KEF
Q Concerto Meta
A Classic Reborn


ตอนที่นั่งหาข้อมูลเพื่อเขียนบทนำของลำโพงคู่นี้ ผมไปสะดุดกับสโลแกนเปิดตัวของ KEF Concerto ในปี 1969 เข้าอย่างจัง ผมว่ามันเป็นคำโฆษณาฉลาดๆ ด้วยการจิกกัดตัวเองเบาๆ ได้อย่างมีชั้นเชิง เขาเขียนไว้ประมาณว่า..
“ลำโพง KEF BBC Monitor จะตอบสนองความต้องการของคุณได้อย่างสมบูรณ์ด้วยประสิทธิภาพที่รองจากเสียงจริงเท่านั้น แล้วอะไรที่ทำให้คุณลังเล? คงไม่พ้นราคา 400 ปอนด์นั่นแหละ”
ราคา 400 ปอนด์ เมื่อปี 1969 นั้นถือว่าแพงหูฉี่ เทียบคร่าวๆ กับค่าเงินในปัจจุบันต้องมีไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท ลำโพงที่ว่านี้ก็คือ BBC Monitor LS5/1A ซึ่ง KEF รับหน้าที่ผลิตแต่เพียงผู้เดียวให้ BBC นั่นเอง

Figure 1: BBC Monitor LS5/1A
สาเหตุที่แพงเพราะ LS5/1A เป็นลำโพงระดับสตูดิโอมืออาชีพขนาดใหญ่ ผลิตจำนวนจำกัด ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อน และออกแบบตามมาตรฐานอันเข้มงวดของ BBC ใช้วูฟเฟอร์ Goodmans ขนาด 15 นิ้ว ร่วมกับทวีตเตอร์ Celestion อีกสองตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ต้นทุนสูงกว่าลำโพงทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากที่ Raymond Cooke ผู้ก่อตั้ง KEF ผลิต LS5/1A ให้กับ BBC เขามองเห็นโอกาสจากโจทย์นี้ และต้องการพิสูจน์ว่า ลำโพงขนาด 15 นิ้ว ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายทอดเสียงต่ำถึง 20 เฮิรตซ์
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา “The Concerto” ลำโพงบ้านรุ่นแรกของบริษัทที่ผสมผสานนวัตกรรมจากลำโพงสตูดิโอมืออาชีพเข้ากับการออกแบบที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

Figure 1: KEF the Concerto
The Concerto ออกแบบเป็น 3 ทาง ใช้ไดรเวอร์ของ KEF เองทั้งหมด ประกอบด้วยทวีตเตอร์โดม กับมิดเรนจ์ขนาด 5 นิ้ว เพื่อเน้นย่านเสียงร้องอันเป็นหัวใจสำคัญของดนตรี แล้วเสริมด้วยวูฟเฟอร์รูปทรงรีที่ Cooke เรียกว่า “racetrack” ทำให้ตู้ไม่เทอะทะเกินไป
นับเป็นการปฏิวัติการออกแบบลำโพงในยุคนั้นที่มักต้องพึ่งตู้ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้เบสคุณภาพ ลำโพงรุ่นนี้สามารถสร้างยอดขายต่อเนื่องให้ KEF ยาวนานเกือบ 8 ปี
The Concerto เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาลำโพงรุ่นต่อๆ มาของ KEF เช่น ซีรี่ส์ Reference และรุ่นอื่นๆ ที่ยังคงใช้แนวคิดนี้เป็นรากฐาน รวมถึงลำโพงบุ๊คเชลฟ์รุ่นพิเศษ “KEF Q Concerto Meta” ที่ผลิตขึ้นล่าสุดเพื่อรำลึกถึงความคลาสสิคของลำโพงรุ่นนี้
คุณสมบัติ
Q Concerto Meta เป็นลำโพงบุ๊คเชลฟ์ตู้เปิด มีพอร์ตเบสทรงกลมอยู่ด้านหลัง ตัวตู้ทรงสี่เหลี่ยมหน้าแคบแต่ลึก โครงสร้างเป็น MDF คาดโครงเสริมภายใน แบ่งพาร์ติชันเพื่อป้องกันการรบกวนระหว่างไดรเวอร์ ลองเอานิ้วเคาะดูเป็นเสียงทึบสั้นๆ แสดงถึงการควบคุมแรงสั่นสะเทือนที่ดี
สีของตัวตู้เป็นสีขาว white satin มีผิวกึ่งเงากึ่งด้าน พร้อมหน้ากากแม่เหล็ก ให้ความรู้สึกนุ่มนวล หรูหรา และสง่างาม โดยส่วนตัว ผมชอบมากกว่าผิวแบบไฮกลอส เพราะไม่เกิดรอยขนแมว และไม่มีเงาสะท้อนจากตัวตู้รบกวนสายตา เหมาะกับการตกแต่งแบบมินิมัล หรือดีไซน์เรียบๆ แต่มีรสนิยม

Q Concerto Meta เป็นลำโพงบุ๊คเชลฟ์ 3 ทาง รุ่นแรกของ Q Series ทำให้แต่ละย่านความถี่ถูกจัดการโดยไดรเวอร์แยกกัน (ทวีตเตอร์ / มิดเรนจ์ / วูฟเฟอร์) ช่วยให้เสียงมีความชัดเจนและสมดุลมากขึ้น รวมถึงมีการอัพเดตรูปแบบการจัดวางและออกแบบภายในของลำโพงใหม่หลายส่วน
- ไดรเวอร์ Uni-Q Array เจเนอเรชั่นที่ 12 พร้อม MAT
- Flexible Decoupling Chassis ลดการสั่นสะเทือนระหว่างไดรเวอร์และตู้
- เพิ่ม Shadow Flare รอบ Uni-Q ลดการเลี้ยวเบนของเสียง
- การขยับช่วงชักของวูฟเฟอร์ปรับแต่งด้วย FEA เพื่อความเป็นลิเนียร์
- ตู้แบบ Optimised Cabinet Loading เสริมการตอบสนองย่านต่ำ
- พอร์ตเบสวางตำแหน่งเหมาะสม ปรับด้วย CFD ลดเรโซแนนซ์
- ปรับครอสโอเวอร์ให้เหมาะกับมุม off-axis และอะคูสติกของห้องทั่วไป
ไดร์เวอร์ของ Q Concerto Meta
รุ่นนี้ใช้ Uni-Q ไดรเวอร์ เจเนอเรชั่น 12 มิดเรนจ์เป็นกรวยอะลูมิเนียมขนาด 4 นิ้ว มีทวีตเตอร์ขนาด 0.75 นิ้ว ฝังอยู่ตรงกลาง แถมด้วย Tangerine waveguide ทรงเกลียวใบพัดที่ช่วยรีดเสียงแหลม โดยไม่ต้องเพิ่มกำลังขับ

จุดเด่นของ Uni-Q คือให้ความเป็น point source สูงมาก ดุจเสียงกลางแหลมออกมาจากจุดกำเนิดเสียงเดียวกัน ทำให้มีการตอบสนองที่ราบเรียบทั้งบนแกน on-axis และนอกแนวแกน off-axis โดยเฉพาะระนาบแนวตั้ง นอกจากนี้ยังมี sweet spot ที่กว้าง ไม่จำเป็นต้องนั่งฟังตรงกลางระหว่างลำโพงถึงจะได้คุณภาพเสียงดีที่สุด
ทีมวิศวกรของ KEF ปรับปรุงการทำงานในช่วงความถี่กลาง ซึ่งครอบคลุมความถี่หลักของเสียงพูดมนุษย์และเครื่องดนตรีหลายชนิด ให้เกิดความเพี้ยนน้อยที่สุด และแบ่งภาระของการทำงานย่านความถี่ต่ำไปยังวูฟเฟอร์ไฮบริดกรวยกระดาษประกบอลูมิเนียมขนาด 6.5 นิ้ว ที่ขยับอย่างแม่นยำด้วยการเคลื่อนที่แบบลูกสูบ
MAT เทคโนโลยีดูดซับคลื่นเสียงสุดล้ำ

MAT (Metamaterial Absorption Technology) เป็นการใช้วัสดุสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างที่คล้ายกับเขาวงกต ทำหน้าที่ดูดซับคลื่นเสียงด้านหลังทวีตเตอร์ได้ถึง 99% โดยใช้ปริมาตรตู้เพียงเล็กน้อย
ซึ่ง MAT ที่ใช้ใน Q Concerto Meta ถูกพัฒนาให้มีโครงสร้างแบบชั้นเดียว มีความซับซ้อนน้อยกว่ารุ่นที่ใช้ในรุ่นเรือธงอย่าง Blade แต่ยังคงประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงกัน เป็นความพยายามของ KEF ที่จะยกระดับลำโพงระดับกลาง (mid-tier) ให้มีเทคโนโลยีจากรุ่นท็อป ในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เทียบกับ Q Series รุ่นเก่าที่ไม่มี MAT เสียงจาก Uni-Q จะชัดเจนและโปร่งใสขึ้น เช่น การดีดกีตาร์จะได้ยินการสั่นของสายแต่ละเส้นชัด หรือเสียงร้องที่มีช่องว่างระหว่างโน้ตเด่นขึ้น
สเปค
- ความต้องการกำลังขับ: 15-180 W
- ความถี่ตอบสนอง: 48 Hz – 20 kHz (±3 dB)
- อิมพีแดนซ์: 4 Ω (min. 3.2 Ω)
- ความไว (2.83V/1 m): 85dB
- จุดตัดแบ่งความถี่เสียง: 430Hz, 2.9kHz
- ขนาดตู้ (สูง x กว้าง x ลึก): 415 x 210 x 315 mm
- น้ำหนักตู้: 9.5 kg
เซ็ตอัพ
ลำโพงวางบนขาตั้ง Atacama HMS 1.1 สูง 24 นิ้ว ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เหมาะสมสำหรับลำโพงคู่นี้ ระยะห่างกันประมาณ 179 ซม. ลำโพงคู่นี้ชอบมุมโทอินสักหน่อยราว 10-15 องศา แล้วคุณจะได้อิมเมจที่คมชัดเป็นสามมิติ มีรูปวงด้านกว้างลึกที่ได้สมดุล รวมถึงการควบคุมย่านทุ้มที่ราบรื่นจรดย่านทุ้มลึก
ในกล่องแถมปลั๊กโฟมอุดพอร์ตเบสมาให้ (ปรับได้ 2 ระดับ) ในกรณีที่จำเป็นต้องวางลำโพงชิดผนังด้านหลัง/ด้านข้าง ใกล้กว่า 50 เซนติเมตร แต่ในการเซ็ตอัพตามปกติไม่จำเป็นต้องใส่
ด้วยความที่ Q concerto Meta เป็นลำโพงที่ถูกปรับจูนเรื่องการกระจายเสียงให้เหมาะสมกับสภาพอะคูสติกส์ในห้องทั่วไปมาตั้งแต่แรก นั่นแปลว่าคุณแทบไม่ต้องทำทรีตเม้นต์ด้านอะคูสติกส์ใดๆ เป็นพิเศษเลย
ลำโพงคู่นี้ชอบอยู่ในห้องที่มีสภาพอะคูสติกส์ไปทาง live หรือมีความก้องสะท้อนบ้างนิดหน่อย จะได้สมดุลเสียงและความมีชีวิตชีวา มากกว่าอยู่ในห้องที่มีอัตราดูดซับเสียงสูงอย่างชัดเจน
เอาเป็นว่าใครเล่นลำโพงคู่นี้ ลองพิจารณาพื้นที่รอบๆ บริเวณลำโพงว่ามีปริมาณของวัสดุซึมซับเสียงมากเกินไปหรือเปล่า เช่น ฟองน้ำซับเสียง, ผ้าม่านหนาๆ ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่า โทนเสียงหนักไปทางทุ้ม ย่านเสียงกลาง-แหลมไม่ค่อยเปิดเผย ลองปรับหรือเอาพวกวัสดุซับเสียงออกไปบางส่วน


ลำโพงคู่นี้มีความไวค่อนข้างต่ำ นั่นแปลว่าเราต้องบิดโวลุ่มมากกว่าปกติเพื่อให้ได้ระดับความดังเท่ากับลำโพงที่มีความไวประมาณ 88-90 dB แต่ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะค่าอิมพิแดนซ์ของลำโพงนั้นสวิงตัวน้อย แทบไม่เป็นภาระในการจ่ายกำลังสำรองของแอมป์
ถือว่า Q Concerto Meta ให้ความยืดหยุ่นในการจับคู่แอมป์โซลิดสเตทค่อนข้างสูง (ยังไม่มีโอกาสลองกับแอมป์หลอด)
ตอนขับด้วยอันทิเกรตแอมป์ Bryston B60 ซึ่งเป็น class AB จะได้โทนของความอบอุ่นที่ชัดเจน มวลเสียงที่เข้มขัน โดยที่ยังคงจุดเด่นเรื่องความใสและรายละเอียดของลำโพงเอาไว้ได้อย่างดี หรืออินทิเกรตแอมป์ class D ตัวเล็กๆ ที่ใช้ชิป TPA3255 ก็สามารถขับได้ดี แต่เนื้อเสียงจะกะทัดรัดลงมาบ้างตามระดับราคา
สิ่งที่ควรเน้นคือ คุณภาพของวัตต์ไม่ใช่ปริมาณ ถ้าห้องไม่เกิน 20 ตารางเมตร แอมป์คุณภาพดีที่มีกำลังขับกลางๆ สัก 50-80 วัตต์ก็ขับสบาย แต่ถ้าต้องการไดนามิกที่สวิงตัวเต็มที่และเล่นได้ดังสำหรับห้องค่อนข้างใหญ่ แนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับสัก 100 วัตต์ขึ้นไป
เสียง
จากการทดลองฟังหลังแกะกล่อง ลำโพงคู่นี้ให้โทนัลบาลานซ์ดีตั้งแต่แรกใช้งาน และจะคงที่เมื่อใช้งานต่อเนื่องผ่านไป 24 ชั่วโมง โดยย่านกลางแหลมเริ่มกลมกลืนกับเสียงทุ้มเป็นเนื้อเดียว มีความราบรื่นตลอดย่านความถี่
สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากของลำโพงคู่นี้ คือการผสมผสานระหว่างความเที่ยงตรงกับความอบอุ่นเป็นดนตรีที่ไม่รุกเร้าหาคนฟัง แล้วยังให้ความโปร่งสะอาด มีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจนดีเยี่ยม รายละเอียดหยุมหยิมแผ่วเบาต่างๆ ไม่ถูกกลบด้วยเสียงรบกวนจากองค์ประกอบของตัวลำโพงเอง ทำให้การใช้แอมป์กำลังขับปานกลางก็สามารถผลักดันรายละเอียดออกมาได้อย่างน่าประทับใจ มีคุณสมบัติทางเสียงหลายประเด็นที่ทำได้โดดเด่นไม่น้อยหน้ารุ่นพี่อย่าง R3 Meta

timbre ดี คือฟังแล้วรู้ทันทีว่า เสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน หรือเสียงร้องที่คาบเกี่ยวระหว่างโน้ตสูงหรือต่ำสุดของช่วงเสียงนักร้องชายหญิง เวลามีดนตรีหลายชิ้นจะน่าฟังมาก เพราะสามารถแยกสีสันเฉพาะตัวของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจนไม่สับสน “Take Five” อัลบั้ม Time Out เสียงกลองของ Joe Morello กระชับ ชัดเจน แฝงความนุ่มนวล ขณะที่แซ็กโซโฟนของ Paul Desmond สดกัดหูและอบอุ่นผสมผสานกัน
เสียงแหลมให้ความสงัดรอบตัวโน้ตดี เก็บเศษเสียงไม่ให้ฟุ้ง ทำให้เผยบรรยากาศบางเบาที่ถูกบันทึกไว้ออกมาได้ชัด โดยที่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองความถี่สูงระดับไฮเรสแต่อย่างใด เสียงไวโอลินเดี่ยวของ Anne-Sophie Mutter อัลบั้ม Beethoven: Triple Concerto & Symphony No.7 (Live) มีความใสละเอียดอ่อน โดยไม่รู้สึกถึงความคมหรือแหลมบาดหู


เสียงกลางชัด เปิดโปร่งและลอยเด่น แม้ดนตรีจะมีเลเยอร์ที่ซับซ้อนมากๆ ก็ยังได้ยินตัวเสียงที่ขึ้นรูปมีรายละเอียดครบถ้วนและฟังสบาย นับเป็นจุดเด่นสำคัญของลำโพงรุ่นนี้ “The Chain” อัลบั้ม Rumours ของ Fleetwood Mac เสียงร้องประสานยังคงลอยเด่นท่ามกลางเบสหนักและกีตาร์หลายชั้น ไม่ถูกกลบด้วยเสียงทุ้มเลย แสดงถึงความสามารถในการแยกแยะเลเยอร์ดนตรีได้อย่างน่าประทับใจ และไม่ใช่มีดีแค่ย่านเสียงกลางแหลมเท่านั้น แต่ย่านทุ้มก็มีประเด็นให้กล่าวถึงอีกไม่น้อย
Bryston B60 น่าจะเป็นคู่หูที่สมบูรณ์แบบของ Q Concerto Meta ก็ว่าได้ เข้ากันดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยอย่างแท้จริง เนื่องจากใช้อินทิเกรตแอมป์ 60 วัตต์ ขับเท่านั้น ก็ให้เสียงทุ้มที่ทรงพลังอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับขนาดวูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ผมถือว่าเป็นเสียงทุ้มที่มีคุณภาพโดดเด่นมากสำหรับลำโพงในระดับราคานี้
โดยธรรมชาติของลำโพงบุ๊คเชลฟ์สองทางทั่วไป ส่วนใหญ่ต้องใช้แอมป์กำลังขับสูงเพื่อให้ได้เสียงทุ้มที่มีพลัง มีน้ำหนัก ยิ่งกับลำโพงชั้นครูบางรุ่น ถ้าอยากสัมผัสคุณภาพเสียงทุ้มพิสดารพันลึก ท่านว่าต้องลงทุนกับแอมป์ราคาสูงกว่าหลายเท่าถึงจะได้เห็นเนื้อแท้

กลับกัน Q Concerto Meta แสดงคุณภาพเสียงทุ้มออกมาได้ง่ายๆ เสียงกลองจีนใบใหญ่จากแทรค “Poem of Chinese Drum” หรือเสียงคิกดรัมที่จงใจมิกซ์ให้อิ่มหนักกว่าปกติในแทรค “Hotel California” อัลบั้ม Hell Freezes Over ทิ้งตัวลงต่ำได้น้องๆ การเสริมซับวูฟเฟอร์ แถมลงได้ลึกอย่างเพียงพอ ไม่รู้สึกว่าทุ้มลึกแผ่วแบบลำโพงบุ๊คเชลฟ์ทั่วไป มีทั้งน้ำหนักและความฉับพลัน ช่วงหางเสียงที่กระเพื่อมเป็นระลอกวิ่งแผ่ลงพื้นก็มีความสะอาดและเก็บตัวได้เด็ดขาด
เหมือนผู้ผลิตตั้งใจจูนย่านเสียงทุ้มต้นแถวๆ 100 เฮิรตซ์ ให้มีสีสันขึ้นเล็กน้อย ฟังแล้วรู้สึกว่ามีอิมแพ็ค ไม่ได้ราบเรียบเหมือนกับรุ่นพี่อย่าง R3 Meta เสียทีเดียว ซึ่งก็ไม่ได้เกินเลยจนเสียโทนัลบาลานซ์ ให้ความฉับพลันของหัวโน้ตได้ดี ทำให้ลำโพงคู่นี้ฟังสนุก มีชีวิตชีวามากขึ้น
แสดงไดนามิกทั้งฉับพลันและต่อเนื่องออกมาได้ค่อนข้างครบเครื่อง แทรค “Sweet Child O’ Mine” ของ Guns N’ Roses เสียงเบสและกลองชุดมีพลังหนักแน่น ขณะที่ริฟฟ์กีตาร์ของ Slash ยังคงคมชัดและไม่ถูกกลบ


อิมเมจในเวทีเสียงมีความสม่ำเสมอ การแสดงตำแหน่งของเครื่องดนตรีและนักร้องมีความแม่นยำและมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน และให้มิติด้านสูงชัดเจน ไม่ใช่เพียงด้านกว้างและลึกเท่านั้น
รูปทรงเวทีเสียงเป็นทรงรี ด้านกว้างโดดเด่นมากที่สุด บางแทรคมีเสียงลอยห่างจากลำโพงเกือบเมตร ตามด้วยด้านลึกที่ลดหลั่นลงไปเป็นชั้นๆ และด้านสูงที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน
อัลบั้ม The Dark Side of the Moon ท่อนอินโทรแทรค “Time” เสียงนาฬิกาปลุกและระฆังที่กระจายไปรอบๆ เวทีเสียงกว้างขวางชัดเจน เสียงกลองและกีตาร์ที่ค่อยๆ เข้ามาในชั้นลึกมีระยะห่างที่สัมผัสได้
สรุป
ในยุคที่ลำโพงบุ๊คเชลฟ์มีตัวเลือกมากมาย การตัดสินใจเลือกคู่ที่ใช่อาจดูท้าทาย แต่ KEF Q Concerto Meta ตอบโจทย์ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน มันผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง Uni-Q และ MAT เข้ากับราคาที่ไม่พุ่งสูงเกินเอื้อม ตอบสนองความถี่ครอบคลุมการฟังเพลงได้หลากหลายแนวกว่า LS50 Meta ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน
เหมาะสำหรับคนที่อยากได้ลำโพงคุณภาพสูงที่ทำงานได้ดีในห้องทั่วไป ไม่ต้องลงทุนปรับอะคูสติกส์มาก และคุ้มค่าในระยะยาว แค่มีแอมป์ดีๆ สักตัว (50-100 วัตต์) ก็พร้อมปลดล็อกศักยภาพเต็มที่ หากปัจจัยพร้อม ลำโพงคู่นี้คือคำตอบที่ไม่ต้องลังเล. ADP
KEF Q Concerto Meta
ราคา 54,900 บาท/คู่
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation
โทร. 0-2692-5216
No Comments