J. Sikora
Standard line


J. Sikora ชื่อนี้อาจจะเป็นชื่อใหม่ในบ้านเรา แต่เป็นยี่ห้อของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มาแรงในต่างประเทศ
ล่าสุดใน Stereophile Recommended Components ในหมวด Turntable ได้จัดให้รุ่น Reference อยู่ในกลุ่ม A+ ที่มีราคาต่ำที่สุดในระดับเดียวกัน
วันนี้เครื่องเล่นแผ่นเสียง J. Sikora ได้มาถึงเมืองไทยครบทุกซีรี่ส์แล้ว เราจะมาทำความรู้จักกัน

J. Sikora เป็นชื่อย่อของ Janusz Sikora ชาวโปแลนด์ เมือง Lublin ตอนหนุ่มๆ แกเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในด้านโลหะศาสตร์ ตอนหนุ่มๆ แกเป็นนักดนตรีมีความสนใจในเครื่องเสียง เหมือนผู้ผลิตเครื่องเสียงท่านอื่นๆ เช่น Roy Gandy แห่ง Rega ที่ว่าแกไปซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาเล่น และพบว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่คาดคิดไว้ ด้วยความเป็นวิศวกรเลยผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงเองซะเลย (ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 1984 แกทำแอมป์หลอดร่วมทุนกับเพื่อนชาวยูเครน) และก่อตั้งบริษัท J. Sikora ของตัวเองตั้งแต่ปี 2007 ด้วยความเชี่ยวชาญเชิงโลหะที่แกมีความรู้ว่า โลหะประเภทต่างๆ เช่น bronze (สัมฤทธิ์ – ทองแดง (>60%) + ดีบุก + สังกะสี ), Brass (ทองแดง + zinc alloy), aluminium, inox (inoxidable – เหล็กกล้าไร้สนิม) มาใช้งานร่วมกับอย่างอื่น เช่น Derlin, กระจกกราไฟต์, ceramic, zirconia เพื่อให้เสียงออกมาดีที่สุด วัสดุเหล่านี้จะเล่าในตอนที่ set up ตัวเครื่องต่อไป
ในส่วนของ tonearm ซึ่งผลิตของตนเองมาทีหลัง ในช่วงเริ่มต้น แกประทับใจกับ uni-pivot arm ของ Kuzma มาก (Stogi S uni-pivot arm) และใช้ร่วมกันมาตลอด เมื่อพัฒนาอาร์มของตัวเองขึ้นมาก็ยังเชื่อมั่นใน concept ของ uni-pivot arm อยู่ หน้าตาก็คล้ายๆ กันแต่มีการพัฒนาด้านวัสดุให้ดีกว่า โดยใช้ kevlar มาแทนโลหะในส่วนของก้านอาร์ม
ณ ปัจจุบัน เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ J. Sikora (ขอเขียนย่อๆ ว่า JS นะครับ) เขาทำอยู่ 3 ระดับ คือ Initial line / Standard line / Reference line ในแต่ละระดับก็มีรุ่นปกติ และ Max และมีสีดำ กับสีขาว ถ้าว่ากันด้วยน้ำหนักก็เริ่มจาก 27 กิโลกรัม ในรุ่น Initial ไปจนถึง 100 กว่ากิโลกรัม ในรุ่น Reference ในการทดสอบนี้ เราจะมาโฟกัสกันที่ Standard Line ที่มีรุ่นย่อย 3 รุ่น คือ Standard / Standard Max / Standard Max Supreme แยกง่ายๆ ด้วยสายตา คือ ระหว่าง Standard กับ Standard Max นั้น ตัวควบคุมรอบจะแยกอยู่ภายนอกในรุ่น Standard แต่ในรุ่น Standard Max ตัวควบคุมจะฝังอยู่ในแท่นชิ้นล่าง ทำให้การจัดวาง motor และ tower arm ที่สองสะดวกกว่าใน Standard Max (แต่รุ่น Standard ธรรมดา ก็ใส่โทนอาร์มที่สองได้) ส่วน Standard Max กับ Standard Max Supreme ต่างกันที่ Standard Max Supreme การเลือกใช้วัสดุโลหะเหมือนกับรุ่น Reference โดยรุ่น Standard เป็นรุ่นที่มีรูปร่างหน้าตา (และน้ำหนัก) ใกล้เคียงกับรุ่น Reference มากกว่าไปทางรุ่น Initial ที่เป็นรุ่นต่ำกว่า จึงเป็นรุ่นที่น่าสนใจในการทดลองฟัง


Set up day
บ่ายวันเสาร์หนึ่ง เรานัดกันติดตั้ง JS Standard ช่วงก่อนติดตั้ง ผมกับทางคุณตรี ผู้บริหาร Audio House ผู้นำเข้า JS ได้ไลน์ปรึกษากันตลอดว่า มันต้องการพื้นที่ติดตั้งสักเท่าไหร่ เพราะตัวเครื่อง ไม่ใช่เบาๆ ยกมาแล้วไม่มีที่วาง หรือต้องย้ายที่ขณะเซ็ตอัพคงไม่สะดวกแน่ๆ ผมมี audio board ของ TAOC รุ่น HC50 ก็ยังไม่พอวาง มันต้องการพื้นที่อย่างน้อย 40 x 60 cm เพราะฐานเครื่องเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ได้จตุรัสแบบเครื่องทั่วไป ถ้าใช้ TAOC audio board ต้องรุ่น HC60 ถึงจะพอ หันไปหันมาพบว่าแท่นไม้สักที่อาจารย์หมอทวีศักดิ์เคยทำให้นั้นวางได้พอดี เลยเอาตัวนี้แหละ ยกแท่น Dr. Feickert ออกไปวางบนชั้น Target ข้างหลัง แล้วเอา JS Standard วางแทน
ดังนั้น ข้อแนะนำก่อนติดตั้งคือ ให้แน่ใจว่าจะวางที่ไหน ตรงไหน พื้นที่พอหรือไม่ ไม่คิดว่าจะย้ายไปมา เพราะ Standard ต้องการพื้นที่พอควร มีน้ำหนักมาก ไม่ควรย้ายที่ไปมา และควรมีคนช่วย ทำคนเดียวมีความเสี่ยง
เมื่อได้พื้นที่แน่นอนแล้วก็เริ่มแกะกล่อง (มาสามกล่องใหญ่) วางชิ้นส่วนกันเลย ทุกชิ้นส่วนของ JS รุ่นนี้ไม่ได้มีไม้ หรือ mdf เป็นส่วนประกอบเลย แท่นรองแผ่นสี่เหลี่ยมทั้งสองชั้นทำจากอลูมิเนียมตันๆ ทั้งสิ้น เราเริ่มจากวางจานรอง spike สามจุดก่อน และจะมีหลุมให้วางลูก ceramic จากนั้นจึงวางบอร์ดชิ้นแรกลง



เมื่อเราวางบอร์ดชิ้นแรกแล้ว เราจะทำการปรับ level ด้วยลูกน้ำ หรือ bubble level app บนมือถือก็ได้ ตัว tip toe (วางบนลูก ceramic) สามารถปรับระดับได้ โดยสอดก้านเหล็กพวกไขควงหกเหลี่ยมเข้าทางรู แล้วหมุนคลายเกลียวเพื่อให้ได้ระดับที่สุดจากการปรับทั้งสามขา


แท่นชั้นที่สองสั้นกว่าแท่นล่างจะมีตัว sub-platter แท่น aluminium sandwich กับโลหะอื่น และเสาติดตั้งอาร์มติดตายมาด้วย เวลาวางก็ให้ขอบด้านขวาเสมอกับแท่นล่าง เทคนิคในการวางจานรอง tip toe คือ ใช้กระดาษบางๆ รองไว้เพื่อเวลาขยับตำแหน่งแล้วไม่เกิดรอยที่พื้นผิวด้านล่าง ขั้นตอนนี้ คนเดียวคงทำไม่รอด เพราะน้ำหนักมาก และถ้าวางไม่ดี ลูก ceramic ball อาจดีดหายไปในห้องได้ หลังจากวางแท่นที่สองนี้แล้ว ก็ปรับเช็คระดับเช่นเดิม


main platter bearing เป็นแบบ invert bearing จุดหมุนใช้เจลหล่อลื่นของเขา ลักษณะคล้ายจารบี และลูก ceramic (ขนาดเล็กกว่าที่ใช้ตรง tip toe) มีความแข็ง แต่เปราะแตกได้ ถ้ากระแทก ดังนั้น เวลาจะวาง main platter หนัก 18 กิโลกรัม ต้องใช้มากกว่า 1 คน ค่อยๆ วางให้ main bearing shaft ไม่เป็นรอย ไม่กระแทกลูก ceramic แตกหรือกระเด็นหายไป ทาง J. Sikora ให้ลูก ceramic สำรอง จุดนี้มาอีกลูกหนึ่ง คงคาดว่าอาจจะต้องแตกหรือกระเด็นหายแน่ๆ ตัว main platter ทำจาก Derlin (POM = polyoxylmethelene) คล้ายยาง มีความหนาแน่นคล้าย vinyl ผมว่าไส้ในคงมีโลหะอยู่ด้วย เพราะหนักกว่า Derlin อย่างเดียว


ชั้นสุดท้ายของแท่นคือ mat เขาเลือกใช้กระจกกราไฟต์วงแหวน ตรงกลางเป็น aluminium plate นับว่าแปลกกว่าแท่น high end ยี่ห้ออื่น รวมๆ แล้ว เป็นการผสมผสานวัสดุหลายอย่าง ตั้งแต่ ceramic, brass, bronze, Derlin, glass ที่มีการ resonance ต่างกัน มาใช้ร่วมกัน ทาง J. Sikora คงได้มีการ ทดลองมาแล้วหลายวัสดุโลหะเพื่อให้ commercial product ลงตัวแบบนี้
motor tower ของรุ่นนี้ใช้ DC motor สองตัว หมุน platter ในด้านตรงข้ามกัน ตัวยาวกว่าวางบนแท่นชั้นล่าง ตัวสั้นวางแท่นชั้นบน เขาเคลมว่าใช้สองตัวของยี่ห้อ Papst จากเยอรมนี แต่ไม่มี noise เข้ามากวนเลย สายพานใช้ยางสี่เส้น การขึ้นรอบของ platter ทำได้อย่างรวดเร็ว pitch control และเลือกสปีด เป็นกล่องอะลูมิเนียมแยกปรับความเร็วรอบได้อย่างละเอียด


ถัดมาเราก็เซ็ต tonearm กัน วัสดุที่เขาเลือกใช้ทำคือ kevlar (ทีมาของชื่อรุ่นว่า KV) ที่มีความเบา แกร่ง แต่มีปัญหาว่าขึ้นรูปทรง conical tube ได้ยาก การทำงานของอาร์มเป็นแบบ uni-pivot เดือยแหลมบนจุดหมุน stainless steel (ถ้าเป็นรุ่น KV12 Max จุดหมุนจะทำด้วย airconium dioxide) ตัวอาร์มตรง pivot แช่อยู่ในบ่อน้ำมัน (ให้มาด้วย) เพื่อให้การทำงานของอาร์มมีความเสถียร ตุ้มหลังมีแยกกันสองส่วน ระหว่างตัวที่ตั้ง azimuth และตั้ง tracking force มีมาให้หลายขนาดตามน้ำหนักหัวเข็มที่ใช้ กลไกการปรับ VTA เป็น option เป็นเฟืองหมุนอยู่ใต้ฐานอาร์ม อาร์มสามารถถอด headshell ได้ และเขาก็ให้ headshell สำรองมาด้วย
สเปคอาร์มมีระยะติดตั้ง 291 mm มี overhang 13.8 mm มี effective arm mass ที่ 13 กรัม (เบามากครับ) เมื่อเราใช้หัวเข็ม Shelter 901 mk3 หนัก 9.1 กรัม compliance 9 จะได้ resonance frequency ที่ 11 Hz (ไม่อยู่ใน audio band 20Hz – 20kHz)


alignment ของอาร์มเป็นแบบ Baerwald (Loefgren A) คือ ค่า inner null point ที่ 66 mm และ outer ที่ 120 mm มี protractor ให้มาด้วย ทาง Audio House ใช้ตัวตั้งของ Soundtractor ที่ตั้งละเอียดลงไปได้อีกว่าเป็น Loefgren A + DIN หรือ IEC ผมลองทั้งสองแบบ พบว่า แบบ DIN ฟังสบายกว่า
หัวเข็มที่ใช้ทดสอบครั้งนี้คือ Shelter 901 mark 3 ตัวท็อปของแบรนด์ในอดีต เป็นหัวใหม่เอี่ยม จึงต้องใช้เวลาเบิร์นสักเล็กน้อย ตั้งหัวเข็มแล้วก็ต้องเช็ค


VTA กับ azimuth กันหน่อย
Phono stage ที่ผมใช้ร่วมก็จะมี step-up transformer ของ Soundaries 618B ไป MM phono input ของ Keen Audio (Interstage tube phono) ผลงานของซือแป๋ สาธร เมืองนนท์ แล้วก็มี EAR 834P และตอนหลังๆ ใช้ phono หลอดของ Uesugi 220 R (คิดว่าจะขอรีวิวเดี่ยวๆ ละเอียดๆ อีกที) สัญญาณไปเข้าภาคไลน์ของ Schitt Audio Freya+ และ Spectral DMA90 power amp ไปขับลำโพง Sonus Faber : Guaneri Homage และฟังแบบเต็มความถี่กับลำโพง Western Electric 16A horn ในขั้นตอนสุดท้าย
audition

เริ่มฟังตอนแรกๆ ผมจะเริ่มจากเพลงที่บันทึกดี แต่ไม่ซับซ้อนมาก มาทดสอบก่อน ผมเลือกแผ่นสังกัด Mobile Fidelity ชุด Into the Labyrinth เป็นแผ่นทดสอบ ข้ามไปแทรคที่ 3 หน้า A เลย เพลงชื่อว่า “the wind that shakes the barley” แทรคที่เพลงเหมือนไม่มีอะไร เสียงร้องเสียงเดียว ผมชอบเอามาใช้ ในการเช็คการตั้งเทิร์น หรือหัวเข็ม เพราะว่า…
1. อยู่แทรคด้านในสุดจะเกิด distortion ได้ง่ายกว่าแทรคนอกๆ ถ้าปรับตั้งไม่ดีจะฟ้องชัดเจน
2. เสียงร้องควรอยู่ตรงกลางเป๊ะ ถ้าไม่ใช่คงต้องเช็ค azimuth
3. เสียงร้องที่โหนดังขึ้น ไม่มีอาการแตกพร่า ถ้ามีให้ไปปรับ anti skating force ใหม่
4. มีบรรยากาศ มี reverb หรือ echo ของเสียงร้อง ได้ยินชัดเจน ไม่ต้องเพ่ง ถ้าแห้ง หรือหุบ มีแต่เสียงร้อง ไม่มีเสียงก้อง ให้เช็คการตั้ง alignment พวกมุม offset, overhang ดีๆ
ตอนแรกคุณตรีแห่ง Audio House ตั้งไว้ดีแล้ว พอแกกลับไป ไอ้ผมก็บ้าทฤษฏี จัดการตั้ง overhang กับมุม offset ใหม่ เห็นว่าการตั้งแบบ Baerwald / IEC มีค่า null points ที่ใกล้เคียงสเปคอาร์มมากกว่า คือจะต้องเลื่อน overhang ออกมาอีกสัก 3 มม. พอฟังแล้วเสียงเครียด ไม่ผ่อนคลาย ambient หาย ผมเลยต้องถอยกลับมาที่การตั้งแบบ Baerwald / DIN ตามเดิม ทีนี้ทั้งสี่ข้อสอบผ่านฉลุย ตามไปฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=-M54knFJeFs


แผ่นที่สองที่ผมหยิบมาทดสอบคือ แผ่นสังกัดคู่แข่ง เอ๊ยไม่ใช่ (ดนตรีมันภาษาสากล ไม่มียี่ห้อเนอะ) เลือกแผ่นนี้ของ clearaudio มา เพราะเพลงคลาสสิกเพราะๆ ทั้งนั้น จริงๆ ถ้าตามไปหาว่า แผ่นนี้ออกในสังกัดอะไร ก็จะเจอว่า แผ่นดั้งเดิมเป็นของสังกัด Pierre Verany ของฝรั่งเศสนี่เอง (แผ่น Pierre Verany บันทึกเสียงดีมาก ทั้งแผ่นเสียงและแผ่นซีดี) ชุดนี้เดิมมีแต่แผ่นซีดี เลือกแทรค solo piano ของคีตกวีชื่อดัง ชาวโปแลนด์ Federic Chopin – waltz in F sharp minor เชื้อชาติเดียวกับ J. Sikora จริงๆ มีแผ่นที่บันทึกโหดกว่านี้ เสียงคีย์เปียโนที่กดแรงเบาค่อนข้างท้าทายกับการเล่นกลับบนแผ่นเสียง ถ้าเล่นกลับไม่สมบูรณ์จะมีเสียง distortion ให้ได้ยิน เท่าที่ฟังจากลำโพง Sonus Faber: Guaneri ตัว J. Sikora ก็ถ่ายทอดเสียงได้ดี ไม่มีความผิดปกติอะไรให้ได้ยิน ที่เหนือกว่าคือ อารมณ์เพลงที่มาร่วมด้วย การเล่นเบา เร็ว ดัง ค่อย สามารถถ่ายทอดได้ดี

ผมให้เครื่องกับหัวเข็มเบิร์นต่ออีกสัก 1 อาทิตย์ จากนั้นก็เริ่มฟังจริงจังกับลำโพงฮอร์นที่บ้านที่ถ่ายทอดความถี่ได้ครบถ้วนกว่า Guaneri และก็ฟังเพลงที่ complicate ขึ้น แผ่นนี้ออกปี 1986 ปั๊มญี่ปุ่น และเป็นแผ่น promotional เคลมได้ว่าจะได้เสียงที่ดีที่สุดจากอัลบั้มที่เพราะมากชุดนี้ เลือกแทรค All The Way เป็นการเช็ค rhythm, inner detail จังหวะเพลงที่ดี การอิมโพรไวส์ที่ยอดเยี่ยมของ Sadao และมือกีตาร์ไฟฟ้าทางซ้าย รายละเอียดของ rhytm guitar ทางขวาจะได้ยินชัดเช่นกัน (ถ้าชุดที่ไม่ดี หรือเซ็ตไม่ดี จะไม่ค่อยได้ยินกีตาร์ตัวขวา) เบสและกลองที่เล่นเหนียวหนึบ การเกลี่ยเวทีเสียงที่กว้าง ชิ้นดนตรีทุกชิ้น ไม่ว่าคีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน กีตาร์ 2 ตัว เบส กลอง ถ่ายทอดชัดเจนและ rhythmic มาก มันไม่มีความคลุมเครือ ขณะเดียวกันเนื้อเสียงและรายละเอียดชิ้นดนตรีก็ฟังดีมาก ตามไปฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=7lqIoXopzRw

แผ่นทดสอบชุดต่อไปเป็นปั๊มของ Classic Records ในยุคก่อนปี 2000 ที่ทำการ re-issue งานนี้ของ Billi Holiday ออกมา แผ่นนี้บางท่านอาจไม่ชอบน้ำเสียงของ Billie Holiday ในช่วงปลายๆ ของชีวิตนักร้องนัก แต่บรรดา sideman ที่เล่นให้นางนี่ ยอดฝีมือทั้งนั้น เช่น Ben Webster , Harry “sweet” Edison , Barney Kessel และการบันทึกเสียงก็ดีมาก เวทีเสียงจากแผ่นเสียงควรแผ่กว้างซ้ายจรดขวา ให้ soundstage ที่ดี timbre เสียงแซ็กโซโฟนของ Ben Webster อิ่มใหญ่ด้านขวา J. Sikora ไม่มีคลุมเครือกับแผ่นที่บันทึกเสียงดีๆ ให้เสียงที่ทั้งกว้างและเนื้อเสียงใหญ่ อาร์มแบบ uni-pivot ที่เซ็ตลงตัวจะให้เนื้อเสียงเวทีเสียงที่กว้างขวางใหญ่โต+รายละเอียดที่ดีเช่นนี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=bRPUydN3oT8

แผ่นสุดท้ายเอาให้ตายกันไปข้างหนึ่งกับแผ่นสังกัด Naxos ที่เอางานของ Salvatore Accardo มาทำใหม่ (เข้าใจว่าดั้งเดิมเป็นสังกัด Deutche Grammaphone) กับเพลงของ Paganini Violin Concerto สองหมายเลข เขาทำเป็นสองแผ่น (ค่ายอื่นจะทำแผ่นเดียว concerto ละด้าน บีบร่องเสียง) แต่ Naxos ไม่บีบร่อง ทำเป็นสองแผ่น แล้วเติมเพลงอื่นลงไป เลือกเพลงที่คุ้นหูให้ฟัง https://www.youtube.com/watch?v=mnB4nMEPPFE ท่อนที่สามของ Violin Concerto หมายเลข 2 แผ่นนี้จัดได้ว่าเป็นแผ่นทำใหม่ที่เสียงดีมากๆ ผมกับคุณตรีนั่งฟังแทรคนี้กันด้วยความตื่นตะลึง J. Sikora มันเปิดเผยให้เห็นถึงการเล่นของ Accardo แบบชัดเจนมาก การสีสองสาย การดีดสาย ชัดเจนทุกเม็ด พลังของนักไวโอลินและวงที่หลั่งไหลออกมา มันถ่ายทอดดนตรีคลาสสิคที่ซับซ้อน เครื่องดนตรีหลายสิบชิ้นได้สมจริงมากๆ ยิ่งเมื่อฟังกับลำโพงใหญ่ๆ ที่ให้ความถี่ได้ครบๆ เรียกว่า ฟังแล้วอิ่มทีเดียว การทำงานของอาร์มแบบ uni-pivot ที่เซ็ตลงตัวก็จะทำให้การบันทึกเสียงได้รับการถ่ายทอดหมดเปลือกได้เช่นนี้
จริงๆ มีอีกหลายแผ่นที่ผมได้ใช้ทดสอบ แต่ไม่ได้เอาลงในนี้ทั้งหมด คลิปเสียงมีมากกว่าที่เขียนตรงนี้ แนะนำว่าลองเปิดดูใน youtube และ soundcloud ช่องผมนะครับ (https://soundcloud.com/emt930)
ถามว่า คิดอย่างไรกับแท่น J. Sikora Standard นี้ ก็ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้…
1. มันเป็นแท่น+โทนอาร์ม ที่เมื่อเซ็ตลงตัวแล้วจะ unlock เปิดเผยดนตรีในแผ่นเสียงอย่างหมดจด
2. รุ่น Standard นี้อาจจะไม่เหมาะกับมือใหม่หัดเล่น เพราะตัวแท่นมีน้ำหนักมาก และค่าตัวที่ค่อนข้างสูง เหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์มาสักหน่อย ตั้งใจเล่นแผ่นเสียงจริงจัง มีชุดเครื่องเสียงที่ดีพอควร หรือเล่นลำโพงที่ใหญ่สักหน่อยที่ให้ความถี่ได้ครบถ้วน การจัดวางตำแหน่งไหนควรตัดสินใจก่อนให้ดี การขยับย้ายหรือเซ็ตใหม่ควรมีผู้ช่วย คนเดียวจะทำลำบาก
3. เซ็ตไม่ยุ่งยากนัก (เมื่อมีผู้ช่วย) ไม่จุกจิก แท่นมีความมั่นคงแข็งแรงมาก ค่าที่เซ็ตไว้ไม่อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงได้ยาก ใช้ได้นานเท่านาน มีความทนทานสูง
4. ยังมี gap ที่อัพเกรดได้อีก เช่น วงจร optical sensor และ loop feedback ในการควบคุมรอบของ main platter ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่มีในเทิร์นเทเบิ้ลรุ่นใหญ่ๆ ยี่ห้ออื่น
ขอขอบคุณทีมงาน Audio House ที่กรุณาให้ทดสอบและช่วยติดตั้งให้ถึงที่ครับ ผมเชื่อว่าทีมงาน Audio House ยินดีที่จะ support ผู้ที่สนใจ หรือเป็นลูกค้าทุกท่านอย่างดีแน่นอน
คาดว่า ในงานเครื่องเสียง BAV HI-END SHOW 2025 กลางปี คงมีรุ่นใดรุ่นหนึ่งไปให้ทดลองฟังเสียง และมากกว่าหนึ่งห้องแน่นอน บางทีทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Robert Sikora) อาจจะบินมาเยี่ยมลูกค้าชาวไทยด้วยก็ได้ครับ. ADP
J. Sikora Standard line ราคา 650,000 บาท
J. Sikora KV12 VTA โทนอาร์ม ราคา 300,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่าย
Audio House Co.,Ltd.
โทร. 094 461 4152
No Comments