รีวิว C3 BiWire/Tri-Point Speaker Cable
ธีรวัฒน์ โชติสุต
ผมเชื่อว่าหลังจากคุณผู้อ่านได้อ่านบทรีวิวของผมในครั้งนี้จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องการ ต่อสายลำโพงเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เรามักเลือกใช้สายลำโพงตามที่เราชอบและสนใจ แต่เราไม่เคยคิดมา ก่อนว่า สายลำโพงนั้นเหมาะหรือแม็ตช์กับแอมป์ที่เราใช้งานหรือเปล่า กำลังขับของเพาเวอร์แอมป์ หรืออินทิเกรตแอมป์ที่เราใช้งาน ควรจะเลือกใช้สายขนาดเท่าไหร่
เราเชื่อว่า สายลำโพงเส้นนั้นดี สายลำโพงนั้นเหมาะกับแอมป์ของเราดีแล้ว แต่เราเคยตั้งคำถามไหมว่า ที่เราเข้าใจนั้นมันใช่หรือเปล่า
จะมีสักกี่ยี่ห้อกล้าที่จะบอกว่า สายลำโพงของตนเองเหมาะกับแอมป์ชนิดนั้นกำลังขับขนาดนี้ หาดูแล้วแทบไม่มีเลย เห็นจะมีแต่สายลำโพงของ C3 ในรุ่น C3 Biwire ซึ่งทำสายลำโพงมาสำหรับแอมป์หลอด ซิงเกิ้ลเอ็นด์ที่มีกำลังขับต่ำกว่า 60 วัตต์ และใช้ร่วมกับลำโพงที่ใช้ขั้วลำโพงแบบไบไวร์เท่านั้น
ถามว่า แอมป์หลอดกำลังขับ 70 วัตต์ จะใช้สายลำโพงคู่นี้ได้ไหม คำตอบคือ… ไม่ได้ครับ
ถามว่า ถ้าใช้แอมป์หลอดขนาดต่ำกว่า 60 วัตต์ แต่ขั้วลำโพงเป็นแบบซิงเกิ้ลไวร์จะใช้ สายลำโพง C3 BiWire ได้ไหม คำตอบคือ… ไม่ได้เช่นกัน จะต้องสั่งทำพิเศษต่างหาก
ถามว่า แอมป์โซลิดสเตทกำลังขับต่ำกว่า 60 วัตต์จะใช้สายลำโพง C3 BiWire รุ่นนี้ได้ไหม คำตอบคือ… ไม่ได้เช่นกัน เพราะสายลำโพง C3 BiWire/Tri-Point ออกแบบมาสำหรับแอมป์ หลอดหรืออินทิเกรตแอมป์หลอด กำลังขับ ต่ำกว่า 60 วัตต์เท่านั้น
สายลำโพง C3 BiWire/Tri-Point ดีอย่างไร
สายลำโพง C3 BiWire/Tri-Point ดีกว่าสายลำโพงไบไวร์อื่นๆ อย่างไร ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ เรามาลองทำความเข้าใจเรื่องสายลำโพงและการต่อสายลำโพงกันก่อน
ต้องบอกก่อนนะครับ ว่าเรื่องการต่อสายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะคนที่ออกมาพูดในเรื่องนี้มาก่อนก็คือ ทีมวิศวกรของฮิตาชิ ไม่ใช่เพิ่งบอกกันนะครับ พูดเรื่องนี้กันมานานมากเลยสิบปี น่าจะเป็นประมาณ 40 กว่าปีแล้ว แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แม้แต่ฝรั่งเองก็ปฏิเสธที่จะยอมรับในหลักการการต่อสายลำโพงแบบนี้ของฮิตาชิ แต่ทางฮิตาชิบอกว่า นี่คือหลักการที่ดีที่สุดแล้วล่ะ ที่จะให้เฟสของลำโพงออกมาตรงกันมากที่สุด
ย้อนกลับไปดูวิธีการต่อสายลำโพงแบบต่างๆ ในกรณีที่ลำโพงใช้ขั้วไบไวร์ แต่เราใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ โดยส่วนใหญ่มักต่อที่ขั้วลำโพงฝั่งความถี่ต่ำ (LF) เสมอ เพราะความถี่ต่ำกินกระแสเยอะกว่า เลยต้องต่อสายลำโพงที่ขั้วความถี่ต่ำหลังลำโพงทั้งหมด แต่หลายๆ กรณีกลายเป็นว่า ความถี่กลางต่ำพุ่งมากกว่าเสียงความถี่สูง ซึ่งออกมาจากทวีตเตอร์ และเสียงไม่ค่อยจะสมดุลกันมากนัก
หากย้อนไปที่หลักการต่อสายลำโพงซิงเกิ้ลไวร์กับขั้วลำโพงแบบไบไวร์ ในข้อแนะนำการต่อจากบริษัทผลิตสายลำโพงที่มีชื่อเสียงจากฝั่งอเมริกาได้แนะนำว่า ให้นำสายลำโพงสำหรับขั้วบวกที่ต่อมาจากแอมป์ไปต่อที่ขั้วบวกของทวีตเตอร์ด้านความถี่สูง (HF) ของฝั่งลำโพงแทน ถามว่าดีที่สุดหรือเปล่า คำตอบคือยังไม่ดีครับ เพราะขั้วลบในทางวงจรออกแบบของแอมป์เองก็คือจุดร่วมคอมมอนของสัญญาณและระบบกราวด์ของวงจรภายในแอมป์ ดังนั้น เราต้องใช้ขั้วลบของด้านความถี่สูง (HF) ของขั้วลำโพงหลังลำโพงเป็นจุดอ้างอิงทางเฟสและจุดเริ่มต้นในการอ้างอิงขนาดการไหลของกระแส
มองในทางการไหลของไฟฟ้ากระแสสลับ ทิศทางการไหลของกระแสของขั้วลำโพงทั้งหมด หากต่อโดยใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ต่อกับลำโพงที่ขั้วลำโพงมี 2 ชุดสำหรับต่อแบบไบไวร์นั้น สายลำโพงขั้วบวกที่ต่อจากแอมป์จะต้องต่อฝั่งขั้วบวกของความถี่่ต่ำ (LF) หลังลำโพง และสายลำโพงขั้วลบที่ต่อจากแอมป์จะต้องต่อกับขั้วลบหลังลำโพงฝั่งความถี่สูง (HF) เสมอ การต่อแบบนี้จะทำให้การไหลของกระแสของขั้วลำโพงทั้งหมดมีมุมอ้างอิงทางเฟสและปริมาณของกระแสที่ไหลผ่านเท่ากัน ในแง่ของแอมปลิจูด เฟส และช่วงเวลาอ้างอิงการไหลของกระแสจะเท่ากันในทุกช่วงเวลา ทุกกรณี ทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้น เสียงหลุดตู้ลำโพงและมีสมดุลเสียงที่ดีมากยิ่งขึ้น
หลังจากคุณผู้อ่านได้อ่านถึงบรรทัดนี้ และซิสเต็มที่บ้านใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ต่อกับลำโพงซึ่งมีขั้วลำโพงให้มาสองชุดสำหรับต่อแบบไบไวร์ ลองต่อแบบที่ผมแนะนำดูครับ เสียงจะดีขึ้นมากว่าเดิม โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินเพิ่มอะไรเลยครับ
หากจะเปลี่ยนลิงก์ขั้วลำโพงแบบแพงๆ ที่ทำออกมาขายหลายยี่ห้อ ขอแนะนำการต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์กับลำโพงซึ่งให้ขั้วลำโพงมาสองชุดสำหรับต่อไบไวร์ที่ผมได้แนะนำแล้วนั้น จะให้เสียงออกมาคุ้มค่ากับการลงทุนในการเปลี่ยนลิงก์ขั้วลำโพงมากยิ่งขึ้น
แอมป์บางยี่ห้อมีขั้วลำโพงหลังแอมป์มาให้สองชุด สำหรับต่อสายลำโพง 2 ชุดในการเล่นสายแบบไบไวร์ นักเล่นหลายท่านเจอแบบนี้ก็จะสั่งสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์สองชุดเพื่อจะแยกต่อสายลำโพงไปยังขั้วลำโพงชุดความถี่ต่ำอีกชุดก็ต่อไปยังขั้วลำโพงชุดความถี่สูง ถามว่าต่อแบบนี้ไม่ดีอย่างไร
อย่างแรกเลย มุมอ้างอิงทางเฟสสัญญาณของความถี่ต่ำและความถี่สูงอาจมีการเหลื่อมล้ำทางเฟสกันได้ อย่างเช่น ในกรณีของลำโพงแบบสองทาง กรวยมิดเร้นจ์/เบสกินกระแสมากกว่าทวีตเตอร์ จะทำให้กำลังขับของแอมป์โหลดไปยังความถี่เสียงต่ำมากกว่าความถี่เสียงสูง ความถี่เสียงต่ำจึงพุ่งมากกว่าเดิม สมดุลเสียงจึงหนักมาทางความถี่เสียงต่ำและเฟสของลำโพงที่เหลื่อมล้ำกันของลำโพงแบบนี้จะทำให้การเซ็ตลำโพงให้เสียงออกมาดีนั้นทำได้ค่อนข้างยาก ยิ่งใช้สายลำโพงต่างยี่ห้อก็ยิ่งไปกันใหญ่
หันมาดูการออกแบบวงจร ขั้วลบคือจุดอ้างอิง จุดร่วมตามที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น เลยเกิดคำถามว่าแล้วจะต้องมาแยกกันอีกทำไม
การเล่นสายลำโพงแบบไบไวร์นั้น สายลำโพงแบบซิงเกิ้ล-ไบไวร์ ซึ่งไปแยกสายเป็นไบไวร์ด้านที่ต่อกับลำโพงจะเป็นสายลำโพงที่เหมาะสำหรับลำโพงไบไวร์ที่ดีที่สุด
แต่ตรงนี้ต้องดูการออกแบบของแอมป์เช่นกัน หากแอมป์ที่ใช้เป็นแอมป์ซึ่งออกแบบเป็น Fully Balanced แท้ ไม่แนะนำให้ใช้สายลำโพงแบบไบไวร์นะครับ ให้ใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ ถึงแม้ว่าขั้วลำโพงเป็นแบบไบไวร์ก็ตาม แล้วใช้ลิงก์ลำโพงคุณภาพดีๆ เพิ่ม ก็จะให้คุณภาพเสียงที่ดีมากยิ่งขึ้น
การใช้สายลำโพงซิงเกิ้ล-ไบไวร์กับลำโพงซึ่งใช้ขั้วลำโพงแบบไบไวร์นั้น วิธีการต่อสายลำโพงส่วนใหญ่นักเล่นมักถอดลิงก์ของลำโพงที่เชื่อมขั้วลำโพง แต่สำหรับการต่อที่อยากแนะให้เล่นก็คือ ให้ถอดลิงก์ที่เชื่อมขั้วบวกหลังลำโพงออกเพียงอันเดียวเท่านั้น ส่วนลิงก์ลำโพงขั้วลบไม่ต้องถอดออกแต่อย่างไร ให้คงเอาไว้เช่นเดิม เหตุผลเพื่อให้ขั้วลบเป็นจุดอ้างอิงเฟสของสัญญาณที่ออกมาจากแอมป์
สายลำโพง C3 BiWire
จากเทคนิคการต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ของฮิตาชิ ซึ่งได้ชูเทคนิค Tri-Point Bi-Wire โดยที่ลักษณะของสายลำโพงเป็นแบบซิงเกิ้ล-ไบไวร์ แต่ปลายสายด้านต่อกับขั้วลำโพงจะมีสายให้ 3 เส้น โดยที่ขั้วบวกมีสองเส้น ขั้วลบมีเพียงเส้นเดียว และในชุดนี้จะมีลิงก์ขั้วลำโพงให้อีก 1 ชุดเพื่อเชื่อมระหว่างขั้วลบลำโพง (LF) กับขั้วลบลำโพง (HF) หลักการนี้คือ การต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ที่ให้เสียงออกมาดีที่สุด ดีกว่าการต่อสายลำโพงไบไวร์แบบเดิมๆ การต่อแบบ Tri-Point/Bi-Wire จะทำให้เฟสของสัญญาณดีขึ้นและทำให้คลื่นเสียงที่เดินทางจากลำโพงมายังตำแหน่งนั่งฟังมีเฟสของสัญญาณที่ดีขึ้นเช่นกัน
สายลำโพง C3 BiWire ผลิตขึ้นมาบนพื้นฐานความเข้าใจว่า สิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดคืออะไร เมื่อเทคนิคดี แล้วใส่คุณภาพเข้าไปอีก จึงทำให้สายลำโพง C3 BiWire โดดเด่นกว่าสายลำโพงยี่ห้ออื่นทุกยี่ห้อเลยทีเดียว
ตัวสายลำโพงของ C3 BiWire ใช้ทองแดง PC-OCC 5N ผ่านการไครโอเจนิก ขั้วต่อสายลำโพงก็ใช้วัสดุที่ทำจากเบริลเลียมคอปเปอร์ชุบแพลตตินัมและผ่านกระบวนการไครโอเจนิกเช่นกัน
ส่วนปลายสายอีกด้านซึ่งเป็นด้าน Bi-Wire/Tri Point นั้น ขั้วต่อจะเห็นว่าแตกต่างจากยี่ห้ออื่นๆ เพราะใช้ลวดเงินพาราด็อก ซึ่งเป็นเงินบริสุทธิ์ชุบแพลตตินัมเช่นเดียวกัน การเชื่อมต่อสายจะใช้อัลลอยเป็นตัวเชื่อม ซึ่งไม่มีตะกั่วใดๆ ทั้งสิ้น ฉนวนหุ้มสายทั้งหมดเป็นแบบ Non Magnetic Mylar คือป้องกันการกวนทางสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างดีเยี่ยม
ชุดลิงก์ขั้วลำโพงถือได้ว่าเป็นลิงก์ขั้วลำโพงที่มีคุณภาพสูงมากที่สุดในท้องตลาด ณ ขณะนี้ เพราะความต้านทานของลิงก์ขั้วลำโพงมีค่าต่ำมากๆ เมื่อใช้ลิงก์นี้เชื่อมระหว่างขั้วลำโพงขั้วลบหลังลำโพง ก็จะทำให้เสมือนว่าขั้วทั้งสองคือจุดเดียวกันนั้นเอง
ถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ลิงก์ขั้วลำโพงจึงมีความต้านทานที่ต่ำมากๆ นั่นก็คือคุณภาพของวัสดุนั้นเอง แกนกลางของลิงก์ทำมาจากวัสดุที่เรียกว่า Quantum Gold และสายลำโพงที่เป็นเงินบริสุทธิ์เป็นสายแบบแกนแข็งจำนวน 6 เส้น จัดการเรียงตัวในลักษณะควอนตัม ลิงก์ชุดนี้ผลิตด้วยมือทั้งหมด ขั้วต่อสายทั้งสองด้านก็ใช้วัสดุเดียวกับตัวสายลำโพง
ในแง่ของวัสดุนั้น ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน ผมยังไม่เห็นสายลำโพงยี่ห้อใดที่ใส่ใจและเลือกเฟ้นในวัสดุในคุณภาพต่างๆ เหมือนสายลำโพง C3 BiWire เลย
คุณภาพเสียง
ในการทดสอบครั้งนี้ ผมใช้อินทิเกรตแอมป์ Audiospace Mini Galaxy เป็นหลัก เนื่องจากเงื่อนไขตรงตามสเปกของสายลำโพงทุกอย่าง ส่วนลำโพงนั้นสลับทดลองถึง 3 คู่ด้วยกัน คือ… Quad 22L, Quad S-1 และ Opera Prima ซึ่งที่ผ่านมาผมใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ขนาด 1.5 sq.mm มาตลอด แต่หลังจากที่ได้ปลดสายลำโพงชุดเดิมออก แล้วแทนที่ด้วยสายลำโพง C3 BiWire/Tri-Point เสียงเพลงที่เคยได้ยินก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ได้ยินเสียงอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
เริ่มต้นด้วยเสียงที่ได้ยินจาก Quad 22L ต้องบอกว่าให้คุณภาพเสียงเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ ปกติกับลำโพง Quad 22L ผมจะบิดโวลุ่มที่อินทิเกรตแอมป์ Audiospace Mini Galaxy โดยประมาณ 9 โมงนิดๆ และจะคาโวลุ่มที่ประมาณนี้ไว้ตลอด ถึงแม้ว่าจะปิดเครื่องแล้วก็ตาม
อย่างแรกที่ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงก็คือ ที่ระดับโวลุ่มเท่าเดิม เพลงเดิมๆ แต่พลังของความถี่ต่ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าแปลกใจทีเดียว คลื่นพลังความถี่ต่ำที่เดินทางมาตำแหน่งนั่งฟัง ผมรู้สึกได้ถึงมวลที่มีมากยิ่งขึ้น หัวเสียงของเบสรู้สึกใหญ่ขึ้น แน่นขึ้น มีมวลมากยิ่งขึ้น และบรรยากาศที่ถ่ายทอดออกมาจับต้องได้ว่าแผ่ออกมามากกว่าเดิม
เมื่อเสียงหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาอย่างนี้ ผมก็เริ่มขยับลำโพงอีกเล็กน้อยเพื่อรองรับเรนจ์เสียงที่ให้ออกมากว้างกว่าเดิม ที่ต้องขยับก็เนื่องจากว่า เมื่อซิสเต็มทำให้ประสิทธิภาพของลำโพงมีมากยิ่งขึ้น เมื่อฟังเพลงจากแผ่นซีดีของค่าย Naim ชุด Meet Me In London แล้วรู้สึกว่าตรงกลางๆ แน่นๆ นิดหน่อย จึงต้องขยับลำโพงออกมาเพื่อให้ฟังแล้วโล่งโปร่งมากยิ่งขึ้น
จากแผ่นซีดี Meet Me In London เพลง Caruso เสียงกีตาร์ต้นเพลงให้มวลเสียงเข้มข้นกว่าเดิม หนักแน่นมากขึ้น เหมือนนักดนตรีกดเส้นกีตาร์ด้วยน้ำหนักที่มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลขนาด 1.5 sq.mm หัวเสียงกีตาร์จะนุ่มกว่านี้ ถามว่าเมื่อเปลี่ยนสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นมาเป็น 2.5 sq.mm เนื้อเสียงแค่เพิ่มขึ้น แต่หัวเสียงไม่ได้แน่นเข้มข้นอย่างกับที่ใช้สายลำโพง C3 BiWire เส้นนี้
สิ่งที่แตกต่างออกไปอีกก็คือ เสียงร้องของ Sabina ซึ่งฟังดูว่าใสขึ้น มีรายละเอียดในเสียงร้อง ซึ่งฟังดูแล้วชัดเจนมากกว่าก่อน เรนจ์เสียงที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นทำให้รู้สึกว่าภาคขยายของ Audiospace ทำงานได้สบายมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนผมจะปรับปุ่ม NF ขึ้นมาสองสเตป แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้สายลำโพง C3 BiWire ผมปรับปุ่ม NF บนอินทิเกรตแอมป์ Audiospace ไปที่ตำแหน่ง Min เพราะการควบคุมของอินทิเกรตแอมป์ทำได้ดีกว่าเดิม
อย่างที่ผมบอกไว้ก่อนหน้านี้ สายลำโพงถูกเลือกโดยแอมป์ เมื่อใช้สายลำโพงที่แม็ตช์กับแอมป์ เราจะได้ยินถึงประสิทธิภาพของแอมป์มากยิ่งขึ้น
แผ่นซีดี Concord Chamber Music Society สังกัดค่าย Reference Recordings สำหรับซีดีแผ่นนี้ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของสายลำโพง C3 BiWire ค่อนข้างมากทีเดียว อย่างแรกที่ขอชมเชยคือ C3 BiWire ช่วยให้เสียงลำโพงหลุดตู้มากยิ่งขึ้น คือแทบไม่ได้รู้สึกว่าเสียงดังมาจากตู้ลำโพงเลย ไม่ว่าจะใช้ Quad22L, Quad S-1 หรือแม้แต่ Opera Prima ก็ตาม ลำโพงทุกคู่ที่ได้นำมาลองเล่นกับ C3 BiWire ให้เสียงออกมาหลุดตู้ทั้งหมด คือค่อนข้างแปลกใจว่า แค่สายลำโพงก็สามารถสร้างความแตกต่างและคุณภาพของเสียงได้ถึงขนาดนี้เชียวเหรอ
เพราะก่อนหน้านี้ เวลาต้องการให้กำลังขับของแอมป์มากยิ่งขึ้น ขับลำโพงได้มากขึ้น ผมจะเล่นที่สายไฟเอซี ไม่ได้เปลี่ยนสายลำโพง เพราะที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีสายลำโพงอะไรที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับสายลำโพง C3 BiWire เลย
เมื่ออินทิเกรตแอมป์ Audiospace Mini Galaxy ใช้สายไฟคุณภาพดีอย่าง Supreme Living Power และสายลำโพง C3 BiWire ก็ได้สร้างคุณภาพเสียงออกมาอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว
เสียงที่ได้ยินคือ เปิดโปร่งและโล่งมากขึ้น หัวเสียงในแต่ละเครื่องดนตรีมีความชัดเจน ให้ความเป็นตัวตนของแต่ละเสียงได้ดีมาก เรนจ์เสียงกว้าง รายละเอียดของเสียงต่างๆ ให้ความแตกต่างกันค่อนข้างมากและชัดเจน เวทีเสียงกว้างและลึกมากขึ้น ยิ่งเป็นช่วงที่ดนตรีโหมขึ้นมาหลายๆ ชิ้น มิติโฟกัสของเสียงยังให้ความเป็นตัวตนของเสียงได้นิ่ง ไม่ได้ให้เสียงที่ซอฟต์ลง เพราะหลายครั้งรู้สึกว่าหัวเสียงจะซอฟต์ลง ย่านความถี่เสียงสูงก็ไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น การควบคุมเสียงต่างๆ ควบคุมได้นิ่งมากขึ้น
น้ำหนักเนื้อเสียงเป็นอะไรที่น่าชื่นชมมากทีเดียว หลายท่านอาจจะคิดว่า ลำโพงตั้งพื้นย่อมให้เนื้อเสียงออกมาดีอยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนมาเป็นลำโพง Quad S-1 ซึ่งใช้กรวยมิดเรนจ์/เบสยูนิตขนาด 4 นิ้ว ถามว่าเคยฟังกรวยลำโพงขนาด 4 นิ้วที่ให้เสียงใหญ่ไหมครับ ลองฟังเสียงจากเพลงของ Kenny G ดูก่อนนะครับ จากลิงก์นี้ครับ – > https://youtu.be/gbI5DJ-9idc
เสียงที่ได้ออกมาใหญ่และมากด้วยคุณภาพขนาดนี้ ก็มาจากสายลำโพง C3 BiWire อย่างแท้จริง เพราะเมื่อเปลี่ยนสายลำโพงเป็นแบบเก่าที่ผมเคยใช้นั้น สเกลเสียงกลับเล็กลงอย่างน่าแปลกใจ ยิ่งความถี่เสียงสูงก็จะออกไปทางขุ่น ไม่ได้ใสกระจ่างอย่างนี้ เรนจ์เสียงแคบอย่างรู้สึกได้ชัด
สายลำโพง C3 BiWire ทำให้ลำโพงเล็กๆ อย่าง Quad S-1 ให้พละกำลังของย่านความถี่เสียงต่ำออก
มาอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว นั่นหมายความว่า สายลำโพงสามารถทำให้แอมป์ ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราจึงสัมผัสถึงประสิทธิภาพของ ลำโพงได้มากยิ่งขึ้น จนให้สเกลเสียงและมิติเสียงออกมาได้ใหญ่เกินตัวขนาดนี้
ที่น่าประทับใจอย่างมากก็คือ สายลำโพง C3 BiWire ทำให้ลำโพง Quad S-1 หลุดจากสนามเสียงได้อย่างน่ามหัศจรรย์มากๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเสียงดัง ออกมาจากลำโพงเลย ยิ่งเจอทวีตเตอร์แบบริบบอนแบบนี้ เสียงแหลม แตกรายละเอียดออกมาได้อย่างระยิบระยับมากๆ
สายลำโพง C3 BiWire คือสายลำโพงที่นักเล่นต้องมี
ในอดีตเราไม่เคยมีสายลำโพงชนิด To Die For มาก่อน แต่วันนี้ผมกลับ เจอสายลำโพงเส้นนั้นเรียบร้อยแล้ว หากคุณผู้อ่านเป็นนักเล่นที่ชื่นชอบ ในเสียงของแอมป์หลอดที่มีกำลังขับต่ำกว่า 60 วัตต์ ใช้ร่วมกับลำโพง ซึ่งมีขั้วลำโพงแบบไบไวร์ สายลำโพง C3 BiWire คือสายลำโพง to Die For ที่ต้องมีเลยครับ
สายลำโพง C3 BiWire ทำให้เสียงที่เคยได้ยินแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง สามารถสัมผัสถึงคุณภาพของแอมป์และลำโพงที่ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น อย่าถาม ว่าบุคลิกของสายลำโพงเป็นเช่นไร แทบไม่มีเลย เพราะบุคลิกของเสียงที่ได้รับ คือบุคลิกเสียงจากแอมป์ที่ใช้งานและลำโพงที่มีอยู่อย่างแท้จริง สายลำโพง C3 BiWire คู่นี้คือสายลำโพงที่นักเล่นครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมี แล้วคุณจะลืม สายลำโพงยี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาดโดยสิ้นเชิง. ADP
ราคา 79,000 บาท
ผลิตและจัดจำหน่ายโดย C3 Exclusive โทร. 081-659-3982
No Comments