ธีรวัฒน์

นักเขียน : ธีรวัฒน์ โชติสุต

Dynaudio Special Forty รุ่นนี้ผมเฝ้า ติดตามมานาน จากไทม์ไลน์ที่ผมเคยโพสต์ เกี่ยวกับลำโพงรุ่นนี้มาก่อนก็ร่วม 2 ปีมาแล้ว เหตุผลอย่างแรกก็คือ ผมเป็นคนที่ชอบเสียง แหลมจากทวีตเตอร์ ESOTAR ของ Dynaudio มานาน เป็นแฟนคลับตัวยงของทวีตเตอร์ ESOTAR เลยก็ว่าได้ เหตุผลที่สอง ในการผลิต ลำโพงเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบของ Dynaudio นั้น Dynaudio Special Forty จะเป็นลำโพงที่ผลิตออกมาในวาระเฉลิมฉลอง ครบรอบของบริษัท ซึ่งตั้งราคาเอื้อมถึงได้ ง่ายกว่า 2 รุ่นที่ผ่านมา ก็คือในวาระครบรอบ 25 ปีและ 30 ปี

ในวาระครบรอบ 40 ปี ทางทีมงาน Dynaudio ได้กล่าวไว้ว่า เขาไม่ได้ผลิตเพื่อจะฉลองในความสำเร็จ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แต่เพื่อจะบอกว่าตลอด 40 ปี ที่ผ่านมาสามารถทำอะไรแตกต่างหรือดีขึ้นกว่าเดิม หรือเปล่า

เห็นได้จากแต่ละอย่างล้วนหยิบมาจากสิ่ง พื้นฐาน ซึ่งจะว่าไปก็คือสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่น่า จะใช้ เช่น วงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก ซึ่งทาง Dynaudio เลือกใช้ 1st Order ถามว่าทุกวันนี้มีใคร ยังใช้แบบนี้อีกบ้าง บอกได้เลยว่าแทบจะไม่มีเลย แต่เทคนิคโบราณแบบนี้ช่วยให้การตอบสนองความถี่ เสียงกลมกลืนในทุกย่านความถี่เสียง และเฟสของ สัญญาณก็สามารถอินเฟสกันได้สมบูรณ์มากกว่า ผลลัพธ์คือคุณภาพของเสียงที่ได้ยินแล้วถึงกับทึ่ง และอึ้งไปเช่นกัน

ทวีตเตอร์ซึ่งใช้ใน Dynaudio Special Forty คือรุ่น ESOTAR FORTY นั้น พัฒนาต่อยอดมาจาก ESOTAR2 โดยมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้สามารถ ถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม เช่นใช้ แม่เหล็ก Neodymium มีขนาดใหญ่มากขึ้น ออกแบบ แชมเบอร์ภายในใหม่เพื่อลดการเรโซแนนซ์ภายใน ตัวโครงสร้างตู้ รวมถึงการเคลือบน้ำยาพิเศษเฉพาะ ของโดมผ้าไหม ช่วยให้การตอบสนองความถี่เสียง ทะลุไปถึง 23,000Hz

ส่วนตัว มิดเรนจ์/เบสยูนิต ขนาด 170 mm ใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับ Dynaudio เรียกว่า MSP และเทคนิคที่ทาง Dynaudio ภูมิใจอย่างมากคือการจับเอาแม่เหล็กอยู่ ภายใน Voice Coil ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตเจ้าไหนทำได้ อีกทั้งแม่เหล็กก็ใช้ neodymium ที่ไม่มีใครเขากล้า

ใช้กัน เพราะมีราคาแพงและค่อนข้างหาได้ยาก แค่สองอย่างนี้ก็ทำให้ Dynaudio Special Forty มีความพิเศษเหนือคำบรรยายแล้วล่ะครับ

เซ็ตอัพและคุณภาพเสียง

Dynaudio Special Forty คำถามหนึ่งซึ่งคิดว่า หลายท่านคงอยากจะทราบอย่างแน่นอนก็คือ ลำโพง คู่นี้ขับง่ายหรือยาก กินกำลังขับจากแอมป์มากหรือเปล่า จำเป็นต้องใช้แอมป์กำลังขับเยอะๆ จริงหรือไม่

เรื่องนี้จริงๆ เกี่ยวข้องกันถึงสองอย่างด้วยกัน คือ กำลังขับ และการเซ็ตอัพตำแหน่งของลำโพง ว่ากัน เรื่องกำลังขับจากแอมป์ก่อน

ลำโพง Dynaudio Special Forty มีความไว 86dB อิมพีแดนซ์ 6-ohms ดูแล้วการใช้กำลังขับสูงๆ ย่อมได้เปรียบมากกว่า เรื่องนี้ไม่เถียงครับว่ามีส่วนถูก อยู่บ้าง แต่ก็ใช่ว่าแอมป์กำลังขับต่ำๆ จะขับไม่ได้ เพราะช่วงแรกในการทดลอง ผมใช้อินทิเกรตแอมป์ หลอด Audiospace Mini Galaxy I ซึ่งมีกำลังขับ เพียง 12 วัตต์ ก็ยังขับได้สบาย แต่เมื่อใช้กำลังขับ ไม่ได้มาก เสียงช่วงความถี่เสียงกลางๆ จะฟังดูแออัด สักนิด แต่เมื่อใช้แอมป์กำลังขับมากขึ้น ความแออัด ของเสียงตรงนี้จะหายไป ไม่ได้รู้สึกถึงความแออัด เท่าไรนัก แต่หากใช้แอมป์กำลังขับต่ำๆ ต้องใส่ใจใน เรื่องการเซ็ตอัพของลำโพงค่อนข้างมาก เพราะจะช่วย ลดความแออัดของเสียงลงได้เช่นกัน

เรื่องความแออัดของเสียงหากจะบรรยายให้เกิด ภาพและเข้าใจได้ตรงกันกับในสิ่งที่ผมจะสื่อออกไป ให้มองง่ายๆ อย่างนี้ว่า เหมือนนักดนตรีทุกคนเขยิบ เข้ามาใกล้กันมากขึ้น ลดช่องว่างช่องไฟในตำแหน่ง การยืนลงมาใกล้ชิดกันมากขึ้น เมื่อใช้แอมป์กำลังขับ มากขึ้น เหมือนการผลักให้นักดนตรียืนเขยิบห่างออก จากกัน เสียงที่ฟังดูเหมือนแออัดก็ช่วยให้ดีขึ้นมา ไม่ได้ รู้สึกอึดอัดในแง่ของเสียงดนตรี ก็คือเปิดมีอิสระมากขึ้น ไม่ได้รู้สึกว่าเสียงออกเครียดๆ แออัดกันมากนัก

แต่หากใช้แอมป์กำลังขับต่ำแน่นอนว่าความ แออัดของเสียงย่อมมีให้รู้สึกเช่นนั้น แต่ก็สามารถ จัดการแก้ไขได้ด้วยการเซ็ตอัพลำโพง โดยการวางหัน หน้าลำโพงโทอินกันเข้ามา แต่ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน เพราะหากโทอินเข้ามากันมากเกินไป เนื้อเสียงจะบาง โดยเฉพาะอิมแพ็คหัวโน้ตพวกกีต้าร์และเปียโนนี้ แทบจะหายไปเลย โดยบุคลิกพื้นฐานเดิมของลำโพง Dynaudio Special Forty เป็นลำโพงวางหิ้งที่ให้ เนื้อเสียงข้นใหญ่ ไม่ได้ให้เนื้อเสียงที่บางเลย ไดนามิก หัวเสียงทั้งดีดและมีน้ำหนักจะโคนที่ดี เปรียบเสมือนนักมวยไฟติ้งที่มีลีลาสวยงาม แถมมีหมัดที่หนัก ประเภทหมัดเดียวก็น็อกได้เช่นกัน

ดังนั้นไม่ว่าจะใช้แอมป์กำลังขับน้อยและ มาก ผมก็จะไม่ค่อยวางลำโพงหน้าตรงๆ จะวาง ลำโพงโทอินกัน จะมากจะน้อยก็ขึ้นกับกำลังขับ ของแอมป์และเสียงที่ได้ยิน รวมถึงสภาพของ ห้องก็เป็นตัวกำหนดด้วยเช่นกัน

จากการที่ผมได้ลองเซ็ตอัพโดยการวาง ลำโพง Dynaudio Special Forty หน้าตรงๆ หากวางลำโพงหน้าตรงและวางลำโพงห่างกัน ไม่มาก จะรู้สึกว่าลำโพงเครียดและดูจริงจังมาก เกินไป เนื่องจากความแออัดของเสียงย่าน ความถี่กลางๆ ไปจนถึงความถี่ต่ำตอนต้น และ ที่สำคัญก็หัวเสียงก็ไม่ได้ให้โฟกัสที่คมหนักแน่น มากนัก ออกไปทางเสียงอวบฟังดูหนาใหญ่ ถ้าต้องการลดความแออัดของเสียงโดยการ ขยับลำโพงให้ออกห่างซึ่งกันและกันมากขึ้น เสียงฟังดูโล่งขึ้นแต่เนื้อเสียงบางลง อีกทั้ง อิมแพ็ค ไดนามิก หัวโน้ตนี่แทบหายไปเลย ผมเลยต้องวางลำโพงแบบโทอินเช่นเดิม

ตรงนี้ผมเคยพูดหลายครั้งว่า ในการบันทึก เสียงนั้น ไมค์ที่ใช้บันทึกเสียงเครื่องดนตรีนั้น จะจ่อให้ตำแหน่งใกล้เคียงดนตรีค่อนข้างมาก ดังนั้นเสียงต้นในโน้ตตัวแรกที่หูเราสามารถ ได้ยินนั้น จะคมชัดและหนักแน่น รวมถึงเสียง ร้องด้วยเช่นกัน ที่นักร้องมักจะร้องเอาปากไปจ่อ ที่ไมค์เสมอ เสียงร้องจึงต้องคมชัดก่อน

แต่ว่าหากนักเล่นท่านใดชื่นชอบที่จะวาง ลำโพง Dynaudio Special Forty หน้าตรงๆ แนะนำว่าควรเล่นแอมป์กำลังขับสูงๆ สักหน่อย หากเป็นโซลิดสเตทก็ต้องประมาณ 200 วัตต์ หรือหากเป็นแอมป์หลอดก็แนะนำว่าควรจะ สูงกว่า 60 วัตต์ แต่ถ้าได้กำลังขับ 250 วัตต์ หรือ 500 วัตต์ อย่าง Manley นี่รับรองถึงใจพระเดช พระคุณอย่างแน่นอนเลย เพราะแอมป์กำลังขับ มากๆ จะทำให้รู้สึกแออัดน้อยลง เสียงจะ เปิดโปร่งและโน้ตแต่ละโน้ตจะมีอิสระต่อกัน มากยิ่งขึ้น

วกกลับมาคุยเรื่อง เมื่อใช้แอมป์กำลังขับต่ำๆ กันอีกสักหน่อย หากใช้แอมป์กำลังขับต่ำเรื่อง การเซ็ตอัพจึงต้องค่อนข้างจะละเอียดกว่าแอมป์ กำลังขับมากๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไร ก็ลองขยับลำโพงโทอินมาทีละน้อย แล้วเปรียบ เทียบความโปร่งของเสียง อิมแพ็คและไดนามิกของเสียงจะต้องไม่หายตามไป จะต้องดีคงอยู่ ทั้งสามอย่างด้วยกัน จึงจะถือว่าเป็นตำแหน่ง ที่เหมาะสมกันดีแล้ว

มาถึงเรื่องของขาตั้ง บอกตรงๆ ว่า ผมชอบ วางลำโพง Dynaudio Special Forty บนขาตั้ งลำโพงที่มีน้ำหนักสักหน่อย น้ำหนักไม่ต้องหนัก และเบามากเกินไป ถือว่ากำลังดีเลย

คุณภาพเสียง

ต้องขอบอกก่อนว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ คลั่งไคล้ในทวีตเตอร์ ESOTAR ของ Dynaudio อย่างมาก ผมอยากจะบอกว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ในชีวิตการฟังเพลงและเล่นเครื่องเสียง ควรจะ มีลำโพงซึ่งใช้ทวีตเตอร์ ESOTAR เก็บไว้ใช้งาน หรืออย่างน้อยควรจะมีช่วงเวลาหนึ่งได้คลุ กคลี เสียงจากทวีตเตอร์ ESOTAR นานๆ สักครั้ง

สำหรับผม ทวีตเตอร์ ESOTAR ของ Dynaudio คือทวีตเตอร์โดมผ้าระดับเวิลด์คลาส ที่ยากจะหาทวีตเตอร์โดมผ้ายี่ห้อใดเทียบได้ เพราะผมเองเคยฟังลำโพงซึ่งใช้ทวีตเตอร์ ESOTAR มาหลายครั้ง ทั้งที่พบในลำโพงยี่ห้อ อื่นๆ ที่ไม่ใช่ลำโพง Dynaudio รวมถึงลำโพง Dyaudio ด้วยเช่นกัน ยิ่งทวีตเตอร์ ESOTAR ใน Dynaudio Special Forty ตัวนี้ได้มีการ พัฒนาต่อยอดมาจาก ESOTAR2 ด้วย

ลำโพง Dynaudio Special Forty ถ้ามอง ถึงในคุณภาพของเสียงย่านความถี่เสียงกลางสูง และย่านความถี่เสียงสูงแล้ว ผมรับประกันได้เลยว่าไม่สร้างความผิดหวังใดๆ เลย ซ้ำยิ่งเป็นการ ตอกย้ำให้หลงรักหลงใหลในทวีตเตอร์อย่าง ESOTAR มากยิ่งขึ้นไปอีก

ความเหนือชั้นอย่างแรกของลำโพง Dynaudio Special Forty ก็คือ หากวางลำโพง ในระนาบด้านหน้าไม่เสมอกัน ย่านความถี่เสียง สูงก็ไม่ได้ฟังดูแข็งกร้าวหรือเสียงบีบเล็กลง ลองฟังเสียงจากคลิปนี่ https://youtu.be/ o8gDRmz7TYM

ตรงนี้จะแตกต่างจากลำโพงวางหิ้งอื่นๆ อย่างเช่นลำโพงซึ่งใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะ หากลำโพงวางไม่ได้ระนาบหรือมีระยะห่างไม่ได้ เท่ากันทั้งด้านกว้างและด้านลึก เสียงในย่าน ความถี่เสียงสูงจะออกชัดและจัด เมื่อเปิดเบาๆ จะฟังสบาย แต่เมื่อไรที่เร่งระดับโวลุ่มขึ้นไป เสียงจะยิ่งจัดชัดขึ้นและมีเนื้อเสียงค่อนข้าง หยาบ ซึ่งก็คืออาการไม่อินเฟสของย่านความถี่ เสียงสูงจากทวีตเตอร์ เท่าที่ผ่านมาบางครั้ง นักเล่นก็ไม่ได้แก้โดยการเซ็ตอัพใหม่หรือเซ็ต ไม่ลงตัว ถ้าลำโพงคู่นั้นมีฟังก์ชันที่สามารถลด ความถี่เสียงสูงได้ มักจะแก้ที่ปลายเหตุด้วยการ กดความถี่เสียงสูงลงโดยการใช้ความต้านทาน เพิ่มเข้าไป เวลาตรวจสอบการเซ็ตอัพลำโพง ผมเลยให้ตรวจสอบโดยการเปิดโวลุ่มมากขึ้นดังขึ้น เพื่อตรวจสอบว่า เสียงคมชัดหยาบขึ้นมาหรือเปล่า และเบสมีมากขึ้นไหม ถ้าเปิดดังแล้วเจออาการ สองอย่างนี้แสดงว่า ลำโพงยังเซ็ตอัพหาตำแหน่ง ไม่ลงตัว มีการหักล้างทางเฟสกันอยู่ซึ่งในกรณีของลำโพง Dynaudio Special Forty ไม่มีอาการแบบนี้เลย อย่างแรกก็คือ มุมกระจายเสียงแหลมของ ESOTAR ค่อนข้าง กว้างกว่า ทำให้ลำโพงสามารถอินเฟสกันได้ง่ายกว่า ด้วยความยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของโดมผ้าไหม คือให้ เนื้อเสียงออกมามากกว่าโดมโลหะ จึงฟังดูมีน้ำหนัก ความหยาบกร้านของเสียงจึงสร้างปัญหาในเรื่อง พวกนี้ได้น้อย

ลำโพงคู่หนึ่งคู่ใด เราจะรู้สึกว่าเสียงน่าฟังหรือ ไม่น่าฟัง เพราะหรือไม่เพราะ ความถี่เสียงสูงจะมี ตัวกำหนดนี้มากๆ ถ้าคุณภาพของย่านความถี่เสียง ดีเยี่ยม ลำโพงคู่นั้นจะเป็นลำโพงที่ฟังเพลงได้ไพเราะ และน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง

จากแผ่นซีดีที่ได้ลองฟังหลายแผ่น ลำโพง Dynaudio Special Forty ทำให้มีความรู้สึกอยาก ฟังเพลงมากยิ่งขึ้น ในช่วงปี 2019 ผมฟังเพลงผ่าน ลำโพงวางหิ้งหลายคู่ ทั้งที่ทดสอบลงนิตยสารเป็น ทางการและที่ได้ทดสอบลองฟังอย่างไม่เป็นทางการ ถ้าต้องการชี้เป้าลำโพงที่ทรงคุณค่ามากที่สุด ผมจะ ชี้เป้าไปที่ลำโพง Dynaudio Special Forty ทันที

เหตุผลหนึ่งก็คือ เนื้อเสียงของย่านความถี่สูงที่ ลำโพง Dynaudio Special Forty ให้ออกมาดีมาก ทวีตเตอร์ริบบอนอาจจะให้รายละเอียดออกมา มากกว่า แต่เนื้อเสียงนั้นย่านความถี่เสียงสูงจาก Dynaudio Special Forty กินขาดมากกว่า ไดนามิก หัวโน้ตของย่านความถี่สูงก็ให้ออกมามีน้ำหนักและมี แรงดีดของหัวโน้ตดีกว่า บรรยากาศของเสียงถ่ายทอด ออกมาได้เหนือชั้นกว่าเช่นกัน บรรยากาศของเสียง ย่านความถี่เสียงจากทวีตเตอร์โดมผ้า บอกได้เลยว่าเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลอย่างมากทีเดียว ทวีตเตอร์ โดมโลหะไม่มีโอกาสจะสร้างความรู้สึกแบบนี้ได้เลย

ลำโพงที่ผลิตออกมาเพื่อฉลองครบรอบปีเชื่อเถอะว่า สามารถซื้อได้เลย เพราะผ่านการตกผลึกจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี

จากแผ่นซีดี Jazz at the Pawnshop ผมมี ความรู้สึกว่า Dynaudio Special Forty ให้คุณภาพ เสียงบางอย่างที่ผมไม่ค่อยได้จากลำโพงวางหิ้งอื่นๆ มาก่อนเลย อย่างแรกที่ผมเคยบอกเอาไว้คือ ความใส ที่ทะลุเข้าไปในรายละเอียดของเสียงต่างๆ ผมเชื่อได้ เลยว่า หากใครเคยฟังทวีตเตอร์โดมผ้าไหมมาก่อน คงจะไม่มีใครเชื่ออย่างแน่นอนว่า ความใสของย่าน ความถี่สูงจากลำโพงโดมผ้าไหมในลำโพง Dynaudio Special Forty จะให้ออกมาใสในรายละเอียดได้ มากมายขนาดนี้ เสียงฉาบมีน้ำหนัก เนื้อเสียง และ ไดนามิกของเสียงยอดเยี่ยมมาก หลายครั้งมี่ผมรู้สึก ว่าลำโพงหลายคู่ให้เนื้อเสียงของเสียงฉาบที่บาง อย่างทวีตเตอร์โดมโลหะนั้นจะได้เสียงที่พุ่งขึ้นมามาก แต่เนื้อเสียงนั้นคนละคลาสกับเสียงที่ผมได้ยินจาก ลำโพง Dynaudio Special Forty มากทีเดียว

หลังจากฟังแผ่นซีดีชุดนี้จากลำโพง Dynaudio Special Forty แล้วรู้สึกว่า เครื่องเคาะ เครื่องตี เครื่องเป่าทองเหลือง มีออร่า มีผ่องกระจ่างใสขึ้นมา อย่างมาก แผ่นนี้เมื่อก่อนหากฟังพวกโดมผ้าไหม จะรู้สึกว่าเสียงจะหม่นหน่อยๆ เนื่องจากสภาพทาง อะคูสติกส์ของสถานที่ที่ใช้บันทึก ฟังจากลำโพง ซึ่งทวีตเตอร์โดมโลหะหรือพวกริบบอน จะรู้สึกว่า โทนเสียงตอนบนสว่างขึ้น ไม่ได้ฟังดูหม่นๆ แต่สำหรับ ลำโพง Dynaudio Special Forty อยากจะบอกว่านี่คือลำโพงทวีตเตอร์โดมผ้าคู่แรกที่ฟังแผ่นซีดีแผ่นนี้แล้วไม่รู้สึกว่าเสียงหม่นเลย

เสียงใสผ่อง บรรยากาศ และรายละเอียดของเสียงนั้นสุดยอดจริงๆ โดยเฉพาะเนื้อเสียงของย่านความถี่เสียงสูงๆ นั้น หาได้ยากยิ่งนักที่จะถ่ายทอดออกมาได้อย่างลำโพง Dynaudio Special Forty คู่นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับลำโพงต่างยี่ห้อซึ่งผลิตมาเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบเช่นกัน เรนจ์เสียง ไดนามิก การปลดปล่อยตัวโน้ตแต่ละโน้ตที่ออกมานั้น Dynaudio Special Forty ให้ภาษีดีกรีความยอดเยี่ยมของเสียงมากกว่า

คราวนี้พอเนื้อเสียงย่านความถี่เสียงสูงให้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ใสและเต็มไปด้วยรายละเอียด ก็จะมีความฉ่ำของเสียงขึ้นมา เป็นความฉ่ำที่ไม่ได้เกิดจากชนิดของกำลังขับของแอมป์ แต่เกิดจากคุณภาพของลำโพง ทำให้เสียงมีความไพเราะน่าฟังเป็นอย่างมาก

ผมเป็นคนที่ฟังเพลงค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงยุคเก่าหรือยุคใหม่ ลำโพง Dynaudio Special Forty สามารถเข้ากันได้ดีกับเสียงร้องทุกยุคทุกสมัยและทุกแนวเพลง

อย่างแรกที่คือ ความซื่อตรงในการถ่ายทอดเสียงออกมา เพราะลำโพง Dynaudio Special Forty ไม่ได้จูนความถี่ให้โด่งขึ้นมาในย่านความถี่เสียง 200Hz แต่ทำให้ลำโพงตอบสนองได้ราบเรียบในแต่ละย่านความถี่ ลำโพง Dynaudio Special Forty จึงให้เสียงที่ไปด้วยกันได้ในทุกแนวเพลง อีกทั้งเนื้อเสียงที่ดีตลอดย่านความถี่เสียงกลางไปยันความถี่เสียงสูง ส่งผลให้นักเล่นที่ชื่นชอบฟังเพลงร้องทั้งเพลงไทย เพลงสากล ทั้งแนวแจ๊สหรือแนวโอเปร่า ลำโพง Dynaudio Special Forty ไม่ได้ทำให้ผิดหวังแต่อย่างไรเลย

ผมนำแผ่นซีดีซึ่งเป็นเพลงร้องหลายๆ แผ่นที่ผมชื่นชอบมาลองฟังดู คุณภาพเสียงซึ่งได้รับจากลำโพง Dynaudio Special Forty นั้น สามารถถ่ายทอดออกมาโดยให้เสียงร้องที่ถูกต้องและเที่ยงตรงดีมากทีเดียว

ชอบในเนื้อเสียงที่สร้างความแตกต่างของเสียงจากนักร้องแต่ละคนออกมาได้ดีมาก อีกทั้งบุคลิกเสียงของลำโพงก็ไม่ได้ไปปะปนผสมกับเนื้อเสียงและคีย์เสียงร้องเลย พอเปลี่ยนแผ่นเปลี่ยนแนวฟัง บุคลิกของเสียงร้องก็เปลี่ยนไปตามแผ่นตลอด ผิดกับลำโพงบางคู่ที่ถึงแม้จะเปลี่ยนแผ่นเปลี่ยนแนวแล้ว บุคลิกเสียงของลำโพงยังตามติดไปด้วยเช่นกัน

คุณภาพของย่านความถี่กลางสูง Dynaudio Special Forty คือลำโพงที่ให้เสียงช่วงย่านนี้ออกมาดีที่สุดแล้ว

ผมรู้สึกชื่นชอบในไดนามิกเสียงร้องจากลำโพง Dynaudio Special Forty ที่เปิดเผยและปล่อยให้ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น เสียงร้องใสกลมกลืนและให้น้ำหนักของเสียงที่ยอดเยี่ยมมาก มิติสูงต่ำของเสียงให้ออกมาสูงกว่าลำโพงอื่นๆ อย่างน่าทึ่งทีเดียว เสียงไม่ได้รู้สึกว่าหม่นเลยแม้แต่น้อย เสียงกลมกลืนเนียนไปในแทบทุกย่านความถี่เสียง แต่ละความถี่เสียงแต่ละเครื่องดนตรีนั้นให้ความต่อเนื่องกลมกลืนกันดีมากๆ เรนจ์เสียงให้ออกมากว้าง ไม่ได้รู้สึกอึดอัดใดๆ เลย เปิดดังเปิดอัดก็ยังให้คุณภาพเสียงออกมาดีมาก

ฟังเพลงจากแผ่นซีดี THREE KINGDOMS – Resurrection of The Dragon ซึ่งเป็นแผ่นทำออกมาใหม่ Super ADMS LECD mastered by Leo ซึ่งซื้อมาตอนไปงานเครื่องเสียงที่ฮ่องกง แผ่นนี้ถือว่าหินค่อนข้างมากสำหรับลำโพงขนาดวางหิ้ง แม้แต่ลำโพงใหญ่ๆ ซิสเต็มใหญ่ๆ เซ็ตไม่ลงตัวแทบไม่รอดเช่นกัน เพราะความถี่ของเสียงค่อนข้างซับซ้อนและหลากหลายอย่างมาก

จากสเปกของลำโพง Dynaudio Special Forty ซึ่งได้ระบุไว้ว่าตอบสนองได้ถึง 41Hz ครอสโอเวอร์ 1st Order ถือว่าเป็นความฉลาดในการออกแบบอย่างหนึ่งของลำโพง ที่ไม่พยายามให้ลำโพงตอบสนองความถี่เสียงต่ำมากกว่านี้ และเมื่อออกแบบครอสโอเวอร์มาเช่นนี้ การบาลานซ์ทางความถี่เสียงในแต่ละย่านความกลมกลืนทางเฟสของสัญญาณนั้น กลับส่งผลออกมาดีมากทีเดียว

เพราะหากขืนปล่อยให้ลำโพงทำงานความถี่เสียงต่ำกว่านี้ ก็ย่อมจะมากวนการตอบสนองความถี่เสียงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของน้ำหนักและแรงปะทะของย่านความถี่ต่ำจากแผ่น THREE KINGDOMS แผ่นนี้นั้น ลำโพง Dynaudio Special Forty สามารถตอบสนองได้อย่างรุนแรง รวดเร็วและหนักหน่วง ไดนามิกและแรงกระแทก ปะทะของหัวโน้ตนั้นทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ ความผิดเพี้ยนของเสียงที่ทำให้รู้สึกว่าลำโพงตอบสนองไม่ทันและมีความผิดเพี้ยนของเสียงออกมานั้นไม่มีเลย

ถึงแม้ลึกๆ ผมจะรู้สึกว่า ลำโพง Dynaudio Special Forty ตอบสนองย่านความถี่เสียงเบสตอนต้นดีกว่าเบสกลางๆ แต่ในแง่ของมวลคลื่นและมวลอากาศความถี่ต่ำที่มาปะทะที่ตัวขณะฟังเพลงนั้น บอกได้เลยว่าลำโพงคู่นี้ตอบสนองของเสียงได้ดีมากทีเดียว ยิ่งโฟกัสความตื้นลึกของเวทีเสียงตอบสนอง ถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก เสียงแผ่ออกไปกว้างและลึก อย่างที่ผมบอกว่า ถ้าแอมป์กำลังขับน้อยและเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงไม่ได้ ฟังเพลงจากแผ่นซีดีแผ่นนี้แล้วเหนื่อย แต่หากลงตัวแล้วฟังมันส์และผมฟังถึงสองรอบต่อกันเนื่องกันเลย

บทสรุป

โดยพื้นฐานของลำโพงที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัดเพื่อฉลองครบรอบปีของบริษัทผู้ผลิตลำโพงนั้น เชื่อเถอะว่าลำโพงคู่นั้นสามารถซื้อได้เลย เพราะคุณภาพของวัสดุ การออกแบบ นั่นคือผลึกจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี จนตกผลึกรวบรวมมาสร้างให้ลำโพงคู่หนึ่งให้มีคุณค่า เป็นตำนานในหน้าประวัติศาสตร์ของบริษัท ลำโพงคู่นั้นรุ่นนั้นย่อมไม่ธรรมดาแน่ๆ

ถ้าจะถามว่า ลำโพงที่ผลิตขึ้นมาเพื่อในวาระโอกาสฉลองครบรอบของบริษัทผู้ผลิตนั้น ลำโพงคู่ไหนน่าซื้อเก็บมากที่สุด ผมบอกได้เลยว่า ลำโพง Dynaudio Special Forty น่าเล่น น่าซื้อและน่าเก็บมากที่สุดแล้วล่ะ

แค่คุณภาพของย่านความถี่กลางสูง ลำโพง Dynaudio Special Forty คือลำโพงที่ให้เสียงช่วงย่านนี้ออกมาดีที่สุดแล้ว เสียงใส ผ่องรายละเอียดของเสียงที่ถ่ายทอดออกมา ฉ่ำมีประกาย ของเสียง และให้เสียงร้องออกมาดีมาก ไม่ว่าจะเป็น เพลงเก่าหรือเพลงใหม่ก็ตาม ใครที่ชื่นชอบและ หลงใหลในการฟังเพลงทั้งเพลงรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ บอกได้เลยจะไม่ผิดหวังในลำโพงคู่นี้อย่างแน่นอน

อีกทั้งความถี่ของเสียงก็ถ่ายทอดออกมาได้ อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน เสียงออกมาใหญ่ หนักแน่น เวทีเสียงกว้างและลึก แต่ข้อกังวลของลำโพง Dynaudio Special Forty มีแค่ข้อเดียวเองคือต้องใส่ใจในการเซ็ตอัพมากกว่าคู่อื่นๆ อีกหน่อยเท่านั้น นอกเหนือจากเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรให้น่ากังวล ด้วยความ สวยงามจากการผลิต วัสดุต่างๆ และคุณภาพเสียง แค่นี้ก็ทำให้หลายท่านแทบคลั่งอยากเป็นเจ้าของ แล้วล่ะ หนึ่งในนั้นมีผมด้วยเช่นกัน…/.ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 275