HARBETH COMPACT 7ES-3 40th ANNIVERSARY
ปฤษณ กัญจา
มีเพื่อนทางเฟซบุ๊กคนหนึ่งโพสต์ข้อความประมาณว่า “เมื่อเรามีวัยวุฒิมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น เราจะโฟกัสกับเรื่องที่เราสนใจจริงๆ และให้ความสนใจกับเรื่องอื่นๆ ลดลง…” ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยยึดเอาพฤติกรรมของตัวเองมาเทียบเคียง เพราะระยะหลังมานี้ ผมก็เริ่มดำเนินชีวิตที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อาทิ ไม่ดูละครหลังข่าว 555 หรือสนใจเครื่องเสียง ลำโพง เฉพาะแนวทางที่ตัวเองชอบ รวมไปถึงเลือกฟังเพลงที่ให้ความสนใจเท่านั้น ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ทำให้ประหยัดเงินไปพอสมควร แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ประหยัดไปเท่าไหร่ มิหนำซ้ำเหมือนจะจ่ายมากกว่าเดิมด้วย เพราะราคาซอฟต์แวร์ของแนวเพลงที่สนใจอยู่ตอนนี้สูงเอาเรื่องทีเดียว
ทีนี้มาดูกันที่เรื่องลำโพง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะขอเล่ากันฟังในครั้งนี้
ช่วงที่ผ่านมา น่าจะหลายปี ผมสนใจลำโพงฮอร์น ลำโพงที่ใช้ไดรเวอร์ฟูลเรนจ์ ลำโพงอิเล็กโทรสแตติก และล่าสุดลำโพงที่ตัวตู้เป็นระบบ Transmission Line ของทาง Rex D.I.Y ที่เพิ่งขนจากเชียงใหม่มาโชว์ในงาน BAV SHOW 2019 ส่วนลำโพงทั่วๆ ไป Harbeth น่าจะเป็นยี่ห้อที่ได้ฟังบ่อยหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ที่ห้องฟังของนิตยสารออดิโอไฟล์ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว Harbeth เป็นลำโพงที่ผมรู้สึกว่า มันเป็นลำโพงที่ดูรวย ทั้งรูปลักษณ์ คุณภาพเสียง และราคา
หลังงาน BAV SHOW 2019 ทางร้าน Sound Box ยกลำโพง Harbeth รุ่น Compact 7ES-3 40th Annivesary มาให้ฟัง ด้วยว่าผมชอบในน้ำเสียงที่ได้ยินจากห้องโชว์ของร้าน HiFi 99 ในงานที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อได้เห็นตัวลำโพงใกล้ๆ ผมก็ยิ่งมั่นใจในความรู้สึกของผมว่า Harbeth เป็นลำโพงที่ดูแพง (หมายถึงลำโพงที่ดูมีรสนิยม มีคุณค่า วัดค่าเป็นนามธรรม) เพราะผิวตู้ที่เรียกว่า Tamo Ash นั้น …เลาว่ามันเลอค่าจริงๆ (เลา ก็คือ เรา … ภาษาเขียนที่นิยมใช้ในเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะแมวเฉโป – chepocat ชอบใช้มาก คนที่ไม่ใช่ทาสแมวคงงงล่ะสิ 555
สำหรับห้องฟังห้องเล็กของนิตยสารออดิโอไฟล์ที่ผมใช้ฟังเพลง (หมายถึงยึดถาวร) ผมได้เปลี่ยนด้านนั่งฟังเป็นด้านตรงกันข้ามกับของเดิม เนื่องจากเกิดเหตุท่อน้ำทิ้งของเครื่องปรับอากาศตัน น้ำก็เลยหยดลงมาตรงตำแหน่งที่วางชุดเครื่องเสียง แต่เนื่องจากผมเป็นพวกที่ไม่ประมาท จึงเลื่อนสายไฟ สายลำโพง ให้ห่างออกมาจากใต้เครื่องปรับอากาศ เพราะคิดว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งอาจจะเจอแจ็กพ็อต ซึ่งก็เจอจริงๆ ครับ ก็เลยโชคดี เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ที่โดนน้ำแม้แต่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากจัดการเรื่องเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติแล้ว อย่ากระนั้นเลย เพื่อความปลอดภัย ผมควรจะย้ายตำแหน่งนั่งฟังมาอยู่ฝั่งเครื่องปรับอากาศ ส่วนชุดเครื่องเสียงและลำโพงก็ไปอยู่ฝั่งประตู ข้อดีคือ เวลาใครเปิดประตูเข้ามาก็จะรู้ ถ้านั่งแบบเดิม ใครเข้ามาฟาดหัวก็จะไม่เห็นตัวผู้ต้องสงสัย 555
เอาเป็นว่า… ในที่สุด ผมก็ได้ตั้งลำโพง Harbeth Compact 7ES-3 เรียบร้อย ซึ่งอะคูสติกส์ฝั่งที่ตั้งลำโพงนี้ ผนังห้องเป็นไม้เซาะร่องเล็กๆ กรุไว้โดยรอบ ทีแรกผมก็ไม่ได้คิดอะไรใดๆ เพราะห้องฟังนี้ก็ทำตั้งแต่ย้ายออฟฟิศมาที่นี่สิบกว่าปีแล้ว และตลอดเวลาที่ผมใช้งานห้องนี้ก็นั่งฟังแบบเดิมๆ ไม่เคยย้ายฝั่งเลย ทว่า พอย้ายลำโพงมาตั้งฟังนี้กลายเป็นว่า คุณภาพเสียงที่ได้ยินจากลำโพง Harbeth ดีมากเกินคาดหมาย ที่ผมบอกว่าเกินความคาดหมาย เพราะการตั้งลำโพงของผม ไม่น่าจะทำให้เสียงออกมาดีขนาดนี้ ????
ทำไม? คือเดิมก่อนที่ผมจะยก Harbeth เข้ามา ผมใช้ลำโพงไดรเวอร์ฟูลเรนจ์ที่อยู่ในตู้ขนาดใหญ่ หรือที่แซวๆ กันก็คือ ขนาดตู้กับข้าว เอาแค่ว่าลำโพงสองข้างก็เกือบเต็มความกว้างของห้องฟังแล้ว (ห้องฟังกว้าง 2.9 เมตร)
ทีนี้ด้วยความขี้เกียจของผม ผมก็เอา Harbeth วางบนขาตั้ง แล้วตั้งด้านหน้าลำโพงฟิลิปส์ ขอเรียกลำโพงฟิลิปส์ก็แล้วกันนะครับ เพราะไดรเวอร์ฟูลเรนจ์เป็นของยี่ห้อฟิลิปส์ ตั้งห่างออกมา 21 ซม. กะว่าจะฟังเล่นๆ ก่อน ถ้าไม่ไหวค่อยย้ายลำโพงฟิลิปส์ออกไป ผมตั้ง Harbeth ห่างกัน 152 ซม. นั่งฟังห่างออกมาประมาณ 180 ซม. จริงๆ ก็แอบดีใจว่า มันได้ตำแหน่งนั่งฟังที่ควรจะเป็น คือเมื่อวัดระยะห่างลำโพงกับจุดนั่งฟังเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าแล้ว ปกติผมจะถอยออกมาอีก 30 ซม. ซึ่งก็จะประมาณ 180 ซม. นิดๆ พอดี ถามว่าใกล้ลำโพงไปไหม ก็ดูเหมือนว่าจะใกล้ครับ แต่ไม่รู้จะทำยังไง เพราะตอนนี้ลำโพงสองคู่แน่นห้องไปหมด ก็เลยช่างมัน ลองฟังไปก่อน แล้วค่อยว่ากันอีกที
แล้วความอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อเสียงแรกที่ได้ยินถูกถีบไปอยู่ด้านหลังลำโพงฟิลิปส์ทั้งหมด เฮ้ย! เสียงหลุดตู้ ลำโพงล่องหน บลาๆๆๆ ไม่ว่าจะใช้ศัพท์อะไรมาอธิบาย มันก็คือ เสียงที่ลอยอยู่ด้านหลังลำโพง Harbeth ถ้าไม่เอาหูไปแนบที่ตัวลำโพงก็ไม่คิดว่าเสียงที่ได้ยินมาจากลำโพงคู่นี้ นึกว่าเปิดจากลำโพงฟิลิปส์ด้วยซ้ำไป ข้อดีข้อที่หนึ่งนะครับ
เมื่อมันฟังดีแบบนี้ ความคิดที่จะย้ายลำโพงฟิลิปส์ออกจากห้องจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ทีนี้ไหนๆ ก็เลือกแผ่นซีดีเพลงไทยมาเปิดแล้ว (แผ่นอาจารย์ไข่ Time+กาล) อัลบั้มต่อๆ ไปก็เลยขอเป็นเพลงไทยทั้งหมดที่ออกกันในช่วงนี้ กะจะดูว่า สิ่งที่ผู้ผลิตเพลงแต่ละค่ายตั้งใจทำกันนั้น เมื่อฟังกับ Harbeth แล้ว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นไฉน และอย่างไร?
เริ่มจากอัลบั้ม Discovery HiFi Prologue 2 ระยะลึกของเวทีเสียงหลุดพ้นออกนอกห้องไปเลยครับ เหตุผลก็คือ อัลบั้มนี้บันทึกเสียงที่ Studio 20 ที่มีขนาดใหญ่ ฉะนั้น การที่เสียงจะลึกออกไปจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และสิ่งที่มาพร้อมกับความลึกก็คือ บรรยากาศที่โล่งเป็นโถงขึ้นไป ให้ความรู้สึกเปิดโปร่ง บ่งบอกถึงลักษณะของสถานที่บันทึกเสียงได้ชัดเจนครับ มาดูกันที่เนื้อเสียงของเครื่องดนตรีและเสียงร้อง จุดนี้ถือว่าเป็นจุดขายของ Harbeth ก็ว่าได้ครับ เพราะให้เนื้อเสียงที่มีมวล รู้สึกถึงความยืดหยุ่นของลักษณะเสียงแต่ละประเภทได้ ลบข้อครหาที่ว่าลำโพงสมัยใหม่มักให้เนื้อเสียงที่บางแบบไม่เหลือเลยครับ เสียงย่านความถี่ต่ำมีน้ำหนัก แต่ไม่ได้ออกไปทางสด เป็นความถี่ต่ำที่กำลังพอดีๆ คาดว่าถ้าฟังเพลงร็อกดิบๆ อาจไม่ชาทางของลำโพงคู่นี้ครับ ส่วนแนวเพลงอื่นๆ จากนี้ รับประกันว่าจะชอบเสียงย่านความถี่ต่ำของ Harbeth ครับปกติผมไม่ใช่คนบ้าเบส แต่ระยะหลังๆ มานี่ ชอบฟังเสียงเบสครับ โดยเฉพาะจากเครื่องดนตรีอะคูสติก ไม่ว่าจะเป็นอะคูสติกเบส เชลโลโน้ตต่ำๆ หรือเปียโน ถ้าลำโพงคู่ไหนให้เสียงเบสได้เพราะ เสียงย่านอื่นๆ ก็จะเพราะตามไปด้วย อัลบั้มนี้ ลำโพงฟิลิปส์ของผมให้เสียงเบสก็ว่าเพราะดีทว่าความใสของเสียงและรายละเอียดของเสียงย่านนี้ Harbeth ชนะเลิศครับ
สำหรับเสียงย่านความถี่สูง Harbeth ก็ให้เสียงที่เพราะ มีความกังวาน มีเนื้อเสียง น่าฟัง จะบอกว่าฟังเสียงอะไรก็เพราะไปหมด ก็คงใช่ครับ
อัลบั้มต่อมาของค่ายใบชาซอง งานของ “Mueanfun: ฝัน เหมือนฝัน” อัลบั้มนี้บันทึกเสียงที่ใบชาสตูดิโอ เพราะฉะนั้น ลักษณะรูปวงและบรรยากาศของสถานที่บันทึกเสียงที่ถ่ายทอดออกมาจาก Harbeth จึงแตกต่างจากอัลบั้มแรก ฟังออกได้ชัดครับ โดยเฉพาะด้านลึกที่กลับเข้ามาอยู่ในบริเวณห้องฟัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คิดว่าจะตามมาจากการที่ห้องบันทึกเสียงมีขนาดเล็ก อย่างบรรยากาศที่ห้อมล้อมตัวเสียงเครื่องดนตรี หรือขนาดของเครื่องดนตรีที่น่าจะถูกย่อลง กลับพบว่าไม่เป็นอย่างที่คิดครับ
เสียงความถี่ต่ำในแทร็กแรกยังคงมีขนาดเสียงที่ใหญ่สมจริง มีเนื้อเสียง มีแรงปะทะที่ดีมาก เสียงเปียโนมีความกังวาน เป็นเสียงเปียโนที่เพราะ แรงกดของคีย์ที่กระทำกับเส้นลวดมีน้ำหนัก ไม่เลื่อนลอยจนทำให้เสียงเบาโหวง เสียงร้องของคุณฝันมีความดิบดี ดิบในที่นี้หมายถึงการถ่ายทอดเสียงที่มีลักษณะเฉพาะของเสียงร้องออกมาสมจริง คือเนื้อเสียงของคุณฝันจะไม่นุ่มเนียน แต่มีความห้าวแหบนิดๆ อธิบายไม่ถูกครับ แต่ฟังออกว่านี่เป็นเสียงร้องของเธอ การถ่ายทอดอารมณ์ทำได้ดีมาก เป็นอัลบั้มที่ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่ล้มเลิกกลางคันอีกอัลบั้มหนึ่งครับ
จริงๆ ก็ยังมีอีกหลายอัลบั้มที่นำมาฟังกับ Harbeth Compact 7ES-3 40th Anniversary ซึ่งแต่ละอัลบั้มต่างก็มีคุณภาพการบันทึกเสียงที่แตกต่างกันไป หากทั้งหมดจัดว่าเป็นอัลบั้มที่เสียงดีทั้งนั้นครับ ฟังเพลินทุกอัลบั้ม ให้มิติและเวทีเสียงเป็นไปตามสถานที่บันทึกเสียง แม้จะเป็นการบันทึกเสียงแบบมัลติแทร็กที่เก็บเฉพาะมาแต่ตัวเสียง ทว่าก็ยังคงมีแอมเบี้ยนต์ของห้องติดมาให้ได้ยินกันอยู่ ซึ่งถ้าไม่มีแอมเบี้ยนต์ติดมาด้วย เสียงก็คงฟังดูแปลกๆ ล่ะครับ
จากที่ฟังกันนานหลายๆ วัน โดยส่วนตัว ผมชอบลำโพง Harbeth รุ่นนี้มาก และถ้าจะบอกกันตรงๆ ผมเชื่อแน่ว่า คุณภาพเสียงของลำโพงรุ่นนี้จะต้องดีกว่าที่ผมได้ยินอีกหลายเท่า เหตุผลก็เพราะอุปกรณ์ที่ผมใช้ร่วมกับ Harbeth เป็นอุปกรณ์พื้นๆ มาก อินทิเกรตแอมป์หลอดพุชพูล EL84 ของ D-Corner, เครื่องเล่นบลูเรย์ของ Pioneer BLP-70A รุ่นแรกๆ ของไพโอเนียร์, สายลำโพงวินเทจไม่ปรากฏสัญชาติ, สายนำสัญญาณใช้ดีหน่อย Symphonic Line ผมว่าราคารวมๆ กันไม่น่าเกิน 6 หมื่นบาท อินทิเกรตแอมป์กำลังขับไม่เกิน 10 วัตต์ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมบอกว่าเหนือความคาดหมายได้ยังไงครับ นี่ถือเป็นข้อดีอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
Harbeth Compact 7ES-3 40th Anniversary มีความแตกต่างจากรุ่นปกติอยู่ในหลายๆ จุด หลักๆ ก็คือ การเลือกใช้อุปกรณ์เกรดดีกว่า รวมไปถึงตัวตู้ที่ใช้ผิววีเนียร์ Tamo Ash ที่สวยงามมาก และแน่นอนว่าตัวตู้ก็ทำได้เนี้ยบสุดๆ เช่นกัน
สเปกหลักๆ ย่านความถี่ต่ำตอบสนองถึง 40Hz ไม่ถือว่าลงต่ำนัก แต่ที่ได้ฟัง ผมว่าไม่ทำให้อรรถรสในการฟังเพลงหายไปแน่ๆ มันมากเพียงพอสำหรับการฟังเพลงทั่วๆ ไปครับ ส่วนความถี่สูงก็ขึ้นไปได้ 20kHz ตามมาตรฐาน แต่ข้อดีคือเป็นเสียงความถี่สูงที่มีเนื้อ ไม่บาง ฟังเสียงไวโอลิน เสียงเครื่องดนตรีที่ใช้สายประเภทอื่นๆ ก็ออกมาดีมาก อิ่มเอมครับ ความไว 86dB อิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม ผู้ผลิตบอกว่าขับไม่ยาก แนะนำให้ใช้แอมป์ที่มีกำลังขับตั้งแต่ 25 วัตต์ แต่ผมใช้ไม่เกิน 10 วัตต์ก็ยังแฮปปี้ แน่นอนว่า แอมป์คุณภาพดีกว่านี้ เสียงก็ย่อมดีกว่านี้ไปเป็นเงาตามตัว
ฟังลำโพง Harbeth มาก็หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ประทับใจที่สุด เหตุผลก็เพราะเสียงที่ดีมากๆ ที่ได้ยินนี้ มันเกิดจากเครื่องเคราที่ใช้งานร่วมแบบบ้านๆ เท่านั้น อารมณ์ประมาณหมาวัดก็ทำให้ดอกฟ้าส่งเสียงที่ไพเราะได้ จะบอกว่าเป็นดอกฟ้าของชาวดินก็ไม่ผิด ถามว่า… ในเมื่อผมคิดว่า ถ้าใช้อุปกรณ์ร่วมที่ดีกว่านี้ก็จะได้เสียงที่ดีกว่านี้ ผมยังอยากจะลองดูไหม ตอบว่า… ไม่แล้วครับ เพราะแค่นี้ก็ทำให้ไม่เป็นอันต้องทำงานอย่างอื่นแล้ว ขนาดไม่ว่างก็ยังแอบมาขอฟังสักชั่วโมงก็ยังดี แล้วถ้าใช้ของดีกว่านี้ ผมมิเสียงานเสียการมากกว่านี้เรอะ
เมื่อชีวิตเราผ่านอะไรมาพอสมควร การโฟกัสเรื่องราวที่เราสนใจจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเราคงไม่อยากเสียเวลาไปกับเรื่องราวริมทางที่ไม่ทำให้เราได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เปรียบไปก็เหมือนกับการได้ฟังเสียงของลำโพง Harbeth Compact 7ES-3 40th Anniversary คู่นี้ครับ คือถ้าได้ฟังแล้ว ก็ไม่รู้จะเสียเวลาไปกับลำโพงอื่นๆ อีกทำไม แม้เราจะจนอุปกรณ์ แต่ในเมื่อดอกฟ้าลงมาเล่นด้วย แล้วดีขนาดนี้ เลาก็ไม่ควรจะยอมเป็นหมามองเครื่องบินอีกต่อไปใช่ไหมครับ… สวัสดี. ADP
ราคา 188,000 บาท ไม่รวมขาตั้ง
นำเข้าโดย บริษัท บลูด็อก ออดิโอ จำกัด
จัดจำหน่ายโดย Sound Box
โทร. 089-920-8297, 0-2642-1448
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 273
No Comments