นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา :

DSP-D/A Converter/Pre/Headphone amp

ผ่านไปสดๆ ร้อนกับกิจกรรม A Futuristic D/A Converter’s Experience โดย Mr. Kent Poon แห่ง Asia Weiss ที่ได้มานำเสนอ D/A Converter แห่งอนาคต แนวคิดใหม่ของ External D/A Converter ที่คุณต้องร้องว้าว ทั้งนี้เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักเล่นสาย Digital Audio งานนี้จัดขึ้นที่ ร้าน Prestige Hi-Fi ส่วนแฟนคอลัมน์ audiophile go digital ต้องไม่พลาด บททดสอบนี้เช่นกัน…

อย่างที่ทราบดีว่า วงจร D/A Converter มีหน้าที่เพียงแค่การแปลงข้อมูล ดิจิทัลไปสู่อะนาล็อกออกเป็นเสียงดนตรีให้เราได้ยิน ถ้าเอาใกล้ตัวหน่อยก็คือ DAC ถูกติดตั้งมาพร้อมกันตั้งแต่เครื่องเล่นซีดีตัวแรกกำเนิดขึ้นในโลกเครื่องเสียง เมื่อต้นยุค ’80s และที่ไล่ๆ กันก็เป็น Sound Card ที่ติดตั้งบน Mainboard ของ เครื่อง PC แล้วจึงขยับออกมาให้เห็นเป็น External D/A Converter ทั้งระดับราคา จับต้องได้ที่มีให้เห็นจนเกลื่อนตา จนถึงราคาเสียดฟ้าเอื้อมไม่ถึง เห็นไหมว่า เราอยู่ กับ DAC (D/A Converter) มานานเพียงไร จนถึงทุกวันนี้ D/A Converter ก็มี การพัฒนาอยู่ตลอด อย่างเช่น เพิ่มฟอร์แมตที่รองรับ จากเดิม PCM –>DSD จนถึง Asynchronous หรือเพิ่มบิตเรต แซมปลิ้งเรตให้สูงขึ้น ปรับรูปแบบการทำงาน ของอะนาล็อกและดิจิทัลฟิลเตอร์ มีการพัฒนา DAC Chip เป็น 32-bit หรือเพิ่ม จำนวน DAC Chip เป็นทวีคูณขึ้นไป นักเล่นเครื่องเสียงที่เน้นคุณภาพเสียงก็มา เล่นกันที่ภาค Power Supply, Analog Output ซึ่งก็วนเวียนกันอยู่ตรงนี้ โดยที่ ไม่ได้เปลี่ยนหลักการทำงานของ DAC ไปจากเดิม

Daniel Weiss “พ่อมดดิจิทัล” แห่งสำนัก Weiss Engineering และทีมงาน ได้ปฏิวัติการออกแบบ D/A Converter เดิมๆ ไปสู่ระบบ DSP (Digital Signal Processing) ในแนวคิดใหม่ สามารถเสกทุกอย่าง ได้ด้วยไม้กายสิทธิ์ เอ๊ย… เพียงปลายนิ้วสัมผัสตามที่เราต้องการจาก ระบบเสียงที่เล่นอยู่ได้ดั่งใจนึก ไร้ขีดจำกัด สามารถอัพเกรดระบบ การทำงานในแบบ open end ไปได้อย่างไม่สิ้นสุด โดยมิต้องอิงกับ ฮาร์ดแวร์ที่ใช้อยู่เดิม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงไม่มีวันล้าสมัยเลย ไม่ว่าอินพุต หรือฟอร์แมตใด จะมาด้วย Bit Rate เท่าใดในอนาคต ที่ปรามาสว่า digital Audio เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีกแล้ว เห็นท่าจะไม่จริง

 WEISS ENGINEERING

“ทรงคุณค่า ไร้กาลเวลา” สมดังคำว่า Swiss Made เช่นเดียวกัน กับครั้งนี้ DAC501, DAC502 มาพร้อมฟีเจอร์เทพ จัดให้มาเหมือนกับ Swiss Army Knife ที่รู้ใจผู้ใช้ ทำทุกอย่างได้ดั่งที่เคยฝันว่าอยากให้มัน เป็น ไปไกลเกินกว่าจินตนาการเสียอีก มาดูสิว่าจะได้ Benefit อะไร จากมัน เรามาเปิดประสบการณ์ใหม่กันดีกว่า

30 YEARS EXPERIENCE … 5 YEARS DEVELOP PRODUCT

ด้วยประสบการณ์ในแวดวง Digital Audio ยาวนานถึง 30 ปี Weiss Engineering มีผลิตภัณฑ์ใหม่ จะนำเสนอ นั่นคือ… DAC501 & DAC502 เริ่มโครงการ เมื่อราว 5 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2011 หลังความสำเร็จ อย่างท่วมท้นของ DAC202 ทำให้มั่นใจว่าเดินถูกทาง แล้ว สำหรับตลาดเครื่องเสียงไฮเอนด์ในบ้าน จนมาถึง MAN301 ยิ่งมั่นใจมากขึ้น แต่ถ้าจะย่ำอยู่กับความสำเร็จ เดิมคงไม่ใช่แน่ DAC501 และ DAC502 จึงหาใช่ตัวแทน ของ DAC202 ไม่

PROFESSIONAL DSP TO HOME

สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า Bob Ludwig มาสเตอร์ริ่งเอ็นจิเนียร์ตัวพ่อ รวมถึง Mastering Engineer คนอื่นๆ ที่ทำงานในสตูดิโอระดับโลก ล้วนคุ้นกับอุปกรณ์ ของ Weiss Engineering กันทั้งนั้น เอาเป็นว่ามากกว่า 85% ของสตูดิโอระดับโลกได้นำมาติดตั้งในมาสเตอริ่ง สตูดิโอ นั่นคือ DSP Box ซึ่ง Weiss กำลังนำเสนอสู่ เครื่องเสียงบ้าน และในเมื่อ Weiss ถูกวางตำแหน่งใน ฐานะเครื่องเสียงไฮเอนด์ ย่อมรับประกันว่า คุณภาพของ DSP ก็ต้องไฮเอนด์ และดีที่สุดด้วย

TECHNOLOGY BREAKTHROUGH

เป็นที่ทราบดีว่าเครื่องเสียงที่ใช้กันอยู่ในบ้าน มีข้อจำกัด คือ… “บันทึกมายังไงก็ต้องเล่นไปตามนั้น” ดูสิว่าเครื่องเสียงบ้านมีอะไรบ้าง ลำโพง, เพาเวอร์แอมป์, ปรีแอมป์, DAC +Transport ไม่มีตัวใดเลยที่จะสามารถ จัดการให้คุณได้ตามที่คุณต้องการ อย่างที่ทราบดีว่า Weiss Engineering เจนจัดในเรื่อง DSP มากกว่าใครๆ ด้วยพลังของ 15 x Shark DSP เช่นเดียวกับที่ติดตั้งอยู่ ภายในของ Weiss Mastering ในสตูดิโอ เหมือนกับ ที่มาสเตอร์ริ่งเอ็นจิเนียร์ใช้ Mr. Kent Poon เคยบอก ให้ฟังเป็นไอเดียเมื่อสองสามปีที่แล้ว ถึงวันนี้มาถึงในมือ ผมแล้ว เห็นไหมว่า… น่าตื่นเต้นเพียงไร

A NEW DIMENSION OF D/A CONVERTER DESIGN”

นี่หาใช่เป็นแค่ DAC ตัวใหม่สุดเท่เท่านั้น แต่เป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมดแบบยกคอนเซ็ปต์ กันเลยทีเดียว แยกวงจรของภาคจ่ายไฟแบบ Full Linear ทั้งอะนาล็อกและดิจิทัลออกจากกัน แผงวงจรถูกครอบด้วย Mu-Metal เพื่อป้องกัน การรบกวนจากทรานสฟอร์เมอร์เทอรอยด์สองลูก ที่จ่ายไฟอิสระเช่นเดียวกับที่ใช้ในเครื่องรุ่นเรือธง บอร์ดวางเป็นสองชั้น คือ ภาคดิจิทัล ใช้ 2 x Sebre ESS9018 (16 Ch) ส่วนภาคอะนาล็อกเป็นวงจร Discrete ใหม่ล่าสุด ออกแบบโดย Samuel Groner วิศวกรของ Weiss Electronics มือดีคนเดียวกันกับ ที่ออกแบบ OP1-BP อันโด่งดังที่อยู่ในตัว Media และรุ่นเรือธงนั่นเอง เป็นการ Breakthrough ถือเป็นหลักไมล์ที่สำคัญ จากนั้นก็มาเป็น OP2-BP ใน Medus และ Golden DAC ใน MAN301 ตาม ออกมา ซึ่งก็ยังไม่หยุดพัฒนา เพราะฉะนั้น DAC501 และ DAC502 จึงติดตั้งไว้ด้วยภาค Analog Stage วงจรใหม่ล่าสุด ฝีมือของ Samuel Groner คนเดิม ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าต้องดีมากๆ และเท่านั้นไม่พอ ยังพกมาพร้อมฟีเจอร์ที่จัดการด้วย DSP ซึ่งหาไม่ได้ จาก DAC ตัวอื่นๆ นอกจากนั้น ถึงแม้ว่า DAC501 และ DAC502 จะมีรูปทรงต่างกัน แต่ฟีเจอร์นับว่า ใกล้เคียงกันมาก มีความต่างกันนิดเดียวตรงที่ DAC502 มีขั้วต่อหูฟังแบบ Fully Balanced ชนิด 4 Pins เท่านั้น และมีให้เลือกสองสี คือ เงิน และดำ

วงจร internal signal path resolution 40bit/195.3kHz ที่จ่ายให้กับ DSP ทุกตัวมี sampling frequency ที่ generator คงที่ ทำให้เครื่องพร้อม รองรับข้อมูลดิจิทัลในทุก sampling frequency อาทิ ปัจจุบันของ PCM จนทะลุ 384kHz (DXD) รวมถึง DSD x64 และ x128 โน่นเลย และถึงแม้จะ ทะลุไปไกลกว่านี้ ไม่ว่าจะฟอร์แมตอะไรในอนาคต ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะตกรุ่นDAC502 ตัวที่ทดสอบเป็นสีเงิน มาใน โครงสร้างแบบ Full Frame ต่างกับ DAC501 แต่ก็ดูดี เป็นหนุ่มสวิสที่ “หล่อ สปอร์ ตฉลาด” รูปทรงงดงาม มีหน้าปัดแสดงผลการทำงาน หรือใช้ตั้งค่าการทำงาน สัดส่วนเมื่อเทียบกับคุณชาย MAN301 ใกล้เคียง กันมาก โครงสร้างแข็งแรงมี Aluminum Front Plate อย่างหนาราว 10 มม. น้ำหนักตัวเครื่องดีกำลัง เหมาะ ถ้าเทียบกับ Medea+ ถือว่าเบากว่า แน่นอน ว่าค่าตัวก็เบากว่าด้วย อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่า DAC502 มาพร้อมกับ 4 pin headphone socket ติดตั้งไว้ด้านหลังเครื่อง เสียดายที่ไม่มีหูฟังให้ลอง

FORMAT & DIGITAL INPUT

อย่างที่ทราบดีว่า ปัจจุบัน DSD กลับมาบูมใน แถบเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น แผ่น SACD กลับฟื้นขึ้น มาอีก แถมทาง PCM ก็ทะยานไปจนถึง DXD และ มี MQA มาอีก อนาคตจะมีอะไรมาอีก แต่ด้วยการทำงานของ Weiss Saracon ตามที่ได้กล่าวข้างต้น จึงทำให้ DAC501 และ DAC502 สามารถรองรับได้ทุกฟอร์แมต ไม่ว่า Sampling Rate จะขยับสูงขึ้นไปเท่าไหร่ มันครอบคลุมได้ทั้งหมด ไร้ข้อจำกัดใดๆ อย่าว่าแต่ DSD128 เลย DSD512 หรือ DSD1024 ก็ยังได้ ใช้กันยาวๆ และนี่เป็นคำยืนยันจาก Daniel Weiss นะครับ

LONG TERM SOLUTION

Weiss Engineering สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วย DSP Inputs engine ซึ่งประกอบด้วย SPDIF (Coax, Optical), AES, USB, Ethernet ที่สามารถ Adopt ได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร อีกทั้งเพื่อตอบสนองเทรนด์สตรีมมิ่งของเครื่องเสียงในยุคใหม่ DAC501 และ DAC502 ได้ติดตั้ง NET Module มูลค่าหลายหมื่นมาด้วย ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับโฮมเน็ตเวิร์กได้โดยตรง ด้วยมาตรฐาน UPnP/DLNA ซึ่งจะทำให้เป็นช่องทางการติดต่อจากภายนอก สำหรับสตรีมข้อมูลดิจิทัล ไม่ว่าจาก NAS หรือจากบริการเพลงแบบเหมาจ่ายรายเดือน อย่าง Tidal, Spotify, QOBUZ ก็บ่ยั่น

CONTROL

นอกจากสั่งการด้วยรีโมต ยังสามารถสั่งการด้วยการแตะจอ Touch Screen โดยตรง บิดปุ่มหมุนบนหน้าปัดด้านหน้าตัวเครื่อง และยังมีอีกทางคือ ควบคุมสั่งการด้วย WEB Browser ในการปิด-เปิด, ตั้งค่า, ปรับแต่งฟังก์ชั่นในแต่ละฟีเจอร์ที่ต้องการใช้ ไม่ว่าด้วยคอมฯ หรือ Smart Devices (Smart Phone, Tablet) ก็ได้หมด ทั้ง iOS หรือ Android อะไรอย่างไรก็ได้ ขอให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเถอะ

DSP IMPLEMENTATION

เมื่อได้ยินว่า DSP (Digital Signal Processing) จาก Weiss Engineering ก็หาใช่ DSP พื้นๆ อย่างที่เคยได้ยินนะครับ การที่จะทำให้ได้ผลขึ้นอยู่กับหลักการที่จะเลือกใช้อย่างไร วางไว้ตรงไหนถึงจะได้ผลดีที่สุด ใช้ Shark DSP chipset ถึง 15 ตัว มากกว่า WEISS Pro EQ1 อันโด่งดัง ซึ่งมีติดตั้งอยู่เพียงหกตัวเท่านั้น แปลว่ามีความสามารถสูงกว่าถึง 2.5 เท่า โดย DSP ทุกตัวทำงานบน Digital Domain ซึ่งอยู่ตรงส่วนหน้า ก่อนถึง Digital path ในส่วนของ D/A Converter ทั้งสิ้น จึงไม่ทำให้ข้อมูลบิดเบี้ยว อันจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงนั่นเอง

เมื่อรับสัญญาณจาก Input เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น Sampling Rate เท่าใด จะผ่าน SaRaCon ที่ 40bits/195.3kHz native rate แล้วจึงผ่านไปยังสเต็ปของ DSP แล้วจึงผ่าน SaRaCon อีกครั้ง ลงมาที่ 32bits native rate เพื่อส่งไปให้ DAC ซึ่ง Weiss Engineering ใช้ 32 bit D/A Converter chip ช่องเสียงละแปดตัว ซึ่งเป็น Multi DACs in Chip เทคโนโลยีล่าสุด ให้ทำงานต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในภาคดิจิทัล แล้วจึงส่งต่อไปที่ภาคอะนาล็อก Analog Output ซึ่งไม่ทำให้สัญญาณบิดเบี้ยวไป และนี่คือไม้เด็ดที่ทำให้ WEISS เหนือจากคู่แข่งก็ตรงนี้

WIZARD’S WAND

เราเล่นเครื่องเสียงก็เพื่อความเพลิดเพลิน และต้องรู้สึกสนุกที่จะฟังมันเสมอๆ ต้องเป็น Music For Fun Function อย่างที่ทราบดีว่าคุณภาพเสียงของ Weiss เด่นเรื่อง Transparent ผมเองเชื่อว่า เครื่องเสียงดี แต่ต้องฟังสนุก และความชอบของแต่ละคนก็ต่างกัน เช่น บางครั้งมีอารมณ์อยากฟังเสียงอุ่นๆ ของหลอด หรือจากแผ่นไวนิล หรืออยากฟังเสียงสดๆ ปลายแหลมพลิ้วของสแนร์ บีตหนักของกลองกระเดื่อง เบสแน่นๆ จากเวทีแสดงสด ทำไงได้ล่ะ… แต่ในเมื่อของเราเป็นพ่อมดดิจิทัล อะไรก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น ทุกอย่างสั่งได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสที่มาพร้อมกับ 12 Preset เก็บไว้ได้

ด้วยตัวของ DAC501 และ DAC502 นับว่าล้ำ… มาก ให้เสียงดีอยู่แล้ว ต้องถามทุกคนว่าต้องการมากกว่านี้ไหม DAC501 และ DAC502 จัด features มาเต็มพิกัด แล้วไง… ถามว่าแล้วคุณได้ benefit อะไรบ้างจาก features ของเครื่องที่ติดตั้งมามากมายหลายตัว คำตอบอยู่ตรงนี้ เรามาดูรายละเอียดกัน ผมเลือกเฉพาะที่เริ่มใช้งานได้ และลองเล่นแล้ว เพราะยังมีอีกหลายฟีเจอร์ที่ยังตามมาอีก เรียกว่าความสนุกมีอยู่ทุกนาทีกันเลยทีเดียว

CROSSTALK CANCELLATION (XTC)

การที่เราได้ยินเสียงจากลำโพงทั้งสองข้าง เราไม่สามารถได้ยินเช่นเดียวกับที่ฟังจากหูฟังได้เลย เนื่องจากจะเกิดอาการที่เรียกว่า Crosstalk เกิดขึ้น ทำให้เวทีเสียงแคบ การจำแนกตำแหน่งชิ้นดนตรีก็จะยาก ยุ่งยากในการเซ็ตอัพลำโพงเพื่อให้ได้เวทีเสียง จากการวิจัยพัฒนาร่วมกับ ILLUSONIC แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องแบบนี้คือทางถนัดของเขานะ

ด้วยการใช้หลักการ Spatial Algorithm: Speaker/Headphone Listening อย่างที่ทราบดีว่าจะได้ยินเสียงแบบ 3D Sound เมื่อฟังจาก Binaural Recording ด้วยความสามารถของDSP ภายในของ DAC501 และ DAC502 ก็จะได้เสียง เป็นสามมิติ แม้ฟังจากลำโพงคู่เดียวที่ตั้งอยู่ในตำแหน่ง เดิมที่คุณฟังอยู่ทุกวันนี่แหละ ซึ่งต่างจาก QSound ซึ่งเป็นระบบบันทึกที่เจ๋ง จึงทำให้กว่าจะคลอดออกมาได้ ก็ตรงที่ว่าต้องใช้ Spatial Algorithm ที่ออกแบบมา โดยเฉพาะ โดยคุณไม่จำเป็นต้องใช้ไฟล์ที่บันทึกด้วย ระบบ Binaural Recording ประมาณว่าซีดีธรรมดา หรือ Tidal Master นี่แหละก็ให้เสียงเป็น 3D ได้ นี่เป็นฟังก์ชั่นที่ต้องลองเล่นให้ได้ คำที่ว่า “หลุดตู้ หรือ ลำโพงล่องหน” ได้ยินมานานว่ากว่าจะทำได้เช่นนี้ มือเซ็ตลำโพงต้องเป็นเซียนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ “กูรู มือตบลำโพง” ท่าทางจะตกงานก็ตรงนี้ล่ะ สรุป… ไม่ว่าจะตั้งลำโพงห่วยแตกยังไง โหดสุดตรงจะตั้งลำโพง ตู้ซ้ายกับตู้ขวาห่างกันแค่ครึ่งเมตร หรือห้องแคบๆ สัก ไม่เกินสองเมตร ..ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แม้สถานที่ คับแคบตั้งลำโพงได้แย่แบบนี้ก็ ให้เสี ยงไฮเอนด์ ได้ ดั งนั้น ห้องจะกว้างหรือแคบก็จะเป็นไรไป

DMM VINYL SIMULATION

อีกฟีเจอร์ที่อยากแนะนำให้ลองเล่นดู DMM Vinyl Simulation แปลตรงๆ ก็คือ การจำลอง ต้นฉบับดิจิทัลให้เป็นแผ่นไวนิลที่คนติดใจเสียงมันนัก เราเองก็หาใช่คลั่งแผ่น มนุษย์ดิจิทัลอย่างเราฟังแต่ เสียงอะนาล็อกก็พอ

เป็นการทำงานร่วมกันของ Weiss กับ Stockfisch เจ้าแห่ง DMM (Direct Metal Mastering) CD ในเยอรมนี ใช้เวลาถึงสองปีทีเดียวกว่าจะสำเร็จ ให้เราใช้กัน อยากทราบขั้นตอนของ DMM CD/ SACD หาดูได้ใน Youtube อย่าตกใจถ้าเห็น อุปกรณ์ของ Weiss อยู่ด้วยล่ะ ทำแม่พิมพ์ทองแดง เล่นด้วยหัวเข็มและโทนอาร์มชั้นดี แปลงมันเป็น ดิจิทัล แล้วเราก็เล่นกลับ มันไม่ใช่เล่นๆ ถอดออก มาใกล้เคียงกับของจริง ซึ่งมีเสน่ห์ของ crosstalk และ 2nd Harmonics อันเกิดจากปลายเข็มสัมผัส ร่องแผ่นเสียงที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะ…ยังไงยังงั้น ฟังได้อารมณ์อีกแบบ ดูจาก diagram สิ มันต่างกันไหม…แอบยิ้มมุมปาก สบายเลย ไฟล์คุณภาพ Studio Master มีอยู่เข่งหนึ่ง รู้ใช่ไหมว่าคิดอะไรอยู่

เพียงแต่แตะเลือก Vinyl Simulation เข้าไป อะๆ… หาใช่ใส่ distortion, rumble, เสียงป็อปคอร์น หรือ groove noise เข้าไป นั่นมันด้านไม่ดีของแผ่นดำที่เราไม่ชอบแผ่นเสียงนี่นา เราอยากได้เสียงอุ่นๆ หนาๆ ของไวนิล ซึ่งก็เป็นความเพี้ยนที่ชอบไม่ใช่เหรอ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในยุคดิจิทัล ตวัดไม้กายสิทธิ์เพียงครั้งเดียว …จริงๆ นะ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เข้าทาง Weiss สิ มีทริกอยู่นิดหนึ่งตรงที่ต้องตั้งค่า Saturation ให้เหมาะสม คืออยู่ระหว่าง 5 – 7.0 dB จึงจะให้เสียงดีอย่างที่ควรจะเป็น

DSP ของ Weiss DAC501 และ DAC502 จะจำลองบรรยากาศอะนาล็อกอุ่นๆ อารมณ์เช่นนั้นมาใส่ไว้ให้ ทีนี้ก็เพียงแต่หลับตา หรือดูภาพเทิร์นจาก Youtube แล้วฟังด้วยหูก็พอ

EQ (CREATIVE EQUALIZATION)

พูดถึงระบบ EQ ที่มีคุณภาพสูงสุด คงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก Weiss EQ1 ที่ได้รับการยอมรับ และใช้อยู่ในสตูดิโอระดับโลกแทบทุกแห่ง รวมถึงของป๋า Bob ด้วย อัลกอริธึ่มที่ใช้อยู่นั้นมีระดับการประมวลผลสูงมากถึง 40bits/195.3kHz เป็นผลให้ความเพี้ยนรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น noise, phase shift ต่ำมาก คงไม่แปลกหากบอกว่า อัลบั้มต่างๆ ที่เราชื่นชอบกว่า 90% ล้วนผ่านการปรับแต่งในสตูดิโอจาก Weiss EQ1 มาแทบทั้งสิ้น ข้อสำคัญ… ระบบ EQ ที่ว่านี้ ในที่สุดก็ถูกบรรจุอยู่ใน DAC501 และ DAC502 นั่นเอง… แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากมันล่ะ มาฟังต่อ

บางครั้งพบว่า อัลบั้มโปรดมีปัญหากับเสียงเบส ความถี่สูงจมหาย เพราะบันทึกมาไม่ดี เสียงด้านๆ ฟังไม่สนุก สมัยก่อนก็ต้องทนฟังไป ชอบดนตรีนี่นา ช่วยไม่ได้ที่มันบันทึกห่วยแตก แต่ถึงอย่างไรมันก็คือสุดยอดอัลบั้มตลอดกาลที่ขายได้หลายสิบล้านก็อปปี้ ถึงวันนี้ DAC502 มีเครื่องมือมาช่วยคุณ เรียกว่า Creative Equalization เป็นฟังก์ชั่นที่จะชดเชยช่วงความถี่ที่หายไป ช่วยให้คุณภาพเสียงเป็นไปอย่างที่ต้องการ เป็น Equalizer ที่มีมูลค่านับหมื่นเหรียญเชียว แน่นอนว่าเป็นฟังก์ชั่นไม่ธรรมดา จากนั้นก็จัดการด้วย Weiss SaRaCon ด้วยราคาค่าตัวราว (@3000 USD) เชียวนะ ซึ่ง EQ (Creative Equalization) นี้เป็น Custom version ที่ติดตั้งมาเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปอย่างเรานี่แหละ ทำให้ฟังเพลงสนุกขึ้น ปรับได้ตามใจกันเลย

ROOM EQUALIZATION

ฟีเจอร์นี้ต่างจาก Creative Equalization ค่อนข้างเยอะ ตรงที่เป็นการจัดการกับห้องที่มีปัญหา เรียกว่าเล่นกันเป็นระบบ คือ Room Correction ชั้นดี ที่จะจัดการกับเสียงเบสบวมๆ แหลมกุดๆ ให้ได้อย่างที่คุณอยากฟังในห้องที่แอคูสติกส์ไม่สมบูรณ์แบบ ฟีเจอร์นี้เพิ่งได้รับข้อมูลมาจนจะส่งต้นฉบับอยู่แล้ว บอกตรงๆ ว่าไม่ได้เล่น อีกอย่าง… ผมว่าห้องผมแอคูสติกส์ดีพอแล้วนะ แต่บอกเลยว่าอาจจะปฏิเสธไม่ลงเลยนะ… ขอบอก

นอกจากนั้น DAC501 และ DAC502 ยังติดตั้งเฮดโฟนแอมป์ Class A แบบ discrete ที่มีพลังมากพอจะขับหูฟังได้หลากหลาย และสามารถทำเป็นปรีแอมป์ต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ได้ตรงๆ ด้วย

UNRELEASE FEATURES..

มีฟีเจอร์ที่เรียก HRTF หรือ 3D Headphone Out Of Head Localization algorithm เมื่อฟังหูฟัง เสียงจะวนอยู่ในหัวนั่นแหละ อย่างที่บางคนเรียกว่าพวก Headphile ไง DSP กับ Out Of Head Localization algorithm จะจัดการทำให้เสียงมี Soundstage เมื่อหลับตาลง ระบุตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ชัดเจนเหมือนนั่งอยู่หน้าวงดนตรี หรือลำโพงที่เซ็ตอัพอย่างดี อย่างไม่เคยมีมาก่อน หูฟังอะไรก็ได้ ยิ่งแพงแค่ไหนก็ยิ่งคุ้ม สวรรค์ไหมล่ะ ต้องตั้งคำถาม เมื่อไรจะรีลีส

DE-ESSING ฟีเจอร์ที่จัดการกับเสียงที่จะรบกวนความบริสุทธิ์ของเสียงร้อง เมื่อนักร้องร้องใกล้ไมค์เกินไป เหมือนมี Sssss… Ttttt มากเกินไป จัดการกับมันในสตูดิโอ เรียกว่า De-Essing เน้นเรื่องเสียงร้องอย่างเดียว เพราะมีเครื่องมือที่เรียกว่า DSP (Digital Signal Processing) ซึ่งต่างจากปรับ Tone Control หรือ Equalizer ที่จะทำให้รายละเอียดของชิ้นดนตรีหายไป ซึ่ง DSP สามารถจัดการกับมันได้

CONSTANT VOLUME ปกติ Streamer มีปัญหาสำหรับเพลย์ลิสต์ที่มาจากหลายๆ อัลบั้ม ซึ่งระดับเสียงไม่เท่ากัน บางครั้งดังเกินไป บางครั้งก็เบาเกินไป ดังโพล่งขึ้นมาหูจะแตกกันเลยทีเดียว ปกติจะไม่สามารถปรับความดังให้เสมอกันได้ โดยไม่ลดทอนคุณภาพเสียง แต่ฟีเจอร์นี้ทำได้ โดยไม่ลดทอนคุณภาพเสียง

MQA READY เป็น Topic ที่ค่อนข้างฮอต แน่นอนว่าคุณภาพเสียงมี Signature ต่างจาก PCM หรือ DSD โดยสิ้นเชิง ที่แน่ๆ ต้องได้อานิสงส์โดยตรงคือ Streaming Service อย่าง Tidal เพราะสามารถให้บริการเพลง Hi-Res ได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องกังวล เพราะ Weiss อยู่ใน MQA community อยู่แล้ว

ROON STREAMING รวมถึง AIRPLAY ก็ยังมิได้ Release Firmware ให้รองรับเช่นกัน อดใจรอนิด ใจเย็นๆ มาแน่ …ลุ้นๆ

CONNECTIVITY

ผมใช้ LAN cable เป็นส่วนใหญ่ในการเชื่อมต่อ แม้มีดิจิทัลอินพุตอื่นมากมาย อีกตัวคือ USB(2) ไว้พ่วงกับคอมฯ ถ้าเป็น MAC ไม่ต้องลง Driver ใดๆ แต่ถ้าเป็น Windows ต้องโหลดมาลงนะจ๊ะ อีกช่องเป็น USB(3) ที่ให้คุณสร้างคลังแสงด้วยตัวเอง เสียบ HDD เก็บไฟล์เพลงที่ซื้อหา หรือริปไว้

Applications: MConnect HD, 8 Player สำหรับการเชื่อมต่อแบบ DLNA ส่วนจาก MAC ใช้ Audirvana Plus, Amarra4 Luxe ซึ่งทั้งคู่ต่างผูกปิ่นโตกับค่าย TIDAL Streaming Service ที่มีเพลง Hi-Res มากชนิดฟังกันไม่ทัน รวมถึงก็มี Remote App บน Smart Devices ทั้งคู่

การต่อพ่วงจาก Analog Output ทำได้หลาย อย่างตามที่อยากเล่น…

  • แบบแรก ต่อตรงๆ ไปเข้าอินทิเกรตแอมป์ Vitus RI100
  • แบบที่สอง ต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ Mark Levinson แต่ต้องระวัง ต้องหรี่ Volume เสียก่อนนะ
  • แบบที่สาม ช่องเสียบหูฟัง ต่อกับหูฟังชนิดครอบ มาดเข้ม Kennerton VALI เป็นตัวอ้างอิง เมื่อทดสอบ แอมป์หูฟัง

SETTING

เครื่องเสียงสมัยใหม่ต้องตั้งค่าเสียหน่อย ขั้นตอน ไม่ได้ยุ่งยากอะไร อย่าเพิ่งเปิดแอมป์หรือเสียบหูฟัง เด็ดขาด ต่อสายไฟ สายต่างๆ เสร็จ ก็ต้องตั้งค่าให้ เรียบร้อย แล้วจึงเปิดแอมป์หรือเสียบหูฟัง หลังจาก เปิดเครื่อง สิ่งแรกต้องรู้ก่อนว่าจะให้เอาต์พุตไปออก ตรงไหน (Line/Headphone) เลือกได้จากรีโมต จากนั้น ก็ต้องตั้งค่าเกนขยายด้วยการแตะที่หน้าจอ มีให้เลือก 4 ตำแหน่ง คือ… 0dB, -10dB, -20dB และ -30dB ซึ่งเป็นเกนที่ต่ำสุด ทีนี้ก็พร้อมเล่น ซึ่งขณะทดสอบก็ใช้ หูฟัง Kennerton VALI เป็นตัวอ้างอิง หูคู่นี้ไม่โหดเท่าไหร่ Impedances อยู่ที่ 32 Ohms เท่านั้น ก็เลยตั้งค่าไว้ที่ -10dB (2.7 Vrms) สบายๆ ความจริง -20dB ก็ยังได้ จะเป็นเพราะเป็นคนชอบเผื่อก็ไม่ทราบ ชอบแอมป์แรงๆ ไว้ก่อนดีกว่า ขับได้หมดจดดี

ส่วนเมื่อต่อกับแอมป์ก็มีให้ปรับเช่นกัน XLR Output: 8.15 Vrms, 4.15 Vrms, 2.12 Vrms และ 1.06 Vrms ที่เหลือก็เลือก Input: NET(UPnP), USB, XLR, RCA, TOS ตามอัธยาศัย พร้อมแล้วก็เปิดแอมป์ หรือหูฟังได้เลย ในที่นี้ผมจัดHeadphoneที่ -10dB และ Line ที่ 0dB เสียดายที่ไม่มีหูฟัง 4 Pins เลย พลาดโอกาสไป

SHOWTIME

ถึงเวลาแล้วที่ DSP (Digital Signal Processor) ไม้กายสิทธิ์ หรืออาวุธคู่กายของศิลปินสตูดิโอประมาณ ว่าเป็นเครื่องมือชุดเดียวกันกับ Bob Ludwig มาสเตอริ่งเอ็นจิเนียตัวพ่อใช้ ถูกติดตั้งเครื่องมือที่ว่านี้ มากับเครื่องเสียงไฮเอนด์ของ Weiss: DAC501 และ DAC502 โดยที่ยังไม่เคยมีใครกล้าทำอาจจะพูดได้ว่า “อยากฟังอย่างที่พี่ชอบก็ทำได้” ทำได้ง่าย และดีด้วย แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องเปิดฟังก์ชั่นนี้ มันเป็นดิจิทัล ยากที่คิด แต่ง่ายที่เราใช้ ไม่ชอบก็แค่ Bypass ออกไป ก็เท่านั้น คำเตือน Enable ไปแล้ว ยากที่จะ Bypass ออกไปนะ…

สตรีมจาก HDD หรือ NAS เลือกอัลบั้ม Hi-Res ที่บันทึกมาดีๆ เช่น ค่ายออดิโอไฟล์ RR, Linn, Naxos ซึ่งบันทึกมาดีมากๆ ไม่ต้องกังวล ให้เสียงดีมากๆ ยิ่งเสริมฟีเจอร์ที่ร่ายมาสามตัว แจ่มเลย ไม่มีที่ติครับ

ส่วนถ้าอัลบั้มตลาดๆ RUSH 2112 เป็นตัวอย่าง ที่ดีมาก ต้นฉบับเสียงแบนๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดำหรือไฟล์ จัด EQ ลงไป เบสกลองแน่นขึ้น น่าฟังขึ้น, อัลบั้ม Iron Maiden: the Book of Souls ก็เช่นกัน เสียงทึบๆ อารมณ์สนุกจะหายไปทันที ต้องใช้ เวทย์มนตร์ช่วย

D/A Converter สุดล้ำ มิติใหม่ของดิจิทัลฟรอนต์เอนด์ระดับไฮเอนด์ที่เหนือจินตนาการ

เล่นมาร่วมเดือน ส่วนใหญ่เป็นชุดใหญ่ มีหูฟังบ้าง ผมมักจัดเต็มด้วยฟีเจอร์ XTC, Creative EQ, Vinyl Simulation ทันทีที่ Enable XTC ผล… เสียงดนตรีมิได้ออกจากลำโพง เวทีเสียงจะถ่างออกจนทะลุกำแพงออกไป ผนังห้องแคบๆ ของ Home Studio หายไปไหน เสียงโอบล้อมเป็นสามมิติ ตำแหน่งชิ้นดนตรีแม่นเป๊ะ นักร้องนำยืนมาด้านหน้า กีตาร์ซ้ายมือ กลองอยู่ด้านขวาระหว่างลำโพง ริธึ่มกับคีย์บอร์ดขวามมือออกนอกกำแพงไป… เชื่อมะ เท่านั้นยังไม่ พอวงดนตรีร็อกยุค ’70s บันทึกดีให้ตายก็ได้แค่นั้น น้อยนักที่จะบันทึกมาดี ก็ช่วยได้ด้วย Creative EQ เพิ่มอิมแพ็คให้มันเสียหน่อย เพลงร้องอย่างของแม่นาง Diana Krall หรือ Norah Jones ปรับอารมณ์นิดด้วย Vinyl Simulation ฉ่ำขึ้นมาทันที ข้อสังเกตว่า สำหรับ Vinyl Simulation นี้ ถ้าบันทึกมาไม่ดี แล้วเราเผลอไปเพิ่ม Saturation มากกว่า 7dB แล้วล่ะก็ จะ Distortion กลายเป็นเสียงแตกพร่าไป ต้องลองเล่นไปสักพักจะทราบว่าตรงไหนดีที่สุด แล้วตั้งค่า Preset ไว้ ก็จะง่ายเมื่อกลับมาใช้ใหม่ เพราะเพลงหลายประเภทจะตั้งค่าเดียวกันได้อย่างไร เออ… แบบเดิม เราก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้นี่นา

เมื่อจัดเต็มทุกฟีเจอร์ XTC, Creative EQ, Vinyl Simulation หลายอัลบั้มก็น่าฟังขึ้นเยอะ อัลบั้มเดิมกลับมาฟังใหม่ สดขึ้นเยอะ ยังกะบันทึกเมื่อวานนี้เชียว ไม่ยากบอกเลย ลืมไปเลยว่าอัลบั้มที่ฟังเป็น Hi-Res หรือ CD Standard จาก Tidal หรือ Tidal Master เสียด้วยซ้ำถึงตรงนั้น ความมันส์ไม่เคยปรานีใคร ฟังสนุกลืมเวลาอยู่เรื่อยๆ จนลูกสาวแม่ยายเลิกเตรียมมื้อเย็นไว้ให้แล้ว

WRAP UP

สิ้นสุดการรอคอยเสียที หลังจาก “ติดโรคเลื่อน” มานาน ฟีเจอร์ออกเยอะ แม้ยังไม่ครบก็ฟินแล้ว เมื่อเล่นแล้ว บางส่วน คุ้มกับการรอคอย สมกับที่คุยไว้ เชื่อแล้วว่า ทำไมโด่งดัง ทำเอาจนของขาดตลาด ยอดจองทะลุถึงปีหน้า ในที่สุดเครื่องเสียงไฮเอนด์ในนิยามใหม่ตัวนี้ก็ได้เข้าสู่ตลาดเครื่องเสียงไฮเอนด์ในเมืองไทยแล้ว

ฟีเจอร์อัดแน่นขนาดนี้ เทียบกับค่าสินสอดถือว่าคุ้มมาก เลือก DAC502 หรือจะใช้ DAC501 ก็จ่ายน้อยลงอีกหน่อย จับคู่กับลำโพง Active ดีๆ สักคู่ อย่าง Manger S1 หรือ KlangWerk ก็ได้ ไม่ต้องใช้ NAS ก็ได้ HDD สักตัวเสียบเข้าที่ท้ายเครื่อง เหมาจ่ายรายเดือนกับ Tidal Hi-Fi ฟังอัลบั้ม Tidal Master แค่นี้ก็ฟังไม่ทันแล้วครับ

DAC502 เป็น D/A Converter ที่สุดล้ำจัดให้ครบ มีความโดดเด่นต่างจากตัวอื่นในประเภทเดียวกัน ถูกบรรจุอยู่ในทำเนียบมิติใหม่ของเครื่องเสียงดิจิทัลฟรอนต์เอนด์ระดับไฮเอนด์ที่ Weiss จัดมาให้เหนือจินตนาการจริง ต้องแสดงความยินดีกับ Danial Weiss อีกครั้ง กับความสำเร็จของ DAC501 และ DAC502 ยากที่จะหาตัวเทียบได้ อ้าปากค้างไปกับฟีเจอร์ที่ช่างคิดได้ลึกล้ำคิดได้ไงฟะ โปรดอย่าสงสัยว่า ทำไมผมพูดเช่นนั้น… ต้องลองหาโอกาสมาฟังกับหูเองให้ได้ จะทราบว่าไม่เกินเลยจริงๆ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่  249