PARADIGM ATOM MONITOR V7
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
ลำโพงรุ่น Atom เป็นหนึ่งในบรรดารุ่นที่ขายดีมากของ Paradigm เนื่องจากว่ามีราคาค่าตัวไม่แพง และให้เสียงที่มีบุคลิกแบบ Paradigm ผมได้ยินชื่อ Atom มานานนักหนาแต่ไม่เคยเอามาทดสอบจริงจังเสียที เนื่องจากมองไปที่รุ่นสูงกว่าของยี่ห้อนี้ ซึ่งมีหน้าตาออกไปทางหุ่นยนต์มากกว่าจน Atom เดินทางมาจนถึงรุ่น V7 และกอง บก. ก็เลือกที่จะส่งมาให้ผมฟัง ลำโพงถูกบรรจุมาในกล่องเล็กๆ สองใบ มีขาตั้งโลหะมวลเบามาให้ด้วย สูงประมาณ 26 นิ้ว ดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วต้องบอกว่ามันเป็นลำโพงที่ทันสมัยมาก สิ่งที่ผมชื่นชอบ Paradigm ตอนที่ทดสอบรุ่น Studio นั่นคือ เบสลึก แน่น อัดออกมาได้อย่างหนักหน่วง ไม่มีแป๊ก จังหวะดีมาก ไดนามิกกว้าง เสียงสะอาด เสียงกลางอยู่คาบเกี่ยวระหว่างจริงจังและอิ่มอุ่น ในขณะที่เสียงแหลมขึ้นได้สูงในลักษณะที่ไม่ยอมลดละความสดใสเปิดเผย สิ่งเดียวที่ผมไม่ชอบ Paradigm Studio คือ หน้าตาของเวฟไกด์บนตัวทวีตเตอร์ที่ดูเป็นหุ่นยนต์รบเกินไป แต่สำหรับคุณภาพเสียงนั้น ผมคิดว่าเป็นลำโพงที่ดีมาก ในราคาที่สมเหตุสมผลซะด้วย
Atom Monitor V7 เป็นลำโพงเล็ก 2 ทาง ขนาดตู้สูง 11” กว้าง 6.5” ลึก 9” หนักเกือบ 10 ปอนด์ ขั้วต่อสายลำโพงชนิดซิงเกิ้ลไวร์ บอดี้ทำด้วยไม้ MDF ปะผิววีเนียร์เลียนแบบไม้จริง มีทั้งแบบสีไม้ธรรมชาติและสีดำ (ASH) พูดถึงผิวลำโพงในระดับนี้ ผมคิดว่ามันไม่มีผลต่อเสียง เนื่องจากมันไม่ใช่ไม้จริงจึงมีค่าความควบแน่น (Density) และเรโซแนนซ์ที่เท่าๆ กันในทุกสีทุกลาย ดังนั้น คุณจึงเลือกสีที่ชอบได้ โดยไม่ต้องหวังว่าเสียงจะต่างกันครับ สิ่งที่เจ้าAtom Monitor V7 มีความพิเศษ คือ แผงหน้าทำด้วยไม้ MDF หนาประมาณ 0.5 นิ้ว ยึดดอกลำโพงทั้งสองเอาไว้ แล้วครอบด้วยแผ่นพลาสติก “Fascia” หนา0.5 นิ้ว ซึ่งตัดด้วยเครื่องมือที่ความเที่ยงตรงสูง ทำให้ประกบลงไปบนแผง MDF ที่ยึดดอกลำโพงได้เรียบสนิทไร้รอยต่อ แผ่นพลาสติก Fascia มีสีดำคล้ายๆ ยาง ช่วงบริเวณรอบทวีตเตอร์มีลักษณะเว้าเข้าในแบบ Semi Horn หรือจะเรียกว่าเวฟไกด์ชนิดหนึ่งก็ได้ ซึ่งบริเวณรอบๆ ดอกวูฟเฟอร์ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ไม่ได้ทำให้ผายเข้าโดยมีรัศมีที่กว้างมาก ผลของการทำแผงหน้าลำโพงแบบนี้ นอกจากความสวยงามซ่อนรอยยึดดอกลำโพงแล้ว ยังช่วยลดอาการฟุ้งกำจายของเสียงสูงที่เกิดบริเวณรอบๆ ตัวขับเสียง โดยเฉพาะเสียงแหลม ทำให้เสียงแหลม carry ไปได้ไกล และโฟกัสมากกว่า
ตัวดอกลำโพงในรุ่น V7 ได้รับการพัฒนาจากรุ่น V5 และ V6 วูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ และทวีตเตอร์ ทำจากวัสดุ Satin-Anodized Pure Aluminum (S-PAL) ที่ Paradigm ผลิตคิดค้นขึ้นเอง วูฟเฟอร์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5” ขอบยางแชสซีส์ทำด้วย Polymer ผสมใยแก้ว วอยซ์คอยล์ทนความร้อนสูง ทนต่อกำลังวัตต์ ทวีตเตอร์โดมขนาด 1” ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กตัดที่ 2kHz ชนิด Second-Order ค่อนข้างชันเลยครับ แบบนี้เหมาะจะฟัง Far Field และเท่าที่ทดลองฟัง มันไม่ต้องการการโทอินมากมายนัก
ค่าสเป็กที่สำคัญของลำโพง รองรับความถี่เมื่อวัดแบบ On-Axis อยู่ที่ 86Hz – 22kHz, +/-2dB หรือที่ 30o Of-Axis (โทอิน) 86Hz – 18kHz, +/-2dB และที่สำคัญคือ เสียงต่ำจะลดลงไปถึง 50Hz (ที่ระดับประมาณเกือบ -10dB) ความต้านทานปกติ 8 โอห์ม ความไวอยู่ที่ 90dB ในห้อง และ 87dB เมื่อไร้การสะท้อน จากสเป็กดังกล่าวหมายความว่านี่เป็นลำโพงเล็กที่ให้เสียงเบสลึกได้ และน่าจะมีความต่อเนื่องที่ดี ขับไม่ยาก ตามคู่มือระบุว่าควรใช้เพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขับระหว่าง 15 – 80 วัตต์
SET UP
ผมใช้แอมป์สองตัวขับ Paradigm Atom V7 คือ อินทิเกรตแอมป์ CEC 3300 C-3 RED กำลังขับ 80 วัตต์ต่อข้าง และคู่ปรีเพาเวอร์ XAV 02 และ 120 กำลังขับ 120 วัตต์ต่อข้าง หลังๆ ลองเอาAudiospace Galaxy II แอมป์หลอด 12 วัตต์ มาขับด้วย
ส่วนขาตั้งใช้ที่ให้มาผมใช้สลับกับ Cold-Ray สูง 26” ปรากฏว่าวางกับขา Cold-Ray ได้เสียงโดยรวมเหนือกว่าผลของการทดสอบจึงอ้างอิงตอนที่ใช้ขาตั้ง Cold-Ray, เครื่องเล่นซีดี Marantz K1 Peare Lite, สายดิจิทัล Zensati: Cherub, DAC Lite V II, เครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn LP12 + หัวเข็ม van den HUL รุ่น Grass Hopper Exim + SUT EAR MC-4, โฟโนสเตจ Grahamslee Reflex M, สายเคเบิล้ ในส่วนสายสัญญาณและสายลำโพง ตอนนี้ใช้ของไทยครับ ยี่ห้อ ZENS, สายไฟเพาเวอร์ Siltech Double Royal Crown + สายไฟรุ่นใหม่ฉนวนสีทองของอาจารย์เจมส์ C-3
ผลการทดสอบ
ผมมีลำโพงเล็กที่มีขนาดกลางๆ ราคาไม่ถูกและไม่แพงจนเกินไปอยู่ 2 – 3 คู่ คู่ที่เลือกมาเป็นตัวช่วยในการทดสอบ Atom V7 คือ Revolver RW16 เป็นลำโพงสองทาง โดมโลหะเหมือนกัน ตัวตู้ของ RW16 มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบไบไวร์ ราคาค่าตัวต่างกันหลักพัน น่าจะทำให้พบความจริงอะไรต่อมิอะไรออกมาได้
หลังจากที่เปิดเพลงบีบนวดช่วงเบิร์นอินให้ Atom V7 มานาน 40 ชั่วโมงไปแล้ว ผลการฟังร่วมกับ CEC 3300 C-3 RED ออกมาน่าพอใจมาก มันเป็นลำโพงเล็กที่ให้เสียงใหญ่ สเกลชิ้นดนตรีมิได้เล็กตามขนาดของดอกลำโพงไปด้วย นับว่าผู้ออกแบบมีฝีมือ จุดเด่นที่เตะหูเป็นอย่างแรกคือ เบสลูกเบ้อเริ่มเทิ่มของมันที่ฟังผ่านๆ เหมือนกับออกมาจากลำโพงขนาด 6 นิ้ว กำลังขับ 70 วัตต์ ผลักดันศักยภาพของ Atom V7 ออกมาได้อย่างเต็มที่แล้ว ผมแกล้งเร่งโวลุ่มเกิน 11.00 นาฬิกาซึ่งเป็นจุดที่แอมป์เริ่มจะพีค เสียงที่ได้ยิน แม้ว่าจะดังลั่น แต่ก็นิ่ง ไม่ได้มีอาการว่าฉันรับไม่ไหว ดอกลำโพงกำลังจะพังแล้ว หรือภาษานักทดสอบจะต้องบอกว่าเกิดอาการจัดกร้าว เสียดแทงรูหู ไม่มีเลยครับ นี่คือลำโพงเล็กที่เปิดอัดได้ ไม่มีเสียว เพียงแต่บุคลิกตามตัวของเขาที่เป็นโดมโลหะอาจจะไม่ค่อยนุ่มนวลเสียเท่าไหร่ ตรงข้าม มันจะจำแนกแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ออกมาอย่างถี่ยิบ และเปิดเผยเป็นอย่างยิ่ง ใกล้เคียงกับคำว่าTransparentcy ผมขยับไปใช้คู่ปรี/เพาเวอร์ XAV รุ่น 02SE + 120A ต่อด้วยสาย XLR ของ MIT คราวนี้รู้สึกว่า 120 วัตต์เต็มๆ ต่อข้าง อาจจะแรงเกินไปสำหรับ Paradigm Atom V7 เพราะลักษณะเสียงมีอาการ Forward แม้ว่าเวทีเสียงจะกว้างและลึกเพิ่มขึ้น แต่ผมพบว่าฟังเพลงโปรเกรสสีฟร็อก หรือพวก Daft Punk, Enigma แล้ว เสียงแหลมจะแข็ง ฟังไม่สบายหูเท่าไหร่ แต่กลับเป็นว่าฟัง Jazz ที่เป็นอะคูสติกเท่ๆ โดยเฉพาะที่เป็นบันทึกสดได้ดีครับ ความถี่ลำโพงให้เบสลึกออกมาได้ มันจึงรองรับย่านความถี่เสียงแปลกๆ ที่เกิดขึ้นในสถานทีบันทึกเสียง และถ่ายทอดออกมาให้ได้ยิน (ไม่ใช้ subwoofer)
ลองสลับไปฟังเพลงร้อง เสียงของคุณชุติมาแก้วเนียม ค่ายใบชา Song ที่นำเพลงของ ชรัส เฟื่องอารมณ์ มาคัฟเวอร์ แผ่นซีดีชุดนี้ ผมรู้สึกว่ายิ่งฟังยิ่งไพเราะ ผมชอบการวางตำแหน่งอิมเมจที่มั่นคง แม่นยำ เสียงเครื่องดนตรีที่มีฮาร์โมนิกใกล้เคียงของจริง แต่เสียงร้องมีอาการซี้ดซ้าดอยู่บ้าง และเป็นจุดเดียวที่ผมขุดขึ้นมาติได้ สำหรับลำโพงเล็กราคาเบาคู่นี้ แต่ก็นั่นแหละครับ พอไปฟังเพลงปลายแหลมบนๆ ผมกลับชอบที่มันให้ประกายกังวาน และทอดหางเสียงไปได้ยาวไกล ผมนึกเล่นๆ ว่านี่ถ้าซื้อมาเปลี่ยนคาปาซิเตอร์เป็นชนิด Paper in Oil น่าจะช่วยให้หมดข้อกังขาทั้งหลายไปได้ ลำโพงคู่นี้จะน่ากลัวมาก ด้วยราคาค่าตัวของมันที่ใครๆ ก็ซื้อได้
ในคาบหลัง ผมเปลี่ยนไปใช้แอมป์ Audio Space Galaxy II ที่ผ่านการอัพเกรดล่าสุดโดยอาจารย์เจมส์ C-3 และใส่ฟิวส์ C-3 ไว้ด้วย โอ๊ยยยย… มันคือเนื้อคู่กันจริงๆ ครับ ด้วยกำลังขับ 12 วัตต์ และบุคลิกแหลมใสไร้ความหยาบของ Galaxy ซึ่งภายหลังจากไปอัพเกรดมาแล้ว เบสดีขึ้นอย่างมากมาย มันขับ Atom V7 ออกมาได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งมาก ดุลน้ำเสียงดี ขึ้นสุด ลงสุด กลายเป็นว่าแอมป์หลอดเล็กๆ แต่ฟังเพลงไดนามิกโหดๆ ได้ดีพอสมควรเลย แม้กระทั่งเพลงคลาสสิก Overture ในสังกัด RR หรือ Telrac ก็ไม่ยั่น เพียงแต่ไม่สามารถอัดดังๆ ได้เหมือนชุดใหญ่เท่านั้นเอง ฟังเพลงร้อง คราวนี้เสียงใสแจ๋วแหวว อาจจะไม่ได้อารมณ์อัดออกมาจากปอดเหมือนกับยก Loundness แต่ก็ไร้อาการขึ้นขอบ เสียงแข็ง ไปได้หมด มิติเวทีเสียงโดดเด่นทางด้านกว้างมากกว่าลึก ผมต้องดึงลำโพงให้เข้ามาใกล้ตำแหน่งนั่งฟังอีกประมาณ 3 ซม. ได้ความลึกเพิ่มขึ้น แต่เบสชักจะบางลง เลยต้องถอยลงไปอีก 1 ซม. แสดงว่าลำโพงไวต่อการเซ็ตอัพเหมือนกับลำโพงทั่วไป อีกประการหนึ่งคือ การโทอินจะช่วยให้โฟกัสดีขึ้น อิมเมจชัดเจน รวมทั้งลดอาการเสียงแหลมซี้ดซ้าดได้ด้วย เพียงแต่มันก็จะลดความกว้างและช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีลงไปด้วย อันนี้คุณสามารถทดลองดูได้ด้วยตัวเองว่าชอบการวางลำโพงในลักษณะไหนมากกว่าสำหรับผมเลือกที่จะโทอินประมาณเกือบๆ 20 องศาครับ ฟังสบาย ไม่เสียรูปเวทีเสียง
สรุป
Paradigm Atom V7 เป็นลำโพงเล็ก 2 ทางที่ดี คุ้มราคาค่าตัวมากอีกคู่หนึ่ง หากนำไปใช้เล่นกับชุดโฮมเธียเตอร์ร่วมกับซับวูฟเฟอร์แทนลำโพงแซทเทลไลต์ เป็นความคิดที่แจ่มมาก เนื่องจากคุณสมบัติทั้งหลายของมันที่ได้กล่าวมาข้างต้น และสำหรับการฟังในลักษณะ 2 แชนเนล ควรจับคู่กับแอมป์ที่เสียงเรียบๆ ไม่ปรี๊ดปร๊าดมากนัก ซึ่งบรรดาแอมป์คลาส D ในปัจจุบัน มักจะมีคุณลักษณะเสียงที่ว่าอยู่แล้ว เชื่อว่าAtom V7 จะทำให้ผู้เป็นเจ้าของได้ก้าวเดินสู่วิถี Audiophile ได้อย่างถูกต้อง. ADP
ราคา 11,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท กันยง จำกัด
โทร. 0-2653-8866
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 243
No Comments