ไกรฤกษ์
นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์

EMT (Electrical Measuring Technology) เป็นยี่ห้อของผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงจากประเทศเยอรมนี ตลาดหลักๆ ของแบรนด์นี้ไม่ใช่สำหรับ Home use ในยุคเริ่มแรก แต่เขาผลิตเพื่อ support การใช้งานใน studio และ broadcasting

ผู้ก่อตั้งคือวิศวกรเยอรมัน นามว่า Wilhelm Franz ถือกำเนิดบริษัทในปี 1940 เรื่องราวของ EMT เป็นที่โด่งดังในบ้านเรา เริ่มมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อนี้เป็นสำคัญ นั่นคือ EMT930 เครื่องเล่นแผ่นเสียงในตำนานที่ยังมีลมหายใจ ถึงแม้ว่าเลิกผลิตไปนานแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่แสวงหาของนักเล่นทั่วโลก เท่าที่ผมเห็นๆ ในบ้านเรา ปัจจุบันนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า 30 ตัว และรุ่นในใหญ่กว่านั้น คือ EMT927 ที่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ นี่ผมว่าน่าจะมีประมาณ 5 ตัวขึ้นไป

 ปัจจุบันนี้ บริษัท EMT ก็ยังคงอยู่ คือ EMT Studiotechnik (www.emt-international.ch) ผลิตภัณฑ์ที่ยังผลิตในปัจจุบันตอนนี้เป็นโทนอาร์มรุ่น 929, 997 และบรรดาหัวเข็มต่างๆ ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเครื่องเล่นซีดีนั่น เลิกผลิตไปนานแล้ว 

 หัวเข็มของ EMT เป็นหัวที่เป็นที่นิยมใช้กันมากในต่างประเทศและในบ้านเรา เนื่องจากมี range ของหัวเข็มให้เลือกใช้งานได้กว้างมาก ตั้งแต่หัว stereo ไปจนถึงยุคโมโนแผ่นครั่ง แถมยังราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับหัวเข็มในระดับ Stereophile Class A ด้วยกัน แต่ว่าสุดยอดผลิตภัณฑ์ของ EMT คือนี่เลยครับ ปรีแอมป์ full function รุ่น JPA 66

ปรี JPA66 เป็นผลิตภัณฑ์ในซีรี่ส์ Jubilee ที่ทำออกมาในปี 2006 เพื่อฉลองครบรอบ 66 ปีของการถือกำเนิดบริษัท มันคือปรีที่มีความพิเศษพิสดารอยู่มากพอควร สตูดิโอบันทึกเสียงชั้นนำอย่าง Stockfisch Record ก็ ใช้ปรีตัวนี้ ในการทำมาสเตอร์งานเพลง ผมในฐานะที่เป็นคนที่เล่นแท่นของ EMT มาสามแท่นแล้วก็เป็นความใฝ่ฝันที่จะมีโอกาสได้ลองเล่นปรีแอมป์ตัวนี้ ที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ระดับสูงสุดของ EMT ณ ปัจจุบัน และ อาจารย์วิพล แห่ง Audio Absolute ก็ได้ให้โอกาสนั้นกับผม อ่า! ฝันที่เป็นจริง EMT JPA 66 ในห้องฟังของผม!! 

ผมขอแนะนำ features คร่าวๆ ก่อนที่เราจะไปไล่ดูฟังก์ชั่นแต่ละอย่าง ของปรีตัวนี้นะครับ 

• เป็น full function pre amp มีทั้งภาคโฟโน และภาคไลน์ (เสียดาย ไม่มี Reel Tape EQ ) 

• มีทั้ง unbalanced และ balanced input และ output 

• ภาคโฟโนรับได้ 4 input เป็น MC สองช่อง และ MM สองช่อง แต่ละ ช่องจูนสำหรับการใช้งานหัวเข็มต่างๆ กัน ดังจะกล่าวต่อไป 

• ปรับ load impedance, gain ของ phono input ได้แบบ continuous 

• ปรับค่า EQ ของ phono playback ได้ตลอดย่านความถี่ (Turnover Frequency, HF curve) 

มีวงจร scratch filter สำหรับตัดเสียงรบกวน เมื่อเล่นแผ่นเสียง ยุคเก่าๆ 

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องตัวเครื่อง ขออนุญาตพาเข้าห้องเรียนเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องของ RIAA และโดยเฉพาะ Turnover Frequency ที่ไม่ค่อยมี ใครกล่าวถึงหรืออธิบายไว้นัก มาให้อ่านกันนะครับ เพราะมันเป็น feature ที่โดดเด่นมากของปรีตัวนี

RIAA & TURNOVER FREQUENCY

เรื่องของการเล่นแผ่นเสียงที่แตกต่างจากซอฟต์แวร์ฟอร์แมตอื่นก็คือว่า มันมีเรื่องของ equalization มาเกี่ยวข้อง อันนี้ขออนุญาตทบทวนสักเล็กน้อยนะครับ 

การผลิตและการเล่นกลับแผ่นเสียง คือ… การแปลงพลังงานจากคลื่นเสียงเป็นพลังงานกล คือ… หัวตัดแผ่นเสียง เซาะเป็นร่องเสียงบนแผ่นเสียง เสียงเพลงที่เราฟังเป็นการผสมผสานของคลื่นความถี่เสียงตั้งแต่เสียงทุ้มไปจนถึงเสียงแหลมสุด สมมติว่า เรามีคลื่นเสียงสองความถี่ที่ in phase กันตามภาพ และส่งไปตัดเป็นร่องแผ่นเสียง

เราจะเห็นได้ว่าคลื่นเสียงความถี่ต่ำมี amplitude ของคลื่นเสียงมากกว่าคลื่นความถี่สูง นั่นคือ ย่านคลื่นความถี่ต่ำมีพลังงานมากกว่าความถี่สูง (ลองสังเกตเวลาที่เราเล่นเพลงที่มีเบสมากๆ จะเห็นดอกลำโพงมีการเคลื่อนไหวมากกว่าเสียงย่านความถี่สูง) ดังนั้น เวลาตัดแผ่นเสียง ถ้าไม่มีการชดเชยความถี่ตอนตัดแผ่นเสียง (และชดเชยกลับในตอนเล่นกลับ) แผ่นเสียง 12 นิ้วจะเหลือเวลาในการเล่นแค่ห้านาที เพราะการตัดแผ่นเสียงในย่านความถี่ต่ำต้องใช้เนื้อที่ของร่องแผ่นเสียงมาก 

ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหานี้ ค่ายบันทึกเสียงจึงเลือกที่จะกด dB เสียงย่านเสียงต่ำลง และไปชดเชยกลับด้วยวงจร EQ ในตอน playback และเช่นกันในย่านเสียงสูงจะ boost ย่านเสียงสูงขึ้นตอนตัดแผ่นเสียง และค่อยกดลงในเวลาเล่นกลับ ดังนั้น ถ้าทุกอย่างทำได้แม่นยำทั้งคู่ เราจะได้ยินเสียงเมื่อเล่นกลับเหมือนกับสัญญาณที่ feed เข้าจากตัวมาสเตอร์ก่อนตัดแผ่นเสียง (และแน่นอนว่า ภาคโฟโนของเครื่องใดที่มีความแม่นยำของวงจร phono EQ ย่อมให้เสียงที่ดีกว่าเครื่องที่ไม่แม่นยำ)

ผมจะขอกล่าวในส่วนของมาตรฐานที่ใช้มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 ถึงปัจจุบันนี้ก่อน ภาพด้านบนนี้เป็นภาพการบันทึก (เส้นกราฟสีน้ำเงิน) และเล่นกลับ (เส้นกราฟสีแดง) ของวงจร RIAA (Record Industry Association of America) ในสมัยก่อน แต่ละค่ายเพลงทั้งยุโรปและอเมริกา จะมีค่า EQ curve ของตนเอง แต่ละค่ายมีค่า EQ เบี่ยงเบนไปแตกต่างกัน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงกำหนดค่าที่ทุกค่ายใช้ร่วมกัน คือ… ค่า RIAA curve นี้ สังเกตว่า จุดที่บรรจบกันของ playback และ recording คือที่ค่าความถี่ 1kHz ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการชดเชยความถี่ (0dB) วงจร RIAA EQ จะทำงานเมื่อความถี่แตกต่างไปจากจุด 1kHz นี้ คือ… ในย่านความถี่สูงกว่า 1kHz วงจรจะเริ่มกด dB เสียงแหลมลง (เพื่อชดเชยกับตอนบันทึกที่เขาเพิ่ม dB เสียงแหลม) และในย่านเสียงทุ้มจะยกเสียงเบสขึ้นเพื่อชดเชยกับการกดระดับความดังของเบสตอนบันทึก ณ จุดปลายสุดของแต่ละย่านความถี่ เมื่อ playback จะมีการยกระดับเสียงขึ้น 20dB ที่ย่านความถี่ 20Hz และกดเสียงแหลมลง 20dB เช่นกันที่ 20kHz

ถึงตอนนี้ยังเข้าใจอยู่นะครับ? เอาล่ะครับ คราวนี้เรามาดูกราฟนี้กัน

วงจร RIAA ทำงานครอบคลุมความถี่ ในย่านตั้งแต่ 50.05Hz ไปจนถึง 21.21kHz ความถี่ต่ำกว่า 50Hz ไม่มีการชดเชยเพิ่ม เพราะจะไปเสริมกับ rumble ส่วนความถี่สูงกว่า 21.21kHz นั้น ก็เกิน audible level แล้ว ทีนี้ให้ดูตรงกลางนะครับ…

จากจุด 1kHz ที่เป็นที่บรรจบของกราฟบันทึกและ playback ซึ่งวงจร RIAA ยังไม่ต้องทำงาน เมื่อไล่ความถี่ต่ำลงมา วงจร EQ จะเริ่มทำงานชดเชย (ยกเบสขึ้น) เมื่อถึงจุด 500Hz นั้น การชดเชยจะมีระดับความดัง +3dB จุดนี้เป็นจุดสำคัญครับ คือเป็นระดับความดังที่หูมนุษย์เริ่มจับความแตกต่างได้ หากไม่มีการชดเชยวงจร EQ จุดนี้จึงเรียกว่า จุด Turnover frequency นั่นเอง ดังนั้น ค่านี้จึงเป็นค่ามาตรฐานที่เราใช้พูดคุยกันให้เข้าใจตรงกันครับ

Turnover frequency คือ ค่าความถี่ของการชดเชยโดยวงจร EQ เมื่อถึงระดับความแตกต่างที่ 3dB ซึ่งเป็นระดับความดังที่หูมนุษย์จับความแตกต่างได้ค่านี้สหรับ RIAA EQ คือ 500Hz

สิ่งที่น่าสนุกจะตามมา ดังต่อไปนี้นะครับ

1. ในแผ่นเสียงที่บันทึกมาก่อนการเกิดมาตรฐาน RIAA ค่า Turnover frequency จะไม่ใช่ 500Hz ครับ แล้วแต่วิศวกรบันทึกเสียงของค่ายนั้นๆ เช่น Decca ffrr ยุคแผ่นครั่งจะเท่ากับ 250Hz, ยุคไวนิลโมโนเท่ากับ 375 – 500Hz, Columbia ยุคแผ่นครั่ง 1927 – 1946 เท่ากับ 250 – 300Hz, 1946 – 1948 เท่ากับ 300 – 400Hz และยุคไวนิลโมโนจะเท่ากับ 300 – 500Hz ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า ส่วนใหญ่ในยุคโมโน recording curve มี slope ของ playback curve แตกต่างจาก RIAA curve ในย่านที่ต่ำกว่า 1kHz (0dB) ถ้าหากว่า เราใช้ RIAA curve เล่นกลับ ก็จะทำให้การชดเชยระดับความดังของย่านความถี่ต่างๆ ผิดไป ลอง มาชมตัวอย่างกันว่า ถ้า mono EQ ในยุคก่อน RIAA เมื่อเล่น กลับด้วย RIAA EQ จะเป็นอย่างไร (อันนี้เป็นตัวอย่างการชดเชย EQ ของ phono stage ยี่ห้อ FM Acoustics) 

ดังนั้น phono stage ที่สามารถปรับ Turnover frequency จะช่วยได้มากในการเล่นแผ่นยุคเหล่านี้ ให้การเล่น กลับเป็น flat response ในย่านความถี่ต่ำส่วนในย่านความถี่สูง จะใช้การปรับ High frequency curve ช่วย ดังจะกล่าวต่อไป ตารางต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการปรับค่า Turnover frequency ของค่ายแผ่นเสียงโมโนต่างๆ 

2. การเล่นแผ่นเสียงในยุค RIAA ที่มีค่า Turnover 500Hz นี้ กับเครื่องโฟโนสเตจที่สามารถปรับค่า Turnover ได้ ก็มี ความน่าสนุกอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวละครับ คือเราสามารถปรับ tonal balance ของเสียงได้ตามใจชอบเลยทีเดียว เช่น สมมติว่า เรามีแผ่นเสียงยุคใหม่นี่แหละ บันทึกด้วย RIAA EQ แต่ว่าเสียง มันหนาทึบหลือเกิน ถ้าเราลองปรับจุด Turnover frequency ให้ต่ำลงจากค่า 500Hz (RIAA) แล้ว เช่น สัก 400 หรือ 300 Hz จะมีผลทำให้ระดับความดังย่านเสียงเบสลดลง ผลคือเสียงที่ ได้จะโปร่ง บางขึ้น 

บางท่านบอกว่า เราใช้วงจรปรับทุ้มแหลมของภาคปรี (ที่มักมีในรุ่นเก่าๆ) ร่วมกับการ playback ด้วย RIAA EQ ในแผ่นยุคเก่าได้ไหม ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าน่าจะได้ แต่จะไม่พอดีเป๊ะๆ เพราะการชดเชยความถี่ในแต่ละย่าน ไม่ได้ linear ในระบบ phono equalization แต่ละย่านความถี่ จะชดเชยที่ระดับความดังไม่เท่ากัน ยิ่งถ้าจะใช้ tone control แค่ปรับทุ้มแหลมสองปุ่มในการแทนระบบ phono EQ ทั้งระบบ ยิ่งยากและไม่ได้ผล 

High Frequency Curve 

มีอีกค่าหนึ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึงไว้ เพราะมีปรีโฟโน บางตัวสามารถปรับค่านี้ได้ คือ… การปรับค่า high frequency curve ของ phono EQ ในมาตรฐาน RIAA จะกำหนดค่าการลด HF curve เป็นมาตรฐานที่ค่า 75 micro sec นั่นคือ การลดความดังย่านเสียงแหลมในแต่ละความถี่ เป็นไปสอดคล้องกับการเพิ่มในตอนบันทึก ตาม RIAA curve ด้านบน 

ทีนี้ มาดูภาพกราฟ phono EQ ของแต่ละค่ายในยุคโมโน รวมถึงยุค RIAA กันนะครับ ให้สังเกตย่านเสียงแหลม (ที่สูงกว่า 1kHz ขึ้นไป) จะเห็นว่า แผ่นเสียงโมโน แผ่นครั่ง ในยุคเก่า ส่วนใหญ่ การ playback ในย่านความถี่สูง เสียงแหลม นั้นจะกดย่านเสียงแหลมลงน้อยกว่ามาตรฐาน RIAA (มีอยู่ค่ายเดียวมั้งที่กดมากกว่า RIAA คือ AES) เหตุผล ที่ผมเข้าใจคือว่า แผ่นเสียงยุคแผ่นครั่ง ด้วยเทคโนโลยีของการตัดแผ่นเสียง หัวเข็มแผ่นครั่ง ไปจนถึงตัวดอกลำโพงนั้น ไม่สามารถให้เสียงย่านความถี่สูงได้มากมายนัก ส่วนใหญ่แผ่นครั่งที่ให้ความถี่สูงกว่า 10kHz นั้นแทบไม่มี ดังนั้น มันถูกบันทึกด้วยหัวตัดแผ่นเสียงบูสต์เสียง แหลมขึ้น น้อยกว่ามาตรฐาน RIAA ถ้าเราเอา RIAA phono EQ ไปเล่นกับมัน จะมีผลทำให้เสียงแหลม ลดลงกว่าที่ถูกบันทึกมา ดังนั้น phono stage ที่ดีๆ จะ สามารถปรับชดเชย phono EQ ในย่านเสียงแหลมให้ ค่า minus dB ย่านเสียงแหลม ติดลบน้อยลง (นั่นคือ กดเสียงแหลมน้อยลง ทำให้เสียง bright ขึ้น) 

จะเห็นได้ว่า ปรีโฟโนเทพๆ จะปรับได้ทั้ง entire range ของ phono equalization เลยทีเดียว คือ ปรับค่า Turnover frequency ในส่วนของย่านเสียง ทุ้ม และ HF curve ในย่านเสียงแหลม เพื่อให้แม็ตช์ กับยุคและเลเบลของแผ่นที่จำหน่ายในยุคก่อน RIAA standard เช่น JPA66 phono ของ EMT ภาพนี้เป็น ตัวอย่างการปรับตั้งค่าโฟโน ว่าจะต้องชดเชยทั้งค่า Turnover และ HF curve ที่เท่าไหร่ ในแผ่นแต่ละยุค 

UNPACKED AND SETUP

JPA66 มาในกล่องสองชิ้น ประกอบด้วย… ตัว main unit และอีกกล่องที่ขนาดเล็กกว่า แต่หนักกว่า คือ power supply unit ที่พ่นหน้าแบบ Hammertone และ faceplate ที่กว้าง และมีช่องสำหรับติดตั้งกับ studio rack ส่วนสวิตช์ on off เมื่อทำงานจะเป็นสีแดง 

main unit รุ่นที่ได้มาทดสอบนั้นเป็นรุ่น limited ที่มีหน้าสีทอง ถ้าเป็นรุ่นปกติจะพ่นสี hammertone (ซึ่งผมชอบมากกว่าสีทอง) ตอนที่เขาขนส่งมาจะแยกหลอดมาในกล่องต่างหาก ก่อนเริ่มใช้งานก็ต้องเสียบหลอดต่างๆ ให้ถูกตำแหน่งตามภาพ เครื่องจะใช้หลอด ECC83S หกหลอด และ ECC99 สองหลอด ในส่วนของหลอด ECC83S ให้ tube damper มาด้วย 

เนื่องจาก JPA66 มีการนำไปใช้งานในสตูดิโอด้วย หลอดที่ทาง EMT จัดให้นั้นจึงเป็นหลอดคัดเกรดอย่างดี มีค่าเท่ากันเป๊ะๆ และ microphonic ต่ำมาก ทุกหลอดก่อนส่งให้ลูกค้าจะได้รับการทดสอบอย่างน้อย 100 ชั่วโมง ว่าเสถียรและไม่มีเสียงรบกวนแน่นอน ดังนั้น เขาจึงไม่ค่อยอยากให้ลูกค้าเอาหลอดแบรนด์อื่นมาใส่แทนหลอดของเขา เพราะอาจจะมีเสียงรบกวนอื่นออกมามากกว่าที่เขาตั้งใจสร้างมันมา เครื่องที่ผมได้มานั้น ทางอาจารย์วิพล ได้ใส่หลอด และวอร์มเครื่องมาสักระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ผมเลยไม่ได้คันที่จะเปิดฝาเครื่องไปยุ่มย่ามข้างในแต่อย่างใด

มาดูด้านหลังเครื่องกันก่อนนะครับ ไล่จากทางซ้ายมือเป็นสายสะดือของเครื่องที่ต่อมาจาก power supply 

ช่อง Line output ให้มาทั้ง RCA และ Balanced ท่านสามารถต่อใช้งานได้ทั้งสองช่องพร้อมกันก็ได้ ในกรณี bi-amp แต่เกนของทั้งสองช่องก็ต่างกันหลาย dB อยู่ทีเดียว, ช่องถัดมา Control outเขาบอกว่า สำหรับโรงงานในการ calibration เป็นค่า fix output แบบที่ว่าการปรับ volume ไม่มีผล ตอนแรกคิดๆ ว่า คล้ายกับช่อง Tape out ของปรีทั่วไป แต่ไม่ใช่ เพราะความแรงสัญญาณที่ออกมาไม่มากนัก เลยใช้เป็นช่องทางบันทึกเสียงไม่ได้ 

ช่อง Line input มีให้สองช่อง สามารถรับได้ทั้ง Balanced และ RCA ถัดไปก็เป็นช่อง Phono input จัดเต็มมาสี่ช่อง แยกกราวด์แต่ละช่องกันเลยทีเดียว

เมื่อเรามาดูภาค control ของ Phono input ทั้งสี่ช่องใน front panel ก็จะทราบถึง feature ที่ทาง EMT ได้คิดทำไว้อย่างครอบคลุม ดังนี้…

ระบบภาคโฟโนของ EMT แบ่งเป็น MM ในช่องที่ 3, 4 และ MC ในช่องที่ 1, 2 ภาคโฟโน MC เป็นแบบการใช้ step-up transformer มาขยาย ถ้าเราเปิดเครื่องจะเห็น SUT อยู่สองคู่ (หน้าตาของ SUT ดูแล้วเหมือนของยี่ห้อ Neumann) แต่ละคู่สำหรับ Phono 1 และ 2 นั่นคือ เขาจูนเกนขยายของ Phono 1 และ 2 ไม่เท่ากัน

• Phono 1 จูนสำหรับหัวเข็ม EMT เท่านั้น เช่น ตระกูล TSD15, TMD15 

• Phono 2 จูนสำหรับหัวเข็ม MC Low output อื่นๆ เช่น พวกOrtofon SPU เกนขยายของช่องนี้สูงกว่าของช่อง Phono 1 ครับ

Phono 3 สำหรับหัวเข็ม MM ทั่วไป หรือสำหรับท่านที่อยากเล่น step up transformer ของตัวเองร่วมกับหัว MC Low ก็ให้มาใช้งานช่อง Phono 3 นี่ได้เลย

ทั้ง phono 1 ,2 และ 3 เรายังสามารถปรับเกนขยาย dB ได้อีกบวกและลบ 10dB (ปุ่ม level สีเงินแถวล่าง) ทำให้สะดวกมากมายในการจูนเกนของภาคโฟโนร่วมกับปุ่ม master volume control เพราะถ้าเกนจากโฟโนแรงเกินไปจะทำให้การควบคุม master  volume เป็นไปด้วยความลำบาก เราจะ เลือกลดเกนของช่องโฟโนลงสักหน่อย แล้วไปเร่งตรง master volume แทน และกลับกัน ในกรณีที่เกนขยายต่ำเกินไป เราสามารถเร่งเกน เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 10dB และแต่ละช่องสามารถ ตั้งเกนได้อย่างเป็นอิสระเลยทีเดียว 

• Phono 4 เป็นช่อง MM phono input แบบ fix gain ที่ 53dB และสามารถปรับ capacitance load ได้ (ที่ต้อง fix gain for MM cartridge นั้น ก็เพื่อเป็น reference gain สำหรับผู้ใช้งาน ในการเซ็ตเกนของ phono ช่องอื่นๆ 

Knob สีดำสี่ตัวสำหรับช่อง Input phono แต่ละตัว คือเป็นการปรับ load impedance ของหัวเข็ม ค่าที่ 100% ของ Phono 1, 2, 3 และ 4 คือ 200Ohm, 47Ohm และ 47kOhm ตามลำดับ และสามารถปรับขึ้นและลงแบบ continuous ได้ ตั้งแต่ -50% ถึง +100% ของค่า nominal นี้ หลักการก็คือว่า ถ้าเราลด load impedance ลง ย่านความถี่สูงจะ roll off เร็วขึ้น แต่ถ้าปรับลดมากเกินไป คือต่ำกว่า impedance ฝั่งหัวเข็ม จะทำให้ปลายเสียงแหลมกุดด้วนไป ขณะที่ปรับค่า load impedance สูงขึ้น ปลายเสียงแหลม จะเปิดมากขึ้น ดังนั้น เราสามารถจะจูน tonal balance ของเสียงได้ตามใจชอบเลยทีเดียว 

ใน Phono 4 จะมีการปรับค่า capacitance load ของหัวเข็ม MM ได้ ค่านี้จะเป็นผลมาจาก coil capacitance รวมไปจนถึงสายสัญญาณที่เราใช้ พยายามใช้ค่าที่ต่ำที่สุดที่ฟังสบาย ถ้าปรับค่าสูงขึ้น ย่านเสียงแหลมจะทึบลง 

ตรงโซนกลางเครื่องมีปุ่มต่างๆ ตามที่เห็น การปรับค่า Turnover และ hf-Curve ได้บรรยายแล้วตาม ส่วนล้อมกรอบ ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับได้เกือบ ตลอดย่านความถี่ของ playback EQ curve ปุ่มขวา มือสุดเป็น Scratch Filter สำหรับเวลาเล่นกับแผ่นเสียง โมโนยุคเก่าๆ ที่มีเสียงรบกวนมาก จะช่วยตัดเสียง รบกวนย่านเสียงแหลมลง (ตลอดการรีวิว ผมตั้งไว้ที่ off คือไม่ได้ใช้งาน) ทางด้านบนเป็น VU meter สำหรับ monitor สัญญาณ input (ทดสอบด้วยการหมุนระดับ เสียงขึ้นลง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงของ peak VU แสดงว่ามันใช้ monitor ความแรงฝั่ง input อย่างเดียว ไม่ได้บอกความแรงของ output) สามารถเลือกระดับ สเกลของมิเตอร์ได้ห้าระดับ 

โซนทางขวาของ front panel จะมี master volume ลูกใหญ่เป็น smooth rotation ไม่ได้ เป็น step atten. มี ปุ่ม Toggle switch สามปุ่ม, Subsonic filter ที่กรองย่าน ความถี่ต่ำ, ปุ่ม Mono/ Stereo และสวิตช์ทางขวาจะเป็น 3 step คือ In phase (P+), กลับเฟส 180 องศา (P-) และผลักขึ้นบนคือ Mute ลูกบิดถัดไปก็ balanced ทีนี้ พอทำความรู้จักกับปุ่มทั้งหมดและการใช้งานมัน เราก็เริ่มการทดสอบกันละครับ 

PLUG AND PLAY 

อุปกรณ์ที่ผมใช้ร่วมในการทดสอบครั้งนี้ ได้แก่… 

1. CD Player: Tascam CD-RW 901 Mark 2 สำหรับทดสอบภาค Line input 

2. Turntable: EMT 930ST พร้อมอาร์ม 929 และอาร์ม Jelco 750L ที่ติดเพิ่มด้านท้ายของแท่น 

3. หัวเข็ม: EMT TSD15, Benz Micro SL Wood (ติดบน EMT J headshell สำหรับเล่นกับอาร์ม 929), Clearaudio Aurum Beta S (สำหรับทดสอบ Phono 4 MM input), Audio Technical AT33 Mono (สำหรับทดสอบช่อง Phono 2) 

4. สายเอซีสำหรับปรี JPA 66 ผมใช้ PS Audio Lapp Cable เส้นใหญ่น้องๆ แขนเด็ก 

5. Western Electric 618B Step-Up Transformer ร่วมกับหัวเข็ม MC Low ในการทดสอบช่อง Phono 3 MM 

6. Power Amplifier: Luxkit A3500 Tube Amp, Accuphase P300x 

7. ชุดลำโพง Western Electric 16A Horn และตู้เบส JBL 4560, Altec 211 ร่วมกับ YL, Goto Compression Driver 

ทดสอบช่อง LINE INPUT 

มาถึงผมจับทดสอบภาคไลน์ก่อน ด้วยซีดี SFR Reference ของค่าย King Records แทร็กที่ 1 And I Love Her โดย JB Project เสียงจากภาคไลน์ มันไม่เหมือนเครื่องหลอดปกติ มันไม่อิ่ม ไม่หวาน แบบปรีหลอดวินเทจอย่างพวก Marantz 7, McIntosh C22 เสียงออกแนว monitor และเที่ยงตรงมากๆ ครับ สิ่งที่น่านับถือมากๆ คือ เป็นปรีหลอด ที่เสียงสงัดมากๆ ถึงแม้ลำโพงผมมีความไวสูงมาก แต่ไม่ได้ยินเสียง background noise เลย พื้นเสียงสงัดมาก นั่นส่งผลให้การรายงานผล image และ soundstage เป็นไปอย่างยอดเยี่ยม 

soundstage ทั้งกว้าง ทั้งลึก และ pin point มากๆ ตอน ช่วงที่เล่น Line stage ก็อย่างที่เห็นในภาพนะครับ ระดับโวลุ่ม ของเสียงที่ผมฟังได้ดังพอควรกับชุดผม อยู่ที่ประมาณเกือบๆ ถึง เลข 3 (ขีดโวลุ่มอยู่ที่ประมาณเกือบๆ 10 นาฬิกา) กับชุดไฮเอ็นด์ ชุดอื่นที่ลำโพงกินวัตต์อาจจะต้องเร่งขึ้นไปมากกว่านี้นะครับ ใน circuit board เราสามารถปรับ line level input gain โดยปรับ jumper ภายในเครื่องได้ ซึ่งมาตรฐานจะอยู่ที่ -6dB เราสามารถลดเกนลงเป็น -12dB หรือเพิ่มเกนเป็น 0dB ได้

แผ่นนี้คือ ซีดีที่ ซือแป๋ สาธร มอบให้เป็นวง big band ของ Kenichi Tsunoda จากญี่ปุ่น มันให้สเกลเสียงที่ big สมชื่ออัลบั้มนี้จริงๆ ทุกอย่างเป๊ะมาก ตำแหน่งชิ้นดนตรี จังหวะดนตรีต่างๆ ลองเอาไฟล์เพลงนี้ไปฟังกันนะครับ ที่ https://drive.google.com/file/d/0BxouBUA6uiSpd0JlSGlUcWFfLVU/view 

ภาค Phono

1. กับ EMT TSD15 ในช่อง Phono 1 input ณ เซ็ตอัพตอนนั้น นี่คือ full EMT system ล่ะครับ ตั้งแต่… แท่น, อาร์ม, หัวเข็ม ไปยันภาคโฟโนหลอดชั้นดี ฟังแล้วฟินครับ เป็นครั้งแรกที่ถือว่าได้ฟังภาคฟร้อนต์ทั้งระบบเหมือนกับห้องบันทึกเสียง Stockfisch เยอรมนี ในตอนที่ผม setup เสร็จแล้วนั้น ปุ่มปรับ level ของช่อง Phono 1 นั้น จะมีประโยชน์มากในการปรับละเอียด overall gain ของการเล่นกลับ โดยในการทดสอบ Phono input ของช่อง 1 – 3 ผมพยายามสมดุลระหว่างค่า level ของ phono gain และปุ่ม master volume เพื่อให้ระดับความดัง และการปรับ headroom เป็นไปได้อย่างสะดวก บางท่านอาจจะมองว่าเหมือนกับโวลุ่มซ้อนกัน ก็ไม่เชิงนะครับ ท่านจะเห็น feature การแยกการปรับเกน กับโวลุ่มแบบนี้ได้ในปรีไฮเอ็นด์สมัยก่อน อย่าง Audio Research หรือ Audible Illusion L2 

เมื่อเราปรับค่า level ได้เหมาะสมแล้วก็ฟินครับ ฟังเพลินและสบายมากกับแผ่นเพลงแจ๊สสนุกๆ อย่าง Soul Station ของ Hank Mobley แผ่น re-issue ของค่าย Bluenote ถ้าเทียบกับปรี หรือ phono stage ระดับสูงๆ ตัวอื่นๆ ที่ผมเคยฟังผ่านๆ มา จะรู้สึกได้เลยว่า ที่เราฟังผ่านๆ มานั้น มีเติมสี ใส่ไข่ อะไรๆ มากเกินไปหรือเปล่านะนี่ กับ JPA 66 ทุกๆ เสียงมาอย่างเป็นจังหวะจะโคนเดียวกัน แล้ว soundstage กว้างมากกว่าปรีตัวอื่นที่ผมเคยเล่น ส่วน clarity ของแต่ละชิ้นดนตรีนั้นแยกแยะได้หมดจด ทุกเสียงต้องใช้คำว่า coherent คือมันสอดคล้องเข้ากันได้ดีทั้งหมด ไม่มีที่จะตำหนิว่าหนาไป บางไป เข้มไป หรือจัดเกินไป นี่คือลักษณะของ studio monitor อย่างแท้จริง มันเที่ยงตรงและแม่นยำมากๆ ในทุกๆ ตัวโน้ตที่นักดนตรีเล่น

กับ Ingram Washington อัลบั้ม WhatA Different A Day Makes ต้องเรียกได้ว่า “You are there” อย่างแท้จริง เหมือนเขามายืนร้องอยู่ตรงหน้า full body เมื่อเล่นด้วยระบบ EMT ตั้งแต่หัวเข็มไปยัน phono stage, การปรับปุ่ม Turnover frequency นั้น ช่วยเพิ่มอรรถรสในการฟังแผ่นขึ้นอีก เมื่อเราปรับหมุนทวนเข็มนาฬิกามา (จากตำแหน่ง 12 นาฬิกา ที่ค่า 500Hz) เราจะได้ความอุ่นหนาของเสียงกลางที่มากขึ้น จริงๆ ฟังก์ชั่น การปรับค่า Turnover frequency ก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับ หรือเป็นวงจรถอดรหัสที่พิสดารอันใด มีปรีโฟโนยี่ห้ออื่นที่สามารถปรับค่าได้แบบ continuous แบบนี้ เช่น Thomas Mayer viable EQ phono

หรืออย่างอีกยี่ห้อระดับ Super Hi-End (และ High price) ด้วยคือ FM Acoustics 223 Phono stage หรือแม้กระทั่งปรีโฟโนของคนไทยทำก็มีฟังก์ชั่นนี้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเพื่อใช้งานร่วมกับการเล่นแผ่นเสียงในยุคโมโน หรือแผ่นครั่งสปีด 78 แต่การลองปรับเล่นกับการเล่นแผ่นสเตริโอสมัยใหม่ ยุค RIAA EQ ก็มีความน่าสนุกไม่น้อย และช่วยให้แผ่นเสียงบางแผ่นสามารถฟังได้อย่างมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

2. ช่อง Phono 2 ที่ได้จูนไว้กับการเล่นหัวเข็ม MC Low ช่องนี้มีเกนขยายที่สูงกว่าช่อง Phono 1 ครับหัวเข็ม EMT TSD 15 นั้น ถ้าดูตาม datasheet จริงๆ เมื่อแปลงหน่วยเป็นมาตรฐานจะเท่ากับหัวเข็มที่มีความแรงสัญญาณ เกือบๆ 1mV (ที่ 5 cm/sec) แต่ช่อง Phono 2 จะจูนมาให้พอเหมาะพอเจาะกับหัวเข็มที่มี output ต่ำที่ประมาณ 0.25mV ผมลองต่อหัวเข็ม Benz Micro SL Wood ที่มีค่า output อยู่ที่ 0.4 mV ยังรู้สึกถึงเกนขยายที่ค่อนข้างสูง ต้องปรับ gain level ของช่อง Phono 2 ให้ลดลงมาเหลือสักประมาณตำแหน่ง 8 นาฬิกา (จาก nominal ที่ 12 นาฬิกา) เมื่อทดลองเปลี่ยนหัวเข็มเป็น Audio Technical AT33 Mono ซึ่งมีค่า output ต่ำลงมาอีกหน่อย (0.35mV) ก็ยิ่งฟังดีขึ้นในช่องนี้ ไล่เรียงมาถึงหัวเข็ม Denon DL103 (Aluminum Headshell) ที่ output 0.3mV ล้วนแต่เหมาะเจาะกับช่อง input นี้มาก น่าเสียดายที่ระหว่างการทดสอบนั้น เครื่องเล่นแผ่นเสียง EMT 930 ของผมเกิดมีปัญหาที่ตัวมอเตอร์ ต้องทำการส่งเข้าโรงซ่อม เลยจำเป็นต้องใช้แท่นอื่นมาทดสอบแทน คือ Kenwood KD600 Direct Drive ติดอาร์ม Fidelity Research FR64S ฟังหัว mono ของ Audio Technica ร่วมกับปรับค่า Turnover และ hf curve สนุกสนานมาก เลือกแผ่นโมโนสองแผ่นนี้มาฟัง คือ Louis Armstrong ชุด Satchmo play King Oliver แผ่นโมโนเดิมๆ สังกัด Audio Fidelity (แผ่นนี้ stereo version ทาง Classic Records เอามา re-issue เสียง ดีมากๆ) และแผ่น Casino Royale mono original 

เสียงที่ได้มีความอิ่มหนามากพอสมควรเลยที เดียว ยิ่งถ้าได้ปรับค่า Turnover และ hf curve แล้ว ยิ่งทำให้ฟังได้ดีมากขึ้นอีก น่าเสียดายที่ตัวผมเองไม่มี พวกแผ่นครั่งสปีด 78 รวมถึงหัวเข็มที่จะเล่นแผ่นครั่ง ไม่งั้นคงได้ทดสอบการปรับค่า playback EQ กัน สนุก คู่มือที่ทาง EMT ให้มานั้น มีตารางของการตั้งค่า Turnover และ hf curve ของค่ายแผ่นเสียงตั้งแต่ยุค 1927 มาจนหมดยุคโมโนในทศวรรษ 1950 ถึงสองหน้ากระดาษ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกยุคทุกสมัย ท่านที่มี collection แผ่นครั่งมากๆ นี้ ผมว่าเจ้า JPA 66 น่าสนมากๆ 

3. ช่อง Phono 3 เป็นช่องที่ผมได้ทดสอบน้อย ที่สุด เนื่องจากเป็นช่องที่เขาทำสำหรับท่านที่มี Step Up Transformer ภายนอก จะสามารถเล่นร่วมกับ หัวเข็ม MC Low output แล้วเข้าช่อง MM ของ Phono 3 นี้ได้ ท่านสามารถที่จะปรับ load impedance และ level หรือเกนขยายสัญญาณได้เหมือนช่อง Phono 1 และ 2 แต่เนื่องจากใน setup ของผมนั้น Step Up Transformer ของ Western Electric มีค่าการขยาย 1:30 คิดเป็น dB คือ 26dB เมื่อรวมกับค่า MM gain ที่ 53dB ทำให้เกนขยายรวมปาเข้าไปเกือบ 80dB ซึ่งมันขยายมากกว่าหัวเข็ม low สุดที่ผมมีอยู่ ถึงแม้ว่า ผมจะปรับ level ทวนเข็มสุดมาที่ -10dB แต่ก็ยัง ค่อนข้างแรงเกินไปสำหรับหัวเข็มที่มี output 0.35 – 0.4 mV ที่ผมมี ฟังแล้วเสียงมันจะล้นๆ ไปสักหน่อย เลยไม่ค่อยได้ทดสอบช่องนี้เท่าไหร่นัก 

4. ช่อง Phono 4 นี่น่าสนใจมากครับ เป็นช่องที่เรา จะได้ฟังกันจริงๆ ว่า ภาคโฟโนเพียวๆ ของ EMT แบบก่อน ผ่าน Step Up Transformer ในตัวมัน ผมเลยจัดหัวเข็ม Clearaudio Aurum Beta S ที่ติดบนอาร์มสิบสองนิ้ว Jelco 750L ลองเล่นดู เล่นแผ่นสเตริโอเดียวกันกับแผ่น ที่ผมใช้ลองช่อง Phono 1 นั่นแหละครับ ผมว่าเป็นภาค โฟโน MM ที่เสียงดีมากๆ รายละเอียดต่างๆ ของปลายเสียงแหลม ทำได้ดีกว่า MM phono ของปรีทั่วๆ ไป อย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น ปลายเสียงแฉของแผ่น Ingram Washington นั้น เป็นฝอยละเอียดเลยทีเดียว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า JPA 66 มีความพิถีพิถันในการจูนเสียงอย่างมาก คาแรกเตอร์ของเสียงเมื่อเล่นด้วยแผ่นเสียงเดียวกัน แต่ต่างหัวเข็ม ในภาคโฟโน MM หรือ MC มันให้คุณลักษณะ รายละเอียดการจัดวางชิ้นดนตรี และความเป็น monitor ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการเติมอะไรเกินเลยเข้าไป และไม่มีรายละเอียดตรงไหนที่ขาดหายไป 

ผมตั้งใจจะ limit เวลาตัวเองในการทดสอบ JPA 66 ในห้องฟังเพลงของผมว่า ไม่ให้เกินสองอาทิตย์ เนื่องจากว่าเป็นเครื่องเสียงที่ราคาสูงมากที่สุด เท่าที่ผมเคยขอเอามาทดสอบ ความรับผิดชอบต่างๆ ย่อม ตกแก่ตัวผมแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้นด้วยเวลาอันจำกัด ผมจึงพยายามฟังๆๆๆ แผ่นเสียงจากปรีตัวนี้ให้มากที่สุด จนกระทั่งเจ้า EMT 930 เทิร์นเทเบิ้ลตัวเก่งของผมก็เริ่มเกเร อัน เนื่องมาจากปัญหาของมอเตอร์ ในช่วงท้ายๆ ของการทดสอบพอดี 

แผ่นนี้ครับ Santana Abraxas อัลบั้ม ล่าสุดของ Mobile Fidelity ที่ทำมาแบบ speed 45 one step pressing ultradisc มันให้เสียงที่มีความ รู้สึกโอบรอบ รายละเอียดกรุ๊งกริ๊งต่างๆ ร่วมกับเบสต่ำๆ ที่ละเลี่ยมาตามพื้น ในแทร็กแรก “Singing Winds, Crying Beasts” และไล่ต่อเนื่องไปจนถึง เพลง Black Magic Woman สามารถตรึงให้ผมและมิตร สหายที่ได้แวะเวียน มาเยี่ยมฟังห้องผมในช่วงปีใหม่นิ่งอึ้งกับ soundstage ของแผ่น Mofi ชุดนี้ (ที่ขายหมด sold out ทันทีที่วาง จำหน่ายในตลาดออนไลน์ทั่วโลก) ไล่เรียงไปถึงเพลงคลาสสิก อย่างอัลบั้มนี้ของค่าย Analogphonic ผลงานของ Campoli เล่น Tchaikovsky Violin Concerto 

ปรี JPA 66 สามารถให้เลเยอร์ของหมวดหมู่เครื่องดนตรีคลาสิกได้เป็นอย่างดี ทำให้เราฟังเพลงนี้ได้เพราะมากขึ้นไปอีก จากที่เคยฟังๆ มา ในชุดเดิมๆ 

บทสรุป 

นับเป็นโอกาสอันดีของผมที่ได้ทำการทดสอบปรี EMT JPA 66 Mk 2 ตัวนี้ ซึ่งเป็นปรีที่ถ้าท่านหารีวิวของค่ายนิตยสารเครื่องเสียง ไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ หรือ online magazine นั้น แทบจะไม่มีเลย อาจเป็นเพราะว่าราคาที่สูงมาก ร่วมกับฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ที่เหมาะกับห้องบันทึกเสียง หรือการ ทำงานในสตูดิโอใหญ่ๆ แต่ด้วยความกรุณาของอาจารย์วิพล แห่ง Audio Absolute ทำให้ผมได้มีโอกาสฟังปรีในฝันตัวนี้ ในตลอดช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มันเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงระดับมาตรฐานห้องแล็บ ให้เสียงที่เที่ยงตรง ไม่ประนีประนอม ไม่เอาใจหู และมี features ลูกเล่นที่เหนือชั้นกว่าเครื่องใน ระดับเดียวกัน ยิ่งท่านที่มี collection แผ่นเสียงในยุคก่อน stereo นั้น ควรพิจารณาปรีตัวนี้เป็นพิเศษ หวังว่าปรีตัวนี้ ยังคงอยู่ที่โชว์รูมของร้าน Audio Absolute ให้ท่านได้ลอง แวะเวียนไปฟังด้วยตนเองที่โชว์รูม The Walk ราชพฤกษ์ (รีบๆ ไปขอฟังกันก่อนที่จะไปอยู่ใน collection ของนักเล่นระดับชั้นนำบ้านเราเสียก่อนนะครับ). ADP

ราคา 1,890,000 บาท 

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Audio Absolute 
โทร. 0-2489-8954, 08-1845-4321 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 240