Purist Audio Design Luminist Revision 25th Anniversary Power Cord
นักเขียน : ชุมพล มุสิกานนท์
ใครไม่รู้จักสายเคเบิลยี่ห้อ Purist จากอเมริกาบ้าง… ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 กว่าปี สายยี่ห้อนี้ดังมากๆ ในบ้านเขา พักหลังอาจจะดูอ่อนประชาสัมพันธ์ไปบ้าง ทำให้นักเล่นเครื่องเสียงชักจะลืมๆ Purist ไปแล้ว ว่าสายยี่ห้อยอดเยี่ยมกระเทียมดองขนาดไหน ปัจจุบัน Hi-End Audio เป็นตัวแทนจำหน่ายผู้เดียวในประเทศไทย สายยี่ห้อนี้มีประวัติความเป็นมา 30 ปีแล้ว Mr. Jim Aud ผู้ก่อตั้งบริษัทและเป็นผู้นำในการค้นคว้าผลิตสายเคเบิล Purist โดยที่ยึดหลักการ Handmade ในสหรัฐอเมริกามายาวต่อเนื่อง เนื่องจากต้องการควบคุมมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ไม่ให้เสียชื่อ ที่จริง Purist เพิ่งจะออกสายรุ่นครบรอบ 30 ปีมาขาย โดยที่สนนราคาแพงเอาเรื่องเลยครับ อย่างสายไฟนี้ราคา 15,000 USD ขณะที่รุ่นฉลอง 25 ปี ราคาตั้งอยู่ที่ 10,000 USD ลองคูณ 33 บาทเข้าไปเองว่าคิดเป็นเงินไทยแล้วเท่าไหร่ ผมอยากจะเป็นลม แต่สายรุ่นที่ผมนำมาทดสอบนี้ คุณมนู (เจ้าของ Hi-End Audio) บอกว่า ลดให้เป็นพิเศษเลย ยังไงก็ต่ำกว่า 1,000 เหรียญแน่นอนครับ
สายเคเบิลที่ทำให้ Purist ดังเป็นพลุแตกคือ สายรุ่นที่ใช้ของเหลว (เจล) มาทำเป็นชีลด์ภายนอก และยังเป็นเจ้าแรกๆ ที่เอาสายไปทำไครโอเจนิกด้วย สำหรับสายไฟรุ่น Luminist Revision 25th Anniversary พิเศษตรงที่ติดวงจรกรองไฟฟ้า ซึ่งจะดักพวก EMI และ RFI ไม่ให้เล็ดลอดผ่านเข้าไปในระบบเครื่องเสียง โดยใช้วงจร Multi-stage หลายขั้นตอนในการกรองกระแสไฟฟ้า ผ่านการคิดคำนวณเกี่ยวกับการเหนี่ยวนำการเก็บประจุ และความต้านทานมาพอดีๆ เพื่อไม่ให้การกรองกระแสไฟฟ้าส่งผลข้างเคียงไปถึงไดนามิกและบรรยากาศของเสียงดนตรี
สายไฟ Purist รุ่น 25th Anniversary เข้าหัวตัวผู้ด้วย Wattgate Evo ชุบทอง ส่วนท้ายปลั๊กเป็น Wattgate Evo ชุบทอง 15A เช่นเดียวกัน ตัวนำของสายทำด้วยทองแดงผลึกเดี่ยว ขนาดหน้าตัดของสาย 8 AWG ถือว่าใหญ่พอสำหรับเพาเวอร์แอมป์แน่นอนครับ แดมป์กันการรบกวนด้วย Ferox หุ้มฉนวนหนังงูภายนอกสีดำล้วน วงจรกรองไฟฟ้าบรรจุอยู่ในกล่องอะลูมิเนียมสีดำซึ่งครอบอยู่บนสายไฟช่วงต้นๆ ของสาย ทำให้มันมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และควรจะหาที่จัดวางให้เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ควรจะเป็น ตามที่บริษัทระบุมาบอกว่า สายของเขาต้องการระยะเวลา burn-in 300 ชั่วโมง ซึ่งผมพบว่าแค่ 200 ชั่วโมงนี่ก็อยู่แล้วครับ
ในการทดสอบ ผมเสียบสายไฟ Purist 25th Anniversary เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ Aura A-100 ซึ่งทำการโมดิฟายภาคจ่ายไฟแยกอิสระซ้าย-ขวา โดยอาจารย์เจมส์ C-3 ชั่วโมงแรกๆ ของการฟัง เสียงยังขุ่นๆ แต่จับได้ว่ามีเนื้อหนังมังสาอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งผ่านไป 100 ชั่วโมงแล้ว จึงรู้สึกว่ามันดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ สายไฟที่ดีมาก กับสายไฟที่ค่อนข้างดีนั้น มีจุดแตกต่างกันตรงที่ไดนามิกเรนจ์ รูปเวที และคอนทราสต์ ผมสรุปออกมาได้จากการที่ฟังสายไฟมาเป็นร้อยเส้น พวกสายจีนหรือสาย DIY นี่อาจจะให้ดุลน้ำเสียงที่ดี มีพละกำลัง แรงปะทะน่าตื่นเต้น แต่พอฟังไดนามิกเรนจ์จริงๆ แล้ว จะรู้ว่ามันสวิงได้ไม่กว้าง เร่งเสียงดังหน่อยเริ่มรู้สึกว่าหนวกหู โดยเฉพาะในเพลงคลาสสิก Overture นี่ชัดเลย หรือถ้าคุณไม่ชอบฟังเพลงคลาสสิก ลองเอาซีดีเพลงประกอบละครโทรทัศน์ เรื่องบุพเพสันนิวาส มาเปิดฟังก็ได้ ในชุดเครื่องเสียงที่ใช้สายเคเบิลระดับดีมาก คุณจะรู้สึกว่าอิมเมจเป็นตัวเป็นตน และฟังที่ความดังปกติได้ ไม่รู้สึกว่ามีอาการจัดจ้าน ฟังแล้วอั้นๆ
มันเป็นสายไฟระดับสูงที่ให้เสียงได้สมราคาค่าตัว คุณสมบัติต่างๆ ที่สายไฟระดับราคานี้ควรจะให้ได้มีครบหมด
Jim Aud เจ้าของบริษัท Purist เป็นคนที่รู้เรื่องพวกนี้ดี เพราะแกมีความรู้ทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่าเสียงที่ส่งผ่านออกมา ผมเคยฟังสาย Purist มา 2-3 ครั้ง พบว่าไม่รู้จะติอะไร นอกจากถามตัวเองว่าจะหาสะตุ้งสตางค์มาซื้อมันได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะเรียนไว้คือ อย่าให้สเปกและราคาของสายมาชักนำให้คุณเชื่อว่ามันดี จนกว่าจะได้นำไปฟังกับชุดเครื่องเสียงของคุณเอง ขอให้เชื่อ “หู” ของเราครับ ในการทดสอบ ผมพยายามใช้อุปกรณ์ที่มีความเป็นกลาง และผมคุ้นชินกับบุคลิกเสียงของมันเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อจะค้นหาตัวตนของสายที่นำมาเสียบฟังได้ชัดๆ ต่อไปนี้เป็นผลการทดสอบครับ
Purist Audio Design Luminist Revision 25th Anniversary Power Cord
แผ่นซีดี The Very Best of Clearaudio 40 Years Excellence ที่ผลิตโดย STS Digital แผ่นทองปั๊มในญี่ปุ่น เสียงร้องเข้มข้น ลื่นไหล มีความเป็นธรรมชาติ เสียงแหลมมีมวลที่ดีมาก ด้านพละกำลัง แรงปะทะจากการกระทบกัน ไม่ว่าจะเป็นกลองหรือเครื่องเพอร์คัสชันต่างๆ ฟังได้แบบเป็นวันโดยไม่ล้าหู คือมันให้ความตื่นเต้นเร้าใจพองาม ไม่เรียกร้องความสนใจจนเกินไป ลองแผ่น die STEREO hörtest CD Volume VII ของ Inakustik ผมว่ารวมๆ แล้ว แผ่นนี้ให้เสียงที่เปิดโล่งมากกว่า เพลง Wake me up before you go go ของ Le Bang Bang ได้ยินเสียงเอื้อนของนักร้องหญิงชัดเจน เสียงเพอร์คัสชันสปริงตัว (หนังหน้ากลอง) ได้เป็นธรรมชาติ แถมด้วยบรรยากาศรอบๆ ตัวโน้ตที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง ลองฟังแนวร็อก แทร็ก 12 ความสดดิบยังติดสุภาพไปนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับไปไม่ได้กับเพลงแนวนี้ ตรงกับข้าม ผมว่าแบบนี้เป็นกลางดีแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสายสัญญาณและอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ มีบุคลิกเช่นใด
สลับไปฟังเพลงไทยบันทึกดีอย่าง ลูกทุ่งออดิโอไฟล์: หลิน วลัญจ์รัช บอกได้ว่า สุดยอดครับ สายไฟ PAD 25th Anniversary ขยายสเกลชิ้นดนตรีและทำให้เกิดช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีเพิ่มมากขึ้น อันส่งผลให้เวทีเสียงฉีกตัวกว้างทะลุห้องฟังของผมออกไปเลย ผมได้ยินเสียงที่สะอาดเกลี้ยงเกลา โฟกัสชัดเป๊ะ อิมเมจขึ้นรูปเป็นสามมิติ ฉากหลังสงัดอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่เพลงเร็วหน่อยอย่าง สาวทรานซิสเตอร์ นี่ ได้อารมณ์สนุกสนาม จะฟังรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็ได้ยินโดยง่าย ไม่ต้องเอาใจช่วยเลย
สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ สายไฟเส้นนี้ติดระบบกรองไฟฟ้ามาด้วย มันจะทำให้ไดนามิกแคบและบรรยากาศหายไปหรือไม่
สิ่งที่จะให้คำตอบผมได้คือ แผ่น The Royal Ballet Gala Performance: BMCD 840 ผมฟังแผ่นนี้บ่อยมาก จนจำได้ว่าเสียงที่ออกมาควรจะเป็นอย่างไร และเมื่อฟังกับสายไฟ PAD 25th Anniversary แล้ว บอกได้เลยว่า ไดนามิกไม่มีอั้นตื้อครับ มันสวิงได้กว้างเป็นปกติ บรรยากาศในคอนเสิร์ตฮอลล์ Royal Opera House Covent Garden ที่ปรากฏออกมา ยังให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่จริง เพียงแต่ลีลาในการนำเสนอจะออกไปในทางสุภาพ ไม่รุกเร้าเอาแต่ใจตัวเอง
ตอนท้ายของการทดสอบ ผมลองใช้ที่รองสาย Furutech: NCF Booster มารองใต้สาย PAD สองจุด เสียงดีขึ้นไปอีก เบสเก็บตัวเร็วขึ้น เสียงกลางสะอาด และโฟกัสของอิมเมจก็ดีขึ้น แสดงว่าสายค่อนข้างจะไวต่อการจัดวางพอสมควร
บทสรุปของสายไฟ PAD 25th Anniversary คือ มันเป็นสายไฟระดับสูงที่ให้เสียงได้สมราคาค่าตัว คุณสมบัติต่างๆ ที่สายไฟระดับราคานี้ควรจะให้ได้มีครบหมด ประเด็นว่าคุณควรจะใช้มันหรือไม่ อยู่ที่การ Matching เข้ากับซิสเต็มที่ใช้แล้วล่ะครับ ซึ่งถ้าถามผมว่า มันควรจะไปอยู่ในชุดลักษณะไหน? ผมคิดว่าน่าจะเป็นชุดที่โดดเด่นไปทางกลางแหลม เบสกระชับๆ หน่อย สายไฟเส้นนี้จะเติมเนื้อมวลความอิ่มหวานและเวทีเสียงแสนจะโอ่อ่าเข้าไปให้แบบถอดไม่ลงครับ. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 266
No Comments