ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

เป็นเรื่องบังเอิญที่ผมได้รับฟิวส์ระดับออดิโอไฟล์เกรดมาทดสอบไล่เลี่ยกัน ฟิวส์ C-3 ออกมาวางขายในไทยนานพอสมควรแล้ว นับแต่ C-3, C-3 Noir, C-3 Sang Noir, C-3 Sang Noir Platinum Gold และมาถึงรุ่นล่าสุด Type II ซึ่งถ้ามองจากตาเปล่าแล้ว จะเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างรุ่น Sang Noir Platinum Gold กับรุ่น Type II คือ… รุ่นล่าสุดนี้มีแผ่นทองกลมๆ เล็กๆ ปะติดอยู่บนกระเปาะฟิวส์ค่อนไปทางด้านขั้วฟิวส์เท่านั้นเองครับ

ฟิวส์ C-3 Sang Noir Platinum Gold Type II มีกระเปาะฟิวส์ชนิดเซรามิกเคลือบสารป้องกัน RFI และ EMI ตลอดจนคลื่นรบกวนอื่นๆ รวมไปถึงไฟฟ้าสถิต สีออกดำเหลือบน้ำตาลที่เป็นสูตรลับเฉพาะของ C-3 ตัวนำหรือไส้ฟิวส์เป็น Beryllium Copper ที่มีค่าความเสถียรต่อความต้านทานในขณะที่มีกระแสไฟฟ้าแล่นผ่าน ดังนั้น hot resistance จึงไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไม่เกิดการอั้นกระแส เมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง

ส่วนขั้วฟิวส์หัว/ท้าย ชุบด้วย Platinum + Gold เพื่อการนำกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุด ลดการสปาร์ก แถมเป็นการปรับจูนเรโซแนนซ์ที่ดีไปพร้อมๆ กันอีกด้วย และที่แน่นอนคือ มันผ่านกระบวนการไครโอเจนิก (แช่แข็ง) ที่มีกรรมวิธีสลับซับซ้อนตามแบบฉบับของ C-3 ที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับผลึกของตัวนำในระหว่างที่ลดอุณหภูมิลง รับประกันว่าไม่มีความหยาบกระด้างปะปนมาในน้ำเสียงเด็ดขาด

ทีเด็ดอีกประการหนึ่งคือ การทำmemory effect ที่ความถี่ 50Hz โดยใช้ magnetic induction (เหนี่ยวนำโดยสนามแม่เหล็ก) ในขณะที่อยู่ในสภาวะของอุณหภูมิต่ำสุด เพื่อเป็นการสร้างปฏิกิริยาชนิดถาวรในการผ่านความถี่ที่ 50Hz ซึ่งเป็นความถี่ของกระแสไฟฟ้านั่นเอง

ฟิวส์ C-3 Type II ที่ผมได้รับมามีขนาด 20 มม. (ตัวสั้น) ขนาดค่าความต้านทาน 6.3A เป็นฟิวส์ชนิดขาดช้า ดูจากสเปกแล้ว มันเหมาะจะใช้กับเพาเวอร์แอมป์ที่บริโภคกำลังไฟฟ้าสูงๆ เสียหน่อย ซึ่งในการทดสอบ ผมได้ทดลองเล่นกับเครื่องเล่นซีดีและปรีแอมป์ด้วย และผลออกมาเป็นอย่างคาดคือ ใส่กับเพาเวอร์แอมป์จะได้สมดุลเสียงที่ดีที่สุด เพราะค่าของฟิวส์ใกล้เคียงกับฟิวส์ขนาด 4.5A ที่โรงงานใส่มาให้

แน่นอนครับ ฟิวส์ C-3 ทุกรุ่นต้องการระยะเวลาเบิร์นอินอย่างน้อย 150 ชั่วโมงขึ้นไป ถึงจะเข้าที่เข้าทาง และจะนิ่งก็ต่อเมื่อเล่นไปครบ 200 ชั่วโมงแล้วนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จงอย่าได้ด่วนตัดสินมันในตอนแรกที่คุณเล่นยังไม่ถึง 150 ชั่วโมงไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 80 – 100 ชั่วโมงที่อาการครึ่งดีครึ่งบ้าจะปรากฏชัดมาก เดี๋ยวเบสดี แหลมกุด เดี๋ยวแหลมมา แต่เบสหาย กลางเบลอๆ ผมเรียกอาการนี้ว่า เสียงมันสะบัดครับ ต้องเปิดเครื่องทิ้งไว้แล้วไปทำอย่างอื่นให้มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจนเข้าที่ คราวนี้คุณจะฟังไปยิ้มไป ผมเดาว่า คุณคงอยากจะรู้ว่า C-3 Sang Noir Platinum Gold Type II ต่างกับ Sang Noir รุ่นแรกอย่างไร… จัดไปครับ

Sang Noir รุ่นแรกนั้นโดดเด่นที่พละกำลังและความเปิดโล่งของเวทีเสียง แต่พอมาเป็น Type II นี่ จะเติมความเข้มข้นลงไปในเนื้อเสียง และให้ airy ออกมาเพิ่มขึ้นกว่า แบ็กกราวด์หรือฉากหลังนิ่งสงัดคล้ายๆ กับรุ่น Noir ซึ่งผมชอบ เรียกว่า C-3 Type II รวมเอาข้อดีของ C-3 ทุกรุ่นเอาไว้หมดเลยก็ว่าได้ครับ

ผลการรับฟัง

ย้ำอีกครั้งว่าต้องเบิร์นอินให้ครบ 150 ชั่วโมงไปแล้วเท่านั้นนะครับ สมดุลเสียงมีความเสมอกันทั้งทุ้ม-กลาง-แหลม จุดเด่นคือเพิ่มความชัดของเบสลึกๆ ที่ต่ำกว่า 50Hz ไม่ใช่แค่เน้นหัวโน้ตหรืออิมแพ็กต์แรกกระทบเพียงอย่างเดียว ไอ้ลูกความถี่ต่ำที่มีกระเพื่อมตามมาเป็นระลอก หลังจากที่เกิดเสียงโน้ตแรกให้ได้ยินแล้ว ยังคงเป็นเสน่ห์ของฟิวส์ C-3 ที่ยากจะหาใครมาเลียนแบบได้ เสียงกลางไม่หนาไม่บาง แต่เข้มข้นตลอดย่าน เลยไปจนกลางต่ำด้วย ในการทดสอบผมได้ทดลองขยับลำโพงให้โทอินน้อยลง พบว่าได้เวทีเสียงที่กว้างขึ้นกว่าเก่า ซึ่งเปรียบประดุจเปลี่ยนเพาเวอร์แอมป์อยู่กลายๆ ด้วยซ้ำไปครับ

เสียงนักร้องชายหญิงโฟกัสชัดเจน เป็นธรรมชาติ พวกเครื่องดนตรีอะคูสติกส์ทั้งหลายดูเหมือนว่าจะเพิ่มความเหมือนจริงขึ้นมาอีก เสียงการเคาะ การเขย่า หรือการเป่า รู้สึกได้ถึงอากัปกิริยาของนักดนตรีว่ากำลังขยับตัวอย่างไร เสียงเครื่องเป่าทองเหลือง (Brass) มีความสดสมจริง แต่ไม่ค่อยกัดหู ตรงนี้จะต่างกับ Sang Noir รุ่นเก่าหน่อยหนึ่ง เพราะ Type II จะไม่ปล่อยให้เสียงออกมาปรี๊ดปร๊าด ขัดหูนักเล่นเป็นอันขาด ผิวเสียงมีลักษณะเกลี้ยงเกลา นวลเนียน ไร้สากเสี้ยน จนฟังเผินๆ อาจจะรู้สึกนุ่ม แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในตอนที่ไดนามิกมันสวิงกว้างสุดตั้งแต่ล่างไปบนนั่น ไม่มีอาการอั้นตื้อ หรือเวลาที่เกิดอิมแพ็กต์แรงๆ มันก็ปลดปล่อยพลังงานออกมาชนิดที่ไร้ขีดจำกัด ขอเพียงให้ต้นทางที่บันทึกมามีอยู่เท่านั้น

การจัดรูปเวทีเสียงของ C-3 Sang Noir Platinum Gold Type II มหัศจรรย์มาก ด้านกว้างมีความโอ่อ่าสถาพร ทะลุผนังห้องฟังออกไปนู่นแน่ะครับ ส่วนโถงเวทีด้านลึกนั้นก็จัดระยะหน้าหลังได้อย่างชัดเจน เป็นระเบียบ สมดุลกับด้านกว้าง อิมเมจผุดขึ้นรูปเป็นสามมิติอย่างสมบูรณ์แบบ เหตุผลที่ฟิวส์ตัวเดียวสามารถเปลี่ยนเสียงไปได้ขนาดนี้ ตอบง่ายๆ คือ… มันไปทะลุคอขวดของอิเล็กตรอนที่ไปติดขัดอยู่ตรงฟิวส์ติดเครื่องธรรมดาๆ พรรคพวกบางคนเอาฟิวส์ C-3 Type II ไปใส่กับเครื่องเล่นไฟล์ระดับสูงๆ ฟีดแบ็กกลับมาว่า ให้ความเป็นอะนาล็อก แถมเติมความเข้มข้นแบบยกระดับขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญไม่ใช่แค่เล็กๆ น้อยๆ

ผมมีข้อสังเกตเหมือนกับทุกๆ ครั้งที่ทดสอบฟิวส์ C-3 นั่นคือ ให้ลองสลับทิศทางฟิวส์ดูด้วยครับ สำหรับ Type II นี่ฟังออกง่ายมาก กล่าวคือ… ถ้าใส่ถูกทางเบสจะดีกว่ากลับทิศอย่างชัดมากๆ ไม่ต้องไปฟังอย่างอื่นเลยครับ

สรุป

ฟิวส์ออดิโอเกรดทุกตัวมักมีบุคลิกเฉพาะตัวอย่างชัดเจน จำเป็นต้องแม็ตชิ่งกับเครื่องเสียงที่จะนำไปใช้งานด้วยทั้งทางสเปกไฟฟ้าและบุคลิกเสียง โชคดีอย่างหนึ่งที่ C-3 Sang Noir Platinum Gold Type II มีบุคลิกที่เป็นมิตร ผมไม่คิดว่ามันจะมีปัญหาเรื่องการแม็ตชิ่งในซิสเต็มของคุณ ปัญหาประมาณเดียวของมันคือ ตอนนี้ฟิวส์ที่มีค่าความต้านทานน้อยๆ ระดับ 1 – 3 แอมป์ ยังไม่ได้ทำออกมาขายเลย เพราะฉะนั้นคงจะต้องร้องเพลงรอกันไปก่อน รักแล้วต้องรอได้ครับ… แฮ่ม. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 275