วิศัลย์
Wison Wisdom Talks

KEF LS50 เป็นลำโพงวางขาตั้งที่เปิดตัวในปี 2012 เพื่อเฉลิมฉลองวาระที่บริษัทก่อตั้งมาครบ 50 ปี แน่นอนว่าความประทับใจในเสียงอันอลังการของมันในงานเปิดตัวที่งาน “มิวนิค ไฮเอ็นด์ โชว์ ปี 2012” ทำให้ WJ ต้องติดตามว่า เมื่อไหร่จะได้ฤกษ์นำเข้ามาบ้านเรา และจนท้ายที่สุด LS50 ก็ถูกบรรจุเข้าประจำการเป็นลำโพงของ WJ จะว่าไปแล้ว ด้วยคาแร็กเตอร์เสียงบางอย่างของ KEF โดยเฉพาะความเป็นธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง เที่ยงตรง ความสะอาดและความสมดุล[1] ทำให้ผมต้องกลับไปตามเก็บ KEF Reference (Reference จริงๆ) ได้แก่ KEF REF 105/3 และ KEF REF 103/4   แน่นอนว่าเป็นคาแร็กเตอร์เสียงที่แตกต่างจากลำโพง Reference ในยุคใหม่ๆ ที่สำคัญคือ ผมแพ้ตู้ลายไม้สวยๆ ของลำโพงเก่า ลองไปหาฟังกันดูนะครับ

ในขณะที่ WJ ปั่นต้นฉบับอยู่นี้ เจ้า KEF LS50 ก็ได้แตกหน่อออกไปอีก ได้แก่ KEF LS50 Meta และ LS50 Wireless II, LSXII Wireless ซึ่งผมก็ได้จับมาขึ้นกล้องให้ได้รับชมกันไปพร้อมกัน 3 รุ่นที่มีอยู่ในมือขณะนี้ ส่วนเจ้า  LSXII Wireless เป็นเวอร์ชั่นประหยัดของ LS50 Wireless นะครับ

ในเรื่องสัดส่วนปลีกย่อยของตัวตู้มีความแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย รวมไปถึงน้ำหนักตัว แต่คอนเซ็ปต์ความโค้งของหน้าตู้  การจัดวางไดรเวอร์แบบ Uni-Q, การติดตั้งไดรเวอร์ลงบนหน้าตู้แบบเรียบเนียน  หรือการจัดความสูงของขาตั้งลำโพง ก็เรียกได้ว่าเหมือนกันครับ รายละเอียดภายนอกแทบเหมือนกัน โดยเฉพาะ LS50 รุ่นแรก และ LS50 Meta ส่วนรุ่น Wireless ก็มีแอมป์ในตัวและช่องต่อสาย LAN และปลั๊กไฟ เกือบลืม ผมชอบมากตรงที่ให้ขั้วต่อลำโพงเป็นแบบซิงเกิ้ลไวร์ ลดความซุกซนไปได้เยอะ จะได้ลดตัวแปรการเซ็ตอัพไปได้อีกหนึ่งจุด  


[1] สมดุลในที่นี้ คือ ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ไม่สุดโต่งดีเลิศหรือย่ำแย่ไปสุดทาง มันคือความกลมกล่อม ฟังได้ยาวๆ

สิ่งที่ผมชอบลำโพง KEF LS50 Meta ก่อนที่จะฟังเสียอีก คือ การให้สีครับ  การออกแบบสีไดรเวอร์และสีตู้ที่ให้ความงามที่ใช้โทนสีตัดกัน แต่พอดูภาพรวม เออ! มันสวย เข้ากันได้และมีสไตล์ ตัวลำโพง LS50 Meta ใช้เบสไดรเวอร์ขนาด 5.25 นิ้วโคนเป็นวัสดุแม็กนีเซียม/อะลูมิเนียม ไดรเวอร์ทวีตเตอร์ใช้โดมอะลูมิเนียมขนาด 1นิ้ว วางอยู่ตรงแกนกลางของลำโพงมิด/เบสตามรูปแบบของ Uni Q ใช้แม่เหล็กนีโอไดเมียมเป็นต้นกำลังขับเคลื่อน ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 47Hz – 45kHz (-6dB) อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม ความไว 85dB แนะนำกำลังขับที่ 25-100 วัตต์ น้ำหนักตู้ 7.8 กิโลกรัม

สิ่งที่เป็นการต่อยอดชนิดที่ KEF ต้องมีอัตลักษณ์ต่อท้ายรุ่นว่า Meta คือ การที่ KEF ออกแบบเจ้าวัสดุสังเคราะห์ที่ซับเสียงได้ วางไว้ที่ด้านท้ายของไดรเวอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว และมีความหนา 0.43 นิ้ว มันออกแบบให้เป็นห้องเก็บกักอากาศ เพื่อนำความถี่ไม่พึงประสงค์จากการกระพือของไดรเวอร์ที่ผลักดันอากาศมาทางด้านหลังเอามากักในห้องนี้ ทว่า ทิศทางเดินของอากาศนี้บังคับให้เดินทางเป็นรูปแบบของเขาวงกต ซึ่ง KEF เคลมไว้ว่าจะลดความถี่ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่ 620Hz ขึ้นไปนี้ได้ถึง 99% (เครดิต Stereophile) ในขณะที่ส่วนตัวผมชอบการออกแบบพอร์ตระบายอากาศแบบปรับความโตได้เพื่อให้สมดุลกับความดันภายในตู้ที่ออกแบบไว้มากที่สุด (ตั้งแต่รุ่นแรก) และเพื่อลดทอนหรือควบคุมคลื่นรบกวนที่ไม่ต้องการออกไปจากตู้ลำโพงด้วย ไอเดียนี้จัดว่าล้ำยุคมากมาย ดังนั้น สิ่งที่ผมคาดหวังไว้กับการปรับปรุงเจ้า LS50 เป็น LS50 Meta ก็คือ  ความเพี้ยนของเสียงที่ต่ำมากกว่าเดิมนั่นเอง รวมไปถึงความชัดเจนและความใสที่ควรดีกว่าเดิม ซึ่งพบว่าไดรเวอร์ด้านหลังของ LS50 รุ่นแรกก็มีอุปกรณ์ Damping เช่นกัน แต่เล็กกว่า และประสิทธิภาพไม่สูงเท่ากับ LS50 Meta

ผมไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อจะดูว่า ทำไม KEF LS50 Meta จึงไม่เป็น KEF LS50 MK2 ก็เลยพบว่า การออกแบบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการความดันอากาศ(ความถี่) ที่ไม่พึงประสงค์นั้น อยู่ในระดับนวัตกรรมเลยทีเดียว ด้วยการออกแบบวัสดุแดมปิ้ง+คัปปลิ้ง (ความถี่คลื่นอัดอากาศ)แบบเขาวงกต ติดตั้งที่ด้านท้ายของไดรเวอร์ ดังภาพประกอบ (คล้ายๆ  กับการออกแบบวิงเลทในรถสูตรของ Moto GP ที่เปลี่ยนโฉมนวัตกรรมการควบคุมอากาศพลศาสตร์ในรถมอเตอร์ไซค์แข่งไปตลอดกาล)

LS50 (เดิม)

LS50 Meta

LS50 (เดิม)

LS50 Meta

ตู้ลำโพงมีการปรับปรุงการคาดโครงเล็กน้อยเพื่อรองรับขนาดไดรเวอร์ที่มีบั้นท้ายใหญ่ขึ้น 

จากรูปประกอบจะเห็นว่า พอร์ตระบายความดันในตู้ (เบสรีเฟลกซ์) มีความยืดหยุ่นและขยายตัวได้ด้วย เพื่อรักษาแรงกดอากาศภายในตู้ให้เป็นไปตามโมเดลที่ออกแบบไว้มากที่สุด และลดการกวนที่จะมีผลกับผนังหลังด้วย

เรื่อง Flexible Port นี่ ขอยกนิ้วให้เป็นยอดนวัตกรรมลำโพงเลย ผมให้เครดิตมากกว่าวัสดุที่ใช้ทำโคนไดรเวอร์ด้วยซ้ำไป

ซิสเต็มและการเซ็ตอัพ

ด้วยอิมแดนซ์ของลำโพงต่ำสุดที่ 3.8 โอห์ม อิมพิแดนซ์ปรกติที่ 8 โอห์ม มากับความไว 85dB ซึ่งจัดไปทางลำโพงความไวต่ำ แน่นอนว่า เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ขับดันต้องมีความสามารถที่จะจ่ายกระแสได้สูง ดังนั้น หากการรับฟังของท่านที่พบว่า ทำไมเสียงที่ได้ยิน มันช่างแตกต่างกับที่ผมทดสอบมากมายนัก ขอให้อนุมานและพุ่งเป้าไปที่เพาเวอร์แอมป์ครับ ผมใช้เพาเวอร์แอมป์ Constellation Centaur ที่ให้กำลังขับต่อเนื่องและการจ่ายกระแสได้เหลือเฟือ (250/500/800 W at load 8/4/2 Ohm, Single Ended Multiple Module Circuitry) ฟร้อนต์เอ็นด์ในครั้งนี้ ขอใช้ CD Player Tascam 901 Mk2 เป็นต้นทาง ผ่าน DAC Accuphase DP85 ไปยัง Preamp NAT Magnetic Balance Line Stage ไปจบที่ Constellation Centaur ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้แก่ เส้นสายต่างๆ  อ้างอิงได้จาก Reference อ้างอิงของผมเลยครับ

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ของการทดสอบลำโพงวางขาตั้ง ก็คือ ตัวขาตั้งเองนั่นแหละ ผมเลือกใช้ขาตั้งของ TAOC มวลกลาง รุ่น ASTII-60HS ความสูง 60 เซนติเมตร เมื่อวางลำโพง KEF LS50 Meta ลงไปแล้ว พบว่าที่แกนกลางลำโพง หรือทวีตเตอร์มีมุมยิงที่ต่ำกว่าศีรษะ (ระดับหู) ของผมเล็กน้อย ผมรองสไปก์ของขาตั้งลำโพงด้วย TAOC Super insulator PTS-A (วัสดุเหล็กหล่อคาร์บอนสูง) เพื่อให้ซิสเต็มของขาตั้ง TAOC ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

แท่นวางแอมป์กับพื้นห้องถูกตัดแยกการรบกวนด้วย Symposium Ultra สำหรับใครที่ต้องการวางเครื่องที่มีน้ำหนักมากลงบนพื้นห้อง ทริคที่กล่าวมานี้สำคัญมาก สำหรับนักเล่นที่จริงจัง ใครเอาไปใช้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ

ก่อนจะข้ามไป ผมแนะนำว่า มวลของลำโพงกับขาตั้ง ควรใกล้เคียงกันเพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตัวลำโพงเสียเองและให้โทนเสียงกลมกลืนกันไปกับบุคลิกของลำโพงด้วย ขาตั้งมวลกลางจะเหมาะมาก เพราะสามารถเติมทรายเพิ่มมวลได้ อีกอย่างผมพบว่า ลำโพงตั้งพื้นน้อยคู่ที่มีน้ำหนักตู้เบา (ว่ากันที่ระดับมิดเอ็นด์ขึ้นไป) แต่ถ้าเกิดคุณใช้ขาตั้งมวลมาก มันจะไม่มีที่ให้คุณลดน้ำหนัก เมื่อคุณต้องใช้กับลำโพงมวลกลาง  

การทดสอบ

ผมวาง LS50 Meta ข้างๆ ProAc Response 4 และจัดวางเพื่อไม่ให้มุมกระจายเสียงถูกลำโพงใหญ่ขัดขวางได้ ระยะจัดวางของลำโพงวางห่างกันซ้าย-ขวาที่ 1.51 เมตร และห่างผนังหลังที่ 1.81 เมตร โทอินเล็กน้อยและปรับระยะการนั่งฟังให้ใกล้กว่าระยะที่นั่งฟังลำโพงใหญ่ ผมใช้ระยะเวลารันอินค่อนข้างสั้น เพราะระยะเวลาในการทดสอบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากลำโพงคู่นี้ผ่านมือนักทดสอบมาหลายมือแล้วนั่นเอง แผ่นทดสอบที่ใช้อ้างอิงในบททดสอบนี้ใช้อยู่ 3 แผ่น ไม่รวมแผ่นอื่นๆ ที่ใช้ประเมินคาแร็กเตอร์ในบทสรุป

ผมชอบอัลบั้มนี้เป็นการส่วนตัว และมักหยิบยกมาประเมินคุณภาพเครื่องเสียงที่ทดสอบเป็นประจำ เป็นเพลงที่เน้นจังหวะที่คม แม่น และสนุก ทั้งอาร์คอเดี้ยนและเบสที่คอยคุมเชิงสีสันของดนตรี ถ้าเซ็ตอัพได้และเครื่องเสียงมีคุณภาพที่ดีสูงพอ  คุณจะพบว่า Barb Jungr จะเน้นการร้องที่ผ่อนลมหายใจและเสียงขึ้น ลง ลาก มีลีลามาก เธอคุมโทนเสียงได้นิ่ง ลื่นไหลมีพลังอย่างมาก แทมบูรีนที่เคาะให้จังหวะที่ทำให้ผมรู้สึกเคาะโซฟาตามไปด้วยกัน LS50 Meta สามารถถ่ายทอดอารมณ์ร่วมในรูปแบบที่ไม่เป็นแนวหูผึ่งติดหูในทันที แต่มันจะค่อยๆ พาคุณดำดิ่งในการฟังแบบไม่รู้ตัว แล้วคุณจะค้นพบว่า รายละเอียดที่ซ่อนเน้นดนตรี มันมากมาย สอดประสาน และสวยงามมากเพียงไร เพียงแต่คุณต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับมันเสียก่อน นั่นเป็นคาแร็กเตอร์ที่เป็นตัวตนของลำโพง KEF คู่นี้ ยิ่งพอมาฟัง I Love Paris ฟังคู่กับเปียโนที่ให้ความรุ้สึกของเสียงเคาะของค้อนตีลงไปจนกังวานออกมา ผสานกับการชักสายของไวโอลิน และอาร์คอเดี้ยน เบสคุมจังหวะอยู่ห่างและให้โทนอุ่น สวยงามจริงๆ ครับ เรียบเรียงดนตรีได้ดีเยี่ยมจริงๆ เสียงร้องของ Barb Jungr ไม่ได้เปล่งเสียงแบบสูงๆ โชว์พลังเสียง แต่การร้องที่ใช้การควบคุม อารมณ์เพลง ความต่อเนื่อง และความสมดุลของการไล่โทนนี่สิครับ สุดยอดของพลังจริงๆ เป็นลำโพงที่ถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาได้ดี

แทร็กที่ 4 จำลองการฟังดนตรีในแจ๊สคลับ เสียงเครื่องเป่าให้ความสด ปลอดอาการแผดกร้าวขึงขัง ทำให้เรามองเห็นภาพที่สุภาพ ต่อเนื่องและลื่นไหล ตั้งแต่เสียงลมวกวนภายในเครื่องเป่าจนออกมาจากปากแตร มิติด้านลึกทำได้ดีมากครับ เบสลงได้ลึกเกินตัว มีน้ำหนักและบ่งบอกตัวโน้ตในเสียงต่ำชัดเจน สถานะตัวตนอยู่ลึกไปทางซ้ายของกลองชุด ระนาดฝรั่ง

ในแทร็กที่ 7 ที่ใช้เครื่องดนตรีที่มีเอฟเฟ็กต์แบบแมลงหวี่ ผมคิดว่า ในเสียงหวี่ๆ แหว่งๆ มีรายละเอียดในการขยี้เสียงอยู่นะ ต่อมาด้วยดับเบิ้ลเบสที่ให้ตัวโน้ตและการเน้นน้ำหนักที่ความอิ่มพอประมาณ  เพลงในแทร็กนี้ให้รายละเอียดของเครื่องดนตรีมากมายและชัดเจน เสียงเครื่องเป่า เครื่องเคาะ ต่างเล่นออกมาได้อย่างเป็นอิสระและมีชีวิตชีวา  ยากที่จะเชื่อว่ามาจากลำโพงตัวจิ๋วๆ แค่นี้ 

ฟังเพลงคลาสสิกเป็นอย่างไรบ้าง ผมบอกได้เลยว่า เจ้า LS50 Meta นี่ มันเล็กแต่ตัวจริงๆ ในห้อง Ultimate Reference ของผม มันให้สนามเสียงที่กว้างและลึกเต็มห้องจริงๆ ในแทร็ก The Medallion Calls ให้ความยิ่งใหญ่ของออร์เคสตร้าวงใหญ่ เจือไปด้วยความลึกลับ เศร้า ตื่นเต้น และเกรียงไกร แค่แทร็กที่มีความยาวเพียงสองนาที ทำเอาผมนั่งไม่ติดกันเลยทีเดียว ฟังซ้ำๆ ไปหลายต่อหลายรอบเลยเพื่อคอนเฟิร์ม ไดนามิกส์ดุดันและเด็ดขาดจริงๆ ซึ่งลำโพงเล็กดังๆ ที่วันนี้ยังคงเป็นดาวค้างฟ้า (เจ้าน้องเล็กของ Response 4) คงต้องยอมแพ้แน่นอนที่ระดับความดังที่ WJ กำลังฟังอยู่ ดูเจ้า LS50 Meta ไม่มีอาการสำลัก เหนื่อยล้า หรือออกการหลุดการควบคุมในห้องฟังทดสอบเลย ผมคิดว่าเป็นความฉลาดของการออกแบบ Port ที่ยืดหยุ่นและผนังตู้ที่แข็งแรงจากการให้สัดส่วนและความโค้ง มีผลอย่างมากที่ช่วยให้ LS50 Meta “ไม่มีเสียงตู้”       

สรุป

LS50 Meta เป็นลำโพงที่ให้เสียงใหญ่เกินตัว ฟินิชชิ่งสวย ผมรู้สึกแปลก แต่ก็ต้องให้คำแนะนำว่า มันเป็นลำโพงเล็กที่ให้เบสครบถ้วนทั้งปริมาณและคุณภาพ (ให้ความลึกของเบสที่ดูลึกกว่าลำโพงวางหิ้งหลายตัวที่ผ่านมือมา) มันบ้ามาก มิติและรูปวง เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่ลำโพงวางหิ้งคุณภาพสูงพึงจะทำได้ในระดับจับวาง แต่โดยภาพรวม มันไม่ได้เน้นไปแนวนั้น ถึงแม้มันทำได้ดี คุณภาพเสียงกลางและสูง ไม่ได้เน้นให้ติดหูทันควัน ไม่ได้สุดยอดจรดสวรรค์จนต้องออกปากชม หรือระยิบระยับละลายไปในอากาศ แต่คุณจะหลงใหลมัน เมื่อคุณใช้เวลาไปกับการฟังสักหน่อย มันให้ความเป็นธรรมชาติและการเข้าถึงดนตรีได้ดีมาก ไดนามิกส์คอนทราสต์ดีเยี่ยม คุณภาพของขาตั้งค่อนข้างอ่อนไหวกับลำโพงคู่นี้ (สำหรับซิสเต็มใหญ่) ผมคิดว่า LS50 Meta บริโภค “คุณภาพ” ของเพาเวอร์แอมป์ อย่างไม่ต้องสงสัย    

หากคุณเป็นนักฟังที่หลงใหลเสียงเพลงและดนตรีในแบบ “เสมือนจริง ดุดัน มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน ไม่ว่าหวานหรือนุ่ม เฉียบขาด รายละเอียดหยุมหยิม มิติจะแจ้ง แบบสุดขีดคลั่ง หรือ Ultimate” จงมองข้ามลำโพง LS50 Meta คู่นี้ไปซะ ตรงกันข้าม หากคุณหลงใหลที่จะทิ้งคราบและภาพดังกล่าวออกไป และต้องการดิ่งด่ำไปกับธรรมชาติดั้งเดิมของดนตรีที่นำเสนอในมิติที่ล้ำลึกกว่า อาร์ตกว่า คือเมื่อเบาก็เบา นุ่มก็มี หนักก็มาและจะปลดปล่อยพลังเท่าที่จะต้องมี และเป็นจริงเป็นจังเท่าที่จะเป็นได้ (ซึ่งขอบอกว่า มันเกินขนาดตัวมันมาก) ลำโพง LS50 Meta อาจจะเป็นลำโพงที่คุณกำลังตามหาอยู่นะครับ การหาลำโพงที่ให้ลักษณะเสียงในแนวนี้คงจะเกินค่าตัวไปมากกว่า 5 เท่าของ LS50 Meta เห็นจะได้ แนะนำเป็นอย่างยิ่ง  

LS50 Meta Vs LS50 รุ่นแรก เป็นยังไง?

ในแง่ตัวเลข ใช่ครับ LS50 รุ่นแรกมีความเพี้ยนแฝงในบางย่านความถี่(เสียงกลางสูง)ที่สูงกว่า LS50 Mata อยู่ราว 0.03dB (เมื่อจับด้วยเครื่องมือวัด, เครดิต SoundScience) แต่เอาเป็นว่า จากการฟัง ผมพบว่า LS50 Meta ให้เสียงที่สงบ นิ่งกว่า สะอาดกว่า ราบรื่น ต่อเนื่อง และไล่เฉดได้ดีกว่า ไดนามิกส์คอนทราสต์ดีกว่า อันนี้ชัดเจนจากเขาวงกตที่ติดตั้งในด้านหลังของไดรเวอร์ แต่ถ้ามองในแง่ของไดนามิกส์ทรานเชี้ยนต์ (หรือช่วงสวิงฉับพลัน) ผมกลับชอบสไตล์การนำเสนอของ LS50 รุ่นแรกมากกว่าเล็กน้อย[2] ผมว่ามันให้ความดุดันก้าวร้าวมากกว่า ในภาพรวมจึงทำให้ LS50 Meta เข้าถึงออดิโอไฟล์ในกลุ่มที่กว้างขวางมากกว่า น่าฟังมากกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า ในขณะที่ LS50 จะเลือกวิถีในการฟังที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า (เรื่องมากกว่า) เอาเป็นว่า WJ ก็เก็บมันทั้งสองไปเลยละกัน  เอวัง. ADP


ราคา 59,900 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
โทร. 02-692-5216

[2] โปรดอย่าลืมว่า แอมป์ที่ผมใช้มีส่วนควบคุม Damping ลำโพงมากมาย ในกรณีของผม ผลจากการเพิ่มเขาวงกตของ LS 50 Meta อาจจะไม่ได้มีผลทางเสียงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ LS 50 รุ่นแรกที่ผมใช้ในแง่ Dynamic Transient ที่ผมว่ายังต่อรองกันไม่ลง

เนื่องจากระยะเวลาการทดสอบสั้นกว่ามาตรฐานของ WJ จากการรอขาตั้งลำโพง และคิวส่งเครื่องคืน จึงไม่ได้ทดสอบกับ Accuphase E650 เอาไว้จะทดลองกับ LS50 รุ่นแรก และจะอัพเดตในเพจส่วนตัวของผมต่างหากละกันครับ

WJWJ Reference System

CD: Tascam 901 Mk2 + Alto-Extremo Equipment Feet
Streamer: Fidelizer Audio Nimitra 2 & Nikola 2 Power supply & CISCO Network Switch
DAC: Meridian Reference 818
DAC: Accuphase DP85
Preamplifier: NAT Magnetic Balance Line Stage
Integrated Amplifier: Accuphase E650
Power Amplifier: Constellation Centaur
Turntable: Thorens TD124 Mk1, ARM BTD12, London Cartridge
Phono Stage: ASR Mini Basis, Sonic Frontier SFL1 Signature
Speaker: Infinity Modulus System, Celestion SL700, KEF REF 105/3, ProAc Response 4, KEF LS50, KEF REF 103/4
Cable: Speaker; QED Silver Spiral Genesis
Cable: XLR/RCA Interconnect; Nordost Tyr2
Cable Power: Nordost, Hovland, Cardas Golden Reference
Cable Elevator: Cardas Myrtle Wood Block, Ayre Myrtle Block, Shunyata Dark Field
Equipment Rack: TAOC CS series
Speaker Stand: TAOC AST series, TAOC Super Insulator PTS-A
Amplifier support base: Symposium Ultra
Power Conditioner: Nordost Q Base receptacle, VIBEX DC filter