CHORD ELECTRONICS: Dave D/A PROCESSOR
นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา :
จากข้อเขียนเมื่อครั้งรีวิวออเจ้าสุดสวย บอสใหญ่แห่ง Audio Force ติดใจคำพูดที่ทิ้งท้ายไว้ว่า Take it Easy “เปลี่ยน DAC ตัวเดียว ชีวิตเปลี่ยน…” ออเจ้า Qutest สาวสวยน่ารักสุดๆ ด้วยชื่อชั้นของ Chord แม้จะเป็นสุดสวยตัวน้อย Qutest กำหนดนิยามของ DAC เสียงดี ฟีเจอร์สุดคุ้ม เหมือนเช่นอย่างที่.. ออกญา John Franks คุยไว้ว่าของแกดีจริง ไม่ได้ด้อยไปกว่าพี่หมื่น Dave สักเท่าใด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสายพันธุ์เดียวกัน… งั้นเชียว เอ่อ! นี่น้องสุดสวยของพี่หมื่น Dave เชียวนะ DNA เดียวกัน จะน้อยกว่าได้อย่างไร? แสดงว่ายังคาใจกับพี่หมื่น Dave
งาน BAV HI-END SHOW 2018 ที่ผ่านมา ในห้องโชว์ของ Audio Force เป็นห้องฟังห้องที่เนืองแน่นไปด้วยนักฟังที่แวะเวียนมาไม่ขาดสาย นอกจากจะพบออเจ้า Qutest ในช่วงแรกๆก่อนจะอวดสวยขึ้นดิสเพลย์บนตู้โชว์ข้างห้อง เมื่อ… ออกญา John Franks ที่บินตรงมาร่วมงาน BAV HI-END SHOW 2018 ไล่ๆ กันกับที่พี่หมื่น Dave เข้าประจำการคู่ควรกับออเจ้า Blu MkII Up-scaling CD Transport จากนั้นเสียงดนตรีในห้อง Audio Force ตลอดทั้งโชว์ก็ถูกขับขานผ่านพี่หมื่น Dave เสียเป็นส่วนใหญ่ ซิสเต็มใหญ่ขนาดนั้นให้เสียงตื่นตาตื่นใจยิ่ง จนกระทั่งวันสุดท้ายก็เลยจัดการแพ็กพี่หมื่น Dave จับใส่มือติดกลับบ้านมาฟังต่อที่ห้องฟังแถบชานเมือง เลยมาถึงวันหยุดยาวให้หายคาใจไปซะ
จริงอยู่ว่าพี่น้องกันย่อมมีความละม้ายกัน แต่ก็คงต่างกัน นับประสาอะไรกับ DAC ต่างค่ายกันที่ยากจะเหมือนกัน แม้ใช้ DAC Chip ตัวเดียวกัน ไม่มีทางเหมือนกันแน่นอน DAC Chip เขาขายกันยกล็อตเป็นสิบๆ K Units (หมื่นๆ ตัว) แต่การนำไปใช้ต่างกัน ไม่มีทางที่เสียงจะเหมือนกันได้เลย ตรงกันข้ามยิ่งใช้กระบวนการคิดต่างกันแบบที่คนอื่นเขาไม่ทำกันด้วยแล้วยิ่งห่างกันไกล Robert Watts พ่อมดดิจิทัลแห่ง Chord Electronics ได้ทุ่มเทวิจัยพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม DAC64 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนี้ โดยใช้ Chord Electronics custom coded FPGA อันเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์แปลงสัญญาณดิจิทัลสู่เสียงดนตรีได้อย่างแม่นยำเที่ยงตรง ให้เสียงมีรายละเอียดในทุกตัวโน้ตอย่างละเมียด ไร้ซึ่งเสียงรบกวน ดนตรีมีตัวตนเด่นชัด ซึ่งหาใช่แนวทางที่ผู้ผลิตทั่วไปทำ
จากวันนั้นถึงวันนี้ได้ถูกวิจัยพัฒนาต่อยอดมาเป็น DAC ในเจเนอเรชั่นล่าสุด เรียกว่า Dave DAC เป็น DAC รุ่นเรือธงตัวอ้างอิงโดยแท้ กลายมาเป็น DAC / Preamp amplifier (วอลลุ่มระบบดิจิทัล) ชั้นดีที่สามารถต่อตรงเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ แถมยังบรรจุฟังก์ชั่นแอมป์หูฟังที่มีความทันสมัยสุดล้ำจัดเต็มติดตั้งมาชนิดสุดๆ ไม่มีกั๊ก เท่าที่เทคโนโลยีในวันนี้จะทำได้ ประมาณว่า… ออกญาบอกว่า Dave DAC ออกแบบได้ล้ำสมัยมากๆ
DAVE (‘Digital to Analogue Veritas in Extremis’) DAC
Dave เป็น Stand Alone DAC ที่มุ่งหวังให้เป็นสุดยอดของ DAC จาก Chord Electronics โดย Dave DAC อยู่ในเรนจ์ Reference ในกลุ่ม Flagship สูงสุดในทุกเรนจ์ โดยที่ Reference ประกอบด้วยเครื่องเสียงรุ่นต่างๆ อีกแปดตัว ตั้งแต่… ปรีแอมป์, สเตริโอแอมป์, โมโนแอมป์, สตรีมเมอร์ ซึ่ง Dave DAC ออกแบบชนิดสุดโต่ง ไร้ข้อจำกัดในทุกเรื่อง โดยเฉพาะกับงบประมาณและเวลา ที่ถือว่าพัฒนามาตั้งแต่แรกคือ DAC64 เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว จากนั้นจึงต่อยอดมาเรื่อยๆ ไม่เฉพาะการวิจัยพัฒนา รวมถึงการนำมาใช้จริงในระดับ Manufacturing คัดสรรอุปกรณ์ดีที่สุด แม้ต้องแลกกับต้นทุนการผลิต ทำให้ต้องกำหนดค่าตัวสูงตามไปด้วย หากก็ได้ผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศที่หาตัวเทียบยาก มั่นใจว่าสู้ได้สบายๆ ในทุกเงื่อนไข ถ้าต้องการความเป็นที่สุดระดับอ้างอิงก็ต้องพี่หมื่น Dave นี่ล่ะ อาจจะพูดได้ว่าเป็น DAC / Preamp / Headphone amplifier ระดับอ้างอิงที่ดีที่สุดที่ทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในตอนนี้ ด้วยการคิดค้นเทคนิคที่เป็นของตัวเอง ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประกอบด้วย Spartan 6 Field Programmable Gate Array (FPGA) มีความสามารถในการคำนวณเท่ากับ 1,000x processing power ของ DAC Chip ในท้องตลาดที่คนอื่นใช้ ก็แปลว่าวงจร FPGA ของ Dave สามารถโหลดข้อมูลได้มากเป็นล้านที่มีความซับซ้อน แถมทำงานได้อย่างรวดเร็วแม่นยำอีกด้วย บนตัวเครื่องมี Display เพื่อบอกสถานะการทำงานของเครื่อง ซึ่ง John Franks มั่นใจมาก ประมาณว่ากล้าชนกับ DAC ทุกตัวกันเลยทีเดียว ถือว่าท้าทายมาก
UNDER THE HOOD
อะไรทำให้แตกต่าง นอกจากใช้ Chord Electrronics custom coded FPGA ทำงานบน Spartan 6 Field Programmable Gate Array (FPGA) ที่น่าสนใจก็ตรง Robert Watts คิดค้นนวัตกรรมของ Filter ที่แก้ปัญหาของการเหลื่อมเวลาที่เรียกว่า “Transient Aligned” จึงตั้งชื่อว่า Watts Transient Aligned (WTA) reconstruction filter สำคัญตรงที่เมื่อ Timing ผิดเพี้ยนแม้แค่เล็กน้อยย่อมส่งผลใหญ่หลวงต่อ pitch, timbre ที่บอกถึงจังหวะ รวมถึงตำแหน่งของเครื่องดนตรี ซึ่งนั่นก็คือ soundstage ที่เป็นจุดสำคัญในแง่คุณภาพเสียงของนักฟังสาย audiophlie ถวิลหามิใช่รึ ดังนั้น Chord จึงได้ติดตั้ง WTA filter มาด้วย แน่นอนว่า Dave ก็จัดมาเต็ม จะได้ไม่ต้องคาใจ ว่าดีกว่านี้มีไหม
ทุกครั้งที่เพิ่มจำนวนของ taps เป็นการเพิ่มความสามารถที่จะได้รับรู้ pitch, timbre ดีขึ้น ส่งผลให้เสียงดนตรีที่ได้ยินกระจ่างชัดขึ้น อะไรที่มัวๆ ทึบๆ ก็จะหายไป รายละเอียดในทุกตัวโน้ตก็ฟังได้ง่ายขึ้น สมองรับรู้ว่ากำลังฟังอะไรตำแหน่งชิ้นดนตรีอยู่ตรงไหน ไม่เหนื่อยล้าที่จะฟังมัน ฟังได้นาน นี่ก็คือปลายฝันของพวกเราแล้วไม่ใช่เหรอ
สำหรับ PCM และ DSD ใช้โปรแกรม 2 ตัวทำงานบน FPGA เป็นอิสระจากกัน และแยกการทำงานของ filter ด้วย โดยมีเป้าหมายต้องพัฒนาให้ timing เหนือกว่าของ Hugo โดยจัดการกับ noise shaper performance ที่จะทำให้ noise floor และ distortion ใน time domain ต่ำลงมากๆ ซึ่งส่งผลต่อ transient ที่แม่นยำขึ้น WTA filter ใช้ถึง 3 stages โดยใน stage แรก over samples ไป 8 เท่า; stage ที่ 2 เท่า กับ 16 เท่า จากนั้นตามด้วย linear interpolation filter ขึ้นไปจนถึง 2048Fs [2048 times the original sample rate] ทีเดียว
Dave ใช้ 20-element pulse-array ติดตั้งบน FPGA ซึ่งจะได้ second-order analog noise shaper ที่ output stage ซึ่ง analog output stage นี้สามารถทำงานกับเฮดโฟนที่ low impedance ได้เป็นอย่างดี และเมื่อดิจิทัลส่วนหน้าเริดซะขนาดนั้น จะไม่เรียก Processor ได้ไง ภาคจ่ายไฟก็ต้องชั้นยอดด้วย ส่วน Analog Output เป็นแบบ Single End Class A Fully Balanced ที่ Chord ช่ำชองอยู่แล้ว จึงให้พลังเหลือเฟือถึง 6.8V RMS โดยมีค่าความเพี้ยนต่ำมากๆ ถือว่าเหนือกว่าคนอื่นไปไกล ที่อย่างเก่งก็ราวๆ 3 – 4 V เท่านั้น เมื่อเกนการขยายดีขนาดนี้จึงปราบหูฟังโหดๆ ได้ทุกตัวในโลก
CHECK IN
พี่หมื่น Dave ที่ผมยกใส่รถกลับมาบ้านแบบตัวเดียวโดดๆ ด้วยสัณฐานของมันเองตัวไม่ใหญ่ แต่หนักเอาการ เนื่องจากทำจากอะลูมินัม CNC ทั้งแท่ง มากัดเซาะเพื่อแยกส่วนภาคจ่ายไฟออกจากวงจรอื่นๆ ตัวเครื่องมีความโค้งมน หรูแต่คลาสสิก ดูวินเทจนิดๆ รู้ไหมว่านึกถึงหนังแฟนตาซี Flash Gordon ซะงั้น ไม่ใช่หน้าตาสวยฉาบฉวยแบบหวือหวา เป็นประติมากรรมสุดเท่ ดูนานๆ ช่วยให้ชุดเครื่องเสียงร้องเพลงเพราะขึ้น ผมไม่ได้เอาขาตั้งมาด้วยหรอก กลัวจะหล่อเกินหน้าเกินตาเจ้าของห้อง แถมก็ไม่ได้มีรีโมตมาด้วย ซึ่งความจริงก็มี แต่เนื่องจากตัวนี้เป็นตัวเดโมใช้ที่งานจึงมิได้แพ็กใส่กล่องของมันมา ว่ากันไปแล้วรูปร่างหน้าตาที่ดูหรูแทบไม่ต่างจาก DAC64 ที่ต่างกันก็ตรงจอดิสเพลย์เป็นจอสี่สีทรงกลมตั้งมุมขึ้น แทนที่จะแบนราบไปกับตัวเครื่อง และมีขนาดใหญ่สะดุดตา อีกอย่างที่สะดุดตาก็ตรง Dave มีโลโก้ของ Chord อยู่ด้านบนของเครื่อง
ส่วนที่ต่างจาก DAC64 ชัดๆ ก็ตรงติดตั้งปุ่มควบคุม หรือจะเรียกว่าสั่งการในลักษณะเนวิเกเตอร์ ที่มีปุ่มขนาดย่อมสี่ปุ่มทำด้วยสเตนเลสกลึง ใช้กดขึ้นลงซ้ายขวา และปุ่มบิดหมุนตรงกลาง หรือกดเพื่อเลือกฟังก์ชั่นการใช้งานได้สารพัด ตั้งแต่เลือก input, filter หรือ phase อะไรๆ อีกมากมาย แม้กระทั่ง mute อีกอย่างที่ชอบเครื่องเสียงในยุคนี้เพราะมี ¼” headphone jack ที่อยู่ทางด้านขวาของฐานล่างของเครื่องด้านหน้า มาให้ใช้งานด้วย ซึ่งก็น่าจะเข้าทางนักเล่นกลุ่ม Headphile ที่จะพลาดไม่ได้เลยนะ จะบอกให้ ส่วนด้านหลังเครื่องประกอบไปด้วย digital input และ analogue outputs ที่มิได้มีสัญลักษณ์ใดๆ นอกจากขอบสีแดงของ right-channel เท่านั้น โดยไม่มีตัวอักษรใดๆ บนตัวเครื่อง ถ้าอยากทราบว่าช่องใดเป็นอะไร ต้องพึ่งคู่มืออย่างเดียว นับเป็นอย่างเดียวที่ต้องติ อะไรจะติสต์ขนาดนี้ จงใจหรือว่าลืม …ฮา แต่ก็ไม่ซีเรียสหรอก เพราะเป็นช่องเสียบมาตรฐานอยู่แล้ว จะงงนิดตรงที่เจ้า S/PDIF ที่มาเป็น BNC ทำไมเยอะจัง ซึ่งมีคำอธิบายว่าเอาไว้รองรับการเล่นแบบ Dual Data Mode ที่สามารถเล่นได้ถึง 176.4kHz แต่ต้องทำงานร่วมกับ Chord Blu CD Transport ไงครับ ลองมาดูกันว่ามีขั้วต่อแบบไหนบ้าง และมีคุณสมบัติทางเทคนิคที่สำคัญอะไรบ้าง
Digital Inputs: 4 x 75Ω S/PDIF BNC Coax – 44.1kHz to 384kHz, 1 x AES XLR – 44.1kHz to 96kHz ซึ่งน่าแปลกที่รองรับ Sampling Rate ต่ำกว่าตัวอื่น, 2 x Fibre Optic TOSLINK – 44.1kHz to 192kHz, 1 x USB Type B – 44.1kHz to 768kHz – PCM และ DSD
Analogue Outputs: 1 x Stereo Pair of Unbalanced RCA, 1 x Stereo Pair of Balanced XLR, 1 x ¼” TRS Jack Headphone Output
Frequency Response: 20Hz to 20kHz flat within +/-0.1dB (HF filter off), THD + N:127.5dB (AWT), Channel Separation: >125dB @ 1KHz, Dynamic Range: 127.5dB (AWT), Sample Frequencies: 44.1kHz – 768kHz DSD64, 128, 256, 512 native DSD + DoP (input dependant)
SETUP
ความจริง Dave เป็น External DAC ที่ไม่สามารถเล่นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องให้ผู้ช่วยป้อนของดีให้กินหน่อย เราจะได้ยินเสียงที่ให้ความแตกต่างจาก DAC ตัวอื่นๆ โดยมีทางเลือกให้ใช้งานได้หลายทาง การต่อพ่วงนำข้อมูลดิจิทัลป้อนให้กับ DAC สามารถใช้ Network Transport ที่มีขายกันหลายตัว จะใช้ตัวใดก็ได้ ยิ่งได้ของดีจับมาเล่นกับ Dave ตัวนี้ก็จะไปโลด
ในการทดลองครั้งนี้ ผมเล่น CAS โดยใช้ MAC กับแอพสองตัวคือ Audirvana Plus 3.2 กับ Amarra4Luxe 4.2 บน High Sierra10.13.4 เป็นหลัก ที่ชอบ Mac เพราะเสียงดี และไม่ต้องลง driver เหมือนตระกูล Windows ซึ่งต้องไปโหลดจากหน้าเว็บของ Chord Electronics ส่วนแอพเล่นเพลงแนะนำให้คุณใช้ JRiver หรือ Roon ไปเลย นอกจากนั้นก็มีบ้างที่เล่นแผ่นซีดี รวมถึงดูคอนเสิร์ตผ่าน Oppo บ้าง
บนจอดิสเพลย์ของ Dave แบ่งเป็น 4 โซน ด้านบนแสดงผลของ input sample rate และ volume level มีสีของ background ที่ต่างกัน หรือไม่ชอบสีก็เปลี่ยนเป็นขาวดำก็ได้ ตรงกลางแบ่งเป็น 2 ส่วน สำหรับตั้งค่า PCM/DSD, Phase (Polarity), HF Filter on/off และ Display mode ซึ่งสามารถตั้งค่า DAC mode (fixed output), Digital Preamplifier mode (volume control active) หรือ Headphone mode ได้
ทันทีที่เสียบสายหูฟังจะเปลี่ยนสถานะจากปรีแอมป์ชนิดดิจิทัลวอลลุ่มกลายเป็นแอมป์หูฟังชั้นดีทันที อ้อๆ ส่วน sampling rate จะแสดงเป็นสีอีกสิบสีไล่เฉดกันไป แม้จะดูว่าทันสมัยสุดๆ แต่ผมต้องทดสอบทั้งชุดฟังเพลงในห้องฟังหลักอันประกอบด้วยพี่บึ้ก Vitus และ Manger ZeroBox กับ REL และหูฟัง Focal Clear จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเหมือนกัน
#เพื่อความปลอดภัย ควร Mute และตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะเล่น มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อลำโพงหรือหูแตกได้
Dave ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิทัลให้เป็นอะนาล็อกได้อย่างหมดจด สมบูรณ์แบบอย่างที่ควรจะทำ
SHOWTIME
อัลบั้มเพลงที่ฟังเลือกมาจาก NAS ส่วนตัว รวมถึงสตรีมจาก Tidal ปนกันไป ไล่ตั้งแต่ CD standard 16/44.1 ขึ้นไปเป็น 24/48, 24/88.2, 24/96, 24/176.4, 24/192 ทะลุถึง DXD 24/352.8 ไฟดิสเพลย์บนหน้าปัดก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ประมาณ 10 สี ตาลายกันไป ถึงเวลาฟังจริง ความมันไม่เคยปรานีใคร ไม่มีใครจำได้หรอก ใส่ไว้เท่ๆ แบบนั้นเอง ส่วนฝั่ง DSD ก็มี DSD64, DSD128, DSD256 ไกลกว่านั้นไม่มีไฟล์ขอรับ มีสีเดียวคือ แสงสีขาว ปกติไฟล์ DSD256 ก็มีน้อยอยู่แล้ว ที่พอมีก็จะเป็น DSD128 ของ Opus Showcase นั่นแหละ ส่วน DSD256 ก็มีของ 2L Records ส่วนไปไกลกว่านั้นยังเป็นอนาคต ไม่ซีเรียส เรามีเพลง Hi-Res ใน NAS ตั้งเยอะ เปิดยกชุด อัดกันให้เพลินไปเลย ของ Linn, RR, Chesky บ้าง จริงๆ แล้วอัลบั้มโอ้ฟายเปิดนานๆ ก็เลี่ยน ฟังร็อกบ้าง บันทึกดีๆ ก็มีอย่างของ Avenged Sevenfold: Hail to the King ให้เสียงดุดัน เสียงเบสกลอง สแนร์ เสมือนนั่งอยู่หน้าเวที ฟังจบชุดติดลม เปลี่ยนมาเป็น Metallica Black Album หรือ Dream Theater, Rush บ้าง โอ้ว.. สุดๆ เปิดดังก็ไม่แซดหนวกหูนะ
เมื่อ Streaming “ปัง” ซะขนาดนี้ เพราะจริงๆ แล้วเล่นเครื่องเสียง File base คือทางของผมนะ ส่วนใหญ่อัลบั้มที่ฟังนี้เปิดจาก NAS และ Streaming ทั้งสิ้น เลิกซื้อแผ่นไปนานแล้วด้วย ซื้อไฟล์ออนไลน์สโตร์บ้าง แต่ลดลง ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน Tidal ง่ายกว่า ก็เลือกฟังเพลงได้จุใจ อัลบั้มใหม่มีให้ฟังทุกสัปดาห์ เร็วกว่าสั่งซื้อแผ่นเสียอีก เล่น CAS ก็ยังฟัง Tidal Master ได้ทะลุถึง 24/96 อยู่แล้ว จะอัพให้สูงขึ้นก็ใช้ Software เล่นเอา ก็ไม่ยาก เพราะ DAC ของเรารองรับอยู่แล้ว แม้มิได้เป็น MQA certify ก็ไม่เห็นต้องแคร์นี่ บอกหลายครั้งว่า DAC ดี จะไปกลัวอะไร MQA มิได้บอกว่าเสียงจะดีกว่านะ ถ้าไฟล์ต้นฉบับบันทึกมาดีมันก็ดี ไม่คิดว่าจะไม่ซื้อ เพราะไม่รองรับ MQA หรอกมั้ง ถ้าอยากเล่นจริง แนะนำว่าหา Transport ที่สามารถ Decode MQA มาเป็นตัวต้นทางก็จะถอดได้หมดจด ส่งผ่านมาให้ Dave ก็ยังได้ ไม่ใช่ปัญหาเลย แม้ไม่รองรับ MQA ก็ไม่ใช่ประเด็น รองรับแล้วไง ถ้าเสียงไม่ได้ดีขึ้นก็แค่นั้นครับ
Dave ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิทัลให้เป็นอะนาล็อกได้อย่างหมดจด สมบูรณ์แบบอย่างที่ควรจะทำแต่ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากที่เคยผ่านมา ใครที่บอกว่าฟังดิจิทัลไฟล์แล้วยังมีความเป็นดิจิทัลน่ะ พูดผิดไปแล้ว คิดใหม่ได้ Dave ให้เสียงอิ่มข้นตามสไตล์ของ Chord ที่มี Signature เฉพาะ เทียบกับ Qutest นับว่าโทนเสียงเดียวกัน แต่พี่หมื่นเหนือกว่าด้วยโทนัลบาลานซ์ดีเยี่ยม ให้เสียงตรงตามที่บันทึกมา ปลายแหลมแม้ไม่ถึงกับกรุ๊งกริ๊ง จริงอยู่ว่าไม่คม แต่ก็ไม่ด้านจน Dark ไปเสียเลย เบสมีไดนามิกส์ ด้วยเพราะ background noise ต่ำมาก ทำให้ image, soundstage ดีมาก จะเป็นเพราะ dynamic range กว้างถึง 127.5dB (AWT) ซึ่งมิใช่เพียงให้เวทีกว้าง แต่กลับให้ความเป็นตัวตน ตำแหน่งของชิ้นดนตรีชัด ดนตรีมี layer ตื้นลึก มีบรรยากาศเป็นสามมิติเบสแน่นกระชับ แผ่ซ่านลงพื้น เสียงแบบนี้แหละ “แพง” ไม่ต้องสืบ ฟังเพลงร็อกมันมากด้วย WTA filter ทำงานได้ดีด้วย Timing ที่แม่น รายละเอียดเครื่องดนตรี โดดเด่นในทุกตัวโน้ต หัวไม้กระทบหนังกลองได้อารมณ์ฮึกเหิมดีมาก
แอมป์หูฟังพลังเหลือล้น ยิ่ง Focal Clear มี Impedance ไม่สูง ยิ่งขับกระจาย นี่ถ้าเป็น Utopia จะเป็นไงล่ะเนี่ย ขนาด Clear เหมือนเราฟังแอมป์คลาส A นะ เพลงร้องแนวหลงเสียงนางนี่เล่นเอาระทวย ออดอ้อน กระแซะอยู่ตรงหู เพ้อแล้ว… ก็ฟังหูฟังจะไม่ให้กระซิบข้างหูได้ไง ให้เสียงสะอาด ธรรมชาติ อิ่มฉ่ำแน่นกระชับ ไม่เฉื่อย ไร้สากเสี้ยนให้รำคาญหู ฟังเพลงแนวอะไรก็ฟินไปหมด หมดข้อกังขา เมื่อออกญา John Franks คุยไว้ว่าของแกดีจริง ก็ต้องยอมรับ….
ลองปรับ filter ดู ถ้าอัลบั้มบันทึกมาดีฟังออกยากเหมือนกัน แต่ก็ลองดู อีกอย่าง crossfeed เป็นการผสมสัญญาณเสียงระหว่างแชนเนลซ้ายและขวา มีผลดีต่อการฟังหูฟังทั่วไป โดยให้ความรู้สึกคล้ายกับฟังจากลำโพงแบบสเตริโอ ซึ่งแล้วแต่จะชอบตามรสนิยมตัวเอง
ข้อสังเกตอีกอย่าง ด้วยเพราะเป็นคลาส A ขณะใช้งานตัวเครื่องอุ่นๆ ค่อนไปทางร้อน มิน่าถึงได้ออกแบบให้ตัวเครื่องเอาอะลูมินั่มทั้งแท่งมากัดนี่เอง
นี่คือมาตรฐานใหม่ของ DAC เสียงดีใน พ.ศ. นี้ ที่ทุกคนต้องเหลียวมอง และต้องหาโอกาสฟัง
THIS IS HOW A DAC SHOULD SOUND…
ช่วงสงกรานต์ของทุกปี ความที่บ้านอยู่ชานพระนครอยู่แล้ว จะไปที่อื่นทำไม หลังงาน BAV HI-END SHOW 2018 ที่ผ่านมา ต้องขอแอบปลีกวิเวกเฝ้าหมู่บ้าน เพราะเพื่อนบ้านไป ตจว. กันหมด เหลือไม่กี่หลัง ฟังเพลงจากพี่หมื่น Dave ที่ส่งตรงจาก Chord Electronics หิ้วมาถึงห้องฟังแถบชานเมือง เสียดายที่ไม่ได้ยก Blu Mk II CD Transport มาด้วย กระนั้นก็ใช้เวลาอยู่กับพี่หมื่นนานพอควร ฟังในห้องฟังหลักเป็นส่วนใหญ่ มีฟังกับหูฟังก็ไม่น้อย เพลิดเพลินไปกับมัน ถือว่าฟินสุดๆ ไปกับเสียงที่ให้คุณภาพความเป็นดนตรีไร้ข้อจำกัด เสียงเที่ยงตรง มีไดนามิกส์ มีน้ำหนัก เสียงมีเนื้อข้นๆ ไม่แผ่วบาง ไร้พลัง แต่ไม่จัดจ้านโฉ่งฉ่าง ให้รายละเอียดของชิ้นดนตรีจะแจ้ง สมเป็น Reference Digital to Analogue Converter, Headphone Amplifier / Preamplifier ที่บอกได้ว่า ไม่ธรรมดาเลย ก็ควรเป็นเช่นนั้นไม่ใช่เหรอ ผมเองอาจไม่ใช่เซียนหูฟัง ได้สัมผัสแอมป์หูฟังจริงจังไม่มาก เมื่อได้ลองต้องบอกเลยว่า ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้แล้ว ด้วยชื่อชั้น ฝีมือการออกแบบหรูมีสไตล์ งานประกอบประณีตไร้ที่ติ เทคโนโลยีสุดล้ำใช้กันยาวๆ ข้อสำคัญยิ่งยวด… ให้เสียงดีมีเอกลักษณ์ ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ สมคุณค่าอย่างมาก และนี่คือมาตรฐานใหม่ของ DAC เสียงดีใน พ.ศ. นี้ที่ทุกคนต้องเหลียวมอง และต้องหาโอกาสฟัง ดีกว่านี้ก็คงมี แต่น่าจะหาไม่ง่าย ข้อสำคัญจะต้องจ่ายเท่าไหร่ล่ะ Dave วางตำแหน่งได้เหมาะสมแล้ว ด้วยค่าตัวระดับนี้ คิดว่าคู่แข่งคงมีไม่เยอะ ด้านล่างลงไปปล่อยให้น้องๆ อย่าง Hugo, Qutest รับมือไป ซึ่งก็ทำได้ดีอยู่แล้ว ถ้าต้องการอะไรที่เหนือกว่านั้น Dave คือตัวเลือกบนๆ ที่ต้องฟัง แต่โปรดอย่าเชื่อผม แนะนำว่าหาโอกาสลองฟังให้ได้ด้วยตนเองจะดีที่สุด
ถ้าต้องการความเป็นที่สุด พี่หมื่น Dave น่ะ เหมาะกับคนที่คู่ควรกับมัน …ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คุณนั่นแหละครับ. ADP
นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 255
No Comments