EverSolo: DMP-A6 Master Edition / AMP-F2

คู่หูเซ็ตจบ ครบเครื่องสตรีมมิ่ง

วรยุทธ์ใดในใต้หล้าตัดสินผลแพ้ชนะ วัดที่ความเร็ว

วลีเด็ดจากนวนิยายกำลังภายใน ที่เหมาะกับนิยามตลาดเครื่องเสียงยุคนี้ บริษัทไหนมีโนว์ฮาว์ด้านซอฟท์แวร์เป็นของตัวเอง ย่อมมีโอกาสในการพัฒนคุณภาพาสินค้าให้เหนือชั้นกว่าคู่แข่งได้ไกลกว่า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มดิจิทัลฟร้อนด์เอ็นด์ อย่างสตรีมเมอร์หรือดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ ซอฟต์แวร์และอัลกอริทึมมีบทบาทสำคัญในการประมวลสัญญาณดิจิทัลและส่งผลต่อคุณภาพเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องของฮาร์ดแวร์

นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตหลายราย จำต้องมีโนว์ฮาวด้าน “ซอฟท์แวร์” ที่แข็งแกร่งควบคู่กันไป ยกตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกอย่าง dCS, Rockna, หรือ Weiss ที่พัฒนาอัลกอริทึมเฉพาะตัวสำหรับภาคถอดหรัส หรือ FPGA เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงตามอุดมคติ ซึ่งการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับซับซ้อนนั้น ต้องอาศัยทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญสูงเป็นพิเศษ และเป็น “ต้นทุน” อย่างหนึ่งที่อาจจะสูงกว่าฝั่งฮาร์ดแวร์เลยด้วยซ้ำ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตบางรายเลือกวิธีจับมือกับบริษัทซอฟท์แวร์ภายนอกแทน

EverSolo เป็นแบรนด์ในเครือเดียวกับ Shenzhen Zidoo Technology Co., Ltd บริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรม ARM สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และโรงงานแบบครบวงจร รวมถึงผลิต 4K UHD เพลเยอร์แบรนด์ Zidoo ที่มีฐานลูกค้าทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย  เมื่อเปิดตลาดสินค้ากลุ่มออดิโอในนาม EverSolo จึงกลายเป็นจุดแข็งขึ้นมาทันทีทั้งในเรื่อง “ฮาร์ดแวร์” และ “ซอฟท์แวร์” มีโซเชี่ยลคอมมูนิตี้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ล่าสุดตอกย้ำความสำเร็จของแบรนด์ในระดับสากล ด้วยการเปิดตัวสินค้าในงาน High End Munich 2024 ณ โซนห้องจัดแสดง Atrium ไปหมาดๆ

ในกลุ่มนั้นก็มีสตรีมเมอร์ DMP-A6 Master Edition และเพาเวอร์แอมป์ AMP F-2 ที่นำมารีวิวในครั้งนี้ เป็นโซลูชั่นที่ทาง EverSolo ต้องการนำเสนอประสบการณ์เล่นไฮเรสสตรีมมิ่งระดับพรีเมี่ยม กับซิสเต็มที่เรียบง่ายเพียงสองชิ้น ด้วยงานดีไซน์ที่ลงตัวเป็นสากล UI ที่ลื่นไหลครบฟังก์ชั่น และคุณภาพเสียงระดับออดิโอไฟล์ ในภาพรวมของความคุ้มค่านั้น บอกได้ว่าคู่แข่งหลายรายแม้แต่แบรนด์จีนแผ่นดินใหญ่ด้วยกันคงต้องทำการบ้านกันหนักหน่อยหากจะแข่งขันกับ EverSolo ให้ทัน…

EverSolo: DMP-A6 Master Edition

นี่คือเพลเยอร์อเนกประสงค์ เป็นสตรีมเมอร์ + ดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ + ดิจิทัลโวลุ่มคอนโทรลในตัวเดียว ตัวเครื่องขนาด half-size มิติ 15”x3.5”x9.8” แชสซีเป็นโซลิดอะลูมิเนียมอัลลอย แผงหน้าเป็นอะลูมิเนียมหนาปัดเสี้ยนสัมผัสได้ถึงความพรีเมี่ยม ฝั่งขวาเป็นปุ่ม volume/function มีไฟ indicator หน้าจอแสดงผล LED ทัชสกรีนขนาดใหญ่ถึง 6” เต็มตาและให้คอนทราสต์ชัดเจนสวยงาม การทัชตอบสนองได้ไวและแม่นยำดีมาก UI ทั้งหมดออกแบบได้ลงตัว เข้าใจง่าย ให้ฟิลลิ่งที่เหมือนกับเราใช้งานอุปกรณ์เครื่องเสียงจริงๆ มากกว่าคอมพิวเตอร์ มีแอป EverSolo Control สำหรับสั่งงาน แถม cast หน้าจอเครื่องไปยังมือถือหรือแท็ปเล็ตได้อีกต่างหาก

นอกเหนือจากคุณสมบัติรองรับ Roon Ready, Tidal Connect, Qobuz Connet, Spotify Connect, DLNA, UPnP, Airplay, และ AptX HD Bluetooth แล้ว ยังมีฟีเจอร์เด่นๆ ที่อยากพูดถึงคือส่วนของแอปที่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้จากในเมนูเครื่อง หนึ่งในนั้นคือ Apple Music ซึ่งรองรับ Direct audio สามารถเล่น Hi-Res Lossless ได้อย่างสมบูรณ์แบบ (อย่าลืมปรับตั้งค่าในแอปด้วย) บอกเลยว่า EverSolo เป็นสตรีมเมอร์ไม่กี่รุ่นในท้องตลาดที่สามารถทำได้

อีกฟังก์ชั่นคือ Parametric EQ แบบมืออาชีพ ที่สามารถทำการปรับแต่งพารามิเตอร์เสียงได้ละเอียดแบบสุดๆ จะมีประโยชน์มากในการชดเชยย่านความถี่ตอบสนองของลำโพงกับสภาพอะคูสติกส์ของห้อง ยกตัวอย่างห้องฟังที่มีปัญหาเสียงโด่ง-วูบบางย่านความถี่ ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีเซ็ตตำแหน่งลำโพง ก็สามารถปรับ EQ เฉพาะย่านความถี่นั้นๆ ช่วยได้ และแต่ละอินพุตสามารถปรับแยกกันได้ หลังอัพเดตเฟิร์มแวร์ล่าสุดที่รีวิว (V1.2.98) ทำให้ปรับ EQ แยกระหว่างแชนแนลซ้าย-ขวาได้เลย ซึ่งทุกการปรับแต่งสามารถเซฟเป็น Preset แยกเก็บไว้ได้

ระบบปฎิบัติการพื้นฐานเป็น Android 11 ที่ถูกปรับแต่งเชิงลึกเพื่อเน้นการทำงานด้านออดิโอโดยตรง โดยมีเอนจิ้น EOS (EverSolo Original Sampling-Rate) ที่พัฒนาแบบ in-house หน้าที่หลักๆ เพื่อ bypass การทำ resampling ของระบบแอนดรอยด์ แล้วปล่อยเอาต์พุตที่มีค่าแซมปลิ้งเรตตรงตามออริจินอล รวมถึงเปิดการทำ Direct output, floating-point data กับแอป third-party ต่างๆ ซึ่งทางผู้ผลิตแนะนำให้เปิดฟังก์ชั่น EOS เอาไว้

ด้านฮาร์ดแวร์ ใช้ชิปประมวลผล ARM Cortex-A55 Quad-core มีหน่วยความจำขนาดใหญ่ RAM 4G DDR + ROM 32G eMMC รองรับการทำงานต่างๆ ของระบบได้อย่างสบาย การจัดการไลบราลี่เพลงจำนวนมากๆ ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว ตลอดการใช้งานไม่พบอาการหน่วงหรือค้างใดๆ ใต้เครื่องจะมีช่อง slot สำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำ M.2 NVME 3.0 SSD เพิ่มได้อีกสูงสุดถึง 4TB ในกรณีจะใช้ DMP-A6 ME เป็นมิวสิคเซิฟเวอร์เก็บไฟล์เพลง

ด้านหลังมีพอร์ต USB OTG สำหรับเชื่อมต่อ external HDD หรือ external CD drive สำหรับ Rip CD ลงเครื่องได้เลย ซึ่งตัวเครื่องจะดึงพวก meta data ของเพลงจาก cloud มาสร้างไลบรารี่ จับคู่ศิลปิน ทำปกอัลบั้มและอื่นๆ ให้โดยอัตโนมัติ ภายรวมแม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนการใช้แอป Roon ยังมีบางอัลบั้มที่ตกหล่นไปบ้าง แต่ถือว่าทำออกมาได้ดีกว่าสตรีมเมอร์หลายๆ รุ่น

ภาคถอดรหัสเสียงใช้ชิป dual ES9038Q2M (หนึ่งตัวต่อแชนแนล) ร่วมกับชิป XMOS 3rd Gen 16-core ในการประมวลผลสัญญาณดิจิทัล PCM 768KHz/32bit, DSD512 Native ทางช่อง USB-C ส่วนช่อง optical และ coax อินพุตรองรับความละเอียด PCM 192KHz/24bit และ DSD64 (DoP) นองจากนี้ยังมี MQA full decoder และช่อง HDMI ออดิโอเอาต์พุตสำหรับสัญญาณ DSD multi-channel DSD ภาคแอนะล็อกจากชิป DAC ไปยังเอาต์พุตใช้วงจรแบบฟูลลี่บาล้านซ์ อุปกรณ์คัดแต่ของออดิโอเกรด ส่วนภาคจ่ายไฟเป็นสวิตชิ่งโมดูลแบบ Ultra low noise พร้อมคาพาซิเตอร์ออดิโอเกรดและวงจรกรองสัญญาณรบกวน EMI ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อกรองน้อยส์จากไฟเอซีขาเข้า

“Master Edition” อัพเกรดอะไร?

ส่วนที่ DMP-A6 ME อัพเกรดขึ้นมาจากรุ่นมาตรฐาน เป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ล้วนๆ ส่วนของรูปลักษณ์ภายนอกตรงป้ายจะเป็น Gold Badge มีแถบคาดด้านล่างระบุเวอร์ชั่น Master Edition ชัดเจน รวมถึงเวลาเปิดเครื่องวงแหวน LED ตรงโวลุ่มจะเป็นสีส้มแทนสีขาว ส่วนวงจรภายใน ภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์จะมีการอัพเกรดระบบ Crystal Oscillator เป็น Dual Femtosecond clock ของค่าย Accusilicon ซึ่งเป็นแบบ extremely low phase noise ที่ให้ความแม่นยำสูงมากๆ ซึ่งในระบบดิจิทัลออดิโอ มีผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพสียงในแง่ของรายละเอียด, การแยกแยะพื้นที่ระกว่างชิ้นดนตรีและบรรยากาศ ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยการฟัง รวมถึงอัพเกรด op-amp ของ Texas Instrument ตรงภาคแอนะล็อกเอาต์พุตจากเบอร์ OPA1642 เป็น OPA1612 ที่ต้นทุนแพงกว่าเท่าตัว ให้สเปกค่าความเพี้ยนและน้อยส์ต่ำกว่าเดิม

EverSolo: AMP-F2

เพาเวอร์แอมป์สเตริโอที่ดีไซน์มาเพื่อใช้งานร่วมกับฟรอนต์เอ็นด์ของค่าย โดยทาง EverSolo จับมือกับ Stark Sound บริษัทผู้ผลิตจากแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อด้านการผลิตภาคขยายประสิทธิภาพสูงในราคาจับต้องได้ เป็นคอมพลีตซิสเต็มที่แค่หาลำโพงพาสซีฟดีๆ มาเข้าเซ็ตก็ใช้งานได้เลย

ดีไซน์จะคล้ายกับ Fiera Amp ของทาง Stark Sound แต่ปรับมิติลงมาให้เป็น half-size ด้านกว้าง-สูงเท่ากับ DMP-A6 ME พอดีเปะ แต่มีความลึกมากกว่า แชสซีส์เป็นอะลูมิเนียม CNC หนาดีไซน์ป้องกันการกวนต่างๆ มาเป็นอย่างดี เซาะร่องระบายความร้อนเอาไว้ด้านข้าง ตลอดการทำงานตัวเครื่องแค่พออุ่นๆ ทำให้นอกจากกะทัดรัดแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลกรณีเอา AMP-F2 ไปจัดวางแบบ stack กันหรือจัดวางในพื้นที่จำกัด ที่ชอบอีกอย่างคือ connector ต่างๆ ใช้ของคุณภาพดีแข็งแรง เว้นระยะห่างเพียงพอทำให้ไม่มีปัญหากับการเชื่อมต่อสายเส้นโตๆ ขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์ขนาดใหญ่จับถนัดมือ ขันยึดได้แน่นหนา แกนหน้าสัมผัสเป็น Beryllium Copper และมีช่อง Trigger input และ output 5-12V เอาไว้สำหรับพ่วงกับ DMP-A6 หรือ DMP-A8 รวมถึงการใช้ AMP-F2 หลายเครื่องในระบบมัลติแชนเนลเพื่อเปิด-ปิดการทำงานพร้อมกันทีเดียว ซึ่งในกล่องมีสาย Trigger (USB – TRS 3.5mm) แถมมาให้

AMP-F2 เป็นแอมป์ class D ที่ใช้โมดูลรุ่น NS600 หนึ่งชุดขับสัญญาณสองแชนแนล มีสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีเฉพาะตัว ทำงานที่ความถี่แซมปลิ้ง 600 kHz เลยความถี่ที่หูมนุษย์ได้ยินไปไกลลิบ จุดขายคือวงจรฟีดแบ็คประสิทธิภาพสูงพร้อม high-speed gate driver error correction รวมถึงใช้เทคโนโลยี PurePath™ Ultra-HD ทำให้สัญาณเอาต์พุตที่ออกมามีค่าความเพี้ยนต่ำสุด ระดับ 2×250 วัตต์ RMS ที่ 1% THD+N ตลอดย่านความถี่ และรองรับการขับโหลดลำโพงอิมพิแดนซ์ต่ำได้อย่างยอดเยี่ยม (ต่ำกว่า 1 โอห์ม) ที่ความเพี้ยนน้อยกว่าแอมป์ class D ทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังสามารถทำบริดจ์ (BTL) เป็นโมโนได้กำลังขับเพิ่มเป็น 450 วัตต์ ที่ค่าความเพี้ยน 1% THD+N เท่าเดิม ส่วนภาคจ่ายไฟเป็นสวิตชิ่งขนาดใหญ่สำหรับงานออดิโอโดยตรง จ่ายกำลังได้ถึง 600 วัตต์มี ripple และการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) ต่ำสุด

สเปคของ AMP-F2

  • Output Power: 2x250W RMS @ 4 ohms (1% THD) / 2×145 Watts @ 8 ohms (1% THD)
  • Output Power (BTL): 280 W RMS @ 4 ohms (1% THD) / 450 W RMS @ 2 ohms (1% THD)
  • Gain: 21.5 dB
  • Frequency response: 10 Hz – 20 kHz (-1 dB)
  • Max. output current per channel: 16.5A/33A (BTL)
  • THD: 0.003% @ 10 W, 1 kHz
  • SNR: > 110 dBA @ 4 ohms, 260 W
  • Input Impedance: RCA: 11k Ohm/XLR: 22k Ohm
  • Input sensitivity: 2.7V
  • Output impedance: 0.136 ohms (5 Hz à 100 kHz)
  • Minimum load impedance: 0.8 ohm
  • Damping factor: 100

เซ็ตอัพ

DMP-A6AE สามารถปรับแต่ง settings ต่างๆ แยกแต่ละอินพุตได้อย่างอิสระ กรณีใช้งานเป็นปรีแอมป์ควบคุมเสียงให้ตั้งที่เมนู Volume passthrough mode เป็น “OFF” เพื่อใช้โวลุ่มคอนโทรลในการปรับระดับเสียงทางช่องแนะล็อกอาต์พุตได้ทีละ 0.5 dB (-100 ถึง 0dB) หลังทดลองใช้งานพบว่าดิจิทัลโวลุ่มของ DMP-A6AE มีคุณภาพดีทีเดียว ไล่ระดับความดังได้สมูท เวลาฟังเบาๆ รายละเอียดยังครบถ้วน

ต้องบอกอย่างนี้ว่าชิปแด็คยุคปัจจุบันโดยเฉพาะ ESS Sabre เขาใส่ภาคดิจิทัลโวลุ่มคอนโทรลแบบ 32-bit มาให้ในตัว ซึ่งปรับลดความดังผ่านชุดควบคุมแบบอนุกรม ไม่ได้ยุ่งกับข้อมูลบิตของสัญญาณดิจิทัลเหมือนการปรับระดับเสียงด้วยซอฟท์แวร์ จึงลดระดับเสียงได้มากโดยไม่สูญเสียคุณภาพ แถมบาล้านซ์แชนแนลซ้าย-ขวาได้เท่าเทียมกันตลอดช่วง ต่างจากแอนะล็อกโวลุ่มที่อาจเกิดปัญหานี้จากหน้าคอนแท็กต์หรือตัวต้านทานเสื่อม ดังนั้นหากคุณไม่ได้ต่อ DMP-A6ME กับภาคแอนะล็อกปรีแอมป์ดีๆ ค่าตัวสัก 4-5 หมื่นบาทขึ้นไป การต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์เลยก็สามารถใช้งานได้ดีมากเพียงพอเช่นกัน

การเชื่อมต่อกับ AMP-F2 ทำได้ทั้งแบบบาล้านซ์ XLR และอันบาล้านซ์ RCA โดยโยก toggle สวิตช์โหมดการทำงานที่อยู่ด้านหลังเครื่องใกล้กับช่องอินพุตบาล้านซ์ ในการทดสอบนี้จะใช้ช่องอันบาล้านซ์ RCA เป็นหลัก ซึ่งให้ความแรงเอาต์พุตที่ 2.6 Vrms สามารถขับ AMP-F2 ที่มีเกนขยาย 21.5 dB เล่นกับลำโพงความไวประมาณ 85-86 dB ได้สบาย ใช้ระดับโวลุ่มอยู่แถวๆ -27 ถึง -20 dB ส่วนภาค DAC เข้าเมนู setting ของ Output port “Analog RCA” เลือก DAC filter characteristics ซึ่งเลือกได้ 7 รูปแบบ ไปที่ “Slow Roll-Off (Minimum)” เพื่อขจัด pre-post ringing จะได้ค่าเฉลี่ยในการฟังเพลงทุกประเภทรวมถึงรูปวงออกมาได้สมดุลมากที่สุด

การใช้เสารับสัญญาณแยกช่องกันทำให้การเชื่อมต่อ WiFi และบลูทูธมีความเสถียรมาก ตลอดการใช้งาน ผมใช้ฟังก์ชั่น “Cast” จาก DMP-A6 ME มายังหน้าจอมือถือ ผ่านแอป EverSolo Control ทำให้ใช้ UI ของเครื่องได้จากหน้าจอมือถือเลย ซึ่งสะดวกกว่าใช้แอปคอนโทรลซะอีก ยิ่งถ้าใครใช้ iPad หรือแท็ปเล็ตจอใหญ่ๆ ก็ยิ่งสั่งการหรือเข้าเมนู setting ปรับแต่งค่าต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว

คุณภาพเสียง

มาว่ากันที่บุคลิกเสียงของตัว DMP-A6 ME กันก่อน ภาคดีทูเอคอนเวิร์ตเตอร์เวลาใช้งานแบบ USB DAC โทนเสียงให้ความเป็นกลางค่อนไปทางสว่าง (neutral-bright) คือไม่รู้สึกว่าเสียงเน้นหนักไปทางย่านทุ้มหรือแหลมมากเกินไป แต่มีปริมาณความถี่กลางถึงสูงที่โดดเด่นกว่าย่านทุ้มเล็กน้อย ทำให้ฟังแล้วรู้สึกสดใส มีชีวิตชีวา เนื้อเสียงกลางๆ มีความนุ่มนวลดีไม่กระด้าง รวมถึงทุ้มที่กระชับ ไม่หนาไม่บาง ในขณะเดียวกันก็มีความโปร่งใสในระดับสูง ช่องว่างช่องไฟสงัด สามารถฟังแยกแยะองค์ประกอบของเสียงต่างๆ ออกมาได้อย่างชัดเจน มีพลังและไดนามิกที่จะแจ้ง ตื่นตัว ควบคุมโทนัลบาลานซ์ของเสียงให้ราบรื่นได้ตลอดช่วงระดับความดัง

บุคลิกเสียงแบบนี้มักจะพบได้ในทูเอคอนเวิร์ตเตอร์ซึ่งใช้ชิป ESS Sabre ส่วนใหญ่ แล้วก็ไปคัดท้ายที่ภาคแอนะล็อกเอาต์พุต ซึ่งกรณีของ DMP-A6 ME มีรายละเอียดยิบย่อยในบทเพลงออกมาให้ได้สัมผัสอย่างครบถ้วน เนื้อเสียงกลางๆ ไม่หนาไม่บาง เจือโทนที่อบอุ่นเข้าไปติดปลายนวม ทำให้ตลอดการรับฟังเสียงไม่รุกเร้าจนฟังแล้วเหนื่อย เพียงแต่อาจยังไม่ฉ่ำและลื่นไหล รวมถึงให้เท็กซ์เจอร์ของเสียงที่โดดเด่นเท่ากับรุ่นพี่ DMP-A8 ซึ่งใช้ชิป dual AK4499EX + AK4191 และมีการออกแบบภาคจ่ายไฟที่จัดเต็มมากกว่า

เมื่อใช้ DMP-A6 ME เป็นภาคทรานสปอร์ต มันจะมีคาแร็กเตอร์พิเศษเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง นั่นคือการให้รูปวงที่โอ่โถง ถอยลึกลงไปเป็นชั้นๆ วางตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ แม่นยำและแสดงไดนามิกคอนทราสต์ออกมาได้โดดเด่น อันนี้ค่อนข้างเซอร์ไพรซ์เลยทีเดียว คุณภาพฉีกหนีห่างจากการใช้ PC หรือโน้ตบุคเป็นทรานสปอร์ตชัดเจนมาก สามารถใช้แทนเน็ตเวิร์คทรานสปอร์ช่วงราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาทได้เลย

ผมทดลองใช้ external DAC ภายนอกเชื่อมต่อผ่านสาย USB เมื่อเปลี่ยนภาคทรานสปอร์ตจาก DMP-A6 ME เป็นโน็ตบุ๊คสลับหรือสตรีมเมอร์ที่ราคาต่ำกว่า ปรากฏว่าสุ้มเสียงขุ่นมัว รวมถึงรูปวงหดแคบเข้ามาแบบสังเกตุได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะหาดีทูเอคอนเวิร์ตเตอร์ระดับไฮเอ็นด์ มาใช้งานร่วมกับกับ DMP-A6 ME เพราะภาคทรานสปอร์ตที่มีคุณภาพสูงของมัน

ช่วงท้ายทดลองใช้งานแบบ Roon endpoint เนื่องจาก DMP-A6 ME รองรับคุณสมบัติ Roon Ready ในตัว พอฟังสตรีมผ่านโปรโตคอล RAAT ปรากฏว่ามันให้เนื้อเสียงที่กลมกลึงและนวลเนียนมีมิติมากขึ้นอีก แนะนำว่าใครใช้แอป Roon ประจำอยู่แล้วควรพิจารณา DMP-A6 ME เพราะเป็น Roon Bridge คุณภาพสูงลำดับต้นๆ สำหรับพิกัดราคานี้เช่นกัน

เพอร์เฟกต์แม็ตชิ่งกับ AMP-F2

ข้อดีของการดีไซน์ร่วมกันตั้งแต่แรก ทำให้ตัดปัญหาการแม็ตชิ่งด้านเทคนิคและน้ำเสียงไปได้เลย และเป็นการเติมเต็มบุคลิกเสียงของ DMP-A6 ME ได้อย่างลงตัว เพาเวอร์แอมป์คลาส D ตัวนี้ เหมือนกับเอาจุดเด่นของแอมป์คลาส AB เข้ามาผสมอยู่หลายส่วน อันดับแรกเลยคือมีความอบอุ่นและความต่อเนื่องของเสียงที่เด่นชัดกว่าแอมป์คลาส D ทั่วไปอย่างชัดเจน เรียกว่าเตะหูเลยทีเดียว แต่ในเนื้อเสียงที่เจือความอบอุ่นนั้นยังเต็มไปด้วยความสะอาดและให้ความโปร่งใสที่ดีแบบแอมป์คลาส D ชั้นเยี่ยม มีพื้นเสียงที่สงัด สามารถถ่ายทอดรายละเอียดซับซ้อนอย่างเปียโนในอัลบั้มแจ๊สและคลาสสิคออกมาได้อย่างมีพลังและชัดเจนติดตามได้ตลอด ไดนามิกสวิงตัวได้เต็มที่ไม่ส่ออาการป้อแป้ให้เห็น เนื้อเสียงไม่ถึงกับอิ่มหนา แต่ก็ไม่ติดแบนหรือถึงขั้นบอบบางแต่อย่างใด

สิ่งสำคัญคือความราบรื่นในการควบคุมไดนามิก การถ่ายทอดรายละเอียดและความโปร่งใส ที่ให้ความชัดเจนของเลเยอร์ดนตรีตั้งแต่แถวหน้ายันแถวหลังแบบทะลุปรุโปร่ง เฮดรูมของกำลังขับนั้นหายห่วง ทดลองกับลำโพงตู้ปิดความไว 85-86 ดีบี ก็พลักดันอิมเมจให้หลุดลอยเป็นอิสระและตรึงตำแหน่งได้นิ่งสนิท ควบคุมกรวยลำโพงได้ดี ให้เบสที่ควบแน่น สะอาด มีพลังดีดตัวและมีน้ำหนัก [Way Down Deep – Jennifer Warnes] แสดงว่านอกจากประสิทธิภาพของโมดูล NS-600 แล้ว การดีไซน์จ่ายไฟสวิตชิ่งในตัว AMP-F2 ก็มีประสิทธิภาพสูงทีเดียว ตลอดการรับฟังกับหลากหลายแนวเพลงถือว่าในแง่ของประสิทธิภาพกำลังขับนั้นจัดอยู่ในกลุ่มของวัตต์คุณภาพได้เลยสำหรับพิกัดราคานี้ สามารถเอาไปเล่นกับลำโพงที่แพงกว่าเท่าตัวได้ไม่มีปัญหา หรือหากต้องการกำลังขับมากกว่านี้ ก็สามารถอัพเกรดโดยใช้ AMP-F2 สองตัวทำ BTL เพิ่มกำลังขับเป็นเท่าตัวเพื่อเล่นแบบโมโนบล็อกได้อีกสเต็ป

เมื่อจับคู่กับ DMP-A6 ME เลยกลายเป็นความลงตัวที่ให้รักษาสมดุลเสียงให้ออกมาได้อย่างพอเหมาะ ราวกับผู้ผลิตตั้งใจจูนเสียงมาส่งเสริมกันและกัน โทนัลบาล้านซ์นั้นยังคงสมดุลเจือความอบอุ่น ลดความสว่างลงมาเล็กน้อย เนื้อเสียงเนียนและสะอาดเกลี้ยงเกลา มีความลื่นไหลที่ฟังพวกเครื่องสายออกมาได้ดี ในขณะเดียวกันก็ได้รายละเอียดหยุมหยิมและความใสรวมถึงไดนามิกที่เปิดเผยเป็นอิสระออกมาเต็มที่ โดยไม่รู้สึกว่าเค้นหรือพุ่งจัดจ้าน ทำให้ภาพรวมของเสียงออกมาราบรื่นน่าฟัง อิมเมจชัด เวทีเสียงนั้นแสดงความลึกเป็นชั้นๆ และเปิดกว้างเลยลำโพงออกไปไกลพอควร

การต่อตรงจาก DAC เข้าสู่เพาเวอร์แอมป์ลักษณะนี้ ข้อดีคือให้สัญญาณลัดตรงและมีความบริสุทธิ์มากกว่าต่อผ่านปรีแอมป์ ไม่สูญเสียไดนามิกเรนจ์และค่า SNR เหมือนผ่านปรีแอมป์ที่มีโอกาสกลายเป็นคอขวด แต่หากจะนำ DMP-A6 ME ไปต่อตรงกับเพาเวอร์แอมป์แบรนด์อื่น ก็ควรคำนึงถึงความแมตชิ่งด้านสเปคด้วย (ดูของ AMP-F2 ประกอบ) ซึ่งการต่อตรงลักษณะนี้ เอาต์พุตจาก DAC จะต้องสัมพันธ์กับค่าความต้านทานขาเข้าและเกนขยายของเพาเวอร์แอมป์อย่างเหมาะสม ผลลัพท์จึงจะออกมาลงตัวแบบการจับคู่กับ AMP-F2

สรุป

ยุคนี้ ท่ามกลางศึกเครื่องเสียงจีนแผ่นดินใหญ่ที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด กับกลุ่มเครื่องเสียงไฮเอ็นด์แบรนด์เนมที่ขยับราคาขึ้นสูงหนีห่างจากกลุ่มนักเล่นส่วนใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ง่ายนัก ถ้าจะต้องจัดชุดเครื่องเสียงคุณภาพระดับออดิโอไฟล์ ที่มีทั้งภาค DAC / สตรีมเมอร์ / ปรีแอมป์ / เพาเวอร์แอมป์ ในงบประมาณไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ EverSolo ก็สามารถตีโจทย์นี้แตกได้อย่างสวยงามด้วย ‘พลังวัตร’ ที่ล้นเหลือ หนึ่งคือราคาที่สมเหตุผล (ทั้งเซ็ตไม่เกิน 7 หมื่นกลางๆ) สองคือคุณภาพฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ระดับสากล สามคือจับคู่กับลำโพงในท้องตลาดได้หลากหลาย พร้อมขยับขยายเพิ่มเติมได้ในอนาคต ADP

EverSolo DMP-A6 MASTER EDITION ราคา 39,900 บาท (ราคาโปรโมชั่น)
EverSolo AMP-F2 ราคา 27,900 บาท (ราคาโปรโมชั่น)

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Discovery HiFi
โทร. 085 517 8292