MONTANA MINI MONITOR
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์
Montana เป็นแบรนด์ของลำโพงจากผู้ผลิตนาม PBN Audio โดย PBN ย่อมาจาก Peter Bichel Noerbaek ซึ่งเป็นชื่อของผู้ก่อตั้ง PBN Audio เป็นผู้ผลิตเครื่องเสียงจากอเมริกานอกจากผลิตลำโพงแล้วยังมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้แบรนด์ย่อยว่า GrooveMaster และยังมีเครื่องเสียงประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่มีทั้ง DAC, Phono, Preamp และ Power Amp ที่ใช้ชื่อแบรนด์ PBN Audio ตรงๆ ตัวเลย เรียกได้ว่าครบวงจรจบในที่เดียว ขาดเพียงเส้นสายที่ยังไม่ได้ทำออกมาให้ครบชุด
กลับมาที่ลำโพง Montana Mini Monitor ที่ต้องขอบอกก่อนว่า อย่าให้ชื่อ Mini Monitor มาหลอกให้คิดว่าเป็นลำโพงตัวจิ๋วๆ เล็กๆ น่ารักๆ ประเภทวางบนฝ่ามือได้ เพราะ Montana Mini Monitor จัดเป็น “ลำโพงวางขาตั้ง” ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ที่ต้องเน้นว่า “วางขาตั้ง” เพราะจากการคาดคะเนด้วยสายตา เชื่อว่าทั้งชั้นหนังสือ หรือแม้กระทั่งตู้วางทีวีทั่วๆ ไป ไม่น่าจะเป็นสถานที่ที่สามารถวาง Montana Mini Monitor ลงไปได้ แม้กระทั่งการวางบนขาตั้งก็ควรเป็นขาตั้งที่มีเพลตทั้งด้านบนที่ใช้วางตัวลำโพงและเพลตล่างที่เป็นฐาน ควรมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าขาตั้งทั่วๆ ไป และควรแข็งแรง มั่นคง และแม้ว่าขาตั้งที่ผมใช้งานอยู่ประจำจะสามารถวาง Montana Mini Monitor ลงไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรงดี แต่ก็พบว่า เพลตล่างสุดของฐานยังคงมีความกว้างน้อยกว่าความกว้างของตัวลำโพง Montana Mini Monitor ทำให้โดยภาพรวมจึงดูไม่ค่อยสมส่วนเท่าไหร่ ออกแนวหัวโต ขาลีบ เท้าเล็ก ถ้าได้ขาตั้งที่ใหญ่โตสมส่วนมาใช้งานคู่กัน น่าจะช่วยเสริมให้ลำโพง Montana Mini Monitor ดูหล่อขึ้นมาได้อีกไม่น้อย และด้วยขนาดตัวที่ถ้าว่ากันด้วยมาตรฐานลำโพงวางขาตั้งสมัยนี้แล้ว ไม่น่าจะจัดว่าเล็ก การเคลื่อนย้าย Montana Mini Monitor จึงต้องใช้คำว่า อุ้ม! ถึงจะเหมาะสม ต้องใช้สองมือจับ ต้องตั้งหลักยืนให้มั่นคงหน่อย ตอนแรกผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมทาง Montana ถึงได้เรียกลำโพงตัวขนาดนี้ว่า “Mini Monitor” เมื่อเข้าไปดูในสารบบลำโพงรุ่นต่างๆ ของ Montana จึงเข้าใจความหมายได้อย่างไม่ยาก เพราะความที่ Montana Mini Monitor คือลำโพงวางขาตั้งรุ่นเดียวจากผู้ผลิตรายนี้ คำว่า Mini Monitor จึงเป็นคำที่เหมาะสมดีแล้ว (รู้สึกคล้ายๆ รถยนต์ Mini รุ่นใหม่ๆ สมัยนี้ ที่ขนาดตัวเมื่อเทียบกับคันต้นฉบับแล้ว มันช่างห่างไกลคำว่า Mini จริงๆ) โดยรุ่นอื่นๆ ของ Montana จะเป็นลำโพงตั้งพื้นตัวใหญ่ระดับสูงท่วมหัวแทบทั้งนั้น
Montana Mini Monitor เป็นลำโพงสองทางวางขาตั้งตู้เปิด มีพอร์ตอยู่ทางด้านหลัง ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับวูฟเฟอร์ที่ใช้ที่มีขนาดราว 5 นิ้วเศษๆ เหมือนลำโพงเล็กทั่วไป แต่ด้วยการออกแบบตัวตู้ให้มีผนังข้างปาดเฉียงป้านออกไปทางด้านหลัง ก่อนจะสอบกลับไปในส่วนท้าย ทำให้รูปทรงดูเพรียว ไม่เทอะทะ ช่วยพรางขนาดตัวที่ใหญ่ได้เป็นอย่างดี ส่วนของการจัดวางตัวขับเสียงเลือกที่จะทำแผงหน้าให้เรียบตั้งตรง แต่ใช้การสลับตำแหน่งของทวีตเตอร์ลงมาอยู่ด้านล่างวูฟเฟอร์แทน เป็นการชดเชยระยะทางเพื่อให้เสียงที่เดินทางจากแหล่งกำเนิดเสียงทั้งสองตัวมาผสมกลมกลืนกันเมื่อมาถึงผู้ฟังพอดีๆ ลำโพงที่มีการออกแบบลักษณะนี้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องไปพะวงเรื่องความสูงของตำแหน่งนั่งฟังมากมายครับ ไม่จำเป็นต้องไปพยายามหาวิธีทำให้หูอยู่ในระดับเดียวกับความสูงของทวีตเตอร์พอดีนะครับ แค่เพียงนั่งตามสบายในเก้าอี้ หรือโซฟาทั่วๆ ไป ให้ความสูงของหูอยู่ในช่วงระหว่างกลางโดมทวีตเตอร์ และไม่สูงเกินวูฟเฟอร์ก็เพียงพอแล้วครับ เข้าใจว่าสีมาตรฐานของลำโพงจะเป็นสีดำเปียโน แต่คู่ที่ผมได้รับมาทดสอบเป็นสีเงิน ซึ่งก็ตัดกับตัวขับเสียงสีดำดูสวยดี เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ Montana บอกว่าสามารถสั่งสีต่างๆ หรือจะเป็นลายไม้สายพันธุ์ไหนก็ได้ แล้วแต่ที่เจ้าของจะจินตนาการได้ เขาบอกว่าสามารถทำให้ได้หมด แต่เข้าใจว่าน่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามความยากง่ายครับ
คุณภาพเสียง
โชคดีที่ผมมีเวลาทดสอบ Montana Mini Monitor นานมาก เลยมีเวลาเปิดเบิร์นไว้นานหลายร้อยชั่วโมง จนมั่นใจว่าลำโพงเข้าที่เรียบร้อยแล้ว การลองฟังในเบื้องต้นใช้ต้นทางเป็น dCS ผ่านปรีแอมป์ Mark Levinson No 326s เล่นกับแอมป์หลอด Cary V12 ในโหมด Ultra Linear จะได้กำลังขับ 100 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม ซึ่งพบว่าได้กำลังที่พอเหมาะพอดี เพราะเมื่อเป็นโหมด Triode 50 วัตต์ เหมือนจะมีกำลังน้อยเกินไปหน่อย เสียงเบสน้อยลงจนรู้สึกว่าโทนเสียงบาง
ในช่วงที่เริ่มฟังจริงๆ จังๆ เริ่มด้วยแผ่น the Super Jazz Trio ชุด the Standard พบว่า เสียงเปียโนมีความสว่างสดใส ให้หัวเสียงที่มีความกระจ่างใส เสียงเบสเน้นที่ตัวโน้ตที่บรรเลง ไม่ได้แสดงความใหญ่โตของหางเสียงที่เหมือนคลื่นแผ่เป็นระลอกลงมาตามพื้น จริงๆ ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติของลำโพงสองทางวางขาตั้งขนาดตัวเท่านี้จะเอาเบสลึกๆ เขย่าพื้นมาจากไหน ซึ่ง Montana Mini Monitor ก็ไม่ได้พยายามเบ่งเสียงเบสให้ใหญ่เกินตัวแต่อย่างใด มันเน้นที่การติดตามโน้ตเบสที่เหมาะสม เสียงกลองมีหัวเสียงที่อิ่ม หนักแน่น แยกแยะรายละเอียดได้กลมกล่อมน่าฟังดี มีความรู้สึกอิ่มเข้มข้น และต่อเนื่อง ในย่านที่มันทำงานได้ ไม่ไปเบ่งย่านเบสลึกให้ดูใหญ่เกินตัวแต่กลวงไร้คุณภาพ หรือไปพยายามเลี้ยงปลายเสียงแหลมให้ทอดตัวยืดยาวจนเกินงาม Montana Mini Monitor เน้นไปที่การให้ความสดที่เป็นธรรมชาติของเสียงจริงๆ คือไม่ใช่เสียงบาง พุ่ง สาด เสียดแทงหู ที่คนมักเข้าใจสับสนกับคำว่า เสียงสด ซึ่งคำว่า เสียงสดของ Mini ในที่นี้หมายถึง เสียงที่มีพลังดีดตัวให้สัมผัสได้ถึงการเกิดขึ้นของเสียงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ คือรับรู้ถึงแรงปะทะของหัวโน้ตต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น เสียงเบสก็ให้ความรู้สึกถึงนิ้วที่ดีดลงบนสายเส้นใหญ่ๆ ของอะคูสติกเบส แม้จะไม่ถึงขนาดมีแรงสั่นจากบอดี้ของตัวเครื่องดนตรีอะคูสติกเบสถ่ายทอดแรงสั่นสะเทือนมาตามขาตั้งลงมาถึงพื้นแผ่เป็นระลอกคลื่นออกมา แต่ก็ยังคงได้ยินทุกโน้ตที่นักดนตรีบรรเลงได้อย่างมีรายละเอียด มีความรู้สึกถึงความหยุ่นตัวของสายได้เป็นอย่างดี เสียงกลองมีแรงปะทะของหัวไม้ที่ตีลงบนหนังกลอง และเมื่อมีการตีฟลอร์ทอมก็พอรับรู้แรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาถึงโซฟาที่นั่งฟัง ให้รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้บ้าง และเสียงที่ไม้กลองเคาะลงไปบนหัวฉาบ ซึ่งเป็นส่วนที่หนาและแข็งกว่าส่วนอื่นของฉาบ ก็ให้เสียงที่ออกมาฉับไว สดใส กังวานอย่างที่ควรจะเป็น
ย้ายมาที่แผ่น Chie Ayado ชุด Live ที่ Montana Mini Monitor สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของเนื้อเสียงร้องที่มีความรู้สึกเป็นตัวตน มีความเป็นสามมิติ ออกมาได้น่าฟังดี เสียงร้องของป้าชิฯ อิ่ม เข้ม หนาดี กับแผ่น Star Wars VII จริงๆ ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะด้วยความที่เป็นลำโพงเล็กคงให้สเกลความใหญ่โตของซาวด์แทร็กไม่ได้เต็มที่ แต่ที่สะดุดหูคือ การถ่ายทอดลีลาการบรรเลงที่มีความรู้สึกตื่นเต้น มีชีวิตชีวา ทำให้สามารถดึงความสนใจของผู้ฟังเข้าไปในบทเพลงต่างๆ ได้ดี ต่อด้วยแผ่น Jaco Pastorius มือเบสไฟฟ้าฝีมือดีที่มาพร้อมวงในรูปแบบ Big Band เป็นบันทึกการแสดงสดในงาน Aurex Jazz Festival ’82 ด้วยความที่เสียงเบสไฟฟ้าจะเด่นที่ย่านเบสต้นจนถึงย่านกลางต่ำมากกว่าเบสลึก จึงเข้าทาง Mini Monitor มากขึ้น ประกอบกับผมลองขยับตำแหน่งนั่งฟังในห้องให้เป็นระยะใกล้เข้าหาลำโพงมากขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ระยะนั่งฟังใกล้เคียงสามเหลี่ยมด้านเท่ามากขึ้น ซึ่งก็คือ การฟังในลักษณะ Nearfield ทำให้เสียงเบสที่เคยรู้สึกว่าน้อยไปนิดออกมาหนักแน่นดีมากขึ้น จนเรียกว่าฟังสนุกขึ้นมามากทีเดียวสำหรับแนว Big Band Bass Hero แบบแผ่นนี้ ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า จุดประสงค์ของการออกแบบ Montana Mini Monitor ก็คือ การย่อเสียงของ Montana รุ่นใหญ่ๆ ให้เหมาะสมที่จะวางลงไปในห้องที่มีขนาดเล็กลง เพราะคงมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่อยากได้เสียงหนักแน่นแบบ Montana แต่ติดที่ข้อจำกัดเรื่องขนาดที่พักอาศัย ซึ่งอาจไม่เอื้ออำนวยให้ยกลำโพงตั้งพื้น ขนาดสูงท่วมหัวเข้าไปวาง ก็คงต้องพึ่งพาเสียงจาก Montana Mini Monitor ตัวนี้ น่าจะเหมาะสมกับห้องขนาดเล็กดี โดยเท่าที่กะเอาจากประสบการณ์ ถ้าคุณมีห้องขนาดไม่น้อยกว่า 4 x 6 เมตร ก็คงเล่นรุ่นตั้งพื้นได้สบายๆ แต่ถ้าห้องคุณมีด้านยาวไม่เกิน 4 เมตร แล้วอาจจะมีความกว้าง แค่ราวๆ 3 – 4 เมตร การเลือก Montana Mini Monitor เข้าประจำการก็น่าจะเป็นทางออกให้คุณได้เสียงแบบ Montana ได้อย่างลงตัวดีทีเดียว
สรุป Montana Mini Monitor เป็นลำโพงที่ให้แนวเสียงอิ่ม เข้มข้น สดกระชับ แบบเดียวกับ Montana รุ่นใหญ่ๆ เพียงแต่ย่อส่วนลงมาเพื่อ ให้เหมาะกับห้องฟังที่มีขนาดเล็กลง โดยน่าจะเหมาะกับห้องฟังขนาดราวๆ 3.5 x 4 เมตร น่าจะหวังผลออกมาได้ดี แต่ถ้ามีห้องขนาด 4 x 5 เมตรขึ้นไป คิดว่าเเพียงพอที่จะข้ามไปรุ่นตั้งพื้นได้แล้ว ซึ่งน่าจะได้แนวเสียงที่อิ่มใหญ่ตาม แบบฉบับ Montana จาก PBN Audio ได้อย่างเต็มอารมณ์มากขึ้น. ADP
ราคา 88,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Montana Thailand
โทร. 089-771-8895
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 243
No Comments