PROAC TABLETTE 10
ที่ผ่านมาหากผมจำไม่ผิด Proac Tablette เป็นลำโพงเล็ก ประเภทท่อเปิดที่มีความไวปานกลาง ใช้แอมป์โซลิดสเตท 70 วัตต์ ขับสบาย หรือแอมป์หลอด 1 วัตต์ขึ้นไปนี่ก็ยังไหว แต่พอมาถึงยุค Tablette 10 กลับกลายเป็นลำโพงตู้ปิด ความไวแค่ 86dB อิมพีแดนซ์ ปกติอยู่ที่ 10 โอห์ม ข้อดีคือ การจัดวางง่ายขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าวางชิดผนังห้อง ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีท่อระบายเบส
รูปร่างหน้าตาของ Proac Tablette 10 มีความคล้ายกับรุ่นก่อนๆ กล่าวคือ เป็นลำโพง 2 ทาง วางขาตั้ง ทรงเหลี่ยมขนาดเล็ก ทวีตเตอร์ Silk Dome ขนาด 1 นิ้ว (คาดว่าเป็นยี่ห้อ Scan-Speak) ส่วนวูฟเฟอร์ ให้เสียงต่ำได้โดยไม่เพี้ยน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวูฟเฟอร์คือ 5 นิ้ว วงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กถูกออกแบบใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับลำโพงชนิดตู้ปิด ลำโพงชนิดนี้สำหรับผู้ออกแบบลำโพงแล้ว ควบคุมได้ง่ายกว่าลำโพง ตู้เปิดซะอีก เพราะไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องท่อ Port ว่าจะต้องกว้าง x ยาว เท่าไหร่ อัตราเร่งกับค่า Q ฯลฯ … สรุปว่า ตู้ปิดทำง่ายกว่า แต่ปริมาณเบสอาจจะไม่ตูมตามเท่าลำโพงตู้เปิดสิ่ง ที่แลกมาคือ ความเป็นธรรมชาติของเสียงต่ำโดยเฉพาะเรโซแนนซ์ของเบส นี่มีความหนืดๆ เหมือนของจริงกว่า ตู้เปิดในความคิดของผม จุดที่ผู้ผลิตลำโพงตู้ปิดเป็นกังวลคือ ตู้ลำโพงต้องแข็งแรงมากๆ เพื่อไม่ให้มันสั่นเป็นเจ้าเข้าขณะที่ ทำงาน แต่ Proac Tablette 10 กลับสวนกระแสด้วยการประกาศชัดเลยว่า เขาใช้ไม้ขนาดไม่หนามากมาทำตู้ แต่มีการแดมป์ภายในด้วยวัสดุซับเสียง และคาดโครงเสริมอันเป็นลักษณะของลำโพง Monitor 3/5A ของ BBC อังกฤษในอดีต
ขั้วต่อลำโพงด้านหลังชนิดไบไวร์ ติดจั๊มเปอร์มาให้เป็นแท่งโลหะกลมๆ ชุบโรเดียม ขั้วลำโพงยังคงใช้บริการของ Michell: Big Mother รุ่นชุบ โรเดียม ราคาค่าตัวอยู่ที่สี่หมื่นกว่าบาท (ไม่รวมขาตั้ง) และขอแนะนำเลยว่า หากท่านสนใจเล่นลำโพงเล็กของ Proac ทุกรุ่น ให้พิจารณาเลือกใช้ขาตั้งชนิดมวลหนักเท่านั้น เนื่องจากมีผลโดยตรงกับปริมาณเบสและโฟกัสของเสียง ผลที่ว่านี่อาจจะถึงขั้นเปลี่ยนบุคลิกให้ลำโพงได้เลยครับ ขอให้เชื่อเถอะครับ ว่าขาตั้งมวลเบาไม่เหมาะสมครับ และในกรณีของ Tablette 10 ผมวางขาตั้ง Rezet สูง 24 นิ้ว ยังเตี้ยไปหน่อย เลยหาทิปโทตัวเตี้ยของ Michelle มารองใต้ลำโพงโดยให้ด้านแหลมหันขึ้น ได้ผลดีขึ้นกว่าวางบนเพลตขาตั้งโดยตรงมากพอสมควร ระดับความสูงก็ขยับขึ้นมาอีก 1 ซม. ลำโพงตัวที่ได้รับมา ทดสอบปะผิววีเนียร์สีไม้เชอร์รี่ เหมือนกับคู่ที่ผมเคยมี แหม! แต่เสียงรุ่นใหม่ นี่ต้องบอกว่า มันพัฒนาไปจากเดิมมากจริงๆ ครับ
ในช่วงแรกที่เปิดฟัง ผม “นวด” Tablette 10 ด้วย CEC 3300 C-3 RED อยู่ 100 ชั่วโมง ฟังแล้วได้ความรู้สึกอิ่มอุ่น สบายหู เนียน พลิ้ว เบสไม่ตูมตามเท่าไหร่ตามสไตล์ลำโพงผู้ดีอังกฤษ คราวนี้ลองเปลี่ยนเป็น อินทิเกรตแอมป์ Rotel RA-1570 TINN เสียงกลายเป็นเปิดโล่งกระจ่าง เสียงกลางลดความอิ่มหวานลงมา แทนที่ด้วยรายละเอียดหยุมหยิม และมีเบสลึกๆ ออกมาให้สัมผัสได้ด้วย เอาสิ ลำโพงวูฟเฟอร์แค่ 4 นิ้ว แต่มีเบสลึกนี่ทำยากนะครับ ผมลองเปลี่ยนสายลำโพงเป็น Nordost Heimdall แบบ Single to Bi-Wire และถอดจั๊มเปอร์ที่ลำโพงออก แน่นอนว่าได้ รูปเวทีเสียงที่โอ่อ่า ขยายตัวกว้างออกไปมากกว่าเดิม เว้นวรรคช่องว่าง ช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีได้กว้างมาก ความลึกยังคงรักษาระดับไว้ได้เท่ากับตอนที่ต่อสายแบบ Single + Jumper แต่พวกไดนามิกคอนทราสต์นี่ สู้ไบไวร์ไม่ได้ครับ
แอมป์ตัวสุดท้ายที่ผมนำมาทดลองกับ Proac Tablette 10 คือ TS Audio Version C-3 ที่ทำออกมาเพื่อขับ Magnepan Mini Maggie โดยเฉพาะ แอมป์ตัวนี้เป็นแอมป์หลอดพุชพลู ใช้หลอด EL34 ข้างละ 4 หลอดขนาดกำลังขับ 80 วัตต์ต่อข้างที่อิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม ได้ผลลงตัว น่าพอใจมากที่สุด คราวนี้ Proac Tablette 10 มีอัน “ล่องหน” ไปจากห้องฟัง เหลือแต่เสียงดนตรีและดนตรี ที่ล่องลอยอยู่ในห้อง อิมเมจขึ้นรูปเป็นตัวตน มีทรวดทรงชัดเจน การจัดวางตำแหน่งของนักร้องและนักดนตรี ชัดเสียจนแทบจะยื่นมือไปสัมผัสได้ ถ้าไม่เทียบกับลำโพงแผ่นอย่าง Mini Maggie แล้ว เห็นจะ ต้องมองไปที่ลำโพงเล็กราคา 200,000 บาทขึ้นไป ถึงจะมีคุณสมบัตินี้
ความเก๋าของ Proac อยู่ที่การจูนลำโพงที่ลงตัวพอดิบพอดีจริงๆ ย้ำ! มันพอดีมาก ทั้งสมดุลเสียง จังหวะ การจาง หายของความถี่เสียงทั้งบนและล่าง คือ ด้วยขนาด ของมันคงจะตอบสนองแบนด์วิดธ์ได้ไม่กว้างเท่ากับ ลำโพงใหญ่แหงๆ อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ลำโพง เป็นของ Proac นี่ เขาไม่ไปฝืนมันให้ทำงานเกินตัว จนเกิดความเพี้ยนผิดปกติ ฟังแล้วไม่เป็นดนตรีจริง ผมฟังมันด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ ไม่รู้สึกว่ามันขาดอะไรไป จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่บททดสอบด้วยเพลงคลาสสิกสุดโหดที่มีเครื่องดนตรี 70 – 80 ชิ้น และมีกลอง ทิมปานีตี ประกอบนี่ถึงจะรู้สึกว่าเอาล่ะ… ถึงเวลาที่ต้องหาซับวูฟ เฟอร์มาเสริมแล้ว แต่ในย่านความถี่ กลางสูงนี่ จูนมาได้เนียนเรียบไร้ที่ติ ไม่มีตะเข็บรอยต่อเลย เป็นลำโพงที่ให้ Timbre ได้ถูกต้องมากที่สุดคู่หนึ่ง เหมาะมากสำหรับการฟังล้างหู เวลาที่เจอลำโพงเก่งเฉพาะทางเข้าหลายๆ คู่ เราอาจจะเมาหมัดไปได้ เขวไปติดกับสมรรถนะในบางด้านของมัน แต่เมื่อคุณกลับมาฟังลำโพง “เก่งเล็ก” อย่าง Proac Tablette 10 คุณจะพบว่าลำโพงที่พาคุณกลับบ้านได้ถูกต้องปลอดภัยเป็นอย่างไร
บอกตรงๆ ว่า ถ้าผมไม่มีลำโพงอยู่เต็มบ้าน ในขณะนี้ ผมคงรับเจ้าตัวเล็กคู่นี้ไว้แน่นอน ทั้งๆ ที่รู้ว่า แหลมมันสู้โดมเพชร หรือแบริลเลียมไม่ได้ เบสก็ไม่ได้ตูมตามใหญ่โตมโหฬารเท่า กับวูฟเฟอร์โลหะหรือเซรามิกแท้ๆ แต่ในย่านที่มันทำงานนั้น มันสุดจริงๆ ครับ จุดเด่นมากๆ นอกจากเรื่องเสียงหลุดตู้ และความต่อเนื่องลื่นไหลแล้ว เห็นจะเป็นสมดุลเสียงที่ผมให้เต็ม 10 คะแนน ไปเลยอีกเรื่องหนึ่งคือ มันทำตัวเป็นมินิมอนิเตอร์กลายๆ เสียงมันจะแปรเปลี่ยนไปตามแอมป์ที่นำมาขับ และแหล่งโปรแกรมที่คุณนำมาเปิด
สิ่งที่แฟนานุแฟน Proac คงอยากทราบคือ Tablette 10 ต่างไปจาก Tablette รุ่นเก่าอย่างไร ตอบได้ง่ายๆ นะ คือ… มันดีกว่า “มาก” ยำ“ดีกว่า มาก” เบสลึกและดุกว่า เวทีเสียงกว้างและลึกกว่าเดิม เสียงกลางต่ำมีมวลที่เข้มข้นนิดหน่อย แหลมยังคงไว้ ซึ่งเอกลักษณ์เดิมแทบไม่เปลี่ยน (ก็มันดีอยู่แล้ว จะไปเปลี่ยนทำไม)
ข้อแนะนำสำหรับท่านที่สนใจลำโพงรุ่นนี้คือ แม้ตามสเปกที่โรงงานให้มาระบุว่ามันเหมาะกับแอมป์ 10 – 50 วัตต์ แต่จากการทดสอบจริง ผมพบว่าอินทิเกรต 70 วัตต์ ยังแค่ทำให้ร้องเพลงได้ พอใช้เท่านั้น ถ้าจะรีดสมรรถนะของมันออกมาเต็ม
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 240
No Comments