Rega: ND-7 Moving magnet cartridge
Rega เป็นหนึ่งในบริษัทเครื่องเสียงจากอังกฤษที่น้อยรายมากๆ ที่ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกอย่างแบบครบวงจรในโรงงานที่อังกฤษที่เดียว ไม่มี outsource ไปยังประเทศอื่น ไม่ว่าเรื่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งเป็น Product แรกๆ ของ Rega (จริงๆเครื่องเสียงชิ้นแรกที่ Roy Gandy ทำให้เพื่อนแกใช้คือ ลำโพง ครับ) บริษัทเครื่องเสียงที่เน้นด้าน analog ทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงขายเป็นสินค้าหลัก และมีหัวเข็มแผ่นเสียงขายด้วย ผมว่ามีไม่กี่เจ้าที่ยืนยันว่าเขาทำหัวเข็มด้วยตนเองในโรงงาน Rega ในคลิปบน Youtube จะเห็นเวลา factory tour จะมีแผนกที่ผลิตหัวเข็มแผ่นเสียง มีการพันคอยล์เอง ทำให้เรามั่นใจได้ว่า หัวเข็ม Rega ทุกหัว ผลิตโดยโรงงาน Rega ที่อังกฤษทุกหัวแน่นอน
เมื่อสามสิบปีก่อน ผมชอบไปนั่งเล่นที่ร้านเครื่องเสียงที่ห้างสีลมคอมเพล็กซ์ ร้านนั้นเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเล่นแผ่นเสียง Rega และขายดีมาก การ setup เพื่อส่งมอบลูกค้านี่เห็นจนชินตา หัวเข็มสมัยนั้นมีแต่หัวแบบ moving magnet (เริ่มผลิตเมื่อปี 1992) หัวสีม่วง (Elys) และรุ่นท็อปคือ หัวสีเหลือง (Exact) การติดตั้งหัวเข็มกับอาร์มของ Rega ไม่ยุ่งยากอะไรนัก เพราะไม่ต้องวัดระยะ overhang และ offset angle เนื่องจากการยึดหัวกับ shell ทำได้ด้วยสกรูสามจุดที่จะล็อคระยะดังกล่าวโดยอัตโนมัติ ทำให้การเซ็ตง่ายมาก
.
ประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมา (2005) Rega ก็เริ่มทำหัวเข็ม MC ออกมาเพื่อตอบสนองต่อลูกค้า และการใช้งานร่วมกับ phono stage รุ่นสูงของแบรนด์ จึงถือกำเนิด MC cartridge ตัวแรกออกมาคือ รุ่น Apheta
จากนั้นก็ออกหัวเข็ม MC ออกมาอีกหลายรุ่น เช่น Apheta 2/3 Ania, Aethos จนถึงรุ่นท็อปสุดของ MC ปัจจุบันคือ Aphelion2 ที่ราคา 5,500 เหรียญ ทางฝั่ง MM ก็ยังไม่มีการออกซีรี่ส์ใหม่อะไร มีแต่รุ่นอัพเกรดของเดิมเป็น Elys2 และ Exact2
Rega ND series
จนถึงปี 2024 ทาง Rega ก็ได้มีการออกแบบใหม่ และออกซีรี่ส์ใหม่ของหัวเข็ม MM เป็น ND series ที่มีตัวย่อมาจาก Neodymium magnet โปรเจ็กต์นี้ทาง Roy Gandy มอบหมายให้ James Hammond ที่อยู่แผนก electrical engineer แต่มีความสนใจในด้าน mechanical engineer ทำหน้าที่ออกแบบรับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้ แกเลยจัดการออกแบบใหม่หมด หน้าตาภายนอกคล้ายคลึงกับหัวเข็มซีรี่ส์ MC สิ่งที่แตกต่างไป คือ…
- ใช้แม่เหล็กแบบ neodymium ในหัวเข็ม MM กล่าวกันว่าเป็นหัวเข็ม MM ซีรี่ส์แรกของตลาดที่มีการใช้แม่เหล็กชนิดนี้ ข้อดีของ neodymium คือ มีน้ำหนักเบา เส้นแรงแม่เหล็กสูง โดยใช้แท่งแม่เหล็กความยาว 3 มม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 มม. ติดไว้ที่ปลายก้านเข็มอะลูมิเนียม ให้ได้ค่า output 5 mV การที่เส้นแรงแม่เหล็กสูงน้ำหนักเบา ทำให้การถ่ายทอดแรงสั่นสะเทือนจากปลายเข็มผ่านก้านเข็มเป็นไปได้ด้วยความไว ถึงแม้ไม่ได้เท่า moving coil ที่มีน้ำหนักเบากว่ามาก แต่ก็ถือว่าดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับหัวเข็ม MC ทั่วไป
- Stylus profile ลักษณะปลายเข็ม โดยเฉพาะรุ่น Nd7 ใช้ปลายเข็มเพชรที่มีลักษณะแบบ Line contact บางแหล่งก็บอกว่า ปลายเข็มแบบ Shibata แต่ว่ามันเป็น Stylus profile แบบเดียวกับรุ่น Aphelion 2 หัว MC รุ่นสูงสุด ทำให้การเกาะร่อง การรับแรงสั่นสะเทือน เป็นไปได้เทียบเท่ากับหัว MC ชั้นดี ภายใต้แรงดัน output แบบ MM ที่สามารถหา phono stage ทั่วไปในท้องตลาดเล่นได้ไม่ยาก ในขณะที่ stylus profile ในรุ่น Nd3 และ Nd5 เป็นแบบ elliptical และ nude elliptical stylus ตามลำดับ ดังนั้นจะเห็นว่า รุ่น Nd7 เป็นรุ่นที่น่าเล่นมาก ขยับราคาขึ้นอีกนิดจะได้ตัว stylus profile เป็นตัวเดียวกับหัว MC รุ่นท็อปของแบรนด์ทีเดียว
- Coil pole และ air gap ก็มีการออกแบบใหม่ให้ระยะห่างเป็นแนวขนาน (เดิมในหัวม่วงและเหลือง แนวจะไม่ขนานกัน) ตัวลวดที่พัน coil pole สองข้างมีขนาด 38 ไมครอน พันที่ 1275 รอบ เพื่อให้ได้ output 5 mV
- ตัวบอดี้ทำจากวัสดุ PPS – Polyphenylene Sulphide ที่มีความแกร่ง และแน่นอนมีจุดยึดสกรูสามจุดสำหรับอาร์มของ Rega เอง
ถ้าถามผม สำหรับสิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อดีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างบน เป็นหัวเข็มที่ออกแบบมาใหม่ ใช้แม่เหล็ก neodymium ในหัว MM เป็นเจ้าแรก ใช้ stylus profile แบบหัว MC รุ่นท็อป ราคาจับต้องได้ ผลิตเองในอังกฤษ และประกันตลอดชีพจากการใช้งานปกติ ถามว่าคู่แข่งในระดับนี้มีอะไรบ้าง ก็คงจะเป็น Ortofon 2M Black ที่ใช้ stylus profile แบบเดียวกัน แต่แม่เหล็กที่ใช้ คิดว่าไม่น่าจะเป็น neodymium ด้วยความสดใหม่ประการนี้ ผมถึงสนใจที่จะทดสอบตัวนี้ที่สุด
Setup
ในการทดสอบหัวเข็มนี้ ผมแจ้งทางเจ้านายไปว่า ขอทดสอบแต่เฉพาะหัวเข็ม ไม่ต้องส่งตัวแท่นมา (หัวรุ่นนี้ เขาแนะนำให้ใช้กับแท่นรุ่น P8, P10 จะเหมาะสมกันดี) เพราะว่าถ้าออกมาดีก็จะแยกยากว่า เสียงดีจากหัวเข็ม, อาร์ม หรือ แท่นของ Rega กันแน่ เพราะผมตั้งใจโฟกัสแต่การทำงานของหัวเข็ม Nd7 ดังนั้นจึงส่งแต่หัวเข็มมาให้
อุปกรณ์มาในกล่องที่สามารถ recycle ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามมาตรฐานของยุโรป อุปกรณ์ที่มาด้วยกับหัวเข็มก็มีสกรูสำรอง, ไขควงหกเหลี่ยม และแปรงปัดหัวเข็มแผ่นเสียงมาด้วย หัวเข็มมีน้ำหนักค่อนข้างเบา 6 กรัม มี output 5-6 mV มีค่า tracking force ที่แนะนำคือ 1.75 กรัม ดูจากสเป็กเป็นหัวเข็มที่น่าเล่น เหมาะกับอาร์มหลากหลาย อาร์มลมก็น่าจะดี เพราะหนักแค่ 6 กรัม ในการทดสอบครั้งนี้ ผมเลือกเล่นกับอาร์ม Jelco 750L อาร์ม 12 นิ้ว บนแท่น Dr. Feickert Firebird จากเยอรมนี ภาคโฟโนมีใช้สองตัวคือ Burmester 100 phono ของเพื่อนผมที่มาฝากไว้ และ EAR 834P โฟโนหลอดที่ผมใช้ประจำ
เนื่องจากว่าติดตั้งบนอาร์มที่ไม่ใช่ Rega ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้สกรูตรงกลางตำแหน่งที่สามได้ ต้องตั้งระยะ overhang offset angle ตามสเป็กของอาร์ม ซึ่งอาร์ม Jelco ใช้การคำนวณ Null Points แบบ Baerwald ที่มีค่ารัศมี null radius อยู่ที่ 66 mm และ 120.8 mm การตั้งระยะดังกล่าวค่อนข้างต้องซีเรียสหน่อย เพราะว่า stylus profile ที่แบบแทร็กได้ละเอียด ย่อมต้องการ การ setup ที่ละเอียดด้วย หากไม่ถูกต้องย่อมจะมี tracking error ฟ้องออกมาเวลาเล่นกลับ กล่าวได้ว่า มันไม่ compromise กับการเซ็ตระยะนัก การตั้งให้ละเอียดและเป๊ะที่สุดย่อมจะให้เสียงที่ดีที่สุด
เมื่อ 1) ติดตั้งหัวเข็มบน headshell 2) ต่อสาย lead wire สี่เส้น 3) ตั้ง tracking force 1.75 กรัม ตามสเป็กหัวเข็ม 4) ตั้งระยะ overhang และ offset angle ตามสเป็กอาร์ม 4) ตั้งระยะความสูงของอาร์มให้ระดับขอบบน headshell อยู่ในแนวขนานกับแนวระนาบ เมื่อวางเข็มบนแผ่นเสียง 5) ตั้ง azimuth ว่าหัวเข็มเมื่อมองจากหน้าตรงเข้าไปแล้วเอียงซ้ายหรือขวาไหม 6) ตั้ง anti-skating force คือแรงต้านการเข้าสู่ศูนย์กลางของอาร์มจุดหมุน pivot
ผลการทดสอบ
หัวเข็มที่ได้มา ดูจากสภาพคาดว่าเป็นหัวเข็มใหม่เอี่ยมยังใม่เคยใช้งานมาก่อน ผมก็หยิบแผ่นสัพเพเหระฟังไปเรื่อยๆ ฟังไปสักพักก็ขอปรับ tracking force ให้หนักขึ้นเป็น1.85 กรัม เนื่องจากของเดิม 1.75 กรัม เสียงยังไม่หนักแน่นพอ เมื่อพ้นเบิร์นแล้วก็จัดแผ่นเสียง Mixer’s Lab volume 4 ของค่าย Stereo Sound กับวง Kenichi Tsunoda big band มาทดลองฟังและเก็บคลิปเสียงที่ริปสัญญาณหลัง phono stage ตัว hi-end คือ Burmester 100 ได้ทำคลิปเสียงลง youtube แล้วครับ เชิญฟังที่ https://www.youtube.com/watch?v=t_aIOa563gM
สิ่งที่จับได้คือ 1. หัวเข็มมี background noise ที่ต่ำมาก แทบไม่ได้ยินเสียงรบกวนผิดปกติเลย channel balance, tonal balance อยู่ในเกณฑ์สมดุล เนื้อเบสดี การแยกแยะรายละเอียดปลายเสียงแหลมดีมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงหัวเข็ม MC มากกว่าหัว MM อื่นๆ ที่เคยใช้มา ผมว่าเป็นอานิสงส์จากปลายเข็มที่มีขนาดเล็กเท่าๆ กับหัว MC low ชั้นดี สิ่งที่อาจจะแพ้ MC low คือ ในช่วงที่เครื่องดนตรีโหมดังขึ้นพร้อมๆ กัน อย่างเช่น เวลา 3:10 นาที ยังมีการแยกแยะรายละเอียดได้ไม่ดีเท่าหัว MC low แพงๆ ส่วนอื่นทำได้
แทรคแรกจากแผ่นนี้ It’s like this ของ Rickie Lee Jones เพลง show biz kids เป็นแทรคทดสอบที่เค้นประสิทธิภาพของหัวเข็มนี้ เพลงนี้มีเสียงเบสแน่นๆ ตลอดเพลง และเสียง percussion ย่านเสียงแหลมโผล่มา channel ขวา สอดแทรกมาตลอด เสียงร้องหลักและประสานค่อนข้าง close mike https://www.youtube.com/watch?v=xkvA8oPn0Io Nd7 ถ่ายทอดเนื้อเสียงร้องเต็มๆ เสียงเบสแน่นๆ และเสียง triangle ที่เคาะตลอดเพลงได้อย่างดี แทรคนี้อาจจะเป็นตัวอย่างของไดนามิกเร้นจ์ได้ไม่ดีนัก เนื่องจากระดับความดังมันใกล้เคียงกันทั้งเพลง เดี๋ยวเราทดสอบกับเพลงคลาสสิคในตอนท้าย
กับอีกแผ่นทดสอบที่ไม่น่าจะยากนักกับหัวเข็มระดับนี้ แผ่น midnight blue ของ Kenny Burrell ที่ reissue โดย Music Matter แทรคแรกเป็นแทรคที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงและนักเล่นเครื่องเสียงทั่วไป ความน่าฟังของแทรคนี้คือ เวทีเสียงที่ฉีกกว้างซ้ายจรดขวา โดยมี Kenny Burrell เล่นกีตาร์ทางซ้าย ตอบโต้กับ Stanley Turrentine ที่เล่น tenor sax ทางขวา เสียง attack ของกลองทางขวา และกลอง conga ทางซ้าย บันทึกมาดี หัวเข็มที่ดีจะได้ไดนามิก แรงประทะ แรงดีดตัวของสายกีตาร์ ที่ผมชอบคือ หัวเข็มนี้ถ่ายทอดเสียงได้ดีทั้งหมด สิ่งที่เหนือกว่าหัว MM ทั่วไปคือมันให้ image ชิ้นดนตรีที่แม่นยำราวกับหัวเข็ม MC ชั้นดี ถือว่าสอบผ่านได้เลยสำหรับหัว MM สำหรับแนวเพลงแจ๊สน้อยชิ้น อิมเมจแม่นยำแบบนี้
จริงๆ ทดสอบฟังไปหลายแผ่นมาก แต่ขอยกแผ่นนี้เป็นแผ่นทดสอบสุดท้าย สำหรับแนวเพลงคลาสสิคที่โหดหินในเรื่องไดนามิกเร็นจ์ Firebird Suite ของ Igor Stravinsky https://www.youtube.com/watch?v=5nomrGASplc ความตื่นเต้นเร้าใจจะเริ่มใน scene 2 ตั้งแต่ท่อน Dawn ไปจนจบ เพลงมีจังหวะเร็ว ช้า ดังเบา อยู่ตลอดเวลา หัว Nd7 เล่นผ่านสบายๆ ถ่ายทอดเวทีเสียง ไดนามิกของกลองใหญ่ tympani ที่โหมกระหน่ำอย่างไม่มีพร่ามัว ผมบันทึกเสียงมาค่อนเบาเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ช่วงดังมีอาการ clip ดังนั้น เมื่อฟังจริงจากแผ่นเสียงไม่ผ่านกระบวนการแปลงเป็นดิจิทัลจะได้ไดนามิกที่กว้างกว่านี้ ที่ฟังจาก youtube คือหายไปร่วม 20% จากการแปลงเป็นไฟล์ และจากการ compress ไฟล์เพื่อทำเป็น mp4 ขึ้น youtube ให้ลองฟัง เท่าที่ฟังจริงนั้น ไดนามิกดีมากๆ โดยเฉพาะท่อนจบ ถ้าจะให้เทียบกับหัว MC low แล้ว ก็ประมาณว่า “อีกนิดเดียว” ก็จะเท่ากัน ที่ยังไม่เท่าคือ ช่วงโหมดนตรีหนักๆ นั้น หัว MC low จะแยกแยะได้ ”ง่าย” กว่า Nd7 แต่มันนิดเดียวจริงๆ ถ้าไม่สลับ AB test แทบไม่แตกต่าง (เมื่อใช้ phono stage ตัวเดียวกันที่รองรับทั้งหัว MM และ MC นะครับ)
สรุป
ซื้อครับ ผมซื้อไว้ใช้เองเป็นตัวแทนหมู่บ้านหัวเข็ม MM เพื่อใช้ในการทดสอบระบบเล่นกลับแผ่นเสียง มันเป็นบรรทัดฐานใหม่ของหัว MM ในการฟังเพลงแบบ audiophile ที่ต้องการ more groove information ถ้าใครชอบแนวเสียงอิ่มหนานวลเนียนฟังแนววินเทจสบายๆ คงต้องไปพวกตระกูล Shure V15 แต่ถ้าต้องการเสียงที่สมจริง ใกล้เคียงกับหัว MC ชั้นดี แต่มี MM phono ไม่มี MC phono ดีๆ แนะนำให้มาลองตัว Rega Nd7 เลยครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน ถ้าใครงบไม่ถึง หรือยังใช้แท่น Rega P3, P6 อยู่ อาจลองตัว Nd5 ก่อนได้ครับ ระดับราคาและ performance เหมาะสมกันดี แต่ถ้ามี P8 หรือ P10 อยู่แนะนำให้ไป Nd7 เลยดีกว่าครับ. ADP
ราคา 22,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Komfortsound
โทร. 083-758-7771
ล้อมกรอบ
ขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายเรื่องของการตั้ง anti-skating force สักเล็กน้อย เนื่องจากมีการสอนวิธีการตั้งค่านี้แบบผิดๆ อยู่ ต้องเข้าใจเรื่องแรงกระทำนี้ก่อนว่า anti-skating force คือ แรงต้านในการดึงเข้าศูนย์กลางจากการหมุน แรงดังกล่าวเป็นแรงที่ไม่คงที่ แปรเปลี่ยนได้หลากหลาย เช่น 1. แรงนี้ที่ร่องแผ่นเสียงด้านนอกกับวงในๆ ของแผ่นเสียงก็ไม่เท่ากัน (แรงต้านที่ใช้ในร่องเสียงด้านนอก น้อยกว่าด้านใน) 2. รอบการหมุนแผ่นเสียง สปีด 33 หรือ 45 ก็ใช้ค่า anti-skating ไม่เท่ากัน (รอบ 45 ใช้มากกว่า 33) 3. ความยาวของอาร์ม อาร์ม 9 นิ้ว มีความจำเป็นต้องมีค่านี้มากกว่าอาร์ม 12 นิ้ว บางทีอาร์มอย่าง 16 นิ้ว ไม่จำเป็นต้องมีกลไกของ anti-skating เลยก็ได้ 4. น้ำหนักแรงกดหัวเข็ม แรงกด tracking force มาก ก็จะใช้ anti-skating force มากตามไปด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่ากัน
ด้วยความเป็นจริงเหล่านี้จะเห็นได้ว่า ค่า anti-skating force ที่เราต้องใช้เป็นค่าเฉลี่ยเพื่อให้การเล่นแผ่นเสียงทั่วทั้งแผ่นเป็นไปได้อย่างราบรื่น กลไกการตั้งค่านี้ในบางอาร์มก็อาจจะทำเป็นสเกลว่ากี่กรัมๆ บางอาร์มเนื่องจากค่านี้มีปัจจัยที่มีผลมาก ก็ไม่ได้กำหนดค่าเป็นกรัมไว้ แต่จะเป็นลูกตุ้มแขวน (เช่น อาร์ม SME3009) ที่จะดึงมากหรือน้อย ตามการกวาดของอาร์มในร่องแผ่นเสียง
ทีนี้เรามาดูกันชัดๆ และถามตัวเองว่า แรงกระทำต่อ stylus บนร่องแผ่นเสียงขณะหมุนเป็นแรงที่กระทำตรงจุดไหนของปลายเข็ม… ระหว่าง 1. ปลายสุดของ tip (แบบรูปทางซ้ายข้างล่าง) หรือ ด้านข้างของ stylus ซ้ายขวา (แบบภาพขวา)
จะเห็นได้ว่า แรง anti-skating force เป็นแรงที่กระทำต่อ stylus ที่ด้านข้างๆ ของปลายเข็ม ที่เป็นจุดสัมผัสของร่องแผ่นเสียงไม่ใช่ที่ปลายสุดของปลายเข็ม ดังนั้น การตั้งค่านี้ด้วยการใช้แผ่นเสียงที่ไม่มีร่องเสียง หรือแผ่น laser disc และตั้งให้อาร์มอยู่นิ่งจึงไม่ควรเป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะแรงที่กระทำไม่ใช่เกิดที่จุดนี้ แต่เป็นด้านข้างๆ ของ tip
แล้วการตั้งที่ถูกต้องคืออย่างไร? คำตอบคือ.. ตรงนี้ครับ anti-skating force เป็นค่าที่ไดนามิกแปรเปลี่ยนได้จากหลายปัจจัยที่กล่าวด้านบน ดังนั้น ค่านี้จะเป็นค่าที่เป็นช่วง ไม่ใช่ค่าตายตัว และจะมีผล distortion เมื่อเราเล่นกับแผ่นเสียงที่บันทึกมาสัญญาณแรงๆ ดังนั้นวิธีตั้งคือ…
1. ใช้แผ่นทดสอบ เช่น ของ Telarc Omnidisc หรือ Hi-Fi News & Records Review Test Record เขาจะมีแทรคที่บันทึกสัญญาณ pink noise แบบ mono ที่สี่ระดับความแรงของการบันทึก ถ้าเล่นผ่านทั้งสี่แทรค โดยไม่เกิด distortion ออก channel ใด channel หนึ่ง ถือว่าสอบผ่าน ในความเห็นผม แผ่นเสียงในท้องตลาด 95% สามารถเล่นได้ โดยไม่มี distortion เมื่อเราปรับค่านี้ให้ผ่านแผ่นทดสอบดังกล่าว สามแทรคแรก สำหรับแทรคที่ 4 สัญญาณแรงมาก ถ้าตั้งไม่ผ่านก็ไม่เป็นไรหรอกครับ เพราะโอกาสที่เราจะเจอแผ่นแบบนี้ในท้องตลาด ผมว่ามีไม่ถึง 5%
2. ถ้าจะให้ประหยัด ถ้าเรามีแผ่นเสียงบันทึกโมโน ให้เราเลือกช่วงของเพลงที่สัญญาณแรงๆ เช่น เสียงร้อง เสียงกดคีย์เปียโน เป็นตัวทดสอบ พยายามปรับค่าให้เมื่อเล่นผ่านช่วงสัญญาณแรงๆ แล้ว ไม่มี distortion ออกมาให้ได้ยิน
กล่าวโดยสรุป ค่า anti-skating เป็นค่าที่ไดนามิกมีการเปลี่ยนแปลงได้ การตั้งค่าไม่ต้องถึงกับซีเรียสเอาเป็นเอาตายกับมัน เป็นค่าที่เป็นช่วง แต่ต้องรู้ว่าจะตั้งค่าที่ถูกต้องอย่างไร และจะจับจุดไหนในการฟัง. ADP
No Comments