DS Audio E1 Optical Cartridge
นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์
บริษัท IAV ผู้แทนนำเข้าหัวเข็มแผ่นเสียงแนวคิดนอกกรอบ ระบบ optical cartridge ได้แจ้งผมว่ามีหัวเข็มของ DS รุ่นใหม่ที่ราคาย่อมเยาลง แต่คุณภาพดีมาก อยากให้ลองทดสอบดู ผมก็ตอบรับด้วยความยินดี หลังจากที่เพิ่งเสร็จสิ้นการทดสอบหัวเข็ม London Super Gold ไปพอดี ตอนแรกคิดว่าจะได้เจอ Aki (Tetsuaki Aoyagi) เพราะว่าช่วงที่หัวเข็มนี้นำเข้ามามันพอดีกับงานเครื่องเสียงใหญ่ที่ไบเทค ที่ Aki มาเมื่อปีก่อน แต่แกก็ไม่ได้มาไปงานฮ่องกงไฮไฟแทน เลยใช้ facebook messenger ในการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับหัวเข็มรุ่นใหม่ของ Aki นี้
ผมเคยรีวิวหัวเข็ม DS Audio รุ่นใหญ่กว่านี้หนึ่งรุ่นคือ รุ่น 002 ไปเมื่อสองปีก่อนนี้ มาตอนนี้ทาง DS ออกรุ่น E1 มา เป็นรุ่น entry level ที่ราคาย่อมเยาลง ทำให้นักเล่นทั่วไปสามารถพอจะซื้อหากันมาเล่นได้ และที่สำคัญคือ Aki บอกว่า คุณภาพเสียงมันยอดเยี่ยมไม่แพ้รุ่นใหญ่เลยทีเดียว แต่ก่อนอื่นเราจะมารีวิวหลักการทำงานของหัวเข็มแบบนี้กันคร่าวๆ นะครับ เผื่อว่าท่านหาอ่านรีวิวรุ่น 002 เมื่อสองปีก่อนไม่เจอ
OPTICAL CARTRIDGE CONCEPT
การอ่านข้อมูลของร่องแผ่นเสียงให้แปลงออกมา เป็นเสียงเพลงให้เราฟัง หลักๆ ทำได้สามวิธี คือ…
• โดยการใช้ laser สแกนไปยังร่องแผ่นเสียงทั้ง ซ้ายและขวา แล้วแปรผลจากลำแสงสะท้อนกลับมา เป็นสัญญาณไฟฟ้า ตอนนี้มีทำอยู่เจ้าเดียวของญี่ปุ่น คือ ELP laser turntable หลักการคือใช้เลเซอร์ ห้าลำแสงสองลำแสงใช้สแกนขอบบนของร่องซ้ายขวา สองลำแสงต่อมาสแกนร่องซ้ายขวาที่ต่ำกว่าผิวแผ่น 5 micron และอีกหนึ่งลำแสงสแกนความลึกของร่อง เขาเคลมว่า มันยังเป็นสัญญาณ analog 100% ไม่มี การแปลงเป็นดิจิทัล บ้านเราน่าจะยังไม่มีใครเคย ได้ฟัง เพราะราคาสูง และไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก
• โดยการใช้ stylus และระบบ magnet – coil system เป็นแบบที่เราใช้กันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหัวเข็ม แบบ moving magnet, moving iron หรือ moving coil จะอาศัยหลักการของการเคลื่อนไหวของขดลวด ตัวผ่านสนามแม่เหล็ก (หรือกลับกัน) เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าบริมาณน้อยๆ แล้วค่อยไปขยาย ต่อที่ภาคโฟโน การตอบสนองความถี่ หรือ dynamic contrast ของหัวเข็มระบบนี้จะดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับ moving parts ว่าจะตอบสนองได้ไวแค่ไหน ดังนั้น เรามักจะเห็นได้ว่า หัวเข็ม MC มักจะให้เสียง ได้ดีกว่า ให้ความแตกต่างของรายละเอียดได้ดีกว่า หัว MM เนื่องจาก moving part คือ coil มีน้ำหนักเบากว่า magnet หัวเข็มราคาสูงๆ พวก low mc output จะมีการพันรอบ coil น้อยๆ ทำให้ฝั่ง ปลายเข็มมีน้ำหนักเบา สามารถสั่นไหวตอบสนอง ได้ดี (แต่ก็ต้องอาศัยภาคโฟโนที่ดีด้วยนะครับ)
• ระบบ optical system จะเห็นมีทำอยู่สอง เจ้าคือ Soundsmith รุ่น Strain gauge ที่ราคาแพง มาก และของ DS Audio ที่ได้มาทดสอบนี่แหละครับ หลักการคร่าวๆ ก็คือ มีแหล่งกำเนิดแสงส่องไปยัง photo detector sensor โดยที่มีแผ่น screen บางๆ กั้นอยู่ระหว่าง light source กับ photo detector
เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนที่ stylus ก็จะทำให้มีการ เคลื่อนไหวของ cantilever และทำให้แผ่น screen เคลื่อนตัวตัดผ่านแสง ความเข้มแสงที่ตกกระทบ ก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตัว sensor แปลงเป็นกระแส ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน และไปแปลผลที่ภาค phono ของเขาเอง ในของจริงๆ นั้น photo detector จะ แยกซ้ายขวา ดังนั้น การแยกสัญญาณ stereo image จึงทำได้ทัดเทียมกับหัวเข็มปกติทั่วๆ ไป
เมื่อความเข้มแสงที่ตกกระทบตัวรับแสงเปลี่ยนไป ก็จะเกิดแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างไป แล้วสัญญาณนี้ก็ นำไปแปลผลที่ตัว phono stage ของ DS Audio (ไม่สามารถใช้ phono ที่เราเล่นกันปกติกับหัว DS ได้ และในทางกลับกัน เอาหัวเข็มทั่วไป ไปต่อกับ phono ของ DS ไม่ได้เช่นกัน อาจจะเกิดการเสียหายของ หัวเข็มราคาแพงได้ด้วยซ้ำไป)
ข้อดีของ optical cartridge คือ การ เปลี่ยนแปลงแรงสั่นสะเทือนจากปลายเข็มจะถูก เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบแสง ซึ่งโดยทฤษฎี น่าจะดีกว่าระบบ magnet coil system เนื่องจากว่า moving parts ของระบบ coil หรือแม่เหล็ก อย่างไร ก็มีมวลมากกว่าแสงแน่นอน ดังนั้น การถ่ายทอด แรงสั่นสะเทือนจึงทำได้ด้อยกว่าแสง แต่แน่นอนว่า การที่จะได้คุณภาพที่ดีต้องขึ้นกับการออกแบบของ ระบบ photo led และ photo detector ว่าจะ สามารถถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงระดับไมครอนได้ดี แค่ไหน
ดังนั้น คุณสมบัติสำคัญๆ ของ optical cartridge จะสรุปได้ ดังนี้…
1. เป็น analog playback ไม่ได้แปลงเป็น digital
2. ใช้แสงและการรับแสงเป็นการถ่ายทอด สัญญาณ
3. ต้องใช้งานร่วมกับ phono stage ของเขาที่ทำมาโดยเฉพาะ ไม่สามารถเอา optical cart ไปเล่นกับ phono ปกติได้ และไม่สามารถเอาหัวเข็มปกติไปเล่นกับ phono ของ optical ได้ (จะเกิดความเสียหายต่อหัวเข็มด้วยแน่นอน) ปัจจุบันนี้ ทางค่าย EMM Labs ได้ทำoptical phono มาเพื่อเล่นกับหัว DS Audio แล้ว นับเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ระบบ optical จะแพร่หลายมากขึ้น (https://www.stereophile.com/content/emm-labs-optical-equalizer-phono-stage-focal-utopia-scala-v2-loudspeakers-kimber-kable)
4. ปัญหาที่มีคนสงสัยอยู่สองเรื่อง สำหรับหัวเข็มระบบแสงนี้ คือ…
4.1 เรื่องของฝุ่น จะมีโอกาสที่ฝุ่นจากผิวแผ่นเสียงลอยเข้าไปบังแสง หรือฉากกระทบแสงหรือไม่ ตรงนี้ผมถาม Aki โดยตรง แกตอบว่า เขา shield ไว้อย่างดี ฝุ่นไม่สามารถเข้าไปข้างในระบบแสงแน่นอน
4.2 เรื่องความคงทนของ LED และ photo detector จะมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน Aki ตอบว่า อายุการใช้งานของ optical system อยู่ที่ 50,000 ชั่วโมง เรียกว่ากว่าจะพังเนี่ย ปลายเข็มคงสึกไปก่อนแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงครับ
DS Audio E1
ปัจจุบัน DS ออกหัวเข็ม + phono stage มาทั้งหมดสี่รุ่น รุ่นใหญ่สุด Master 1 นั้น ราคาสูงมากทีเดียว และภาคโฟโนขนาดพอๆ กับ power amp อลังการมาก รุ่นที่ผมเคยรีวิวนั้นคือ รุ่น 002 มาปัจจุบันนี้รุ่น E1 เป็นรุ่นเล็กสุด มีราคาย่อมเยากว่ารุ่น 002 มาเกือบหนึ่งแสนบาท ที่มาของรุ่น E1 นั้น น่าจะมาจากลักษณะปลาย stylus ที่เป็นแบบ Elliptical หัวเข็มและภาคโฟโนของ DS สามารถใช้งานไขว้กันได้ ไม่มีข้อห้าม เช่น ท่านที่มี DS002 + phono อยู่ สามารถซื้อแต่หัวเข็ม E1 เป็นหัวที่สอง มาใช้กับโฟโนเดิมก็ย่อมได้
E1 มี body ที่ขนาดลักษณะไม่แตกต่างจากรุ่นพี่ๆ เท่าใดนัก ตัวบอดี้เป็นอะลูมิเนียมขัดเงาเรียบลื่น มีการสอบเข้าของบอดี้เข็ม ดังนั้น เวลาจับหัวเข็มต้องใช้สติและระมัดระวังพอควร มิฉะนั้นจะลื่นหลุดมือได้ง่ายๆ ก้านเข็มเป็นอะลูมิเนียมเช่นกัน และปลายเข็มเป็นลักษณะ elliptical สเปกอื่นๆ มีดังนี้…
น้ำหนักเข็มอยู่ระดับปานกลาง ค่า compliance ของก้านเข็มไม่ได้บอกไว้ แต่จากการสังเกตและลองเล่นจริง พบว่า ก้านเข็มได้มีการปรับมุมให้ slope ราบมากกว่าหัวรุ่นพี่ๆ เวลาที่แทร็กบนร่องแผ่นเสียงแล้ว ก้านเข็มแทบจะราบลงไป ทำให้ gap ระหว่างผิวแผ่นเสียงกับท้องของหัวเข็มใกล้ชิดกันมากกว่ารุ่นก่อนๆ
ตัวภาคโฟโนของ DS E1 รุ่นนี้มีขนาดเล็กกะทัดรัด ด้านหลังมีขั้วต่อดังภาพ
มีสวิตช์โยกให้เลือก output แบบ 1 หรือ 2 เพื่อเลือก low frequency cut off ถ้าเลือก output 2 จะตัดความถี่ต่ำออกมากกว่า 1 เพื่อลดการเกิด rumble ในเครื่องเล่นแผ่นเสียงบางรุ่น แต่ถ้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงไม่มีปัญหา การเลือก output 1 จะให้เสียงที่น่าฟังกว่า
อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมทดสอบ
Dr. Feickert Analog Firebird Turntable + SAEC 308L Tone arm, Denon 308 Tone arm
EMT 930 Turntable + Jelco 750L Tone arm
แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ
• Carolin No : Remember Songs (STS LP6111148)
• DAM Direct (DOR-0028)
• สยามดุริยางค์เครื่องสาย – นรอรรถ จันทร์กล่ำ
• Lori Lieberman : Ready for the storm (Drive on Records 115115-15)
• Belanger & Bisson : Conversations (Camilio Records – CAM5-2022)
ผมเลือกสองแผ่นหลังมาทดสอบด้วย เนื่องจากเป็นแผ่นที่เคยใช้ทดสอบหัวเข็มรุ่น 002 ที่ราคาสูงกว่ารุ่น E1 ถึงเกือบแสนบาท และได้ทำการริปเพลงท่อนเดียวกันมาวางต่อกัน ระหว่างหัวเข็ม E1 และ 002 ให้คุณผู้อ่านได้ลองฟังเทียบบน Soundcloud นะครับ
เริ่มแรก ผมทดลองติดตั้งและฟังบนแท่น Dr. Feickert Firebird ก่อน ลองทั้งอาร์ม Denon 308 และอาร์ม SAEC 308L ใช้ค่า tracking force ที่ 1.7 กรัมตามสเปก ใช้เวลาใน การ setup ต่ออาร์มประมาณ 20 นาที จะยากหน่อยตอนที่เล็ง overhang กับมุม offset บน alignment template เนื่องจากว่าตัวก้านเข็มนั้นเอียงเกือบราบ เมื่อลงหัวเข็ม ทำให้มองจุดแตะ null point ได้ลำบาก นิดหนึ่ง เมื่อเราติดตั้งหัวเข็ม ต่อสายโทนอาร์มไปยัง E1 phono แล้ว เปิดเครื่องโฟโน ไฟที่หัวเข็มก็จะติด ทันทีพร้อมใช้งาน
หัว E1 ไม่มีปัญหากับการทำงานร่วมกับทั้งอาร์ม Denon และ SAEC แต่อย่างใด ไม่มีอาการ tracking error ตลอดร่องแผ่นเสียงจากนอกสุดถึงในสุด หัวที่ ได้มานี้เป็นหัวใหม่แกะกล่อง ใช้เวลาเบิร์นไม่นาน มากนัก สัก 10 ชั่วโมงก็เริ่มเห็นแววแล้วครับ สิ่งแรก ที่สัมผัสได้เหมือนหัวรุ่น 002 คือ ความสงัด background noise ต่ำมากๆ แต่สิ่งที่ผมชอบทันที เลยคือ “มันมีเนื้อ” ครับ เนื้อเสียงเป็นตัวเป็นตน กำลังดี ไม่อ้วนมากไป และไม่บางเกินไป ฟังกำลัง พอดีๆ สบายมากๆ เมื่อพ้นเบิร์นจึงย้าย E1 มาเล่น บนแท่น EMT930 ต่อไป
Playlist ที่ใช้ทดสอบในขั้นสุดท้ายอยู่ที่นี่ครับ https://soundcloud.com/emt930/sets/ds-audio-e1 เป็น vinyl rip ด้วยเครื่อง Tascam DV RA 1000HD ในเพลงที่มี download option แนะนำว่า ให้ download ตัวไฟล์ 16/44.1 มาฟังกับ DAC จะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าการฟังบน Soundcloud นะครับ และในกรณีที่ใช้เล่นบน PC ผ่าน USC DAC ตัวโปรแกรมที่ใช้เล่นก็มีผลต่อเสียงด้วยเช่นกัน ให้ลอง ฟังหลายๆ โปรแกรมนะครับ ส่วนตัวแล้วถ้าจะฟังเอาคุณภาพจริงๆ จะเปิดฟังทีละเพลงด้วยโปรแกรม sound editor ของฟรีคือ audacity ครับ เสียงดีกว่า โปรแกรมเล่นเพลงเป็น playlist ชัดเจน
หัว E1 นั้นมีแนวเสียงเช่นเดียวกับ 002 บนแท่นนี้เหมือนเดิม เมื่อใช้แท่นที่เป็นแบบ idler wheel มันยิ่งแสดงศักยภาพของระบบหัวเข็มและโฟโน ระบบ optical มากขึ้น กับอัลบั้ม Carolin No ชุด November Songs แผ่นเสียงสังกัดเนเธอร์แลนด์ เพลงสนุกๆ อย่าง Love Song https://soundcloud.com/emt930/hear-the-silence (ตอน upload แรก สุดตั้งชื่อเพลงใน hard drive ผิดครับ ชื่อไฟล์เลยเป็น hear the silence แต่ชื่อเพลงบน Soundcloud นั้น แก้ถูกต้องคือ lovesongs) หัว E1 ให้ tonal balance ของดุลเสียงที่น่าฟัง ฟังสบายมากกว่าหัวรุ่นพี่ 002 ที่เคยรีวิวออกมาเสียอีก ให้ฐานเสียงต่ำของเบสและ cello ได้หนักแน่น ขณะที่เสียงเปียโนเป็นประกาย สุกสว่าง สนามเสียงเกลี่ยได้เต็มพื้นที่ระนาบซ้ายขวาของลำโพง และมีไดนามิกของเสียงที่ดีไม่แพ้หัว 002 เลยทีเดียว
แผ่นเสียง DAM Direct เป็นแผ่น special cut ของ สังกัด DAM Toshiba แผ่นนี้ หน้าที่สองจะเป็นการเอาเพลง ของสังกัด Three Blind Mice เลือกตัวอย่างเพลงมาสามเพลง ตัดเป็นสปีด 45 ผมเลือกเพลง ที่เล่นครบจบเพลงคือ เพลง The Way We Were ของวง Tsuyoshi Yamamoto Trio (เพลงนี้เป็นเพลงที่ 1 ของแผ่น Girl talk – TBM-59) แทร็กนี้เป็นแทร็ก ที่ท้าทายหัวเข็มมากพอควร เราจะได้ยินไดนามิกของเสียง เปียโนที่เคาะ (attack) และ กังวาน (decay) อย่างชัดเจน และพอเป็น 45 rpm โดยสังกัด DAM นั้น หายห่วงเรื่องคุณภาพเสียง หัว E1 ให้ไดนามิกของเสียง เปียโนที่ดีมากไม่มีพร่าเพี้ยน ที่ประทับใจที่สุดคือ รายละเอียดทุกเสียงถ่ายทอดได้หมด โดยที่ยังคงความอิ่มฉ่ำของเนื้อเสียง ลองฟังใน Soundcloud playlist นะครับ หรือเฉพาะเพลงนี้ที่ https://soundcloud.com/emt930/the-way-we-were
ลองมาฟังเพลงแนวเครื่องสายออร์เคสตร้ากัน จากแผ่นเสียงเพลงไทยของ อาจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำร่วมกับวง CU String Orchestra บันทึก เสียงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพลงลาวดวงเดือน หัวเข็ม E1 ร่วมกับโฟโนของมัน ถ่ายทอดอารมณ์เพลงคลาสสิกอมตะได้อย่างไหลลื่น การแยกแยะหมู่เครื่องสายทำได้ไม่แตกต่างจากหัวเข็มระบบ coil กับแม่เหล็กทั่วไป สิ่งที่ได้เพิ่มเติมมาคือ background noise ที่ต่ำกว่า และการตอบสนองความฉับพลันของเสียงที่เทียบเท่าหัวเข็ม mc low ชั้นดี สิ่งที่ผมชอบมากกว่าหัวเข็มระบบ coil ทั่วไป เช่น Benz Micro SL Wood ที่ใช้ฟังเทียบคือ พวก inner detail ที่ดีกว่าหัว Benz และยังมีความอิ่มของเนื้อเสียงที่ใกล้เคียงกัน
ทีนี้ผมก็ขุดเอาไฟล์เก่าขึ้นมาเพื่อฟังเปรียบเทียบ เป็นสองเพลงจากสองอัลบั้มที่ผมเคยใช้รีวิวหัว DS002 ที่ราคาแพงกว่าเกือบเท่าตัว ก็ได้ทำการเล่น + ริป สองเพลงเดิมที่เคย upload ด้วย 002 มาฟัง และริปด้วยหัว E1 เพื่อต้องการเปรียบเทียบว่า เสียงต่างกันมากน้อยแค่ไหน ได้แก่เพลง comme un tango จากแผ่น conversations และเพลง piece of me ของ Lori Lieberman
จากนั้นก็ตัดเพลงช่วงแรกสักนาทีกว่าๆ ที่เล่นด้วยหัว E1 และ 002 มารวมกันเป็น wav file เดียว เพื่อความสะดวกในการฟังเปรียบเทียบ ทดลองฟังได้ที่ https://soundcloud.com/emt930/ds-audio-002-e1-compare-1 และ https://soundcloud.com/emt930/ds-audio-002-e1-compare-2 ผมได้ลองหยั่งเสียงใน facebook ของผม โดยไม่บอกว่าคลิปเสียงท่อนแรกและท่อนหลังในแต่ละเพลงมาจากหัวเข็มรุ่น E1 หรือ 002 ให้ลองเดาๆ กัน ปรากฏว่ามีความเห็นแตกต่างกัน หลายท่านชอบเสียงของ E1 มากกว่า และประหลาดใจเมื่อเฉลยว่าเสียง ของท่อนใดมาจากหัวเข็มตัวไหน ในคลิปดังกล่าวบน Soundcloud นั้น ผมขอเฉลยเลยละกันว่า ท่อนแรกของทั้งสองคลิปเป็นเสียงจากหัว E1 ท่อนหลังเป็นเสียงจากหัว 002 ที่ราคาสูงกว่า ความรู้สึกของผมที่ฟังนั้น เสียงจากหัว E1 มีความผ่อนคลายน่าฟังกว่า เบสดีกว่า ส่วน 002 จะมีความเป็น audiophile มากกว่า คือให้รายละเอียดของเสียงเล็กๆ น้อยๆ ได้ดีกว่า ถ้าท่านต้องการอิมเมจชิ้นดนตรีแบบเป๊ะๆ ตามแนว soundstage หัว 002 จะทำได้ดีกว่า E1 แต่ความแตกต่างของเสียงนั้นไม่เท่ากับความแตกต่าง ของราคาแน่ๆ ครับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าหัว E1 ของ DS Audio เป็นรุ่นที่น่าจะ best buy เพราะออกมาในระดับราคา ที่นักเล่นบ้านเราจับต้องได้มากขึ้น และมีคุณภาพ เสียงที่ดีเบียดกับรุ่นที่แพงกว่าอย่างน่าแปลกใจ (บางรีวิวบอกว่าใกล้เคียงกับ Master 1 เสียด้วยซ้ำไป) เป็นหัวเข็มที่ทำได้ประณีต อายุการใช้งาน ทนทาน และไม่น่าจะมีปัญหาจุกจิกกวนใจอะไร แล้วใครที่เหมาะกับ E1?
• นักเล่นเครื่องเสียงที่มีประสบการณ์ในการเล่นฟอร์แมตอื่นมาพอสมควร และเริ่มคิดจะก้าวมาเล่นแผ่นเสียงต้องการเสียงที่ดีและลงตัว โดยไม่ต้องเสีย เวลาในการ matching ระหว่างหัวเข็มและ phono
• ท่านที่ชื่นชอบเทคโนโลยีที่ breakthrough ไม่ซ้ำแบบใคร
• ท่านที่เล่นอุปกรณ์ของ DS Audio อยู่แล้ว เช่น มีรุ่น 002 กับโฟโนของมัน สามารถซื้อแต่หัว E1 ไปเล่นเพิ่มเติมได้ ผมคิดว่าเสียงของ E1 น่าจะดีขึ้น ไปอีก ถ้าได้ใช้ optical phono รุ่นใหญ่ขึ้นของทาง DS Audio หรือถ้ารอสักพัก ทาง EMM Labs โดย Ed Meitner ก็จะออก optical phono มาด้วยเช่นกัน น่าจะได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปอีกจากเดิม. ADP
ราคา 100,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท Inventive AV จำกัด
โทร. 0-2238-4078-9
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 273
No Comments