ธีรวัฒน์
ธีรวัฒน์ โชติสุต 

Acoustic Zen Cable ทำให้ผมนึกถึงรายการ The Voice เวลาโค้ชท่านอื่นๆ นึกชอบ นักร้องซึ่งโดนโค้ชที่ดูแลคัดออก แต่โค้ชท่านอื่นเห็นว่านักร้องที่โดนคัดอออกนั้นยังมีศักยภาพที่พัฒนาได้อีก ก็สามารถกดเลือกนักร้องคนนั้นให้ กลับเข้ามาสู่เส้นทางการแข่งขันได้อีกครั้งเพื่อจะได้ต่อยอดพัฒนาให้ดีขึ้นไปได้อีก 

ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับสายของ Acoustic Zen ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ช่วงระยะเวลาหนึ่ง มาช่วงปีสองปีหลังก็ค่อยๆ เงียบหายไป แต่สายซึ่งมีศักยภาพดีๆ เช่นนี้ ไม่ควรจะร้างลาไปจากวงการเครื่องเสียงในบ้าน เราเร็วนัก ทางบริษัท วันพัฒน์ (59) จำกัด ก็เลย อาสามาปลุกแบรนด์ Acoustic Zen ขึ้นใหม่ อีกครั้งหนึ่ง 

ย้อนภูมิประวัติกันเล็กน้อย Acoustic Zen ก่อตั้งโดย มิสเตอร์ โรเบิร์ต ลี และยัง ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวิศวกรอีกด้วย โรเบิร์ต ลี เป็นนักวิจัยค้นคว้าในการออกแบบสายมานาน หลายสิบปี ตัวเขาเองจึงเข้าใจในเรื่องวัสดุที่จะ เลือกนำมาใช้ในสายต่างๆ รวมถึงโครงสร้างของ สายที่ดีได้เป็นอย่างดี 

สายหลายๆ ยี่ห้อจึงมักมีชื่อของ โรเบิร์ต ลี เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ อย่างเช่น ยี่ห้อ Harmonic Technology หลังจากที่วางจำหน่ายก็ได้รับการ ชื่นชม และได้รับรางวัลมากมายทีเดียว 

Acoustic Zen เป็นอะไรที่แตกต่างออกไป จาก Harmonic Technology เพราะ มิสเตอร์ โรเบิร์ต ลี ต้องการให้สายของ Acoustic Zen ให้เสียงออกมาถูกต้องมากที่สุด โดยมีไดนามิก และอิมแพ็คออกมาอย่างถูกต้อง แต่โครงสร้างระดับราคานั้นจับต้องได้ ไม่ได้แพงเว่อร์จนสุดโต่ง 

Acoustic Zen ยังยึดแนวทางผลิตสายด้วยการประกอบด้วยมือ เมื่อประกอบเสร็จแล้ว ก็ต้องทดลองฟังอย่างละเอียดก่อนที่จะแพ็คส่ง ออกจากโรงงงาน 

โรเบิร์ต ลี กล่าวไว้ว่า การออกแบบสาย นั้นคือศิลปะ เพราะสายคือสิ่งที่ทำให้เราได้ยิน เสียงเพลง สายก็ควรถ่ายทอดทุกอย่างออกไปได้ ถูกต้อง และควรจะเป็นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน 

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น โรเบิร์ต ลี ค่อนข้างให้ความสำคัญกับวัสดุที่ใช้ประกอบในการทำสายอย่างมาก รวมถึงโครงสร้างของสายเช่นกัน ก่อนหน้านี้ โรเบิร์ต ลี เคยนำเสนอถึง Single Crystal ต่อมา โรเบิร์ต ลี พบว่า Zero Crystal ให้การตอบสนองในการเดินทางของสายที่ดีกว่า สูญเสียและเกิดการรบกวนน้อยกว่า 

นอกเรื่องมาเสียเยอะแล้ว ขอกลับมาพูดถึงเรื่องสายของ Acoustic Zen ซึ่งได้รับมาหลายรุ่นทีเดียว แต่ขอพูดถึงสายลำโพงรุ่น Satori, สายนำสัญญาณ รุ่น Absolute Copper และสายไฟเอซี รุ่น Gargantua II กันก่อน 

คำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอๆ ในงบประมาณซึ่งจะต้องซื้อสายลำโพง สายนำสัญญาณ และสายไฟเอซี พร้อมๆ กันถึง 3 เส้น จะต้องเลือกลงทุนในสัดส่วนของสายอะไรก่อนเป็นอันดับแรก 

เรื่องนี้ก็พูดยากเหมือนกัน เพราะ พื้นฐานของสายลำโพงซึ่งมีความยาวมากกว่าเพื่อน ในซีรี่ส์เดียวกัน สายลำโพงมักมีราคาที่แพงกว่า ถ้าถามผมว่าผมจะเลือกอะไร ผมจะเลือกสายไฟเอซี ที่คิดว่าดีที่สุดเท่าที่งบประมาณจะจัดได้เป็นอันดับแรกก่อน เพราะทุกอย่างล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงาน และกระแสไฟฟ้าก็เหมือนกับเส้นเลือด หากเลือดไม่ดีร่างกายก็อ่อนแอ และเลือกใช้กับอุปกรณ์ที่มีความสำคัญก่อน นั่นก็คือ หากอุปกรณ์นั้น มีภาคจ่ายไฟแยกออกมาต่างหากก็จะใช้กับอุปกรณ์ นั้น หรือหากไม่มีก็เลือกอะไรที่มีผลต่อเสียงมากที่สุด หากมีพวก Clock ก็เลือกใช้ที่ Clock ก่อน 

ต่อมาก็จะเป็นสายนำสัญญาณ เพราะถือว่าซอร์สต้นทางคือแหล่งกำเนิดเสียงต้นทาง หากต้นทางเพี้ยนแล้วทุกอย่างก็จะบิดเบือนด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องสายลำโพงนั้น ความสำคัญอยู่ที่การเซ็ตอัพลำโพง การเลือกสายลำโพงให้แม็ตช์กับแอมป์ และการเลือกใช้ขนาดของสายลำโพงให้เหมาะสมกับชนิดและกำลังขับของแอมป์มากกว่า ความสำคัญเลยอยู่ในช่วงท้ายๆ 

สายไฟเอซี Gargantua II

สายไฟเอซีรุ่นนี้ของ Acoustic Zen มีขนาดใหญ่ทีเดียว เพราะตัวนำที่ ใช้มีขนาดถึง 7 AWG เทียบเท่า 10.55 sq.mm ความบริสุทธิ์ของตัวนำ6N การเรียงตัวของตัวนำเป็นในลักษณะ Zero Crystal 

การออกแบบโครงสายไฟรุ่นนี้ช่วยจัดการการรบกวนทางไฟฟ้าจากซอร์สต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะการรบกวนทางไฟฟ้าจะทำให้เกิดการบิดเบือน ทางฮาร์มอนิกส์ และทำให้ไดนามิกของเสียงที่ควร จะได้นั้นดูแออัดไปเสียหมด 

ขอย้ำกันอีกรอบ ถึงแม้ว่า ผมชอบเล่นสายไฟเอซีก็ตาม แต่เวลาเทียบเสียงไม่ได้สลับเปลี่ยนสายไฟเฉยๆ เมื่อไรที่โลว์เบสเปลี่ยน คือความรู้สึกของพลังของคลื่นที่สัมผัสได้เปลี่ยนแปลง และ โน้ตบางโน้ตเปลี่ยนแปลงไป ก็จะขยับลำโพงใหม่ทุกครั้ง ไม่ได้อยู่ที่เดียววางตายตัวแบบนั้น โดยไม่ลองขยับเลื่อนลำโพงเลย เพราะผมไม่ได้ฟังว่าสาย ไหนจะแม็ตช์กับซิสเต็มที่ใช้งาน แต่ต้องการให้สายเปลี่ยนแปลงให้ซิสเต็มมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

สายไฟ Gargantua II จะให้เนื้อเสียงที่มี ความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้มากจนล้นเหมือนการเติมดีกรีของเนื้อเสียงเพิ่มขึ้นมา เป็นข้อดีของสายไฟเอซีเส้นใหญ่ๆ ปริมาณเนื้อเสียงจะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นและฟังดูอบอุ่นไม่ได้มีลักษณะของเสียงที่หยาบกร้านเลย ปกติแล้วสายไฟทองแดงเคลือบเงินนั้นจะมีความใสกระจ่าง แต่น้ำหนักเนื้อเสียงสู้สายพวกทองแดงไม่ได้เลยซึ่งแตกต่างจาก Gargantua II ความใสกระจ่างมาพร้อมกับน้ำหนักของเสียงเนื้อเสียงเข้มข้น ขณะเดียวกันก็มีความสดใสของเสียงด้วยเช่นกัน รายละเอียดของเสียงนั้นเป็นรายละเอียดที่จับต้อง ได้ง่าย แต่ละเสียงมีรายละเอียดของเสียงค่อนข้างมาก ยิ่งเวลาฟังเพลงเก่าสมัยก่อนแล้วรู้สึกว่าเสียง มีความอบอุ่นค่อนข้างมากทีเดียว 

เบสนั้นสัมผัสได้ถึงความหนักแน่นและกระจ่างชัด เติมเต็มในเรื่องอารมณ์เพลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเวลาฟังเพลงพวกคอนเสิร์ตต่างๆ ความถี่ต่ำความโอ่อ่าของสถานที่ซึ่งใช้ในการบันทึกเสียงให้ความรู้สึกที่ชัดเจนมากๆ 

เสียงกีต้าร์และเสียงเปียโน Gargantua II ช่วยให้อิมแพ็คของเสียงชัดเจนขึ้น ฟังแล้วรู้สึก ได้ถึงพละกำลังที่เพิ่มขึ้นมาอย่างพอควรทีเดียว บรรยากาศและฮาร์มอนิกส์ของเสียงหลังจากนั้น ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมาก 

ยิ่งฟังไปเรื่อยๆ อาจไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเด่น แต่เมื่อดูในเรื่องของไดนามิกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น อย่างรู้สึกได้ ช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นดนตรีและ ความมีชีวิตของเสียงอย่างมาก โดยเฉพาะเสียง ทางอะคูสติก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเสียงดนตรี 

ในการบันทึกเสียงนั้น ไมค์ที่ใช้บันทึกจะบันทึกเสียงทุกอย่างเข้ามา รวมถึงคลื่นความถี่ต่ำจากสภาพทางอะคูสติก ไม่ว่าจะเป็นของห้อง หรือ โครงสร้างภายในของเครื่องดนตรีนั้นๆ ความถี่ต่ำพวกนี้ที่บันทึกเสียงได้นั้น บางครั้งไม่ได้เป็นการ ได้ยิน แต่เป็นคลื่นความถี่ต่ำที่รับรู้ได้จากความ รู้สึกของคลื่นพลังงานที่เกิดจากเสียงดนตรี 

Acoustic Zen Gargantua II ช่วยให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น คือนำพาสิ่งที่ขาดหายไปกลับคืนมา ไม่เพียงช่วงความถี่ต่ำเท่านั้น ยังส่งผลถึงระดับพลังงานของคลื่นความถี่กลาง และสูงเช่นกัน 

ฟังเสียงกลองสแนร์หรือเสียงฉาบ ไดนามิก และความฉับไวของเสียงดีกว่าเดิมอีกเยอะทีเดียว แถมยังรู้สึกว่า ความเงียบสงัดของเสียงเพิ่มขึ้นด้วย เช่นกัน เมื่อเสียงสงัดขึ้น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็จะได้ยินอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

หลังจากทดลองใช้งานแล้วรู้สึกไม่ผิดหวังเลย สำหรับสายไฟเอซีเส้นนี้ของ Acoustic Zen โดย ส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบสายไฟซึ่งเป็นสายทองแดง เคลือบเงิน มันจะมีบุคลิกของเสียงบางอย่าง อาทิ ปลายเสียงแหลมที่ออกมาในลักษณะกัดหูนิดๆ แต่ Gargantua II ไม่มีลักษณะของเสียงเช่นนั้นเลย เสียงกลับเนียน มีประกายเสียงและมวลเสียงที่น่าชื่มชมอย่างมากทีเดียว สำหรับตัวนำทองแดง หากความบริสุทธิ์ของตัวนำเยอะๆ พละกำลังของเสียงจะน้อยลงตามไปด้วยนั้น หลักการนี้ใช้ไม่ได้เลยกับสายไฟเอซีของ Acoustic Zen เส้นนี้ 

เนื่องจากตัวนำขนาดใหญ่ จึงไม่แนะนำให้ใช้กับซอร์ส สืบเนื่องจากตัวสายไฟมีขนาดใหญ่ เสียงจะอมเนื้อมากเกินไป แนะนำให้ใช้กับเพาเวอร์แอมป์ อินทิเกรตแอมป์ หรืออุปกรณ์ที่แยกส่วนภาคจ่ายไฟออกมา จะให้ผลของเสียงออกมาดีมากที่สุดครับ 

สายนำสัญญาณ The Absolute Copper 

ถัดมาจากสายไฟเอซีก็มาถึงคิวของสายนำสัญญาณกันต่อ อย่างที่บอกครับในบรรดาเรื่องสายๆ สายนำสัญญาณมักจะเป็นสิ่งที่ผมให้ความ สำคัญเป็นอันดับสองรองลงมาจากสายไฟเอซีเสมอ ไม่เกี่ยวกับราคาสายไฟเอซีจะถูกหรือแพงนะครับ แต่หากว่าสามารถคัดเลือกสายไฟเอซี คุณภาพดีๆ ได้ ผมจะทุ่มงบและให้ความสำคัญสายไฟเอซีมากที่สุดก่อน 

รองลงมาก็เป็นสายนำสัญญาณนี่แหละครับ เหตุผลที่เลือกสายนำสัญญาณรุ่นนี้ของ Acoustic Zen ก็เพราะชื่อรุ่น Absolute Copper ล้วนๆ อย่างที่สองก็คือ ผมชอบหัว RCA ที่เป็นคาร์บอน หุ้มปลอกภายนอกเอาไว้ครับ เพราะการที่ใช้ คาร์บอนเคลือบหุ้มเอาไว้นั้น มักให้เสียงออกมา ดีเสมอๆ โดยเฉพาะเสียงร้อง และเรื่องน้ำหนักของเบส 

ประการต่อมา ผมชอบสายนำสัญญาณที่พันกันเป็นเกลียว (Twisted) โครงสร้างของสายลักษณะนี้จะรับประกันได้อีกอย่างหนึ่งว่า การ รบกวนค่อนข้างต่ำแน่ๆ และลักษณะโครงสร้างพันเป็นเกลียวของสายภายในของสายนำสัญญาณได้มีการจดสิทธิบัตรเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ตัวนำของสายก็ใช้ลักษณะตัวนำแบบ Zero Crystal Ribbon Copper ไม่ว่าจะเป็นสายชนิดไหน ตัวนำแบบ Zero Crystal คือจุดเด่นในสายต่างๆ ของ Acoustic Zen อยู่เสมอๆ และที่สำคัญก็คือ ทุกอย่างยังผลิตด้วยมือทุกชิ้นทุกเส้น

มาถึงเรื่องคุณภาพเสียงกันต่อ

ตั้งแต่ฟังสายไฟเอซีของ Acoustic Zen แล้ว ผมรู้สึกว่า สายของ Acoustic Zen มักให้เสียงร้องที่ถูกต้องและควรจะเป็นเสมอๆ สายไฟเอซีทำให้อุปกรณ์ที่ต่อร่วมใช้งานให้เสียงร้องที่เด่นมาก แต่สายนำสัญญาณยิ่งทำให้เสียงร้องโดดเด่นขึ้นไปอีก 

อย่างแรกก็คือ ช่องว่างระหว่างเสียงร้องและเสียงดนตรี ปกติไม่ว่าจะเป็นการแสดงสดหรือบันทึกเสียงจากห้องบันทึกเสียง เสียงร้องมักจะวางระยะห่างจากเสียงดนตรีแบ็กอัพเสมอ ส่วนตำแหน่งนักร้องสูงหรือต่ำนั้น มักมาจากการเซ็ตอัพลำโพงมากกว่าได้จากสายนำสัญญาณ

Absolute Copper ช่วยถ่างเสียงร้องกับเสียงดนตรีแบ็กอัพให้ออกห่างออกจากกันอย่างมากทีเดียว เพียงแค่ต่อสายนำสัญญาณ Acoustic Zen เข้าไป ทุกอย่างเปลี่ยนเลย โดยไม่จำเป็นต้องขยับตำแหน่งลำโพงอะไรเลย เสียงร้องเหมือนนักร้องจะขยับขึ้นมาด้านหน้ามากยิ่งขึ้น นักดนตรีก็ขยับตำแหน่งร่นลงไปด้านหลังเวทีอีกเล็กน้อย

ฟังเสียงร้องของ Adele ได้อารมณ์ร่วมมากยิ่งขึ้น เสียงกระจ่าง สะอาด ไดนามิกของเสียงมีความหลากหลายและทรงพลังในน้ำเสียงมากๆ เสียงไม่ได้ซ้อนทับจนแยกแยะอะไรไม่ออกมา Acoustic Zen เหมือนสปอตไลต์ที่ช่วยให้ทุกอย่างสว่าง กระจ่างขึ้น เห็นทุกอย่างชัดเจนโดยที่ไม่ได้สว่างจ้าเกินไป ตามชื่อของรุ่นเลยทีเดียว Absolute Copper

เสียงกีตาร์ได้ยินเสียงมวลหนักแน่นเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รายละเอียดโครงสร้างของเสียงกีตาร์แจกแจงได้อย่างเด่นชัด การจางหายไปของเสียงบรรยากาศทางฮาร์มอนิกส์ต่างๆ ครบเครื่องเลยทีเดียว

ผมไม่เคยฟังเสียงของสายนำสัญญาณ Absolute Copper รุ่นเก่ามาก่อน เลยไม่สามารถบอกความแตกต่างของเสียงได้ว่า รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แตกต่างกันอย่างไร ตรงไหนบ้าง รู้เพียงว่า เมื่อใช้หัว RCA แบบคาร์บอนไฟเบอร์หุ้มตรงหัวนั้น เสียงออกมาดีมากทีเดียว

ไม่แปลกใจที่นักเล่นหลายท่านเมื่อได้ลองสายนำสัญญาณ Absolute Copper จึงติดใจในคุณภาพเสียงกันมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะมาจากราคา ถึงจะหลักหมื่นปลายๆ แต่เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นแล้ว คุณภาพแบบนี้ก็ต้องว่ากันถึงตัวเลข 6 หลักทีเดียว

ต้องขออภัยที่ผมยังไม่ได้ลองฟังสายนำสัญญาณรุ่นเล็กรองมา ว่าให้คุณภาพเสียงออกมาเป็นเช่นไร แต่ตอนนี้ผมมีสายนำสัญญาณอีกยี่ห้อหนึ่งที่ราคาขาย ณ ตอนนั้น 80,000 บาท ความกระชับในเรื่องหัวเสียงและรายละเอียดนั้น Absolute Copper ให้ออกมาดีกว่าการดีดตัวของโน้ตความถี่ต่ำรู้สึกได้ถึงมวลกำลัง และพลังงานที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของกรวยเบสยูนิต ส่งมาถึงตัวเรานั้นมีมากกว่า

นั่นคือความแตกต่างที่ได้ยินจากการสลับสายนำสัญญาณ 2 ยี่ห้อ จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Acoustic Zen ไม่ว่าสายไฟเอซีหรือสายนำสัญญาณ คือ เนื้อเสียงไม่มีลักษณะของเสียงที่หยาบกร้านเลย ทุกอย่างไหลลื่นต่อเนื่องกันดี เสียงก็ไม่ได้เกาะกลุ่มเป็นก้อนๆ จนแยกแยะอะไรไม่ได้

เรื่องมวลเสียงของย่านความถี่ต่ำๆ ผมเคยฟังสายนำสัญญาณที่มีวงจรเน็ตเวิร์กลักษณะแอ็กทีฟ การดีดตัวของย่านความถี่ต่ำก็ไม่ได้แตกต่างจากสายนำสัญญาณของ Acoustic Zen มากนัก ส่วนความต่อเนื่องนั้น ผมรู้สึกว่า Acoustic Zen ให้ออกมาเป็นธรรมชาติมากกว่า

ยิ่งตัวนำที่ใช้งาน หากทองแดงมีความบริสุทธิ์ค่อนข้างมาก ความกระจ่างสดใสของย่านความถี่เสียงสูงก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ต้องกังวลเลย รายละเอียดความพลิ้วกังวานไม่ด้อยกว่าพวกตัวนำเป็นเงินแน่ๆ ส่วนความกว้างและลึกของเวทีเสียงไม่ต้องพูด แผ่ลงไปได้กว้างและลึกมากทีเดียว

สายลำโพง Satori

และแล้วก็มาถึงสายลำโพง Acoustic Zen Satori กันแล้วล่ะ 

จะเห็นว่า ในบรรดาสายทั้งหมดที่นำเสนอในครั้งนี้ สายไฟเอซีมีราคาแพงมากที่สุด คือ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 78,500 บาท รองลงมาก็คือ สายนำสัญญาณ Absolute Copper ราคาขายอยู่ที่ 73,500 บาท สำหรับสายลำโพง Satori นี้ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 39,500 บาท ตามแผนที่ผมได้วางหลักการเล่นเอาไว้ คือ สายไฟเอซี สายนำสัญญาณ แล้วก็มาสายลำโพง

เหตุผลที่วางหลักอย่างนี้ก็เพราะว่า สายไฟจะส่งผลถึงระดับพลังงานย่อมมีผลต่อเสียงอย่างมาก ส่วนสายนำสัญญาณนั้น หลักง่ายๆ ก็คือ ถ้าซอร์สต้นทางเพี้ยน ทุกอย่างเพี้ยนหมด ส่วนสายลำโพง ระดับความแรงของสัญญาณจะมากกว่าส่วนของต้นทาง ดังนั้นสามารถลดงบประมาณลงมาได้ เพราะหลักความสำคัญของสายลำโพงยังขึ้นกับความเหมาะสมระหว่างแอมป์และลำโพงอีกด้วย

สำหรับสายลำโพง Satori ตัวสายมีขนาดตัวนำค่อนข้างใหญ่ ผมจึงไม่แนะนำให้ใช้กับแอมป์หลอด ไม่ว่าแอมป์หลอดนั้นจะเป็นแบบพุชพูลกำลังขับเยอะๆ ก็ตาม สายลำโพง Satori จึงเหมาะสมกับแอมป์โซลิดสเตทกำลังขับ 200 วัตต์ขึ้นไป หรือแอมป์พวกคลาส ดี จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากตัวนำของสายลำโพง Satori มีขนาดถึง 10 AWG เทียบเท่า 5.51 sq.mm ตัวนำทองแดง Zero Crystal Copper บริสุทธิ์ถึงระดับ 6N สายลำโพงเป็นลักษณะแบบสายแกนเดี่ยวหลายๆ เส้น (Strand) ไม่ได้เป็นสายทองแดงฝอย สายลำโพงจึงมีลักษณะของสายแข็งนิดๆ

เรื่องเสียงของสายลำโพง หลังจากได้ฟังสายไฟเอซี สายนำสัญญาณมาแล้ว ตัวสายลำโพงก็จะไปในโทนเดียวกัน แต่ความแตกต่างก็คือ สายลำโพงจะช่วยให้เบสของซิสเต็มเครื่องเสียงเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย เนื่องจากลักษณะของสายช่วยเอื้อให้เนื้อเสียงเบส มีกำลัง และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพิ่มความกระชับของเสียงขึ้นมาอีกหน่อย แต่เสียงกลางเมื่อใช้งานพร้อมกันทั้งสายไฟเอซี สายนำสัญญาณ และสายลำโพง จะช่วยเสริมให้เด่นขึ้นมาอีกหน่อย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ร่วมกัน ใช้แค่สายลำโพงอย่างเดียวก็จะให้เสียงกลางออกมาเป็นธรรมชาติค่อนข้างมากทีเดียว

ผมติดใจในลักษณะเสียงที่อบอุ่นของ Acoustic Zen ค่อนข้างมาก เมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกเย็นอบอุ่นผ่อนคลาย โน้ตดนตรีเสียงเพลงที่ค่อยๆ ไหลต่อเนื่องกันได้เป็นอย่างดี ไม่ได้มีลักษณะความถี่ เสียงความถี่หนึ่งความถี่ใดที่กระโดดขึ้นมา แม้ว่าเสียงดนตรีนั้นจะค่อยๆ พีคขึ้นมา แต่รู้สึกว่าการควบคุมและถ่ายทอด พละกำลังของแอมป์ยังสามารถรองรับได้อย่างต่อเนื่อง คือไม่ได้รู้สึกว่าแอมป์จะอ่อนแรงลงแต่อย่างไร ผมเจอแอมป์ บางตัวช่วงพีคแล้วเหมือนจะเนือยๆ อย่างไรพิกล เหมือนปลาย เสียงแคบและบางลงเล็กน้อย 

แต่สายลำโพง Satori ไม่ได้รู้สึกว่าต้องกังวลแต่อย่างไร Satori เป็นสายลำโพงที่เป็นกลางมากๆ คือไม่จำเป็นว่าต้องเล่นสายยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด แม้ว่าจะมีการผสมผสานร่วมกับสายยี่ห้ออื่นๆ ก็สามารถเข้ากันได้ทุกซิสเต็ม ตัวสายลำโพง ไม่ได้เป็นตัวถ่วงทำให้ภาพรวมกับซิสเต็มแย่ลง หรือไปแย่งความดีความเด่นออกนอกหน้า 

ย่านความถี่เสียงสูงเองก็ปลดปล่อยความใสกระจ่าง ความพลิ้วกังวานได้ค่อนข้างดีทีเดียว เวทีเสียงกว้างและลึกดีมาก เปรียบเทียบกับสายลำโพงอื่นๆ หลายยี่ห้อ เรื่องรายละเอียดของเสียง บรรยากาศ และฮาร์มอนิกส์ไม่ได้เป็นสองรองใครเลย รายละเอียดของเสียงอาจไม่เทียบกับสายเงิน แต่ในแง่ของโทนัลบาลานซ์ Satori เด่นมากกว่า 

หากงบถึง ผมก็อยากให้ซื้อมาร่วมใช้งานทั้งสายลำโพง สายนำสัญญาณ และสายไฟเอซีของ Acoustic Zen ทั้งหมด จะช่วยเติมเต็มซิสเต็มให้เสียงออกมาดีมากที่สุดครับผม. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 240