ธรรมนูญ ประทีปจินดา
STREAM, SPIN, CONNECT with… 
MARK LEVINSON No.519 AUDIO PLAYER
HIGH-RESOLUTION WIRED & WIRELESS STREAMING, NETWORK, DISC AND DIGITAL INPUTS

 เมื่อเทคโนโลยี Digital Audio เปิดกว้างก้าวข้ามข้อจำกัดในทุกด้าน เปลี่ยนผ่าน ยุคสมัย “ติดมีเดีย” เครื่องเสียงบ้านทุกเรนจ์ ไม่เว้นแม้แต่ระดับไฮเอ็นด์ก็หนีไม่พ้น และยังเป็นการก้าวข้ามเครื่องเสียงที่ประกอบด้วย… ลำโพง, แอมป์ และ เครื่องเล่น เช่นกัน 

บัดนี้ เริ่มมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น เช่น Amp/Dac, Pre/Dac, Network Player, Network Pre, ALL in One Integrated amp จนถึง All in One Player แตกแขนงเยอะไปหมด ถึงกระนั้นก็เข้าถึงนักเล่นสายอนุรักษ์ยาก เนื่องจากยังคลางแคลงใจกับ “ความเป็นไฮเอ็นด์”ตั้งหน้าตั้งตาเปรียบเทียบคุณภาพเสียงกันจัง อ้างว่าที่ยังไม่ใช่ ดิจิทัลเป๊ะเกิ้น เพราะขาดอารมณ์ หนักเข้าจนถึงขั้นที่ว่า “จังหวะยังไม่ได้” ก็เพราะคิดว่ามันมาไกลตั้งครึ่งโลกจะดีได้ไง แต่เออ… ไม่ได้ตะโกนข้ามหัวคันนานี่นา… โถๆ นับประสาอะไรกับสตรีมเสียงสองแชนเนล หนัง 4K HDR Dolby ATMOS ยังสตรีมเนียนกริ๊บกันเล้ย ดีแค่ไหนแล้วที่จะเปิดโอกาสให้กับตัวเองฟังเพลงอัลบั้มอื่นที่อาจเพิ่งรู้จักบ้าง จ่ายเงินตั้งเยอะ แต่ไม่ยอมฟังเพลง 

 เกริ่นนำมาก่อนจะเข้าเรื่อง ต่อข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธที่จะไม่เล่นไม่ได้แล้วของเครื่องเสียงในยุคนี้ แม้แบรนด์ในตำนานยังต้องปรับกลยุทธ์เพื่อสนองตอบ “ความต้องการของลูกค้า” ในยุคที่ “ลูกค้าต้องการ” จริงๆ แล้วก็เป็นหน้าที่ของวิศวกรของผู้ผลิตที่ต้องนำศักยภาพของตนเองผลิตสินค้าเพื่อตอบรับเทรนด์การใช้งานของลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งระดับเดียวกันให้ได้ แน่นอนว่าความคิดเดิมๆ คงให้ไม่ได้ ทุกอย่างต้องปรับตัวสู่จุดหมายข้างหน้าจริงอยู่ที่ท่านเป็น User จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ ถ้ายังรักที่จะเล่นกับแผ่นฟิสิคัลเห็นทีต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อเล่นแผ่นซีดีด้วยวิธีเดิมๆ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในห้าของฟีเจอร์หลักของเครื่องยุคนี้ที่ทำได้เชียวนา… ก็ในเมื่อต้องจ่ายแพง ทำไมไม่ใช้ให้คุ้ม

SPEAKS FOR ITSELF

Mark Levinson เลื่องชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์ของเสียง ML เป็นแบรนด์ไฮเอ็นด์ที่อยู่คู่วงการมาร่วมครึ่งศตวรรษแล้วครับ เน้นคุณภาพจากการออกแบบในทุกมิติตั้งแต่ต้น โดยมีปรัชญาว่า “ความสมบูรณ์แบบมิใช่เป้าหมาย แต่ต้องมาจากจุดเริ่มต้นต่างหาก” ดังนั้น วิศวกรจึงเลือกเฟ้นสิ่งที่ดีที่สุดของวัสดุอุปกรณ์ เจาะจง คัดสรร ที่มาจากทั่วโลก พวกเขามีหน้าที่ที่ต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ “แน่นอนที่ทุกคนในอุตสาหกรรมต้องมองเราต้องยกมาตรฐานขึ้นทุกครั้ง แล้วเราก็จะทำเช่นนี้อีกทุกครั้งไป แต่เราจะไม่บอกคุณแค่นั้น คุณจะได้รับประสบการณ์ในการฟังจากทุกตัวโน้ต นั่นคือปรัชญาของ ML”

Mark Levinson ตำนานเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ภายใต้ร่มเงาของ Harman International คงจะไม่หลงใหล ชื่นชมกับความสำเร็จแค่ในอดีต ปัจจุบันได้เปลี่ยนถ่ายบุคลากรในหน่วยงาน R&D ซึ่งต้องให้เครดิตกับ design director ที่ชื่อ Todd Eichenbaum อดีต VP ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Krell ซึ่งผลงานที่เข้าตาก็คือ การปรับกระบวนยุทธ์ที่ทำให้กับ Mark Levinson 500 series อันโด่งดังในอดีตให้ผงาดขึ้นอีกครั้ง 

ในสองปีหลังมานี้ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเสนอสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมถึงรักษาฐานลูกค้าเดิม และประสบความสำเร็จอย่างมากกับอินทิเกรตแอมป์แนวใหม่ No.585 ที่มาพร้อมกับการรองรับ Digital Audio เทรนด์ที่กำลังมาแรง ตามมาด้วย No.536 เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก และเพาเวอร์แอมป์ดูอัลโมโน รุ่น No.534 และเมื่อปีกลายก็ได้ออก No.526 ที่เป็น Preamp/DAC พร้อมโฟโนสเตจและแอมป์หูฟัง จากนั้นก็ถึงคิวของ No.519 Digital Audio Player ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี มีฟีเจอร์สุดจินตนาการ เป็นข้อเสนอจาก ML ที่มิอาจปฏิเสธที่จะไม่เล่นแล้วครับ

ผลิตภัณฑ์ของ ML เป็นเครื่องเสียงซูเปอร์ไฮเอ็นด์อยู่ในกลุ่ม niche สินค้าแต่ละตัวที่เพิ่งออกมาก็มีทับซ้อนกันในบาง key features ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน เช่น Mark Levinson DAC board เป็นต้น โดยนำ DAC Chip ของ ESS Sabre 32-bit converter มาออกแบบใหม่ เรียกว่าMark Levinson Precision Link DACทำงานร่วมกับภาคอะนาล็อก ‘Pure Path’ analogue line stage ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ถูกนำมาใช้ร่วมกันในรุ่น No.585, No.526 และ No.519 ในแง่ของความแตกต่างที่แยกกันได้ชัดก็คือ No.585 มีแอมป์ติดมาด้วย ในขณะที่ No.519 มี CD drive รวมถึงทีเด็ดที่ไม่เล่นไม่ได้ก็คือ ฟีเจอร์รองรับ streaming ดังที่เปิดหัวไว้ ส่วน No.526มาพร้อมกับภาคขยายหัวเข็ม MM/MC ซึ่งรุ่น No.585.5 ก็มีติดตั้งมาด้วยเช่นกัน

STREAM, SPIN, CONNECT: No.519 AUDIO PLAYER

เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ในยุคนี้ต้องพัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในยุคนี้ได้ครบทุกรูปแบบเช่นกัน แบรนด์ระดับนี้จะยอมเสียหน้าเหรอ ที่สำคัญต้องให้เสียงดี ไร้ข้อกังขาของเหล่านักเลงเครื่องเสียงรุ่นใหญ่ด้วย ยากนะ ที่พูดมาอาจยังไม่เข้าใจ ขยายความนิดซิ ประมาณว่าเครื่องตัวนั้นต้องรับมือได้ทุกความต้องการ ประมาณว่าต้องฟังได้ดีไปหมดในทุกรูปแบบ ก็เลยนำเสนอไว้ทุกช็อต เช่น มีสลอตใส่แผ่นซีดี, สตรีมได้สุดจินตนาการ ไม่ว่าจากคลังแสงส่วนตัว หรือจาก USB Drive หรือ NAS รวมถึงรองรับบริการ Cloud Services สตรีมิ่งเหมาจ่ายรายเดือนหลากหลายค่าย จัดให้ทั้งระดับโอ้ไฟล์อย่าง Tidal, Qobuz และแบบมาตรฐานฮอตฮิต Spotify, Deezer, Rhapsody และ Napster ทั้งยังมี internet radio รวมถึง podcast ก็ยังได้ ไม่มีปัญหา… เลือกเอาได้เลย 

การเชื่อมต่อ “ใช้สาย” และ “ไร้สาย” WLAN (Wi-Fi) หรือ aptX Bluetooth กินหมด เครื่องเสียงที่ว่านี้ หาใช่แบรนด์ตลาดๆ แต่เป็น Mark Levinson No.519 Audio Player โดยรองรับ high-resolution audioทะลุถึง 24bit/192kHz ( PCM) และ DSD64/128 (Native) ติดตั้งไว้พร้อมกับ DSP ที่ให้ digital filters มาด้วย เมื่อ playback ไฟล์ PCM โดยมีฟิลเตอร์ให้เลือกสามแบบ คือ… Sharp, Slow และ Minimum Phase ส่วนไฟล์ low-resอย่าง MP3 ไม่ได้แย่อย่างที่คิด ก็จัดการด้วย Harman Clari-Fi processingที่จะ ‘rebuild’ detail ที่สูญหายไประหว่างกระบวนการ compressionให้กลับคืนขึ้นมาใหม่… เริดไหม

MUSIC FOR EVERYONE

จากฐานปฏิบัติการ Harman ในแคลิฟอร์เนีย ทีมงานวิจัยพัฒนาได้ออกแบบภายใต้พื้นฐานว่าทุกวันนี้ผู้คนฟังอะไรกัน อย่างที่ทราบว่าแผ่นซีดียังอยู่บนฝาผนังจะไปทิ้งได้ยังไง อุตส่าห์เก็บสะสมมานาน ส่วนไฟล์ Hi-res ก็ให้เสียงไปไกลกว่าซีดี รวมถึง Streaming Service มีที่มาจากยุโรป และกระจายไปทั่ว ให้คุณภาพเสียงเท่าหรือดีกว่าซีดีด้วยซ้ำ มีเพลงเป็นล้านอัลบั้มให้เลือกฟัง กับค่าใช้จ่ายรายเดือนเล็กน้อย เป็นที่นิยมมากกว่าค่อนโลกไปแล้ว แถมยังมีผู้ให้บริการหลายราย มีจุดเด่นต่างกันทั้งสนนราคาให้เลือก ซึ่งได้รับความนิยมกว้างขวาง เสิร์ฟเข้ามาถึงห้องนอน จะไม่เล่นได้ไง ก็ฟังเสียให้เข็ด ดังนั้น ทีมออกแบบจึงนำเสนอเพื่อให้ No.519 ตอบสนองความต้องการของนักฟังทุกรุ่นจาก “ปู่ยันหลาน” ในสมัยที่สื่อดนตรีขยายกว้างไปสู่ผู้คนในทุกเจเนอเรชั่น ทุก “มีเดีย” ไร้ขีดจำกัด โดยมีแนวคิดที่ว่า “ไฮเอ็นด์มิใช่สงวนเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น” นี่ครับ

ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Linux ใช้ DAC ของ ESS Sabre 32-bit Reference converter ที่ให้ความสมบูรณ์แบบของรายละเอียดและไดนามิกเรนจ์ ด้วยโครงสร้างการทำงานเช่นนี้ก็จะให้คุณภาพเสียงที่มี dynamic headroom อันไร้ที่ติ

CHECK IN

ในลังที่แพ็คมาอย่างดี No.519 มาด้วยรูปทรง iconic ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Mark Levinson ก็คือ ปุ่มคอนโทรลแบบ twin-knob ที่มาในรูปทรงสปอร์ตหรู ดิสเพลย์มีขนาดใหญ่สำหรับแสดงผลการทำงาน อย่างปกอัลบั้มที่มีสีสันสวยงามอย่างหรู โครงสร้างตัวเครื่องหน้าตาคลาสสิก หนัก หนาอะลูมินั่มอะโนไดซ์สีดำขลิบเทาเมทัล สุขุม สไตล์อเมริกัน สมเป็นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์อเมริกันระดับตำนานตามสายพันธุ์ ML ที่ถูกถ่ายทอดมาจากเครื่องในอนุกรม 6000 ประณีตเพราะผลิตด้วยมือ Made in USA ตัวเครื่องค่อนข้างลึก เมื่อเทียบกับเครื่องเล่นประเภทเดียวกัน มาพร้อมรีโมตขนาดกำลังเหมาะมือ 

สำหรับการสั่งการ ผมถนัดที่จะใช้แอพที่ชื่อ ML Connect app บน smartphone หรือ tablet Apple iOS รวมถึง Google Android apps หรือจะผ่าน web browsers ในค่ายหลัก ก็สั่งการได้หมด โดยทำงานอย่างเนียนได้ดั่งใจ และใช้สั่งการคำสั่งที่ซับซ้อนได้มากกว่าด้วย สะดวกกว่าการไปก้มๆ เงยๆ ปรับที่ปุ่มบนตัวเครื่อง ซึ่งก็ทำได้เช่นกัน (เพราะผมไม่ได้วางเครื่องบนแร็ก แต่วางเครื่องในแนวราบ)

ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่า No.519 หาใช่แค่เพียง Network Audio Playerพื้นๆ เท่านั้น ทั้งยังวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เหนือกว่าตัวอื่น แน่นอนว่าค่าตัวย่อมสูงกว่าด้วย ในการออกแบบ DAC นั้น นับว่ามีความยืดหยุ่นในการใช้งานมาก สามารถปรับการทำงานให้เป็น Fixed หรือ Variable output ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นดิจิทัลปรีแอมป์ชั้นดีในทันทีที่เลือกให้เป็น enable นอกจากนั้นยังติดตั้งภาคทรานสปอร์ตแบบ slot-loading disc รองรับการเล่นแผ่นซีดี รวมถึงแผ่น CD-ROMs ที่บรรจุไฟล์ MP3 เอ่อ.. เล่นเครื่องระดับนี้ คิดว่าไม่น่าจะเล่นไฟล์ MP3 หรอกมั้ง แล้วก็รองรับการสตรีมจาก Mobile device ด้วย AptX Bluetooth เผื่อคุณลูก คุณหลาน จะเล่นด้วยนะ

UNDER THE HOOD

เอ็นจิเนียร์ของ Mark Levinson ออกแบบภาค gain stage แบบ Pure Path amplifier circuit หรือที่เรียกว่าวงจร cascode ซึ่งนำมาจากสมัยใช้กับหลอด มีคุณสมบัติในการเพิ่มแบนด์วิธ และขยายสัญญาณได้ราบเรียบขึ้น แล้วประยุกต์หลักการเดียวกันด้วยการใช้ JFET (Junction Field-Effect Transistor) สองตัว ชนิด low noise/high gain ทำงานร่วมกับ BJT (Bipolar Junction Transistor)ที่ทำงานได้ดีกับ low input impedance และ output impedance ที่สูงมาก ซึ่งจะได้ bandwidth ที่กว้าง และมีความ linear สูง จากนั้นก็นำจุดดีทั้งสองของ JFET และ BJT โดยใช้อุปกรณ์ Military grade มั่นใจได้ในความอึด สำหรับภาคอะนาล็อกเพื่อให้ทำงานเป็นปรี โดยทำงานร่วมกันกับ Precision Link DAC และภาคขยาย Headphone 

MARK LEVINSON PRECISION LINK DAC

เมื่อครั้ง Mark Levinson Precision Link DAC ถูกติดตั้งครั้งแรกใน No.585 Integrated Amplifier ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากว่าสามารถทรานสฟอร์มข้อมูลดิจิทัลเป็นเสียงอะนาล็อกได้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ทุกสำนักฟันธงว่าให้เสียงมี DNA ของเครื่องเสียง ML ที่มีเอกลักษณ์ของวงจร Pure Path เช่นเดียวกับตัวอื่นเลย รวมถึง No.519 ตัวนี้ด้วย Mark Levinson Precision Link DAC ใช้ DAC Chip จาก ESS Technologies ซึ่งเป็นผู้ผลิต Chip ที่เป็นที่นิยมมากในหมู่บริษัทผู้ผลิตในยุคนี้ ก็ต้องมาดูกันถึงการนำมาต่อยอดใช้งานที่ต่างกัน อาทิ การจัดการกับ Jitter และ Timing ซึ่งหมายถึงสัญญาณ Clock ว่าใครทำดีกว่ากัน และก็คงครอบคลุมไปถึงการนำมาใช้ร่วมกับ 32-bit resolution ของ ESS converter resynchronizes ที่จะพลาดไม่ได้เลย

Precision Link DAC ทำงานในภาค converter output ในลักษณะ current mode โดยป้อนสัญญาณแบบ fully balanced current-to-voltage (I/V) ที่จะป้อนกลับเช่นเดียวกันกับต้นฉบับ ด้วยแบนด์วิธสูงสุด โดยปราศจากความเพี้ยน จัดการ Common-mode noise ด้วย mirror-imaged ให้ได้ noise floor ต่ำมาก ส่งผลต่อคุณภาพเสียงอย่างมาก

PRECISION LINK DAC FILTERS

เสียงดนตรีก่อกำเนิดเสียงในหลายลักษณะ การสั่นไหวของเส้นสายเปียโน เสียงจากไวโอลิน อะคูสติกเบส จะเป็นจากหัวไม้กลองกระทบหนังกลองหรือสแนร์ เพื่อตอบสนองความถี่ต่อการได้ยิน รวมถึงความชอบของผู้ใช้ Precision Link DAC จะทำการ oversampling และ digital filtering ในส่วนของ digital audio data เสริมต่อเติมเต็มให้ได้ยินเสียงใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด โดยมี 3 ฟิลเตอร์ให้เลือก คือ Fast filter เป็นฟิลเตอร์ที่ลดความผิดเพี้ยนของความถี่สูง, Slow filter ที่ค่อยๆ roll-off ที่ความถี่สูงให้เสียงนุ่ม สุดท้าย Minimum Phase filterต่างจากฟิลเตอร์สองตัวบนที่กล่าวมา

HARMAN CLARI-FI® MUSIC RESTORATION TECHNOLOGY

ทำหน้าที่วิเคราะห์ compressed digital audio files ขณะเล่นกลับแบบ real time แล้ว reconstruct หรือซ่อมกลับ ซึ่งต้องใช้มือโปรมาจัดการ เช่นเดียวกับในวงการสตูดิโอใช้เลย ต้องขอบคุณ Analog Devices SHARC DSP (digital signal processor) แน่นอนมันไม่ใช่ EQ หรือ อัพแซมปลิ้งง่ายๆ หรอกนะครัชClari-Fi ฉลาดพอที่จะเติมเต็มส่วนชำรุด สูญหายในช่วง compressed ซึ่งถ้าคุณไม่ได้เล่นไฟล์ compressed ประมาณว่าเล่น Lossless หรือ Hi-Resก็ไม่จำเป็นต้องใช้หรอก bypass มันไปเลยครับ

เมื่อติดตั้งไว้ด้วย engine คือ ESS Sabre 32 Reference converter high-resolution DAC ที่เป็นพระเอกของ No.519 ซึ่งรองรับได้ถึง 9 digital inputsอันประกอบไปด้วย USB asynchronous ที่จะ stream จาก Mass storage, Gigabit Ethernet, Balanced, Optical, Coaxial รวมถึงการเชื่อมต่อจากภายนอกด้วยระบบไร้สาย WLAN (Wi-Fi ) และ Bluetooth ซึ่งเป็น aptX® technologyเพื่อให้ได้ maximum resolution จาก Mobile Devices ด้วย ซึ่งทำให้ No.519 เป็น Universal Digital Audio Playback device สมบูรณ์แบบไปโดยไม่ขัดเขิน

ด้วยเพราะ No.519 เป็นเครื่องเล่นเน็ตเวิร์กที่มีการทำงานด้วยความเที่ยงตรงแม่นยำ จึงต้องอาศัยการประมวลผลของ CPU 1GHz ARM® Cortex® multicore 32 bit processor 4GB RAM รวมถึง flash memory บนชุดปฏิบัติการ Linuxซึ่งการอัพเกรดซอฟต์แวร์ทำได้สองวิธีคือ… ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางธัมบ์ไดรฟว์ อย่างที่ทราบดีว่าดิจิทัลิออดิโอพัฒนาไปไว ไม่ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ก็จะมีการอัพเดตเป็นระยะๆ ทำให้มั่นใจได้เลยว่าเครื่องจะไม่ตกรุ่นได้ง่ายๆ

HOOK UP

No. 519 วงจรภายในออกแบบมาเต็มที่ มีสรรพคุณว่า proprietary Mark Levinson discrete, direct coupled, fully balanced, dual-monaural signalpathโดยจะปล่อยสัญญาณทั้งแบบbalanced และ single-ended analog outputs สำหรับเชื่อมต่อไปเข้าเพาเวอร์แอมป์ โดยในการทดสอบครั้งนี้ได้ใช้ No.534 เป็นเพาเวอร์แอมป์คลาส A เรียกว่าเป็นเนื้อคู่กันเลย โดยแค่ใช้ Digital Volume เจ้าNo.519 ก็จะกลายเป็น Music Center/Pre ไปในตัว เพราะมีทุกอย่างในตัวหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ปรีแอมป์จากภายนอก ประหยัดสายไปได้อีกหลายตังค์ ยิงตรงไปเข้าลำโพง Stenheim Alumine 2 ก็พอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะจริงๆ ที่ต้องใช้ปรีแอมป์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นตัวเชื่อมสัญญาณจากหลายๆ แหล่งโปรแกรมไม่ใช่เหรอ ดังนั้น ถ้าไม่มีอุปกรณ์ตัวอื่นก็ไม่ต้องใช้ แล้วก็หาสาย Lan ดีๆ ซักเส้น เน้นว่าดีๆ CAT7 หรือCAT8 ก็จะดี สตรีมจะได้ไหลลื่น เสียงดีขึ้นด้วย เพื่อความเสถียร ไม่แนะนำให้ใช้ Wi-Fi นะ และเสียงจะดียิ่งขึ้น ถ้าใช้สายไฟดีๆ ด้วยเช่นกัน

No.519 ยังใจกว้าง โดยให้มาทั้ง balanced, optical และ coaxial digital outputs เผื่อจะใช้กับ External DAC ตัวอื่นที่มีอยู่ ซึ่งต้องบอกว่าโอกาสที่จะได้ใช้คงน้อย แต่ก็มีให้ เดี๋ยวจะบอกว่าโอกาสใช้น่ะมีเหมือนกัน ที่ชอบอีกอย่างก็คือ ติดตั้ง high-performance headphone output ด้านหน้าเพื่อใช้ฟังกับหูฟังคู่โปรด ถือเป็นครั้งแรกของ ML ที่เล็งเห็นการเติบโตของ Personal Audio ในกลุ่ม HeadPhile ที่มาแรงมากในปัจจุบัน เห็นมะ! รุ่นใหญ่แค่ไหนก็ต้องเล่นหูฟัง สำหรับหูฟังที่มีอิมพีแดนซ์ 32 โอห์มก็จะแม็ตชิ่งกันดี มันเป็นโลกส่วนตัวของคนรักเสียงดนตรีเชียวนา

SHOWTIME

หลังจากติดตั้งเครื่องแล้ว ซึ่งก็มีหลายวิธี ผมใช้ของผมแบบนี้ล่ะ “อย่าเพิ่งเปิดเพาเวอร์แอมป์” ต้องมั่นใจว่าโวลุ่มถูกเปิดอยู่ในตำแหน่ง Variableและอยู่ในตำแหน่งตำ ก็เปิดเครื่อง แล้วตรวจดูตั้งค่าซักหน่อย จุดสำคัญของการเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็น No.519, NAS, Mobile Devices ที่โหลด ML Connect มาติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เน้นอย่างเดียวคือ ต้องเชื่อมวง LAN/WLAN ให้อยู่ในวงเดียวกันเท่านั้น จำชื่อ Router ของเราได้อยู่แล้ว และให้มั่นใจว่าเปิดใช้งาน Wi-Fi แล้ว จากนั้นต้องเข้าไป sign in บัญชีของ Streaming Service อย่าง Tidal, Qobuz, Spotify หรือ Deezer ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นก็เปิดแอพบนไอโฟน แล้วก็เอ็นจอยล่ะ

ด้วยตัวของ No.519 โดดๆ ไม่ต้องต่อเชื่อมอะไร ก็ต้องเล่นซีดีเป็นสิ่งแรก เมื่อใส่แผ่นผ่านสล็อต ใช้เวลาอึดใจเพื่อให้เครื่องอ่านแผ่น จากนั้นจะขึ้นแทร็กให้เลือกเล่น แสดงว่าเก็บข้อมูลไว้แล้ว การเล่นต่อไปนี้คืออ่านจากหน่วยความจำ วิธีนี้เสียงให้รายละเอียดที่ดี มีความสงัด จากนั้นเลือกแทร็ก แล้วกด Play ก็เล่นได้เลย 

ผมฟังสองสามอัลบั้ม คือ Barclay James Harvest Live ให้เสียงมีไดนามิกส์ สมจริงดีมาก เพื่อไขข้อข้องใจ ลองใส่แผ่น Norah Jones: Com away with Me (SACD) เล่นได้เฉพาะ CD layer นะ จากนั้นก็เข้าทางถนัด คือ Streaming ทั้งจาก NAS และที่ต้องเล่นคือ Streaming Service ต้องบอกว่าอัพเดตเพลงใหม่ทุกวัน ฟังกันไม่ทันเสียอีก ผมลอง Tidal, Qobuz, Spotify อย่างอัลบั้ม David Gilmour Live in Pompeii เพิ่งรีลีสเมื่อวาน ผมสั่งซื้อไปเป็น Pre-order ยังมาไม่ถึง แต่เราฟังจาก Tidal แล้ว น้ำตาจะไหล หรืออัลบั้มโอ้ไฟล์ของแม่สาว Shelby Lynne โหย…เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ส่วน Eagles นรกแช่แข็ง แผ่นดำแผ่นหนึ่งเป็นหมื่น ฟังบน Qobuz เสียงดีโค-ตร 

ทีนี้มาฟังเพลงไทยบ้าง จากศิลปินเสียงหล่อกว่าตัว ‘พลพล’ ฟังบน Spotify โดยที่มีการสั่งการได้สองวิธีคือ ผ่านแอพ ML หรือ Spotify Connect นั่นแหละ สตรีมได้ดี ไม่เกี่ยงระยะทาง อย่าคิดเยอะนะจ๊ะ นี่ถ้าต้องการติดปีกให้กับ Tidal Master ก็ต้องพึ่งอาม้าเอ๊ย… Amara 4Luxe หรือ Audirvana Plus บน MAC เสียบเข้าช่อง USB ก็จะข้ามไปอีกขั้น โดยอาจเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยลงอีกนิด ไม่ยากจนเกินไป

ทีนี้มาเล่นไฟล์ใน NAS บ้าง เลือกเล่นไฟล์ Hi-Res กัน ก็ไล่ไปเรื่อยจนถึง 24/192 แล้วก็ DSD64 (2.6M) จนมาถึง Opus3 Showcase3เป็นไฟล์ DSD128 (5.6M) เล่นได้ลื่นไหลสบายๆ ต้องบอกว่าไฟล์ Hi-Resมีความสงัดมากขึ้นไปอีก ให้เสียงมีรายละเอียด ให้เสียงเบสที่ลึก และแผ่ลงพื้นกว่าซีดีเยอะ

I LIKE HI-FI BUT LOVE MUSIC

ด้วย ML No.519 วาง Positioning อยู่แถวบนๆ ของสินค้าแนวเดียวกัน ซึ่งมีไม่มาก โดยเฉพาะแฟนของ ML เชื่อว่าในบ้านเรายังขลัง คุณลักษณะเป็นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่ออกแบบมาล้ำระดับ State of the Art ใช้อุปกรณ์ military graded ใช้กันยาวๆ ให้คาแร็กเตอร์เสียงเช่นรุ่นพี่ ML 

No.519 กับ No.534 แอมป์คลาส A แม้ตัวใหญ่ แต่กลับให้เสียงสุขุม รายละเอียดดี ไม่เน้นดุดัน เหมือน Pass Labs X350.5 ที่เคยเล่น การลงทุนไปกับ No.519 ถือเป็นการซื้อ Asset ใช้ยาวๆ กันเป็นสิบปีโดยไม่ตกรุ่น แม้ค่าตัวจะทำให้ลูกสาวแม่ยายค้อน ก็ถือว่าคุ้ม จะทำให้คุณลูกเขยแม่ยายอยู่ติดบ้าน แถมยอดสั่งแผ่นจากป่าหรือโหลดจาก HDTracks น้อยลง จนถึงเลิกสั่งไปเลย แทนที่เอาเงินไปถมกับแผ่นที่ซื้อมาแล้วก็ไม่ฟัง เพราะชอบเพลงเดียว กองเกะกะเต็มบ้าน แล้วยังฟังเพลงใหม่ได้ทุกวัน ท่องไปในโลกกว้าง จ่ายน้อยลง เอาเงินไปลงกับค่าตัวของNo.519 จะดีกว่าไหม ไม่ต้องเห็น Statement จากป่าบ่อยๆ ยอมโดนชำเลืองด้วยหางตาครั้งเดียว อ้อนๆ บีบนวดหน่อย เดี๋ยวเธอก็หาย เชื่อว่า“พ่อบ้านใจกล้า” เช่นคุณบริหารได้ ใครก็ตามที่ชอบไฮไฟ รักในเสียงเพลง แล้วยังไม่เคยสัมผัสNo.519 ก็อยากให้ยกไปลองเล่นกันดู แล้วจะหยุดเปลี่ยนเครื่องเสียง จะเลิก “เล่นเครื่อง เล่นสาย” หันมาฟังเพลงของศิลปินคนโปรด เอ้า… ฟังซะให้เข็ด. ADP

ราคา550,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด
โทร. 0-2256-0020-9

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 250