roon Core หรือ Audirvana+ (DLNA) ได้ติดตั้งในวงเน็ตเวิร์ก โดยอยู่ที่ไหนก็ได้ในบ้าน แต่ถ้าเราถึงขั้นลงทุนใช้ Audiophile Network Switch แล้วล่ะก็ ต้องเลือกใช้สาย LAN คุณภาพสูงแน่ๆ และถ้าสายหลายเส้นคงแพงพิลึก คงช่วยไม่ได้ที่ต้องนำมาไว้ในห้องฟังทั้งหมดจึงจะได้ผลดีที่สุด จริงๆ ก็มีไม่กี่ชิ้นหรอก ชาวออดิโอไฟล์ใส่ใจกับทุกสิ่ง จะเห็นว่าองค์ประกอบ Digital Audio ไม่ซับซ้อนเลย เพียงเลือกใช้อุปกรณ์ให้ตรงวัตถุประสงค์ครั้งเดียวจบ ไม่จำเป็นต้อง “เทียวไล้เทียวขื่อ” หากูรูที่ไหนมาช่วยเซ็ต ครั้งเดียวจบ เล่นกันยาวๆ  

อย่างแนวของ SOtM แนะนำให้เลือกใช้อุปกรณ์เสริมในบางจุดก่อนก็ได้ คุณอาจเลือกใช้ในจุดสำคัญ แต่อย่าลืมว่าต้องเลือกซื้อตัวที่มี Option ไว้ก่อน เพื่ออัพเกรดในอนาคต ซึ่งจะมาพร้อมกับ Option พิเศษอื่นๆ เพิ่ม โดยมีรายละเอียดที่ต้องลงอีก เช่น sMS 200 Ultra Neo รุ่น Special Edition ที่มี Features เช่น EVOX Caps, Internal Silver Wiring, ABS-200, Special Edition Silver badge หรือ Silver Y Cable อ็อปชั่นสำหรับ sPS 500 เป็นต้น

ก็คงต้องคุยกันกับร้านที่จะสั่งซื้อเองตั้งแต่แรกก่อน ที่ขอแนะนำเลยก็คือ sPS 500 และ sNH-10G เป็นของที่ต้องมีเลยครับ ส่วน sCLK-OCX10 นั้น ให้ผลสุดๆ อย่าได้ลองเข้าเชียว ถอดยากจริงๆ ถ้ายุทธปัจจัยพร้อมก็ห้ามพลาดครับ

‘Chasing the missing Soul Of the Music’
“มี DAC ดี… แล้วไง”

เคยให้นิยามเป็นวลีอมตะไว้ในบทรีวิวที่ว่า “เปลียน DAC …ชีวิตเปลี่ยน” จนถูกนำไปใช้ว่อนในสื่อกันจนติดหู …ว่าจะไปขอค่าลิขสิทธิ์อยู่เชียว 555 ก็เพราะเชื่อว่า DAC คืออุปกรณ์ชิ้นสำคัญของ “ตัวต้นทาง” ที่มีน้ำหนักต่อชุดเครื่องเสียงโดยรวม ไม่ยิ่งหย่อนกว่าแอมป์หรือลำโพง เลือกลงทุน DAC ดีๆ ให้เสียงถูกใจมีชัยไปกว่าครึ่ง ยังใช้ได้เสมอ

คำถามอยู่ที่ว่าจะไปให้สุดได้อย่างไรต่างหาก แล้วใช้อะไรเป็น Transport ล่ะ สมมติ Transport ส่งไปไม่ถึงแล้วล่ะก็… คงจบกัน สายสตรีมอย่างเราต้อง Network Transport แน่ๆ แต่ยังมีปัจจัยที่อาจไปไม่สุด ต่อให้ไฟล์ Hi-Res ดีเพียงไร ก็ไม่อาจแสดงผลที่ดีที่สุดไปสู่ DAC ตัวนั้นได้ เป้าหมายก็เพื่อส่งผ่านสัญญาณอะนาล็อกไปสู่แอมป์และลำโพง อันเป็นปราการด่านสุดท้ายให้โก่งคอสุดเสียงได้เลย

ถ้าเล่น Network Audio มาอย่างโชกโชนจะทราบดีว่า Music Server แต่ละตัวให้เสียงต่างกัน ทีนี้ถ้าได้ Renderer/Network Player – Network Bridge ที่ใช่… ขอบอกเลยว่า ถึงกับเปลี่ยนโลกกันเลยทีเดียว อยากนำเสนอว่าให้เลือก SOtM™ sMS 200 Ultra Neo มาเป็น Network Bridge ชั้นดี ค่าตัวราคาสมเหตุสมผล มาคั่นระหว่าง Roon Core อีกชั้น เปลี่ยน Roon ให้เป็นบรรณารักษ์ จ่ายเพิ่มอีกนิด ไปได้อีกไกล ได้เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป นั่นคือ บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยอณูแห่งเสียงดนตรี ฮาร์โมนิกของตัวโน้ต ชิ้นดนตรีสอดประสานกันอย่างกลมกลืนไหลลื่นนั่นเอง เป็นการคืนจิตวิญญานของดนตรี สุดยอดปรารถนาของออดิโอไฟล์ทั่วโลกนั่นเอง

เทคโนโลยีมันตามกันทัน ดูซิในวงการ F1 นั้น Power Unit ของม้่าลำพองยังสู้กระทิงดุไม่ได้เลยนะ นักฟังสายสตรีมโอ้ฟายที่เป็น “นักเล่น” รู้ว่าควรจะจ่าย หรือไม่จ่ายอย่างไรให้คุ้ม “ยาแก้คันตรา SOtM™” เหมาะสำหรับคุณแน่นอน เข้าใจความ ‘ซน’ ที่จะหาความต่าง เติมเท่าที่อยากเติม ปรัชญา Less is More ใช้ได้เสมอ

“จ่ายน้อยได้มากน่ะพอมี จ่ายมากได้น้อยก็อาจจะมีเช่นกัน ข้อนี้น่าจะปวดหัวหนึบ ประเด็นหลังนี้ไม่ใช่สำหรับ SOtM แน่นวล”. ADP

ราคา 48,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Livingsound โทร. 081-852-1771