CLEF StreamBRIDGE-X ถือเป็น “อุปกรณ์แห่งยุคสมัย” จาก Clef Audio ผู้ผลิตอุปกรณ์เสียงและภาพสัญชาติไทยที่ปล่อยทีเด็ด เน็ตเวิร์กสวิตช์อันเป็นปลายทางของสายสตรีมผู้แสวงหาความเป็นที่สุด จัดแบบไม่มีกั๊ก ตัวจบที่ไม่ต้องการอุปกรณ์เสริมใดในราคาไทยๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่า Audiophile Network Switch นั้นช่วยอัปเกรดคุณภาพการเชื่อมต่อของเครื่องเล่นสตรีมมิ่งได้อย่างเนียนกริบ ไหลลื่น เผยเนื้อแท้ของภาพและเสียงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นวัตกรรมสื่อเสียงดนตรีถูกเปลี่ยนผ่านจนทุกวันนี้ “แผ่นดำ” สื่อฟิสิคัลที่กลายเป็นตัวแทนหมู่บ้านในฟากอะนาล็อก ยุคดิจิทัลจากซีดีเข้าสู่ยุค file base จาก download files ที่ต้องซื้อเป็นเจ้าของเท่านั้นถึงจะฟังได้ที่ ทุกวันนี้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงทุกขณะไม่ต่างจากแผ่นซีดีพลาสติก สวนทางกับยอด subscribes ของ streaming services ที่พุ่งทะยานสูงขึ้นและมีให้เลือกมากมายเช่นทุกวันนี้ โลกถูกครอบครองไปด้วยสตรีมมิ่งในทุกสื่อความบันเทิงภาพและเสียง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับวงการดนตรีรวมถึงภาพยนตร์ แปลว่าไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อเป็นเจ้าของ ก็ได้เสพหนังหรือดนตรีวงโปรดเหมือนคนอื่นเขา ข้อสำคัญกว้างขวางกว่าด้วย ถ้าไม่ยึดติดวัตถุนิยมจนเกินไป ก็ต้องทางนี้ล่ะคร้าบ

สวัสดีครับ ทุกคน

พบกันอีกแล้วกับ audiophile go digital อรรถคดีว่าด้วยเรื่องของ Digital Audio ซึ่งจะมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้เล่าขานอยู่บนสื่อออนไลน์อยู่เสมอ ทันสมัยตลอดเวลา

และนี่เป็นบทความทดสอบบนเว็บไซต์ https://www.audiophile-videophile.com/ ขอบคุณสำหรับการติดตาม

X mean’s… Xtreme

เมื่อปีที่แล้ว Clef Audio ได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ที่เป็น อุปกรณ์แห่งยุคสมัย ที่เรียกว่า Network GIGA Switch” ตัวแรกที่ชื่อ StreamBRIDGE หนึ่งในของดีราคาสมเหตุสมผล ประมาณว่าถูกมากกกก

เช่นเคยปีนี้ผู้ผลิตภัณฑ์จาก Clef Audio ผู้ผลิตอุปกรณ์เสียงและภาพสัญชาติไทย ซึ่งอยู่คู่กับนักเล่นชาวไทยมาอย่างยาวนาน ได้จัดส่งยานแม่ StreamBRIDGE-X ตัวนี้มาอยู่ในบ้านแถบชานเมืองมาซักระยะ ทดลองเล่น ได้ศึกษาเรื่องราว ต้องทึ่งว่า ของดี ตัวนี้ Xtreme จริง ประมาณว่า “สุดติ่งจริง” คุณสมบัติเช่นนี้ค่าตัวเท่านี้ ก็เพราะพอใจที่จะขายราคาเท่านี้… สงสัยล่ะซิ มา มา ตามมาจะเล่าให้ฟัง

การรุกคืบของ Network Audio กินรวบโลกของไฮไฟไปนานแล้ว แม้ว่าระบบไร้สายจะพัฒนาดีขึ้น แต่สำหรับ serious listener ยังคงต้องใช้สาย Ethernet (LAN) cable ในการเชื่อมต่ออยู่ดี กับ Network Switch เพราะโฮมเน็ทเวอร์คเป็นการนำเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของ IT มาใช้ในร่วมกับวงการเครื่องเสียง เพื่อทำงานร่วมกับ Music Server / Multi-room / Home Automation เริ่มเป็นที่แพร่หลายเติบโตขึ้นเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง ทุกวันนี้เครื่องเสียงรุ่นใหม่ล้วนมีช่องเสียบ RJ45 (LAN connector) ทั้งสิ้น ช่วยไม่ได้ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ก็ประมาณว่าเครื่องเสียงไปยืมระบบเชื่อมต่อ Network ของ IT มาใช้ก็เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า เครื่องเสียง Network Audio จะแค่คอมพิวเตอร์บ้านๆ ที่ทำงานบนเน็ตเวิร์กเพื่อฟังเพลงได้ตัวหนึ่งเช่นที่คนทั่วไปเข้าใจกันในระยะแรก จริงๆ แล้วซีเรียสว่าที่คิดนะ แน่นอนว่าดิจิทัลออดิโอมิได้มีเพียง 0 และ 1 เท่านั้น

ในเชิงศิลปะ เสียงดนตรีที่ออกจากเครื่องเสียงชั้นดีนั้นก็หาใช่เพียง

“sample rate, codec, server, apps, network หรือ softwares”

แต่ยังต้องมี Details, Timbre > 3D Sound > Image > Sound Stage > Dynamic Headroom > Musical, Soul & Emotion

ดนตรีที่แท้จริงต้องมีจิตวิญญาณ ความซาบซึ้ง ลุ่มลึก สุนทรีย์ในเสียงดนตรี ข้อหลังนี้เป็นตัวบ่งชี้ทางศิลปะดนตรีที่ไม่อาจวัดได้ด้วยเครื่องมือใดๆ แต่ต้องฟังได้จากชุดเครื่องเสียงที่สามารถให้ความแตกต่างได้ด้วยหูเท่านั้น

เราๆ ท่านๆ ต่างทราบดีว่า Audiophile Network Switch (ANS) คืออุปกรณ์ที่มาช่วยปิดช่องโหว่ ขจัดปัญหาคาใจของเหล่าคุณชายสายสตรีมได้ชงัดนัก เป้าหมายก็เพื่อปรับปรุงคุณภาพการดูหนัง-ฟังเพลงผ่านบริการ Streaming Services ทั้งเพลงและหนัง อย่างเช่น ฟังเพลงจาก Tidal, Qobuz, Spotify ดูหนังจาก Netflix, Disney Plus, Amazon Prime หรือแม้กระทั่ง iTunes Movies ที่ล้วนเก็บบน Cloud รวมถึงคอนเทนต์จาก NAS คลังแสงส่วนตัวก็เถอะ ยังไงซะก็หนีไม่พ้นต้องผ่านเน็ตเวิร์กสวิตช์ทั้งสิ้น และก็ต้องอัปเลเวลกันหน่อย เป้าหมายคือเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดนั่นเอง

What’s they did in ANS…!

ใน Home network จาก Router สาย LAN + Switch คือตัวเชื่อมต่อ ประมาณว่าเป็นปลั๊กพ่วง ให้ทุกอย่างทำงานร่วมกันเช่นเดียวกับของ IT เด๊ะ แต่ในกลุ่มสายสตรีมหรือ Audio-File นั้น Network Switch แม้จะทำงานคล้ายกันแต่มีเป้าหมายที่ไกลกว่าเยอะ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มันทำหน้าที่ป้องกัน ลด ขจัด จัดการ noise ตัวก่อปัญหาใหญ่คือความผิดเพี้ยน (Distortion) & Jitter เรื่องของ Phase & Timing ก็จะถูกจัดการให้ทุกอย่างอยู่ในการควบคุม

แหม่ ก็สาย LAN เทพยังเล่นกันมาตั้งนานแล้วเลย ทั้งนี้เพื่อให้ก่อนที่ข้อมูลดิจิทัลจะเดินทางสู่ Network Player / TV / Top Box อุปกรณ์เหล่านี้ก็จะได้รับสัญญาณดิจิทัลบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นั่นเอง เห็นมะว่าเราคิดเยอะ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยผ่านการปรับปรุงคุณภาพ Network Infrastructure เพื่อให้มี noise ทางไฟฟ้าต่ำ และมีความสามารถในการป้องกันการรบกวนได้สูง ปลอดจากปัญหา data ถูกบดบัง ทั้งยังขจัด noise ในวง LAN ได้ดี เป้าก็ที่ Network Switch นี่เอง ส่งผลให้ Network Signal มีความบริสุทธิ์ ได้ข้อมูลแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีหลายประการที่เจาะไปที่หัวใจ ดังนี้

Check In

ยานแม่ StreamBRIDGE-X คือ Audio Network Switch ที่ทาง Clef “เล่นใหญ่” จัดเต็มแบบ full option มากกว่าเน็ตเวิร์กสวิตช์ตัวใดๆ ที่เคยสัมผัสมาหลายตัว ที่่ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดถ้าจะให้ “สุดจริง” จะต้องเพิ่ม “อุปกรณ์เสริม” มูลค่าเกินราคาเครื่องกันทั้งสิ้น แถมตัวเครื่อง StreamBRIDGE-X ยังมีน้ำหนักตัวหนักที่สุดกว่าในบรรดาสินค้าประเภทเดียวกันที่กล่าวมาทั้งหมด เริ่มจาก…

ตัวถังเครื่อง (Chassis) ทั้งตัวผลิตจากโลหะอะลูมินัมเกรดพรีเมียม (Solid Aluminum) กัดขึ้นรูปด้วย CNC จากอะลูมิเนียมทั้งแท่ง ภายในกัดเซาะแบ่งออกเป็นส่วนออกจากกัน เพื่อลดปัญหาการรบกวนจาก RF/IMF รวมถึงอะลูมินัมยังช่วยสลายแรงเรโซแนนซ์ได้อย่างหมดจด

ยิ่งเมื่อประกอบกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในก็ถูก “อัพเกรดแบบไม่หวงเครื่องโดยไม่ต้องร้องขอ” บอกตรงๆ ว่าคุณภาพงานผลิตเช่นนี้จะพบได้แต่กับเครื่องเสียงไฮเอนด์ราคาสูงปรี๊ดเท่านั้น

ในแวดวงไฮเอนด์เป็นที่ทราบกันดีเพื่อลดนอยส์จากวงจรอิเล็กทรอนิกส์อันไม่พึงประสงค์ เพราะแชสซีส์อะลูมินัมจะเป็นตัวดูดซับทั้ง RF และ EMI จากวงจรภายใน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการรบกวนจากภายนอกทำให้ Network Signal และ Clock Circuit มีความเสถียรยิ่งขึ้น

จุดสำคัญอีกอย่างที่อีกหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า “ตัวมันเองก็จะไม่ส่งสัญญาณรบกวนใดๆ” ออกไปสู่อุปกรณ์เครื่องเสียงไฮเอนด์อันละเอียดอ่อนอื่นๆ ของท่านอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยรวมของทั้งซิสเต็มให้ดีขึ้นได้

ด้านหลังเครื่องติดตั้งไว้ด้วย GIGA bit Ethernet port (RJ45) คุณภาพสูงชนิด 8 พอร์ต ซึ่งมากพอที่จะสามารถเชื่อมต่อกับ Network port บนอุปกรณ์เครื่องเสียงพร้อมทั้งระบบภาพทั้งหมดได้ในครั้งเดียว

เต้ารับไฟ IEC ของ Furutech ซะด้วย! เป็นเวอร์ชัน FI-03 ขาชุบทอง มาพร้อมกล่องใส่ฟิวส์ในตัว ซึ่งเมื่อต่อกับ AC ได้โดยตรงไม่ต้องใช้อแดปเตอร์เหมือนแบรนด์อื่นๆ ที่ทำให้เดือดร้อนต้องอัปเกรด PSU ซึ่งต้องจ่ายอีกหลายเงิน

ถัดไปทางขวาที่เป็น Toggle switch ตัวจิ๋วสีเงิน เพื่อเลือกออปชันว่าจะเชื่อมต่อกราวด์ที่มากับสาย LAN ลงไปที่กราวด์ของตัวเครื่องหรือเปล่า? ถ้าโยกสวิตช์ลงไปที่ตำแหน่ง ‘GND’ ก็คือดึงกราวด์ของสาย LAN ลงไปรวมกับกราวด์ของตัวถังเพื่อฝากไปลงดินทางขั้วกราวด์ของไฟเอซีที่บ้านคุณ

ถ้าต้นทางที่ส่งสัญญาณ Ethernet มาที่ StreamBRIDGE-X มีการ isolated ground มาตั้งแต่ต้นทางแล้ว ก็ควรจะโยกสวิตช์ไปที่ตำแหน่ง ‘LIFT’ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกราวด์ลูป แนะนำว่าหลังจากเชื่อมต่อสาย LAN เสร็จ ต่อสายไฟเอซีเข้าที่ตัว StreamBRIDGE-X แล้วเปิดเครื่องเสียงทุกชิ้นในระบบเสร็จ ให้ทดลองโยกสวิตช์แล้วฟังเสียงดูทั้งสองแบบ แบบไหนให้เสียงออกมาดีที่สุดก็เลือกโยกไว้แบบนั้นนั่นแหละ

Under the hood

วงจรภายใน แม้จะใช้ PCB OEM ของ IT Network Switch จับมาโม ก็ไม่แปลกหรอก ใครจะเก่งเรื่องนี้เท่าเขาที่ผลิตเป็นหมื่นเป็นแสนตัว แต่เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มออดิโอไฟล์เช่นเราๆ ท่านๆ  ทีมงาน Clef จึงตั้งใจสร้าง (โม) ด้วยแนวคิดของออดิโอไฟล์ที่เลือกใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ออดิโอเกรดคุณภาพดี ประมาณว่าใช้เกรดสุดโต่งไปเลย ไฮไลต์ก็ตรง Clock อันเป็นหัวใจของอุปกรณ์ดิจิทัลทุกตัวบนโลกใบนี้ โดยเลือกใช้เป็น OCXO (Oven-Controlled Crystal Oscillator) ที่มีความเที่ยงตรงสูงมาก มีความผิดพลาดของความถี่ที่ปล่อยออกมาเพียง +/- 5PPB (ส่วนในพันล้านส่วนของวินาที) เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่า 10 เท่าของ TCXO Clock ที่ใช้ใน Network Switch ชั้นดีตัวอื่นๆ ในตลาด หรือแม้กระทั่ง Clef: StreamBRIDGE ตัวเดิมก็ยังใช้ TCXO Clock เหมือนกัน โดยที่ OCXC Clock จะทำงานโดยภาคจ่ายไฟอิสระแบบ Ultra-Regulator ที่ให้ไฟด้วยความเที่ยงตรงสูง ถูกโมดิฟายด์มาเป็นพิเศษ รวมถึงวงจรภาคจ่ายไฟแบบ Linear Power Supply ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ Clef ถูกติดตั้งมาภายในด้วยเลย โดยไม่ต้องเพิ่มออปชันเช่นค่ายอื่น ยัง ยังไม่พอ นอกจากเต้ารับ IEC แล้ว ทีเด็ดตรงที่สายไฟที่ใช้เดินภายในตัวเครื่องทั้งหมดมาจาก Furutech เช่นกัน… ซึ่งคงไม่ต้องสืบเรื่องคุณภาพสะใจมะ

Hook Up

แม้ว่าจะใช้ชื่อว่า Network Switch for Audio Streaming ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเล่นภาพไม่ได้ อุปกรณ์พวก Network Switch รวมถึง StreamBRIDGE-X นั้นใช้งานง่ายดาย ไม่ต่างจากปลั๊กราง

โดยที่ในห้องฟัง Home studio เล่นทั้งภาพและเสียง ด้านภาพมีทั้ง AppleTV, Android box ส่วนเสียงก็มี Rockna:  WaveLight Server + WaveLight DAC, Pachanko Labs: Constellation Mini ที่ใช้ Roon จนถึง Cyrus: Stream-XR ที่ใช้ BluOS รวมถึง Roon NAS ก็เสียบพ่วงกันอยู่

ใช้วิธีง่ายสุดโดยเทียบกับ IT Network Switch บ้านๆ ที่ต้องไปถอดมาจากห้องอื่น และก็ได้เทียบเคียงกับเจ้าถิ่นที่ราคาสูงกว่าราว 1.5 เท่า อ่อ… ตัวนั้นผมอัปเกรด PSU ของ Clef ด้วยนะ 

มีทริกเล็กๆ คือถ้าใช้อุปกรณ์ไม่มากนักให้เสียบช่องเว้นช่อง และถ้ามีอุปกรณ์ประเภทนี้สองตัว ก็ให้ต่อซีรีส์กันไปเลยจะส่งผลดีขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว

Show Time

ให้ตายซิทันทีที่เสียบก็เห็นผลเลย

แหม่ จะไม่เห็นได้ไงก็ดูภาพก่อนเลย 555 ดูคลิปเดโม คอนเสิร์ต หนังเต็มเรื่อง จากนั้นก็ขยับไปฟังเพลงยาวๆ จากชุดเครื่องเสียงหลัก ซึ่งก็ฟังออกไม่ยาก เมื่อเราจัดการกับนอยส์ในวงเน็ตเวิร์กอย่างหมดจดด้วย StreamBRIDGE-X มั่นใจได้เลยต้องเห็นผล ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะห้องฟังผมนั้นทั้งมืดและสงัด ประมาณว่าถ้าปิดไฟและไม่มีแหล่งกำเนิดแสงใดๆ วิสัยการมองเห็นจะเป็นศูนย์ทันที ในขณะที่ noise floor ต่ำกว่า30 dB เพราะยิ่งมืดและสงัดเท่าใดก็ยิ่งเผยตัวตนของภาพและชิ้นดนตรีชัดขึ้นเท่านั้น

อัลบั้มที่ฟังก็เป็นแนวโปรเกรสสีฟร็อกที่บันทึกมาดีพอควร อัลบั้มอะไรดูภาพประกอบเองนะ อาจไม่ใช่อัลบั้มแนวโอ้ฟายยอดฮิตนักหรอก แต่บอกเลยว่าได้อารมณ์มาก ฟังครั้งใดก็ฟังไหลยาวตลอด ถามจริงๆ  ถ้าไม่ได้อารมณ์เพลง ฟังแพร็พเดียวก็เบื่อแล้วล่ะมั้ง

เครื่องที่แกะกล่องมาเผาหัวจนได้ที่ อัลบั้มของลุงน้ำ Roger Waters ที่ผมฟังบ่อยมาก และแล้วอัลบั้มหัวกะโหลกต้องมา Avenged Sevenfold: Hail to the King จัดหนักซะหน่อย

หลังจากหลงใหลได้ปลื้มไปกับกรุแตกของวงโปรด CAMEL ที่ปล่อยอัลบั้มพร้อม Extended version ของวงหลายอัลบั้ม เช่น NUDE กับแทร็กโปรด Drafted, TITLE TRACK ของอัลบั้ม Stationary Traveller ยังมีอัลบั้ม Pressure Point อีก ทีนี้ก็ถึงคอนเสิร์ตเต็มของยอดฝีมือโปรเกรสซีฟร็อกแห่งยุค Porcupine Tree ที่ปล่อยทั้งอัลบั้มและวิดีโอ 4K บน Apple TV ซึ่งวงเองเพิ่งจะยุติการเว้นว่างในปี 2021 และออกสตูดิโออัลบั้มถัดไปพร้อมกับ “Closure/Continuation” เพื่อโปรโมตอัลบั้มและนำเสนอเพลงสดบนเวที วงได้ไปทัวร์การแสดงที่ Ziggo Dome กรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งก็จัดทั้งดูคอนเสิร์ตและฟังเพลงจากสตรีมมิ่งไปด้วยเลย




สมาชิกใหม่สามคน ได้แก่ Steven Wilson, Richard Barbieri และยอดฝีมือ Gavin Harrison สมาชิกหลักสามคนของ Porcupine Tree ในขณะที่ Randy McStine และ Nate Navarro ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในรายชื่อในทัวร์นี้

ซีนค่ำคืนในอัมสเตอร์ดัมเป็นคืนที่พิเศษ สิ่งแรกและสำคัญที่สุดคือ รายการนี้ได้รับการถ่ายทำด้วย และตอนนี้มีให้บริการในรูปแบบบันทึกการแสดงสด ประการที่สองและน่าประทับใจมากคือแฟนๆ 17,000 คนมารวมตัวกันที่ Ziggo Dome เพื่อชมการแสดงที่มีดนตรีชั้นยอดและความบันเทิงตั้งแต่ต้นจนจบ ฉากนี้พิเศษมากจนวิลสันเอ่ยถึงในคำต้อนรับเล็กๆ น้อยๆ หลังจากเล่นเพลง ‘Blackest Eyes’ ไปแล้ว ซึ่งน่าแปลกใจมากที่ในช่วง 12 ปีที่ห่างหายไปจากผู้ชมก็ขยายวงกว้างขึ้น

Closure/Continuation Live คอนเสิร์ตนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยมีช่วงพัก 20 นาทีและอังกอร์ในตอนท้าย เซ็ตลิสต์เล่นจากอัลบั้มใหม่ทั้งหมด ผสมผสานกับไฮไลต์อื่นๆ ของวงดนตรีที่น่าประทับใจ ต่อไปนี้เป็นเพลงจากอัลบั้มเอก ‘In Absentia’ ที่ออกในปี 2002 ซึ่งมีเพลง 5 เพลงในเซ็ตลิสต์ ซึ่งสมเหตุสมผลมาก เนื่องจากเป็นวงที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากชุดนี้

ด้วยการแสดงแสง สี เสียงที่ออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยมและฉากหลังแบบดิจิทัล ทำให้ดนตรีของ Porcupine Tree ให้ความรู้สึกดาร์คและเศร้าหมองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่ำคืนนี้กลายเป็นการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งขณะนี้เราสามารถเพลิดเพลินได้ที่บ้านแล้วด้วยการซื้อผ่าน AppleTV เพียง 249 บาทเอง 4K เสียด้วย

Porcupine Tree ในยุคใหม่คือวงดนตรีที่ให้ความสำคัญกับดนตรีเป็นแนวหน้า ไม่เกี่ยวกับบุคคลและอัตตา แต่กลับกลายเป็นความหลงใหลในดนตรีที่ซับซ้อน มีไดนมิกส์หนักเบา แต่ติดหูซึ่งทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คน 17,000 คนค้นพบ ในอัมสเตอร์ดัมในคืนเดือนพฤศจิกายนปี 2022 นี้

Closure/Continuation Live เป็นบันทึกการแสดงสดของวงดนตรีที่พิเศษสุดเหนือกาลเวลา ผลงานชิ้นเอกของโปรเกรสซีฟร็อกที่ทุกคนเข้าถึงได้ แม้มีความซับซ้อนแต่ทั้งหมดเป็นดนตรีที่หัวใจ จิตวิญญาณ และความคิดรวมกัน การผสมผสานที่ไม่พบบ่อยเกินไปในความสมบูรณ์แบบเช่นนี้ ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านระบบสตรีมมิ่งอย่างไหลลื่นสะใจทั้งภาพและเสียง โดยมีตัวจบอย่าง Clef: StreamBRIDGE-X เป็นผู้ควบคุมการผลิต

ทีนี้เมื่อเทียบกับสวิตช์เจ้าถิ่นล่ะ อืม… เรียกว่าทำเอาเจ้าถิ่นเหนื่อยเลย ทั้งๆ ที่จ่ายแพงกว่า จริงอยู่ว่าเจ้าถิ่นมีเวอร์ชันที่อัปเกรดได้แต่คงต้องจ่ายอีกเยอะ บอกตรงนี้โดยไม่ต้องอ้อมค้อม

Xmean’s… Xtreme

Clef Audio: StreamBRIDGE-X จัดการอาการ “ไม่พึงประสงค์” ในวงเน็ตเวิร์กอย่างเบ็ดเสร็จ ส่งผลต่อคุณภาพภาพและเสียง “ที่แท้ทรู” ของ “Player” ให้เปล่งประกายเต็มประสิทธิภาพ เผยเนื้อแท้ของ Player ตัวนั้นอย่างมีนัยยะ จะมีแนวเสียงที่เปลี่ยนไปตามแนวของ Player แต่ละแบรนด์ที่ลงทุนซื้อให้รายละเอียดเล็กๆ ก็ได้ยิน ให้ภาพใส เสียงโปร่ง ไร้เมฆหมอก ดนตรีมีชีวิตชีวา สด อิ่มฉ่ำมากขึ้น ส่วนภาพจะมีไดนามิกส์คอนทราสต์และรายละเอียดดี ไหลลื่น สมจริงยิ่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับ IT Network Switch บ้านๆ

ว้บแรกก็เห็นได้ชัดว่า ให้ภาพใส มีไดนามิกส์ การเกลี่ยสีได้ดีเยี่ยม ภาพเป็นสามมิติ ความเคลื่อนไหวของภาพสมูมาก

ส่วนเสียงมีไดนามิกส์ขึ้นอย่างชัดเจน สัมผัสได้ถึงรายละเอียดเล็กๆ เสียงมาจากระยะไกล หรือใกล้ ระบุตำแหน่งได้ชัดถึงตัวโน้ตตลอดระยะเวลาของการฟัง เนื้อเสียงที่เนียนโดยยังคงรายละเอียดของเสียงได้อย่างครบถ้วน ยิ่งฟังดนตรีที่มีความซับซ้อน หรือฉับไวก็ยิ่งชัด โฟกัสเป๊ะมาก ตรงนี้ต้องได้อานิสงส์จากOCXC Clock ที่บอกได้เลยว่า ทีมงาน Clef นั้นพี่เล่นตรงจุด อย่างชัดเจนว่าลงไปตรงนี้คุ้มจริงๆ เคยเขียนเปรียบเปรยไว้ว่า Clock ทำหน้าที่เสมือนวาทยากร เพลงเดียวกัน วงซิมโฟนีวงเดียวกัน แต่วาทยากรเก่งไม่เท่ากัน ใครเจ๋งกว่าก็วัดกันตรงนี้ล่ะ X mean’s… Xtreme สุดจัดจริง ดีกว่านี้ก็อาจจะมี แต่คงต้องจ่ายอีกหลายเท่าตัวเชียวนา… แนะนำเลย. ADP

ราคา 21,900 บาท

ผลิตและจัดจำหน่ายโดย
Clef Audio
โทร: 0-2932-5981

ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กะพริบ