ACOUSTIC ZEN KRAKATOA
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
Robert Lee เจ้าของและวิศวกร หัวหน้าทีมแห่ง ACOUSTIC ZEN ทำสายเคเบิลขายมาเกือบ 30 ปีแล้ว สายยี่ห้อนี้ดังพอสมควรในสหรัฐอเมริกา ขนาดที่ได้รับรางวัล “ผลิตภัณฑ์แนะนำ” จากนิตยสาร STEREOPHILE ในปี ค.ศ. 1998 นายลี คนนี้ นอกจากแกเป็นวิศวกรแล้ว แกยังประกาศต่อสาธารณะหน้าตาเฉยอีกว่า แกเป็นคนโรแมนติกนะยะ พิสูจน์ได้จากภาพที่แกเล่นเปียโนและไวโอลิน
หลักการออกแบบสายเคเบิลของแกนั้นต้องการได้ผลลัพธ์คือ ให้ลูกค้าได้ฟังคอนเสิร์ตที่บ้าน!!! สาย ACOUSTIC ZEN ทุกเส้นประกอบ + เข้าหัวด้วยมือ ผ่านการทดสอบด้วยการฟังจริง ก่อนที่จะออกสู่ตลาด พอสายเริ่มขายดี พ่อเจ้าประคุณ Lee ก็เริ่มผลิตลำโพงไฮเอ็นด์ตั้งพื้นออกมา ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ว่าเสียงดีมาก และราคาก็ High ด้วยเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอ… ปัจจุบัน ACOUSTIC ZEN เริ่มมาผลิตเพาเวอร์แอมป์ออกมาขายอีกด้วย นับว่าเป็นการเจริญเติบโตที่น่าประหลาดใจ เพราะในยี่ห้ออื่นนั้นเห็นแต่ทำลำโพง แล้วไปทำแอมป์เสียมาก เนื่องจากหาแอมป์มาขับลำโพงของเขาให้เสียงดียาก เลยต้องผลิตเองเพื่อขายคู่ลำโพงซะเลย แต่ที่ทำสายเคเบิลอยู่ก่อน แล้วเพิ่มไลน์การผลิตไปสู่ลำโพงและแอมป์ ไม่ค่อยจะเจอะเจอครับท่าน
บอกตามตรงว่า ผมไม่เคยสัมผัสกับ ACOUSTIC ZEN มาก่อนเลยครับ พรรคพวกเพื่อนฝูงก็ไม่มีใครใช้สายยี่ห้อนี้ บทความรีวิวที่เมืองนอกเท่าที่ลองค้นคว้าดูก็ไม่ได้ให้ความรู้ทางเทคนิคหรือสเปกของสายในเชิงลึกมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะหัวท้ายของสาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราท่านก็รู้ว่า มันมีผลต่อเสียงมาก ไม่บอกว่าเป็นยี่ห้ออะไร รู้อยู่อย่างเดียวว่า สายไฟรุ่น KRAKATOA มีขายมา 16 ปีแล้ว เออ… ถ้ามันไม่ดีจริงคงไม่อยู่มาได้นานขนาดนี้
รูปลักษณ์ของสาย ด้านนอกหุ้มฉนวนหนังงูสีดำมองเห็นว่าตัวนำที่อยู่ภายในมีการตีเกลียวกันหลวมๆ ตลอดเส้น วัสดุที่ใช้เป็นตัวนำคือ ทองแดงบริสุทธิ์ 6N Zero-Crytal (ผลึกเดี่ยว) ขนาด 9 AWG ฉนวนชั้นนอกและชั้นในเป็น PE คุณภาพสูง หัวปลั๊ก-ท้ายปลั๊กชนิด IEC สามขา ทรงกระบอก ตัวบอดี้ทำด้วยพลาสติกเนื้อเหนียวสีดำขาปลั๊กชุบทอง ตัวสายให้ตัวได้ดี น้ำหนักกลางๆ ไม่หนักไม่เบาจนเกินไป
แหม… พอเจอสายถักไขว้ลักษณะนี้ มันอดไม่ได้ที่จะนึกถึง XLO แต่ยี่ห้อนั้นใช้ตัวนำที่เป็นทองแดงแกนเดี่ยวแข็งโป๊กเลย คุณลักษณะของเสียงก็ต่างจาก ACOUSTIC ZEN อยู่มากด้วย เพราะฉะนั้น จงอย่านำมาเปรียบเทียบกันให้เสียเวลาเลยครับท่าน
ในการทดสอบ ผมมีสายไฟคู่เปรียบเทียบซึ่งผมคุ้นเสียงมาก ที่สุด คือ JPS: KAPTOVATOR เป็นตัว Benchmark ซึ่งอุปกรณ์ ที่เสียบสายไฟทดสอบครั้งนี้คือ ทรานสปอร์ต ESOTERIC: P-70 และในคาบหลังได้สลับไปเสียบฟังกับอินทิเกรตแอมป์ ROTEL 1520 TINN ผมว่าได้ผลลงตัวมากกว่า เนื่องจากมันเป็นแอมป์เล็ก ที่แปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซย่าแล้ว พวกสายไฟสายสัญญาณที่นำมา ใช้งานด้วยควรจะมีบุคลิกติดตัวให้น้อยที่สุด
เริ่มต้นด้วยดุลน้ำเสียงอันเป็นบุคลิกโดยรวมก่อน สายไฟ ACOUSTIC ZEN: KRAKATOA มีลักษณะสุภาพ เบสใหญ่ลงลึก โดยมีจังหวะโรลออฟพอดีๆ ไม่รู้สึกว่าขาด เสียงกลางอิ่มอุ่นครับ มีอะไรคล้ายกับสาย CARDAS ยุคดั้งเดิมอยู่มากสำหรับเสียง ในย่านนี้ ความต่อเนื่องระหว่างย่านเสียงเป็นอะไรที่น่าชมเชย มันลื่นไหล ฟังแล้วไม่มีขาดตอน เรียกง่ายๆ ว่า ไม่ห้วนแบบสายไฟ DIY หลายๆ เส้นที่ฟังแยกส่วนแล้วอาจจะมี แต่พอฟัง รวมๆ กลับขาดความต่อเนื่องอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นดนตรีไป เสียงแหลมของสายไฟ KRAKATOR มีความละเอียดครบถ้วน ไม่เจิดจ้า ปิ๊งปั๊งมากมายนัก แต่เป็นแหลมที่ฟังสบาย ไม่สดจัดกัดหูเลย ฟังนานๆ ได้โดยที่ไม่มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือต้องฝืนใจฟัง
อิมแพ็คหัวโน้ตรุนแรงสะใจ กระแทกกระทั้นออกมาได้ แบบไม่มีออมมือครับ จังหวะถูกต้องไม่ช้า-ไม่เร็ว มีหางเสียงต่ำพอประมาณ ไล่ขึ้นไปหากลางต่ำไม่พบว่าขาดแคลนแต่อย่างใด สำหรับเสียงร้องชายและหญิงฟังสบายหูมากๆ ผมว่าสายไฟเส้นนี้ น่าจะเหมาะกับแอมป์โซลิดสเตต หรือแอมป์หลอดพุชพูล ที่จังหวะคึกคักแหลมใสๆ หน่อย น่าจะแม็ตช์กันลงตัวคับ การเว้นวรรค ช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีไม่กว้างมากนัก อิมเมจขึ้นรูปเป็นภาพขนาดใหญ่ ไม่โฟกัสเป๊ะเวอร์จนขึ้นขอบอะไรแบบนั้น มันให้อารมณ์เหมือนเวลาที่เราไปนั่งฟังดนตรีอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์มากกว่า คือพอจับได้ว่าเสียงดังมาจากขวา ซ้าย หน้า หลัง แบบเป็นกลุ่มๆ มิได้เน้นขึ้นรูปเป็นจุดๆ เจาะจงลงไป ส่วนเวทีเสียงนั้น กว้างขวางยืดตัวออกไปทางข้างได้อย่างน่าพอใจ
แอมเบี้ยนต์รอบๆ ตัวโน้ตเป็นอีกสิ่งที่สายเส้นนี้ให้ออกมาได้ดีครับ ตามธรรมเนียมของสายไฟราคาเกินหมื่นบาทขึ้นไปแล้ว ถ้าหากแอมเบี้ยนต์ไม่มี ให้บรรยากาศของการบันทึกเสียงออกมาไม่ได้ ผมว่าสายไฟเส้นนั้นสอบตกครับ สิ่งเดียวที่ผมอยากจะ ให้ ACOUSTIC ZEN: KRAKATOA เติมเข้าไปในสายไฟของเขา คือ “ความฉ่ำ” หรือประกายกังวานของเสียงแหลมบนๆ เช่น เครื่องเคาะโลหะ เสียงแฉของกลองชุด เสียงเขย่าแทมโพลีน คือมันฟังแล้วนุ่มหูไปหน่อย ซึ่งถ้าเปลี่ยนหัวปลั๊กเป็นรุ่นชุบโรเดียม หรือเงิน น่าจะเรียบร้อย ไร้ข้อกังขาใดๆ
ACOUSTIC ZEN ABSOLUTE COPPER
สายสัญญาณรุ่น RCA หัวแจ๊คล็อกได้ ราคาปานกลาง หน้าตาสวยงาม โครงสร้าง จัดว่ามีความพิเศษคล้ายกับสายราคาเหยียบแสนบางยี่ห้อ นั่นคือ ตัวนำทำด้วยทองแดง ผลึกเดี่ยว (Zero-Crytal) รีดเป็นแผ่นบางแล้วตีเกลียวยาวมาตลอดทั้งเส้น แกนกลาง เป็นท่อฉีดโฟม ฉนวนเทฟล่อนไม่ใช่ PE โครงสร้างของสายได้รับการจดสิทธิบัตรไว้ เรียบร้อยแล้วครับ
สายเส้นนี้ต้องการระยะเวลาในการเบิร์นอินเกินกว่า 100 ชั่วโมง แรกๆ ที่เสียบใช้งาน คุณจะรู้สึกเฉยๆ กับมัน ไม่มีอะไรที่โดดเด่น หรือเตะหูออกมาในแว้บแรกเลย ต่อเมื่อล่วง พ้นชั่วโมงที่ 70 ไปแล้ว ความพิเศษของ ACOUSTIC ZEN ABSOLULUTE COPPER จึงจะ ฉายแววออกมาให้สัมผัสกัน รักแล้วต้องรอหน่อยครับ… แฮ่ม
บอกตามตรงเลยว่า ผมเคยฟังสายที่มีโครงสร้างแบบบิดเกลียว และใช้ตัวนำเป็นแผ่นบางแบบนี้ มีทั้งที่เฉยๆ และที่ฟังแล้วรู้สึกว้าว! ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมมันช่าง แตกต่างกันขนาดนั้น คิดเอาเองว่า คงจะเป็นด้วยการบิดตัวของเกลียวและฉนวนที่มีผล ยกตัวอย่าง สายนำสัญญาณ ZENSATI ที่ราคาค่าตัวฟังแล้วขนลุกก็ใช้ลักษณะแบนๆ บิดเป็นเกลียว แต่ความพิเศษอยู่ที่ฉนวนเป็นอากาศจริงๆ ราคาเลยสุดลิ่มทิ่มประตู เสียงของมันก็ต้องยอมรับว่า “แรง” จริงๆ แต่สาย ACOUSTIC ZEN นี้ สนนราคา อยู่ในราคาจับต้องได้ ไม่ถึงกับต้องทุบกระปุกอดมื้อกินมื้อมาซื้อใช้ครับ แค่งดกินอาหาร ตามร้านหรู หรือหยุดเข้าค็อกเทลเล้านจ์ซักเดือนหนึ่ง ก็จัดได้แล้วครับ
บุคลิดโดยรวมของ ABSOLUTE COPPER จัดเป็นสายที่อยู่ในวรรณะ “เย็น” อย่างแน่นอน ดุลน้ำเสียงมีความเสมอสมาน และรู้สึกว่าถูกควบคุมไม่ให้มีการแตกแถว หรือรีบร้อนผลีผลามอย่างเด็ดขาด ที่น่าแปลกใจคือ ปกติสายนำสัญญาณที่มีบุคลิก เสียงแบบนี้ มักจะมีรูปวงในแบบที่ตรงกึ่งกลางจะถอยร่นเข้าไปทางลึกคล้ายๆ กับ การกลับเฟส แต่สำหรับ ABSOLUTE COPPER กลับรักษาระดับรูปวงไว้ได้อย่างที่ ควรจะเป็นอิมเมจ ณ บริเวณกึ่งกลางยังตรึงตำแหน่งอยู่หน้าบริเวณที่เป็นพื้นหลัง เอาไว้ได้อย่างเป็นสามมิติ
เสียงทุ้มมีหัวโน้ตกลมมนอัดออกมาเป็นลูกใหญ่ๆ หนักและลึก ทว่ารายละเอียด ของการดีดสายเบสจะอ่อนไปนิดๆ ซึ่งถ้าไม่ฟังจับผิดจริงจังแบบสุนัขขุดหากระดูกแล้ว แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย ตรงกันข้ามในชุดเล็กที่รู้สึกว่าแหลมดีแต่เบสบางบาง การใช้ สายชุดนี้กลับจะช่วยเติมเต็มความรู้สึกเช่นว่าให้กลับมาตูมตามได้ โดยเฉพาะมิดเบส ที่ถือว่าโดดเด่นได้เลยครับ ต่อเนื่องไปจนถึงเสียงในย่านกลาง-ต่ำไม่ผิดหวังเลย สาย ACOUSTIC ZEN ABSOLUTE COPPER ถ่ายทอดเสียงเชลโลและนักร้องชาย ปอดใหญ่ออกมาได้อย่างน่าฟัง มีมวลอันอิ่มหนา และมีประกายกังวานรอบๆ ตัวโน้ต อันทำให้ฟังแล้วชุ่มฉ่ำต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี เสียงกลางชัดเจนครับ มีรายละเอียดครบเครื่องทั้งเสียงหลักและฮาร์โมนิก สามารถแยกแยะเสียงเครื่องสายที่เล่นในโน้ต เดียวกันอย่างไวโอลิน วิโอลา หรือเชลโล ได้ไม่มั่วซั่วจนฟังเป็นอย่างเดียวกันหมด เสียงแหลมขึ้นได้สูง ฟังสบาย ทอดหางออกไปได้ แต่ไม่ทิ้งประกายเอาไว้ยาวนานสักเท่าไร
ส่วนเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือไดนามิกนั้น สวิงได้อย่างเป็นอิสระ ไม่มีอากาศอั้นตื้อเลย สมกับเป็นสายสัญญาณชั้นดี ส่วนคอนทราสต์หรือการย้ำหนักเบาอ่อนแก ลีลาของ ABSOLUTE COPPER จะออกแนวสุภาพชน ไม่ใส่จริตจะก้านลงไปมากนัก คุณสมบัติ เกี่ยวกับมิติเวทีเสียงและอิมเมจ เกือบๆ จะไร้ที่ติ คงมีมิติด้านลึกที่ลดความชัดเจนลงมา ไม่ชัดเป๊ะตลอดจนทั่วปริมณฑลเวทีที่มันเสนอออกมา
ที่จริงผมยังเหลือสายลำโพงของ ACOUSTIC ZEN ที่ยังไม่ได้ฟังทดสอบ แต่จาก สองผลิตภัณฑ์ที่ได้ฟังมาร่วมเดือน คือ สายไฟและสายสัญญาณรุ่นกลางๆ ผมพอจะ จับแนวทางบุคลิกของสายยี่ห้อนี้ออกมาได้ มันเป็นสายที่มีความเป็นผู้ใหญ่หน่อย สุขุมรอบคอบ เอาใจใส่ในรายละเอียด ลีลาสุภาพ (แต่ไม่ถ่อมตน) บทจะแรงก็แรง บทจะค่อยก็ค่อย ทุกๆ อากัปกิริยาดำเนินอยู่อย่างถูกต้องตามกาลเทศะ ที่สำคัญคือเป็น มิตรกับซิสเต็มเครื่องเสียง ไม่ต้องปวดหัวว่าเสียบลงไปแล้วจะไม่แม็ตช์กันครับ. ADP
เป็นสายที่มีความเป็นผู้ใหญ่หน่อย สุขุมรอบคอบ เอาใจใส่ในรายละเอียด ลีลาสุภาพ
ACOUSTIC ZEN: KRAKATOA ราคา 39,500 บาท
ACOUSTIC ZEN: ABSOLUTE COPPER ราคา 73,500 บาท
จัดจำหน่ายโดย
บริษัท วันพัฒน์ (59) จำกัด โทร. 0-2175-2933-4
ZENSONICE WHITE FAIRY JUMPER
จั๊มเปอร์ หรือที่คล้องขั้วต่อสายลำโพงไบไวร์ ให้เป็นซิ้งเกิ้ลไวร์ ท่านที่เป็นนักเล่นเครื่องเสียง แก่พรรษาสักหน่อยจะทราบว่า จั๊มเปอร์ที่ติดลำโพงมาจากโรงงานน่ะ ส่วนมากเป็นเส้นโลหะชุบทอง คุณภาพสู้เอาสายลำโพงขนาดเล็กมาตัดใช้แทนยัง ไม่ได้เลย ปัจจุบันมีผู้ผลิตสายลำโพงระดับไฮเอ็นด์ ผลิต Jumper ออกมาขายกันเป็นเรื่องเป็นราว เช่น Nordost, JPS, Zensati สนนราคาก็ไม่เบา เสียด้วยครับ
คำถามคือ แล้วไอ้ลำโพงที่ผลิตออกมาให้มีขั้วต่อแบบ bi-wire น่ะ ทำไมไม่ต่อสายแบบ bi-wire ไปซะ มันน่าจะดีกว่าเล่น Single wire ไม่งั้นเขาจะทำออกมาทำไม(วะ) ผมสงสัยมา 20 ปีแล้ว พยายามหาคำตอบด้วยการลองฟังเทียบระหว่าง Single v.s. Bi-wire มันมีได้มีเสียกันคนละอย่าง เช่น 1. การเล่น ซิงเกิลไวร์ ประหยัดกว่า!!! 2. Single wire ให้ความ ต่อเนื่องลื่นไหลที่ดีกว่า การเชื่อมต่อของชิ้นดนตรีต่างๆ ดูเหมือนจะดีกว่าด้วย 3. แต่ Bi-wire ให้เวทีเสียงที่ กว้างขวางกว่า 4. Bi-wire เว้นวรรคช่องว่างช่องไฟ ระหว่างชิ้นดนตรีได้ดีกว่า 5. Bi-wire ฟังแล้วรู้สึกได้ ถึงความปลอดโปร่งเป็นอิสระ ในขณะที่สเกลชิ้นดนตรี อาจจะไม่ solid มาก
เดี๋ยวนี้มีลำโพงเล็กใหญ่ที่ทำออกมาเป็น Bi-wire เยอะแยะมาก พอไปพิจารณาจั๊มเปอร์ที่ติดมาให้จากโรงงาน ยังไม่ต้องฟัง แค่มองดูด้วยตาก็เดาออกว่า เสียงไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว เนื่องจากความห่วยของวัสดุ Jumper ของนอกที่ทำขายกันแบบสำเร็จรูป ที่ผมว่า ราคาสมเหตุสมผลหน่อยเห็นจะมี INAKUSTIK หรือขยับไปเป็น JPS นี่ก็เยี่ยมแล้ว เห็นมี Zensati อาละวาดอยู่พักหนึ่ง เสียงดีจริงครับ แต่ราคาฟังแล้ว ขนหัวลุก!!! อะไรจะแพงขนาดนั้น
พอทราบว่ามีคนไทยทำ Jumper คุณภาพสูงออกมา ผมไม่รอช้าที่จะขอยืมมาทดสอบกับลำโพง สามคู่ คือ… Revolver: RW-16, Quad: 11L และ Triangle: Delta ผลที่ได้รับน่าประทับใจมากครับ แถมคุณยังสั่งชนิดขั้วต่อเป็น Banana หรือ Spade ให้เหมาะกับการใช้งานได้ด้วย
Jumper ของ Zensonice มีสีขาว ขั้วต่อจะชุบ โรเดียมมาเรียบร้อย เมื่อเปลี่ยนลงไปแทนตัวจั๊มเปอร์ ที่มาจากโรงงาน ผมให้ระดับความเปลี่ยนแปลงดีขึ้น อีก 15% ผมสงสัยมากว่า ยี่ห้อนี้ใช้ตัวนำยี่ห้ออะไร มาทำได้รับข้อมูลที่ยิ่งทำให้ทึ่งมากขึ้นไปอีก นั่นคือ ตัวนำเป็นสายทองแดงจุ่มน้ำมัน รอจนแห้งสนิท แล้วจึงนำมาถักไขว้ด้วยสูตรเฉพาะ หุ้มด้วยฉนวนชั้นใน เป็นใยฝ้ายบริสุทธิ์ แล้วจึงพันทับอีกชั้น ละมีชีลด์ ด้านนอก โหย… ไม่ได้ทำมั่วๆ นะครับ ตอนที่คุณไป สั่งซื้อน่ะ คุณแหลม ผู้ผลิตจะถามก่อนเลยว่าเอาไป ใช้กับลำโพงอะไร แล้วเขาจะคำนวณให้ว่า หน้าตัด และความยาว หรือการถักไขว้ ควรจะทำออกมาในลักษณะไหน ถึงจะเหมาะสมกับลำโพงคู่นั้นมากที่สุด หูย… เซอร์ไพรส์อีกแล้ว
เสียงที่ Zensonice ให้ออกมาได้คือ มวลเสียง อิ่มเอิบ มีประกายกังวานเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจมาก การทอดหางเสียงพลิ้วไหวไปได้สุดทางจริงๆ เหมือน จะทอดเวลาในการคงตัวในอากาศให้กับลำโพงได้ยาวนานขึ้น สิ่งที่จะทำให้คุณพอใจแน่ๆ คือ เบสกระทุ้ง ออกมาใหญ่และหนักมากขึ้นชนิดที่สะใจ ในขณะที่ช่วยลดความกระด้างของเสียงลงมาได้ในระดับหนึ่งด้วย ผมคิดว่าใครได้ลองสักชุดหนึ่งแล้วจะต้องมีชุดที่สอง สามตามมาแน่ๆ ขอเพียงคุณเปิดใจยอมรับของไทยเท่านั้น ใน Facebook ของเขาดูได้ มีทั้งสายลำโพง +สายสัญญาณด้วย. ADP
ราคา 7,500 บาท
ผลิตและจำหน่ายโดย Zensonice โทร. 081-446-7141
นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 245
No Comments