LIFE AUDIO BLACK ANT
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
สายไฟเอซี LIFE AUDIO รุ่น มดดำ (BLACK ANT)
เห็นจะต้องเรียนว่าสายไฟของนอกราคา 6 – 7 หมื่นบาท ถึงจะเอามดดำอยู่แล้วคุณเอาส่วนต่างนั่นน่ะ ไปซื้อแผ่นดีๆ มาฟังดีกว่า
ในที่สุดชาวเราก็มีสายไฟระดับสูงฝีมือคนไทยให้ชื่นชมกัน ในระดับราคาที่สมควรแก่คุณภาพเป็นอย่างยิ่ง หากคุณเป็นคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการเครื่องเสียงสักหน่อย จะเห็นว่ามีชุดเครื่องเสียงชุดใหญ่หลายต่อหลายชุดที่เสียบสายไฟยี่ห้อ Life Audio อยู่ และที่น่าฉงน คือ เจ้าของชุดเครื่องเสียงเหล่านั้นเคยใช้สายไฟของนอกค่าตัวสูงจัดอยู่แต่ก่อน เหตุไฉนจึงมีอันต้องเปลี่ยนมาเป็นสายไทยยี่ห้อน้องใหม่รายนี้ มันจะต้องมีอะไรดีมากไปกว่าฝีมือการขายของแน่นอน
สายไฟเอซี Life Audio มี 4 รุ่นในขณะนี้ คือ มดดำ, มดแดง, รุ่นคลาสสิก (กลาง) และรุ่น REFERENCE 3 (หัวท้ายสีทอง)
รุ่นที่ผมทดสอบอยู่จัดเป็นสายระดับเริ่มต้น คือ มดดำความต่างกับ มดแดง คือ ใส่หัว WATTGATE 330i และท้ายปลั๊ก IEC WATTGATE รุ่น 350i มาให้ (รุ่นเคลือบทอง) แต่ถ้าเป็นมดแดงหัว/ท้ายจะเป็นยี่ห้ออื่นที่ย่อมเยากว่าลงมาหน่อย และที่หัวและท้ายจะใช้อะลูมิเนียมบล็อกสีดำหรือแดงสวมครอบเอาไว้
ตัวนำเป็นทองแดงบริสุทธิ์ ปลอดออกซิเจน (OFC) ผสมทองคำหุ้มฉนวน PE ในแต่ละเส้น ตีเกลียวกันมาตลอดเส้น โดยแบ่งเป็น 7 เส้น จับเข้าขั้ว L 3 เส้น เข้า N 3 เส้น และชุดกราวด์ 1 เส้น แล้วหุ้มด้วยชีลด์ไนลอนป้องกันไฟฟ้าสถิตอีก 2 ชั้น ความพิเศษของสายอยู่ที่เทคนิคภายใน เพราะตัวนำนั้นจะมีฉนวนอากาศห่อหุ้มอยู่ก่อน โดยที่ฉนวนชั้นแรกไม่ได้หุ้มให้ติดตัวนำและตัวโครงสร้างฉนวน PE จะมีความแข็งแรง สามารถดัดตัวได้มากพอสมควร โดยที่ไม่ส่งผลกระทบไปถึงตัวนำภายใน นอกจากนั้นยังมีการใช้วัสดุเงินบริสุทธิ์ไครโอเจนิกมาช่วยจูนเสียง บวกกับเทคนิคลับเฉพาะของ Life Audio ที่ผู้ผลิตไม่ยอมเปิดเผย ทำให้สายไฟเส้นนี้ทะยานขึ้นไปอยู่ในตลาดเครื่องเสียงระดับบนได้อย่างไม่อายใคร
นอกจากนั้น ผมยังสืบทราบมาว่า ตัวนำ7 เส้นที่อยู่ภายในนั้นน่ะ คัดเลือกมาจากหลายแหล่งเพื่อแม็ตชิ่งกันให้ได้เสียงออกมาลงตัวที่สุด แบบนี้ฝรั่งมีงง เพราะการผลิตสายไฟระดับ Mass Market ไม่สามารถทำได้แน่นอน นี่เป็นข้อได้เปรียบของสาย Life Audio อีกประการหนึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วดูไม่ออก ครับว่า Life Audio เป็นสายทำในไทย โดยคนไทย วัสดุที่ใช้ การออกแบบ ฉนวน ดูดีลงตัวมาก เสียบลงไปในชุดแล้วไม่อายเพื่อนฝูงแน่นอน
ผมทำการเบิร์นอินอยู่ราว 10 ชั่วโมง เสียงเริ่มอิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผมรอให้การ เว้นระยะห่างของชิ้นดนตรีเป็นอิสระ ไม่ติดกัน เป็นพรืด จน 30 ชั่วโมงไปแล้วครับ ทุกอย่างนิ่ง พร้อมให้จับประเด็นมารีวิว โดยที่ผมเสียบมันลง ไปกับเพาเวอร์แอมป์ Parasound A21 สายไฟคู่ เทียบมี JPS: Aluminata, Hifidelity: Reference และ Zensonice: Cloud เรียกว่าชกกันข้ามรุ่นให้ เห็นชัดๆ กันไปเลยครับ ว่า Life Audio จะอัดฉีด คุณภาพออกมาได้แค่ไหน
สิ่งที่ผมค้นพบคือ ถ้าไม่ฟังเปรียบเทียบกับ สายเทพๆ แล้ว ยากมากที่จะบอกบุคลิกของมดดำออกมาได้ เพราะมันให้ความเป็นดนตรีได้อย่าง ไพเราะเพราะพริ้ง เนื้อมวลเข้มข้น เรื่องพละกำลัง นี่หายห่วงได้ครับ มันเรียกกำลังแฝงมาให้แอมป์ ได้อย่างพอเพียงหายห่วง “มีพลัง แต่ไม่บ้าพลัง” คือจังหวะไหนควรมีก็จะปลดปล่อยออกมาให้ ชนิดที่เหลือกินเหลือใช้ จังหวะไหนควรจะเบา เขาก็จะไม่เดินทะเล่อทะล่า ซุ่มซ่ามผิดกาลเทศะ เด็ดขาด เบสของมดดำปรากฏออกมาเป็น ลูกใหญ่ๆ อิมแพ็คหนักหน่วง จังหวะการโรลออฟ ทำได้ดีมีการกระเพื่อมตามเบาๆ เสียงกลางและ เสียงร้องนี่ดีกว่ารุ่นมดแดงมากพอที่หูเก่าหรือ หูใหม่น่าจะฟังออกกันง่ายๆ ในจุดนี้ ผิวเสียง เกลี้ยงเกลาไร้เกรนหยาบ มีความอิ่มเนื้อ รู้สึกว่า มวลเข้มข้น และให้อิมเมจออกมาค่อนข้างใหญ่ พูดถึงอิมเมจ ลักษณะของสายเส้นนี้ไม่เน้นโฟกัส คมกริบ แต่จะมีความชัดลึกแบบเป็นธรรมชาติ เหมือนดูหนังที่ถ่ายด้วยฟิล์มไม่ใช่ดิจิทัลอะไร ประมาณนั้น การเว้นวรรคช่องว่างช่องไฟระหว่าง ชิ้นดนตรีถือว่าสอบผ่านสบายๆ โทนเสียงอยู่ ระหว่างอบอุ่นและหวานใส แบบนี้หูคนทั่วไป จะชอบ เพราะมันฟังสบายๆ มีเบส มีกลางต่ำให้รายละเอียดได้ครบครัน ในขณะที่แหลม ไม่จัดจ้านเฟี้ยวฟ้าว ไดนามิกสวิงได้กว้างมาก ไอ้ที่ยังขัดใจผู้ทดสอบหูขึ้นสนิมคนนี้อยู่นิดๆ คือ อยากได้เสียงแหลมตอนปลายที่เปิดโล่ง ทอดประกายออกมาได้ยาวกว่านี้ ซึ่งพอผมได้ ลองฟังรุ่น Classic ของเขาก็มีอันหายอยากทันที เพราะไอ้ที่ว่ามดดำมันยังกั๊กๆ ปล่อยของออก มาได้ไม่เต็มที่น่ะ มันไปปรากฏอยู่ในรุ่น Classic หมด ซึ่งสนนราคาก็กระเทือนกระเป๋าสตางค์ มากขึ้นอีกพอควร
สรุป
สายไฟ Life Audio รุ่นมดดำเป็นสายที่ดี คุ้มราคาอย่างไม่สงสัย ผมดีใจมากที่คนไทยทำสาย ออกมาได้ดีขนาดนี้ หากคุณยังสงสัยว่า ขนาดนี้น่ะ มันขนาดไหน เห็นจะต้องเรียนว่าสายไฟของนอก ราคา 6 – 7 หมื่นบาท ถึงจะเอามดดำอยู่ แล้ว คุณเอาส่วนต่างนั่นน่ะ ไปซื้อแผ่นดีๆ มาฟังดีกว่า ไหมครับ. ADP
TAKT EQUITOP
อุปกรณ์เสริมใช้วางทับบนเครื่องเสียง หลักการทำงานอย่างเดียวเลย คือ ลดแรงสั่นสะเทือนในตัวเครื่อง และที่มาจากสภาพแวดล้อมภายนอก เฮ้ย!!! ทำไมมันเล่นง่ายจังอะ แบบนี้เอาขวดพลาสติกไปวางก็ได้มั้ง ผมคิดแบบคนที่ไม่ยอมเสียเงินง่ายๆ (ในยุคไทยแลนด์ 4.0) อีตาคุณปิดซะนะส่งหลอดด้ายอะไรมาให้ทดสอบเนี่ย เห็นทีจะได้ส่งกลับแล้วแน่แท้ เอาเถอะ ไหนๆ ของมันก็มาถึงห้องแล้ว ผมเปิดกล่องหยิบ Equitop ตัวเล็กออกมา ยังไม่ทันมองมันชัดๆ เลย เห็นแว้บๆ ว่าเป็นพลาสติกแข็งๆ บนฝามีจุดโลหะสีเงินเล็กๆ ติดอยู่ ผมวางมันลงไปบน CD Transport: Esoteric P-70 ซึ่งตัวถังหนาหนักมาก ด้านล่างมีเดือยแหลมพร้อม Spike-Cup ที่ใส่มาจากโรงงานอยู่แล้ว อึ๊ยยย!!!… เสียงเปลี่ยนแฮะ (ผมฟังแผ่น Breakin Silence ของ Janis Ian) ลองหยิบ Equitop ออก อ้าว! ไอ้ที่ย้ำหัวโน้ตชัดเจน ไดนามิก คอนทราสต์สวยๆ กลับวูบหายไปเฉยเลย คราวนี้ผมเริ่มทดลองหาที่วางจุดที่ดีที่สุด ซึ่งตามคู่มือการใช้งานแผ่นเล็กๆ ที่ให้มาในกล่อง บอกว่าให้เริ่มต้นวางลงบนตำแหน่งกึ่งกลางของเครื่องเสียงก่อน แล้วขยับทีละนิดๆ จนได้ตำแหน่งที่เสียงดีที่สุด แบบนี้ใช้กับเครื่องเล่นบลูเรย์ได้แน่นอน 100% ครับ เพราะส่วนมากตัวถังบางและเบา Equitop จะให้ผลต่างได้มาก แถมผมยังเล่นพิเรนทร์เอา Equitop ไปวางทับแผ่นเสียง โดยครอบลงไปเหนือ Spindle ได้ผลดีกว่า Disc Clamp หลายๆ ตัวอีกครับ
ผู้ผลิตเขาแนะนำว่า คุณควรจะเลือกใช้ Equitop (ตัวเล็กมีจุดโลหะบนฝา) และ Equitop H (ตัวใหญ่ไม่มีจุดโลหะ) ให้เหมาะสมตามขนาดน้ำหนักของอุปกรณ์ที่จะวางทับด้วย ดังตารางข้างล่างนี้
รูปร่างของ Equitop มองแล้วเหมือนหลอดด้ายเย็บผ้า แกนกลางทำด้วยอะคริลิกกลวงสีชาวขุ่น ส่วนบนฝาและฐานล่างเป็น duralumin และยังเติม T.M.D. ซึ่งผมสารภาพว่า ไม่ทราบว่ามันคืออะไร พยายามหาข้อมูลเพิ่ม กลายเป็นชื่ออาการผิดปกติของขากรรไกร ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันด้วย ยังไงก็ตาม ผู้ผลิต Equitopบอกว่า อุปกรณ์ของเขามีเจ้า T.M.D. รวมอยู่ด้วย เพื่อขจัดแรงสั่นสะเทือน และคุณควรเลือกใช้ Equitop ให้เหมาะสมกับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องเสียงตามที่เขาระบุมา ซึ่งวางได้ทั้งเครื่องเล่นซีดี, เพาเวอร์แอมป์, ลำโพง แม้แต่ซับวูฟเฟอร์ก็ยังวางแล้วได้ผลดีขึ้น
หากคุณยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะลองใช้ Equitop ผมขอแนะนำว่าให้เริ่มจากตัวเล็ก 1 ตัวครับ ลองวางมันลงไปบนเครื่องเล่นซีดี หรืออินทิเกรตแอมป์ โดยให้ด้านที่มีจุดโลหะอยู่บน อาจจะทดลองวางตรงกึ่งกลาง แล้วขยับย้ายจุดไปทีละนิดๆ ผลที่ได้รับคือ มวลเสียงเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้โฟกัสชัดเจน เวทีเสียงสงัดมากขึ้นเล็กน้อย ที่วิเศษมากคือ การแยกระดับตื้นลึก หรือฉีกออกข้าง สัมผัสได้ง่ายโดยไม่ต้องเพ่งพินิจกันแทบเป็นแทบตาย ส่วนดุลน้ำเสียงเจ้านี่มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สมควรจะเป็นแล้วครับ
อานิสงส์อีกประการของการใช้ Equitop คือ คอนทราสต์ของเสียงดีขึ้นอย่างน่าพอใจ การยำหัวโน้ตหนัก-เบา, อ่อน-แก่ การเอื้อนหรือลากเสียงซึ่งเป็นระดับ Micro Detail นี่สามารถติดตามได้โดยง่ายนะครับ ประการนี้ผมต้องยกย่องว่า คนทำออกมาได้ ไม่ใช่มั่ว หรือฟลุคอย่างแน่นอน. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 247
No Comments