FURUTECH NCF BOOSTER – BRACE Power Connector Damping Support
นักเขียน : ปฤษณ กัญจา
โดยส่วนตัว ผมมีความรู้สึกดีๆ กับFurutech ค่อนข้างมากเนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทของแบรนด์นี้ล้วนแต่มีไอเดียในการสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้ง ที่สำคัญ… เมื่อเกิดไอเดียแล้วก็พยายามสรรหาเทคโนโลยีมารองรับไอเดีย แล้วผลิตขึ้นมาเป็นสินค้าที่เป็นรูปธรรมและใช้งานได้ผลจริง
ก่อนหน้านี้ เราจะรู้จักสินค้าของ Furutech มาจากพวกสายต่างๆ แล้วตามด้วยปลั๊กราง, เต้ารับ, หัว-ท้าย ปลั๊ก ฯลฯ โดยสินค้าหลักๆ เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณเสียงและภาพ และเกี่ยวกับไฟ ถัดมาไม่นาน Furutech ก็ออกสินค้าใหม่ในกลุ่มที่ช่วยสลาย resonance และ vibration ที่รู้จักกันดีก็คือ อุปกรณ์ที่ช่วยยกสายสัญญาณ, สายลำโพง และสายไฟ ซึ่งไลน์สินค้านี้มีชื่อเรียกว่า “NCF Booster” โดย NCF ย่อมาจาก “Nano Crystal2 Formula” เป็นวัสดุพิเศษที่มีคุณสมบัติเด่น 2 ประการ คือ… 1. สร้างอิออนลบเพื่อกำจัดไฟฟ้าสถิต 2. เปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นคลื่น Infrared จากนั้นก็นำวัสดุดังกล่าวมาผสมรวมกับชิ้นส่วนเซรามิกขนาดเล็กมาก (nano) กับผงคาร์บอน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “piezoelectric effect” มีคุณสมบัติด้านการ damping ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จาก Nano Crystal2 Formula นี้ก็คือ… วัสดุที่มีคุณสมบัติในการซับทั้งพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า ทีนี้… หลังจากได้วัสดุที่มีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ทาง Furutech ก็เอามาออกแบบผลิตเป็นสินค้าต่างๆ และรวมถึง NCF Booster-Brace ตัวนี้
สำหรับ NCF Booster-Brace เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ลด vibration ที่เกิดขึ้นจากการเสียบใช้งานสายไฟที่เต้ารับบนปลั๊กราง ถ้าดูจากรูปโครงสร้างของ NCF Booster-Brace จะเห็นว่า Furutech ใช้วัสดุพิเศษผสานเข้ากับการออกแบบทางอะคูสติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้อุปกรณ์สามารถควบคุมและสลาย vibration ที่เกิดขึ้น ไม่ง่ายครับ ทั้งตอนที่เป็นไอเดีย ตอนที่วิจัย และตอนลงมือสร้างของจริงขึ้นมา
การใช้งาน
NCF Booster-Brace มีลักษณะเป็นกรอบที่นำมาครอบเต้ารับแบบ 2 เต้า มาพร้อมกับแท่งเล็กๆ 2 อันกับโฟมที่มีรูปร่างคล้ายกับเต้ารับ ซึ่งจะเป็นไกด์ให้กับ NCF Booster-Brace เวลาสวมเข้ากับเต้ารับบนปลั๊กรางเพื่อให้ตรงกับตำแหน่ง (ดูรูปประกอบ) โดยที่ด้านใต้ของ NCF Booster-Brace มีเทปกาวสองหน้าติดไว้ให้เพื่อยึดกับตัวปลั๊กราง นอกจากใช้กับเต้ารับที่อยู่บนปลั๊กรางแล้ว ยังสามารถใช้กับเต้ารับที่อยู่บนผนังได้ด้วย แต่ผมไม่ได้ลองใช้งานลักษณะนี้ เพราะก่อนจะติดตั้งต้องปิดไฟไม่ให้มาที่เต้ารับก่อน ซึ่งปลั๊กผนังที่ห้องฟังของผมไม่มีคัตเอาต์แยกต่างหาก ถ้าปิดคัตเอาต์ก็ต้องปิดไฟทั้งชั้น เป็นการสร้างความลำบากให้ชาวบ้านคนอื่น เอาแค่ลองกับเต้ารับที่ปลั๊กรางก็พอครับ
ความเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพเสียง
ผมมีความเชื่อเรื่องผลของ vibration ที่มีต่อคุณภาพเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และก็เคยลองเล่นอุปกรณ์ประเภทนี้มาบ้าง เมื่อได้ทดลองสวม NCF Booster-Brace เข้ากับเต้ารับบนแท่นปลั๊กรางที่ใช้งานประจำพบว่า… คุณภาพเสียงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นครับ อันที่จริงๆ ปกติปลั๊กรางที่ผมใช้นี้ก็ถือว่าให้คุณภาพที่ผมพอใจ และไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเพิ่มเติมอีก แต่หลังจากได้ฟังเพลงผ่านการติดตั้ง NCF Booster-Brace ก็ทึ่งว่า… มันดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องการปกคลุมของม่านจางๆ ที่มีอยู่ในเสียง มันเหมือนกับการสั่นของคอมเพรสเซอร์แอร์ที่มากวนการได้ยินของเรา แม้คอมเพรสเซอร์แอร์จะอยู่ห่างออกไป แต่ก็ยังรับรู้ได้ แม้ไม่ได้ยินเสียง แต่เมื่อปิดแอร์ปุ๊บ ความรู้สึกโล่งก็เกิดขึ้นทันที ไม่มีอะไรมากวนอีกแล้ว …แบบเดียวกันเลยครับ
เสียงที่ได้ยินหลังจากเสียบปลั๊กไฟผ่าน NCF Booster-Brace มีความเคลียร์ชัดเจน ได้ยินรายละเอียดของเสียงที่ถูกการสั่นต่างๆ กลบหายไปกลับคืนมา รวมทั้งความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งก็ตามมาด้วย เหมือนกับเมื่อหมอกเลือนหายไป เสียงๆ ต่างก็ปรากฏขึ้นมาให้ได้ยินชัดเจน ซึ่งเสียงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ หากเป็นเสียงที่มีอยู่แล้ว แต่ถูกม่านคลุมจางๆ
ผมฟังแผ่นเสียง Brahms Cello Concerto เทียบระหว่างเต้ารับที่ครอบด้วย NCF Booster-Brace กับเต้ารับที่ไม่ครอบ เสียงเชลโลมีความชัดเจนต่างกันมากๆ เสียงที่เสียบผ่านเต้ารับที่มี NCF Booster-Brace ครอบอยู่ มีความใส ได้ยินการทอดปลายเสียงของย่านความถี่ต่ำได้ชัด ขณะที่เสียบผ่านเต้ารับปกติ เสียงจะมัวๆ และได้ยินรายละเอียดไม่ครบ
การเปลี่ยนแปลงที่ได้ยินนี้ครอบคลุมตลอดทั้งย่านความถี่ครับ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นครับ ไม่ใช่ชัดเฉาะเสียงร้อง แต่เสียงเบสยังมัว ไม่น่าจะใช่นะครับ
โดยรวมๆ การใช้งาน NCF Booster-Brace ให้ผลลัพธ์น่าพอใจมาก ดีขึ้นแน่นอน คือตัวอุปกรณ์ไม่ได้ช่วยให้เสียงดีขึ้นนะครับ ถ้าซิสเต็มของเราให้คุณภาพเสียงดีอยู่แล้ว มันจะไปกำจัดอุปสรรคที่ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงที่ดีนั้นให้หมดไปครับ
แนะนำครับ… ได้ผลแน่นอน. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 275
No Comments