เครื่องกรองไฟ (Power Conditioner) เป็นอุปกรณ์เสริมที่ได้รับความสนใจในวงการมาอย่างยาวนานมากที่สุดอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่สำคัญในจัดการกับสัญญาณรบกวนไม่พึงประสงค์ที่ปะปนมากับกระแสไฟที่ส่งไปยังอุปกรณ์ทั้งออดิโอและวิดีโอ

ในมุมของซิสเต็มเครื่องเสียงบ้านมีอุปกรณ์หลายอย่างที่ทำงานกับสัญญาณระดับต่ำๆ ซึ่งอ่อนไหวต่อสัญญาณรบกวน หากเอามาตรฐานสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ IEEE มาอ้างอิง สัญญาณรบกวนสารพัด ไม่ว่าจะเป็นแรงดันไฟกระชาก (Surge), น้อยส์จากแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ (EMI/RFI), หรือความผิดเพี้ยนของรูปคลื่นไฟฟ้า (Harmonic Distortion) ล้วนส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ผลิตมากมายผลิตอุปกรณ์กรองไฟสำหรับเครื่องเสียงออกมาจำหน่าย หลายรายก็มีการยื่นจดสิทธิบัตรของตนเองเอาไว้ แต่หากจะจำแนกรูปแบบการกรองไฟที่นิยมใช้ในวงการเครื่องเสียงออกมาแบบกว้างๆ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ซึ่งมีจุดเด่นแตกต่างกัน

  1. Passive Filters – เช่น ตัวต้านทาน ตัวเหนี่ยวนำ และ ตัวเก็บประจุ เป็นโลว์พาสฟิลเตอร์ ข้อดีคือ ต้นทุนไม่สูง มีประสิทธิภาพที่ดีในระดับหนึ่ง เราจะเห็นวงจรนี้ติดตั้งแบบอนุกรมอยู่ในภาคจ่ายไฟของเครื่องเสียงชั้นดี รวมถึงในเครื่องกรองไฟแบบต่างๆ
  • Balanced Isolation Transformer – แยกไฟฟ้าทั้งสองฝั่งไม่ให้เชื่อมต่อกันทางไฟฟ้า และส่งผ่านพลังงานด้วยสนามแม่เหล็กระหว่างหม้อแปลง ข้อดีคือ กรองน้อยส์ความถี่สูงได้ดีกว่า แต่หม้อแปลงต้องใหญ่พอที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังไฟฟ้าที่จะส่งไปยังโหลด
  • Power Regenerator – สร้างกระแสไฟเอซีขึ้นมาใหม่ มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดสัญญาณรบกวนและปรับแรงดันไฟฟ้า ยกตัวอย่างของ PS Audio พวก PowerPlant แต่ก็มีราคาต้นทุนโดยรวมที่สูงและราคาแพงมากที่สุด

ประสพการณ์ที่รับรู้ได้ด้วย “หู”

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกรองไฟประเภทไหน การดูแค่สเปคเพียงอย่างเดียวไม่ได้การันตีว่า เครื่องกรองไฟนั้นๆ จะใช้ได้ผลดีกับทุกซิสเต็ม ท้ายสุดต้องมาตัดสินด้วยการฟัง แม้แต่ John Atkinson บรรณาธิการของ Stereophile เอง ก็ยังเคยแสดงทรรศนะเอาไว้ว่า ผลของเครื่องกรองไฟขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่และลักษณะของระบบเครื่องเสียง ไม่มีคำตอบตายตัวว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น

เมื่อใช้การฟังมาประกอบ “ไดนามิก” จะเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางเสียงเมื่อใช้เครื่องกรองไฟได้ง่ายที่สุด เนื่องจากกระแสไฟต้องวิ่งผ่านอุปกรณ์ที่อยู่ภายในเครื่องกรองไฟด้วย ซึ่งอาจขัดขวางการจ่ายกระแส โดยเพิ่มความต้านทานเข้าไปในสายไฟ เมื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องการกระแสไฟฟ้าสูง เช่น เพาเวอร์แอมป์ เวลาฟังเพลง เราจะ “รับรู้” ได้ว่า ระดับเสียงทั้งหมดจะสวิงตัวได้น้อยลงกว่าที่ควรเป็น ขาดพลัง รวมถึงลักษณะของเวทีเสียงที่หุบและแคบลง รายละเอียด บรรยากาศรอบๆ ตัวเสียงไม่ชัดเจน หรือที่บางคนอาจเรียกว่า “เสียงแห้ง”

อีกประการหนึ่ง สำหรับเครื่องเสียงชั้นดี โดยเฉพาะเครื่องระดับไฮเอ็นด์ ดีไซน์ภาคจ่ายไฟคุณภาพสูงที่มีสัญญาณรบกวนต่ำเอาไว้ภายในเครื่องอยู่แล้ว บางรุ่นถึงกับติดตั้ง Power Regenerator ลงไปเลยก็มี ดังนั้น การต่ออุปกรณ์เหล่านี้ผ่านเครื่องกรองไฟที่ออกแบบมาไม่เหมาะสมก็มีโอกาสที่ผลลัพธ์จะกลับตาลปัตร เสียงออกมาแย่กว่าการต่อตรงไม่ผ่านเครื่องกรองไฟเลยก็มี แน่นอนว่าสามารถรับรู้ได้ด้วยทักษะการฟังของผู้เป็นเจ้าของซิสเต็ม

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเล่นหลายรายนิยมที่จะต่ออุปกรณ์เครื่องเสียงผ่านปลั๊กพ่วง โดยไม่มีระบบกรองไฟ หรือเลือกใช้ตัวกรองไฟเฉพาะกับอุปกรณ์ที่กินกระแสไฟต่ำ เช่น แหล่งโปรแกรมต้นทาง ส่วนแอมปลิฟายเออร์ก็เลือกใช้การต่อตรงกับปลั๊กผนังแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการอั้นของกระแสไฟ หรือระดับของการกรองไฟที่มากจนเกินพอดี

RM Noise-Trap แนวคิดใหม่ของการกรองไฟ

คุณ Richard N. Marsh (RM) อดีตวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์อาวุโส ทำงานด้านโครงการพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่ห้องปฏิบัติการวิจัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ในห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอเรนซ์ลิเวอร์มอร์ เป็นเวลา 25 ปี และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการออกแบบระบบเสียง เป็นไอคอนในวงการเครื่องเสียงที่ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การปรับปรุงตัวเก็บประจุ และการออกแบบแบบเชื่อมต่อโดยตรงด้วยแนวคิด DC servo, การขยายสัญญาณแบบ Current-Mode, ระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่สะอาด และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปใช้โดยบริษัทเครื่องเสียงชั้นนำอย่างเช่นปลั๊กกรองไฟของ Monster Cable ในอดีต

จากประสบการณ์ออกแบบเครื่องกรองไฟมาแล้วสองเจนเนอเรชั่น คุณ Marsh ได้ดีไซน์เครื่องกรองไฟเจนเนอเรชั่นที่สามขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “Noise-Trap” ซึ่งจดสิทธิบัตรเรียบร้อย เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ “ดัก” ความถี่รบกวนที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหมด และกำจัดออกจากสายไฟ AC ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่ออกแบบมาแก้ปัญหา pain point ของเครื่องกรองไฟแบบเดิมๆ โดยใช้เทคโนโลยีการกรองแบบขนาน (shunt/parallel filters) ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียง หรือประสิทธิภาพของระบบ ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. Noise-Trap ใช้วงจรกรองแบบขนาน (shunt/parallel filters) ซึ่งไม่ได้แทรกอยู่ในเส้นทางหลักของกระแสไฟฟ้า จึงไม่รบกวนการทำงานของวงจรจ่ายไฟในเครื่องขยายเสียงคุณภาพสูง หรือระบบป้องกันไฟกระชากที่มีอยู่แล้ว
  2. ไม่เหมือนกับ power conditioner บางรุ่นที่อาจจำกัดกระแสไฟ Noise-Trap ไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายกระแสไฟของระบบ ทำให้เครื่องขยายเสียงยังคงได้รับกระแสไฟที่เพียงพอในช่วงที่ต้องทำงานหนัก
  3. แม้ว่าเครื่องขยายเสียงคุณภาพสูงมีวงจรจ่ายไฟที่ดีอยู่แล้ว แต่ Noise-Trap สามารถช่วยกำจัดสัญญาณรบกวนที่อาจเล็ดลอดเข้ามาก่อนถึงวงจรจ่ายไฟของเครื่องขยาย ทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  4. การออกแบบแบบขนานของ Noise-Trap ช่วยหลีกเลี่ยงการสร้างการบิดเบือนที่อาจเกิดขึ้นจากการกรองแบบอนุกรม จึงไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียงที่เครื่องขยายเสียงคุณภาพสูงสร้างขึ้น
  5. Noise-Trap ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับปลั๊กพ่วงที่มีระบบป้องกันไฟกระชากได้อย่างไม่มีปัญหา โดยทำหน้าที่เสริมการป้องกันด้วยการกำจัดสัญญาณรบกวนความถี่สูง ในขณะที่ระบบป้องกันไฟกระชากยังคงทำหน้าที่ป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกินได้ตามปกติ
  6. Noise-Trap ไม่จำกัดช่วงไดนามิกของสัญญาณเสียง ทำให้ยังคงรักษาคุณภาพเสียงที่เครื่องขยายเสียงคุณภาพสูงสร้างขึ้นได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงเสียงเบาและเสียงดัง
  7. แม้ว่าเครื่องขยายเสียงคุณภาพสูงมีวงจรจ่ายไฟที่ดีอยู่แล้ว การใช้ Noise-Trap สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียงโดยรวมของระบบได้ โดยการกำจัดสัญญาณรบกวนที่อาจเกิดขึ้นในสายไฟก่อนเข้าสู่เครื่องขยายเสียง

จะเห็นว่าคุณ Marsh มีแนวคิดในการออกแบบ Noise-Trap มาเพื่อทลายข้อจำกัดของการใช้เครื่องกรองไฟในอดีตแทบทั้งหมด ทั้งเรื่องการอั้นไดนามิก ความเข้ากันได้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ ทำตัวเป็นเหมือนกับ “กองหนุน” ที่จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการขจัดน้อยส์ทั้งซิสเต็มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชุดฟังเพลงสองแชนเนล หรือการนำไปใช้กับโฮมเธียเตอร์ที่มีทั้งระบบภาพและเสียง

ดีไซน์

Noise-Trap นำเอาโซลูชั่นการกรองไฟที่ทันสมัยมาไว้ในตัวถังขนาดกะทัดรัด ขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าปลั๊กกรองไฟขนาดกลางๆ บอดี้เป็นอะลูมิเนียมหนาและแน่น ฝาครอบเกือบทั้งหมดชุบโครเมียมแวววาวตัดกับบอดี้สีดำอะโนไดซ์ ท้ายด้านหนึ่งติดตั้งปลั๊ก IEC สามขา ไม่มีปุ่มกดหรือสวิตช์ใดๆ นอกจากไฟแอลอีดีสีน้ำเงินที่จะสว่างเมื่อเสียบปลั๊กใช้งาน

ภายใต้แชสซีส์อะลูมิเนียมของ Noise-Trap ประกอบด้วยวงจรฟิลเตอร์ประสิทธิภาพสูงหลายชั้นที่ทำงานร่วมกัน เนื่องจากเป็นวงจรแบบขนานจึงสามารถทำการกรองได้ทุกช่วงความถี่ที่ต้องการ โดยไม่กั้นขวางการไหลของกระแสไฟ หลักการคือ เมื่อกระแสไฟฟ้า AC ทั้ง Line และ Neutral ที่มีสัญญาณรบกวนปนอยู่ไหลผ่าน Noise-Trap จะลัดวงจรดึงเฉพาะน้อยส์เข้าสู่ตัวมันเอง ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้กระแสไฟฟ้า AC ปกติที่ความถี่ 50-60 Hz ที่สะอาดไหลผ่านไป โดยไม่ถูกรบกวนใดๆ ส่วนน้อยส์ต่างๆ ที่ถูก Noise-Trap ดักเอาไว้จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานความร้อน และระบายออกผ่านแชสซีส์อย่างปลอดภัย

ผู้ผลิตแนะนำให้เสียบ Noise-Trap ไว้กับปลั๊กจ่ายไฟที่มีวงจร Surge Protected เนื่องจากตัวมันเองทำหน้าที่เป็นน้อยส์ฟิลเตอร์แบบเพียวๆ ไม่ได้มีวงจร protection ใดๆ เสริม เมื่อเสียบใช้งาน Noise-Trap จะทำงานโดยอัตโนมัติ ทิ้งไว้สักชั่วครู่ราว 2-3 นาที จะเริ่มเผยประสิทธิภาพให้เห็นอย่างเต็มที่ โดยสามารถเสียบทิ้งเอาไว้ตลอดได้เลย ไม่จำเป็นต้องดึงปลั๊กออกอีก

ในกล่องแถมสายไฟเอซีแบบสามขา หน้าตัดใหญ่ ความยาว 50 เซนติเมตรมาด้วย ซึ่งทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้งานคู่กับ Noise-Trap จะได้ผลลัพธ์ดีที่สุดตามที่ออกแบบมา แต่หากต้องการอัพเกรดสายไฟจะต้องเป็นสายไฟเอซีที่มีหน้าตัดขนาดใหญ่กว่า 14AWG และมีความยาวไม่เกิน 50 เซนติเมตร เช่นเดียวกัน

เทียบกับการใช้ตัวกรองในลักษณะ Shunt ฟิลเตอร์อย่างของ AudioPrism: Quiet-Line ที่ผลิตออกมาเป็นปลั๊กโมดูลขนาดเล็กแบบ 2 ขา ไม่มีกราวด์ ใช้เสียบลงไปในรูปลั๊กที่ว่าง เพื่อฟิลเตอร์น้อยส์ และสลายโดยเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อน เท่าที่ทดลองมา Quiet-Line ให้ปริมาณผลลัพธ์ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เสียบใช้งาน ต้องทดลองหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับแต่ละซิสเต็มด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือต้องใช้จำนวนหลายตัว ติดตั้งแบบกระจายหลายจุดทั้งในห้องและนอกห้องฟังเพื่อให้ทำงานได้ครอบคลุม และได้ผลกับระบบเสียงมากกว่าภาพ

การเซ็ตอัพ

ผมใช้ Clef PowerBridge 8 เป็นปลั๊กจ่ายไฟรวมที่ต่อเข้าระบบเครื่องเสียง ประกอบด้วย..    สตรีมเมอร์ Matrix Mini-I Pro 4, ซีดีเพลเยอร์ Cayin, อินทิเกรตแอมป์ Bryston B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX (ต่อช่อง direct), และลำโพงสามทาง KEF R3 Meta สลับกับ NHT 1.5

ตรงช่อง Video Filter ของ PowerBridge 8 ต่อพ่วงปลั๊ก Clef PurePower 4 สำหรับทีวี, เน็ตเวิร์กสวิตช์, และกล่องเพลย์บ็อกซ์ และมี XAV X-Filter เสียบอยู่ที่ช่อง Direct หนึ่งตัว รวมถึงมี AudioPrism: Quiet-Line เสียบอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน

ในการทดสอบนี้จะนำ Noise-trap เสียบเข้าที่ช่อง Video Filter ที่ว่างอยู่ของปลั๊ก PowerBridge 8 ซึ่งเป็นช่องที่มีระดับการของกรองสูงกว่าช่อง Audio Filter เพื่อวัดกันไปเลยว่า เมื่อใช้งานร่วมกับวงจรกรองระดับสูงสุดที่มีอยู่จะเป็นอย่างไร สลับกับการถอดออกจากระบบเพื่อประเมินผลลัพธ์ และใช้สายไฟเอซีที่แถมมากับ Noise-Trap ตลอดการฟัง

ผลการทดสอบ

เมื่อใช้ Noise-trap ปรากฏว่า ไดนามิกของเสียงยังคงสมบูรณ์ และไม่มีอาการ “อั้นตื้อ” แม้ในช่วงเสียงดังที่ต้องการกำลังไฟสูง เสียงกลองและเบสยังคงมีพลังและความฉับไว โดยเฉพาะในเพลงแจ๊สและร็อคที่มีจังหวะเร็ว แสดงให้เห็นว่า noise-trap ไม่ได้จำกัดการจ่ายกระแสไฟให้กับเพาเวอร์แอมป์แต่อย่างใด ทดสอบด้วยเพลง “The Chain” ของ Fleetwood Mac ช่วงเบสไลน์อันเป็นเอกลักษณ์ยังคงมีพลังและความหนักแน่น โดยไม่มีอาการอิ่มตัวหรือบีบอัด แม้จะเปิดระดับเสียงค่อนข้างดัง เสียงกลองในเพลง “Rosanna” ของวง Toto ยังคงมีความฉับไวและมีไดนามิก โดยเฉพาะจังหวะซิกเนเจอร์ของ Jeff Porcaro ที่ยังคงความสดและมีชีวิตชีวา

ตลอดการรับฟัง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของโทนเสียงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นข้อดีเพราะแสดงว่า noise-trap ไม่ได้แทรกแซงลักษณะเสียงดั้งเดิมของซิสเต็ม เสียงยังคงมีความเป็นธรรมชาติและสมดุล ในเพลง “Kind of Blue” ของ Miles Davis โทนเสียงของทรัมเป็ตยังคงความอบอุ่นและนุ่มนวลตามสไตล์การเล่นของ Miles ในขณะที่เสียงเปียโนของ Bill Evans ยังคงความใสและมีน้ำหนักที่เหมาะสม ไม่มีการเน้นย้ำหรือลดทอนย่านความถี่ใดเป็นพิเศษ

จุดที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุดอีกอย่างคือ พื้นเสียงเงียบสงัดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเงียบระหว่างเพลง หรือในเพลงที่มีไดนามิกกว้าง ทำให้รู้สึกถึง “ความมืด” ของพื้นหลังมากขึ้น ส่งผลให้เสียงดนตรีลอยตัวและมีความคมชัดยิ่งขึ้น ในการฟังเพลง “The Girl from Ipanema” เวอร์ชันของ Stan Getz และ João Gilberto ช่วงเงียบก่อนที่ Astrud Gilberto จะเริ่มร้องมีความเงียบสงัดมากขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้เสียงร้องที่เข้ามาดูมีมิติและลอยตัวมากขึ้น ในขณะที่เพลง “Take Five” ของ Dave Brubeck Quartet ช่วงโซโล่กลองของ Joe Morello ที่มีไดนามิกกว้าง สามารถได้ยินรายละเอียดของการตีกลองเบาๆ ได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากพื้นเสียงที่เงียบลง

เมื่อช่องว่างช่องไฟสงัด การรับรู้เลเยอร์ของดนตรีก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว การแยกแยะตำแหน่งของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเพลงที่มีการเรียบเรียงซับซ้อนอย่างเพลงคลาสสิกที่บรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศของห้องบันทึกเสียงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ฟังซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven โดยวง Berlin Philharmonic ภายใต้การอำนวยเพลงของ Herbert von Karajan การใช้ Noise-Trap แสดงโถงเวทีเสียงที่มีความลึกมากขึ้น สามารถแยกแยะตำแหน่งของเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน โดยเฉพาะในท่อนที่ 4 ที่มีนักร้องและคอรัสเข้ามา การวางตำแหน่งของนักร้องแต่ละคนมีความแม่นยำและชัดเจน

ด้านภาพนั้นมีความโดดเด่นชัดเจนไม่แพ้กัน เพราะหลังเสียบใช้งาน Noise-Trap แล้วลองดู ภาพยนตร์จาก Netflix ภาพเคลียร์สะอาดขึ้นมาก สีดำมีความลึกมากขึ้น สีสันมีความอิ่มและฉ่ำ เป็นความชัดเจนแต่ไม่คมแข็ง แสดงว่าแม้จะผ่านวงจรกรองไฟอยู่แล้ว Noise-Trap ก็ยังช่วยเสริมการทำงานของวงจรน้อยส์ฟิลเตอร์เดิมของตัว PowerBridge 8 ให้ดีขึ้นไปได้อีกอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยงเลยว่าจะเป็นระบบออดิโอหรือวิดีโอ

สรุป

ต้องบอกว่าผลลัพธ์ของการใช้ Noise-Trap นั้น แนบเนียนและมีชั้นเชิง เหมือนกับเป็นแบ็คอัพชั้นดี ทำหน้าที่ขจัดน้อยส์ที่ปะปนมากับกระแสไฟเอซี โดยไม่ไปยุ่มย่ามกับการทำงานของวงจรน้อยส์ฟิลเตอร์ส่วนอื่นเลย ในทางกลับกัน กับรู้สึกว่า มันช่วยเสริมให้ประสิทธิภาพการกรองไฟของทั้งระบบทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้นไปอีกขั้น สามารถยกระดับคุณภาพทั้งด้านภาพและด้านเสียงไปพร้อมกันแบบไม่ต้องรักพี่เสียดายน้อง นับเป็นอุปกรณ์เสริมที่น่าสนใจสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงหรือโฮมเธียเตอร์ ที่ต้องการอัพเกรดประสิทธิภาพของระบบให้สูงขึ้นไปอีกขั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีซิสเต็มคุณภาพสูงอยู่แล้ว และต้องการเก็บทุกรายละเอียดจนหยดสุดท้าย ADP

สามารถอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และสั่งซื้อตัวเครื่องโดยตรงได้ที่
www.noise-trap.com

หรือสั่งซื้อทาง Inbox ของ Clef Audio
จากราคา 28,000 บาท
เหลือเพียง 22,400 บาทเท่านั้น

สอบถามเพิ่มเติม
Clef Audio

โทร. 02-932-5981