PMC:COR The Pure Analogue Amplifier of the Year 2017
นักเขียน : ธีรวัฒน์ โชติสุต :
ใครจะคิดว่า PMC จะทำอินทิเกรตแอมป์ออกมา
ผมก็ยังคิดไม่ถึงเลย PMC จะเอาจริงๆ เหรอ แต่ทุกท่านก็อย่าลืมนะครับ ประสบการณ์เรื่องแอมป์ของทีมงานออกแบบก็ไม่ถือว่าใหม่ เพราะ PMC มีลำโพงแบบแอ็กทีฟซึ่งมีแอมป์ในตัว ดังนั้น ประสบการณ์เรื่องแอมป์ย่อมถือว่าไม่ธรรมดา
ที่ผมแปลกใจคือ PMC กลับใช้ประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา คือสั่งสมมามากมาย ทำแอมป์ออกมาแบบธรรมดาเสียงั้น ตรงนี้ถือว่าน่าแปลกใจมากที่สุดแล้วครับ แทนที่จะออกแบบมาให้หวือหวา อ่านสเป็กหรือดูรูปภายในแล้ว ก็ต้องร้องว้าว โอ้โห! ในเรื่องของความอลังการงานสร้างที่ผลิตออกมา เพราะอินทิเกรตแอมป์ PMC COR นั้น เลือกใช้เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แค่คู่เดียว ในลักษณะ Darling Type หม้อแปลงก็ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่แยกภาคจ่ายไฟระหว่างวงจรและภาคควบคุมออกจากกัน ใครคิดจะอัพเกรดฟิวส์ภายใน PMC COR ต้องคิดให้ดีๆ นะครับ เพราะต้องเปลี่ยนถึง 5 ตัวทีเดียว
PMC COR อดทำให้ห้วนคิดถึงอินทิเกรตแอมป์สมัยก่อนไม่ได้ คือมีวงจรปรับเบสและแหลมมาให้ด้วย พร้อมการเลือกปรับบาลานซ์ระหว่างลำโพงมาให้เช่นกัน ฟังก์ชั่นแบบนี้แทบไม่มีใครทำออกมาแล้ว กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไป แต่ PMC COR ก็ยังคงเห็นประโยชน์อยู่
ในส่วนของภาคอินพุตมีมาให้ 4+1 ประกอบด้วย… RCA 4 ช่อง คือ CD, RADIO, AV และ AUX พร้อมช่องต่อแบบ XLR 1 ช่อง (ไม่ได้เป็นแบบ Fully Balanced), ช่อง Direct 1 ช่อง เพื่อรองรับในการเล่นโฮมเธียเตอร์ และขั้วต่อสายลำโพง 1 คู่
ด้านหน้ามีปุ่ม Mono, Mute และ Bypass เพื่อตัดการใช้งานปรับเบสและแหลม ส่วนช่องหูฟังนั้น เมื่อเสียบต่อใช้งาน เครื่องจะตัดเข้าสู่โหมด Mute เพื่อไม่ให้เสียงออกไปยังลำโพง เมื่อเลิกใช้งานก็อย่าลืมกดปุ่ม Mute ออกด้วยนะครับ
PMC COR ผลิตในอังกฤษทั้งหมด ไม่ได้ส่งไปผลิตที่ประเทศอื่น ตัวเครื่องอะลูมิเนียมด้าน มีสีให้เลือก คือ… ดำและเงิน สำหรับรีโมตคอนโทรลก็ทำจากอะลูมิเนียมเช่นกัน
เซ็ตอัพ และ คุณภาพเสียง
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ตั้งแต่ผมได้ทดสอบเครื่องเสียง ไม่ว่าจะเป็นอินทิเกรตแอมป์ หรือชุดปรีแอมป์-เพาเวอร์แอมป์ ระดับราคาเริ่มจากหมื่นถึงระดับล้าน ในห้วงเวลา 20 กว่าปี ยังไม่มีอินทิเกรตแอมป์ตัวไหน หรือปรีแอมป์-เพาเวอร์แอม์คู่ใด ที่ให้เสียงเหมือน PMC COR เลย
ถามว่า PMC COR มีบุคลิกเสียงเป็นอย่างไร? ถ้าตอบว่า “ไม่มีเลย” จะเชื่อหรือเปล่า
หากนิยามของ PMC COR คือ the pure analogue amplifier ผมเชื่อว่า PMC เข้าถึงนิยามนี้แล้วอย่างแท้จริง และที่น่าทึ่งกว่านั้น คุณภาพที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากภาคจ่ายไฟขนาดใหญ่ หรือภาคขยายวงจรภายในต้องเลอเลิศขนาดไหน ทุกอย่างเริ่มต้นกลับไปหาเรื่องพื้นฐานที่หลายท่านมองว่า โห… เบสิกมากเลย
ก็แค่วงจร Darlington Type ธรรมดา ซึ่งใช้เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ 1 คู่ในภาคเอาต์พุต เมื่อวงจรลดขนาดลง ไม่ได้ยุ่งยาก ภาคจ่ายไฟก็ออกแบบให้มีขนาดพอเหมาะ ไม่ต้องมีพื้นที่ใหญ่อะไรมากนัก แต่ออกแบบภาคจ่ายไฟให้เหมาะสม แยกแต่ละภาคออกมาอย่างอิสระ ถึงแม้ว่าดูเงียบง่าย แต่หม้อแปลงภายใน PMC COR เป็นหม้อแปลงแบบ Shield Power Transformer เมนคาพาซิเตอร์ใช้ของยี่ห้อ Nichicon
ไม่มีใครสามารถเบียด PMC COR ได้ เท่ากับว่า PMC COR มาปิดส่งท้ายปี 2017 ได้ทันเวลาพอดี แนะนำอย่างยิ่งสำหรับนักเล่นที่ต้องการเสียงที่บริสุทธิ์ ปราศจากบุคลิกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น
ก่อนหน้านี้ เห็นรูปภายในของ PMC COR จากอินเทอร์เน็ต ยังรู้สึกนิดๆ เลยว่า ทำไมเลย์เอาต์วงจรภายในมีช่องว่างดีจัง และน้ำหนักก็ไม่ได้หนักอะไรมากนัก แล้วอย่างนี้เสียงจะออกไปทางบางๆ ใสๆ หรือเปล่า ยิ่งเปิดดูสเปกของเครื่องก็ให้ได้แค่ 95 วัตต์ จะไหวหรือเปล่า คิดอย่างนั้นจริงๆ
แต่เมื่อได้แกะกล่อง ต่อสายทุกอย่างเสร็จ ทดลองเปิดก็แปลกใจนิดๆ ว่า เปิดสวิตช์เพาเวอร์หลังเครื่องแล้ว แต่เสียงก็ไม่ออก ควานหางมกันอยู่นาน สุดท้ายเปิดคู่มือเจอว่า ต้องมากด “On” ที่รีโมตอีกครั้งหนึ่ง เลยต้องแกะรีโมตออกมาใช้ด้วย
PMC COR เปรียบเสมือนตัวผ่านขยายสัญญาณไปยังลำโพงเท่านั้น โดยไม่ได้ใส่อะไร หรือแต่งเติมอะไร ลงในบุคลิกของเสียงที่ออกมาเลย นั่นก็หมายความว่า บุคลิกเสียงของแหล่งโปรแกรมต้นทางเป็นอย่างไร บุคลิกเสียงของสายนำสัญญาณเป็นอย่างไร บุคลิกเสียงของสายลำโพงเป็นอย่างไร บุคลิกเสียงของสายไฟเอซีเป็นอย่างไร และบุคลิกเสียงของลำโพงเป็นอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น …เริ่มต้น ผมเปิดเพลงที่คุ้นเคยหลายๆ แผ่น เสียงที่ได้ยินนั้น แปลกไปจากเดิมมากๆ ดูเหมือนว่า เฮดรูม (Headroom) จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้ไดนามิกเรนจ์กว้างมากยิ่งขึ้น
เฮดรูมเพิ่มขึ้น ดีอย่างไร? ให้ลองนึกตามนะครับ สมมติว่า ขอบเขตเฮดรูมก่อนที่สัญญาณจะโดนคลิป หรือเกิดอาการผิดเพี้ยนของคลื่นสัญญาณ คือ 10 สัญญาณปกติมีระดับแรงดัน 5 และสัญญาณสวิงบางช่วงเวลาไปได้ถึงระดับ 8 – 9 ก็จะเหลือเฮดรูมอีกประมาณ 1 – 2 ก่อนที่สัญญาณจะคลิป หรือก่อนรูปร่างของสัญญาณจะบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป และถ้าเกนขยายในแอมป์สูงขึ้นอีก ก็แทบไม่เหลือพื้นที่เฮดรูมเลย แอมป์บางตัวเลยฟังรู้สึกอึดอัด และเวลาเปิดดังขึ้นมาหน่อย เสียงจะหยาบ ฟังไม่เพราะเอาเสียเลย
แต่สำหรับ PMC COR นั้น ฟังแล้วแตกต่างออกไป คือ… ฟังแล้วเสียงโปร่งกว่า โล่งกว่ามากๆ นั่นก็เพราะว่า PMC COR เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่มีการออกแบบให้มีเกนเสียงที่ต่ำต้องเร่งโวลุ่มขึ้นมา จึงจะรู้สึกว่าเสียงดังในระดับเดียวกันที่คุ้นเคย หรือเมื่อเร่งระดับโวลุ่มขึ้น ความดังของเสียงก็ไม่ได้ดูเหมือนจะดังขึ้นมาตามระดับโวลุ่มมากนัก จึงไม่แปลกใจเลยว่า เนื้อเสียงเมื่อเปิดดังก็ไม่รู้สึกว่าหยาบกร้านแต่อย่างไร บางยี่ห้อจะออกแบบให้มีการโรลออฟของสัญญาณเสียงเพื่อหลีกเลี่ยงสัญญาณเสียงโดนคลิป หรือเกิดเสียรูปทรงผิดเพี้ยนไป ทำให้ฟังแล้วรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย เหมือนปลายเสียงไปไม่สุด
แต่ PMC COR กลับปลดปล่อยเสียงได้อย่างอิสระ มีไดนามิกเฮดรูมที่กว้างมาก ฟังแล้วรู้สึกโล่ง เปิด ไม่ได้มีอาการล้า เครียดๆ หรือฟังแล้วรู้สึกอึดอัดแต่อย่างไรเลย
แผ่นซีดี “FAUST” BALLET MUSIC – “CARMEN” SUITE และ แผ่นซีดี CONCORD CHAMBER MUSIC SOCIETY-BRUBECK/GRANDOLFI/FOSS ผมรู้สึกว่า PMC COR ให้เสียงโปร่งขึ้น เสียงแต่ละเสียงแยกแยะกันได้อย่างอิสระมากกว่าเดิม ไม่รู้สึกว่าเสียงแออัดแต่อย่างไร เรนจ์เสียงกว้างขึ้น ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างของแต่ละเสียงได้มากยิ่งขึ้น ไดนามิกของเสียงมากกว่าเดิม และที่สำคัญก็คือ… รายละเอียดเสียง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเลาะทุกโน้ตทุกตัวให้ได้ยินมากยิ่งขึ้น
ที่น่าแปลกใจและชื่นชมอย่างมาก บรรยากาศของเสียงต่างๆ รู้สึกเข้าถึงและสัมผัสได้อย่างชัดเจน ไม่ได้รู้สึกเสียงแห้งหรือบางแต่อย่างไร เมื่อเปิดดังๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่า เสียงแตก หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทวีตเตอร์
มาถึงแผ่นปราบเซียนอย่างแผ่นของ Telarc ที่มักเตือนเอาไว้ว่า อย่าเปิดดัง เพราะไดนามิกเสียงของแผ่นที่บันทึกมานั้น อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อลำโพงได้
อย่างเช่น… แผ่นซีดี Telarc อัลบั้ม Tchaikovsky 1812 Overture แผ่นนี้มีการพูดถึงเป็นวงกว้างว่า แผ่นดั้งเดิมในปี 1984 นั้น พบว่าบันทึกเสียงกลับเฟส แต่แผ่นในปี 2004 Telarc Hybrid SACD/CD ได้แก้ไขเรื่องเฟสของสัญญาณถูกต้องเรียบร้อยแล้ว สำหรับแผ่นนี้ เมื่อฟังผ่าน PMC COR นั้น อย่างที่บอกไว้ตอนต้นคือ เสียงโปร่ง และรายละเอียดของเสียงที่ดีมากๆ ช่วงที่ดนตรีโหมขึ้นมาอย่างพร้อมกัน เมื่อเร่งเสียงดังมากยิ่งขึ้น รายละเอียดของเสียงยังคงอยู่อย่างชัดเจน ไม่ได้ซ้อนทับ เวทีเสียงและรายละเอียดของเสียงไม่มีอาการหุบแต่อย่างใด
ยิ่งเมื่อมีเสียงปืนใหญ่ระดมยิงนั้น หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่า ไดนามิกของเสียงมันนุ่ม คือเข้าใจว่า การกดเรนจ์เสียงในภาคขยายของแอมป์ลง ไม่ให้มีเรนจ์เสียงที่กว้าง อย่างที่สองก็คือ ไม่เหลือพื้นที่ของเฮดรูมให้เล่นกันมากนัก แต่สำหรับ PMC COR ไม่ใช่ ทุกอย่างจากต้นทางมาอย่างไร ก็ปล่อยออกไปอย่างนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่งเสริมแต่อย่างไร เรนจ์เสียง ไดนามิก จึงฟังดูสมจริงสมจังอย่างมาก หัวโน้ตของเสียงและแรงปะทะนั้น จับต้องได้ถึงความหนักแน่นจริงๆ เรื่องความโปร่งและรายละเอียดของเสียงนั้น สุดยอดมากๆ
ซึ่งแตกต่างจากที่ผมคาดหวังเอาไว้ก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง ที่ผมรู้สึกว่าเสียงน่าจะบาง และน้ำหนักแรงปะทะก็น่าจะฟังดูนุ่มๆ หน่อย เพราะกำลังขับของภาคแอมป์แค่ 95 วัตต์ที่ 8 โอห์มเอง
อย่างที่บอกตอนต้นๆ คือ PMC COR ใช้อะไร ได้อย่างนั้นจริงๆ ตอนแรกที่ผมฟังจากเครื่องเล่นซีดีของ Marantz HD-CD1 เสียงจะบางๆ ใสๆ เล็กน้อย แต่แรงปะทะของย่านความถี่กลางต่ำกลับโดดเด่นมากกว่าย่านความถี่เสียงกลางสูง จนผมเกือบโทษว่า อ๋อ! ลักษณะเสียงของ PMC COR คงเป็นอย่างนี้นี่เอง
แต่มาเอะใจว่า สายไฟเอซีที่ต่อหลังเครื่อง Marantz น่าจะลองเปลี่ยนดูบ้าง ปรากฏว่าเมื่อเปลี่ยนแล้ว เสียงกลางสูงเปลี่ยนไปจากเดิมชนิดไม่เหลือเค้าโครงเสียงเดิมอีก คือ เสียงไม่ได้บางลงแล้ว แต่กลับให้เนื้อหนังและแรงปะทะที่ดีมากขึ้น เสียงมีประกายและพลิ้วกังวานขึ้นอย่างมากทีเดียว
เท่านั้นยังไม่พอ ผมลองเปลี่ยนสายไฟเอซีหลัง PMC COR อีก ผลก็คือเสียงดีขึ้นไปอีก ทุกอย่างที่เปลี่ยนในซิสเต็ม ไม่ว่าต้นทาง ปลายทาง หรือส่วนหนึ่งส่วนไหนของซิสเต็มก็ตาม ล้วนส่งผลต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น อินทิเกรตแอมป์ PMC COR จะให้เสียงออกมาเป็นอย่างไร ก็ดูว่าเราจัดซิสเต็มต้นทางเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ถือว่าไม่ปกติมากนัก ที่ไม่ปกติไม่ได้เป็นเพราะ PMC COR แต่เป็นเพราะว่าเราไม่ค่อยได้เจออินทิเกรตแอมป์แบบ PMC COR ที่แทบหาบุคลิกเสียงไม่เจอเลย มันจะเปลี่ยนไปตามซิสเต็มและอุปกรณ์ต่างๆ เสมอ
อย่างเช่นลำโพง เมื่อเปลี่ยนลำโพง Quad 22L ออก แล้วนำลำโพง Totem Acoustic: Sky มาใช้งานแทน จะเห็นบุคลิกบางอย่างที่น่าสนใจออกมา คือเมื่อเปรียบเทียบกับอินทิเกรตแอมป์หลอดก่อนหน้านี้ ในเรื่องของสเกลเสียงนั้น เบสที่ได้จากแอมป์หลอดกับ PMC COR มีความแตกต่างกัน เหมือน PMC COR จะฟ้องออกมา 2 ด้าน คือ… ข้อจำกัดของกรวยมิดเรนจ์/เบส จากกรวยลำโพงขนาดเล็กของ Totem Sky และขนาดกำลังวัตต์ของ PMC COR
แต่เอาเข้าจริงๆ กำลังขับ 95 วัตต์ของ PMC COR ไม่ถือว่ามีกำลังขับค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับอินทิเกรตแอมป์ไฮเอ็นด์หลายๆ ยี่ห้อ เพียงแต่ 95 วัตต์/8 โอห์มของ PMC COR คือกำลังวัตต์ที่เกิดขึ้นจริงๆ จึงเป็นวัตต์ที่มีคุณภาพ ทั้งในแง่ของพละกำลังและคุณภาพเสียง
แต่หากจะนำPMC COR ไปขับลำโพงขนาดใหญ่ๆ ที่ต้องการขนาดกำลังขับจากแอมป์เยอะๆ ผมก็ว่าไม่แน่ PMC COR อาจจะเกิดอาการกำลังขับออกไม่หมดก็เป็นได้ นี่คือข้อสันนิษฐาน ไม่ต้องอื่นไกล ระหว่างลำโพง Quad 22L กับ Totem Sky เปรียบเทียบเรื่องแรงปะทะ น้ำหนักเสียง เนื้อเสียง และปริมาณเบส ผมเลือกลำโพง Quad 22L มากกว่า ถ้าต้องการแค่เรื่องนี้
PMC COR นั้น การเลือกเล่นลำโพงที่คู่ควรเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ และต้องสนใจเช่นกัน
ไม่งั้นก็ไม่ต่างจากส่ง PMC COR ไปยังสังเวียนที่ไม่ใช่ ถึงไม่ได้แพ้ แต่แค่ประคองตัวไม่ให้ล้ม ถึงแม้ว่าในแง่พละกำลังของ PMC COR ผมไม่มีข้อกังขาใดๆ ก็ตาม
ยกตัวอย่าง ในกรณีที่ผมจับลำโพง Totem Sky มาใช้งานร่วมกับ PMC COR ต้องขอบอกว่าเปิดเพลงร้อง อย่างเช่น Esther, Norah Jones และ Rinda Ronstadt ทำให้ผมทึ่งในการประสานงานกันระหว่าง PMC COR และ Totem Sky เป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า Totem Sky ให้เสียงร้องออกมาดีมากๆ เสียงร้องดีกว่าแอมป์ทุกตัวที่ผมเคยนำมาใช้ขับทั้งหมดเลยก็ว่าได้
เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า Totem Sky ให้เสียงตรงคีย์ เสียงของนักร้องหลากหลายมากยิ่งขึ้น ความใสและรายละเอียดของเสียง ยามที่นักร้องแอดลิบเสียง หรือการสลับเปลี่ยนคีย์เสียงต่างๆ เห็นถึงความแตกต่างของเสียงได้มากยิ่งขึ้น เรนจ์เสียงกว้าง และที่แปลกใจมากกว่านั้นก็คือ ดูเหมือนว่าเสียงร้องโดนผลักออกมาด้านหน้าจากดนตรีแบ็กอัพด้านหลังมากยิ่งขึ้น
มิติเสียงร้องจึงดูเหมือนสูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ราวกับว่า PMC COR ได้ผลักดันให้ลำโพง Totem Sky หลุดพันในทุกพันธนาการเสียงเลยมีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม ความโปร่งของเสียง มิติเสียง ความตื้นลึกของเวทีเสียง น้ำหนักเสียงของย่านความถี่ต่ำรายละเอียดของย่านความถี่สูง คุณภาพเสียงร้อง ฟังแล้วเสมือนว่า นี่ไม่ใช่ลำโพง Totem Sky ที่ผมเคยฟังเสียงมาก่อน เสียงดีขึ้น ยอดเยี่ยมขึ้น จนผมแปลกใจอย่างมากทีเดียว
แผ่นซีดี The Absolute Sound / Hearts of Space แผ่นซีดีหนึ่งในโครงการหนึ่งของนิตยสาร The Absolute Sound และอยู่ในลิสต์แผ่นซีดีอ้างอิงของ Harry Pearson อดีต Editor/Publisher ของนิตยสาร The Absolute Sound ด้วยเช่นกัน
PMC COR ทำให้ซาวด์สเปซของแผ่นซีดีแผ่นนี้กว้างและลึกกว่าทุกครั้งที่เคยฟังมา เที่ยวนี้ราวกับว่าลำโพง Totem Sky หายไปจากซาวด์สเปซที่ได้ยินตรงนี้ แผ่นซีดีแผ่นนี้บันทึกด้วยเกนเสียงค่อนข้างต่ำดังนั้น เมื่อเปิดโวลุ่มจาก PMC COR เกือบ 12 นาฬิกา เสียงจึงเหมือนไม่ได้ดังมากเลย แต่พอถึงช่วงพีคและไดนามิกเสียง น้ำหนัก และแรงปะทะรุนแรง จนทึ่งในการออกแบบจริงๆ
แผ่นนี้บางอย่างไม่สามารถใช้ได้ดีกับลำโพงวางขาตั้ง เพราะเรนจ์เสียงค่อนข้างกว้าง เหมาะที่จะใช้ฟังกับลำโพงตั้งพื้นมากกว่า คือเสียงมาเต็มมากกว่า แต่สำหรับ Totem Sky ปริมาณเบสต้นและเบสกลางที่ออกมานั้น ทำให้ทราบเลยว่า เมื่อกำลังขับของแอมป์แม็ตช์กับลำโพง ปริมาณเบสที่ออกมานั้น ทำให้เรารู้สึกว่า เบสไม่ได้ขาดแคลนเลย
ผมชอบตรงพีคและไดนามิกของเสียง PMC COR ให้ความคมชัด ความหนักแน่น และรายละเอียดของย่านความถี่ต่ำทำออกมาได้ดีมากจริงๆ เรนจ์เสียง ไดนามิก น้ำหนัก และรายละเอียด ทำได้ดีมากด้วยเช่นกัน หรือการควบคุมรักษาโฟกัส PMC COR ให้สนามเสียงเสถียร นิ่ง ไม่แกว่ง และหัวเสียงของแต่ละโน้ตไม่ได้ออกมานุ่มเลย
บรรยากาศ ประกายเสียง และรายละเอียดของเสียงตอนบน ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วมากๆ เมื่อก่อนผมชอบฟังแผ่นซีดีแผ่นนี้ร่วมกับ SuperTweeter ก็เพราะ ณ ตอนนั้น ผมรู้สึกว่า หากได้ Super Tweeter มาช่วยจะให้ลำโพงตอบสนองความถี่เสียงได้รวดเร็วขึ้น ฉับไวขึ้น
สำหรับ PMC COR เมื่อใช้งานร่วมกับ Totem Sky ผมไม่จำเป็นต้องใช้ Super Tweeter เพื่อดึงโมเมนต์ในการฟังเพลงแบบนั้นกลับมาอีกเลย เพราะเท่านี้ก็ให้ออกมาได้ดีมากอยู่แล้ว ตอบสนองได้อย่างฉับไว รายละเอียดของเสียงต่างๆ ไหลออกมาอย่างจับต้องได้ในทุกเสียงทุกโน้ต บรรยากาศ น้ำหนักแรงปะทะ ถือว่ามาเหนือจริงๆ ทวีตเตอร์ของ Totem Sky ที่ก่อนหน้านี้ผมติว่าทึบนิดๆ เมื่อเทียบกับ Totem Model One แต่ PMC COR ทำให้แหลมมีความใส ละเอียด และเนื้อเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก
เมื่อมีสิ่งดีๆ มากๆ ก็จะมีบางข้อให้เราตระหนักเช่นกัน
อย่างแรกก็คือ กำลังขับ 95 วัตต์ เพียงพอกับลำโพงที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก ถ้าเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ที่ใช้เบสยูนิตขนาดใหญ่กว่า 7 นิ้ว ผมคิดว่า น่าจะควรต้องลองก่อน แต่สำหรับ Totem Sky ถือว่าปริมาณของเบสนั้น PMC COR ทำให้ทะลุขอบเขตของลำโพงออกมานิดหน่อย เนื่องจากอย่างหนึ่งก็คือ เฮดรูมของ PMC COR กว้าง และการที่แอมป์มีเกนต่ำทำให้ตอบสนองสัญญาณเสียงได้รวดเร็วฉับไว จึงส่งผลให้เบสของ PMC COR สะอาด เป็นธรรมชาติมากๆ
อย่างที่สอง PMC COR + Totem Sky เหมือนจะสะท้อนเสียงทุกอย่างของซิสเต็มออกมาทั้งหมด ณ ตอนแรก ผมเคยบ่นว่า เนื้อเสียงกลางแหลมบางสักหน่อย เมื่อเทียบกับเนื้อเสียงของย่านความถี่เสียงต่ำแต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากซอร์สต้นทางอย่างเครื่องเล่นซีดี Marantz HD-CD1 ที่ให้เนื้อเสียงออกมาในลักษณะนั้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนฟิวส์ในเครื่องเล่นซีดีและสายไฟเอซี ช่วยให้เสียงดีขึ้นมาอย่างมากก็ตาม แต่ก็ยังรู้สึกได้อยู่
แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Thorens ลักษณะเสียง เนื้อเสียง ก็เปลี่ยนไปตามซอร์สต้นทาง เนื้อเสียงตอนบนไม่ได้บางอย่างที่รู้สึก หากรู้สึกได้ถึงบรรยากาศและความอบอุ่นของเสียงจากต้นทางมากยิ่งขึ้น ฟังจากแผ่นเสียงแล้ว รู้สึกว่าเสียงเปลี่ยนแปลงไปในทางอะนาล็อกมากยิ่งขึ้น ความอบอุ่น เกนเสียงมีความเนียนและนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น เบสมีมวลใหญ่ขึ้น อวบอิ่มมากยิ่งขึ้น อิมแพ็คก็แตกต่างไปจากซีดี เข้าใกล้ความเป็นธรรมชาติของเสียงมากยิ่งขึ้น
ผลที่ได้หลังจากฟังแผ่นเสียงของ Linda Ronstadt และ Norah Jones ยิ่งตอกย้ำว่า PMC COR + Totem Sky ให้เสียงร้องออกมาน่าฟังมากขึ้นจริงๆ เหมือนไม่ได้ฟังลำโพง Totem Sky แต่กำลังฟังลำโพงที่ได้ชื่อว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของลำโพงที่ให้เสียงร้องออกมาดี น่าฟังมากที่สุด ในราคาต่ำกว่าแสน ถ้าเอาคุณภาพเสียงร้องตรงนี้ไปเทียบกับลำโพงจากอังกฤษทั้งหลาย เผลอๆ ผมว่านักเล่นหลายท่านอาจเปลี่ยนใจมาฟังเสียงร้องจากลำโพง Totem Sky มากขึ้นก็ได้นะครับ
จากตรงนี้แสดงให้เห็นว่า คุณภาพของซอร์สต้นทางมีผลต่อเสียงของ PMC COR อย่างมากทีเดียว ถ้าได้เล่นคู่กับเครื่องเล่นซีดี Esoteric ที่ผมเคยทดสอบก่อนหน้านี้ คุณภาพเสียงต้องไปได้อีกไกลแน่ๆ
ในส่วนของฟังก์ชั่น Balanced Input นั้น ผมไม่ได้ลองครับ เพราะช่อง XLR ของ PMC COR ไม่ได้เป็น Fully Balanced ผมเลยชอบเสียงที่ได้จากช่องอินพุตสัญญาณแบบ RCA มากกว่า ส่วนคุณภาพเสียงจากช่องเสียบหูฟังนั้น ผมฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรมากนัก
PMC COR is the Pure Analogue Amplifier of the Year 2017
ประโยคข้างต้น คือบทสรุปของ PMC COR ได้ชัดเจน และถูกต้องมากที่สุด และผมก็หาคำตอบได้แล้ว The Best of the Year2017 นั้น ไม่มีใครสามารถเบียด PMC COR ได้ เท่ากับว่า PMC COR มาปิดส่งท้ายปี 2017 ได้ทันเวลาพอดี แนะนำอย่างยิ่งสำหรับนักเล่นที่ต้องการเสียงที่บริสุทธิ์ ปราศจากบุคลิกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น. ADP
ราคาพิเศษ 198,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท Audio Force จำกัด
โทร. 086-252-2429, 02-056-7934
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 250
No Comments