วุฒิศักดิ์
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

NOTTINGHAM ANALOGUE STUDIO
HORIZON TURNTABLE & INTERSPACE TONEARM & PEAR AUDIO TRACER 10 PHONO CARTRIDGE

หลังจากช่วงที่ผ่านมา ผมได้ทดสอบแอมป์แต่ละตัว เรียกได้ว่าขนาดน้องๆ รถถังติดต่อกันมาหลายตัว ฉบับนี้เปลี่ยนมาลองอะไรเบาๆ ลงมาบ้าง โดยเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง Nottingham Analogue Studio รุ่น Horizon ซึ่งเป็นรุ่นเล็กที่สุดของแบรนด์ Nottingham Analogue Studio หรือที่หลายท่านอาจจะเรียกกันว่า Nottingham ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากประเทศอังกฤษ์ที่ผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งถ้าไม่เก๋าจริงคงมัวนเสื่อกลับบ้านเก่าไปในยุคซีดีรุ่งเรืองที่คนต่างพากันเอาแผ่นเสียงมากองทิ้งหน้าบ้านเป็นขยะไปเรียบร้อยแล้ว 

ซึ่งเท่าที่เห็นผ่านๆ ตามา Nottingham ก็ถือเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เข้ามาโลดแล่นในตลาดบ้านเรามานานนับสิบปีแล้ว ถึงแม้การตลาดอาจไม่ได้หวือหวาขายดีเทน้ำเทท่าแบบเพื่อนร่วมชาติบางราย แต่เข้าใจว่ามีแฟนๆ คอยติดตามผลงานอยู่พอควร โดยความน่าสนใจของ Nottingham Analogue Studio Horizon อยู่ที่ชุดที่ได้รับมาทดสอบในคราวนี้ ทางตัวแทนจำหน่ายได้จัดมาให้ครบชุดทั้งแท่นรุ่น Horizon และโทนอาร์มรุ่น Interspace จากทาง Nottingham Analogue Studio ในส่วนของหัวเข็ม ทางตัวแทนจัดหัว MI ของ Pear Audio รุ่น Tracer 10 เรียกได้ว่าขอเพียงชุดเครื่องเสียงของท่านมีปรีโฟโนที่รองรับสัญญาณจากหัวเข็ม MM ได้ (หัว MM และ MI มีความแรงสัญญาณเท่าๆ กัน สามารถต่อช่อง MM ในปรีโฟโนได้) ท่านก็สามารถซื้อยกชุด Horizon มาต่อสายฟังได้เลย และถึงแม้ว่า Horizon เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นเล็กสุดของทาง Nottingham Analogue Studio แต่ด้วยระดับราคาทั้งชุดอยู่ในช่วงราวๆ หนึ่งแสนบาท มันคงเรียกเป็นเครื่องรุ่นประหยัดไม่ได้เต็มปากนัก แต่เมื่อดูส่วนประกอบต่างๆ ที่ได้ เทียบกับค่าตัวที่ต้องจ่ายไปก็พบความน่าสนใจไม่น้อย 

เริ่มต้นที่ตัวแท่น Horizon ที่ถึงแม้มีขนาดเล็ก แต่ก็หนามาก ซึ่งเป็นการออกแบบที่น่าสนใจ เพราะถ้าออกแบบให้มีเนื้อวัสดุเท่ากัน เมื่อมีการลดความกว้างของแท่นเครื่องลงครึ่งหนึ่งก็สามารถเพิ่มความหนาของแท่นเครื่องขึ้นได้เท่าตัว ซึ่งแท่นเครื่องที่หนาขึ้นนี้ช่วยให้แท่นเครื่องมีความแข็งแรงมากขึ้น และเท่าที่ลองยกดูตัวเครื่อง นับว่ามีน้ำหนักไม่น้อยทีเดียว แถมยังมีชั้นวางที่เป็นแท่นรองรับมีขาปรับระดับได้แถมมาให้อีกชั้น ดูเข้าชุดเรียบร้อยดี ไม่ต้องห่วงเรื่องการหาชั้นวางที่ได้ระนาบเพื่อวางตัวแท่นให้ยุ่งยาก ตัวแพลตเตอร์มีความหนาถึง 27 มม. และมีน้ำหนักกว่า 10 ปอนด์ เรียกว่าจัดหนักมากสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงในงบนี้ และถึงแม้เป็นรุ่นเริ่มต้น แต่ในส่วนของมอเตอร์และแบริ่งก็ใช้ร่วมกับแท่นรุ่นสูงกว่าด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าไม่ได้ประหยัดในส่วนที่มีความสำคัญเหล่านี้เลย 

คุณภาพเสียงที่ได้ เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวในระดับราคานี้

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจในการออกแบบคือ “อาร์มบอร์ด” ปรับระยะได้ สามารถรองรับอาร์มความยาวต่างๆ ได้ ตั้งแต่ 9 – 12 นิ้ว ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน นอกจากนี้ เมื่อใช้งานร่วมกับโทนอาร์ม Interspace ที่ออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดีจะสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ได้ค่อนข้างละเอียดดี โดยโทนอาร์ม Interspace เป็นอาร์มประเภท Unipivot ส่วนต่างๆ ผลิตจากอะลูมิเนียม มีก้านอาร์มเป็นท่อคาร์บอนไฟเบอร์ มีการออกแบบที่ดี มีการวางตุ้มน้ำหนักท้ายอาร์มแบบห้อยต่ำเพื่อลดจุดศูนย์ถ่วงของตัวอาร์ม เพิ่มเสถียรภาพในการเกาะร่อง และมีสายสัญญาณติดมาให้ครบเรียบร้อย ไม่ต้องไปหาสายโทนอาร์มเพิ่มเติมให้ยุ่งยาก ถือว่าสะดวกดี แต่อาจไม่ค่อยถูกใจนักเล่นบางท่านที่ชอบเล่นเส้นสาย พอเจอสายถอดเปลี่ยนไม่ได้แล้ว มันค้างคาใจ ตรงนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนครับ แต่การออกแบบสายโทนอาร์มให้เป็นแบบติดตายได้ประโยชน์จากการลดจุดเชื่อมต่อ มีผลต่อการลดสัญญาณรบกวน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพราะสัญญาณมีความแรงต่ำอ่อนไหวต่อการถูกรบกวนได้ง่าย ดังนั้น ผมถือว่าการให้สายแบบติดตายเป็นเรื่องที่เขาคิดมาดีแล้วว่า น่าจะได้ผลดีมากกว่าเสีย แต่มีจุดที่ต้องระวังเล็กน้อยคือ ตัวอาร์ม Interspace ไม่มีที่ล็อกอาร์ม เมื่อเลื่อนกลับมาตำแหน่งพัก ซึ่งถ้ามีใครไปโดนอาร์ม มันจะเลื่อนออกมาจากตำแหน่งพักได้ทันที ดังนั้น ถ้ามีแม่บ้านเข้าไปทำความสะอาดห้อง แนะนำว่าให้จัดหาฝาครอบมาปิดไว้ เวลาที่ไม่ได้ใช้งานจะปลอดภัยกว่าครับ 

ในส่วนของหัวเข็ม Pear Audio Tracer 10 เท่าที่ทราบเป็นหัวประเภท MI ในการใช้งานก็เหมือนหัว MM ปกติ แต่ในระหว่างทดสอบยังไม่พบข้อมูลสเปกต่างๆ ของหัวเข็มในเว็บไซต์ผู้ผลิต หากท่านสนใจจะปรับตั้งด้วยตนเอง หรือนำไปใช้กับอาร์มอื่น สามารถปรึกษาตัวแทนจำหน่ายได้เลยครับ สำหรับการทดสอบครั้งนี้ ทาง Sound Box มาเซ็ตอัพให้ถึงห้องฟังของผมเลย จึงไม่ได้ทำการปรับแต่งอะไรเพิ่มเติม 

หัวเข็ม Pear Audio รุ่น Tracer 10 

การต่อใช้งานชุด Nottingham Analogue Horizon ในชุดอ้างอิงของผมก็เพียงเสียบสายสัญญาณเข้าที่ช่อง MM ของ Aurora Sound VIDA ก็เป็นอันเสร็จ การเปิดใช้งานเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความแปลกกว่าเครื่องเล่นทั่วไป นั่นคือ Horizon ไม่มีสวิตช์ปิดเปิดเครื่อง เมื่อจะเริ่มใช้งานก็เสียบสายไฟ แล้วเมื่อจะเริ่มเล่นก็ให้เอามือหมุนแพลตเตอร์ให้หมุนก่อน แล้วมอเตอร์จะรักษารอบการทำงานให้คงที่เอง เวลาเลิกเล่นก็แค่เอามือจับแพลตเตอร์ให้หยุด เมื่อเลิกฟังก็ถอดสายไฟออก ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ จริงๆ น่าจะให้สวิตช์เปิดปิดที่แท่นเครื่องมาก็ยังดี เพราะบางครั้งถ้าวางเครื่องอยู่บนชั้นวาง การเอื้อมเข้าไปเสียบถอดสายไฟทุกครั้งที่จะฟัง ค่อนข้างลำบากเล็กน้อย ส่วนเหตุผลของการที่ต้องใช้มือเริ่มหมุนก็เพื่อให้สามารถใช้มอเตอร์ที่มีขนาดเล็กที่มีแรงน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้มีแรงสั่นสะเทือนต่ำจากการทำงานของมอเตอร์ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกได้ว่าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสุดๆ คือในเมื่อมอเตอร์ยิ่งใหญ่ ยิ่งสั่น ก็ใช้มันให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ซะเลย จะได้สั่นน้อยๆ ตั้งแต่แรก การจัดการกับแรงสั่นสะเทือนจะได้ง่ายขึ้น เรียกว่าเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ได้ผลดีทีเดียว ถึงอาจจะดูไม่สะดวก แต่เมื่อลองใช้งานจริงก็ไม่ได้ถึงกับเป็นปัญหา และถือว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับผลที่ได้ที่แท่นสามารถทำงานได้เงียบดี อีกส่วนหนึ่งที่ต้องระวังคือ แม็ตที่รองแผ่นเสียงซึ่งเป็นโฟมบางๆ มักจะเกิดไฟฟ้าสถิตดูดติดแผ่นเสียง ตอนเปลี่ยนแผ่นได้ ซึ่งถ้าเปลี่ยนแผ่นตอนหมุนอยู่ แม็ตที่ติดขึ้นมาอาจไปโดนก้านเข็มได้ ดังนั้น ทางที่ดีควรหยุดแพลตเตอร์ก่อนในระหว่างเปลี่ยนแผ่นจะปลอดภัยกว่า แต่การหยุดเปลี่ยนแผ่นไม่จำเป็นต้องชักปลั๊กออกนะครับ จริงๆ ถ้าไม่ถึงกับเสียบค้าง ข้ามวัน ข้ามคืน ก็สามารถจับแพลตเตอร์ให้มอเตอร์หยุดไว้เฉยๆ จะถอดปลั๊กก็ต่อเมื่อเลิกฟังครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องเสียบๆ ถอดๆ ทุกครั้งที่เปลี่ยนแผ่นนะครับ เดี๋ยวจะปวดหลังซะก่อน 

คุณภาพเสียง

เสียงที่ได้ยินจากชุด Nottingham Analogue Horizon นับว่าน่าสนใจทีเดียว แม้ว่าเมื่อเทียบกับชุดอ้างอิงของผมจะห่างกันอีกไกล แต่ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ค่าตัวของ Nottingham Analogue Horizon ทั้งชุดพร้อมใช้งาน ยังไม่เท่ากับราคาหัวเข็มที่อยู่ในชุดอ้างอิงเลย ดังนั้น มันจึงไม่ได้ใกล้เคียงเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับสุดยอดอยู่แล้ว ทว่าที่น่าสนใจคือ ความลงตัวของส่วนผสมที่ทำงานเข้าขากันได้ดี จนได้เสียงออกมาน่าฟัง สมกับค่าตัวที่จ่ายไป 

กับแผ่นเสียงเพลงจากหนัง the Greatest Showman ที่มีเพลงจังหวะคึกคักอยู่หลายเพลง ก็พบว่า จุดเด่นที่ชุด Nottingham Analogue Horizon ถ่ายทอดออกมาจะเป็นในเรื่องของเสียงเบสที่ได้ความหนาแบบหัว MM และหนักแน่นแบบแท่นที่ผมชอบเรียกว่า แท่นโซลิด คือตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไม่มีระบบสปริงรองรับอะไร แต่เน้นตัวแท่นที่มีน้ำหนักมากๆ เข้าไว้ ใช้มวลของตัวแท่นเป็นตัวสลายแรงสั่นสะเทือนที่มาจากภายนอก ซึ่งหลักการนี้ ถ้าทำให้ดีก็ได้ผลดี เพราะมันเรียบง่ายมาก หนักไว้ก่อนได้เปรียบ ไม่ต้องมานั่งจูนสปริงให้ยุ่งยาก แต่ส่วนมาก พอมีน้ำหนักมาก มันก็มักจะมากับราคาที่ไม่น่าคบหาเท่าไหร่ แต่ในคราวนี้ Nottingham Analogue Horizon ถือว่าออกแบบได้ดี เพราะได้แท่นเครื่องที่มีน้ำหนักมาก ทำงานได้นิ่ง ในราคาขายที่น่าสนใจ 

และเมื่อได้ลองกับซาวด์แทร็กที่หวดกลองกันกระหน่ำอย่าง Whiplash ก็พบว่าสุ้มเสียงที่ได้ถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว คือเสียงกลองมีน้ำหนัก หนักแน่นดี เพียงแต่ความสดของหัวเสียงที่ไม้กลองปะทะฉาบ และปะทะหนังกลอง ยังไม่สามารถเทียบกับหัวเข็ม MC ดีๆ ได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนที่ต้องเลือกเอา เพราะหัวเข็มระดับนี้ก็ยังมีข้อจำกัดให้เห็นบ้าง แต่ก็นับว่า Pear Audio Tracer 10 เป็นหัว MI ที่ค่อนข้างให้เสียงที่เป็นกลาง ไม่หนาจนขุ่นมัวแบบหัว MM หลายๆ ตัว เพียงแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังเป็นรองหัวเข็ม MC อยู่บ้าง แต่ก็ได้ความหนักแน่นของเสียงเบสมาแทน 

ส่วนแท่น Horizon ก็นับว่าทำงานได้เงียบดี ในการฟังทั่วไปไม่พบเสียงดังรบกวนจนเป็นที่รำคาญแต่ประการใด ไหนๆ ก็พูดถึงแผ่นซาวด์แทร็กกันมาตลอดแล้ว ขอปิดท้ายด้วยเพลงจากการ์ตูนเรื่อง Coco ที่มีเพลงที่น่าฟังอยู่หลายเพลง จุดที่น่าสนใจคือ เสียงกีตาร์ที่นุ่มนวลชวนฝันน่าฟัง คือมีความสดของหัวเสียง การที่นิ้วดีดลงบนสายกีตาร์ และมีความอิ่มหนาอบอุ่นของบอดี้ตัวกีตาร์ที่น่าฟังดีมาก เสียงร้องก็ให้ความอิ่มหนากำลังดี คือในเพลงช้าๆ ที่ต้องการความนุ่มนวลในการร้องก็ถ่ายทอดออกมาได้ดี และในเพลงเร็วที่มีจังหวะคึกคักก็มีเสียงร้องที่กระฉับกระเฉงดี แสดงถึงความเป็นกลางของการถ่ายทอดน้ำเสียงของชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียง Nottingham Analogue Studio Horizon ที่ติดอาร์ม Interspace และจัดชุดกับหัวเข็ม Pear Audio Tracer 10 ที่มีความลงตัวเข้าขากันดี ถึงแม้ว่าการใช้งานอาจจะมีความยุ่งยากกว่าปกติเล็กน้อย ถ้าเป็นนักเล่นมือใหม่ที่เพิ่งเคยเล่นแผ่นเสียงอาจเกิดอาการหนาวๆ กันบ้าง แต่ไม่นับว่ายุ่งยากเกินไปสำหรับนักเล่นที่ใช้งานเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Fully Manual อยู่เป็นประจำก็ถือว่าไม่มีอะไรยุ่งยากให้ต้องเป็นห่วง เอาจริงๆ แค่มีฝาครอบเครื่องเมื่อไม่ได้ใช้งาน และเสียบมอเตอร์เข้ากับปลั๊กรางที่มีสวิตช์ปิดเปิด ผมว่ามันก็ใช้งานเหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วไปแล้วครับ กับคุณภาพเสียงที่ได้ เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวในระดับราคานี้. ADP

Nottingham Analogue Studio: 
Horizon Turntable & Interspace Tonearm 
จัดชุดรวมกันราคา 69,000 บาท
Pear Audio: Tracer 10 Phono Cartridge ราคา 35,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Sound Box 
โทร. 089-920-8297, 0-2642-1448

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 257