Dynaudio Evoke 20 ลำโพงวางขาตั้งรุ่นใหม่ “ง่ายกว่าเดิม”
Dynaudio เป็นผู้ผลิตลำโพงสัญชาติเดนมาร์กที่ทำดอกลำโพงเอง และขายให้กับบริษัทเครื่องเสียงเจ้าอื่นเอาไปประกอบลำโพงออกมาขายด้วย ในประเทศไทย ชื่อของ Dynaudio ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเราท่านได้ยินได้ฟังกันมาเกินกว่า 20 ปีแล้ว ทั้งเครื่องเสียงบ้าน รวมไปถึงวงการเครื่องเสียงติดรถยนต์ สำหรับรุ่น Evoke ที่เป็นลำโพงอนุกรมล่าสุดนี้ จัดว่าเป็นรุ่นกลางๆ ของ Dynaudio นับตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นคือ Emit ต่อมาก็เป็น Evoke แล้วตามด้วย Contour ไล่ไปจนถึงรุ่น Confidence
แล้วก็มี series พิเศษ ที่เป็นคอลเล็กชั่นสะสม อย่าง Special Forty, The bookshelf, Consequence, Evidence และพวก limited edition อย่าง Heritage series, Contour Legacy
Evoke จัดว่าเป็นลำโพงประเภทดูหนัง ฟังเพลง เพราะว่าในอนุกรมเดียวกัน เขามีลำโพงตั้งพื้นและลำโพงเซนเตอร์ ออกมาขายด้วย คือ Evoke 50, Evoke 30 (ตั้งพื้น 3 ทาง และ 2 ทางครึ่ง) ลำโพงวางขาตั้งมี 2 รุ่น คือ Evoke 20 และ Evoke 10 ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับทำลำโพงเซอร์ราวด์ ส่วน Evoke 20 C เป็นลำโพงเซนเตอร์
รุ่นที่ผมนำมาทดสอบคือ Evoke 20 เป็นลำโพง 2 ทาง วางขาตั้ง ขนาดกลาง ตัวตู้สีดำมัน Black Piano ทำสีมาได้เรียบและมันวาวดีมาก ขนาดแผงหน้าของตู้กว้าง 215 มม. x สูง 380 มม. x ลึก 307 มม. ลักษณะของตู้จะสอบเรียวลงจากแผงหน้า ประมาณด้านละ 50 มม. เพื่อให้ผนังด้านข้างไม่ขนานกัน ช่วยลดปัญหาการก้องสะท้อนภายในตู้ลำโพงลงไปได้ ท่อระบายอากาศอยู่ด้านหลังลำโพง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางค่อนข้างกว้าง ผมกะว่าประมาณ 1.5 นิ้ว ขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสต์ซิงเกิลไวร์ ลำโพงมีน้ำหนักค่อนข้างมาก มาพร้อมขาตั้งเหล็กสูง 20 นิ้ว ซึ่งเมื่อใส่สไปก์เข้าไปแล้วทำให้สูงขึ้นอีก 1 นิ้ว
จากสเปคของลำโพงที่ให้มาโดย Dynaudio ระบุว่า Evoke 20 ความไวที่ 86dB รองรับกำลังขับสูงสุดที่ 180 วัตต์ (IEC), อิมพิแดนซ์ 6 โอห์ม, ตอบสนองความถี่ 30Hz – 20kHz จุดตัดครอสโอเวอร์ 3200Hz น้ำหนักต่อข้าง 9.9 กิโลกรัม อ่านจากสเปคแล้ว เป็นลำโพงที่ “ไม่หมู” และจากประสบการณ์ที่ผมเคยเล่นกับลำโพงยี่ห้อนี้ โดยเฉพาะในรุ่น Contour มันต้องการเพาเวอร์แอมป์กำลังสูงอย่างมาก (100 วัตต์/ข้าง ขึ้นไป) ไม่งั้นเบสจะท่วมเสียงอื่นหมด แต่พอมานั่งฟังรุ่น Evoke 20 บอกเลยว่าเป็นลำโพง Dynaudio ที่ขับง่ายกว่าเดิมมาก แค่อินทิเกรตแอมป์ 70 วัตต์ ก็ขับออกมาฟังดีแล้วครับ
วูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 ซม. หนา 0.4 มม. ไดอะแฟรมทำจากวัสดุ Esotec+ หรือเป็นการผสมรวมกันระหว่างแม็กนีเซียมและโพลีเมอร์ ใช้แม่เหล็กสตรอนเซียมคาร์บอเนต ความพิเศษของไดรเวอร์ขับเสียงต่ำตัวนี้ คือ วิธีการผสานดัสแค็ปเข้ากับไดอะแฟรม แทนที่จะติดกาวเหมือนกับลำโพงอื่นๆ กลับใช้วิธีการออกแบบเป็นเดือยล็อคเข้ากัน ซึ่งได้ความแน่นหนาและเชื่อมต่อกับกระบอกของ voice coil ได้ดีกว่า
วูฟเฟอร์ Esotec+ มีใช้อยู่ในลำโพงรุ่นสูงของ Dynaudio มาก่อนหน้านี้ ไว้ใจได้เลยว่า การปั๊มเบสออกมาไม่เป็นรองใครแน่ๆ ส่วนทวีตเตอร์นั้น คือ ทีเด็ดของลำโพง Evoke 20 เพรามันถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ ซื่อของเขาคือ Cerotar ซึ่งมองเผินๆ แล้วก็เป็น soft dome สีดำธรรมดาๆ นี่เอง ต้องเจาะลึกเข้าไป ถึงจะได้ทราบว่ามีอะไรลึกๆ ซ่อนอยู่เพียบ
ทวีตเตอร์ Cerotar ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 มาสำเร็จและใช้ในลำโพง Dynaudio ครั้งแรกในปี 2022 และนำมาติดตั้งกับลำโพงซีรี่ส์ Evoke เป็นครั้งแรก สิ่งที่ทำให้ทวีตเตอร์รุ่นนี้มีความพิเศษคือ การเลือกใช้แม่เหล็กพลังสูง + การจัดการกับเรโซแนนต์ที่ปรากฏออกมาในลักษณะการ Ringing ฟังแล้วไม่สบายหูในช่วงความถี่เสียงแหลมตอนต้น วิศวกรของ Dynaudio ออกแบบทวีตเตอร์ให้มีพื้นที่ด้านหลังสำหรับการไหลเวียนของอากาศได้ดี และมีการนำเอาหน้ากากทรงโค้งที่มีชื่อเรียกว่า Hexis dome (เซาะร่องทะลุเหมือนฝาชีครอบอาหาร) เป็นโดมที่ทาง Dynaudio ออกแบบมาใช้กับ tweerer รุ่นสูงสุดอย่าง Esotar 3 เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะนำมาใช้ใน Cerotar ของ Evoke มีส่วนช่วยลด resonant ของ tweeter ส่งผลให้เสียงเรียบเนียน ไร้ความหยาบกระด้าง และลากลงมาหาวูฟเฟอร์/มิดเรนจ์ ที่ความถี่ต่ำกว่าทวีตเตอร์อื่นทั่วไป ทำให้มันสามารถทำงานลงมาถึง 700Hz ได้
(จุดเด่นของ Evoke 20 คือเรื่อง resonance ต่ำ ทำให้ทวีตเตอร์สามารถขับเสียงกลางได้ จึงเป็นที่มาของเสียงแหลมและเสียงกลางที่ต่อเนื่องมาก ส่งผลถึงเรื่องของเฟสที่ถูกต้อง เมื่อเทียบกับลำโพง 2 ทางทั่วไป พอเฟสถูกต้อง เลย set up ง่าย เวทีเสียงดี รวมถึงเสียงแหลมที่ไม่บาดหู แต่รายละเอียดมาหมด ซึ่งเป็นผลที่เกิดจาก Hexis dome) ดังนั้น ครอสโอเวอร์จึงไม่ต้องตัดที่ความถี่สูงมาก ส่งผลให้มีความกลมกลืนของเสียงในแต่ละย่านความถี่ดียิ่งขึ้น
อันที่จริงแล้ว หากคำนวณจากสเปคของลำโพงที่บอกว่าความไว 86dB อิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม กำลังขับสูงสุดที่รองรับได้ คือ 180 วัตต์ ลำโพงคู่นี้น่าจะต้องการเพาเวอร์แอมป์ขนาด 150 วัตต์ หรือโดยกว้างๆ คือ 100 – 200 วัตต์ แต่จากการทดสอบจริงพบว่า เพาเวอร์แอมป์ Class A กำลังขับ 35 วัตต์ ก็ขับออกฟังดีพอสมควร แต่เบสจะย้วยไปหน่อย ต้องขยับไปเป็น Class AB ขนาด 70 วัตต์ ถึงจะพอไปได้ครับ แต่ยังรู้สึกว่า หากได้สัก 120 วัตต์น่าจะขับออกมาเต็มศักยภาพของลำโพง การทดสอบครั้งนี้ ผมใช้ปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ Bell ส่วนขาตั้งลำโพงเป็นของยี่ห้อ Rezet ความสูง 24 นิ้ว ในกล่องบรรจุให้ฟองน้ำสำหรับอุดท่อเพื่อลดเบส ในกรณีที่จำเป็นต้องวางลำโพงชิดผนังด้านหลังมาด้วย ในการทดสอบ ผมต้องใช้บริการจากเจ้าฟองน้ำนี้จริงๆ เนื่องจากผมวางลำโพงห่างจากผนังห้องในระยะแค่ 1 เมตร ซึ่งมันควรเป็นระยะ 3 เมตรขึ้นไปจึงจะเหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากว่า ท่อ Port ระบายเบสอยู่ทางด้านหลังของลำโพงด้วยครับ
พิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกของ Dynaudio Evoke 20 แล้ว ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากลำโพงรุ่นพี่ คุณภาพการประกอบต้องยอมรับว่า เนี้ยบไร้ที่ติ เรียบร้อย ดูสุขุมคัมภีรภาพ มีสีผิวตู้ลำโพงให้เลือก 4 สี คือ Walnut Wood, White High Gloss, Black High Gloss, Blonde Wood ลำโพงคู่นี้ ผมรับมาทดสอบเป็นของใหม่เอี่ยม หลังจากเปิดกล่องนำลำโพงออกมาวางเข้าชุดเรียบร้อย คาบแรกที่เปิดฟังเป็นไปตามคาด คือ เสียงเบสมีปริมาณมาก นำหน้าเสียงอื่นๆ มาเลย โดยที่มันมีรายละเอียดครบเครื่อง ไม่ยักกะโดนกลบด้วยสียงต่ำ ต้องเรียนว่า นี่เป็นอาการปกติของลำโพง Dynaudio ครับ คุณต้องใจเย็นๆ เปิดให้มัน Run in ไปเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ 100 ชั่วโมงแล้วนั่นแหละ ถึงจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาให้ได้สัมผัสกัน สิ่งที่ผมต้องชม Evoke 20 เลย คือ ทำลำโพงออกมาได้เป็นมิตรกับแอมป์ดีมาก เล่นง่ายกว่ารุ่นก่อนๆ นี้อย่างชัดเจน เบสใหญ่สะใจ ในขณะที่กลาง แหลม มีความเด่นตรงที่ความต่อเนื่องไร้รอยต่อ ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ต่อไปขอลงรายละเอียดของลำโพงตามคุณสมบัติด้านต่างๆ ดังนี้ครับ
สมดุลของเสียง อย่างที่เรียน ผมรู่สึกว่า ผู้ผลิตน่าจะจูนลำโพงให้เก่งทางเบสเป็นพิเศษ ลืมคำว่า “ขาดเบส” ไปได้เลยสำหรับ Evoke 20 ซึ่งเบสของเขานั้น ดีทั้งปริมาณ ความลึก และรายละเอียดของโน้ตเบส ส่วนจังหวะในการเก็บตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เพาเวอร์แอมป์ที่นำมาขับจะมี Damping Factor ดีแค่ไหนครับ
สรุปได้ง่ายๆ คือ Evoke 20 ต้องการแอมป์ที่ใหญ่ปานกลางสัก 100 วัตต์ต่อข้างขึ้นไป จึงจะขับออกมาหมดจด และได้ใช้ศักยภาพของลำโพงเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าคุณมีแอมป์ที่กำลังขับน้อยลงมา เช่น ที่ 60 – 80 วัตต์ แบบนั้นก็ใช้ได้ครับ เพียงแต่เสียงไม่ค่อยหลุดตู้เท่ากับแอมป์ที่ใหญ่กว่าเท่านั้น
เสียงของ Evoke 20 หลังจากที่ใช้งานมาครบ 100 ชั่วโมงแล้ว ดุลน้ำเสียงเข้าที่เข้าทาง สังเกตได้จากเบสที่ลดความบวมเป่งลงมา กลายเป็นลำโพงวางขาตั้งที่ให้เสียงต่ำได้ดีมาก มากพอกับฟังลำโพงตั้งพื้นวูฟเฟอร์ 8 นิ้ว บุคลิกโดยรวมของลำโพงคู่นี้เป็นลำโพงที่เสียงสะอาด เสียงกลางต่ำอิ่มเอิบ มีเนื้อมวลที่เข้มข้น ชอบให้เปิดดังๆ โดยจะไม่พบอาการเจี๊ยวจ๊าว ก้าวร้าวเสียดแทงหูแต่อย่างใด มันต้องการการจัดวางที่ค่อนข้างห่างจากกันระหว่างลำโพงซ้าย/ขวา ผมเริ่มวางที่ระยะ 1.6 เมตร พบว่าแออัดไปหน่อย ขยับไปเป็น 1.8 เมตร ดีขึ้น จึงลองเพิ่มระยะห่างมากขึ้นอีกจนถึง 2.0 เมตร ซึ่งผมพบว่า น่าพอใจสำหรับการฟัง โดยไม่ต้องโทอินลำโพง ข้อดีของ Dynaudio Evoke 20 คือ มันเซ็ตอัพง่าย ขยับอยู่ไม่กี่ครั้งก็เข้าที่แล้ว (ฟังจากเสียงเบสและระนาบของเวทีเสียงเป็นหลักครับ) ตอนที่ตำแหน่งจัดวางลงตัว เบสจะมีหัวโน้ตหนักแน่น ทิ้งตัวลงพื้นได้อย่างต่อเนื่อง ระนาบเวทีเสียงต้องไม่ forward หรือ laid back จนเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นความเป็นกลางของลำโพงเลยก็ว่าได้ครับ
ผมใช้แผ่นบันทึกเสียงสดของค่าย Opus 3 อัลบั้ม Lars Erstrand And Four Brothers เพื่อทดสอบเกี่ยวกับความสมจริงของระนาดเหล็ก อิมแพ็คในแทร็ค 4 เพลง Body And Soul และแอมเบี้ยนต์ของการบันทึกเสียง ปกติถ้าเป็นลำโพงที่แหลมไม่เปิดจริงๆ แล้ว คุณจะไม่พบกับความพิเศษของแผ่น Opus 3 เลย แต่ถ้าหากแหลมดี ลากขึ้นไปได้สูง และมีมวลเสียงเข้มๆ เสียงระนาดเหล็ก (Vibraphone) จะฟังไพเราะมากครับ
ลำโพง Dynaudio Evoke 20 พิสูจน์ได้ถึงคุณภาพการบันทึกเสียงของ Opus 3 ว่าอยู่ในระดับอ้างอิงแน่แท้ แต่ละครั้งที่นาย Lars แกตี Vibraphone นั้น สามารถรู้ได้เลยว่า แกตีเบาหรือตีแรง ยิ่งตอนท้ายๆ ของเพลงจะมีการฟาดแรงๆ ย้ำๆ นี่ช่างแจ่มแจ้งเหลือเกิน ลีลาในการนำเสนอจะไม่เปิดโล่ง จี๊ดจ๊าด ออกไปในทางสุภาพ อบอุ่นๆ จนบางทีอยากให้มีความสดดิบกว่านี้อีกสักนิด ผมทดลองเปิดซีดีเพลงไทย อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” เอิ่ม! ฟังดีแฮะ มีฐานเสียงกลางต่ำคอยเลี้ยงไว้ ทำให้เพลงฟังมีเนื้อมีหนัง ในขณะที่เสียงแหลมพลิ้วไหว ไม่มีอาการหยาบกร้านระรานหู เปิดได้ดังๆ โดยที่ไม่หนวกหู ที่แปลกใจคือ คุณสมบัติเกี่ยวกับอิมเมจและซาวด์สเตจ ลำโพง Evoke 20 ถ่ายทอดเวทีเสียงออกมากว้างใหญ่ ครอบคลุมตำแหน่งที่นั่งฟังด้านลึก แม้วางลำโพงค่อนข้างชิดกับผนังห้องก็ยังมีความลึกออกมาให้ชื่นใจ อิมเมจขึ้นรูปชัดเจนเป็นตัวตน กระจายตัวกันเป็นจุดๆ ไม่ใช่ชัดแต่ตรงกึ่งกลาง และมีสเกลของชิ้นดนตรีที่สมจริงใกล้เคียงกับธรรมชาติ
สรุป Dynaudio Evoke 20 เป็นอีก 1 บทพิสูจน์ว่า ลำโพงที่เสียงดีกับเสียงดังมันต่างกันอย่างไร ด้วยบุคลิกเสียงที่บรรยายมาทั้งหมดกับราคาค่าตัวที่ต่ำกว่าแสนบาท มันเป็นลำโพงวางขาตั้งที่แทบจะไม่ต้องการsubwoofer ขอเพียงแค่คุณมีแอมป์ที่ดีสักหน่อย น่าพิจารณาครับ. ADP
ราคาตั้ง 101,000 บาท
สอบถามเพิ่มเติม
FB: bulldogaudiothailand
Line: @bulldogaudiothailand
No Comments