ACCUPHASE PS-1250
ผมเคยทดสอบ Accuphase PS ไปแล้วครั้งหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดก็เกินสิบปีแล้วมั้ง ผลิตภัณฑ์ของ Accuphase รุ่น PS-1250 ที่นำมาทดสอบนี้ ก็ออกมาในวาระที่เฉลิมฉลองบริษัทครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา การทดสอบครั้งนี้ ผมเน้นถึงหลักการ วิธีคิดการออกแบบ มากกว่าคุณภาพเสียง เพราะตัวมันไม่ได้ให้คาแร็กเตอร์ทางเสียงที่ออกมาเป็นการเฉพาะตัว หรือชัดเจนเป็นอัตลักษณ์ แต่เป็นไปในทางสนับสนุนคุณภาพของเครื่องเสียงที่ใช้ร่วมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่า
ปัญหาของแหล่งจ่ายไฟ
ขอลงรายละเอียดเป็นสองเรื่องหลัก ดังนี้..
- ภาวะไฟตก ไฟเกิน เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของระบบการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้ามาที่อาคารบ้านเรือน บ้านใครอยู่ใกล้สถานีไฟฟ้าย่อย หรือหม้อแปลงไฟฟ้าย่อย ก็ย่อมได้รับกระแสไฟฟ้าที่เต็มกำลังแรงดันไฟฟ้ามากกว่าคนที่อยู่ไกลออกไป ในแง่นี้ การไฟฟ้าจะควบคุมแรงดันไฟฟ้าไม่ให้กระเพื่อมเกินกว่า 5% (230 +/-5%) แต่ก็ไม่ได้มีการการันตีอะไรจากหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ
- เรื่องความสมบูรณ์ของคลื่นความถี่กระแสสลับ เรียกง่ายๆ คือ Sine Wave Form นั่นเอง ค่านี้เป็นปัญหามาก เราพูดถึงเรื่องการกระเพื่อม ขาดหาย ของคลื่นความถี่นี้ ก็แปลความหมายได้อีกอย่าง คือ สัญญาณรบกวน (Noise) หรือ Harmonics ที่แฝงตัวมากับการส่งจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าแฝงตัวมาด้วยกันตั้งแต่แหล่งจ่ายของสายส่ง หรือการเหนี่ยวนำสัญญาณคลื่นในระหว่างการส่งกระแสไฟฟ้า หรือฮาร์มอนิกส์ปริมาณมากจากต้นกำเนิดจากบริภัณฑ์ที่ตกค้างและวกกลับมาหาสายส่ง ตัวนี้แหละที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้อายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าสั้นลง และการทำงานผิดเพี้ยนไปได้
ปัญหาของสายไฟที่ใช้ในเครื่องเสียง
นักเล่นเครื่องเสียงคงไม่ต้องสงสัยว่า การเปลี่ยนสายไฟฟ้าเข้าไปที่เครื่องเสียงแต่ละชนิดหรือยี่ห้อสามารถสร้างความแตกต่างในการฟังได้ชัดเจน และอาจฟังออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนสายสัญญาณหรือสายลำโพงด้วยซ้ำไป แล้วยังรวมถึงเต้ารับ และสายไฟฟ้าที่ใช้เดินจากตู้เมนมายังเต้ารับด้วย เทคนิคหลักๆ ที่ใช้เป็นจุดขายของสายไฟราคาแพงคุณภาพสูงก็ใช้หลักการต่าง ๆ เช่น..
- คุณภาพของตัวนำและการจัดวางของตัวนำ ทั้งขนาดหน้าตัด ความบริสุทธิ์ของตัวนำ แนวคิดการจัดวาง โดยใช้หลักการการเดินทางของความถี่ในหลักการเดียวกับสายลำโพงหรือสายนำสัญญาณ (บางยี่ห้อ) เพื่อให้สายไฟฟ้าสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้โดยรวดเร็ว ไม่เป็นคอขวด หรือควบคุมได้ หรือวิธีการถักสายเพื่อลดอิมพีแดนซ์ของสาย เป็นต้น
- คุณภาพของการชีลด์เพื่อป้องกันความถี่จากคลื่นวิทยุภายนอกเหนี่ยวนำเข้าไปได้
- คุณภาพของฟิลเตอร์ของสายที่มีกระเปาะ อันนี้ถ้าหุ้มเฉพาะภายนอกเปลือกของสายก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชีลด์ย่านสัญญาณรบกวนที่ออกแบบมาเฉพาะย่านความถี่ แต่ถ้ามีการกรองที่ตัวนำสายเลยก็จะกรองความถี่รบกวนที่ไม่พึงประสงค์ออกไปจากแรงดันไฟฟ้าต้นทาง
- คุณภาพของฉนวนเพื่อป้องกันการเหนี่ยวนำทางกลจากภายนอกที่จะไปกระตุ้นเรโซแนนซ์ของตัวสายหรือตัวนำ
- คุณภาพหัวปลั๊กที่ต้องแข็งแรง มั่นคง ไม่เกิดอ็อกไซด์ กันคลื่นวิทยุรบกวนได้
แน่นอนว่า ฟีเจอร์ของสายไฟฟ้าคุณภาพสูงกล่าวมานั้น ย่อมดีกว่าสายไฟฟ้าปรกติที่มองในแง่ความปลอดภัยในการจ่ายแรงดันไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็ไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพของแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องเสียงของเราได้อย่างแท้จริง
แต่ Wison Wisdom Talks วันนี้ มากับพระเอกขี่ม้าขาว นั่นคือ Accuphase PS-1250
รูปโฉมและการออกแบบภายนอก
แน่นอน ความเนี้ยบ สีทองแชมเปญ การจัดเลย์เอาต์เครื่องที่สมมาตร ดูหรูหรา คลาสสิก ครบประโยชน์ มาเต็มกับ Accuphase PS-1250 น้ำหนักตัวระดับ 40 กก++ ทำให้ผมต้องมีผู้ช่วยในการจัดวางลงบนแท่นที่ติดตั้งลูกล้อ จอ LCD ให้มาทั้งรุ่น PS-1250 และ PS- 550 สามารถแสดงข้อมูลตามสถานะที่เลือกเอาจากปุ่มด้านขวามือของเครื่อง ได้แก่.. เปิด/ปิด, การแสดงผลโวลต์/แอมป์, การแสดงผลแรงดันไฟฟ้าเข้า/ออก, ความเพี้ยนของรูปคลื่นเข้า/ออกบ่งบอกเป็นเปอร์เซนต์ และความเพี้ยนของรูปคลื่นเข้า/ออกเป็น Sine Wave
ด้านหน้ามีปลั๊กพ่วง 1 ชุด สองเต้ารับ ด้านหลังเครื่องอีก 4 ชุด 8 เต้าเสียบ ตัวถังเจาะรูระบายความร้อนด้านบน ในระหว่างการใช้งานก็อุ่นๆ นิดหน่อย เนื่องจากผมใช้พลังงานจากมันราว 200/900 หรือราว 22% เท่านั้น การแสดงผลมาในรูปแบบอะนาล็อกมิเตอร์บนจอแอลซีดีสี ดูสวยงามและสมประโยชน์ใช้สอยมาก สว่างและชัดเจนครบถ้วนดี อ้อ! เต้าเสียบให้คุณภาพมาตรฐานที่สูงพอที่ไม่จำเป็นสำหรับการอัพเกรดใดๆ ให้เต็ม 10 ครับ ลงตัวมากมาย
หลักการ วิธีคิด และการทำงาน
เมื่อพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว Accuphase PS-1250 คือ เพาเวอร์แอมปลิฟายเออร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมแรงดันและคุณภาพของกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับปลายทางได้สมบูรณ์แบบในระดับอุดมคติ เท่าที่จะทำได้ มันเป็นอย่างไรกัน
เรามาดูการันตีสเป็กกันก่อน
ถ้าแรงดันไฟฟ้าขาเข้าระบุว่า รองรับแรงดันคลาดเคลื่อนได้ที่ 230 +/- 10% และการันตีแรงดันไฟฟ้าขาออกที่ 230 +/-3 โวลต์ หรือ +/-1.3% มันกำลังบอกอะไรกับเรา? มันจะบอกว่า แรงดันการจ่ายกระแสไฟฟ้าขาออกมีความนิ่งและมีโอกาสที่จะมีแรงดันที่กระเพื่อมเพียง +/-1.3% ส่วนคุณภาพของเวฟฟอร์ม (คลื่น) ขาออกจะให้ความเพี้ยนที่น้อยกว่า 0.08% โดยที่ไม่ระบุความเพี้ยนของคลื่นขาเข้า แสดงว่ามีความมั่นใจมากกับการออกแบบ และ Accuphase PS-1250 สามารถจ่ายพลังงานได้ต่อเนื่องที่ 900VA ครับ
ผมมีบทสัมภาษณ์ Accuphase เป็นวิดีโอคลิปของออดิโอไฟล์ https://www.youtube.com/watch?v=28ZqPD_O28Q
เขาให้หลักคิดที่ดีจริงๆ กล่าวคือ กระบวนการปรับปรุงคุณภาพของ sine wave ของ Accuphase PS-1250 ใช้วงจรอะนาล็อกทั้งหมด ไม่ใช้วงจรสวิตชิ่งออสซิเลเตอร์ใดๆ ที่จะสร้าง sine wave ขึ้นมาใหม่ แล้วฟิลเตอร์ออกไปให้ได้ Sine wave สมบูรณ์แบบที่เป็นเทคนิคการทำเครื่องกรองไฟชั้นดีทั่วไป เพราะมันจะไปสร้างดิจิทัลน้อยส์ในเครื่องขึ้นมาเสียเอง (Accuphase ใช้ sine wave generator เป็น perfect sine wave เพื่อใช้อ้างอิงในวงจรชดเชย หรือลดทอนเฟสเท่านั้น)
ผมขอแนบผังวงจรเพื่อประกอบการอธิบายอย่างง่ายให้เข้าใจวิธีคิดของเขากันครับ
เมื่อท่านเสียบปลั๊กไฟเข้าเครื่อง Accuphase PS-1250 จะผ่านการกรองคลื่นความถี่แฝงที่มากับแรงดันไฟฟ้าขาเข้าในระดับหยาบมายังระดับที่ละเอียดขึ้นผ่านวงจรป้องกันกระแสเกิน จากนั้น กระแสไฟฟ้าที่มีการควบคุมคุณภาพระดับแรกจะจ่ายไปยังหม้อแปลง 2 ชุด ชุดแรกเป็นหม้อแปลงสำหรับใช้ในวงจรวัดคุณภาพกระแสไฟฟ้าและวงจรแสดงผล หม้อแปลงชุดที่ 2 เป็นหม้อแปลงเพื่อการจ่ายพลังงานให้กับ “วงจรควบคุมและปรับปรุงคุณภาพกระแสไฟฟ้า” ในชั้นนี้ เรามองว่า หม้อแปลงตัวนี้ทำหน้าที่เป็น Isolation transformer เป็นการแยกสัญญาณรบกวนที่ปนเปื้อนมาอีกชั้นหนึ่งโดยธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง
ขั้นตอนต่อจากนี้ คือ Accuphase PS-1250 จะสร้างรูปคลื่นอ้างอิงขึ้นมาก่อน (Perfect Sine Wave) จากนั้นจะสื่อสารกับวงจรเปรียบต่างและสื่อสารกับวงจรภาคขยายที่ประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ขยายกำลัง 20 ตัวต่อโมดูล (ซีกบวก20 และซีกลบ 20) ทีนี้ เมื่อรูปคลื่นขาเข้ากับรูปคลื่นอ้างอิงมีความต่างกัน วงจรเปรียบต่างก็จะควบคุมวงจรภาคขยายให้ “เติมส่วนที่ขาด” หรือ “ทอนส่วนที่เกิน” เพื่อให้รูปคลื่นที่ผ่านวงจรภาคขยายนี้มีรูปคลื่นแบบเดียวกันกับรูปคลื่นอ้างอิงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในบางกรณี รูปคลื่นซีกบวกและซีกลบของกระแสไฟขาเข้าก็อาจมีความไม่สมมาตรด้วย ดังนั้น การอ้างอิงจุดตัดของซีกบวกและลบ จึงต้องถูกเทียบเคียงด้วยวงจรไฟกระแสตรงอันราบเรียบเพื่อเป็นจุดอ้างอิงของวงจรประกอบกันไปด้วย ดังนั้น เมื่อผ่านภาควงจรขยายแล้วก็รับรองว่า นอกจากได้ sine wave ที่สมบูรณ์แบบแล้ว ความสมมาตรของรูปคลื่นและความเพี้ยนที่จุดตัดก็หายไปด้วย แน่นอนว่า มันเป็นรูปแบบของ balanced amplifier ที่ขยายการจ่ายพลังงานที่สมมาตรและบริสุทธิ์ นั่นเอง
เมื่อได้ sine wave ที่สมบูรณ์แบบ ก็มาถึงการควบคุมแรงดันไฟฟ้าขาออก โดยการรับแรงดันมาจากขาเข้าที่กล่าวมา หลังจากการประมวลผล เปรียบต่าง และชดเชย/หักล้างเรียบร้อยแล้ว เจ้าทรานซิสเตอร์ขยายกำลังที่ว่าก็จะจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปที่ขดลวดทุติยภูมิของหม้อแปลงอีกครั้งตามที่ต้องการ ก็จะได้ระดับแรงดันที่ราบเรียบระดับ 230 +/- 3 โวลต์ และความเพี้ยนของ sine wave ที่น้อยกว่า 0.08% นั่นเอง
เมื่อมองเช่นนี้ก็จะเห็นว่า Accuphase PS-1250 มันก็คือ แอมปลิฟายเออร์ที่จ่ายพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับบริสุทธิ์ในระดับใกล้เคียงอุดมคติมากที่สุดออกมาที่ 900 วัตต์ต่อเนื่องนั่นเอง ครับท่าน สรุปว่า ท่านไม่ได้ซื้อเครื่องกรองไฟฟ้า ท่านกำลังซื้อโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากเต้ารับไฟฟ้าในบ้านของท่านเพื่อจ่ายพลังงานบริสุทธิ์ออกมาได้ 900 วัตต์ต่อเนื่อง!!!!!!
คุณประโยชน์ในการใช้งานที่สำคัญของ Accuphase PS-1250 ที่ต้องพูดถึงก็คือ เมื่อคุณกดเลือกการแสดงผล distortion จากนั้น คุณเริ่มเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทีละตัว เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า เตารีด ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น และจดค่าความเพี้ยนเอาไว้ พอคุณเปิดตัวถัดไปแล้วพบว่า ค่าความเพี้ยนมันเพิ่มขึ้นก็สามารถกล่าวได้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คุณเชื่อมต่อนั้นสร้างมลภาวะให้กับระบบไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด ด้วยวิธีนี้ก็รู้เลยว่า เราควรแยกสายไฟจากตู้เมนไปเลี้ยงวงจรไหน จึงจะมีผลกระทบน้อยที่สุด หรือไม่ เครื่องใช้ไฟฟ้านั้น มันสร้างการรบกวนที่มากเกินไปแล้ว สมควรนำตัวไปประหารด้วยเครื่องประหารหัวสุนัข!!!
การทดสอบและความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้
ในการทดสอบ ผมเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งหมด ต่อผ่าน Accuphase PS-1250 ตัวนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ Denon: DCD SA-1 (กินไฟ 30 วัตต์) และอินทิเกรตแอมป์ Accuphase E-650 ผ่านไปขับลำโพง ProAc Response 4 ผมพบว่า เมื่อเปิดเครื่องเสียงครบถ้วนแล้ว การจ่าย(การบริโภค) พลังงานของ Accuphase PS-1250 อยู่ที่ 200 กว่าวัตต์นิดหน่อย ก็แปลว่า เจ้า Accuphase E-650 มันกินไฟในโหมด Class A แท้ๆ เลย ระดับแรงดันไฟฟ้าขาเข้าก็อยู่ในเกณฑ์ปรกติคือ 230 โวลต์ แต่ในส่วนความเพี้ยนของเฟส(ยอดคลื่น) อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ และหลังจากผ่าน Accuphase PS-1250 ค่าความเพี้ยนของเฟสก็ไม่สามารถจะอ่านค่าได้ที่หน้าปัดแสดงผลได้แล้ว
แล้วเสียงเป็นยังไง?
ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ
ถ้าคุณเคยซื้อรถยนต์ป้ายแดงออกจากโชว์รูม คุณจะพบว่า คุณภาพงานสีบนตัวถังรถมันช่างเงางามและให้สีสันที่ไร้ที่ติเสียจริง ๆ ด้วยความใหม่เอี่ยมอ่อง (ไม่งั้น คุณคงไม่เลือกซื้อรุ่นแบบและสีสันใช่มั้ย) พอคุณขับรถคันโปรดที่ว่าไปยังร้านขัดเคลือบสีด้วยเซรามิก ขั้นแรก เขาจะทำการเตรียมชั้นสีด้วยการขัดสีใหม่ๆ ที่มากับรถใหม่ๆ นั่นแหละให้เรียบที่สุดในห้องกระจกปลอดฝุ่น จากนั้นจึงค่อยพ่นเซรามิค (ที่เราเรียกกันว่า เคลือบแก้ว) ทับลงไปบนพื้นผิวที่เตรียมจนได้ความหนาตามสเป็ก และก็จะใช้หลอดยูวีอบชั้นเคลือบให้แห้งชั้นแล้วชั้นเล่า แล้วก็จะเก็บงานด้วยการขัดเคลือบให้เรียบในแต่ละชั้นสีอีกครั้งจนเสร็จชั้นเคลือบชั้นสุดท้าย
คราวนี้ เมื่อคุณไปรับรถที่ผ่านกระบวนการขัดเคลือบแก้วหรือเซรามิคคันที่ว่า คุณจะประหลาดใจที่พบว่า ความเข้มข้นของสีหรือชั้นเกล็ดสีของรถนั้น มันถูกขับดันให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นมาอีก และมีความใสของชั้นเคลือบแข็งเพิ่มความเงาและความฉ่ำลึกของสีเล่นแสงเงาโชว์เหลี่ยมมุมของตัวถังรถยนต์ที่คุณเพิ่งจะสังเกตได้ เฮ้ย! สีจากโรงงานเมอร์เซเดส หรือ บีเอ็มดับเบิ้ลยู มันยังสามารถทำให้ดูสวยขึ้นมามากมายได้ขนาดนี้เลยเหรอ?
นั่นแหละ กระบวนการที่ทำให้สีเดิมคุณภาพดีติดมากับรถใหม่ป้ายแดงที่มีอยู่แล้ว และถูกซุกซ่อนไว้อย่างไม่ตั้งใจ ได้ถูกเปิดเผยศักยภาพของความงามที่แท้จริงจากการชักเงาเคลือบแก้วขึ้นมา มันก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับ Accuphase PS-1250 ที่กำลังเกิดขึ้นในห้องฟังของผมแหละ
เอาง่ายกว่านั้น คุณลองไปซื้อทองหยอดมาซักถาดหนึ่ง ทิ้งไว้ราว 2 ชั่วโมงในห้องแอร์ แหม! สีสันกลิ่นรสมันคงจะน่าอร่อยเตะจมูกยั่วน้ำลายซะเหลือเกิน จากนั้น ให้คุณเอาน้ำเชื่อมที่กองรวมอยู่บนพื้นของภาชนะ ตักขึ้นมาแล้วราดลงบนทองหยอดเม็ดที่คุณกำลังจะกิน คุณจะพบว่า ทองหยอดเม็ดเดียวกันนี่แหละ มันมีสีเหลืองอมส้มที่มีสีสันจัดจ้านเข้มขึ้นมาและเห็นความฉ่ำของน้ำเชื่อมที่เคลือบผิว ช่างดูแตกต่างกับไอ้เม็ดเดียวกันก่อนจะราดน้ำเชื่อมลงไปเหลือเกิน ทั้งที่มันก็เม็ดเดียวกัน มันก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับ Accuphase PS-1250 ที่กำลังเกิดขึ้นในห้องฟังของผมแหละ
แล้วยอดคลื่นที่มีความเพี้ยนราว 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ที่ถูก PS-1250 เติมพลังให้เต็มยอดคลื่นโค้งมนสวยๆ มันเป็นยังไง?
ขอเริ่มจากแทรคที่ 2 ของอัลบั้ม White Wind ช่วงเริ่มต้นของเครื่องสายตระกูลจะเข้ และเสียงตีกลองโบราณ เสียงที่ได้ยิน มันเพิ่มความเข้มขลังแบบวัดวาอารามที่ “มากกว่า” ที่เคย ครั้นจะว่าเสียงมันผิดแผกแตกต่างจากเดิมก็ไม่ใช่ แต่สิ่งที่จัดการกับเสียงนั้น คือ “บรรยากาศ” ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าและลึกขึ้นมากกว่า โอ้ว! แน่นอน ว่า อัลบั้มนี้บางส่วนก็ใช้เสียงสังเคราะห์ในการสร้างมิติความลึก และเฉียบพลันของไดนามิกส์ กับ PS-1250 ที่ให้ประสิทธิภาพของการจ่ายคุณภาพไฟฟ้าที่ดีเยี่ยม มันไม่ทำให้ความผสมผสานระหว่างดนตรีจริงกับการใช้ซินธิไซเซอร์ หรือการสร้างมิติที่ค่อนข้างโอ่โถงทางกว้างและลึกให้หลอกหลอนหรือไม่กลมกลืน
ในแทรคที่ 3 PS-1250 ทำให้ซิสเต็มนี้ถ่ายทอดคอนทราสต์ที่สวิงตัวอย่างอิสระ “มากกว่า” ที่เคย เสียงดนตรีให้รายละเอียดระยิบระยับ แม่น ฉับไว และให้ความผ่อนคลายในองค์รวมของการฟัง
เพลงร้องเป็นสิ่งที่ประสาทหูเราไวที่สุด PS-1250 ให้โทนเสียงกลางและเสียงนักร้องหญิงที่ให้ความอบอุ่นและเนียนมากกว่าเดิมเล็กน้อย โดยไม่สูญเสียสปีด (ช้าหรือยาน) ที่สำคัญ แบ็คกราวด์น้อยส์ที่ขอบอกว่า ไม่ได้ยิน ถ้าไม่เอาหูแนบทวีตเตอร์ ทำให้ความลึก ช่องไฟ มันจะแจ้งเด็ดขาดมากกว่า มันเหมือนฉากมืดสนิท เมื่อฟังเสียงร้องของ Ayako ในแทรคที่ 2 เสียงลมที่ระรัวออกมาจากช่องท้อง ขึ้นมาผ่านปอดและปาก การติดตามภาวการณ์เปล่งเสียงจนถึงไมโครโฟนที่บันทึกออกมานั้น ติดตามได้ทุกสายลม ร้องได้ดี การเอื้อนลากเสียงนิ่ง นุ่ม อิ่ม และหวานมาก พูดตรงๆ ไม่เคยรู้สึกอินไปกับลีลาการร้องของ Ayayko ในระดับนี้มาก่อน อาการเน้นของแส้ที่โลมไล้บนฉาบชัดขึ้นมาชนิดที่ เฮ้ย! เสียงมันก็อยู่ตรงนั้นแหละนะ แต่ไม่เคยเด่นได้ขนาดนี้ (ไม่ได้ดังขึ้น แต่ได้ยินชัดขึ้น แบบไม่ได้ขับดันออกมา) เปียโนให้ความสุกปลั่ง ฉับพลัน การหยุดของค้อนเคาะสายเปียโน เสียงเครื่องเป่าที่สดในแทรคที่ 3 บ่งบอกว่า PS-1250 ไม่ได้เป็นตัวลดทอน ไกล่เกลี่ย ให้ความชัดเจน หรือฉับพลันหายไปเลย
กับเครื่องปรับปรุงคุณภาพไฟอย่าง Accuphase PS-1250 ผมจะเน้นไปที่ “การต่อยอด” คุณภาพของเสียงกลางและความสดของไดนามิกส์ ที่ต้องมีคุณภาพสูงขึ้นชัดเจนมากพอ ในแทรคที่ 2 Would you break my heart ในอัลบั้ม Very Audiophile New Recordings จากสังกัด Stock Fisch อินโทรด้วยเบส กระฉับกระเฉง เด้งดึ๋ง คู่กับฟิงเกอร์สไตล์กีตาร์ที่ให้พลังการกระตุกสายที่ “สด” อย่างที่ผมตั้งใจ เสียงนักร้องนำหญิงและเสียงประสานให้การฟังที่มีความผ่อนคลายและลื่นไหล “มากกว่า” การฟังโดยปรกติที่ไม่ได้ใช้ PS-1250 ร่วมในซิสเต็ม กล่าวคือ การลากเสียงร้องที่ขึ้นลงตลอดทั้งเพลงยังสามารถ “ลื่น” ได้อีกในระดับที่ชัดเจน ทีนี้ อาการลื่นทางอารมณ์ มันก็ไปตัดกับความฉับพลันและแม่นยำของกีตาร์และเบส ให้โทนที่สวยงามจากเดิมมากครับ โดยเฉพาะเมื่อเรานั่งฟังและใช้เวลากับ PS-1250 มากขึ้นเรื่อยๆ และลองไม่ต่อผ่านดู เอิ่ม! มันไม่ถึงกับโฉ่งฉ่างหรอกครับกับซิสเต็มอ้างอิงที่ใช้ แต่ความลุ่มลึกและลื่นไหลที่หายไปนี่สิ ไม่รู้จะใช้อะไรไปจูนให้ได้รสชาติในการฟังให้กลับมาซะด้วยสิ ความสดชื่นที่ต้องการนำเสนอในแทรคที่ 4 ที่ใช้แบ็คกราวด์เสียงคีย์บอร์ดและกีตาร์โปร่ง และตามมาด้วยความรู้สึกถึงความอบอุ่นของเสียงนักร้องชาย มันทำให้เราลืมการทดสอบ และก็นั่งฟังด้วยความผ่อนคลายและอิ่มเอิบอย่างยิ่ง คุณภาพของซิสเต็มนี้ให้ความใสอย่างยิ่งเมื่อผ่าน PS-1250
การกำหนดและการนำเสนออารมณ์ของดนตรี จัดว่าอยู่ในระดับ “เสพย์ติด” และผมกำลังพูดถึงความเพี้ยนทางเฟสแค่ 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ และแรงดันไฟฟ้าที่ไม่ปรากฏความเพี้ยนที่มิเตอร์จับได้ยังสามารถให้ผลบวกถึงขนาดนี้?
สรุป
Accuphase PS-1250 เหมาะกับใคร??
ผมคิดว่า ในอนุกรม PS ที่มีรุ่น 550 และ 1250 นั้น เหมาะกับท่านที่ต้องการ “หลุดพ้น” ข้อจำกัดของแหล่งจ่ายพลังงานให้กับเครื่องเสียงของท่าน ทั้งนี้ก็ให้เลือกใช้รุ่นที่ตอบโจทย์ในเรื่องอัตราการบริโภคไฟฟ้าที่ใช้ในชุดเครื่องเสียงจะไปรุ่นใหญ่หรือรุ่นเล็ก แน่นอนว่า ถ้าพิจารณาว่ามันเป็นเครื่องคุมไฟฟ้าในราคาค่าตัวระดับนี้ มันแพงมากครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือ แอมปลิฟายเออร์สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ขนาดพลังงานบริสุทธิ์ต่อเนื่อง 900 วัตต์ ในราคาที่ถูกมาก และไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลซักเพียงใด เมื่อมันต้องบริโภคไฟฟ้าในการทำงาน ผมคิดว่า เราสามารถ “หยุดเวลา” ไปกับการควบคุมคุณภาพแหล่งจ่ายพลังงานถึงขีดสุด กับ Accuphase PS-1250 นี้ได้เลย จนกว่ามันจะหมดอายุขัยไป ลองกลับไปทบทวนที่ผมเขียนข้อมูลทางเทคนิคนะครับ ถ้าท่านอ่านมาถึงจุดนี้ คงมีคำตอบระหว่างการสาละวนกับการซื้อหาสายไฟฟ้าราคาแพง หรือจะมาที่ตัวจบที่ต้นทางคุณภาพของไฟฟ้า ต่อไปนี้คือข้อสรุป…
- มันคือแหล่งจ่ายไฟฟ้าคุณภาพสูงต้นทางที่ต้องมี เพื่อเป็นการการันตีว่า คุณภาพกระแสไฟฟ้าที่ป้อนให้กับเครื่องเสียงของท่านมีความสมบูรณ์แบบสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และท่านจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดจากเครื่องเสียงของท่านเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่ากระแสไฟฟ้าขาเข้าจะเป็นกลางวัน กลางคืน ไฟตก ไฟเกิน ไฟกวน PS-1250 เอาอยู่หมด
- ท่านอาจจะประหยัดการจัดหาปลั๊กรางพ่วง เพราะท่านสามารถต่อเข้ากับเต้ารับที่ PS-1250 ได้รวมๆ แล้ว 10 ช่องเต้ารับที่มีให้ก็ได้มาตรฐานสูง ไม่ต้องการการโมดิฟายเพิ่มเติมอีก ถ้าไม่ซนจนเกินไป
- เมื่อพิจารณาชนิดของสายไฟที่จะกระจายต่อไปยังเครื่องเสียง ท่านอาจลงทุนด้วยราคาที่ย่อมเยากว่าเดิม เพราะความผิดเพี้ยนของการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่หายไป ความสำคัญของระบบชีลด์ก็ลดลงไป คงเหลือแต่บุคลิกเสียงที่ท่านชอบและการแม็ตชิ่งแล้วล่ะ ถึงตรงนี้ท่านคงประเมินได้แล้วว่า สายไฟฟ้าราคาแพงเท่าไหร่ ก็ไม่อาจชดเชย “ความผิดเพี้ยนของรูปคลื่น” และ “ความราบเรียบของแรงดันไฟฟ้าได้” ในรูปแบบที่เทียบเคียง PS-1250 ได้เลย
- จากข้อ 1-3 กลายเป็นว่า PS-1250 เป็นของดีราคาถูกที่ขาดไม่ได้ไปเลยของซิสเต็มเครื่องเสียงสิครับ
สำหรับผม ตัดสินใจง่ายมาก เก็บสตางค์รอกระสุนพร้อมก็รอสอยรุ่นใหญ่เลย เพราะเจ้ารุ่นเล็กดันไม่มีหน้าปัดแอลซีดีมาให้น่ะสิ !!! ไม่มีคำแนะนำใดๆ จะมากไปกว่าที่รีวิวเวอร์จะซื้อมาใช้เอง ชิมิชิมิ สวัสดีและพบกันใหม่ครับ. ADP
ราคา 360,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Hi-End Audio
โทร. 062-551-2410
WJWJ Reference System
CD PLAYER: Denon: DCD SA1, Tascam: 901 Mk2 + Alto-Extremo Equipment Feet, Rega: Apollo
Streamer: Fidelizer Audio: Nimitra 2 & Nikola 2 Power supply & CISCO network switch
DAC: Accuphase: DP-85
Preamp: NAT Audio: Magnetic Balance Line Stage
Integrated Amplifier: Accuphase: E-650
Power Amplifier: Constellation Centaur
Turntable: Thorens: TD124 Mk1, Tonearm BTD12, London Cartridge
Phono Stage: ASR: Mini Basis, Sonic Frontier: SFL1 Signature
Speaker: Infinity: Modulus System, Celestion: SL700, KEF: REF 105/3, ProAc: Response 4, KEF: LS50 S1/S2, KEF: REF 103/4
Speaker Cable: QED: Silver Spiral Genesis
Interconnect Cable (XLR/RCA): Nordost: Tyr2
Power Cable: Nordost, Hovland, Cardas: Golden Reference
Cable Elevator: Cardas: Myrtle Wood Block, Ayre: Myrtle Block, Shunyata: Dark Field
Equipment Rack: TAOC: CS series
Speaker Stand: TAOC: AST series, TAOC: Super Insulator PTS-A
Amplifier support base: Symposium: UltraPower Conditioner: Nordost: Q
No Comments